ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย

ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย
บนโลกออนไลน์ช่วงนี้โดยเฉพาะกับทวิตเตอร์เกิดการพูดคุยถึงสารคดีไทยเรื่องหนึ่งที่ได้ฉายบน Netflix กันมากพอสมควร พวกเขาต่างถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสิ่งที่ตัวเองได้ดู บางคนถึงกับเขียนว่าดูจบแล้วหน่วงไปทั้งวัน หลายคนบอกว่าดูแล้วร้องไห้ ซึ่งความคิดเห็นส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกันว่าสารคดีเรื่อง Hope Frozen เปิดโลกทางความเชื่อและวิทยาศาสตร์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แม้สารคดีความยาว 78 นาที จะเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด แต่ก็ยังคงทิ้งบางอย่างเอาไว้ในใจของนักดูหนัง สารคดี Hope Frozen เป็นผลงานการกำกับของ ไพลิน วีเดล (Pailin Wedel) นักข่าวและผู้กำกับหญิงลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่สามารถไปคว้ารางวัลใหญ่ในงานเทศกาลสารคดีที่ใหญ่สุดในอเมริกาเหนืออย่าง Hot Docs Canadian International Documentary Festival 2019 พร้อมกับกวาดเสียงปรบมือและคำวิจารณ์เชิงบวกมาอย่างล้นหลาม ซึ่ง The People ได้พูดคุยกับไพลินถึงแรงบันดาลใจ ขั้นตอนการทำหนัง การฝ่าฟันกับผู้กำกับคนอื่น ๆ อีกนับร้อยเพื่อส่งผลงานเข้าชิงรางวัลในเวทีใหญ่ระดับโลก ไปจนถึงประเด็นเรื่องเพศกับการทำงานที่จะทำให้เรารู้สึกเปิดโลกในวงการหนังไปอีกขั้น และชวนให้ตั้งคำถามว่า “ทำไมในวงการหนังถึงยังมีผู้หญิงเป็นผู้กำกับน้อยอยู่ มันเป็นเพราะผู้หญิงทำหนังไม่เก่งหรือว่ามันมีเหตุผลอะไรที่มากกว่านั้น” ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย The People: รู้มาว่าไพลินไม่ได้เรียนจบด้านสื่อสารมวลชนหรือทำหนังมาโดยตรง อยากให้เล่าถึงเส้นทางจากสาวเรียนชีววิทยา สู่การเป็นนักข่าวในสหรัฐอเมริกาให้ฟังสักนิด ไพลิน: เราเรียนจบชีวะและได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับไม้หอมในป่าเขาใหญ่ ไปอยู่ในป่าคนเดียวพักหนางเพราะเราชอบ เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับชิมแปนซี เราอยากเป็นเหมือนเขา ไปอยู่กับสัตว์ ไปอยู่กับป่า แต่พอได้ทำจริง ๆ แล้วเราเหงามากจนรู้สึกไม่ไหว และเริ่มรู้ตัวว่าเราไม่ได้อยากไปทำงานเกี่ยวกับชีวะเลย พอออกจากป่าเลยกลับมานั่งตัดสินใจว่าตัวเองจะเอายังไงต่อ ก็เลยไปลงวิชา Photojournalism เป็นวิชาโท ปรากฏว่าเรียนไปเรียนมาแล้วชอบมาก พอเรียนจบเลยไปฝึกงานเป็นช่างภาพที่สำนักงานข่าวในรัฐนอร์ทแคโรไลนาและทำงานถ่ายภาพนิ่งประมาณ 4 ปี ซึ่งในช่วงที่เราทำงานเว็บไซต์ต่าง ๆ เริ่มลงวิดีโอได้ เราเลยรู้สึกว่าต้องสอนตัวเองถ่ายวิดีโอและตัดต่อบ้างแล้ว ตอนแรกเราเริ่มจากการตัดวิดีโอข่าว 90 วินาที บางชิ้นก็ 3 นาที แต่วันหนึ่งเราได้ดูข่าวบนจอของ CNN ในสำนักงานข่าว เราเห็นรถถังเข้ามาในใจกลางเมืองไทย ตอนนั้นเป็นช่วง พ.ศ. 2549 เราเห็นภาพนั้นแล้วถามตัวเองว่ามาทำอะไรที่นอร์ทแคโรไลนา ข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้อยู่ที่เมืองไทยที่เป็นบ้านของเรา เลยเริ่มหาวิธีที่จะกลับไทยให้ได้ พอกลับมาเราก็ทำงานกับสำนักข่าว AP แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นช่างภาพแล้ว เราเป็น Producer Interactive ทำงานได้ 3 ปีครึ่ง แล้วรู้สึกอึดอัดเพราะเราอยากลงสนามมาก ๆ ตอนนี้เราไม่ได้สัมผัสโลก ก็เลยลาออกจากงานนั่งโต๊ะมาทำฟรีแลนซ์ เริ่มถ่ายวิดีโอสารคดีส่งให้กับ National Geographic และ Al Jazeera หลังจากนั้นงานของเราก็เริ่มกลายเป็นสารคดี 30 นาที บางเรื่องเล่าถึงคนมอแกนที่ภาคใต้ อีกเรื่องเล่าถึงพระที่ทำผิดกฎหมาย หรือเรื่องของสิทธิสตรีในเกาหลีใต้ สารคดีของเราเริ่มมีความยาวมากขึ้นเรื่อย ๆ เวลาเราทำสารคดีสั้นจะรู้สึกเสียดายเพราะเรายังมีสิ่งที่อยากจะเล่าต่อ จนมาถึงเรื่อง Hope Frozen ที่มีความยาว 78 นาที ซึ่งคนก็บอกว่างานชิ้นนี้เหมือนเราวางแผนไว้ก่อน แต่จริง ๆ เราไม่ได้วางแผน มันเกิดขึ้นเอง เราแค่ทำในสิ่งที่เราชอบ The People: ทำไมถึงสนใจเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ จนทำให้เกิดสารคดี Hope Frozen ไพลิน: ตอนแรกไม่ได้วางแผนจะทำสารคดีเรื่องนี้เลย แต่ได้รู้จักกับครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์เพราะสามีเราเห็นไวรัลข่าวที่ครอบครัวหนึ่งนำร่างลูกสาววัย 2 ขวบ ที่ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองและตัดสินใจเก็บรักษาร่างกับศีรษะไว้ด้วยกระบวนการแช่แข็ง เขาเลยขอให้เราไปเป็นล่าม ตอนแรกคิดว่าจะคุยกันแค่ 15-20 นาทีแต่สุดท้ายคุยยาวเป็นชั่วโมง สิ่งที่เราเห็นคือพวกเขายินยอมให้สื่อเข้ามาทำข่าว ทั้งสองคนเรียนจบปริญญาเอกมาทั้งคู่ เป็นนักวิชาการที่ยินยอมที่จะรับคำวิพากษ์วิจารณ์หรือต้องฟังสิ่งที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวด แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็คิดว่าการให้ข้อมูลด้วยตัวเองคือสิ่งที่ดีที่สุด สื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องดีกว่าไม่ยอมให้ข้อมูลแล้วคนเอาไปพูดต่อกันเอง เพราะสังคมจะพัฒนาได้ยังไงถ้าเราไม่ได้คุยกัน ถึงคนอื่นจะไม่เห็นด้วยแต่อย่างน้อยทั้งสองฝ่ายก็สามารถคุยกันได้ เพราะถ้าเราคุยกันไม่ได้มันก็จะเป็นสังคมที่ปิด ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย The People: ความต่างระหว่าง Hope Frozen กับสารคดีก่อนหน้านี้ ไพลิน: Hope Frozen เป็นสารคดีที่เราไม่เคยทำมาก่อน สารคดีที่เราเคยทำคือข่าวที่จะเน้นความรู้ เน้นข้อมูล แถมเราก็ยืนอยู่หน้ากล้องเป็นนักข่าวพาคนไปยังเหตุการณ์หรือสถานที่ต่าง ๆ แต่สำหรับ Hope Frozen เราจะไม่ได้อยู่หน้ากล้อง ทุกอย่างที่อยู่ในหนังจะเล่าถึงตัวละครและประเด็นของเรื่อง ซึ่งจะเรียกว่าตัวละครก็คงแปลก ๆ เพราะสารคดีจะอิงจากความจริง เราไม่มีสคริปต์ให้ ไม่มีอะไรให้ทั้งสิ้น ตอนแรกเรามอง Hope Frozen เป็นสารคดีสั้นแบบที่ทำให้ National Geographic และ Al Jazeera แต่พอทำออกมาได้ 30 นาที แล้วรู้สึกว่ามันไม่ครบ มันมีประเด็นมากกว่านี้ ก็เลยเริ่มมองหาทุนสร้างโดยที่ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่คิดจะสำเร็จมั้ย ทุกขั้นตอนเราต้องทำเองสอนตัวเองหมดเลย เริ่มจากการเปิดหาข้อมูลใน Google ถามทื่อ ๆ เลยว่าจะหาทุนสารคดียังไง เราก็เจอทุนจากต่างประเทศ ทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ตอนนั้นสมัครไป 14 รอบ ไม่ได้เลยสักทุนเดียว ชื่อหนังของเราคือ Hope Frozen (ความหวังแช่แข็ง ขอเกิดใหม่อีกครั้ง) แต่ตอนนั้นความหวังของเรามันหายไปหมดเลย การสมัครขอทุนสารคดีไม่ใช่แค่ทำหนังเสร็จแล้วก็ส่งไปให้เขาดู เราต้องนำเสนอ ตัดตัวอย่างหนัง เล่าว่าเราจะสื่ออะไร พอสมัครอีกครั้งประมาณ 6-7 ทุน คราวนี้ได้รับการตอบกลับและเข้ารอบสุดท้าย เขาจะเชิญเราไปประเทศของเขาเพื่อที่เราจะต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าคนเป็นร้อย เราก็ไปเสนองานที่ฝรั่งเศส เยอรมนี เกาหลีใต้ อังกฤษ ผู้ชมทั้งหมดคือตัวแทนหรือเจ้าของทุน ให้อารมณ์เหมือน The Voice เขาจะวิพากษ์วิจารณ์ว่าเราควรได้งบเท่าไหร่ ถามเราว่าจะทำได้เหรอ แต่สุดท้ายก็ได้ทุนมา The People: ผิดหวังเป็นสิบ ๆ ครั้ง เฟลแล้วเฟลอีก แล้วทำไมถึงยังลุยต่อ ไพลิน: เราเป็นคนยอมแพ้ไม่เป็น เวลาทำอะไรก็อยากทำให้สุด ตอนนั้นเราถ่ายครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์มาถึงขนาดนี้ก็จะล้มเลิกไม่ทำต่อมันก็ไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำอะไรกับฟุตเทจที่ได้มามันก็เหมือนกับว่าเราพ่ายแพ้อย่างที่สุดและคงอยู่กับตัวเองไม่ได้ ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย The People: Hope Frozen เล่าถึงประเด็นความรักกับความเชื่อที่ซ้อนทับระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนาที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประเด็นเหล่านี้ทำให้การเล่าเรื่องของเรายากขึ้นหรือไม่ ไพลิน: ถ้าเราเปิดเผยและให้ข้อเท็จจริงอยู่ตลอด มันก็จะยืนอยู่ได้ ถึงเรื่องศาสนาจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่ก็เป็นประเด็นที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่าคนพุทธทุกคนจะคิดว่าเราสามารถกลับชาติมาเกิดได้ คนพุทธอีกแนวหนึ่งก็จะมองไม่เหมือนคนพุทธอีกกลุ่ม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจาก Hope Frozen คือพวกเขาทำเพื่อรัก สิ่งที่ด็อกเตอร์สหธรณ์ทำเพราะเขารักลูก แม้ผู้ชมบางคนจะไม่เห็นด้วยเพราะมุมมองทางศาสนาที่ไม่เหมือนกับเขา แต่อย่างน้อยเราก็เข้าใจว่าเขาตัดสินใจทำแบบนี้ (แช่แข่งน้องไอนส์) เพราะอะไร ในเวลาเดียวกันเราก็จะต้องคิดด้วยว่าทำหนังยังไงให้มีผลกระทบร้ายแรงต่อครอบครัวของพวกเขาได้น้อยที่สุด เวลาที่มีคนโจมตีเรื่องศาสนาเราก็พยายามนำเสนอให้คนเห็นว่าที่จริงแล้วครอบครัวนี้ก็เคร่งศาสนา พวกเขาก็เป็นคนพุทธที่ดีคนหนึ่ง หลายคนอาจจะคิดว่าเขาไม่ปล่อยวางแต่พี่ชายก็บวชให้น้อง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้ทำสารคดีเพื่อครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ ต้องเน้นไว้เลยว่าเราพยายามเป็นกลางอยู่ตลอด เวลามีคำถามที่คิดว่าต้องเจาะลึกเราก็เจาะ ไม่มีคำถามไหนเลยที่เราอยากถามแล้วเราไม่ได้ถาม เราสัมภาษณ์ด็อกเตอร์สหธรณ์ 14 ครั้ง ครั้งแรกคุยนานถึง 4 ชั่วโมง แล้วแกก็เปิดใจมาก ยอมให้เราถาม ยอมตอบคำถามเรา ทั้งที่ช่วงแรกเขาก็ยังเสียใจเกี่ยวกับลูกเยอะมาก ๆ The People: คำถามที่คิดว่ายากที่สุดที่ถามด็อกเตอร์สหธรณ์คืออะไร ไพลิน: เราถามเขาเกือบทุกครั้งเลยว่า “ยังคิดอยู่เหรอว่ามันเป็นไปได้”  ซึ่งด็อกเตอร์สหธรณ์ตอบทุกครั้งว่า “เป็นไปได้” เขายังเชื่อเหมือนเดิม ความหวังของเขาเท่ากับความรักที่เขามีให้ลูก เหมือนเขาปักธงตรงนั้นไว้แล้ว ตอนแรกเรานึกว่าสักวันหนึ่งเขาอาจเปลี่ยนใจแต่พอทำหนังอยู่ด้วยกันมาหลายปีเขาก็ไม่เคยเปลี่ยนใจ The People: Hope Frozen เริ่มถ่ายทำเมื่อ 5 ปีที่แล้ว พอเราได้อยู่กับครอบครัวหนึ่งนาน ๆ ทำให้เรารู้สึกเอาใจช่วยเขาโดยไม่รู้ตัวไหม ไพลิน: มีหลายคนถามว่าเราสนิทกับครอบครัวไหม ตอนแรก ๆ เราเข้าไปในฐานะที่เราเป็นผู้กำกับสารคดีพ่วงด้วยนักข่าว เราเป็นบุคคลที่สามที่เข้าไปสังเกตการณ์และทำให้ต่างฝ่ายต่างสงสัยว่าเรากำลังทำอะไร แต่เขาก็ไม่เคยใจร้อนกับเราเลย หน้าที่ของเราคือการเป็นผู้กำกับเราจะมอบความสนิทมากไม่ได้ สิ่งแรกที่เราต้องคิดถึงคือคนดู เราไม่ได้ทำ Hope Frozen เพื่อให้ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ดู การเป็นผู้กำกับเราจะต้องวางตัวเป็นกลาง แต่ก็ไม่ใช่ไม่แคร์ว่าเขาคิดยังไง แต่พอหนังเสร็จเราก็จะเริ่มรู้สึกว่าสนิทกับเขาได้แล้ว ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย The People: หลังจากที่ Hope Frozen ออกฉาย ฟีดแบคครอบครัวสหธรณ์ ไพลิน: เราไม่ทราบเลยว่าครอบครัวเขาคิดยังไงบ้าง แต่สิ่งเดียวที่เขาบอกกับเราตอนทำหนังเสร็จแล้วคือ “ขอบคุณที่อยู่” เขาบอกว่าคนอื่นมาทำข่าวแป๊บหนึ่งก็ไป แต่คุณไพลินอยู่นานที่สุดและพยายามเข้าใจเรามากที่สุด เขาไม่ได้วิจารณ์อะไรเลยค่ะ แต่เขาเห็นเราทำงานมายาวนาน เห็นเราล้มเหลวกับการขอทุนหลายครั้งเราก็จะให้กำลังใจเพราะเขาแอบสงสารเรา The People: หลังจากการทำงานอันยาวนาน ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายด้านทั้งการหาทุน ขั้นตอนการทำหนังที่จะต้องดูอย่างละเอียดยิบ ประเด็นศาสนาที่จะต้องระวัง ในที่สุด Hope Frozen ก็เสร็จสมบูรณ์และไปถึงเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ หนังของไพลินไปถึงงาน Hot Docs แถมยังได้รางวัลใหญ่ของงานอย่าง Best International Feature ได้อย่างไร ไพลิน: เราส่งสารคดีไปเองค่ะ ถ้าเราเป็นผู้กำกับที่มีชื่อเสียงทางงานก็อาจโทรมาถามว่ามีหนังเรื่องใหม่หรือยัง แต่สำหรับเราคือต้องส่งไปเอง การเดินทางของหนังเรื่องนี้มันยาวนานมาก สิ่งที่เกิดกับเราหลังจากงานรางวัล Hot Docs คือสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เราหาทุนมา 2 ปี สมัครทุนไป 14 ที่ ต้องนำเสนออีก 6-7 ครั้ง จนตัดต่อเสร็จเลยคิดว่าจะส่งเข้างานเทศกาล บางงานก็ตอบกลับมาว่าเราชอบงานของคุณนะแต่มันยังขาดอะไรบางอย่าง เราก็ตัดหนังส่งไปใหม่ มี Hope Frozen เป็นร้อย ๆ เวอร์ชัน จนตอนหลังได้เข้าร่วมงานเทศกาลหลายที่รวมถึงงาน Hot Docs สารคดีของเราต้องไปแข่งกับสารคดีเรื่องอื่น ๆ ที่ประเด็นใหญ่มาก บางเรื่องเล่าถึงสงครามซีเรีย สงครามกลางเมือง สิทธิของคนทำงานในทวีปยุโรป จนทำให้คิดว่าเรื่องครอบครัวหนึ่งในเมืองไทยไม่น่าสู้ได้ เราก็คิดว่าตัวเองคงไม่ได้รับรางวัลอะไร งานประกาศรางวัลจะจัดขึ้นในวันสุดท้าย พอเข้าช่วงสองวันสุดท้ายเราก็คิดว่าจะกลับก่อนเพราะคิดว่า Hope Frozen คงไม่ได้อะไรแล้ว รวมถึงเราก็มีทุนน้อย แต่พอจะกลับมีอีเมลเข้ามาบอกว่า ‘อยู่ต่อได้ไหมเดี๋ยวเราออกค่าใช้จ่ายให้’ ตอนนั้นเผลอคิดว่า ‘เฮ้ย เราเหรอ?’ บางทีอาจจะเป็นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ รางวัลที่สามหรือที่สี่ เราก็เลยตกลงเข้าร่วมงานวันสุดท้าย แต่พอนั่งอยู่ในงานกับ ‘นีน่า’ ช่างตัดคนแรกไปเรื่อย ๆ จนคนอื่นในทีมเริ่มทยอยกลับกันหมด การประกาศรางวัลผ่านไปเรื่อย ๆ รางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ไม่ใช่เรา รางวัลอันดับที่สามก็ไม่ใช่ อันดับสองก็ไม่ใช่ เราก็รู้สึกว่าเขาส่งอีเมลให้ผิดคนรึเปล่า หันไปมองหน้านีน่าบอกว่า “เขาส่งอีเมลผิดว่ะ ทำยังไงดี” งานรางวัลส่วนใหญ่จะประกาศรางวัลใหญ่ ๆ เป็นอันดับสุดท้าย พอถึงรางวัล Best International Feature Documentary แล้วเขาประกาศชื่อ Hope Frozen ก็ตกใจมาก ๆ เราไม่ได้เตรียมอะไรมาเลย อึ้งแล้วก็จูงมือนีน่าขึ้นเวที รางวัลแก้วของเขาเราก็ทำตกพื้น มือสั่นมาก พูดไม่ออกขอบคุณมั่วไปหมด หลังจากได้รางวัลนี้เราก็มารู้ทีหลังว่าถ้าชนะในเทศกาลนี้ก็จะมีสิทธิเข้าชิงออสการ์ แถมตอนนี้สารคดีของเรายังได้มาฉายใน Netflix อีก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เราคาดไว้ แต่พอเกิดขึ้นก็รู้สึกว่ามหัศจรรย์มาก ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย The People: ในงานประกาศรางวัลของ Hot Docs เราเห็นผู้กำกับหญิงเยอะไหม ไพลิน: ถ้าเป็นแวดวงสารคดีมีผู้หญิงเยอะพอสมควรค่ะ สารคดีเป็นงานที่ใช้งบน้อย ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์ที่ดีเพราะจะได้เข้าใกล้แหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ผู้หญิงเลยสนใจทำสารคดีเยอะกว่า แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชาย ถ้าพูดถึงผู้กำกับหญิงในเมืองไทยก็จะมีพี่ใหม่ อโนชา สุวิชากรพงศ์ น้องโรส พวงสร้อย อักษรสว่าง แล้วก็พี่พิมพกา โตวิระ มีกันอยู่ประมาณนี้ นับสองมือได้เลยว่าในไทยมีผู้กำกับหญิงกี่คน พอเพื่อนต่างชาติคนหนึ่งอีเมลมาว่าขอรายชื่อผู้กำกับในเมืองไทยหน่อย เราก็ไปเสิร์ช Google ว่าช่วงนี้มีผู้กำกับคนไหนดัง ๆ บ้าง Google ก็แปะผู้กำกับ 20 คนแรกมาเป็นผู้ชายหมดเลย เราก็เพิ่งมาเห็นชัด ๆ ว่าหน้าจอเรามีแต่รูปผู้ชาย เลยเกิดความรู้สึกว่า ‘เหงาว่ะ’ The People: เพราะอะไรถึงทำให้คนในวงการภาพยนตร์ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ชาย ไพลิน: มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่เฉพาะในเมืองไทย การทำหนังส่วนใหญ่จะต้องใช้คนเยอะ ใช้ทุนเยอะ ต้องใช้เส้นสาย ซึ่งคนที่มีทุนหรือคนที่เข้าหาทุนได้ก่อนส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย พวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือเข้าถึงทรัพยากรได้ก่อน มันเป็นเรื่องปกติที่เห็นได้จากประวัติศาสตร์โลกว่าการให้สิทธิผู้หญิงจะมาหลังการให้สิทธิแก่ผู้ชาย ผู้หญิงและคนกลุ่มอื่นกำลังตามหลังแต่ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีพรสวรรค์ เรามีความสามารถอยู่แล้ว แต่การเข้าหาทุนหรือการเข้าหาทีมงานเก่ง ๆ จะทำได้ยากกว่าผู้ชายเพราะเรากำลังตามหลังเขาอยู่ เมื่อผู้ชายส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จไปก่อนแล้วคนส่วนใหญ่ก็อยากทำงาน เมื่อระบบนิเวศที่ไม่หลากหลายวงการทำหนังเลยมีแค่คนเดิม ๆ กลุ่มเดิม เราก็เข้าใจในระดับหนึ่ง เพราะใคร ๆ ก็อยากจะทำงานกับคนที่เราชอบ อยากทำงานกับคนเก่งเพราะกว่าจะเจอคนที่ใช่มันยากมาก แต่ถึงอย่างนั้นวงการหนังก็ต้องมีความเปิดในระดับหนึ่ง ไม่งั้นเราก็จะเห็นเรื่องเดิม ๆ ในมุมมองเดิม มันจะไม่มีความหลากหลายในวงการหนังไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศ The People: ในฐานะที่เป็นผู้กำกับหญิง เราจะเห็นว่างานประกาศรางวัลออสการ์จัดมาแล้วกว่า 90 ครั้ง แต่กลับมีผู้กำกับหญิงได้เข้าชิงรางวัล ‘ผู้กำกับยอดเยี่ยม’ ได้แค่ 5 คน และมีเพียงคนเดียวที่ชนะ มันแปลว่าผู้หญิงทำหนังไม่เก่งหรือเป็นเพราะเหตุผลอื่น แล้วเรารู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้ ไพลิน: รู้สึกเศร้า เหมือนกับว่าทำไมถึงต้องใช้เวลานานขนาดนี้ กว่าคนได้เห็นว่าการเล่าเรื่องของผู้หญิงก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน หลายคนอาจเคยคิดว่าไม่มีใครอยากดูหนังของผู้กำกับหญิงหรอก เพราะว่าพวกเธอทำหนังที่คนจะไม่สนใจ แต่ที่จริงแล้วโลกของเรามีผู้หญิงถึง 52 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนดูที่มีส่วนสำคัญต่อวงการหนัง นอกจากนี้ยังไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น ความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะสนับสนุนแต่ผู้กำกับหญิงเพราะเราเป็นผู้หญิง แต่ที่ผ่านมาเราได้เห็นเรื่องราวในหนังจากมุมมองที่คล้าย ๆ กันตลอดมาตลอด คนที่ดูหนังก็ดูหนังที่นำเสนอในมุมคล้ายกัน การทำความเข้าใจต่อโลกก็จะมองจากแค่มุมเดียว ผลพวงของวงการอุตสาหกรรมก็มีส่วนที่จะปิดกั้นบางสิ่งและทำให้เราเข้าใจโลกได้น้อยลง ไพลิน วีเดล: ผู้กำกับหญิงที่อยากให้วงการหนังเต็มไปด้วยความหลากหลาย The People: นอกจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ส่วนใหญ่ยังมีแต่ผู้ชาย ในวงการสื่อก็มีกรณีคล้ายกับวงการหนังหรือไม่ ไพลิน: ตอนเราเป็นช่างภาพนิ่งเราได้ลงไปทำข่าวการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง เราลงพื้นที่ เจอระเบิด เจอประท้วง พอช่างภาพคนอื่นเห็นว่าเราเป็นช่างภาพหญิงเขาก็หันมาถามว่า “รู้ใช่ไหมว่าอันตราย” บางคนทำหน้าสงสัยมากคิดว่าเราหลงมารึเปล่า เหมือนเราไม่ควรจะอยู่ตรงนี้ บางทีมันก็ไม่ใช่ความเหยียดแต่เป็นความรู้สึกตกใจว่ามีผู้หญิงทำงานแบบเขาได้ด้วยเหรอ ตอนเป็นเด็กฝึกงานที่อเมริกาก็เจอเหมือนกัน ครั้งนั้นเราแบกกล้องสองตัว เลนส์อันใหญ่สองอันกลับเข้าออฟฟิศ ผู้สื่อข่าวชายคนหนึ่งก็เข้ามาบอกว่า “ให้ช่วยเถอะไหมจ๊ะหนูน้อย” เราก็งงแล้วบอกเขาไปว่าไม่ต้องก็ได้ค่ะพี่ มันไม่ใช่แค่ว่าเราเป็นเพศหญิงเท่านั้นแต่เราเป็นชาวเอเชียด้วย มันก็จะมีความดูถูกกันไปคนละอย่าง มีกรณีหนึ่งเราคุยงานเรื่อง Hope Frozen กับผู้ชายยุโรปคนหนึ่ง เราก็คิดว่าเราคุยกันได้โอเค แต่เขาคิดว่าเราเด็กมากทั้งที่ตอนนั้นเราอายุจะ 40 แล้ว มีประสบการณ์ทำงานข่าวมา 15 ปี แต่เขาคิดว่าเราอายุ 20 กว่า เดินเข้ามาหยิกแก้มเรา บอกว่า “ระวังนะ ต้องจำไว้ว่าจรรยาบรรณข่าวคือสิ่งสำคัญ” อยู่ ๆ เขาก็เข้ามาหยิกแก้ม คงคิดว่าเราน่ารักน่าเอ็นดูมั้ง ก็พยายามคิดในแง่บวกว่าฝรั่งมักดูไม่ออกว่าคนเอเชียอายุเท่าไหร่ เขาไม่คุ้นเคยกับคนเอเชีย แถมบางครั้งเราลงพื้นที่ไปทำข่าวในบางเมืองของอเมริกา เราก็เป็นคนเอเชียคนแรกที่เขาเคยคุยด้วยก็มี The People: อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังพยายามจะทำหนังหรือสารคดีแล้วต้องพบกับอุปสรรคที่เราก็เคยเจอมาก่อนเหมือนกันบ้างไหม เพราะบางทีการเริ่มต้นทำอะไรบางสิ่งมันก็ยากและหลายครั้งก็อาจทำให้ท้อ ไพลิน: ถ้าบอกตามความจริงเราเกิดมาก็มีพรีวิวเลจระดับหนึ่ง แล้วพอได้มาเจอหลายคนที่อยากทำหนังแต่จุดเริ่มต้นของเขาไม่เท่ากับจุดเริ่มต้นของเราก็รู้สึกเศร้าค่ะ ก่อนทำหนังเราทำข่าวมา 15 ปี เรามีเวลาที่จะใช้กับการถ่ายสารคดีได้ในระดับหนึ่ง แต่ในโลกแห่งความจริงยังมีอีกหลายคนที่เกิดมาแล้วเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่า มีเวลาน้อยกว่า หรืออยู่ในจุดสตาร์ทที่ไกลกว่า เราก็อยากบอกว่าอย่าเพิ่งท้อแม้จะเริ่มต้นไกลกว่า ถ้าเราอดทน ตั้งใจ และพยายาม สิ่งที่หวังเป็นไปได้เสมอ และถ้าเรามีผู้กำกับไทยมีคนทำหนังที่ประสบความสำเร็จกันมากขึ้น ทุกคนจะมีส่วนช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้น แล้วพวกเราก็จะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน    เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์ ภาพ:  ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม