‘อเล็กซานเดอร์ เบน’ จากเด็กเรียนไม่เก่ง สู่บิดาผู้ให้กำเนิด ‘โทรสาร’

‘อเล็กซานเดอร์ เบน’ จากเด็กเรียนไม่เก่ง สู่บิดาผู้ให้กำเนิด ‘โทรสาร’

‘อเล็กซานเดอร์ เบน’ จากเด็กเรียนไม่เก่ง สู่บิดาผู้ให้กำเนิด ‘โทรสาร’ เทคโนโลยีสื่อสารในอดีต ที่กำลังถูกลืมเลือนไป

KEY

POINTS

  • ประวัติ ‘อเล็กซานเดอร์ เบน’ บิดาผู้ให้กำเนิด ‘โทรสาร’
  • ก่อนคิดค้น ‘โทรสาร’ เขาได้ประดิษฐ์ ‘นาฬิกาไฟฟ้า’
  • กลไกการทำงานของ ‘เครื่องโทรสาร’

หากเอ่ยถึง ‘โทรสาร’ หรือ FAX คนรุ่นใหม่หลายคนอาจสงสัย ว่ามันคืออะไร ยังไม่ต้องพูดถึง ‘โทรเลข’ ที่หายสาบสูญไปเมื่อหลายปีก่อน

เพราะในยุคที่การสื่อสารมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก อย่าง Social Media ที่ส่งได้ทั้งภาพ เสียง วิดีโอ และข้อความ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดกล้องสนทนากันสด ๆ

อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีสื่อสารในอดีต ได้ถูกลืมเลือนไป ไม่ว่าจะเป็น จดหมาย โทรภาพ โทรเลข โทรพิมพ์ Telex และ ‘โทรสาร’ ที่เรากำลังพูดถึง ซึ่งกำลังจะกลายเป็นอดีตในอีกไม่นานนี้

ทั้ง ๆ ที่ในยุคหนึ่ง บ้านเราใช้ ‘โทรสาร’ ในทางธุรกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์การเมืองเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่มีการใช้ ‘โทรสาร’ ส่งข้อมูล และนัดม็อบ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ และเพจเจอร์ หรือที่เรียกว่า ‘ม็อบชนชั้นกลาง’

แต่ในปัจจุบัน สามารถพูดได้ว่า มีคนใช้ ‘โทรสาร’ น้อยลงเรื่อย ๆ แม้กระทั่งหน่วยงานราชการ ที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงช้าที่สุด ยังลดการใช้ ‘โทรสาร’ จนเกือบจะไม่มีหน่วยงานใดใช้อีกแล้ว หรือมีก็น้อยมาก

ในด้านของอุปกรณ์การสื่อสาร จากเดิมที่ ‘โทรสาร’ เป็นเครื่องเดี่ยว ในยุคหลังมีการรวม ‘เครื่องโทรสาร’ กับ ‘เครื่องพิมพ์’ หรือ ‘Printer’ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังผนวกเครื่องถ่ายเอกสารเข้าไปด้วยแบบ All-in-One

บทความในตอนนี้จึงขออาสาพาย้อนไปดูต้นกำเนิดของ ‘โทรสาร’ และผู้คิดค้น ‘โทรสาร’ หรือ FAX เป็นคนแรกของโลก

‘อเล็กซานเดอร์ เบน’ บิดาผู้ให้กำเนิด ‘โทรสาร’

‘อเล็กซานเดอร์ เบน’ (Alexander Bain) วิศวกรนักประดิษฐ์ชาวสก็อตแลนด์ เกิดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1810 เขาคือผู้คิดค้น ‘โทรสาร’ ที่โลกใช้งานต่อมาอีกกว่า 200 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ประดิษฐ์นาฬิกาไฟฟ้า และเป็นผู้ติดตั้งสายโทรเลขเคมีขนานรางรถไฟระหว่างเอดินบะระถึงกลาสโกว์

อเล็กซานเดอร์ เบน เกิดที่เมืองเคธเนส ประเทศสกอตแลนด์ บิดามารดาเป็นชาวครอฟเตอร์ มีพี่สาว 6 คนและน้องชายอีก 6 คน ในวัยเด็ก อเล็กซานเดอร์ เบน เป็นเด็กเรียนไม่เก่ง แต่ชอบประดิษฐ์สิ่งของ ผลงานชิ้นแรกคือการผสมนาฬิกากับตะเกียงเข้าด้วยกัน

บิดาเห็นแววช่างของอเล็กซานเดอร์ เบน จึงส่งเขาไปอยู่กับช่างนาฬิกาของหมู่บ้านเพื่อช่วยงานซ่อมนาฬิกาและเรียนรู้เกี่ยวกับกลไกนาฬิกา เมื่อเจนจบศิลปะการทำนาฬิกาแล้ว เขาจึงไปที่เอดินบะระ และตามด้วยลอนดอน ซึ่งเขาได้งานเป็นช่างนาฬิกาฝีมือดี 

ถึงขนาดได้รับเชิญไปบรรยายที่สถาบันโพลีเทคนิคแห่งลอนดอน และที่หอศิลป์แอดิเลดบ่อยครั้ง และต่อมา อเล็กซานเดอร์ เบน ก็สร้างเวิร์กช็อปเพื่อเปิดสอน และทำร้านนาฬิกาของตัวเองที่ถนนฮันโนเวอร์

ก่อนคิดค้น ‘โทรสาร’ เขาประดิษฐ์ ‘นาฬิกาไฟฟ้า’

‘นาฬิกาไฟฟ้า’ หรือ ‘นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์’ เป็นนาฬิกาที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ถูกคิดค้น และพัฒนามาใช้กับนาฬิกาข้อมือแบบ Electric Watch รุ่นแรก ๆ มีจุดเริ่มต้นมาจาก อเล็กซานเดอร์ เบน โดยมี ‘เซอร์ชาลส์ วีตสโตน’ เป็นนายทุน ที่ต่อมาภายหลังได้เกิดข้อขัดแย้งเรื่องสิทธิบัตร แต่ในที่สุด ศาลได้สั่งให้ อเล็กซานเดอร์ เบน เป็นเจ้าของ ‘นาฬิกาไฟฟ้า’

อย่างไรก็ดี สิทธิบัตรดังกล่าวของ อเล็กซานเดอร์ เบน อยู่ภายใต้ ‘จอห์น บาร์ไวซ์’ ผู้ทำนาฬิกาจับเวลา เนื่องจากใช้กลไกแบบเดียวกันคือ ใช้ลูกตุ้มที่เคลื่อนที่ด้วยแรงกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า

ต่อมา อเล็กซานเดอร์ เบน ได้ปรับปรุงรูปแบบ นาฬิกาไฟฟ้า และจดสิทธิบัตรใหม่ โดยมีจุดเด่นคือ การเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่โลก ซึ่งประกอบด้วยแผ่นสังกะสี และทองแดง

หลังจากนั้น อเล็กซานเดอร์ เบน ได้พยายามคิดค้นโทรเลขเคมี เนื่องจากเขาเห็นว่า โทรเลขแบบรหัสมอร์ส และโทรเลขอื่น ๆ ที่ทางการใช้อยู่นั้น ค่อนข้างช้า อเล็กซานเดอร์ เบน จึงผสานระบบไฟฟ้า และเคมีเข้าไปในระบบโทรเลข 

ทางการสก็อตแลนด์เล็งเห็นความสามารถของ อเล็กซานเดอร์ เบน จึงเชิญให้มาช่วยพัฒนาระบบโทรเลขเคมี ที่ต่อมาพัฒนาไปเป็นระบบส่งข้อความและระบบพิมพ์ข้อความทางไกล ซึ่งเป็นแนวคิดที่ อเล็กซานเดอร์ เบน พัฒนาเพิ่มเติมในสิทธิบัตร 

ทำให้ อเล็กซานเดอร์ เบน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดตั้งสายโทรเลขเคมีขนานรางรถไฟระหว่างเอดินบะระถึงกลาสโกว์ 

อเล็กซานเดอร์ เบน ผู้ทำคลอด ‘เครื่องโทรสาร’

อเล็กซานเดอร์ เบน เริ่มทดลองประดิษฐ์ ‘เครื่องรับส่งโทรสาร’ ระหว่างปี ค.ศ. 1843 ถึงปี ค.ศ. 1846 โดยใช้ นาฬิกาไฟฟ้า ในการซิงโครไนซ์การเคลื่อนที่ระหว่างลูกตุ้มสองลูกในการสแกนข้อความทีละบรรทัด 

ในส่วนของภาคสัญญาณ อเล็กซานเดอร์ เบน ใช้หมุดโลหะที่จัดวางบนกระบอกสูบซึ่งทำจากวัสดุฉนวนไฟฟ้าเป็นตัวส่งสัญญาณเปิด-ปิด เมื่อมีการสแกนข้อความหรือภาพ ข้อความและภาพนั้นจะถูกทำซ้ำที่สถานีรับบนกระดาษที่ไวต่อไฟฟ้าชุบด้วยสารละลายเคมี 

ต้องบอกว่า วิธีการนี้เป็นการผสมผสานองค์ความรู้จากการประดิษฐ์ คล้ายกับที่พัฒนาขึ้นสำหรับโทรเลขเคมีของเขา ดังคำอธิบายสิทธิบัตร ‘อุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าในนาฬิกา และการพิมพ์ด้วยไฟฟ้าผ่านโทรเลขสัญญาณ’ จะเห็นได้ว่า กระบวนนี้ ที่ต่อมาก็คือต้นกำเนิดกลไกการทำงานของ ‘โทรสาร’ นั่นเอง

กลไกการทำงานของ ‘เครื่องโทรสาร’

‘โทรสาร’ หรือ ‘FAX’ มาจากคำว่า Facsimile หรือ Picture Telegraph เป็นอุปกรณ์ที่สามารถส่งภาพถ่าย เช่น ภาพเหตุการณ์ ภาพภูมิประเทศ ภาพเอกสาร ภาพลายนิ้วมือ เป็นต้น โดยตัวอักษรที่เราเข้าใจกันว่าเป็นตัวอักษรไม่ใช่ภาพถ่าย ก็ถือเป็นภาพถ่ายชนิดหนึ่งในระบบ ‘โทรสาร’

กลไกการทำงานของ ‘โทรสาร’ คือการนำเอากระดาษภาพติดทาบเข้ากับกระบอกที่หมุนได้รอบตัว โดยสามารถเลื่อนจากหัวถึงท้ายได้อย่างช้า ๆ

กระบวนการพิมพ์โทรสาร ใช้การแสกนด้วยลำแสงเล็กขนาดเท่าปลายดินสอส่องลงไปบนภาพต้นทาง หรือบนกระบอกที่มีภาพติดทาบอยู่ จากนั้นกระบอกจากหมุนรอบตัว และเลื่อนจากหัวไปท้ายทีละแนว ๆ ประมาณ 35 แนว เรียกว่า 1 เส้น ต่อพื้นที่ยาว 1 เซนติเมตร

แสงที่สะท้อนจากภาพ จะถูกนำเข้าหลอด Photo-Electric Cell โดยหลอดดังกล่าว จะเหนี่ยวนำทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่มีความแรงมาก-น้อยต่างกันตามความสว่าง และความมืด-มัว โดยแบ่งออกเป็นสีขาว-เทา-ดำตามความเข้มของจุดที่แสงพุ่งไปกระทบ

ความหมายก็คือ จุดใดในภาพเป็นสีขาวจะเกิดกระแสไฟฟ้าจากหลอดมาก จุดใดในภาพเป็นสีดำจะไม่มีกระแสไฟฟ้าจากหลอด และถ้าจุดใดในภาพเป็นสีเทาหรือสีดำเฉดจางลง กระแสไฟฟ้าจะไหลตามความเข้มของสีดำ จากนั้นนำรูปแบบกระแสต่าง ๆ เพิ่มความแรง และส่งความถี่ไปในสายโทรศัพท์

ภาครับ กระแสไฟฟ้าที่ส่งมาทางสายเข้าสู่หลอดเกิดแสง หรือ Glow Lamp ทำให้แสงสว่างออกมามาก-น้อยตามคลื่นกระแสที่เข้ามาสู่หลอด จากนั้นใช้แสงนี้พุ่งเข้าหากระดาษเคลือบน้ำยา เช่นเดียวกับเทคนิคถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูป ที่ปล่อยให้แสงผ่านเลนส์กล้องเข้าไปหาฟิล์ม ทำให้เกิดเป็นภาพขาว-ดำ-เทาเช่นเดียวกับภาพที่ส่งมาจากต้นทาง


เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ: Getty Images