16 ส.ค. 2562 | 10:08 น.
“จำได้เลยวันแรกที่ได้เลี้ยงนกกระเรียน เข้าไปในกรงพ่อพันธุ์เพื่อให้น้ำให้อาหาร พอเผลอก้มลง แล้วเงยหน้าขึ้นเท่านั้นแหละ นกมางับหูเลย เราเลยถอยออกมาก่อน พออยู่ไปนาน ๆ ก็เริ่มเข้าใจอุปนิสัยของนกมากขึ้นว่าแต่ละตัวมีนิสัยไม่เหมือนกัน บางตัวขึ้เล่น บางตัวก็แอบดุหน่อย” เสียงหัวเราะที่ดังเป็นระยะ และรอยยิ้มอย่างอารมณ์ดี ทำให้รู้ว่าตอนนี้ “เติ้ล-ณัฐวัฒน์ แปวกระโทก” แทบจะลืมอาการตกใจในวันนั้นไปเกือบหมดแล้ว เพราะในวันนี้เขารับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่นักวิจัยภาคสนาม สำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับหน้าที่หลักคือการดูแลนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาตินานเกือบ 50 ปี ให้กลับมาโบยบินเหนือผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง จากความพยายามของเติ้ล ทีมงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยให้ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นนกบินได้ที่มีขนาดสูงที่สุดในโลกถึง 180 เซนติเมตร เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แล้วสามารถนำปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วมากกว่า 100 ตัว ซึ่งในปี 2559 นกกระเรียนที่ปล่อยไปบางส่วนได้เริ่มกลับมาทำรังในธรรมชาติเป็นครั้งแรก จุดเริ่มต้นการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ย้อนกลับไปเมื่อครั้งองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมชูปถัมถ์ ได้รับพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ถวายงานเพาะพันธุ์นกกระเรียนไทยทรงเลี้ยง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ต่อมาสามารถผสมเทียมเป็นที่สำเร็จได้ลูกนก ซึ่งองค์การสวนสัตว์นำมาขยายพันธุ์ต่อจนได้ลูกนกกระเรียนซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า “เหินหาว” แล้วนำไปปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ “เราใส่ชุดเลียนแบบพ่อแม่นก เป็นการอนุบาลลูกนกที่เรียกว่า isolation rearing technique program เพื่อฝึกให้ลูกนกสามารถใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ และป้องกันไม่ให้ลูกนกเกิดพฤติกรรมฝังใจกับมนุษย์ เพราะพอลูกนกเกิดจะจำสิ่งที่เห็นครั้งแรก ถ้าจำคนเลี้ยงที่เป็นคน พอเราปล่อยไปในธรรมชาติ นกกระเรียนอาจเข้าหามนุษย์ แทนนกกระเรียนด้วยกัน ซึ่งอาจทำให้นกกระเรียนเป็นอันตรายได้” เติ้ลอธิบายถึงกระบวนการเลี้ยงนกกระเรียนพันธ์ุไทย ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จาก มูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (ICF) ซึ่งการใส่ชุดนกเป็นหนึ่งในกระบวนการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งมีอยู่ 6 ขั้นตอน ทั้งการคัดเลือกพื้นที่ปล่อย การเพาะขยายพันธุ์ การอนุบาลลูกนก การตรวจสุขภาพและติดเครื่องติดตาม การฝึกนกในพื้นที่ปล่อย และติดตามหลังการปล่อย นกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวไม่มีขน แต่มีลักษณะเป็นตุ่มหนังสีส้มหรือแดงสด กระจายพันธุ์อยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ด้วยนกกระเรียนมีขนาดใหญ่ มีท่วงท่าสง่างาม และการเต้นรำอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้นกชนิดนี้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความโชคดีของหลายวัฒนธรรมมาอย่างช้านาน “ในอดีตนกกระเรียนพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ทั่วประเทศ อย่างที่บุรีรัมย์มีภาพถ่ายในปี 2475 ของครูคุ้ม เอี่ยมศิริ ที่นำนกกระเรียนมาเลี้ยง เป็นหลักฐานว่านกกระเรียนเป็นสัตว์ที่อยู่คู่คนในจังหวัดนี้มานาน เก่าไปกว่านั้นมีบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่กล่าวถึงนกกระเรียนไทยนับหมื่นตัว ในบริเวณทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา” เติ้ล-ณัฐวัฒน์ เป็นชายหนุ่มจากเมืองย่าโม ซึ่งเดินทางไปเรียนด้านสัตวบาล ที่คณะเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ปี 2553 แล้วเริ่มงานแรกเป็นสัตวบาลประจำโรงฟักไข่ ในบริษัทแห่งหนึ่ง ด้วยอุปนิสัยเป็นคนไม่ชอบอยู่ประจำ แต่ชอบใช้ชีวิตในธรรมชาติ สัมผัสชีวิตสัตว์ป่า ทำให้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เขาตัดสินใจหันหลังให้กับงานประจำเงินเดือนหลายหมื่นที่กำลังไปได้ดี เพื่อสอบเข้ามาเป็นนักวิจัยของสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ฯ ซึ่งหน้าที่หลักคือการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่จังหวัดบุรีรัมย์ “งานสัตวบาลประจำโรงฟักไข่ เป็นงานที่มั่นคงแน่นอน เงินเดือนเยอะมาก แต่เรารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เลยออกมาเลี้ยงนกกระเรียน งานเดิมช่วยให้เราได้เรียนรู้ มีองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ การบริหารจัดการ การทำงานต่าง ๆ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับการเลี้ยงนกกระเรียนได้ เพราะนกกระเรียนมีโครงสร้างคล้าย ๆ กับพวกเป็ดไก่เหมือนกัน” นอกจากการเพาะเลี้ยงนกกระเรียนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ การคัดเลือกพื้นที่ปล่อย ซึ่งพื้นที่เหมาะสมต้องเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำความลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติที่สำคัญของนกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของนกมีทั้งสภาพพื้นที่ ฤดูกาล คุณภาพของน้ำ ชนิดของพรรณพืช สัตว์น้ำ สัตว์บก ที่เป็นแหล่งอาหาร และสัตว์ผู้ล่า สำคัญที่สุดคือการรบกวนและภัยคุกคามจากกิจกรรมมนุษย์ “เราสำรวจพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศเพื่อทำการคัดเลือก โดยมีเกณฑ์ให้คะแนนต่าง ๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของนกกระเรียน ที่สำคัญคือชาวบ้านในพื้นที่บริเวณนั้นมีความรู้ความเข้าใจมากแค่ไหน เราได้พื้นที่ที่เหมาะสมด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แห่งหนึ่ง แต่พอรวมคะแนนกับชาวบ้านในพื้นที่แล้ว บุรีรัมย์ได้คะแนนความพร้อมด้านมวลชนสูงมาก นอกจากนี้ที่นี่ยังมีหญ้าแห้งทรงกระเทียม พืชตระกูลกกที่มีหัวสะสมอาหาร ซึ่งนกกระเรียนสามารถอาศัยพืชประเภทนี้เป็นอาหารได้ในช่วงแห้งแล้งที่ขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีน” ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับเลือกจากองค์การสวนสัตว์ เพื่อเปิดเป็นศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย และพร้อมปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติเพิ่มอีก 10 ตัว ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ฯ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมให้เกิดคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ ไทยแอร์เอเชีย เพื่อให้ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย “พอเราปล่อยไปแล้วต้องประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนในพื้นที่ถึงความสำคัญของนกกระเรียน เพราะธรรมชาติของนกจะปรับตัวมาอาศัยอยู่ตามนาข้าวของชาวบ้าน ครั้งหนึ่งมีนกเป็นฝูงกว่า 15 ตัว ไปทำรังที่นาข้าว เราตามไปดูเห็นนกกระเรียนเหยียบต้นข้าวล้ม ก็กลัวเจ้าของนาจะไม่พอใจ เลยถ่ายรูปไปแจ้งเขา แต่เขาบอกไม่เป็นไรเพราะคืนเดียวต้นข้าวก็ตั้งขึ้นใหม่ได้ แถมนกกระเรียนยังช่วยกินหอย กินปูนา ตั๊กแตน ที่เป็นศัตรูพืชในนาข้าวให้อีก” เติ้ลเคยทำการประเมินไว้ว่า การที่นกมาทำรังในนาข้าว เมื่อเทียบกับพื้นที่ความเสียหาย ตีเป็นค่าเสียโอกาสประมาณ 230 บาท ซึ่งเขาบอกว่าสิ่งที่ได้ทดแทนกลับมาคือข้าวในพื้นที่เพาะปลูกที่มีนกกระเรียนมาทำรังตามธรรมชาตินั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะได้รับการยืนยันจากนกกระเรียนซึ่งเป็นดัชนีแสดงถึงสิ่งแวดล้อมที่ดีว่า เป็นนาข้าวที่มีระบบนิเวศการเพาะปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง “นกกระเรียนจะอาศัยอยู่ในนาข้าวมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าระบบนิเวศของนาข้าวมียาฆ่าแมลง เปลือกไข่นกจะบาง และอัตราเกิดจะน้อยมาก ซึ่งที่บุรีรัมย์มีนกกระเรียนมาทำรังแสดงว่าเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารพิษในดิน นำมาต่อยอดเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ของชุมชน ตรานกกระเรียนไทย ตามแนวคิดที่ว่า นกอยู่ได้ คนอยู่ได้ ชุมชนมีสุข" ในมุมมองของนักวิจัยและตัวแทนทีมเพาะขยายพันธุ์ เติ้ลยังฝากอีกด้วยว่าอยากให้นกกระเรียนได้กลับมาอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะถ้าการที่สัตว์ชนิดหนึ่งถูกปล่อยให้สูญพันธุ์ไปในธรรมชาติแล้ว การจะนำกลับมาได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งกรณีของนกกระเรียนเป็นหนึ่งในไม่กี่กรณีที่ประสบความสำเร็จ “เสน่ห์ของนกกระเรียนในสายตาเรา เราได้เห็นพัฒนาการตั้งแต่ยังเป็นไข่ใบเล็ก ๆ ได้เฝ้าในโรงฟัก เห็นตอนที่ลูกนกฟักออกเป็นตัวแดง ๆ แล้วมาจิกอาหารจากมือเราที่คอยป้อน ได้เห็นพัฒนาการการเติบโตอยู่ตลอด ได้สอนนกบิน ไม่ต่างจากเราเป็นพ่อแม่นกเอง จนถึงวินาทีที่ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ รู้สึกเหมือนลูกเราเองได้โบยบินไป”