08 มี.ค. 2564 | 17:55 น.
หนังสือ
The People: แนะนำหนังสือสำหรับปี 2021 (พ.ศ. 2564)
ปิยบุตร: ปี ค.ศ. 2021 นี่สืบเนื่องจาก ค.ศ. 2020 ว่า ค.ศ. 2020 เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาบ้าง แล้ว ค.ศ. 2021 จะเดินต่ออย่างไร ค.ศ. 2021 เหตุการณ์ใหญ่ ๆ มันมีอยู่ 2 เรื่อง นั่นก็คือเรื่องการชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา เยาวชนคนหนุ่มสาว กับอีกอันหนึ่งคือเรื่องโควิด-19 วิกฤตการณ์หลังโควิด-19 จะเกิดอะไร
ดังนั้น ค.ศ. 2021 มันมีอะไร ผมก็เลยลองเลือกหนังสือเล่มนี้มา เป็นนวนิยาย เพิ่งออกใหม่มาเมื่อปลายปีที่แล้วสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ ‘24 ชั่วโมง 7 วัน 1 สัปดาห์’ (สำนักพิมพ์มติชน) ไม่รู้ว่าแต่ละคนจะอ่านชื่อนี้ยังไง บางคนอาจอ่าน ‘24-7/1’ อะไรก็แล้วแต่ แต่นัยของผู้เขียนก็คือ 24 ชั่วโมง 7 วัน 1 สัปดาห์ เขียนโดยคุณภู กระดาษ
จริง ๆ ผมเป็นแฟนหนังสือของภู กระดาษ หลายเล่ม เล่มล่าสุด (2564) ที่เขาออกมา ทุกคนก็ทราบดีว่าภู กระดาษ เขียนนวนิยาย คือเขาเป็นนักเขียนที่มีความคิดจิตสำนึกในทางการเมืองอย่างชัดเจน แล้วก็แสดงออกผ่านนวนิยายของเขาที่เขียนขึ้นมา เล่มนี้อ่านง่ายกว่าเล่มที่ผ่านมา เล่มที่ผ่านมามันมีภาษาอีสานอะไรปนเข้ามา เล่มนี้อ่านง่ายกว่า ‘เนรเทศ’ (สำนักพิมพ์มติชน) แต่ว่าความเห็นผมนะ อึดอัดกว่า แต่ถ้าคุณรอดความอึดอัดตรงนี้ไปได้ปุ๊บ คุณจะเข้าใจทั้งหมด
สิ่งที่น่าทึ่งของภู กระดาษคือว่า อันนี้ผมตีความเอาเองนะ การที่คุณเขียนเล่าชีวิตประจำวันของตัวละครในหนังสือนี้ ชีวิตประจำวันของคน คุณอ่านมันแล้วคุณอึดอัด อึดอัด รู้สึกทำไมอะไรมันเล่าเรื่องแบบซ้ำ ๆ กัน ชีวิตประจำวันของคนเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่าง ๆ แล้วรู้สึกอึดอัด
แต่ในขณะเดียวกัน ชีวิตประจำวันของผู้อ่านทุกคนก็เป็นอย่างนี้แหละครับ มันเหมือนหุ่นยนต์ มันเหมือนโรบอต มันเหมือนเครื่องจักร มันเหมือนกลไกอะไรบางอย่างที่อยู่ในรัฐ อยู่ในบริษัทเอกชน อยู่ในอุตสาหกรรมอุตสาหการต่าง ๆ แล้วก็เดินไปเรื่อย ๆ แบบนี้
เราเป็นผู้อ่าน เราอ่านเข้าไป เราอึดอัด แต่ว่าพอเรามองกลับมาที่ตัวเรา ชีวิตเราก็เป็นนอตตัวหนึ่ง เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งของไอ้ระบบรัฐแบบนี้ ระบบธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจแบบนี้อยู่เช่นเดียวกัน นี่คือที่ผมตีความ แล้วผมมองว่าน่าทึ่งมากในฝีมือการเขียนของเขา ไม่รู้ถูกหรือผิดตามความตั้งใจของภู กระดาษหรือไม่
แล้วพอคุณอ่านจนจบปุ๊บ คุณจะคิดถึงเรื่องของการต่อสู้เพื่อจะให้ได้มาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อจะให้ได้มาซึ่งของความเท่าเทียม เพื่อจะให้ได้มาซึ่งของ...คือผมเนี่ยมีความเห็นว่าไอ้วิธีคิดเรื่อง Division of labour การแบ่งงานกันทำตามภารกิจในอนาคตต้องเลิก วิธีคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำตามแต่ละบุคคล ตามแต่ละความเชี่ยวชาญหลาย ๆ อย่างคือวิธีคิดที่รับใช้ทุนนิยม แล้วคุณก็จะเกิด bullshit jobs ถ้าใช้ภาษาแบบ David Graeber ที่เพิ่งเสียชีวิตไปคือแบบนี้เลย
มนุษย์เราต้องไปทำงาน bullshit jobs เต็มไปหมด bullshit jobs เช่นอะไร คนมานั่งตรวจว่าใครเข้าทำงานกี่โมง คนมานั่งตรวจว่าระบบการทำงานเป็นยังไง แล้วก็จะมีคนตรวจไอ้คนตรวจ แล้วก็มีคนตรวจไอ้คนตรวจคนตรวจอีกที คือลักษณะเป็นแบบนี้ bullshit jobs เต็มไปหมด เรื่องแบบนี้จริง ๆ มันก็ไม่มี เท่ากับว่าระบบทุนนิยมมันพยายามออกแบบ การทำงานแต่ละอย่างให้มันสลับซับซ้อนไปหมด ให้มันมีมาตรฐาน มีการตรวจ มีการอะไรต่าง ๆ แต่ถ้าคุณไม่ออกแบบระบบแบบนั้น มันไม่จำเป็นต้องมีคนไปทำงาน bullshit jobs แบบนี้จำนวนมากก็ได้ แล้ว bullshit jobs มันทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักร ชีวิตมันไม่คิดอะไร เออ ๆ ไปทำ
พอผมอ่าน พยายามตีความระหว่างบรรทัดไปเรื่อย ๆ มันอาจจะนำมาซึ่งให้เรารู้สึกว่าโครงสร้างของรัฐ โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่มันเดินหน้าต่อแบบนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่จะมี AI จะมีหุ่นยนต์อะไรเข้ามาแทนที่ มนุษย์มันควรถูกเปลี่ยนให้ไปทำในสิ่งที่ creativity สร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นโรบอต ไม่ใช่เป็นหุ่นยนต์ แล้วก็ไม่ใช่เพื่อแลกเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ หาเลี้ยงชีพไปในแต่ละวัน ๆ
สำหรับผม ความสำเร็จของรัฐ นี่ผมไม่ได้พูดเฉพาะประเทศไทยนะ พูดระบบโลกเลย ความสำเร็จของรัฐแบบนี้คือคุณถอดความคิดสร้างสรรค์ คุณถอดวิญญาณออกไปจากตัวมนุษย์ ให้มนุษย์เป็นคนที่ตื่นเช้ามาปุ๊บ วันนี้ทำงานหาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เลี้ยงสามีภรรยาครอบครัวไปเรื่อย ๆ แล้วความสุขของชีวิตก็คือคุณก็ไปสร้างครอบครัวซะ ถ้ารัฐสามารถ control คน dominate ให้มนุษย์เป็นแบบนี้ได้หมด การเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ หรือที่เราเรียก revolution ไม่มีทางเกิดหรอกครับ stuff อยู่แค่นั้น ขังอยู่แค่นั้น ก็ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูก็อาจจะเกิดพลัง
ความหวัง
The People: มุมมองที่มีต่อภาพสังคมไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 (พ.ศ. 2564)
ปิยบุตร: คือที่ผมมอง สืบเนื่องมาจากปีที่แล้ว ทั้งเรื่องการเมือง แล้วก็เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องชีวิตของผู้คน เรื่องการเมืองก็คือโยงใยกับเรื่องของการชุมนุม เป็นวิกฤตการณ์ความชอบธรรมของผู้ปกครองของประเทศไทย อีกอันหนึ่งคือเรื่องวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 ผมคิดว่าเอาเรื่องแรกก่อน เรื่องทางการเมืองมันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ในลักษณะที่ว่าคนหนึ่งเจเนอเรชันเขามองผู้ปกครอง มองสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่ไม่เหมือนกับคนรุ่นเราหรือรุ่นก่อนหน้าเราแล้ว แล้วคนรุ่นนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาที่บวกเข้าไปเรื่อย ๆ
ทีนี้อยากจะเชิญชวนให้มองกันเป็นแบบธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มันก็จะมีแบบนี้แหละ มันจะมีกลุ่มผู้ปกครอง ชนชั้นผู้ปกครองที่ครองอำนาจมาอยู่ตลอดต่อเนื่องยาวนาน แล้วมันก็จะมีความท้าทายใหม่ ๆ ขึ้นมาทุกครั้ง ถ้าตรงนี้ยังรักษาวิกฤตการณ์ความชอบธรรมได้ต่อเขาก็จะประคองได้ต่อ ซึ่งเขาอาจจะยอมปฏิรูป ยอมปรับปรุง ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรก็ว่าไป แต่ถ้ารักษาไม่ได้หรือทำปฏิรูปในลักษณะ too late ช้าเกินไปแล้ว มันก็จะเกิดเรื่องวิกฤตการณ์ เรื่องอำนาจนำว่าสุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นใคร
ผมมองว่าปี พ.ศ. 2564 มันจะสู้กันเรื่องนี้แหละ สู้เรื่องนี้ในลักษณะที่ว่าฝ่ายที่กำลังก่อรูปขึ้นมา คือตอนนี้อำนาจนำมันหายไปแล้ว ฝ่ายที่กำลังจะก่อรูปขึ้นมาก็จะช่วงชิงอันนี้ ฝ่ายที่เคยเป็นมาก็รู้สึกไม่อยากเสีย จะสู้กันเพื่อจะแย่งตรงนี้ ทีนี้จะแย่งตรงนี้จะทำอย่างไร มันก็คือคุณต้องหาพวก ทำงานทางความคิดเชื้อเชิญคนให้เข้ามาเห็นด้วยกับคุณให้มากขึ้น ๆ
ในทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ครั้งนี้ผมเชื่อว่า… ก็เราเรียกว่า disrupt เลยใช่ไหม โควิด-19 มันจะทำให้ความคิด ไอเดีย ที่เมื่อก่อนเรารู้สึกบ้า เพี้ยน เพ้อฝัน มันอาจจะปรากฏขึ้นจริง
ยกตัวอย่างเช่น ไอเดียเรื่อง Universal Basic Income (UBI) ถ้าพูดเมื่อ 3 ปีที่แล้วคนหาว่าบ้า คนหาว่าเพ้อฝัน คนหาว่า utopia แต่พอเกิดเรื่องการล็อกดาวน์มากขึ้น ๆ คนเริ่มพูดถึง เอาเท่านี้ก่อนยังไม่ universal บางส่วนอะไรก็ว่าไป แต่คนเริ่มคิดแล้วว่านี่เป็นหนทางในการช่วยประชาชนผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ไอเดียใหม่ ๆ มันจะมีโอกาสพัฒนาขึ้น ในขณะเดียวกัน ฝ่ายพวกเสรีนิยมใหม่ ฝ่ายที่มีความคิดต้องการลดการช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ ต้องการลดทอนเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาว่าสาขาบางอันมันขาดทุน เขาไม่ต้องเปิดอะไรแบบนี้ เขาก็จะใช้โอกาสนี้เหมือนกันในการเข้ามา restructure ระบบใหม่
ผมยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายที่เชียร์เรื่องสวัสดิการ ฝ่ายที่พยายามจะผลักดันเรื่องปัญหาปากท้อง เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ก็จะพยายามมาต่อสู้เสนอไอเดียใหม่ ๆ เข้ามา รัฐสวัสดิการ UBI อะไรก็ว่าไป แรงงานแบบฟรีแลนซ์ควรต้องไปปกป้องเขา นี่เราก็ชิงเข้ามา ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐแบบเสรีนิยมใหม่เขาก็จะชิงจังหวะนี้ ผมยกตัวอย่างที่จะโดนกระทบก่อนเพื่อนเลยคือโรงเรียน การศึกษา พวกนี้มันจะเกิดความรู้สึกว่า ไม่ต้องไปเรียนก็ได้ไง มหาวิทยาลัยไม่มีก็ได้ มหาวิทยาลัยคือออนไลน์ก็ได้ ทุกคนเรียนที่บ้านก็ได้ ลักษณะแบบนี้มันก็จะเข้าทางของระบบการศึกษาที่พยายามจะยุบนู่นยุบนี่ให้มันเหลือแต่คณะที่ได้ทุนกลับมา มันจะเป็นการลด cost อะไรต่าง ๆ ของเรื่องสวัสดิการ พื้นฐานเรื่องของความรู้ เรื่องของวิชาการต่าง ๆ ไป เขาก็จะใช้โอกาสนี้เข้ามา restructure เหมือนกัน
เช่นเดียวกันก็จะมีอีกทางหนึ่ง ตอนนี้ในยุโรปเริ่มคิดมากขึ้น ก็คือว่า พอหลังจากโควิด-19 เกิดขึ้น คุณล็อกดาวน์หลายคนกลับบ้าน ผมมีเพื่อนอยู่ปารีสหลายคนบอกว่ากลับบ้านแล้ว กลับบ้าน แล้วก็เชื่อว่าการทำงานที่บ้านทำได้ แล้วคุณก็จะรู้สึกว่าคุณจะเริ่มพึ่งพาคนอื่นให้น้อยลง หลายอย่างมนุษย์มันทำได้ด้วยตัวเอง แต่ด้วยทุนนิยมที่ชอบทำให้คนบริโภคเยอะ ๆ ก็จะต้องสร้างอาชีพนี้ สร้างอาชีพนั้น สร้างผลิตภัณฑ์นี้ เพื่อให้เราไปจับจ่ายซื้อของ
พอมันเกิดโควิด-19 ขึ้น หลายคนบอกอ้าว! อย่างนี้ฉันกลับบ้านแล้ว พอฉันกลับบ้านปุ๊บ เฮ้ย! อาหาร ของบริโภคเราสร้างได้เองหลายอย่าง ก็เริ่มกลับไปไอเดียลักษณะที่ว่า รวมตัวกันเป็นชุมชนอยู่กันเอง นี่ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน มองในภาพใหญ่ของรัฐ รัฐแต่ละรัฐก็จะเป็น Authoritarian มากขึ้น เป็นเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้น ปกป้องผลประโยชน์ตัวเองมากขึ้น ลดการร่วมมือระหว่างรัฐน้อยลง นี่จะเป็นทิศทางที่กระทบจากเรื่องโควิด-19
ความฝัน
The People: เริ่มก่อรูปแนวคิดแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไร
ปิยบุตร: จุดเปลี่ยนความคิดผมที่มาสนใจเรื่องอะไรต่าง ๆ มันก็ปฏิเสธไม่ได้คือเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ การเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้อ่านหนังสือเยอะขึ้น ตอนเรียนปี 1 ที่ธรรมศาสตร์รังสิต มาเรียนวิชาพื้นฐานใช่ไหม แล้วก็ได้อยู่หอพัก ผมก็จะหมกตัวอยู่ในหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ นั่งอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ไปเรื่อย ได้อ่านอะไรไปเรื่อย ก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาผ่านการอ่านหนังสือ แล้วก็ไปเรียนต่างประเทศ อันนั้นก็ไปเห็นโลกที่มันเยอะขึ้น จริง ๆ มันมีหลายเรื่องที่ผมเริ่มคิดไปไกลกว่านั้นแล้ว
ผมมีไอเดียที่มันไปไกลกว่านั้นหลายอัน แต่พอมาพูดกันด้วยคนอาจจะไม่สนใจ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นทิศทางที่มันต้องหมุนไปทางนั้นแน่ ๆ เช่น สภา ทุกวันนี้เราบอกว่ามันมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นถูกไหม ประชาชนได้เข้าไปเลือกถูกไหม แต่เราเคยสำรวจตรวจสอบไหมว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ว่าจะสังกัดพรรคใดก็ตาม พรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน อะไรก็ตาม แต่สุดท้ายที่สุดมันคือ Political elite ที่อยู่ในถังเดียวกันทั้งหมด คือคลับเดียวกันทั้งหมด คลับของนักการเมืองทั้งหมดที่อยู่ในนี้ แล้วคุณก็แบ่งกันเป็นพรรค ๆ อยู่ในนั้น
ถามว่าในนี้ทั้งก้อน ถ้าเราบอกว่านี่คือผู้แทนของประชาชน ที่อยู่ในนั้นประกอบอาชีพอะไรกันบ้าง ที่อยู่ในนั้นเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่หลากหลายไหม ผมว่าไม่น่าใช่ คุณมีตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้คนพิการกี่คน คุณมีคนเป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เรื่องเพศวิถีเพศสภาพกี่คน คุณมีคนที่เป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้ SMEs กี่คน คุณเป็นตัวแทนเกษตรกรกี่คน คุณเป็นตัวแทนสัดส่วนผู้หญิงมีเท่าไรถูกไหมครับ
นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งที่เราต้องการเป็นสูตรคูณว่าประชาธิปไตยต้องมีเลือกตั้ง โอเคผมไม่เถียง ต้องมีแน่ แต่มันกำลังเดินทางไปสู่การตั้งคำถามว่าไอ้ Parliamentary system ไอ้ระบบ election ต่าง ๆ ที่เราบอก free and fair สุดท้ายผลลัพธ์ของการเลือกออกมา มันคือเข่งอันหนึ่งของ Political elite แล้วเมื่อคุณเข้าไปอยู่ในนั้น มันออกแบบระบบในลักษณะที่ล็อกคอนักการเมืองไม่ให้ซ่า ไม่ให้กล้าหาญ ไม่ให้กล้า radical คุณอาจจะ radical มาก ๆ เลย อ่านหนังสือมาเป็นร้อยเล่ม วันนี้แหละโว้ย ตั้งพรรคแล้ว จะลุยแล้ว มีอำนาจแล้ว แต่ once ที่คุณตั้งปุ๊บคุณต้องประนีประนอม (compromise) กับอำนาจแล้ว ตั้งพรรคให้รอด (หัวเราะ) เอาพรรคให้อยู่ ลงเลือกตั้งบางทีก็ต้องมีธรรมเนียมประเพณีแบบเก่า คุณก็ต้องผ่อนบ้าง ไม่งั้นคุณก็ไม่ชนะ
เข้าไปอยู่ในสภา เอ้า! คุณก็เจอคนจากพรรคอื่น กลุ่มอื่น คิดกันคนละแบบถูกไหม นานวันเข้ามันก็ไป join เป็นคลับเดียวกันอีก เข้าไปปุ๊บอยากจะพูด อยากจะอภิปราย อยากจะทำอะไรต่าง ๆ เรื่องต่าง ๆ คุณเข้าใจโครงสร้างรัฐแบบนี้ โครงสร้างองค์กรอิสระแบบนี้ กระตุก เฮ้ย! ทำไม่ได้นะ หรืออยากจะเริ่มทำ คุณเจอฝ่ายตรงข้ามร้องเรียน มันก็คือทำให้นักการเมือง ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มไหน พรรคไหน ท้ายที่สุดหน้าตามันจะออกเหมือนกันหมดเมื่ออยู่ไปเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ไปเรื่อย ๆ หน้าตามันจะเหมือนกันมากขึ้น วิธีคิดมันจะเหมือนกันมากขึ้น มันถูกหล่อหลอมให้เป็นพันธุ์เดียวกันหมด เนื้อเดียวกันหมด
จนในท้ายที่สุด สิ่งที่เราท่องเป็นคาถาว่า ส.ส. เป็นผู้แทน ความเป็นผู้แทนมันหายไปแล้ว ตรงกันข้าม representative democracy มันกิน democracy จนหมดตัว democracy คือ dēmos kratos อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แล้วคุณก็บอกว่าเฮ้ย! โลกใบนี้มันเอาคนมาเข้าสภาหมดไม่ได้ มันก็ต้องเลือกตั้งแหละวะ ผ่านผู้แทนกลายเป็น representative democracy แต่ representative ซึ่งเป็น adjective นานวันเข้ามันกิน democracy จนหมดตัวแล้วนะ ถามว่าประชาชนซึ่งเลือกเนี่ยสั่งผู้แทนได้ไหม สั่งไม่ได้ ถามว่า ส.ส. ฟังหัวหน้ามุ้ง ฟังนายทุนพรรคมากกว่าประชาชนไหม ใช่ไหมครับ
นั่นก็คือ representative มันกิน democracy เข้าไปแล้ว กินเข้าไปจนในท้ายที่สุดมันจะไม่ใช่ representative democracy มันจะกลายเป็น representative-cracy คืออำนาจสูงสุดไปอยู่ที่ผู้แทน อำนาจอยู่ที่ผู้แทน
ดังนั้น สิ่งที่มันต้องคิดต่อไปคือมันไม่เพียงพอ โลกมันทันสมัยมากขึ้น เทคโนโลยีมีมากขึ้น Direct democracy ต้องกลับมา ต้องเอากลับมาให้ได้ แล้วพูดกันง่าย ๆ คือผมนี่เห็นถึงขนาดที่ว่าคนเราเป็น ส.ส. นะ 1 สมัย ทุกคนเป็น ส.ส. 1 สมัยเลิกเลย มันจะทำไง คุณจะเข้ามาแล้วคุณจัดเต็มเลย คุณจัดเต็มเลยหมด 4 ปี แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม คุณเป็นแล้วเป็นอีก ๆๆ มันจะเกิดว่า ส.ส. เป็นอาชีพ ส.ส. เป็นตระกูลการเมือง คุณเป็นแล้ว คุณก็รู้สึกว่าคุณต้องเป็นอีก คุณเป็นแล้ว คุณก็ต้องประนีประนอมกับระบบราชการ เพราะระบบราชการจะช่วยให้พื้นที่ของคุณ ส.ส. คนไหนกล้าวิจารณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดบ้างครับ ไม่กล้าหรอกครับเพราะเดี๋ยวไม่มีงบลง ถูกไหม
เพราะฉะนั้นถ้านักการเมืองเป็นสมัยเดียว ส.ส. เป็นสมัยเดียว คุณจะเจอนักการเมืองที่ขบถ ที่กล้ามากยิ่งขึ้น ๆๆ เอา direct democracy มาใช้ให้มาก ๆ ใช้ให้มาก ๆ หลาย ๆ เรื่อง คุณกำลังเถียงกันเรื่องกาสิโนใช่ไหม เอาไม่เอา direct democracy ใช้เลยดิ คุณไม่ต้องไปถามไอ้ผู้แทน เพราะผู้แทนเนี่ยหูสองข้างมันฟังแต่ว่า ครั้งหน้าใครจะทำให้ชนะเลือกตั้ง ถูกไหม
ซึ่งถ้าเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ มนุษย์เป็นสัตว์การเมืองก็อย่างนี้ ก็คืองวดหน้าคุณอยากเป็น ส.ส. อีก เขาก็จะต้องฟังใครที่ทำให้เขาชนะเลือกตั้ง แต่ถ้าคุณตัดนายหน้าส่วนกลางออกไปเลย ก็ถามประชาชนลงไปสิครับ ถามลงไปเลยว่าจะเอายังไง
อีกประเด็น เมื่อนักการเมืองมีระบบ สภา สถาบันการเมืองอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลเกิดขึ้นแล้ว สภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ผมเห็นว่าจับฉลาก เวียนกันเป็นคนละ 1 ปี คือถ้าเราเชื่อว่าทุกคนเป็น citizen มันเป็นคนของเมือง พลเมืองคือคนของเมือง ดังนั้น คนทุกคนของเมืองมันต้องมีสิทธิ์บอกเว้ย มันต้องมีสิทธิ์ตรวจสอบ มันต้องมีสิทธิ์ติดตามดูถูกไหม
โอเค ถ้าคุณบอกว่าทั้งประเทศมันใหญ่มากนะ commune เทศบาลเล็ก ๆ อบต. พวกนี้เริ่มก่อนเลย สร้างสภาตรวจสอบ คุณไม่ต้องไปฝากไว้กับอรหันต์องค์กรอิสระ สตง. อะไรเลย คุณเอาคนในหมู่บ้าน ในตำบล ในเทศบาล ขึ้นทะเบียนแล้วก็จับฉลากเวียนกันเป็นคนละปี แล้วทุกคนก็จะเข้ามา แล้วมันก็จะทำให้เกิด active citizen พร้อมกันนั้นเขาก็จะไม่ถูกซื้อด้วย นักการเมืองมาซื้อเขาไม่ได้ เพราะเป็นปีเดียวเวียนออก ปีเดียวเวียนออก ๆ เริ่มจากเทศบาลเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ อันนี้ยุโรปมันเริ่มพูดกันมากขึ้น ๆ แล้วทั้งหมดต้องประกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงออกแบบ maximum จะเป็นเกราะคุ้มกันในระบบที่ผมบอกทั้งหมด แต่ถ้าแสดงออกแล้วเจอกฎหมายปิดปาก ไอ้ระบบที่ผมกำลังบอกก็จะไม่เกิดขึ้น อันนี้ภาคการเมือง
ภาคเศรษฐกิจ ผมคิดถึงเรื่องไอเดียใหม่ ๆ เช่น common common เนี่ยหลายคนเขาพูดเรื่องคอมมิวนิสต์ เราจะต้องคิดว่าเวนคืนของไปเป็นของรัฐ แต่ common รากศัพท์ของมันคือร่วมกัน การใช้อะไรร่วมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกวันนี้เวลาพูดถึงทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ เราก็จะรู้แต่เพียงว่า หนึ่ง, กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน กับสอง, เป็นของสาธารณสมบัติ เป็นทรัพย์สินของรัฐ เรารู้กันแค่ว่ามีแค่นี้ หนึ่ง, ไม่เป็นของเอกชนก็เป็นของรัฐ แต่ผมกำลังจะบอกว่ามันมีวัตถุสิ่งของจำนวนมากที่ไม่ต้องมีใครเป็นเจ้าของเลยก็ได้ แต่ใช้ร่วมกัน เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ ทุกวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติป่าเป็นของใคร ป่าสงวนของรัฐ แล้วคุณก็ไปไล่ประชาชนออกไปหมด เช่นเดียวกัน ถ้าคุณบอกเฮ้ย! ถ้าปล่อยให้เอกชน เดี๋ยวนายทุนมันก็เอาไปทำรีสอร์ตอะไรจนชาวบ้านไม่ได้ใช้อีก ไม่ได้เป็นของใครเลย แล้วมาตกลงมาใช้ร่วมกัน
ความเห็นผม ไอเดียความคิดเรื่องความขัดแย้งของมนุษยชาติที่มันเริ่มเกิดขึ้น มันเริ่มที่มนุษย์เริ่มตีรั้วบ้านตัวเองว่าอันนี้ของของกู ขึ้นมาถึงระดับรัฐ เส้นพรมแดนวาดแผนที่ ไอ้นี่ดินแดนกู ห้ามแย่ง เอ็งบุกรุกเข้ามานิดเดียวไม่ได้ แต่คุณย้อนไปสมัยดึกดำบรรพ์ มันก็…คนไทยอีสานกับคนลาวนี่ก็…แต่แค่คุณตีเส้นแค่นี้ เฮ้ย… แต่ย้อนกลับไป state of nature คุณเพื่อนมนุษย์ เผลอ ๆ วิ่งเล่นเตะตูดกันมาด้วย พอแบ่งเส้นพรมแดนปุ๊บไปเลย
ผมคิดถึงเรื่องไอเดีย common ความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์จะต้องอธิบายใหม่ ทุกวันนี้เราคิดอย่างเดียวว่ากรรมสิทธิ์เป็นสิทธิ์แพ็กเกจทั้งก้อน เช่น ผมเป็นเจ้าของ iPhone อันนี้ ผมทำอะไรได้บ้าง ซื้อมาเป็นของผม ผมใช้ ผมขาย ทำอะไรได้หมดเลย แต่ทรัพย์สินหนึ่งอันมันมีมากกว่านั้น มันมีตั้งแต่เข้าถึง เข้าใช้ จำหน่ายจ่ายโอน ยกให้คนอื่น มันมีตั้งหลายแบบ แต่เรากำลังรวมกันทุกอย่างเข้ามาอยู่คำว่ากรรมสิทธิ์ ดังนั้น ทรัพย์สินบางประเภท พอคุณบอกคุณเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว เฮ้ย! ไอ้นี่ก็ห้ามใช้ ไอ้นั่นห้าม ห้ามเข้ามายุ่งกับฉัน มันเป็นของฉันคนเดียว มันควรซอยกรรมสิทธิ์ให้เป็นหลาย ๆ สิทธิ์ กรรมสิทธิ์มันไม่ใช่สิทธิ์สมบูรณ์ในตัวมันเอง แต่ว่าระบบโลก ระบบทุน สอนเราจนเราไม่มีความรู้สึกเลย
ผมเรียนปี 1 ปุ๊บ วิชากฎหมายพื้นฐาน กฎหมายทรัพย์สิน start ด้วยเรื่องนี้เลยนะ กรรมสิทธิ์ แล้วก็เสรีภาพในการทำสัญญา มันเป็นของของอั๊วะแล้ว อั๊วะจะเอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ของของลื้อจริงหรือเปล่า มันไม่ใช่หรอกครับ ไอ้นี่ 1 อันมาจากกี่คน ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่าไร เห็นไหมครับ มันกระทบคนมหาศาล นี่ก็เป็นอีกไอเดียหนึ่ง
แต่ปัญหาคือทุกวันนี้มันต้องมานั่งเถียงกันเรื่องพื้นฐานกับเรื่องประชาธิปไตยเบสิก มันเลยยังไม่มีโอกาสได้ไปคุยเรื่องที่มีลักษณะแบบนี้