02 เม.ย. 2568 | 18:12 น.
เด็กหนุ่มแต่งกายด้วยชุดดับเบิลยีนส์ รองเท้าหนัง พูดน้อย สมาชิกวงดนตรีระดับตำนานตรงหน้า ถ้าย้อนไปแค่ 1 ปีก่อนหน้านี้ เขายังเป็นเพียงนักเรียนมัธยมปลายจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่ไล่คว้าฝันด้วยการประกวดวงดนตรี และหาโอกาสรวมวงกับพี่ ๆ ละแวกบ้านเล่นดนตรีในร้านอาหาร ก่อนเส้นทางสายดนตรีจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปอย่างสิ้นเชิง
การเกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยเสียงดนตรี เพราะ ป๋า (คุณพ่อ) เป็นคนที่รักเสียงเพลงและอดีตเคยเป็นมือกลอง จึงตั้งชื่อลูกชายว่า ‘ดั๊ม’ ที่พ้องเสียงกับคำว่า Drums ที่แปลว่ากลอง และยังมีชื่อจริง คือ ‘เอกมันต์’ ตามนักดนตรีชื่อดัง เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง ศิลปินผู้เอกอุทางด้านการตีกลองอีกด้วย
เส้นทางสายดนตรีเริ่มตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ กับกีตาร์ตัวแรกในชีวิตที่ป๋าถือมาให้ และมอบหมายให้ลูกพี่ลูกน้องในวัยไล่เลี่ยกันเป็นผู้ฝึกสอน โดยมีเพลง ‘ซมซาน’ ของวงโลโซ เป็นเพลงฝึก จนสามารถเล่นเป็นเพลงได้ภายในวันเดียว
เมื่อเด็กชายใช้เวลากับเครื่องดนตรี 6 สายไปเรื่อย ๆ ก็ซึมซับเป็นความชอบ และพัฒนาเป็นความรักในที่สุด และจากนั้นมาก็ไม่เคยห่างหายจากการเล่นดนตรีอีกเลย จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของชีวิต
โดยมีวงระดับตำนานของเมืองไทยอย่าง ‘คาราบาว’ ที่ฟังเรื่อยมาตั้งแต่จำความได้นับพันนับหมื่นครั้ง ด้วยความหลากหลายของแนวดนตรีและเนื้อหาที่เข้าถึงหัวใจ กระตุ้นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเป็นนักดนตรีมืออาชีพ
ช่วงเวลาว่างของเด็กชายชั้นประถม จึงต่างจากเด็กรุ่นเดียวกันที่ชักชวนกันออกไปเที่ยวเล่น หรือ เล่นเกม เขาใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงไปกับการฝึกเล่นกีตาร์ ก่อนจะเริ่มขยับมาที่เครื่องดนตรีอื่น ๆ อย่าง คีย์บอร์ด กลอง เบส ขลุ่ย และเริ่มหัดแต่งเพลง ด้วยเซนส์ของนักดนตรีจึงใช้เวลาเรียนรู้เพียงไม่นาน
“ตื่นนอนมาปุ๊บ กีตาร์จะอยู่ข้างที่นอน ก็หยิบมาฝึกเลย เด็กคนอื่น อาจจะอยากไปเตะบอล ไปปั่นจักรยาน เล่นกับเพื่อน แต่เราอยากเล่นกีตาร์ แล้วตอนอยู่ ป.2 พ่อให้ลงแข่งรายการ Thailand’s Got Talent ซีซัน 3 ออดิชั่นที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ก็เป็นการขึ้นเวทีใหญ่ครั้งแรกครับ” ดั๊มเล่าย้อนถึงช่วงฝึกกีตาร์แรก ๆ
ชีวิตที่ผูกพันกับดนตรีของเขาชัดเจนขึ้น ตอนช่วงม.1 ในรั้วโรงเรียนพนัสพิทยาคาร จ.ชลบุรี คุณครูได้ชักชวนเขาและเพื่อน ๆ ตั้งวงดนตรีเพื่อประกวด โดยผสมผสานดนตรีสากลเข้ากับดนตรีไทย ดั๊ม อาศัยความใจกล้า ทักช่องทางแชท Facebook หา น้าดุก - ลือชัย งามสม มือคีย์บอร์ดวงคาราบาว เพื่อขอคำแนะนำในการทำวง
น้าดุกไม่เมินเฉยข้อความ แต่ยังโทรกลับหาเขา พร้อมให้คำแนะนำอย่างมีเมตตา ความมุ่งมั่นตั้งใจของเด็กวัยมัธยมกางเกงขาสั้นในวันนั้น ส่งผลให้ชื่อของดั๊ม เด็กนักเรียน ม.ต้น จากพนัสนิคม เป็นที่รับรู้ของน้าดุกและสมาชิกในวง
“ตอนลุงดุกโทรมา ผมบอกว่า คุณลุงครับ ดั๊มจะแข่งดนตรี มีขลุ่ย และเรามีดนตรีไทยในวง ต้องทําอย่างไรบ้าง แกก็อธิบายในเชิงดนตรี ตอนนั้นเราก็เอาไปทำ แล้วก็มีความฝันว่าขอแค่แจมกับลุง ๆ สักครั้งในชีวิต เราก็เห็นภาพแค่แบบนี้”
กระทั่งเข้าสู่ช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาก็เริ่มฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน วงดนตรีน้องใหม่สมาชิกชายล้วน 8 คน โดยผสมผสานเครื่องดนตรีสากลเข้ากับเครื่องดนตรีไทย อย่างกลองยาวและระนาด ภายใต้ชื่อวง ‘Success’ เป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรีในรูปแบบวงจริงจัง
ภารกิจลองสนามครั้งแรกคือการประกวดในเวทีระดับจังหวัดที่พวกเขา ขอแค่มีโอกาสหาประสบการณ์เท่านั้น แต่ในที่สุดก็มาไกลเกินฝัน จากการคว้ารางวัลชนะเลิศในระดับจังหวัด ที่ช่วยชุบชูจิตใจปลุกไฟความฝันมากขึ้น
รางวัลแรกในมือ ทำให้ดั๊มเริ่มมีความมั่นใจในการประกวดวงดนตรีเพิ่มขึ้น ทันทีที่เห็นประกาศการรับสมัครการประกวดวงดนตรีสากล THE POWER BAND เวทีที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาส เขาก็ตัดสินใจทันทีว่าก่อนจะโบกลาชีวิตมัธยม ขอลองวัดศักยภาพตนเองและเพื่อนร่วมทีมบนเวทีใหญ่ระดับประเทศดูสักครั้ง
THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ จุดกำเนิดศิลปินหน้าใหม่ บทพิสูจน์ของนักดนตรีตัวจริงมากความสามารถ โดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผนึกกำลังกับพันธมิตร 8 ค่ายเพลงชั้นนำระดับประเทศ ที่พร้อมเคียงคู่คนมีความฝัน ร่วมระเบิดพลังแห่งความเป็นไปได้ ไม่สิ้นสุด
เวทีการประกวดดนตรีที่ไม่ได้หาแค่เฟ้นหาผู้ชนะเลิศ แต่เป็นพื้นที่เชื่อมโลกแห่งความฝัน สู่การเป็นศิลปินมืออาชีพ จากบรรดาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในรั้วมหาวิทยาลัย ค่ายเพลง และนักดนตรีตัวจริง พาผู้เข้าประกวดทั้งในระดับเยาวชน และบุคคลทั่วไป คว้าฝันการเป็นศิลปินและนักดนตรีมืออาชีพ
“ครั้งแรกที่เห็นโปสเตอร์งานประกวด THE POWER BAND โห! เจ๋งมากเลยอ่ะ มีค่ายเพลงเต็มเลย มันเท่มาก! ก็เลยไปบอกครู และชวนเพื่อน ๆ ตอนแรก ๆ ก็ยังไม่มีคนเอาด้วย เพราะคิดว่ายากเกินไป แต่ผมก็มั่นใจว่าเราจะไม่เน้นโชว์พลังอย่างเดียว จะทำให้คนฟังรู้สึกดีในการได้ฟังวงของเรา อันนี้ก็เป็นจุดที่คิดว่าจะสู้ได้” ดั๊มเล่าย้อนถึงช่วงเวลาการตัดสินใจประกวด
เด็กหนุ่มทั้ง 8 คนมีเวลาไม่มากนักในการเตรียมตัวส่งผลงานไปออดิชั่น กับโปรดักชั่นง่าย ๆ ถ่ายวีดีโอด้นสดกันหน้าสนามฟุตบอล เพราะไม่มีห้องอัด แต่ก็สามารถเข้าสู่รอบแรกของการแข่งขันโซนภาคตะวันออกที่ จ.ชลบุรีได้
รอบการประกวดระดับภูมิภาค วง Success ยึดมั่นในแนวทางเล่น คือทำให้ผู้ฟังมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องงัดทักษะมาโชว์จนฟุ่มเฟือยเพื่อเป็นดาวเด่น รวมไปถึงการมีทักษะการเรียบเรียงดนตรี แต่งเพลงได้ พวกเขาจึงทะยานผ่านเข้าสู่รอบการแข่งขันระดับประเทศที่เป็นความท้าทายครั้งใหม่บนเวทีที่ใหญ่กว่าเดิม
“วันประกวดผมจำคอมเมนต์ได้ดี อาจารย์แป๊บ (วิโรจน์ สถาปนาวัตร อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล) บอกว่าวงนี้เล่นดนตรีเป็นดนตรีจริง ๆ ได้ยินแบบนี้ผมดีใจมาก ใจชื้นแล้ว”
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เด็กหนุ่มวัย 18 ปี ได้กลับมายืนที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์อีกครั้ง ซึ่งเป็นเวทีที่เขาเคยมาเยือนขณะร่วมแข่งขันรายการ Thailand’s Got Talent
แม้ว่าผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะไม่เป็นดังหวัง แต่อีกสิ่งที่ล้ำค่า คือ การได้พบปะ ทำความรู้จักเพื่อน ๆ นักดนตรีจากทั่วประเทศ ได้เปิดหูเปิดตาเห็นโลกที่ไปไกลเกินกว่าที่ที่เขาเกิดและเติบโต ตอกย้ำให้เห็นถึงโอกาส ความเป็นไปได้ และความท้าทายในโลกดนตรีที่รออยู่
แม้จะผ่านเวทีการประกวด THE POWER BAND ไปแล้ว เด็กหนุ่มยังคงมุ่งมั่นพัฒนาทักษะดนตรีอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสได้ติดต่อกับสมาชิกของวงคาราบาวผ่านช่องทางออนไลน์เรื่อยมา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อดั๊มได้รับการติดต่อจาก ‘ลุงแอ๊ด คาราบาว’ ให้เข้ามาเล่นคีย์บอร์ดแทนลุงดุกชั่วคราวจากปัญหาสุขภาพ ลุงดุก ผู้ซึ่งเคยเป็นเหมือนครูให้เขาเมื่อตอนอายุ 13 ปี สู่การได้ร่วมเล่นกับ ลุง ๆ น้า ๆ ในการทัวร์คอนเสิร์ตภาคใต้ ซึ่งนี้อาจเรียกว่าโชคชะตา ที่มาในรูปแบบของความพยายาม หรือพลังแห่งความเป็นได้
ดั๊มจึงแกะเพลงคาราบาวที่จะขึ้นโชว์ครบทั้ง 24 เพลง และลากกระเป๋าขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต เพื่อพาตัวเองเดินขึ้นเวทีไปกับสมาชิกวงคาราบาว ไอดอลของเขาเป็นครั้งแรก เป็นความฝันที่จับต้องได้ และด้วยฝีไม้ลายมือ และความมีวินัยทำให้เขากลายเป็น ‘ดั๊ม คาราบาว’ ในปัจจุบัน ความฝันของเด็กชายในวัย 6 ขวบที่อยากจะเป็นนักดนตรีในวงคาราบาวกลายเป็นจริงเมื่อผ่านไปเพียง 10 ปีเศษเท่านั้น
“ตอน ม.1 ผมได้ปรึกษาเรื่องจะแข่งดนตรีในโรงเรียนกับลุงดุก ผ่านไป 6-7 ปี ผมได้มาลองแจมกับคาราบาวก่อน เหมือนหลานคนหนึ่งได้เข้ามาลองเล่น 1 ครั้ง จากนั้นลุงดุกก็เสียชีวิต ผมก็กลายเป็นคนทําหน้าที่แทนลุง ซึ่งผมก็ต้องทำให้ดีเหมือนที่ลุงดุกเคยทำมา เรื่องราวนี้มันก็เป็นโชคชะตาที่แปลกดีครับ”
การได้เล่นกับคาราบาวเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต และยังเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ ด้านวิธีการเล่นดนตรีในระดับมืออาชีพ ทำงานร่วมกับศิลปินที่มีประสบการณ์ ที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตของเขา นำสิ่งที่เขาสั่งสมมาใช้ในการแสดง เพื่อพิสูจน์ฝีมือ “เลือดใหม่” คนนี้ ให้ทั้งสมาชิกวงและแฟน ๆ คาราบาวเห็นถึงความสามารถ ความมีวินัย ความตั้งใจจริง ทำให้เขากลายเป็นสมาชิกของวงเขาควายได้อย่างเต็มภาคภูมิ
“การเล่นดนตรีตอนนี้ ทำให้ผมดูแลตัวเองได้ ดูแลคนรอบตัวได้ มันก็ดีที่สุดแล้ว การที่เราเป็นคนดี ซื่อสัตย์ มีวินัย ทำให้ผมใช้ชีวิตได้แบบไม่ต้องกลัวอะไรเลย”
แต่ความฝันไม่ได้สิ้นสุดลงที่ร่มเงาของไม้ใหญ่อย่างวงคาราบาว เพราะเป้าหมายปลายทางคือการได้เติบโต ได้ทำเพลงเป็นของตนเอง สิ่งเป็นความฝันอันสูงสุดของเขาบนถนนสายดนตรีที่ยังคงทอดไปอีกยาวไกล
“การเล่นดนตรีอย่าไปฝึกให้เก่งอย่างเดียว ผมไม่เคยคิดว่าผมต้องเป็นมือกีต้าร์ที่เล่นเร็วที่สุดเพื่อแข่งกับคนอื่น และผมคิดว่าผมจะทําอย่างไรให้เพลงออกมาดี เราอยากจะสร้างเพลง ทําดนตรีเองให้คนจดจํา ตราบใดที่คุณมีสไตล์เป็นของตัวเอง วันนึงคุณจะได้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง ซึ่งผมก็จะต้องหาสิ่งที่เป็นตัวของตัวเองให้ได้ครับ”
สำหรับน้อง ๆ ที่มีความฝันทางดนตรี เวที THE POWER BAND 2025 SEASON 5 เปิดรับสมัครแล้ว!!! ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมประกวด และติดตามรายละเอียด ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2568 ทาง www.music.mahidol.ac.th/thepowerband และ Facebook : thepowerband.mahidol