สัมภาษณ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล รสชาติสมดุลของอาหารจานชีวิต

สัมภาษณ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล รสชาติสมดุลของอาหารจานชีวิต
หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล หรือ เชฟป้อม เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในกรรมการรายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ แต่อีกด้านหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือเธอทำงานในวงการบันเทิงด้วย กับการแสดงละครเวทีมาแล้วหลายเรื่อง โดยมีผลงานล่าสุดอย่าง สูตรเสน่หา เดอะมิวสิคัล จากนวนิยายขายดีของ กิ่งฉัตร ที่เคยเป็นละครดัง โดยนำมาเสนอในรูปแบบของมิวสิคัลเป็นครั้งแรกจาก Be Musical  The People จึงชวนเชฟป้อมคุยถึงเรื่องราวรสชาติความสุขของชีวิตที่เต็มไปด้วยความหวาน เผ็ด เปรี้ยว มัน นำมาซึ่งความสมดุลของชีวิต  “เตือนแล้วนะ” อย่าลืมอ่านบทสัมภาษณ์นี้ [caption id="attachment_12339" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล รสชาติสมดุลของอาหารจานชีวิต หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล[/caption]   The People: จริงไหมที่คุณเข้าครัวเพราะถูกครอบครัวบังคับ หม่อมหลวงขวัญทิพย์: จริง ๆ แล้วที่บ้านเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ตอนเกิดมาก็ไม่รู้ว่ามันเป็นแผนการของครอบครัวหรือยังไง ที่จะต้องให้ลูกผู้หญิงทำอะไรต่ออะไรเป็น เด็กในบ้านก็จะมีหน้าที่ ชีวิตไม่ใช่มีแต่กินกับเล่น ต้องมีงานรับผิดชอบคือการเข้าครัว แต่งานก็ตามอายุนะคะ เด็กก็ปอกหอมปอกกระเทียมไป แล้วพี่ไม่ใช่เด็กเรียบร้อยไง ทำไมจะต้องมาทำอะไรกันมากมาย การโดนบังคับไปนั่งทำนู่นทำนี่มันน่ารำคาญ น่าเบื่อ    The People: ถ้าให้เปรียบชีวิตวัยเด็กเป็นอาหารสักจานหนึ่ง จะมีรสชาติแบบไหน หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ถ้าจะให้เป็นจานอาหาร จะป็นจานอาหารมากกว่ารสชาติเดียวกัน เป็นจานอาหารของความสดใส น่าจะเป็นขนมไทยที่มีสีสัน แล้วตอนนั้นชีวิตของเด็กมันเป็นความสุข เช่น สีสันของขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ เป็นอะไรที่ง่าย ๆ เพราะขนมเหล่านี้เป็นขนมที่กินง่าย ช่วงนั้นชีวิตยังไม่ได้มีความรับผิดชอบอะไร แค่หงุดหงิดกับการโดนบังคับเข้าครัวแค่นั้นเอง   The People: ช่วงไหนที่รู้สึกว่าสดใสที่สุดในชีวิต หม่อมหลวงขวัญทิพย์: สดใสมาตั้งแต่เกิดแล้วค่ะ (หัวเราะ) ข้อแรกคือเราเติบโตในวังเทวะเวสม์ คำว่า “วัง” คือบ้านธรรมดานี่แหละ แต่เป็นบ้านที่มีเจ้าอยู่ เขาก็เรียกเป็นราชาศัพท์ เจ้าที่ว่าคือท่านปู่ (หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล) ซึ่งเรามีความสุขเพราะเป็นหลานคนเล็กที่สุด จึงมักจะได้อภิสิทธิ์ในการไม่โดนโทษ เช่น เวลาอยู่ในบ้านคือห้ามเสียงดังเวลาท่านปู่จะบรรทมหรือจะนอน แต่หลาน ๆ เยอะนี่ เพื่อนบ้านก็ญาติกันหมด เราก็จะเล่นเสียงดังจนท่านปู่เรียกขึ้นไปตี ลงโทษตามลำดับมาเลย พอมาถึงเราท่านปู่บอกว่าเหนื่อย เราก็รอดสิ กลายเป็นว่าเป็นคนเดียวที่ไม่ค่อยโดนทำโทษ แล้วก็เป็นที่หมั่นไส้ของพี่ ๆ  ตอนเด็ก ๆ เราตัวอ้วนปุ๊กเลย ช่างกิน คุณย่าก็ช่างทำอาหาร แล้วท่านปู่เคยเป็นทูตทหารที่เยอรมัน ท่านก็ชอบไปดูหนังเยอรมันที่ (สถาบัน) เกอเธ่เก่าตรงถนนพระอาทิตย์ ดูไม่รู้เรื่องหรอก แต่ที่สำคัญคือพอดูหนังเสร็จแล้ว ท่านปู่จะพาไปกินข้าวข้างนอก ซึ่งสมัยก่อนร้านอาหารก็มีไม่มากนะคะ อย่างร้านอาหารญี่ปุ่นมีร้านเดียวเลย Hanaya สี่พระยา โอ้โห เมื่อไหร่ไป Hanaya จะดีใจมาก ตั้งตารอแค่ดูหนังจบแล้วไปกินข้าวที่ไหนเลย ทำให้เรากลายเป็นคนช่างชิมโน่นชิมนี่   The People: จำอาหารจานแรกที่ลงมือทำได้ไหมว่าเป็นเมนูอะไร หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ตอนเด็ก ๆ จะโดนปอกหอมกระเทียม เราอยากลงมือทำแต่ไม่ได้ทำหรอก ชะเง้อดูผู้ใหญ่เขาทำ เขายังไม่ให้เราไปเล่นไฟ แต่จำได้ว่าครั้งแรกที่เคยทำคือหมูทอด เป็นหมูสับแล้วใส่พิมพ์วงกลม โอ้โห ดีใจมาก ได้เล่นน้ำมัน ได้เล่นกระทะ ได้เล่นไฟ ตักหมูสับหยอดลงไปในพิมพ์เท่ากัน ๆ ทอดแล้วเอาขึ้นมา และเลาะออกจากพิมพ์  นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ทำ แต่ก่อนไม่เคยได้เล่นไฟ ได้เล่นน้ำมัน  ทำให้รู้ว่าเราคงชอบทำอาหารแหละ แต่ไม่ชอบปอกหอมปอกกระเทียม ไม่ชอบทำงานที่ดูเป็นงานเด็ก อยากทำอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ คราวนี้พออยู่ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย พี่ ๆ ไปเรียนเมืองนอกหมด เหลือคนเดียวอยู่กับพ่อแม่ ก่อนไปเรียนหนังสือเราต้องจดทุกวันว่าเย็นนี้จะกินอะไร โดยมีโจทย์เป็นพ่อกับแม่ พ่อชอบกินอะไร แม่ชอบกินอะไร เย็นกลับมาต้องลงกระทะทุกอย่างภายใน 15 นาที แต่เราอาจจะเป็นคนมีพรสวรรค์ และคิดว่าถ้าไม่โดนบังคับคงชอบการทำอาหารไปตั้งแต่ตอนเด็กแล้ว ซึ่งพอทำอาหารเป็น สิ่งที่ได้คือวันไหนที่แม่บอก เฮ้ย อร่อย พ่อบอกอร่อย หน้าบานเชียวแหละ นั่นคือรางวัลของคนทำอาหารที่ได้   The People: ทราบมาว่าจริง ๆ แล้วเคยอยากเข้ามหาวิทยาลัยเกี่ยวกับดนตรีหรือการร้องเพลง? หม่อมหลวงขวัญทิพย์: มันเป็นสิ่งที่เรารักและไม่โดนบังคับ นั่นคือการร้องเพลง การเล่นดนตรี จริง ๆ แล้วช่วงมหาวิทยาลัยอยากเรียนทางดนตรี เรียนร้องเพลงจริง ๆ จัง ๆ แต่พ่อบอกไม่ได้ ไม่ชอบให้เต้นกินรำกิน ใช้ภาษานี้เลย สุดท้ายก็มาจบลงที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนเรียนเราก็แอบเอาเงินค่าหน่วยกิตที่เหลือจากพ่อแม่ไปเรียนร้องเพลง แต่ตอนหลังพ่อแม่ห้ามไม่อยู่แล้ว พอเขารู้ว่ามีคอนเสิร์ตขึ้นเวที เราก็บอกให้เขาไปดู ซึ่งเขาก็ปลื้มนะ พ่อแม่เนี่ย ลูกทำอะไรก็ปลื้มไปหมด    The People: ถ้าเปรียบชีวิตวัยรุ่นเป็นอาหาร คราวนี้จะเป็นอาหารรสชาติแบบไหน หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ตอนนั้นเป็นคนค่อนข้างกล้าทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ค้นหาตัวเองอยู่เหมือนกัน แต่ต่อให้เป็นคนกล้าขนาดไหนก็ยังอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี น่าจะเป็นอาหารหลากรสชาติเลย เราว่าตัวเองเป็นยำมากกว่า มีเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด [caption id="attachment_12337" align="alignnone" width="960"] สัมภาษณ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล รสชาติสมดุลของอาหารจานชีวิต หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล[/caption]   The People: ทำไมถึงตัดสินใจมาประกอบอาชีพเกี่ยวกับอาหาร หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ไม่เคยคิดเลยจนกระทั่งวันหนึ่งมีญาติมาชวนเปิดร้านอาหาร เขาคงมองเห็นว่าเราได้อะไรจากแม่มาเยอะ ซึ่งตอนแม่สอน คุณย่าสอน เราก็แอบจดตลอดเวลา เราก็เอาสิ่งที่ตัวเองโน้ตไว้มาเขียนเป็นหนังสือ พอเปิดร้านก็เพิ่งรู้สึกว่ามีความสุขกับการทำอาหาร เราต้องแยกการทำอาหารกับการทำร้านอาหารก่อนนะ เรามีความสุขกับการทำอาหาร แต่ปัญหาอยู่ที่การทำร้านอาหารไม่ใช่เรื่องสนุกเลย คุณต้องรับผิดชอบต้นทุน กำไร รายรับ รายจ่าย ดูแลคน ดูแลสารพัดเลย เราก็เริ่มเครียด พอเครียดมันก็ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำอะไรใหม่ ๆ เราเครียดจนไม่มีความรู้สึกอยากจะแตะเลย ซึ่งมันไม่ดีแล้ว เราก็เลยก้าวออกมา ขายร้านอาหารเลย หลังจากนั้นเราก็เปิดสอนทำอาหาร ทำบริษัทจัดเลี้ยงซึ่งสบายกว่าเยอะ แล้ววันหนึ่งก็มีโทรศัพท์จากทีมงานมาบอกว่าโทรจากรายการมาสเตอร์เชฟฯ นะคะ เรากำลังจะทำรายการมาสเตอร์เชฟฯ เราก็ตอบทันทีเลย “ไม่แข่ง แก่แล้ว” เขาก็บอกไม่ใช่ค่ะ จะเชิญมาคุย เผื่อมาเป็นกรรมการ สุดท้ายก็เข้ามาเป็นกรรมการในรายการนี้   The People: แล้วตัวตนของ “หม่อมป้า” ในรายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ เป็นรสชาติแบบไหน หม่อมหลวงขวัญทิพย์: อื้อหือ อาจจะเผ็ดสำหรับคนอื่นนะ แต่ในรายการเราไม่ใช่อาหารรสเดียว มันเป็นสำรับอาหารเลย มีจานเปรี้ยว จานเค็ม จานหวาน จานเผ็ด จานจืด มีหมดเลย ซึ่งเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ และเป็นตัวของเราเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เห็นในรายการทั้งหมดคือตัวจริงของเรา มันถึงได้เสมอต้นเสมอปลาย พูดแบบไม่มีสคริปต์    The People: การเป็นกรรมการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ มาถึง 3 ซีซัน คุณมองเด็กรุ่นใหม่กับการทำอาหารอย่างไรบ้าง หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ตอนนี้มันอยู่ในความนิยมมากนะ แต่บางครั้งคุณแค่ไปเรียนจบมา คุณอย่าเพิ่งเข้ามาในสายอาหาร คุณต้องหาประสบการณ์ เราอยากให้ทุกคนหาประสบการณ์ก่อน สมมติว่าถ้าสัก 15 ปีที่แล้วมีคนชวนมาเป็นกรรมการมาสเตอร์เชฟฯ เราก็อาจจะไม่แข็งแรงขนาดนี้ เราให้ค่ากับประสบการณ์นะ เพราะประสบการณ์ทำให้เรามีวันนี้   The People: กรรมการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ตัดสินผู้ชนะอย่างไร ในเมื่อ “ความอร่อยของคนไม่เหมือนกัน”  หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ถึงได้มี 3 คนไง ความอร่อยของคนไม่เหมือนกัน แต่มันก็ต้องมีความอร่อยของคนส่วนมากใช่ไหม การที่คุณทำอาหาร 1 จาน แล้วมีคนอร่อยอาหารของคุณ 90 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าอร่อย อีก 10 เปอร์เซ็นต์เขาคิดต่างได้ ซึ่งส่วนใหญ่เราจะให้ทุกคนทำอะไรที่ค่อนข้างกลาง เพราะถ้าเราใส่เค็มไป เผ็ดไป หวานไป มันเอาออกไม่ได้ แต่ถ้ามันมีความสมดุลของรสชาติ มันเติมได้   The People: ถ้าเปรียบความสมดุลของรสชาติอาหารกับชีวิตคน รสชาติชีวิตคนคนหนึ่งควรเป็นอย่างไร หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ต้องมีความกลมกล่อม ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ อยากจะเปรี้ยวก็เปรี้ยวอย่างเดียว หวานก็หวานเจื้อยแจ้วอย่างเดียว หวานนี่ชีวิตมันคงอยู่ในโลกแห่งความฝันมาก แล้วก็ไม่ใช่ขมอย่างเดียว คนเรามีปัญหาได้บ้าง แต่ไม่จำเป็นจะต้องว่าชีวิตนี้รันทดอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเลือกเกิดไม่ได้ แต่หมายความว่าคุณต้องมีวิธีจัดการกับปัญหาของตัวเอง   The People: จากหม่อมป้ารสชาติเผ็ดในมาสเตอร์เชฟฯ ปกติ ทำไมเปลี่ยนมาสู่รสชาติหวานใน มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ไทยแลนด์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ในมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ฯ ได้คุยไว้ว่า เราต้องคงความเป็นตัวของเรา แต่ที่สำคัญเราต้องพูดกับเขาดี ๆ จะไปบอกว่า “ไม่!” “อย่า!” (เสียงแข็ง) ไม่ได้ เราจะบอกว่า “ลูกคะ ป้าว่าถ้าหนูลองอย่างนี้จะดีกว่าไหม” “เข้าใจไหมคะ” (เสียงนุ่ม) มันต้องรู้จักเลือกใช้คำพูด อีกอย่างหนึ่งที่ทางรายการคิดมาดีคือ การคัดออกจะออก 2 คน ไม่ค่อยออกคนเดียว นั่นหมายความว่าเด็กจะไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นผู้แพ้ อย่างน้อยเขาก็มีเพื่อน และตอนท้ายแข่งกัน 3 คน เพื่ออย่างน้อยคุณก็มีเพื่อนที่มีรองแชมป์ 2 คน  แต่แชมป์ต้องมีคนเดียว เราทำอะไรในหลักสากลที่จะต้องดูแลจิตใจเด็ก แต่เราก็ยังเป็นเรานะ อยู่บนกฎเกณฑ์ อยู่บนเหตุผลอยู่เสมอ  ในรายการจะเห็นว่าเราจะรับมือเด็กผู้ชายได้ค่อนข้างดี เหมือนอย่างรอบไฟนอล ซีซัน 1 ที่น้องมาร์คเขาทำอาหารกระจาย เรารู้เลยว่าเด็กสติแตกนะ เราก็ต้องให้ความมั่นใจว่ายังทำได้ เราก็จับตะแกรงที่ออกจากเตาอบใหม่ ๆ เขาก็กระซิบ “ป้าป้อมครับมันร้อน” เราบอก “ป้าไม่ร้อน” เพื่อให้เด็กมั่นใจว่าเขาจะต้องไปต่อ พอเสร็จเราเดินออกมาหาพยาบาล มือแดงแจ๋เลย แต่ต่อหน้าเด็กเราต้องเรียกความมั่นใจเขาค่ะ ไม่งั้นใจเขาเสียแน่ เด็กจะยังคุมอารมณ์ไม่ได้เท่าผู้ใหญ่ จะเห็นว่าเรากดหัว กดเพื่อให้นิ่ง ให้หลับตาจากทุกอย่าง นิ่งแล้วค่อยเงยหน้าขึ้นมา ช้า ๆ พอเขาผ่านสเต็ปนี้ เราก็บอกเขาว่าทำได้ เขาก็จะเดินต่อได้แล้ว   [caption id="attachment_12342" align="alignnone" width="2253"] สัมภาษณ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล รสชาติสมดุลของอาหารจานชีวิต รายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ ไทยแลนด์[/caption]   The People: ในฐานะคุณแม่ คุณสอนลูกชายทั้ง 3 คนแบบเดียวกันไหม หม่อมหลวงขวัญทิพย์: แบบนี้แหละ เราไม่ใช่แม่สายหวาน ลูกเราต้องได้บทเรียนเหมือนกัน  ตั้งแต่เด็ก ๆ เราไม่ได้เลี้ยงให้เป็นคุณหนู ต้องทำอะไรต่ออะไรเอง แล้วเวลามีปัญหาลูก 3 คนห้ามโกหก จะดีจะชั่วยังไงก็ห้ามโกหก แม่ฟังแล้วเสียใจหรือโกรธก็ต้องยอม แต่เสร็จแล้วแม่นี่แหละจะเป็นคนแรกที่ช่วย แต่ถ้าโกหกแม่จะช่วยไม่ได้ เราจะแก้ปัญหาไปด้วยกันไม่ได้   เราบอกลูกเสมอว่าต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะทำอะไรคิดให้ดี ๆ แต่เมื่อมันผิด ลูกต้องรับผิดชอบกับผลมัน แม่จะไม่ช่วยให้ผิดเป็นถูก แม่จะช่วยรับมือไปด้วยกัน   The People: คิดว่าตัวเองเป็นคุณแม่ที่มีรสชาติแบบไหน หม่อมหลวงขวัญทิพย์: น่าจะเป็นเนื้อเหนียว ๆ คือ tough เคี้ยวยาก แต่ถ้าคุณเคี้ยวได้แล้วอร่อย ไม่ใช่ว่าไม่ใจเสียกับการลงโทษลูกนะ แต่เราต้องให้ลูกผ่านอะไรต่ออะไรด้วย   The People: คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่า “โต๊ะกินข้าวเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นที่สุดในบ้าน” หม่อมหลวงขวัญทิพย์: เห็นด้วย นั่นคือสิ่งที่บ้านเราเป็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาคุณภาพของครอบครัวคืออาหารเย็น ตอนเช้าทุกคนก็จะรีบออกไปเรียนหนังสือ ออกไปทำงาน อาจกินข้าวไม่พร้อมกัน กลางวันต่างคนต่างอยู่ แต่เย็นควรจะอยู่ด้วยกัน อย่างน้อย 15 ปีแรกของชีวิตลูก นั่นหมายความว่าเราจะค่อนข้าง strict กับลูกจนอายุ 15 แต่หลังจากนั้นคุณรับผิดชอบตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าแม่ไปไหน แม่ยังอยู่ แต่แม่จะไม่จุ้นจ้านกับลูกมากแล้ว  แต่บ้านเรามีสิ่งหนึ่งที่ลูกทั้ง 3 คนรู้กัน คือไม่ว่าจะไปไหนมา ถ้าหิวกลับมาดึกแค่ไหน เปิดตู้เย็นจะมีของกินเสมอ เรายังทำอาหารเหมือนเวลาที่ลูกอยู่บ้านทุกวัน อุ่นเอาเอง ลูกจะมีความรู้สึกว่านี่คือบ้าน กลับมาเมื่อไหร่ลูกยังมีกิน ไม่ใช่แค่ลูกด้วยนะ เพื่อนลูกก็เช่นกัน เพื่อนมาเมื่อไหร่ก็จะมีกิน จะกินเหล้าตั้งวงที่บ้านก็ไม่ห้าม เพราะถ้าห้ามลูกจะไปไหนก็ไม่รู้ แล้วจะได้ดูด้วยว่าเพื่อนลูกเป็นยังไง ลูกคบเพื่อนอย่างไร ลูกเราเมาเหล้าเกเรไหม เรื่องนี้อยากให้มาทำในบ้าน สูบบุหรี่เหรอ ก็ไม่ห้ามนะ แต่อย่ามาทำบ้านเลอะเทอะหรือบ้านไฟไหม้ เอากระถางใส่ทรายไว้ข้างนอก ไปทิ้งตรงนี้เท่านั้น ห้ามมาสูบบุหรี่ในบ้าน    The People: อีกมุมหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบคือคุณแสดงละครเวทีด้วย ซึ่งล่าสุดกำลังจะมีผลงาน สูตรเสน่หา เดอะมิวสิคัล หม่อมหลวงขวัญทิพย์: เมื่อก่อนเราเป็นคนทำกิจกรรมเยอะตั้งแต่อยู่โรงเรียนจิตรลดาแล้ว ความที่นักเรียนน้อย ก็จะได้แสดงอะไรแบบนี้ เมื่อก่อนตัวอ้วน ๆ ดำ ๆ ก็ได้เป็นนางเอก เพราะเราร้องเพลงได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนก็สอนการใช้เสียงและภาษาไทยที่ดี เหมือนอยู่ในรายการมาสเตอร์เชฟฯ เราไม่มีสคริปต์ พูดเองจากเหตุการณ์จริง แม้กระทั่งจะเอาคนออกจะเป็นหน้าที่เราทุกที เพราะเราใช้น้ำเสียงได้ เรียบเรียงคำพูดได้ค่อนข้างเร็ว พูดไทยชัด น้ำหนักในการให้ความรู้สึกแต่ละอย่าง เราผ่านเวทีมาเยอะ รวมไปถึงงานพิธีกร เวทีที่ผ่านแรกเลยก็คือจากโรงเรียน ออกมาสู่เวทีใหญ่โรงละครแห่งชาติ เป็นเหมือน narrator ที่ไม่ใช่ผู้บรรยายเฉย ๆ เป็นผู้บรรยายที่จะต้องวาดภาพให้คนดูเห็นภาพตาม วาดภาพในอากาศให้ได้ บอกเลยว่าบทเรียนนี้ได้จากพี่ หนูเล็ก – บุรณี รัชไชยบุญ แกเคี่ยวเราทุก 6 โมงเช้า  หลังจากนั้นแกเป็นคนให้งานพิธีกร แกก็เลือกงานพรีเมียมให้ แล้วเราก็ได้งานสายพิธีกร พิธีกรเวที งานเจ้านายเสด็จ ซึ่งทำให้เราใช้เสียงเป็น เราจะมีเลเวลของคำคำเดียวตลอดตั้งแต่นุ่มยันแข็ง เช่น ทุกคนชอบคำว่า “เตือนแล้วนะ” ในรายการถูกไหมคะ ถ้าเป็นเลเวลของเด็ก ๆ ก็จะ “เตือนแล้วนะ” (เสียงนุ่มนวล) เตือนขึ้นมานิดหนึ่งก็จะ “เตือนแล้วนะ” (เสียงนิ่ง) แต่ถ้าเจอเฮี้ยน ๆ พูดไม่ฟัง “เตือน-แล้ว-นะ” เห็นไหมคะ ในคำคำเดียวเราสามารถจัดเลเวลของอารมณ์ได้ [caption id="attachment_12338" align="alignnone" width="960"] สัมภาษณ์ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล รสชาติสมดุลของอาหารจานชีวิต หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล[/caption]   The People: ละครเวทีสูตรสเน่หา เดอะ มิวสิคัล คุณรับบท “นงพะงา” ที่ประกอบอาชีพเชฟ ซึ่งคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของคุณ กลัวไหมว่าการแสดงครั้งนี้จะเป็นตัวเองเกินไป หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ในสูตรเสน่หาฯ แสดงเป็น “นงพะงา” หรือ “แม่นง” ของพระเอก เป็นคนที่ชอบทำอาหาร ซึ่งไม่ได้กังวลเนื่องจากเป็นคาแรกเตอร์คุณแม่ที่มีลูกชาย ซึ่งในชีวิตเราก็มีลูกชายตั้ง 3 คน นี่คนเดียวจิ๊บ ๆ (หัวเราะ) แล้วก็ทำอาหารด้วย ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่การแสดง อาจจะเผลอเป็นตัวเอง เป็นธรรมชาติไปนิดหนึ่ง แต่มันก็ต้องอยู่ที่ผู้กำกับด้วย ซึ่งบอกเลยว่า ในทุกงานทุกกิจกรรมที่ทำ เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เสมอ ผู้กำกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาก็จะมีการสอนให้เรารู้อะไรมากขึ้น   The People: การแสดงละครเวทีช่วยเติมเต็มความรักด้านดนตรีและการร้องเพลงด้วยไหม หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ด้วย (ทันที) มันเป็นการเติมเต็ม เพราะตอนนี้เราทำทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความสุข และแน่ใจว่างานทุกอย่างที่ทำ จะต้องทำให้ตัวเองมีความสุข เราจะเลิกตัดอะไรที่ไม่มีความสุขออกไป แล้วเราโชคดีมาก ๆ ที่ทีมงานทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเราเคยทำอะไรมา อย่างละครเวทีเรื่องที่แล้ว นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล ทีมงานนั้นก็เคยเห็นเล่น นางพญางูขาว เดอะ มิวสิคัล กับเขาแล้ว เป็นหลายสิบปีมาแล้ว เขาก็ยังจำได้ เพียงแต่ว่า ณ วันนี้บทในสูตรเสน่หาฯ มันน่าจะเป็นเรา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเล่นทุกบทได้นะคะ คุณจะต้องมีคาแรกเตอร์ของตัวละครตัวนั้น ๆ ซึ่งใกล้ที่สุดแล้วมันถึงจะออกมาดี   The People: อาหารจานไหนที่บ่งบอกความเป็น สูตรสเน่หา เดอะ มิวสิคัล หม่อมหลวงขวัญทิพย์: อันนี้ไม่เป็นจานไหนเลย อันนี้มีหลายรสชาติมาก แต่บอกเลยสูตรเสน่หาฯ เป็นอาหารไทย นั่นคือสำรับ มีจานเผ็ด จานผัก จานมัน เปรี้ยว เค็ม แล้วคุณเอามารวมกัน มันถึงจะเป็นสำรับอาหารที่อร่อย   The People: คุณใช้คำว่า “เตือนแล้วนะ” เตือนคนอื่นบ่อยมาก ถ้ากลับมาเตือนตัวเอง คุณอยากเตือนอะไร หม่อมหลวงขวัญทิพย์: เวลามันคงกลับไปไม่ได้แล้วล่ะ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ ในอายุขนาดนี้ บางอย่างที่เราจะไม่ทำ แต่ตอนนั้นทำไปเพราะอายุน้อย ประสบการณ์มันน้อย คือ การแต่งงาน เราไม่โทษว่าการที่ต้องหย่าหรือต้องแยกทางกันเป็นความผิดของใคร อย่าหาคนผิด แต่ตอนนั้นเราตัดสินใจได้ดีที่สุดตอนอายุ 23 เราก็เลยแต่งงาน แล้วเราก็มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เราจึงคิดว่าเขาจะดูแลเราไปได้จนตาย แต่เด็กอายุ 23 ลืมคิดไปว่า ในบางครั้งการเข้ากันได้เล็ก ๆ น้อย ๆ มันมีผลใหญ่กับชีวิตเหมือนกัน เราจะไม่เตือนด้วย ไม่กลับไปเตือนด้วย ไม่ต้องแก้ไขอะไร เพียงแต่ว่าเมื่อก้าวมาถึงปัญหา คุณต้องออกจากปัญหานั้นให้ได้ อย่าจมตัวเองอยู่กับปัญหานั้น แล้วคุณจะไม่มีอะไรดีขึ้น เราเป็นมนุษย์ เสียใจได้ ร้องไห้ได้ มีอารมณ์กับมันได้ แต่อย่าจมอยู่กับมันนาน   The People: ความสุขในวันนี้ของคุณคืออะไร หม่อมหลวงขวัญทิพย์: ทำตัวให้มีความสุข ความสุขคือตัดความทุกข์ออกจากตัวเองให้หมด คน สิ่งไม่ดี หรืออะไรที่ทำให้เราเกิดทุกข์ นั่นคือคุณรู้เอง คุณไม่ต้องถามว่าทุกข์คืออะไร คุณรู้เองแน่นอนตอนที่คุณทุกข์ แล้วเชื่อไหมคำว่า “วันนี้ฉันมีความสุข” มันจะขึ้นมาเอง มันคือความรู้สึกจากข้างในที่คุณจะบอกตัวเอง  คุณต้องมีความสุขจากข้างใน แล้วคุณจะบอกกับตัวคุณเองว่า “เรามีความสุขมาก” ชีวิตเราผ่านอะไรแย่ ๆ มาก็เยอะนะ เมื่อมีปัญหา เราเสียใจ แล้วเราต้องมีเวลาหยุดและนั่งคิดว่า เราจะไปยังไงต่อ แล้วตอบได้เลยนะว่าทุกคนไม่มีทางตัน ไม่มีใครทำร้ายคุณ หรือไม่มีใครฆ่าคุณได้ นอกจากคุณฆ่าตัวเอง   ภาพโดย: นพพร ยรรยง