สัมภาษณ์ โปเตโต้ จากวันที่เกือบไม่ได้ทำต่อ จนถึงบทเรียนของการเปลี่ยนแปลง

สัมภาษณ์ โปเตโต้ จากวันที่เกือบไม่ได้ทำต่อ จนถึงบทเรียนของการเปลี่ยนแปลง

       โปเตโต้ (Potato) วงร็อกหัวมัน เจ้าของเพลงฮิตมากมาย เช่นรักแท้ ดูแลไม่ได้’, ‘กล้าพอไหมหรือทิ้งไว้กลางทางกำลังจะก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 19 บนถนนสายดนตรี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โปเตโต้ ถือเป็นวงดนตรีที่ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสมาชิก หรือแนวดนตรีที่เปลี่ยนไป แต่ทั้งหลายทั้งปวง ความรักที่อยากจะทำเพลงที่ดีออกมากลายเป็นแก่นสำคัญที่ยังทำให้ ปั๊บ (พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข) นักร้องนำและเพื่อนของเขาทั้งสาม ไล่ตั้งแต่ โอม (ปิยวัฒน์ อนุกูร), กานต์ (กานต์ อ่ำสุพรรณ) และ หั่ง (ทีฆทัศน์ ทวิอารยกุล) เลือกที่จะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ และก้าวข้ามมันไปด้วยกัน โดยอาศัยพื้นฐานของการทำเพลงที่ดี เป็นตัวแทนของการพิสูจน์ตัวเอง

นับตั้งแต่อัลบั้มแรกโปเตโต้จนมาถึงผลงานล่าสุดที่พวกเขาตั้งชื่อมันว่าอัลบั้มชุดที่เจ็ดบวกลบดูแล้วแม้เวลากว่า 18 ปี จะดูเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับโปเตโต้ มันคือช่วงเวลาที่เร็วมากนับตั้งแต่วันที่พวกเขาปล่อยเพลงอย่างทำนองที่หายไปหรือเธอไปกับใครออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปตอนนั้นดูเหมือนชื่อของโปเตโต้ จะกลายเป็นที่ถูกพูดถึงมากในฐานะวงดนตรีป๊อปร็อกรุ่นใหม่น่าจับตามองของวงการ แต่ท่ามกลางชื่อเสียงที่วิ่งสวนทางกับยอดขาย บวกกับการสูญเสียนักร้องนำคนหลักไป รู้หรือไม่ว่าพวกเขาใกล้กับคำว่าไม่ได้ไปต่ออย่างมาก

The People จึพูดคุยกับพวกเขาในหลายแง่มุมของชีวิต ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่พวกเขาโดนค่ายแขวนจนเกือบไม่ได้ไปต่อ กับสิ่งที่พวกเขาทิ้งไว้กลางทาง และบทเรียนที่ได้จากอัลบั้มชุดที่เจ็ด

 

The People: เคยคิดไหมว่าตัวเองจะสามารถประกอบอาชีพนักดนตรีจนประสบความสำเร็จได้

ปั๊บ: ไม่ได้คิดเรื่องประสบความสำเร็จเลย คิดแค่ว่าเราโชคดีที่ได้รับโอกาส ได้ทำในสิ่งที่เรารัก ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ต้องบอกว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้ร้องเพลงด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบอยู่แล้ว แล้วได้อยู่วงดนตรีด้วย แล้วก็ได้แสดงดนตรีให้สาธารณชนได้ฟังด้วย มันเป็นเรื่องที่ ว้าว แบบตอนนั้นก็คือแฮปปี้มากแล้ว ยังไม่ต้องคิดมาถึงปัจจุบัน วันนั้นคือสวยงามมาก

หั่ง: ของผมก็อย่างที่บอกคือพ่อแม่ไม่มีปัญหา แต่ว่าด้วยเราเป็นครอบครัวคนจีน ซึ่งครอบครัวค่อนข้างใกล้ชิดกัน ภาษาคนจีนเขาเรียกว่ากงสี่ ก็คือในบ้านจะมีทั้งพี่ป้าน้าอา แล้วก็อาเจ็กอาม่าเยอะไปหมด เราจะโดนกดดันในวันที่เริ่มไปทำมาหากินด้วยการเล่นดนตรีกลางคืน ก็จะมีการกดดันเกิดขึ้นจากพี่ป้าน้าอา มันจะมีคำหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นก็คือไอ้นักดนตรีไส้แห้งที่เราได้ยินคนอื่นพูดตอกย้ำเรา ด้วยความที่อาจจะมีความดื้อในแบบช่วงวัยรุ่นแล้วก็เลือกที่จะเล่นดนตรีต่อ ยังแน่วแน่กับมัน ซึ่งเราพูดกับตัวเองอยู่เสมอว่าอย่างน้อยต้องทำมันเป็นอาชีพให้ได้ วันหนึ่งเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้ที่บ้านเห็นให้ได้ ผมว่าจริง ๆ แล้วปัญหาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกท้อถอย แต่มันกลับมาเป็นแรงผลักดันให้เราต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อเอาชนะคำพูดที่ไม่เชื่อเราให้กลับมาเชื่อเรา มันก็เหมือนเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เรามีทุกวันนี้ด้วย

กานต์: ของผมก็ตอนเริ่มเล่นดนตรีจริงจัง แม่ผมทำงานเป็นข้าราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่ผมเป็นคนอยู่จังหวัดกำแพงเพชร ก็จะอยู่กับคุณยายที่มีอาชีพค้าขายเป็นหลัก ทีนี้เวลาเราเรียนเสร็จ เวลาจะไปซ้อมดนตรี ก็เป็นช่วงที่ต้องไปช่วยยายขายของหรือว่าเก็บของ บางทีบางวันเราก็จะต้องขอเงินเขา เพื่อไปซ้อมดนตรี เขาก็จะมีความคิดขัดแย้งกับเรา แล้วแบบว่า ไปซ้อมทำไมดนตรี เสียตังค์ก็เสีย มาช่วยเขาขายของดีกว่า เขาก็จะชอบพูดอย่างนั้น แล้วก็คล้าย ๆ พี่หั่งตรงที่ว่า อาชีพนักดนตรีมันไปไม่รอดหรอก ไปเรียนให้จบ ๆ ไปทำอะไรดีกว่า แต่สุดท้ายก็มีแม่ผมที่เขาจะสนับสนุน เพราะเขารู้สึกว่าช่วง ม. ต้นผมเกเร แต่พอมา ม. ปลายเริ่มเล่นดนตรีจริงจัง เราก็ไม่ได้ไปเกเรเท่าไหร่ อยู่แต่กับดนตรี เขาก็เลยสนับสนุน เวลาเขากลับมาจากกรุงเทพฯ จะซื้อไม้กลองมาฝากคู่สองคู่ เพราะที่กำแพงเพชรเรื่องเครื่องดนตรีสมัยนั้นไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ไม้กลอง 25 บาทตีสองทีก็หัก เขาก็เลยซื้อมาให้คู่สองคู่ คู่ละร้อยกว่าบาทเอง ซ้อมเป็นชาติเลย โอ้โหหัก แล้วก็พันเทปตีอีก ก็มีแม่สนับสนุนมาโดยตลอดจนตัดสินใจมาเรียนบ้านสมเด็จฯ ก็บอกแม่ว่าผมจะไปเรียนต่อดนตรีนะ เขาก็สนับสนุนมาโดยตลอด โดยที่เข้าไม่ได้คาดหวังว่าเราจะเป็นยังไง

[caption id="attachment_14932" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ โปเตโต้ จากวันที่เกือบไม่ได้ทำต่อ จนถึงบทเรียนของการเปลี่ยนแปลง กานต์ (กานต์ อ่ำสุพรรณ)[/caption]

The People: ย้อนไปในวันแรกที่มาทำดนตรีด้วย จำบรรยากาศตอนนั้นได้ไหม

ปั๊บ: เวลาโดนถาม ก็จะรู้สึกยาว สมาชิกที่เห็นอยู่ปัจจุบันทำงานเบื้องหน้าด้วยกันมา 9 ปี ในแบบที่ฟอร์มแล้วก็เล่นดนตรี ทำเพลง ส่วนพี่หั่งเป็นโปรดิวเซอร์โปเตโต้มา 16 ปีแล้วจนปัจจุบัน รวมแล้วก็ประมาณนั้น

หั่ง: ก็มีช่วงเวลาที่ต้องเถียงกันด้วยเรื่องงานเยอะเหมือนกัน ทุกครั้งที่ขึ้นงานต้องแจมดนตรีกัน หรือว่าต้องหารือก่อนที่จะเข้าไปทำเพลงกัน ก็มีการหาข้อสรุปกันนานพอสมควร มีทุกรูปแบบเลย เถียงกัน แยกย้าย คุยกันใหม่ หาข้อสรุปกัน แต่ก็โชคดีที่ในการเถียงกันก็มีการอะลุ่มอล่วยกัน มีการให้อภัยกันอยู่ตลอดเวลา ก็เลยทำให้การทำงานค่อนข้างราบรื่น ส่วนใหญ่อุปสรรคจะเป็นเรื่องอื่น ๆ มากกว่า ไม่ใช่เรื่องของการถกเถียง อุปสรรคคือคิดงานเพลงไม่ออก

โอม: แต่อัลบั้มนี้ดีที่อุปสรรคอย่างหนึ่งมันไม่มีคือ เวลา แต่ก่อนเราทำงานต้องแข่งกับเวลาตลอด เพลงยังไม่มี แต่มีวันวางอัลบั้มให้แล้ว เป็นงานศิลปะที่ต้องทำแข่งกับเวลา ต้องส่งให้ทันเพื่อธุรกิจจะได้เดินได้ แต่พออัลบั้มล่าสุดมา เราทำงาน เพราะเราไม่มีเวลามาจำกัด ปัญหานี้มันเลยคลี่คลาย

The People: รายได้จากอัลบั้มหนึ่งที่ขาดทุนเกือบทำให้วงไม่ได้ไปต่อ

ปั๊บ: แน่นอนถ้าไม่มีอัลบั้มหนึ่ง ก็ไม่มีวันนี้ครับ ผมว่าอดีตมันสะท้อนถึงปัจจุบันทุกอย่างอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องคิดว่าเราจะกลับไปแก้ไขหรืออะไร มันเป็นกลไกตามธรรมชาติที่มันต้องเกิดขึ้น ผมมองว่าไอ้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่อัลบั้มที่ 1 หรือ 2 โดยเฉพาะอัลบั้ม 1 ทำให้เรารู้เลยว่าการที่เรายังอยากเล่นดนตรีอยู่ ยังอยากร้องเพลงอยู่ เราทำมันไปเพื่ออะไร

80% กับการทัวร์คอนเสิร์ตในอัลบั้มที่ 1 คือการเหมือนไปขอเขาเล่นคอนเสิร์ต เพราะฉะนั้นการที่เราไปขอ แน่นอนเราก็ต้องพิสูจน์ให้เขาทราบ แล้ว ร้อยละ 90 คือทุกคนเหมือนมีกำแพงอยู่แล้ว เพราะว่าด้วยลุค ด้วยสไตล์ ด้วยเพลง ด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมว่าเรื่องพวกนั้นมันสะท้อนทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องเลือกแล้วว่าเราจะทำอะไรกับชีวิตของเรา โอกาสที่เราได้มา เราจะทำอะไร โชคดีที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือเรายังอยากทำเพลงอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือนักร้องนำเสียชีวิต นักร้องนำซึ่งเป็นแกนหลักของวง คนที่ค่ายแกรมมี่อยากจะลงทุนด้วย มันคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ วันนั้นเราจะยังไงกับชีวิตดี เราจะไปต่อ หรือว่าจะยังไง แต่โชคดีที่ทุกคน go on มันถึงชื่ออัลบั้มว่า “go on” แน่นอนครับถ้าไม่มีอัลบั้มนั้น ไม่ส่งผลโดมิโนมาถึงทุกวันนี้

หั่ง: วันนั้นไม่มีใครอยากลงทุนแล้วเพราะว่านักร้องเสียชีวิต คือผมทำงานกับฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม) มา ผมจะคุยเรื่องนี้กับเบียร์บ่อย ๆ ว่าวันนั้นถ้าโปเตโต้ถูกวางเอาไว้ เพราะว่าคงไม่ได้ไปต่อแล้วเพราะนักร้องเสียชีวิต ส่วนฟองเบียร์ก็เป็นนักเขียนเพลงมือใหม่ที่กำลังมีผลงานอยู่ มีซิงเกิลเขียนให้วงโอโซน แล้วพอดีจังหวะเขามาเจอกันปั๊บกับที่วงก็ค่อนข้างมีความตั้งใจแน่วแน่ว่า เออ พวกเราจะไปต่อ วันนั้นฟองเบียร์ก็เป็นนักแต่งเพลงมือใหม่ที่มาเจอกันในห้องประชุมพอดี วันที่ทุกคนไม่อยากลงทุนแล้ว ทีนี้นักแต่งเพลงคนหนึ่งกับคนที่ต้องการไปต่อมาเจอกัน มันก็เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ที่แบบ โอเค งั้นเรามาจับมือกัน แล้วก็เดินต่อไปด้วยกัน หลังจากนั้นมันก็ยาวต่อมา

The People: อัลบั้มชุดที่เจ็ด สอนอะไรโปเตโต้

ปั๊บ: สอนให้ผมรู้ว่าผมยังรู้น้อยมากเลย แล้วก็ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ มีอะไรให้เราศึกษาแล้วก็หาข้อมูลอีกเยอะเลย ยิ่งเล่นดนตรีไปเรื่อย ๆ ยิ่งร้องเพลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งทำเพลงไปเรื่อย ๆ ยิ่งรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมเรารู้น้อยจัง เราเข้าใจน้อยจัง ในอัลบั้มใหม่เราอยากเข้าใจอะไรให้มากกว่านี้ อยากลึกซึ้งกับมันมากกว่านี้ อยากเรียนรู้ความรู้สึกของคนมากกว่านี้ ผมยังสนุกอยู่เลยครับ ถ้าถามว่าผ่านมาสิบกว่าปีแล้วได้อะไร ก็ไม่รู้ทำไมผมได้ความรู้สึกแบบนี้เหมือนกันยังไม่อยากหยุดเลย

โอม: มันสอนให้รู้ว่าอาชีพนี้ต้องทำให้ตัวเองมีความสุขก่อนสุขที่จะทำ ไม่งั้นมันก็ส่งต่อไม่ได้ มันจะส่งพลังงานที่เรามีความสุขออกไปไม่ได้

หั่ง: อย่างหนึ่งที่เรียนรู้เลยคือ อย่าไปยึดติด โปเตโต้อยู่กับความเปลี่ยนแปลงมาตลอด 18 ปี ตั้งแต่นักร้องเสียชีวิต เปลี่ยนมือกีตาร์ เปลี่ยนมือกลอง เปลี่ยนโปรดิวเซอร์ โอ๊ยเยอะแยะไปหมด เปลี่ยนแนวเพลง ระยะเวลา 18 ปี ถ้ามองเป็นชีวิตคือมนุษย์คนหนึ่ง ผมว่าคนเราอยู่กับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ จากไม่มีหนวดกลายเป็นมีหนวด จากผมดำเป็นผมขาว ถ้าเราเข้าใจก็จะอยู่กับมันได้ บางคนอาจจะมองว่าแนวเพลงโปเตโต้เปลี่ยนไป บางทีคนลืมคิดไปว่า ฟังเพลงนั้นมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้วนะ วันนี้จะมีใครสักคนหนึ่งที่มีทัศนคติเปลี่ยนไป แต่ยังต้องฝืนร้องในทัศนคติเดิม ๆ ที่คนคุ้นเคย มันก็เป็นเรื่องยาก มันเลยทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า โปเตโต้อยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอด มนุษย์ก็อยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอด สอนให้เรารู้ว่าอย่าไปยึดติด แล้วชีวิตจะมีความสุข

[caption id="attachment_14929" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ โปเตโต้ จากวันที่เกือบไม่ได้ทำต่อ จนถึงบทเรียนของการเปลี่ยนแปลง หั่ง (ทีฆทัศน์ ทวิอารยกุล)[/caption]

The People: ถ้าเปรียบชุดที่เจ็ดเป็นคนคนหนึ่ง เขาจะเป็นคนยังไง

หั่ง: เป็นคนที่เป็นไบโพลาร์นิดหนึ่ง

ปั๊บ: ผมว่าเขาเป็นคนลึกลับดีนะ แล้วเขาก็ไม่บีบบังคับใคร เป็นคนไม่ได้บอกว่าอันนี้ถูกหรือผิด เขาก็เป็นคนคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนี้แล้วเขาก็อยากจะพูดในแบบเป็นกลาง ๆ ว่าคุณก็ไปเลือกเอาเอง ไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก จะเลือกเชื่อดวงก็ได้ ก็ไม่ผิด จะเลือกไม่เชื่อก็ได้ ก็ไม่ผิด จะเลือกยอมแพ้ก็ได้ ก็ไม่เป็นไร เราก็มีชีวิต การยอมแพ้ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้เป็นคนสักหน่อย แพ้ก็ได้ ชนะก็ได้ เสียใจก็ได้ ไม่เสียใจก็ได้ มีความสุขก็ได้ เพราะมันคือชีวิต

กานต์: แต่พื้นฐานของคนที่อยู่ในอัลบั้มชุดที่เจ็ดคือคิดบวกถ้าฟังเนื้อเพลงทุกเพลงดี ๆ จะไม่มีเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกว่ามันเศร้า มันแบด

The People: ที่ผ่านมาโปเตโต้ เคยรู้สึกทิ้งกลางทางกับสิ่งใดไหม

โอม: ไม่รู้ทิ้งอะไรบ้าง บางทีก็รู้สึกว่าถูกทิ้ง ไม่ได้รู้สึกว่าเราไปทิ้งเขานะ

หั่ง: ทิ้งความไม่สบายใจเอาไว้ ผมว่านะ บางทีเราแบกอะไรที่ไม่สบายใจหรือว่าสิ่งที่เราฝืนธรรมชาติไม่ได้ บางทีมันอาจจะไม่ใช่เรื่องของการทิ้ง เราอาจจะวางมันเอาไว้ก่อน ไม่งั้นเราจะไปต่อไม่ได้ เช่น เรื่องความทุกข์ เรื่องที่เรากำหนดหรือควบคุมไม่ได้ วันหนึ่งมีโอกาสเราอาจจะได้กลับมาเจอกัน ผมว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราเรียนรู้จากการที่เราทำงานอยู่กับมันมาเสมอ ถามว่าทิ้งอะไรบ้าง ถ้าพูดมันอาจจะไม่ต้องเป็นรูปธรรมมาก ผมว่านามธรรมคือเราทิ้งสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เพื่อให้เป้าหมายของเราหรือว่าสิ่งที่เราทำได้เดินต่อไป

ปั๊บ: อาจจะตอบไม่ตรงคำถาม เพราะว่ายิ่งมาถึงปัจจุบันผมรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว พวกเราไม่เคยทิ้งอะไรกันเลย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เหมือนมันยังเป็นความทรงจำหรือเป็นก้อนความรู้สึกบางอย่างที่ยังอยู่กับเราเสมอ ผมว่ามันเป็นเรื่องค่าประสบการณ์ที่เราต้องผ่านไป เรื่องที่คนบอกให้ทิ้งเรื่องที่ไม่ดีไปซะ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ให้กำลังใจได้ชั่วขณะ แต่ผมว่าการยอมรับว่ามันมีเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้น และมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา มันทำให้เราไปต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่เราโหยหาความสุขมากเกินไป หรือโหยหาสิ่งที่ดีมากเกินไป มันก็เป็นความทุกข์รูปแบบหนึ่งที่มาคู่กันอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เราคุยกันบ่อย ๆ ว่าอะไรจะเกิดก็เกิด เราก็ทำมันให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปคิดเรื่องทิ้งไม่ทิ้ง

[caption id="attachment_14926" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ โปเตโต้ จากวันที่เกือบไม่ได้ทำต่อ จนถึงบทเรียนของการเปลี่ยนแปลง โอม (ปิยวัฒน์ อนุกูร)[/caption]

The People: โปเตโต้ เกิดจากคำว่ามันแล้วมันในวันนี้เติบโตไปในลักษณะไหน

ปั๊บ: ผมว่ามันก็ยังมันเหมือนเดิม ผมว่ามันมันกว่าเดิมด้วย โดยเฉพาะการเล่นดนตรี ผมว่าทำไมตอนผมเป็นหนุ่มกว่านี้ผมไม่ร้อนแรงแบบนี้ ไม่รู้สึกสนุกขนาดนี้ เหมือนว่าวันนั้นเราเล่นด้วยความตั้งใจ เป็นมันที่ตั้งใจปลูกมาก เพื่อให้มันออกมามีผลที่ดี จนสุดท้ายแล้ว มาถึงวันนี้เหมือนช่างมัน’ มันจะโตเป็นลูกไหนมันก็สวยทั้งนั้น มันก็กินได้แล้วมันก็อร่อยเหมือนกัน ก็เต็มที่ไปเลย ผิดถูกไม่มีอีกต่อไปแล้ว ทำมันด้วยความรู้สึกดีกว่า คนที่เขามากินมันฝรั่งอันนี้เขาก็จะได้รับความรู้สึกเพียวแบบนี้ไปด้วย กลับบ้านไปก็จะรู้สึกว่าเออสนุกก็สนุก มันแบบเน่า ๆ มันก็เศร้าไปด้วย ไม่ได้ถูกปรุงเยอะจนเกินไป 

The People: ครั้งหนึ่ง ปั๊บ เคยขอลาออกจากวงเพราะอะไร

ปั๊บ: โห มันซับซ้อน ผมไม่ได้อยากเลิกร้องเพลงแล้วก็เลิกเล่นดนตรีเลย แต่ที่เลือกที่จะคิดอย่างงั้น เพราะเราคิดว่าบางครั้งเราตั้งใจทำงานมากเกินไปหรือเปล่า หรือว่าเครียดเกินไปหรือเปล่า ทำให้บรรยากาศทุกอย่างแย่ ทำให้ส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ที่บางทีเขาอาจจะไม่ได้อยากให้มันเป็นแบบนี้ แล้วตัวเราเองมันมีพลังแบบนั้นใส่ไปตลอดเวลาว่า จริง ๆ แล้ว วงก็น่าจะหาคนที่มาเป็นนักร้องที่เข้ากับสิ่งที่พี่เขาเป็นอยู่ น่าจะเหมาะกว่า เพราะผมรู้สึกอึดอัดที่เวลาเราไปทำงานแล้วเรารู้ว่าทุกคนไม่ได้มีความสุขกับเราในสิ่งที่เราเป็น ตอนนั้นเราแก้ก็ได้ แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นส่วนประกอบที่ไม่ค่อยโอเคแล้วตอนนั้น ก็เลยเหมือนตัดสินใจว่า งั้นก็ลองหานักร้องใหม่ดู คือเราไม่ได้รู้สึกเสียดายกับคำว่าโปเตโต้ขนาดนั้น คืออยากให้เขาได้เดินทางต่อไปในแบบที่ทุกคนมีความสุข แต่ว่า...

หั่ง: พอปั๊บออกก็เลยออกกันหมดเลย

ปั๊บ: เพื่อนก็เลยลาออกตามมาด้วย แบบ...เอ้าเหรอ มึงไปแล้วมึงมีมือเบสหรือยัง ยังไม่มี ยังไม่ได้คิดอะไรเลย งั้นเดี๋ยวกูไปเล่นเบสให้ กานต์ก็บอกแล้วมีมือกลองหรือยัง เดี๋ยวไปตีให้ แล้วมันก็เหมือนเดิมเลย สุดท้ายเราก็กลับมาที่ตัวเองครับ แล้วก็แก้ปัญหาที่ความรู้สึกตัวเองมากกว่า

โอม: ให้มันทะเลาะกับตัวเองให้เสร็จก่อน เดี๋ยวกูค่อยไปคุยกับมึง

[caption id="attachment_14935" align="aligncenter" width="1200"] สัมภาษณ์ โปเตโต้ จากวันที่เกือบไม่ได้ทำต่อ จนถึงบทเรียนของการเปลี่ยนแปลง ปั๊บ (พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข)[/caption]

The People: อะไรคือแก่นที่ยังทำให้เรายังทำงานจนถึงวันนี้

ปั๊บ: ผมว่ามันมีหลายปัจจัย ปัจจัยที่หนึ่งคือว่า มันคืออาชีพ คือชีวิตของเรา คือความรักของเรา เราก็ต้องดูแลมัน ดูแลกัน งานดูแลเรา เราดูแลงาน ดนตรีดูแลเรา เราดูแลดนตรี คือดนตรีให้อะไรกับเราเยอะ เพราะฉะนั้นก็พยายามคุยกันว่าเราอย่าประมาท อย่าประมาทว่าวันนี้ดี แล้วพรุ่งนี้จะดี เพราะพรุ่งนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ หรือถ้ามันอาจจะไม่ดี เราก็ควรจะรู้ว่าไม่ดีเพราะอะไร ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องความไม่ประมาท

หั่ง: ผมว่าจริง ๆ ก็ย้อนกลับไปคำถามแรก ๆ แหละครับ อัลบั้มนี้มันเจ็ดปี ผมว่ามันสอนเราว่า ถ้าเราหวังมาก วางแผนเยอะ หรือว่าคิดไปไกล ๆ เกินไปแล้ว พอทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวัง ก็จะเป็นความผิดหวัง สิ่งหนึ่งที่ยังยึดให้เรายังทำงานต่อไปได้ ยังคงเล่นดนตรีต่อไป ปั๊บจะพูดเสมอว่าก็เล่นไปเรื่อย ๆ พี่ยังมีแรงก็เล่นต่อไป เดี๋ยวเจอปัญหาอะไรก็แก้กันไป ผมว่ามันก็สนุกดี

ปั๊บ: รับผิดชอบหน้าที่ตัวเองให้ดี ผมว่ามันก็จะเหมือนเป็นบันได ผมว่ามันคือการถามตัวเองว่าวันนี้เราตั้งใจทำงานหรือเปล่า เราขี้เกียจกับมันหรือเปล่า 

หั่ง: แต่ผมมั่นใจนะว่าอีกสิบปีก็ยังเห็นปั๊บกับโปเตโต้ร้องเพลงอยู่ คือผมรู้สึกว่าทุกคนยังซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ หลังจากวันนี้จะเป็นยังไงเราไม่รู้ แต่ว่าเรามั่นใจว่าเรายังเล่นดนตรีต่อไปเรื่อย ๆ

  โปเตโต้กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองในวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม 2562 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี