เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ชีวิตและบทบาทของเจ้านายสตรีล้านนาภายใต้สยามหลัง 2475

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ชีวิตและบทบาทของเจ้านายสตรีล้านนาภายใต้สยามหลัง 2475

‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ เจ้า D2 (เจ้าดีที่สอง) ผู้เป็นแบบอย่างของเจ้านายในระบอบใหม่

KEY

POINTS

  • เจ้า D2 (เจ้าดีที่สอง) & ชีวิตภายใต้ ‘คุ้มหลวง’ ของเมืองเชียงใหม่เดิม
  • ‘เจ้านายหัวเมืองเหนือ’ ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม
  • ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ แบบอย่างของเจ้านายในระบอบใหม่
     

“มาเถิด เชิญมา ฟังเจ้าดวงเดือนเล่า ถึงเรื่องราวเก่าก่อน ครั้งยังละอ่อนเยาว์วัย เธอเป็นเจ้าหญิงของเวียงเชียงใหม่ ครั้นวารผ่านไป เปลี่ยนเสียงเรียกหา เป็นลูกสาว เป็นเมียแก้ว เป็นยอดมารดา เป็นยอดหญิงของล้านนา ตลอดกาล เอยฯ”

ความนำ ว่าด้วย ‘เจ้านายสตรีล้านนา’ ผู้เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า

ข้อความไพเราะข้างต้นที่ยกมานี้ คัดมาจากบทนำของบทความเรื่อง ‘ดวงเดือน... เจ้าหญิงของล้านนา’ ในหนังสือเรื่อง ‘เดือนส่องหล้า สืบสานล้านนา’ หนังสือที่สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเชียงใหม่จัดทำเนื่องในโอกาสงานครบรอบ 80 วัสสา เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม พ.ศ.2552   

ในทัศนะของผู้เขียน เห็นว่าหนังสือเรื่อง ‘เดือนส่องหล้า สืบสานล้านนา’ นี้ เป็นเล่มสำคัญสำหรับการศึกษาประวัติชีวิตของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เพราะไม่เพียงแต่เป็นเล่มที่มีการรวบรวมประวัติของเจ้านายสตรีล้านนาท่านหนึ่งไว้อย่างเป็นระบบ เรียบร้อย กะทัดรัดแล้ว ในเล่มดังกล่าวนี้ยังมีการนำเสนอมุมมองของเจ้าดวงเดือนเองที่มีต่อภูมิหลัง ชาติกำเนิด และความเป็นมาของตระกูล ณ เชียงใหม่ ถือได้ว่าเป็น ‘ประวัติเจ้าดวงเดือน ตามมุมมองของเจ้าดวงเดือน’ เพราะเรียบเรียงมาจากคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าดวงเดือนเอง  

หนังสือเล่มดังกล่าวนี้ได้ให้ข้อมูลว่า เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.2472 ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 เจ้าพ่อคือ ‘เจ้าราชภาคินัย’ (เจ้าเมืองชื่น ณ เชียงใหม่) จึงตั้งชื่อให้ว่า ‘ดวงเดือน’ เจ้านายในราชวงศ์ทิพย์จักร ก็ให้ความเคารพเชื่อถือด้วยเป็นคนเกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า คือ ‘วันวิสาขบูชา’

เจ้าแม่ของเจ้าราชภาคินัยคือ ‘เจ้าหญิงฟองนวล’ ธิดาของ ‘เจ้ามหายศฯ’ ซึ่งเป็นโอรสของ ‘เจ้าไชยลังกา พิศาล โสภาคุณ’ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ 6 น้องสาวของเจ้ามหายศ คือ ‘เจ้าแม่รินคำ’ เป็นเทวีอันดับ 1 ของ ‘พระเจ้าอินทวิชยานนท์’ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 7 โอรสของเจ้าแม่รินคำคือ ‘เจ้าอินทวโรรส’ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ 8 

ดังนั้น เจ้าพ่อ (เจ้าราชภาคินัย) จึงเป็นเจ้านายสืบสายมาจากเจ้าหลวงทั้งฝ่ายบิดาและมารดา คือทั้งเจ้าลำพูนและเจ้าเชียงใหม่ ตัวเจ้าราชภาคินัยเองก็รับราชการกับสยามมีบรรดาศักดิ์เป็น ‘เจ้าทักษิณนิเวศน์’ (ต่อมาได้เลื่อนเป็น ‘เจ้าราชภาคินัย’) ทางเหนือเรียกว่า ‘เจ้าสัญญาบัตร 2 ชั้น’

เดิมทีเจ้าราชภาคินัยสมรสกับเจ้าด้วยกันคือ ‘เจ้าหญิงบัวทิพย์’ ธิดาของเจ้าแก้วนวรัฐ แต่ไม่มีทายาท ต่อมาจึงได้สู่ขอสาวงามมาเป็นหม่อม ชื่อว่า ‘หม่อมจันทร์เทพ’ จึงมีทายาท 4 คน คือ เจ้าอาทิตย์ ณ เชียงใหม่, เจ้านิภาพันธ์ ณ เชียงใหม่, เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ และเจ้าประเวศ ณ เชียงใหม่ เป็นต้น เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นลูกคนที่ 3 ของเจ้าราชภาคินัย (เมืองชื่น ณ เชียงใหม่) 

จาก ‘ลาวดวงเดือน’ ถึง ‘เจ้าดวงเดือน’ & ล้านนา: จาก ‘ลาว’ เป็น ‘ไทย’

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าการที่เจ้าราชภาคินัยเป็นเจ้านายเชียงใหม่ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชนชั้นนำสยาม เป็นศิษย์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คำว่า ‘เจ้าราชภาคินัย’ เองก็เป็นตำแหน่งราชทินนามที่ได้รับแต่งตั้งจากสยาม จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เจ้าราชภาคินัยตั้งชื่อธิดาคนหนึ่งด้วยคำเรียกที่พ้องกับ ‘เพลงลาวดวงเดือน’


 

‘ลาว’ ที่แต่ก่อนนั้นไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะ ‘ลาวอีสาน’ หรือ ‘ลาวล้านช้าง’ หากแต่ยังมี ‘ลาวล้านนา’ คือชาวล้านนาก็ถูกเรียกเป็น ‘ลาว’ ยังไม่ถือว่าเป็น ‘ไทย’ หรือ ‘ไท’ เหมือนอย่างในยุคหลัง คำว่า ‘ลาวดวงเดือน’ ในเพลงลาวดวงเดือน ที่มีเนื้อร้องเริ่มต้นว่า “โอ้ละหนอ... ดวงเดือนเอย’” นั้นจึงคือ ‘ลาวล้านนา’    

เพลงลาวดวงเดือนนั้นเป็นที่รู้กันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วว่า เป็นพระนิพนธ์ของ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสใน ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ กล่าวกันว่ากรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงประพันธ์เพลงนี้ขึ้นมาหลังจากที่คลั่งรักสาวล้านนาแล้วไม่สมหวัง สาวล้านนานางนั้นคือ ‘เจ้าทิพเกษร’ เจ้านายสตรีจากเชียงใหม่พระองค์แรกที่ถูกส่งมาถวายตัวให้กับราชสำนักสยามสมัยรัชกาลที่ 5 

(3) เจ้า D2 (เจ้าดีที่สอง) & ชีวิตภายใต้ ‘คุ้มหลวง’ ของเมืองเชียงใหม่เดิม

ในจำนวนคำยกย่องที่มีต่อเจ้าดวงเดือน มีคำยกย่องหนึ่งที่มีนัยยะทางประวัติศาสตร์ คือยกย่องว่าเป็น ‘เจ้า D2’ (เจ้าดีที่สอง) เพราะ ‘เจ้า D1’ นั้น ในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือจะหมายถึง ‘เจ้าดารารัศมี’ พระราชชายาใน ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ แต่เจ้านางทั้งสองพระองค์ก็มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ด้วยเกิดคนละยุคสมัยกัน 

จากเล่ม ‘เดือนส่องหล้าฯ’ เจ้าดวงเดือนได้เล่าว่า “ข้าเจ้าเติบโตจากคุ้มหลวง ชีวิตที่สัมผัสเมื่อครั้งเจ้านายยังรุ่งเรืองก็ถูกอบรมมาแบบชาวคุ้ม” คำว่า ‘ชาวคุ้ม’ นั้นหมายถึงเป็นเจ้านายของล้านนา ‘คุ้มหลวง’ ยังเป็นคำเรียกที่ใช้แทนหรือเทียบเท่ากับ ‘พระราชวัง’ หรือ ‘วังหลวง’ ของภาคกลาง ตามความทรงจำในวัยเยาว์ เจ้าดวงเดือนได้เล่าถึงลักษณะความใหญ่โตโอ่อ่าของสถานที่ทรงถือกำเนิดและเติบโตมาไว้ดังนี้:      

“คุ้มหลวงนั้นสร้างด้วยไม้ 2 ชั้น หลังใหญ่โตมาก หลังคาก็มุงด้วยแป้นเกล็ดไม้สัก มีห้องหลายห้อง หน้าต่างเป็นไม้ แผ่นใหญ่หนานั่งได้ กลอนประตู หน้าต่างเป็นเหล็กยาวอย่างดี ตัวคุ้มกว้างแผ่เป็นซีกซ้ายขวา เจ้าแม่จะอยู่ซีกด้านตะวันออก เจ้าพ่อจะอยู่ซีกด้านตะวันตก

“...ระเบียงชั้นล่างชั้นบนรอบตัวคุ้มก็เป็นไม้สัก ฉลุลวดลายโบราณงดงาม ชั้นล่างนอกจากห้องต่าง ๆ ยังมีระเบียงไว้นั่งเล่นหรือรับแขก ต่อหลังคาไม้โปร่งเป็นเรือนกล้วยไม้ ด้านหน้าเป็นบันไดหินอ่อนสีดำ ลดหลั่นลงสู่พื้นซีเมนต์ออกประตูหน้า มีขอบกั้นบริเวณสนามหน้าคุ้ม มีสระเลี้ยงปลา 2 สระ ด้านซ้ายขวาจัดหินประเภทเขามอ บนขอบจะรายรอบด้วยกระถางลายคราม ปลูกต้นตะโกดัดรูปร่างแปลก ๆ รอบขอบสนามหน้าตัวคุ้มจะปลูกต้นไม้ดอกในวรรณคดีไทยนานาชนิด เช่น ต้นจันทน์กระพ้อ สารภี จำปี จำปา เข็มเศรษฐี ยี่โถสีต่าง ๆ กุหลาบและมะลิ”

แต่ทุกอย่างก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อล้านนาถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ประเทศสยาม’ และในช่วงเดียวกันนั้นสยามก็นำเอาระบบการปกครองแบบเจ้าอาณานิคมเข้ามาปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับหัวเมือง อีกทั้งยังรวมศูนย์อำนาจมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรูปแบบที่เรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (Absolute monarchy) ยกเลิกระบบเก่าที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ส่วนกลางมีสถานะแบบ ‘จักรพรรดิราช’ (Chakaravatin)  

สมัยจักรพรรดิราชนั้นเป็นระบบแบบมีกษัตริย์หลายพระองค์ ครองแว่นแคว้นต่าง ๆ โดยพระมหากษัตริย์ที่ส่วนกลางทรงมีสถานะเป็น ‘ราชาเหนือราชาทั้งหลาย’  แต่ละแว่นแคว้นมีอิสระปกครองภายในของตนเอง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่พระมหากษัตริย์ส่วนกลาง 3 ปี 1 ครั้ง หรือ 2 ปีต่อ 1 ครั้ง แล้วแต่ยุคสมัย 

ขณะที่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นยุคที่มีพระมหากษัตริย์เพียงองค์เดียว คือองค์ที่ครองราชย์อยู่ที่ส่วนกลาง (คือกรุงเทพฯ) เท่านั้น ที่อื่นมีไม่ได้ ถ้ามีหรือมีใครตั้งตนเป็นกษัตริย์ที่หัวเมือง จะต้องถูกกองทัพจากส่วนกลางเข้าไปปราบปราม  

จากจุดนี้จึงทำให้เจ้านายท้องถิ่นที่เคยมีอดีตรุ่งเรือง ก็ถึงคราต้องปรับตัวกันอย่างปัจจุบันทันด่วน ที่ปรับไม่ทัน ช้าไป หรือไม่ยอมปรับตัว ก็ต้องมีอันต้องแพ้ไป ไม่ได้เป็นเจ้าอยู่ต่อ หมดสิ้นบุญวาสนา ที่ปรับตัวได้ก็มีชีวิตอยู่อย่างรุ่งเรืองต่อไป กรณีเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ และครอบครัว เป็นอย่างในกรณีหลังนี้ คือยอมปรับตัวเข้ากับระบบใหม่แล้วเกิดได้ใจประชาชน โดยเฉพาะคนท้องถิ่นล้านนาด้วยกัน      

‘เจ้านายหัวเมืองเหนือ’ ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

ในคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เจ้าดวงเดือนยังได้เล่าถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตเจ้านายฝ่ายเหนือยุคก่อนหน้าและหลังจากขึ้นกับสยามยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังนี้:  

“สมัยเจ้าหลวงองค์ก่อน ๆ เชียงใหม่มีอิสระในการปกครองตนเอง สามารถเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ได้เอง มีอำนาจในการตัดสินลงโทษคนและประหารชีวิตได้ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบทอดกันถึงสมัยพระเจ้าชีวิตอ้าวว่า ทรงปกครองบ้านเมืองได้เข้มแข็งและเด็ดขาดนัก จนไพร่ฟ้าข้าทาสเกรงกลัว สมัยก่อนเจ้านายเป็นเจ้าของไร่นาสาโทมากมาย แม้กระทั่งวัวควายที่ทำนาเมื่อตกลูกตกหลานก็เป็นของท่านหมด”

แต่แม้จะถูกลดสถานะและบทบาทลงไปกว่าในอดีตมาก ก็มีสิ่งที่ชดเชย และดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยังความพึงพอใจให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือเป็นอย่างมาก ก็คือการที่เจ้านายฝ่ายเหนือได้ไปสมรสสร้างความเป็นเครือญาติกับเจ้านายพม่า ทำให้ได้รับสิทธิ์ในการค้าไม้ เรื่องนี้เจ้าดวงเดือนก็เล่าไว้ เช่นที่ว่า: 

“เจ้าเชียงใหม่ของเราไปสมรสกับเจ้าพม่าได้เป็นเจ้าของป่าไม้หลายป่า และรายได้จากป่าไม้นี้ ทำให้ชีวิตของเจ้านายมีความสุขสบายกัน”

เรื่องที่เจ้านายเชียงใหม่สมรสกับเจ้านายพม่าและได้สิทธิ์ผูกขาดการค้าไม้นี้ที่จริงก็เป็นที่รู้กันในหมู่ชนชั้นนำสยาม แต่ที่ไม่ถูกขัดขวางก็เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบต่อการปรับเปลี่ยนสถานะของพระมหากษัตริย์ส่วนกลางที่ทรงมีปณิธานจะเป็น ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ อีกทั้งเจ้านายที่ไปสมรสกับเจ้านายพม่ายังไม่ใช่ชั้นพระธิดาองค์สำคัญ เพราะพระธิดาองค์สำคัญนั้นได้ถูกส่งมาอภิเษกสมรสกับกษัตริย์สยาม และเจ้านายสตรีองค์สำคัญองค์หนึ่งที่ถูกส่งมาในยุคสมัยดังกล่าวนี้ก็คือ ‘เจ้า D1’ คือเจ้าดารารัศมี ธิดาของ ‘พระเจ้าอินทวิชยานนท์’ เจ้านครเชียงใหม่  

เมื่อยังคงสถานะเป็น ‘เจ้า’ และมีชีวิตสุขสบายเพราะมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการผูกขาดการค้าไม้ ก็ไม่อนาทรร้อนใจต่อเรื่องอื่น ๆ ที่กำลังเกิดกับล้านนา การต่อต้านการยึดครองแบบอาณานิคมที่สยามกระทำต่อล้านนา ไปแสดงออกและรวมศูนย์อยู่ที่เรื่องของ ‘ตนบุญ’ คือ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ผิดกับกรณีภาคใต้ที่ผู้นำการต่อต้านเป็นเจ้า เช่น กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง และกรณีขบถผู้มีบุญอีสาน ผู้นำขบวนการต่อต้านเวลานั้นบางส่วนได้ประกาศตั้งตัวเป็นเจ้า เพื่อเรียกฟื้นแรงศรัทธาจากไพร่ฟ้าประชาชน เป็นต้น  

“โอ้ละหนอ ดวงเดือนเอย” & ชีวิตหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ในความทรงจำของเจ้าดวงเดือน เจ้านายเชียงใหม่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงจะถูกลดบทบาทลงไปมาก ก็ยังเป็น ‘เจ้า’ แต่ในช่วงหลังจากที่สยามเปลี่ยนการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 แล้ว เจ้านายเชียงใหม่รวมถึงเจ้านายท้องถิ่นอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบด้วย:   

“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบ้านเมือง ยุคเจ้าแก้วนวรัฐองค์ที่ 9 เราหมดอำนาจสิทธิ์ขาด และป่าไม้ถูกยึดเป็นของหลวง เจ้าหลวงต้องกินเงินเดือนจากรัฐบาลตามที่เขากำหนดให้ รายได้จากป่าไม้ก็หมดไป ทำให้เจ้านายบุตรหลานรุ่นหลังปรับตัวไม่ทัน ในที่สุดเมื่อหมดบุญเจ้าแก้วนวรัฐแล้ว ทางการก็ยุบตำแหน่งเจ้าหลวงเสีย เป็นอันว่าองค์ท่านก็เป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย”

ผลกระทบที่ว่านี้ยิ่งมีมากขึ้นไปอีก เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไม่เพียงเจ้านายฝ่ายเหนือต้องหลบลี้หนีภัยสงคราม ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปอยู่ในท้องที่ที่ไม่เป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิด แล้วยังเป็นช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง กระทั่งต้องขายคุ้มหลวง: 

“พอข้าเจ้าอายุได้ 12 - 13 ขวบ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเราย้ายไปหลบภัยที่อำเภอสันกำแพง ทิ้งคุ้มหลวงไว้ให้ผจญภัยกับการขาดคนดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ความฝืดเคืองนานัปการจากภัยสงครามคงจะเป็นปัญหาให้ท่านขบคิดหนัก ข้าเจ้าเคยเห็นพ่อค้าที่ร่ำรวยจากสงคราม มาติดต่อขอซื้อคุ้ม คิดว่าท่านคงจะปลงกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตและตัดสินใจเลือกทางที่สุขสงบและเป็นสุขในบั้นปลาย ในที่สุดคุ้มหลวงก็ถูกขายไป คนเก่าแก่บางคนได้แบ่งปันทุนรอนออกไปตั้งตัว ใครสมัครใจจะอยู่รับใช้ก็อยู่กันไป มาสร้างคุ้มใหม่ที่สันกำแพง แม้ไม่ใหญ่โต แต่ก็มีชีวิตสงบสุข”

‘ความเป็นเจ้า’ เหลือไว้แต่คำนำหน้ากับเกียรติยศที่จะได้การยอมรับจากสังคม แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนคนอื่น ๆ เพราะระบบใหม่นั้นถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของปวงประชาราษฎร    

“เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง เจ้าทางเหนือถูกลดบทบาทลง ลูก ๆ ของเจ้านาย ทางการท่านให้คงไว้แต่เพียง ‘เจ้า’ เป็นคำนำหน้านาม ส่วนรุ่นลูก ๆ ของ ‘เจ้า’ ท่านก็ให้คงไว้แต่เพียงนามสกุล ‘ณ เชียงใหม่’ ทำให้พวกเราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง แต่ดูเหมือนเจ้าพ่อเจ้าแม่ท่านจะรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี”

การเมืองระบอบใหม่ & ‘เจ้าจันทร์ผมหอม’ ในชีวิตจริง (ที่ยิ่งกว่านิยาย) 

สิ่งที่สะท้อนว่า เจ้าพ่อเจ้าแม่ของเจ้าดวงเดือนรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ดีนี้ นอกจากการตัดสินใจขายคุ้มหลวงแล้ว ยังมีเรื่องสำคัญไปกว่านั้นอีกคือการไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางเมื่อธิดา ซึ่งเป็นถึงเจ้านายสตรีชั้นสูงของเชียงใหม่ จะมีสามีเป็นสามัญชน ไม่ได้แต่งกับเจ้าด้วยกันเอง แถมยังเป็นสามัญชนชาวเชียงใหม่ในตระกูลที่นับถือคริสเตียนมีหัวเสรีนิยมอีก คือ ‘คุณพิรุณ อินทราวุธ’ 

แต่ทั้งนี้คุณพิรุณ เป็นทายาทของ ‘พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง’ คือเป็นบุตรคนสำคัญของนายทุนกระฎุมพีท้องถิ่นชาวเชียงใหม่ การที่เจ้านายในระบบศักดินาเก่าเผชิญความเปลี่ยนแปลงแล้วต้องเลือกแต่งงานกับคนชนชั้นนายทุนที่ร่ำรวย เพื่อความอยู่รอดนี้ เป็นเรื่องที่ถูกนำเอามาเรียบเรียงเป็นนวนิยายคลาสสิคอยู่หลายเรื่องด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘เจ้าจันทร์ผมหอม: นิราศพระธาตุอินแขวน’ แต่งโดยนักเขียนนาม ‘มาลา คำจันทร์’ นางเอกของเรื่องก็เป็นเจ้านายสตรีที่ต้องแต่งงานกับสามัญชน (ชั้นนายทุนกระฎุมพี)  

ผู้อ่านที่ไม่เคยถูกสปอยล์ ต้องอ่านอย่างมีลุ้นว่าท้ายสุดแล้ว พ่อเลี้ยงผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ‘เจ้าจันทร์ผมหอม’ จะเผย ‘ปานแดงที่แก้มก้น’ เมื่อไหร่ ในระหว่างทางที่พาเจ้านางไปนมัสการพระธาตุอินแขวน แต่จนแล้วจนรอด อ่านจนจบไป มาลา คำจันทร์ ก็ไม่ได้ให้พ่อเลี้ยงเผยปานแดง อันเป็นสัญลักษณ์ว่าเดิมทีพ่อเลี้ยงผู้นี้มีชาติกำเนิดเป็นชนชั้นสูงด้วยกัน จึงมีสถานะคู่ควรแก่การเป็นสามีของเจ้านางแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับเป็นเจ้านางที่ต้องละทิ้งขนบความคิดเดิมและธรรมเนียมเก่า ปรับเข้าหายุคใหม่ โดยมีเส้นผมเป็นสัญลักษณ์ที่เอาไปตัดถวายแด่พระบรมธาตุ 

เมื่อได้อ่านประวัติของเจ้าดวงเดือน ตามที่เจ้าดวงเดือนได้ให้สัมภาษณ์ไว้นี้แล้ว เชื่อว่าหากผู้อ่านเคยอ่านเรื่อง ‘เจ้าจันทร์ผมหอม’ มาก่อน ย่อมอดคิดไม่ได้ว่า เจ้าดวงเดือนนี้คือ ‘เจ้าจันทร์ผมหอมตัวจริงเป็น ๆ’ ในแง่ที่เป็นเจ้านายสตรีหัวเมืองเหนือที่ปรับตัวเข้าหายุคใหม่ได้ดี 

นับแต่เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลับบ้านที่เชียงใหม่ แล้วแต่งงาน สามี (คุณพิรุณ อินทราวุธ) เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นทนายความ ต่อมาเข้าสู่ชีวิตทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การเมืองระดับท้องถิ่นในสภาเทศบาล สภาจังหวัด และระดับชาติคือเป็น ‘สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ 

ไม่เพียงแต่กรณีของเจ้าดวงเดือนกับคุณพิรุณ เจ้านายหัวเมืองฝ่ายเหนือคนอื่น ๆ ที่ไม่เพียงอยู่รอดปลอดภัย ยังปรับตัวเข้ากับระบบใหม่ได้เป็นอย่างดี ไม่ได้รังเกียจการเมืองของการเลือกตั้งจากประชาชน “ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง (ของเจ้าดวงเดือน) จะอยู่ในกระแสผูกพันเกี่ยวข้องในแวดวงการเมืองทุกระดับ”

สรุปและส่งท้าย: ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ คือแบบอย่างของเจ้านายในระบอบใหม่

‘ความเป็นเจ้า’ (ที่แท้จริง) นั้นอยู่ที่การได้รับความรักความศรัทธาจากประชาชน ไม่ใช่เป็นได้เพราะมีอำนาจแบบจารีตดั้งเดิมที่เคยมีมา ดูเหมือนเจ้านายหัวเมืองฝ่ายเหนือ รวมทั้งครอบครัวของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ จะเข้าใจดีในจุดนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นเจ้าที่ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ในเมื่อชีวิตภายใต้ระบอบใหม่นั้นก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาหลอกลวงกันมา (เท่าไรนัก)  

สำหรับหัวข้อคำถามที่ใครหลายคนสงสัยใคร่รู้ที่ว่า ถ้าสยามตกเป็นอาณานิคมแล้ว ชนชั้นนำสยามจะเป็นอย่างไร? คำตอบหนึ่งก็ดูได้จากตัวอย่างที่ ‘เจ้าล้านนา’ เป็นให้เห็นในชีวิตจริง แต่ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ‘เจ้าสยาม’ จะปรับตัวได้ดีเพียงใดเมื่อเทียบกับที่ ‘เจ้าล้านนา’ กระทำให้เห็นกันมา   

เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ จะไม่ใช่ ‘เจ้า’ ในแบบที่เรารู้จัก หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  คือเป็น ‘เจ้า’ ในแบบที่ผู้คนเคารพรักและศรัทธา โดยที่ไม่ได้มีอำนาจตามระบบโครงสร้างแบบดั้งเดิม เป็นอำนาจแบบใหม่ภายใต้วัฒนธรรมของการเมืองแบบที่เสียงของประชาชนเป็นผู้กำหนด จาก ‘ไพร่ฟ้า’ มาสู่ ‘ปวงประชา’ ไพร่ฟ้าที่เดิม เจ้าเป็น ‘เจ้าชีวิต’ มีอำนาจตัดสินชี้เป็นชี้ตาย มาสู่ ‘ประชาชน’ ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุด  

อันที่จริงแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จริยวัตรที่งดงาม การอุทิศตนเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมท้องถิ่นล้านนา แบบที่เจ้าดวงเดือน และครอบครัว ทำมาโดยตลอดนี้ แทบจะไม่ได้แตกต่างอย่างมีสาระสำคัญไปกว่าที่เจ้านายในพระราชวงศ์ของญี่ปุ่น เป็นและทำกันเท่าไรเลย การใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนคนธรรมดาไม่ทำให้ผู้ใดตกต่ำ และลำพัง ‘ชาติกำเนิด’ ก็ไม่ทำให้ใครสูงส่งไปกว่าผู้อื่น สังคมวัฒนธรรมของแต่ละยุคสมัยยังมีองค์ประกอบอย่างอื่นในการสร้างบุคคลอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างแท้จริง 

ถ้าจะมีเรื่องใดที่จัดเป็น ‘ไฮไลท์’ สำหรับประวัติชีวิตของเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ก็คงเป็นเรื่องนี้ แน่นอนว่ายังมีเรื่องอื่นอีก แต่เรื่องอื่นนั้นไม่รู้ ถ้าอยากรู้ก็คงต้องไปถามน้องหมูเด้งที่เขาเขียวเอาเองเถิดนะขอรับ...      

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ 

อ้างอิง:
    กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ‘รักแสนเศร้า (?) ของ ‘กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ ผู้แต่ง ‘ลาวดวงเดือน’’ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567). 
    เดือนส่องหล้า สืบสานล้านนา ในโอกาสครบรอบ 80 วัสสา เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่. เชียงใหม่: สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่, 2552. 
    มาลา คำจันทร์. เจ้าจันทร์ผมหอม: นิราศพระธาตุอินแขวน. กรุงเทพฯ: บุ๊ครีวิว, 2534.  
สารานุกรมเสรี (Wikipedia). ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ (สืบค้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567).