27 ม.ค. 2563 | 16:29 น.
“ฟุตบอล” ถือเป็นกีฬามหาชนของคนไทยที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก แม้วงการฟุตบอลไทยจะสามารถพัฒนาภาพรวมให้ดีขึ้นในทุก ๆ ปี แต่สิ่งหนึ่งที่แฟนบอลไทยฝันเสมอคือ การได้เห็นทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยได้เข้าไปเล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แต่จนมาถึงทุกวันนี้เราก็ยังไม่ได้เข้าใกล้ฝันนั้นสักที
แต่ถ้าจะบอกว่าเรายังไม่เข้าใกล้ฝันนั้น! มันก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ฟากทีมฟุตบอลหญิงไทยก็ยกระดับคุณภาพของตัวเองขึ้นมาจนสามารถเข้าไปแข่งในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกสองครั้งหลังสุด แน่นอนมันคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลไทย แต่ในความเป็นจริง “ความฝันที่เป็นจริง” นี้ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากหลายฝ่าย
The People พูดคุยเปิดใจครั้งแรกกับ “แอมแปร์” ณัฐวดี ปร่ำนาค กองกลางดาวรุ่งวัย 19 ปี ของทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย จอมทัพหญิงดาวรุ่งว่าที่อนาคตของทีม “ชบาแก้ว” กับเรื่องราวชีวิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเล่นฟุตบอลจนไปถึงความแตกต่างที่เธอสัมผัสได้ระหว่าง “บอลหญิงและบอลชาย”
The People: ชีวิตมาเจอกับฟุตบอลได้อย่างไร
ณัฐวดี: ตอนประถมอาจารย์พละที่โรงเรียนชวนให้หนูไปเล่น ตอนแรกก็ลองเตะดูแล้วปรากฏว่าเริ่มชอบ เริ่มรู้สึกว่ามันสนุกดี แต่ไม่คิดว่าจะจริงจังจนมาถึงตอนนี้ เพราะย้อนกลับไปตอนนั้นชอบเรียนหนังสือมากกว่า เป็นเด็กเรียนเลย ฟุตบอลนี่แทบไม่ได้จะจริงจังเลยตอนนั้น คิดแค่ว่าคงเล่นแค่ถึง ป.6 แต่จุดเปลี่ยนคือหนูได้มีโอกาสติดทีมชาติและไปแข่งฟุตบอลเยาวชนที่สวีเดน
The People: ย้อนกลับในวันที่เริ่มต้นตอนนั้นอายุเท่าไหร่
ณัฐวดี: ตอนนั้นหนูอายุประมาณ 7-8 ขวบ เรียนอยู่ ป.2
The People: ที่บ้านให้การสนับสนุนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางลูกหนังของเราไหม
ณัฐวดี: คือถ้าหนูเลือกอะไรแล้ว พ่อกับแม่ก็จะสนับสนุนและเห็นด้วยกับสิ่งที่หนูเลือก เขาก็ช่วยทุกอย่าง ไม่ได้ขัดว่าทำไมถึงเลือกไปเตะบอล ทำไมไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้แทน คือหนูอยากเป็นอะไรพวกท่านก็ปล่อยเลย
The People: ทำไมต้อง “ฟุตบอล”
ณัฐวดี: ย้อนกลับไปตอนที่ได้เริ่มเล่นครั้งแรก ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากความสนุก และยิ่งการได้ขึ้นไปติดทีมชาติ ก็เริ่มทำให้เรามีความฝันที่จะได้ติดทีมชุดใหญ่ จนมันกลายมาเป็นเป้าหมายของหนู
The People: จากความชอบในฟุตบอล กลายเป็นความรักได้อย่างไร
ณัฐวดี: เราอยู่กับฟุตบอลทุกวัน จากเดือนหนึ่งปีหนึ่งเราก็อยู่แต่กับฟุตบอล มันเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว ตื่นมาเช้าก็ซ้อม เย็นก็ซ้อม ว่างก็ไม่รู้จะทำอะไร สุดท้ายก็เตะฟุตบอล
The People: ซ้อมหนักขนาดไหน
ณัฐวดี: หนักมาก ยิ่งขึ้นมาชุดใหญ่หนูก็เพิ่งจะเคยเจอความหนักแบบนี้ มันมาพร้อมกับการแข่งขันกับคนรอบข้าง และโดยเฉพาะกับตัวเองที่ไม่ใช่แค่ในสนามซ้อม ถามว่าหนักแค่ไหนมันก็วิ่งจนเหนื่อย หนักแต่วันหนึ่งก็หายเหนื่อย แล้วมันก็เหมือนแค่วันต่อวันเท่านั้นเอง
The People: ตำแหน่งปัจจุบันคือ “จอมทัพ” แต่ก่อนหน้านี้เคยเป็น “เพชฌฆาต” มาก่อน?
ณัฐวดี: แต่ก่อนหนูเล่นกองหน้า แต่เพราะไม่ค่อยยิงประตู อาจารย์เขาเลยปรับให้มาเล่นกลางเพราะคิดว่าเราจ่ายบอลได้ดี
The People: ตำแหน่งกองกลางในอุดมคติของเราเป็นอย่างไร
ณัฐวดี: จริง ๆ หนูว่าทุกตำแหน่งทั้งเกมรุกหรือเกมรับก็สำคัญหมด แต่การที่คุณจะทำเกมรุกขึ้นไป หรือตั้งเกมรับป้องกันคู่ต่อสู้ ทั้งหมดต้องผ่านแดนกลางก่อน หนูว่าตำแหน่งนี้คือตัวขับเคลื่อนเกมและเป็นหน้าที่ที่สำคัญของทีม
The People: “ผู้หญิงกับฟุตบอล” อาจจะไม่ดึงดูดเท่ากับฟุตบอลของผู้ชาย เรามีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร
ณัฐวดี: หนูว่าต่างประเทศเขาก็ให้ความสำคัญเรื่องเพศเท่ากัน แต่หนูก็ไม่เข้าใจว่าทำไมบ้านเราถึงให้ความสำคัญกับฟุตบอลชายมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลหญิงเราก็ไปแข่งขันฟุตบอลโลกมาสองครั้งแล้ว จริง ๆ มันก็น่าจะทำให้คนสนใจมากขึ้นด้วยซ้ำ
The People: รู้สึกน้อยใจไหมทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลหญิงสามารถพา “บอลไทย” ไปบอลโลกได้แล้ว
ณัฐวดี: หนูก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทั้งเรื่องที่พักหรือการสนับสนุนมันก็ต่างกัน อาจจะเป็นเพราะว่ามีคนเล่นน้อย เฉพาะกลุ่ม มีแต่คนเดิม ๆ
The People: เรื่องนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้เราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นหรือเปล่า
ณัฐวดี: ตอนแรกหนูเคยคิดว่าการที่ฟุตบอลหญิงไทยไปบอลโลกได้ ต่อมาทุกคนคงน่าจะสนับสนุนมากขึ้น แต่นี่เราไปมาสองครั้งแล้ว มันก็มีแค่ช่วงที่ได้ไป พอไปแล้วกลับมาก็เหมือนเดิม จริง ๆ หนูก็อยากให้ทุกคนสนับสนุนให้เท่ากับผู้ชาย
The People: ถ้าได้รับการสนับสนุนที่ดี เราคิดว่าฟุตบอลหญิงไทยจะสามารถไปไกลได้มากกว่านี้?
ณัฐวดี: ใช่ค่ะ คิดว่าเราน่าจะไปไกลได้มากกว่านี้
The People: สโมสรที่ชอบล่ะ
ณัฐวดี: ไม่มี หนูดูได้ทุกทีม มองเป็นแมตช์ต่อแมตช์ หนูไม่ได้เชียร์ทีมใดทีมหนึ่ง แต่ถ้าระยะหลังทีมที่ดูแล้วสนุกก็น่าจะเป็นลิเวอร์พูล
The People: นักฟุตบอลคนโปรดคือใคร
ณัฐวดี: เอแดน อาซาร์ ของเรอัล มาดริด
The People: นำการเล่นของ อาซาร์ มาปรับใช้กับการเล่นของเราอย่างไร
ณัฐวดี: ก็มีบ้าง เขาเลี้ยงเก่ง บางจังหวะหนูก็จะนำทักษะหรือเทคนิคเฉพาะตัวของเขามาปรับใช้ในบางเกม แต่ก็ไม่ได้เอามาใช้ทุกครั้ง แค่บางจังหวะที่ควรใช้
The People: ว่าด้วยเรื่องพละกำลัง นักฟุตบอลหญิงอาจเป็นรองผู้ชาย เพราะฉะนั้นการใช้สมองในการเล่นน่าจะเป็นจุดสำคัญของฟุตบอลหญิง?
ณัฐวดี: ส่วนตัวหนูว่าคนเราแต่ละคนคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว หนูว่าความสำคัญคือจะทำอย่างไรให้การเล่นของเราเข้ากับแท็กติกของโค้ช และสามารถสร้างสรรค์เกมไม่ให้ติด ๆ ขัด ๆ
The People: คิดว่าอะไรคือสิ่งที่เรายังขาดอยู่
ณัฐวดี: การยิงประตู เพราะหนูยิงไม่ค่อยดีนัก แล้วก็ไม่ค่อยจะยิงด้วย เลยต้องอาศัยจ่ายให้เพื่อนแทน เพราะหนูมั่นใจในการจ่ายบอลของหนูมากกว่า
The People: ข้อด้อยในการทำประตู เป็นการลดความมั่นใจและเป็นอุปสรรคในพื้นที่สุดท้ายหรือเปล่า
ณัฐวดี: มันก็มีเป็นบางครั้ง แต่จังหวะไหนเราต้องยิงก็ต้องยิง แต่หนูไม่ได้เลือกการยิงมาอันดับหนึ่ง หนูเลือกที่จะให้ก่อน ก็ต้องปรับตรงนี้
The People: ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีอายุจำกัด พออายุคนเล่นขึ้นเลขสามก็กลายเป็นช่วงขาลงของกีฬาชนิดนี้แล้ว เรามองอนาคตตัวเองในวงการฟุตบอลอย่างไร
ณัฐวดี: ทุกวันนี้เราก็พยายามจะให้ตัวเองได้เล่นให้นานที่สุด คอยหมั่นรักษาตัวเอง แต่ถ้าในอนาคตเราเล่นไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องเลิกเล่น
The People: วันนี้ฟุตบอลกลายเป็นความชอบ แต่เมื่อเรานำความชอบมาอยู่กับตัวทุกวัน มีแอบเบื่อหรือท้อกับความชอบนี้บ้างไหม
ณัฐวดี: ไม่ค่อยรู้สึกแบบนั้นเลย คือตอนนี้เราก็ยังไม่อยากหยุด เราอยากจะไปต่อ คือมันเหนื่อยได้แต่เดี๋ยวก็หายเหนื่อย แล้วก็กลับไปซ้อมใหม่ได้
The People: เป้าหมายส่วนตัวของเราคืออะไร
ณัฐวดี: ตอนนี้หวังว่าในอนาคตจะได้ไปเล่นที่ต่างประเทศ วันหนึ่งคงจะดีถ้าได้เดินเข้าไปพูดกับพ่อแม่ว่าวันนี้หนูทำได้แล้ว
The People: นักฟุตบอลไทยมักจะตกเป็นจำเลยของสังคมเสมอ ยามที่ตัวเองผิดพลาด ส่วนตัวเรามองเรื่องนี้อย่างไร
ณัฐวดี: หนูว่าทุกคนอยากยิงได้ ไม่อยากพลาด อยากทำให้ทีมชาติไทยชนะ คืออยู่ตรงนั้นทุกคนน่าจะรู้ตัวเองดีสุด และยิ่งเวลาเราลงไปเล่นเองด้วย เรารู้ดีว่าไม่มีใครต้องการที่จะทำพลาดหรอก
The People: นิยามฟุตบอลในแบบของ “แอมแปร์-ณัฐวดี”?
ณัฐวดี: ฟุตบอลของหนูน่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนผู้อื่นมากกว่า หนูเป็นคนที่ชอบเล่นบอลแบบจ่ายทะลุช่องตรงกลาง หนูคิดว่ามันไปถึงประตูได้เร็วกว่า
The People: การเป็นนักฟุตบอลอาจจะต้องแลกกับการมีชีวิตส่วนตัวที่ต่างจากคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เรารู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปไหม
ณัฐวดี: ฟุตบอลคือความสนุกของหนู หนูทำแบบนี้แล้วสนุก คนอื่นอาจจะชอบเที่ยวชอบไปไหน อาจจะไม่ชอบตากแดดเตะฟุตบอล แต่ว่าหนูทำตรงนี้แล้วสนุก คือเที่ยวแน่นอนมันสนุกอยู่แล้ว แต่การได้เล่นฟุตบอลคือสิ่งที่หนูชอบและสนุกไปกับมัน
The People: บ้านเราอาชีพนักฟุตบอลอาจจะไม่ได้ดูดีเหมือนอาชีพอื่น เรารู้สึกอย่างไรกับคนที่มักจะพูดว่า “เตะฟุตบอลดูเป็นเรื่องเล่น ๆ”
ณัฐวดี: หนูคิดว่าการที่เราได้ทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองรัก มันก็สำคัญหมด อย่างการเป็นดาราอาจจะเป็นอาชีพที่มีชื่อเสียง ดัง แต่สำหรับหนูแค่การได้เล่นฟุตบอลมันก็มีความสุขแล้ว หนูไม่ได้คาดหวังว่าทำแล้วต้องดังหรือดูดี เพราะทั้งหมดคือการได้ทำในสิ่งที่เรารักเท่านั้นเอง
The People: ฟุตบอลสอนอะไรเราบ้าง
ณัฐวดี: อย่างเวลาเราทำผิดพลาดจนทีมแพ้หรือบางครั้งชนะ ฟุตบอลทำให้รู้ว่าทุกอย่างมีแพ้มีชนะ มันทำให้เรายอมรับกับสิ่งที่เราผิดพลาดและกลับมาสู้ใหม่ คือเหมือนกับทำให้เราสู้ตลอดเวลา
The People: ฟุตบอลให้อะไรกับเรา?
ณัฐวดี: ที่ผ่านมาฟุตบอลก็ให้อะไรเราหลายอย่างทั้งเงินหรือโอกาส เงินเดือนก้อนแรกในชีวิตก็มาจากการเล่นฟุตบอล คือมันแทบให้ทุกอย่างในชีวิตหนู มันก็น่าจะให้อนาคตกับหนูด้วยเหมือนกัน
The People: กำลังจะมีการแข่งขันฟุตบอลหญิงโอลิมปิก รอบคัดเลือก ประจำปี 2563 ส่วนตัวเราตั้งเป้ากับทัวร์นาเมนต์นี้อย่างไร และฝากอะไรถึงคนไทยที่ติดตามฟุตบอลหญิง
ณัฐวดี: คือฟุตบอลหญิงเราก็ยังไม่เคยได้ไปเล่นโอลิมปิก หนูก็อยากจะลองไปสักครั้งหนึ่งแล้วอยากให้คนไทยทุกคนช่วยเชียร์พวกเราด้วย พวกเราก็จะทำให้ดีที่สุด