09 ต.ค. 2562 | 16:46 น.
“เหมือน ดาวินชี โค้ด มองแล้วถอดออกมาได้ว่ามีความหมายแบบนี้ ๆ” หญิงสาวที่นั่งอยู่ตรงหน้า The People บอกเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย เมื่อพูดถึง ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะ’ ที่ช่วยเติมเต็มความสงสัยใคร่รู้ของเธอเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต การท่องไปในโลกของโบราณสถานแห่งต่าง ๆ ค่อย ๆ หล่อหลอมให้นิสิตวิชาเอกภาษาอังกฤษจากรั้วอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนหนึ่ง ตัดสินใจเบนเข็มและดำดิ่งสู่โลกของประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ทุกวันนี้ ผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช คือรองคณบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลปะจีน ส่วนหนึ่งปรากฏเป็นผลงานเชิงวิชาการและหนังสือเกี่ยวกับวัดในพระพุทธศาสนาและศาลเจ้า ให้ได้อ่านเอาสาระและความเพลิดเพลินจนเราอยากตามรอยลงพื้นที่กับเธอบ้าง The People: นิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีคนเข้าชมจำนวนมากจนเป็นปรากฏการณ์ 'จิ๋นซีฟีเวอร์' ทราบมาว่าคุณมีส่วนเข้าไปช่วยด้วยเหมือนกัน? อชิรัชญ์: เวลาพูดถึงความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมของโลก สุสานจิ๋นซีคือหนึ่งในนั้น แล้วการนำโบราณวัตถุเป็นร้อยชิ้นจากสุสานจิ๋นซีมาจัดแสดงในไทยก็ทำให้คนอยากดู บวกกับการเก็บค่าเข้าชมในราคาปกติก็ทำให้ทุกคนเข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งงานนี้มีส่วนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาช่วยตรวจคำบรรยายโบราณวัตถุที่จัดแสดง คือคำบรรยายส่วนหนึ่งมาจากฝั่งจีน ทางเราก็เขียนขยายเพิ่มด้วยแต่ไม่ได้มาก เพราะถ้ามองในแง่การจัดวาง ถ้าเขียนยาวจะมีข้อจำกัดว่ารุงรัง เลยพยายามใช้คำที่สื่อความให้เข้าใจมากที่สุด และอีกอย่างที่ทำคือเป็นล่ามให้ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์จากมณฑลส่านซี ประเทศจีน ในการอธิบายข้อมูลโบราณวัตถุบางชิ้นให้กับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พอพูดถึงจิ๋นซี ดังนั้นห้องแรกที่จัดแสดงคือราชวงศ์จิ๋นหรือฉินที่อยู่ในช่วงราชวงศ์โจวตะวันออกมาก่อน เป็นรัฐเล็ก ๆ เพื่อสื่อว่าตัวตนของราชวงศ์ฉินมีมาก่อนแล้ว จากนั้นห้องกลางถึงจะบอกว่าราชวงศ์ฉินเป็นอย่างไร ห้องสุดท้ายคือหลังจากราชวงศ์ฉินแล้วก็คือราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันอยู่ นี่คือธีมของนิทรรศการนี้ The People: ถ้ามองในมุมนักประวัติศาสตร์ศิลปะจีน เราเห็นอะไรในนิทรรศการนี้ อชิรัชญ์: ถ้ามองในมุมนักประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าช่วงโจวตะวันออกมีความวุ่นวายต่าง ๆ และเป็นช่วงที่ยุคสำริดเริ่มเสื่อม มันเชื่อมโยงจนไปถึงจิ๋นซีฮ่องเต้ที่พอตั้งราชวงศ์ฉินขึ้นมาแล้ว ความวุ่นวายทั้งหมดที่มี จิ๋นซีฮ่องเต้กำจัดมันอย่างไร ทั้งการทำมาตรฐานเรื่องภาษา การทำระบบชั่งตวงวัด จนถึงความพยายามสร้างความยิ่งใหญ่ให้ตัวเองอย่างไรบ้าง มาถึงราชวงศ์ฮั่นก็จะเห็นว่าสืบต่อจากฉินอย่างไร แต่ก็จะเห็นว่ามีเหตุการณ์ใหม่เข้ามาคือการเปิดเส้นทางสายไหม ถ้ามองในแง่นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็จะยังเห็นภาพนี้อยู่ แต่จะเห็นภาพความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายอย่างชัดเจนผ่านโบราณวัตถุที่จัดแสดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อของคนจีนที่ว่าตายแล้วไม่สูญ เขามองว่าวิญญาณส่วนหนึ่งยังอยู่ในสุสาน ดังนั้นสุสานจิ๋นซีจึงมีข้าวของเครื่องใช้มากมาย มีข้ารับใช้ ทหาร ม้า ฯลฯ เพื่อใช้ในโลกหลังความตาย อีกด้านหนึ่งโลกของคนตายคือโลกเสมือนของคนเป็น ก็สะท้อนสังคมยุคนั้น สังเกตง่าย ๆ ในห้องจัดแสดงราชวงศ์ฮั่น มีรูปปั้นชาวต่างชาติที่เป็นพ่อค้าชาวเอเชียกลาง สะท้อนว่ายุคนั้นมีคนเอเชียกลางเข้ามา หรืออย่างราชวงศ์ถังที่คนเริ่มรู้จักเส้นทางสายไหมมากขึ้น มีอูฐ ก็ปั้นรูปอูฐใส่ลงไปในสุสาน อีกมุมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตาย คือ วิญญาณมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นดิน อีกส่วนต้องขึ้นไปในดินแดนอมตะ ไอเดียนี้สะท้อนชัดเจนในห้องกลางที่มีรถม้าสำริดจำลอง ซึ่งเจอติดกับเนินดินเหนือหลุมฝังศพจิ๋นซีฮ่องเต้ ถ้าดูคำบรรยายจะบอกว่าเป็นพาหนะจำลองของจิ๋นซีในช่วงขึ้นครองราชย์ แต่สังเกตได้ว่าตอนขุดค้น รถม้าวิ่งออก ไม่ใช่วิ่งเข้า ดังนั้นการเดินทางของวิญญาณสู่โลกหลังความตายคือการนั่งรถม้านี้ไป เพราะถ้าเปิดเข้าไปในรถม้าจะเจอแต่ความว่างเปล่า คือมีห้องผู้โดยสาร แต่เป็นห้องว่าง ซึ่งคติในโลกหลังความตายมักแสดงภาพบัลลังก์เปล่า ที่นั่งเปล่า หรือรถม้าเปล่าอยู่บ่อย ๆ อาจด้วยสภาวะที่ว่าวิญญาณคือสิ่งที่มองไม่เห็น ก็หมายความว่าจิ๋นซีนั่งอยู่ตรงนั้นแหละ หรืออาจนั่งแล้วเดินทางไปแล้วก็ได้ ไปในลักษณะวิญญาณของรถม้า นี่คือสัญญะที่อยู่ในสุสาน หรือในนิทรรศการมีอ่างเล็ก ๆ ที่เป็นทองคำ ชิ้นนั้นตอนเป็นล่ามให้ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ที่มาจากจีน เขาบอกว่าชิ้นนี้ไม่ได้ใช้จริงหรอก เพราะจำลองมาจากอ่างล้างมือ กับอีกอย่างในยุคนั้นราชวงศ์โจวตะวันออกเป็นยุคสำริด แต่อันนี้เป็นอ่างทองคำ ก็เป็นคติเรื่องโลกหลังความตายที่เป็นโลกเสมือนจริงนั่นเอง [caption id="attachment_12849" align="aligncenter" width="1728"] รถม้าสำริดจำลองในนิทรรศการจิ๋นซีฮ่องเต้ (ภาพ: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์)[/caption] The People: ย้อนกลับไป ทำไมถึงสนใจด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ อชิรัชญ์: คุณพ่อ (พิชัย ไชยพจน์พานิช) ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เขาเรียนรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง ที่ธรรมศาสตร์ แต่สนใจประวัติศาสตร์ต่าง ๆ เวลาพาลูก ๆ ไปเที่ยว ก็เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง แล้วคุณพ่อจะมีหนังสือประวัติศาสตร์ในห้องสมุดเยอะแยะ อย่างหนังสือเกร็ดพงศาวดารต่าง ๆ เราก็ไล่อ่านสนุกมาก ตอนเรียนปริญญาตรี เราเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะตอนนั้นชอบภาษาอังกฤษ ซึ่งที่คณะจะมีวิชาประวัติศาสตร์ เช่น วิชาอารยธรรมตะวันออก อารยธรรมตะวันตก แล้วก็วิชาอารยธรรมไทย ที่อาจารย์สถาพร อรุณวิลาศ เป็นคนสอน ซึ่งสอนทั้งประวัติศาสตร์และงานศิลปะ ตอนนั้นเลย เอ๊ะ...ประวัติศาสตร์มีอีกสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย ขณะเดียวกัน สิ่งที่พ่วงมากับประวัติศาสตร์ศิลปะคือโบราณคดี เพราะฉะนั้นก็จะรู้จักควบคู่กันไป และคณะเพื่อนบ้านคือคณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็มีอาจารย์จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ สอนพวกศิลปะในประเทศไทย ก็จะเริ่มเรียนรู้แล้วว่ามันคืออะไร เรียนอะไร พอปี 3 เริ่มรู้ตัวแล้วว่าชอบด้านนี้ สนใจศิลปะไทย เวลาไปเที่ยววัดพระแก้ว วัดพระศรีสรรเพชญ์ เฮ้ย อาจารย์บางคนดูออกว่าเจดีย์นี้สร้างขึ้นเพราะอะไร ทำไมต้องมีแบบนี้ประดับ ซึ่งบางทีตัวอักษรไม่เคยบันทึกถึงเลย เหมือน ดาวินชี โค้ด มองแล้วถอดออกมาได้ว่ามีความหมายแบบนี้ ๆ การประดับครุฑด้านบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หมายถึงที่ประทับของกษัตริย์ กษัตริย์เป็นพระนารายณ์อวตารมาจึงต้องมีครุฑ เลยคิดว่าแบบนี้แหละน่าสนใจดี อยากไปโบราณสถานแล้วดูรู้เรื่อง ตอนนั้นสนใจประวัติศาสตร์ศิลปะก็จริง แต่อยากเรียนโบราณคดีมากกว่า เพราะเป็นความฝันสมัยเด็ก โบราณคดีดูลุย ไปขุดที่นั่นที่นี่ ดูอินเดียน่า โจนส์ แล้วเท่ แต่พอปรึกษาอาจารย์สถาพร เขาบอกว่าบุคลิกอย่างเธอเหมาะกับเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ตอนนั้นเชื่ออาจารย์เพราะคิดว่าน่าจะมองเราขาด (หัวเราะ) เลยสอบเข้าปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร The People: ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และ โบราณคดี สามคำนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร อชิรัชญ์: มีเป้าหมายคล้ายกันคือเป็นการเรียนรู้มนุษย์ แต่มีความแตกต่างกันอยู่ อย่างประวัติศาสตร์ต้องพึ่งตัวเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ทีนี้ ประวัติศาสตร์ศิลปะกับโบราณคดีก็ซ้อนทับกันอยู่ บางที่ประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรโบราณคดีเสียด้วยซ้ำ คือในไทยโบราณคดีเกิดขึ้นก่อน แล้วประวัติศาสตร์ศิลปะค่อยแยกออกมา ถ้าแยกความต่าง โบราณคดีจะสัมพันธ์กับการขุดค้นและการตีความจากชั้นดิน เพราะชั้นดินมีความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหรือทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นช่วงนั้น เช่น มีโครงกระดูกมนุษย์ สัตว์ น้ำท่วม มีโบราณวัตถุอยู่ในชั้นดิน เป็นต้น ส่วนประวัติศาสตร์ศิลปะ...จริง ๆ แล้ว อาชีพหนึ่งที่มีความคล้ายประวัติศาสตร์ศิลปะคือ คนขายพระ เพราะอย่างน้อยเมื่อคุณดูโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน คุณสามารถบอกอายุได้ว่าอยู่รุ่นไหน พิมพ์ไหน สร้างเพื่ออะไร ซึ่งประวัติศาสตร์ศิลปะไม่จำเป็นต้องไปขุด แต่นำความรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาช่วยเสริมให้สมบูรณ์ขึ้น อีกอย่าง ประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ได้อยู่แค่เรื่องความโบราณเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงงานศิลปะสมัยใหม่หรือร่วมสมัยด้วย เรามักมองว่าประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นเรื่องเก่า ๆ แต่งานศิลปะในอาร์ท แกลเลอรี วันหนึ่งก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งเหมือนกัน The People: ตอนแรกสนใจประวัติศาสตร์ไทย แล้วทำไมถึงหันมาศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะจีน อชิรัชญ์: เรื่องนี้มีมูลเหตุ คือสมัยเรียนอักษรฯ เราไปเรียนภาษาจีนข้างนอก เพราะวันหนึ่งคุ้ยของเก่า ๆ ที่บ้านอากงอาม่า แล้วเจอจดหมายที่รุ่นอาม่าเขียนส่งไปมากับญาติที่เมืองจีน เรารู้สึกว่า ตายแล้ว ไม่มีใครอ่านจดหมายพวกนี้ออกเลย ก็เลยอยากเรียน ปรากฏว่าเรียนแล้วก็ยังอ่านไม่ได้ เพราะลายมือหวัดมาก (หัวเราะ) แต่นั่นคือแรงบันดาลใจจริง ๆ มาตอนเรียนปริญญาโท ความที่มองศักยภาพตัวเองว่าถ้าทำธีสิสแล้วต้องไปเก็บข้อมูลต่างจังหวัด ที่บ้านก็ค่อนข้างเป็นห่วง เหมาะกับเราที่สุดคงเป็นกรุงเทพฯ แล้วอาจารย์เคยพูดว่า อชิรัชญ์เรียนภาษาจีน ถ้าอย่างนั้นลองทำศิลปะจีนดูไหม ตอนนั้นก็ไล่ดูเลยว่ามีศิลปะจีนอะไรบ้างที่มีอิทธิพลกับไทย เอาในพื้นที่กรุงเทพฯ นะ (หัวเราะ) ในยุคก่อนรัตนโกสินทร์จะเป็นเรื่องเครื่องถ้วยที่เราไม่ชำนาญ เลยเล็งว่ามีเรื่องสมัยรัชกาลที่ 2-3 ที่มีศิลปะจีนชัด ๆ แต่ก็หนักใจว่าคนทำจนปรุหมดแล้ว แต่ถ้าหาหัวข้อไม่ได้ก็เรียนไม่จบ จนไปเจอประเด็นหนึ่งที่มีคนศึกษาแล้วแต่ยังน้อยอยู่คือ ภาพเครื่องโต๊ะ เครื่องตั้ง ในงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เลยเอาอันนี้แหละ The People: สิ่งที่ได้จากการศึกษาภาพเครื่องโต๊ะ เครื่องตั้ง ในงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3? อชิรัชญ์: แต่เดิมพอพูดถึงภาพเครื่องโต๊ะ เครื่องตั้ง สมัยรัชกาลที่ 3 ทุกคนมักโยงกับศิลปะจีนที่พระองค์ทรงโปรดมาก ๆ แล้วก็บอกว่าภาพพวกนี้คือเครื่องตั้งถวายเจ้า ซึ่งในไทยคือถวายพระพุทธเจ้า พอเราดูก็มีประเด็นให้คิดต่อว่า เครื่องตั้งแบบจีนต้องมีกระถางธูป เชิงเทียน แจกัน แต่ถ้าไปดูภาพที่วัดราชโอรส วัดนางนอง วัดจันทาราม ภาพที่มีของประกอบพวกนั้นมีไม่กี่ภาพเอง ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเฟอร์นิเจอร์จัดบ้านมากกว่า เลยเป็นประเด็นตั้งต้นหลักของเราว่า เครื่องโต๊ะ เครื่องตั้ง มีที่มาในการวาดเพื่อถวายพระพุทธเจ้าจริงหรือเปล่า ประเด็นแฝงอย่างหนึ่งคือเวลาพูดถึงเครื่องโต๊ะ เครื่องตั้ง สมัยรัชกาลที่ 3 เรามักโยงแค่เหตุการณ์สมัยนั้น แต่ถ้าใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ วัดราชโอรสบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงรัชกาลที่ 2 มีบันทึกของ จอห์น ครอว์ฟอร์ด ที่เคยเดินทางไปแล้วพูดถึงอาคารหลังหนึ่งว่าเป็นอาคารประธานที่เตรียมตั้งพระพุทธรูปแล้ว แสดงว่าช่วงนั้นอุโบสถต้องใกล้เสร็จ ภาพดังกล่าวก็ต้องวาดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 2 ดังนั้นการตีความทางประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยน แล้วพอดูก็เป็นเครื่องประดับเรือนมากกว่า เอ๊ะ...ทำไมวาดแบบนี้ล่ะ เราก็ไปดูปัจจัยแวดล้อม ก็จะเห็นว่าทัศนคติมุมมองของคนสยามช่วงเวลานั้น หรือแม้แต่ จอห์น ครอว์ฟอร์ด ก็เขียนชัดเจนว่า ไทยหรือสยามคิดว่าตัวเองอยู่สูงกว่าชาติอื่นหมดเลย แม้แต่ชาติตะวันตก แต่เขียนไว้ชัดว่าจีนเหนือกว่าตนเองเพียงชาติเดียว แล้วถ้าดูบันทึกอีกหลายอย่าง จะเห็นว่าช่วงนั้นมีการตกแต่งบ้านเรือนแบบจีน สวนขวาในราชสำนักก็ใช่ มีเอกสารชั้นต้นที่พูดถึงการสั่งเฟอร์นิเจอร์จากจีน เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นปัจจัยพวกนี้มากกว่า คือการหลงใหลในวัฒนธรรมจีน ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของชนชั้นสูง เริ่มเปิดรับของใหม่เข้ามา เลยเกิดการเขียนภาพเลียนแบบการตกแต่งบ้านแบบจีนมากกว่าที่จะเป็นเครื่องตั้งถวายพระพุทธเจ้าเป็นหลัก มันก็สนุกแหละ เหมือนนักสืบ (ยิ้ม) The People: จากนั้นก็ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะจีนยาวมาถึงปัจจุบัน? อชิรัชญ์: ใช่แล้ว จุดที่ทำให้อยู่กับประวัติศาสตร์ศิลปะจีนมาถึงตอนนี้ เพราะพอจบปริญญาโทและบรรจุเป็นอาจารย์แล้ว หัวหน้าภาคตอนนั้นก็มองหาอาจารย์ที่จะมาแทนอาจารย์ที่สอนศิลปะจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งท่านใกล้จะเกษียณ หัวหน้าภาคถามว่าสนใจศิลปะจีนไหม เพราะด้านนี้ในไทยเดี๋ยวจะไม่มีใครทำแล้ว เพราะยากตรงภาษา เราคิดว่าน่าสนใจ ก็เลยลองดู จริง ๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ในภาควิชาคือ อาจารย์สันติ เล็กสุขุม อาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และอาจารย์ไขศรี ศรีอรุณ ซึ่งถึงอาจารย์ไขศรีจะเกษียณและไปทำงานตำแหน่งอื่น แต่ยังให้ความเป็นห่วงงานด้านโบราณคดีอยู่ อาจารย์ผู้ใหญ่ทั้ง 3 ท่านบอกว่าลองกราบทูล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดีไหมว่าด้านศิลปะจีนกำลังจะขาด ตอนอาจารย์กราบทูลไป พระองค์ก็ทรงเห็นความสำคัญ และทรงมีพระเมตตา พระราชทานทุนให้เราไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตอนนั้นเล็งว่าจะทำเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะจีนในไทยทั้งหมด ซึ่งก็ดูเมกะ โปรเจกต์ เกินไป เพราะต้องไล่ตั้งแต่ทวารวดีจนถึงรัตนโกสินทร์ (หัวเราะ) กับอีกแบบที่อาจารย์ในไทยบอกว่า อย่าทำอะไรที่อยู่ในจีนเลย ให้ทำเรื่องจีนในไทยดีกว่า เพราะต้องกลับมาสอนที่ไทย หาอะไรที่เอื้อต่อการสอนและเอื้อต่อนักศึกษาเราในอนาคตดีกว่า แล้วค่อยเอาเอกสารจีนต่าง ๆ มาเสริมให้การเรียนของคุณสมบูรณ์ขึ้น ท้ายสุดเลยทำเรื่องจีนในไทย โดยต่อยอดจากปริญญาโท เลือกทำอิทธิพลจีนในงานพุทธศิลป์ช่วงรัชกาลที่ 2-3 และจากที่ทำจิตรกรรมอย่างเดียวก็บวกสถาปัตยกรรมและประติมากรรมเข้าไปด้วย เน้นศึกษาวัดในกรุงเทพฯ ที่สร้างโดยกษัตริย์หรือขุนนางสมัยรัชกาลที่ 2-3 ตามที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารพงศาวดารหรือเอกสารชั้นต้น The People: เวลาพูดถึงคำว่าศิลปะจีน คำว่า ‘จีน’ ที่ว่า เป็นจีนแบบไหนหรือกลุ่มใด อชิรัชญ์: เรามองเห็น 3-4 ปัญหา อย่างพอพูดถึงศิลปะจีนในไทยสมัยรัชกาลที่ 3 จีนก็กว้างใหญ่มาก เลยเป็นประเด็นว่าแล้วเป็นจีนที่ไหนล่ะ ในทางประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ก็พูดกันอยู่แล้วว่ามีคนจีน 5 กลุ่มหลัก คือ แต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะ และกวางตุ้ง ซึ่งเรามักรับรู้ในส่วนที่เป็นภาษา อาหาร วัฒนธรรม แต่ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะจีนในไทย ยังไม่มีคนพูดถึงอย่างจริงจัง อาจมีแต่น้อยมาก ส่วนใหญ่จะเหมารวมว่าคือจีน อีกอย่าง ประเด็นที่มองในงานวิจัยตอนนั้นคือ เรามักมองว่าจีนคือพระเอกหลัก แต่สมัยรัชกาลที่ 2 เราเริ่มเปิดประเทศต่อยุโรป มีฝรั่งมาแล้ว เริ่มเห็นงานจิตรกรรมที่มีเทคนิคแบบตะวันตก ดังนั้นทุกอย่างจะเหมารวมว่าเป็นจีนอย่างเดียวได้หรือเปล่า The People: งานวิจัยของคุณตอบโจทย์ไหมว่าจีนในไทยเป็นจีนอะไร อชิรัชญ์: ได้คำตอบค่อนข้างชัดเจนว่าเป็น 5 กลุ่มนี้แหละ แต่ที่มีบทบาทเยอะสุดในวัดพุทธบ้านเราคือกลุ่มแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน อย่างเวลาไปวัดโพธิ์ หรือวัดอรุณฯ เราจะเห็นงานกระเบื้อง อาจเป็นชามทั้งใบแปะลงไป หรือตัดชามเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วแปะเป็นรูปดอกไม้ เทคนิคแบบนั้นเจอเฉพาะกลุ่มฮกเกี้ยนกับกลุ่มแต้จิ๋ว แต่อีก 3 กลุ่มที่เหลือไม่ใช่ลักษณะเด่นของเขา หรือลักษณะหน้าบัน ปกติของไทยจะเป็นหน้าบันสามเหลี่ยมหน้าจั่วธรรมดา แต่ช่วงรัชกาลที่ 2-3 หน้าบันจะเป็นรูปหยักโค้ง อย่างวิหารที่วัดราชโอรสเป็นแบบแต้จิ๋ว หรือในเอกสารก็จะพูดถึงแต้จิ๋วกับฮกเกี้ยนบ่อยกว่ากลุ่มอื่น เช่น กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติรัชกาลที่ 3 ของนายมี มหาดเล็ก จะพูดถึงชาวจีนแต้จิ๋ว หรือวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในสายวรรณกรรมค่อนข้างระบุชัดเจนว่าภาษาที่ใช้ สำเนียงที่อยู่ในตัวชื่อเป็นจีนฮกเกี้ยน ไม่ใช่แต้จิ๋ว จริง ๆ ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ประวัติศาสตร์ศิลปะยังไม่มีคนพูดถึงอย่างจริงจัง The People: ประสบการณ์สมัยเรียนปริญญาเอกที่เมืองจีนเป็นอย่างไร อชิรัชญ์: ตอนทำธีสิสปริญญาเอกต้องลงพื้นที่ใช่ไหม ซึ่งจีน 5 กลุ่มนี้จะอยู่แถวไหหลำ มณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง เราก็ลุยไปเลย พอไปแล้วก็สนุกดี อย่างเวลาไปซัวเถา ไปเมืองแต้จิ๋ว จะรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน คือเรียกด้วยภาษาจีนกลางไม่หัน แต่พูดแต้จิ๋วแล้วหัน บางที่เข้าไปขอถ่ายรูปแล้วเขาไม่ให้ถ่าย เพราะคิดว่าเราไม่เคารพศาสนสถาน ซึ่งก็โดนไล่บ่อย ๆ แล้วมีศาลหนึ่งที่ฮกเกี้ยน ก็เข้าไปถามอาม่าที่ดูแลศาลว่าขอถ่ายรูปได้ไหม อาม่าบอกว่าให้โยนไม้ถามเทพก่อนว่าท่านอนุญาตไหม เราก็โยน พอโยนเสร็จก็หันไปถามอาม่าว่าหนูถ่ายได้ไหมคะ อาม่าก็ยิ้มแบบมีเมตตาแล้วพยักหน้า เราก็โอเค…รอดแล้ว (ยิ้ม) The People: นอกจากวัดพุทธ คุณยังสนใจศาลเจ้า ที่มาของการศึกษาเรื่องศาลเจ้าคืออะไร อชิรัชญ์: เรามองว่าสิ่งที่คนในไทยยังไม่เคยทำด้านประวัติศาสตร์ศิลปะคือเรื่องศาลเจ้า เราจะเลือกที่ไหนล่ะ ชีวิตนี้คงไม่พ้นกรุงเทพฯ อยู่ดี ซึ่งพอลงพื้นที่ก็เจอศาลเจ้าที่มีจารึกสมัยโบราณหลายแห่ง เจอศาลเจ้าตั้งแต่สมัยธนบุรีด้วยซ้ำ แต่น้อยแล้ว เล่มแรกที่ทำคือศึกษาสถาปัตยกรรมศาลเจ้าในกรุงเทพฯ 20-30 ที่ เน้นศึกษาศาลเจ้าที่มีประวัติชัดเจน ซึ่งตอนนี้ขึ้นกับกรมการปกครอง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6 รัฐสมัยนั้นกลัวเรื่องอั้งยี่ก็เลยให้ศาลเจ้าขึ้นทะเบียนหมด ศาลเจ้าพวกนี้ก็จะมีอายุค่อนข้างเก่าแก่ ส่วนศาลเจ้าระยะหลัง ๆ จะไม่ค่อยขึ้นทะเบียนกันแล้ว เพราะมีเรื่องการเสียภาษีต่าง ๆ ดังนั้นพอเราไปสำรวจ เขาก็สงสัยว่ามาจากไหน มาจากกรมฯ หรือเปล่า มาเก็บภาษีไหม พอไปทำก็เห็นว่าศาลเจ้าหลายแห่งโดนรื้อทิ้ง มองในแง่นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็เสียดาย แต่ในมุมของคนที่ดูแลศาลเจ้า เขาก็ไม่อยากให้เจ้าอยู่บ้านโทรม ๆ เราเคยไปศาลเซียะอึ้งกง ตรงถนนทรงวาด สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศาลเดียวในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ตอนไปคือของใหม่แล้ว แต่ก็ยังเหลือของเก่าให้เห็นบ้าง มาเล่มสอง เป็นการศึกษาประติมากรรมในศาลเจ้าจีน เกิดจากไปช่วยสำนักผังเมืองสำรวจศาลเจ้า ซึ่งกรุงเทพมหานครมีทะเบียนรายชื่อศาลเจ้าประมาณ 200 ที่ในกรุงเทพฯ แล้วอยากสะสางทำฐานข้อมูลใหม่ ก็เลยลงสำรวจ มีจ้างทีมนักศึกษาช่วยเก็บข้อมูล พอสกรีนแล้วมีศาลเจ้าเกือบ 130 ที่ที่ต้องสำรวจ ที่เขาอยากได้คือตำแหน่งที่ตั้ง ประวัติและงานศิลปกรรมเบื้องต้น และการกระจายตัวของศาลเจ้าเหล่านี้ พอเราทำก็เปิดมุมมองตรงที่ว่า กรุงเทพฯ แบ่งเป็น 3 เขตกว้าง ๆ คือ ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก ซึ่งศาลเจ้ากระจุกที่ชั้นในเยอะมาก เป็นศาลเจ้ารุ่นเก่า หมายถึงสร้างในยุคธนบุรีถึงรัชกาลที่ 5 พอชั้นกลางก็เป็นศาลเจ้าสมัยรัชกาลที่ 6-7 เสียเยอะ พอชั้นนอกก็เป็นสมัยรัชกาลที่ 9 จากตรงนั้น เราก็ต่อยอดเป็นการศึกษาประติมากรรมในศาลเจ้าจีน ซึ่งมีปัญหาในการศึกษาค่อนข้างเยอะ อย่างแรกคือสถาปัตย์นี่เราเห็นและจับต้องได้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า แต่พอเป็นประติมากรรมก็ยากแล้ว เช่น ศาลเจ้าบางที่เราจะเห็นเฉพาะเศียรของเทพ คือมีผ้าคลุมร่างเทพมิดมาก แตะนิดเดียวก็ไม่ได้ มีน้อยมากที่ให้ตามสบาย ที่ไม่ให้ถ่ายเลยก็มี เขาบอกว่าอาม่า (เทพ) ไม่ชอบแสงแฟลช ไม่ชอบเสียงชัตเตอร์ บางทีไปรอบแรกไม่ได้ ไปอีกรอบก็มี เราก็จะถามทุกรอบว่าถ่ายได้ไหมคะ บางทีโดนมองแรงแล้วบอกว่าไม่ได้ (หัวเราะ) หรือบางคนก็คิดว่า เอ๊ะ...ถ่ายรูปเทพไปรับออร์เดอร์หรือเปล่า เพราะเทพหายบ่อยมาก จึงไม่แปลกที่เขาต้องระวัง เราอย่าคิดว่าลงพื้นที่แล้วต้องได้สิ่งที่อยากได้ ณ ขณะนั้น เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ต้องสร้างความคุ้นเคยให้เขาสบายใจกับเราก่อน [caption id="attachment_12852" align="aligncenter" width="1920"] บรรยากาศการนำนักศึกษาและบุคคลทั่วไปทัศนศึกษาศาลเจ้า (ภาพ: อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช)[/caption] The People: สิ่งที่ได้จากการศึกษาศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ คืออะไร อชิรัชญ์: จริง ๆ ก็ยังตอบโจทย์เดิม ๆ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนกลุ่ม จากทำประเด็นนี้ในวัดพุทธศาสนา ก็ย้ายมาศาลเจ้า ซึ่งสามารถระบุตัวตนดั้งเดิมของเขาได้ เช่น ศาลเจ้านี้เป็นของคนแต้จิ๋ว ศาลเจ้านั้นเป็นของคนไหหลำ แต่บางทีก็เจอสับขาหลอกเหมือนกัน คือเขาไม่ได้ตั้งใจหลอกหรอก อย่างไปเจอศาลเจ้ากวนอู แถวคลองสาน ปัจจุบันเป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วไปแล้ว แต่เอกสารทางการบอกว่าเป็นศาลเจ้าฮกเกี้ยน ท้ายสุดพอดูงานศิลปกรรมก็บอกได้ว่าเป็นฮกเกี้ยนมาตั้งแต่แรก หรืออย่างตลาดน้อยมีจีนแคะ ถ้าอ่านเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่าแถวนั้นมีจีนแคะเยอะมาก แต่ปัจจุบันรอบ ๆ กลายเป็นฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วไปหมดแล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นจีนแคะในศาลเจ้าเหมือนกัน อีกอย่างคือเราเห็นพัฒนาการของงานประติมากรรม อย่างเทพในศาลเจ้าต่าง ๆ เมื่อก่อนเทพมีความสูงไม่กี่สิบเซนติเมตร เพราะชีวิตก็ลำบากแล้ว ต้องลงเรือจากเมืองจีนมาตั้งรกรากเมืองไทย ถ้าอัญเชิญเทพองค์ใหญ่มาด้วยก็จะขลุกขลัก แต่หลัง ๆ เมื่อชีวิตเริ่มอยู่ตัว ก็จะเห็นการอัญเชิญเทพองค์ใหญ่จากเมืองจีนเข้ามา แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างอีกเหมือนกัน เช่น คนอาจเห็นว่าช่างจีนฝีมือดีกว่า ประณีตกว่า แต่เทพที่สร้างในไทยก็มีเช่นกัน The People: walking tour เชิงประวัติศาสตร์ ที่ระยะหลังมีทริปแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ มีส่วนช่วยถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ของคุณให้คนอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า อชิรัชญ์: ก็มี สิ่งหนึ่งที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะหรือที่คณะโบราณคดีทำมาตลอดคือการจัดทัวร์ แต่ไม่ค่อยถี่เท่านั้นเอง ซึ่งมีคนสนใจพอสมควรเหมือนกัน หรือบางทีเวลาใครเชิญเราไปพูดหรือไปออกทริป ก็เปิดมุมมองเราได้มาก เพราะได้เจอกูรูด้านวัฒนธรรมจีนหลายท่าน เราก็ อ้อ จริง ๆ เขารู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่อาจารย์ท่านอื่นอาจไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งก็ดีที่เราได้ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์เหล่านั้น เวลาออกทริป สิ่งที่จะเล่าเรื่องราวของศาลเจ้าได้คือหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือหลักฐานทางมุขปาฐะ แต่ที่ช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์ได้อีกคือหลักฐานทางศิลปกรรม เช่น ไปศาลเจ้าโจซือกงหรือศาลเจ้าโรงเกือกที่ตลาดน้อย เขาก็รู้แหละว่านี่คือศาลเจ้าฮกเกี้ยน ศาลเจ้าจีนแคะ เจ้าของศาลก็บอก แต่สิ่งที่เราชี้ให้เห็นคือนอกจากคนแล้ว อะไรที่บอกได้อีก คำตอบคืองานศิลปกรรม ตรงนี้ก็ช่วยเสริมเสน่ห์ประวัติศาสตร์ได้ The People: หลัง ๆ มานี้ กระแสความนิยมในการเรียนโบราณคดีเป็นอย่างไรบ้าง อชิรัชญ์: ตอนละครบุพเพสันนิวาสออกอากาศปี 2561 ช่วงนั้นบูมจริง ยอดสอบเข้าคณะโบราณคดีไม่เคยสูงขนาดนั้นมาก่อน แต่กระแสจะมาเป็นพัก ๆ อย่างก่อนหน้านั้นมีละครเรื่องนาคี ซึ่งในเรื่องมีตัวละครจบโบราณฯ เด็กก็มาสอบเข้าโบราณฯ กัน แต่ถ้าดูสถิติ เขาเลือกเราจริง แต่ไม่ได้เลือกอันดับ 1 และในกลุ่มที่สอบติด บางคนเรียนแล้วทรมานเพราะไม่ได้ชอบจริงจัง แต่คนชอบจริง ๆ ก็มี ส่วนถ้าจำเพาะที่ประวัติศาสตร์ศิลปะ จำนวนนักศึกษาปริญญาตรีก็มีมากขึ้น แต่สาขานี้จะเฉพาะทางมาก ๆ เวลาสัมภาษณ์นักศึกษาจะเจอบ่อยมากที่บอกว่า หนูชอบประวัติศาสตร์ค่ะ คือเขาอาจยังไม่ค่อยชัดนักว่าอยากเรียนอะไร แต่ก็มีที่ชอบประวัติศาสตร์ศิลปะและบอกได้ว่านี่คืออะไร ส่วนบางคนบอกว่า หนูชอบวาดรูป แต่คะแนนไม่ถึงคณะจิตรกรรมฯ เลยมานี่ค่ะ (หัวเราะ) The People: ตลาดแรงงานต้องการคนที่จบด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมากน้อยแค่ไหน อชิรัชญ์: ถ้ากลุ่มเป้าหมายโดยตรง แน่นอนว่าคือกรมศิลปากร ส่วนหนึ่งคือภัณฑารักษ์ แล้วก็เป็นกลุ่มมัคคุเทศก์ อาจารย์สอนด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นลักษณะประยุกต์ความรู้ แต่อีกกลุ่มที่มาแรงตอนนี้คือแกลเลอรีหรือกลุ่มศิลปะร่วมสมัย เดี๋ยวนี้นักศึกษาที่จบไปเป็น curator หรือเป็น manager ในหอศิลป์มีมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว พอเป็นอย่างนี้ ประวัติศาสตร์ศิลปะก็ต้องปรับตัว ถ้าดูจากหลักสูตรเก่าจะมีวิชาศิลปะร่วมสมัยหรือศิลปะตะวันตกน้อยมาก แต่ตอนหลังเมื่อบุคลากรมากขึ้น ประกอบกับโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ความต้องการของคนเรียนก็เปลี่ยนด้วย ทำให้เราต้องปรับหลักสูตร ซึ่งตอนนี้ก็พยายามกันอยู่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเดียว มันเป็นวิกฤตสถาบันการศึกษาทั่วไปเลยด้วยซ้ำ เราจะเห็นข่าวว่ายุบ ยุบ ยุบ สาขานั้น สาขานี้ คือถ้าเนื้อหาหลักสูตรไม่ได้ตอบโจทย์นักศึกษาว่าเขาจะเอาไปทำอะไรต่อได้ หรือลังเลว่าฉันชอบก็จริง แต่จบไปแล้วจะหางานได้ไหม พอเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ก็เสี่ยง ยังดีที่อธิการบดี (ผศ. ชัยชาญ ถาวรเวช) และคณบดี (ผศ. ชวลิต ขาวเขียว) ช่วยดูแล เพราะอัตลักษณ์ของศิลปากรเกิดจากศิลปะและวัฒนธรรม ดังนั้นในอนาคตกาลจะไม่เหลือคณะจิตรกรรมฯ มัณฑนศิลป์ โบราณฯ เป็นไปไม่ได้แน่นอน กับอีกอย่างอัตลักษณ์ของประเทศก็มีเรื่องวัฒนธรรมด้วย เพราะฉะนั้นเสี่ยงก็เสี่ยงอยู่ แต่นโยบายของมหาวิทยาลัยที่ว่าหลักสูตร เช่น สันสกฤต จารึก ฯลฯ ถึงจะตอบตลาดแรงงานได้น้อย แต่ต้องมีอยู่ และถ้าคณะโบราณคดีถูกยุบ กรมศิลป์นี่เจ๊งเลย ไม่มีนักโบราณคดีแล้ว (หัวเราะ) The People: มาถึงตอนนี้ ไอดอลของคุณคือใคร อชิรัชญ์: มีเยอะ (หัวเราะ) คนที่เป็นไอดอลก็อาจารย์ของเรานั่นแหละ แต่คนแรกคือคุณพ่อ เขาเป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกว่าสนใจอะไรอย่างเดียวไม่ได้ ควรจะสนใจรอบด้าน ทำให้เวลาเราเขียนงานจะไม่ได้ดูเรื่องศิลปะอย่างเดียว ถัดมาคืออาจารย์กลุ่มประวัติศาสตร์ศิลปะ อย่าง อาจารย์สันติ (เล็กสุขุม) อาจารย์ศักดิ์ชัย (สายสิงห์) และอาจารย์หลี่ ซง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาเอกที่จีน เราเห็นความพยายามของอาจารย์ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นที่รู้จัก และทั้ง 3 ท่านก็เป็นผู้ให้ สมัยสอบ proposal ปริญญาโท คนที่เรากลัวมากคืออาจารย์สันติ แต่ท่านบอกว่า ผมเห็นคุณตั้งใจทำ แล้วคุณจะกลัวอะไร หรืออาจารย์ศักดิ์ชัยที่ตอนเราเด็ก ๆ จะชอบถามคำถามซ้ำไปซ้ำมา อาจารย์ก็ตอบ ตัดมาปัจจุบันเวลามีเด็กถามเราซ้ำไปซ้ำมา เราก็พยายามสูดลมหายใจแล้วตอบ พยายามทำตัวให้เหมือนอาจารย์ศักดิ์ชัย (หัวเราะ) หรืออย่างอาจารย์หลี่ก็มีเมตตา เพราะเรามีปัญหาค่อนข้างเยอะ เรื่องการปรับตัว เรื่องแนวทางการศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็มีความอดทนกับเรามาก ๆ The People: เคยคิดไหมว่าถ้าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วอยากจะไปด้านไหน อชิรัชญ์: ถ้าไม่ใช่สายนี้ก็อยากไปลองเรียนโบราณคดีบ้าง แต่ตอนนี้ประวัติศาสตร์ศิลปะคือสิ่งที่รักที่สุด