14 ก.พ. 2562 | 15:44 น.
“ยิ่งศึกษา ยิ่งเชื่อมั่น ก็ขายบ้านขายทรัพย์สินเลย คิดว่าถ้าประสบความสำเร็จเราก็จะเปิดหน้าใหม่ของพลังงานให้กับประเทศ ถ้าเราล้มเหลว อย่างเก่งก็หาเงินมาใช้หนี้แบงก์” ความเชื่อมั่นและความศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถพาเราไปได้ไกลแค่ไหน? สำหรับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ความเชื่อมั่นและความศรัทธาใน “พลังแสงอาทิตย์” คือสิ่งที่ทำให้เธอหวนสู่แวดวงธุรกิจอีกครั้ง หลังวางมือจากธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) ไปปฏิบัติหน้าที่ในบทบาท “คุณนายผู้ว่าฯ” ของ สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่ขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก อยู่หลายปี (ปัจจุบัน สุทธิพงษ์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน) แม้จะมีต้นทุนและประสบการณ์ที่สั่งสมในเชิงธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การกลับมาครั้งนี้ “ไม่ง่าย” ถึงขั้นว่าเริ่มต้นจากศูนย์ก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ เพราะการพูดถึงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อราว 10 ปีก่อน ไม่ใช่เรื่องที่คุ้นชินในวงกว้างเหมือนสมัยนี้ แม้กระทั่งสถาบันการเงินชั้นนำของไทยหลายแห่งก็ยังกังขาว่าธุรกิจนี้จะไปรอดหรือไม่ แต่ท้ายสุด วันดีก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถเป็นตัวเลือกที่สำคัญของโลกใบนี้ เธอคือผู้บุกเบิกโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งหมด 36 โครงการ มีกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ ถือเป็นความสำเร็จแรกด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย วันดียังได้รับเชิญไปบรรยายประสบการณ์บนเวทีระดับประเทศและนานาชาติ ได้กระทบไหล่ที่ปรึกษาประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้รับรางวัลและการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในฐานะผู้นำการบุกเบิกพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จเป็นคนแรก ไม่นับโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนพาวันดีทะยานเข้าไปติด 1 ใน 50 อันดับมหาเศรษฐีไทย จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes ในปี 2556 มาแล้ว “ใครยิ่งว่าเราหรือดูถูกเรา ถ้าสิ่งเหล่านั้นเราเชื่อว่ามันเป็นจริง เราต้องทำให้มันเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเชื่อมั่น คิดแล้วคิดอีกก็ยังเชื่อมั่น ก็ต้องเดินหน้าอย่าไปสนใจใครเขาพูดอะไร” คือแง่คิดจากแม่ทัพใหญ่ SPCG ที่ประกายตายังคงวิบวาวทุกครั้งเมื่อพูดถึงสิ่งที่เชื่อมั่น
The People: อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้บุกเบิกพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยอย่างจริงจัง วันดี: พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียน Biomass (ชีวมวล) Biogas (ก๊าซชีวภาพ) ลม ก็เป็นพลังงานหมุนเวียน แสงอาทิตย์นี่มาเต็มเลยทั้งวันจนกระทั่งพระอาทิตย์ตก เป็นพลังงานที่มาอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกว่าไม่มีต้นทุนเลย ถ้าจะมีคืออุปกรณ์และเครื่องมือที่แปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน ส่วน Conventional Energy มาจากแก๊ส ถ่านหิน น้ำมัน พวกนี้เรียกว่าพลังงานสิ้นเปลือง ใช้แล้วหมดไป เพราะฉะนั้นทุกเม็ดที่เรานำมาใช้แปลว่าเราต้องมีต้นทุน นี่คือต้องดูให้เห็นความแตกต่าง จากยุคสมัยก่อนอุตสาหกรรม เรามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ดังนั้นโลกวันนี้ที่พูดถึงกันมากๆ คือผลกระทบจากความเจริญของอุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อย CO2 และแก๊สอื่นๆ ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ พืชผลการเกษตร สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับทรัพยากรอย่างแก๊ส ถ่านหิน น้ำมัน ลดลง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามสุดฤทธิ์ให้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ ดังนั้นทั่วโลกจึงผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากที่สุด (เน้นเสียง) นี่คือกล่าวถึงที่มาก่อนว่าเชื่ออะไร และทำไมถึงเชื่อ จริงๆ เกษียณตัวเองจากการทำงานไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 หยุดงานไปเลย เพราะสามี (สุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ไปรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้นต้องเลิกจากงานไปเป็นคุณนายผู้ว่าฯ เพราะถ้าไม่ไป สามีอาจไปหาคุณนายใหม่ (หัวเราะ) ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องไป The People: สิ่งที่ทำให้เชื่อมั่นว่าเมืองไทยสามารถเป็นแหล่งของพลังงานแสงอาทิตย์ได้คืออะไร วันดี: เป็นเพราะความเข้มของแสง แสงอาทิตย์บ้านเรามีความเข้มข้นเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อันดับแรกคือออสเตรเลีย ส่วนอันดับ 2 คือไทย The People: ความยากของการทำเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ในยุคที่สังคมไทยยังคุ้นชินกับพลังงานรูปแบบเดิมๆ? วันดี: กระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียน เปิดให้เอกชนสามารถพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุกประเภท อย่างแสงอาทิตย์ น้ำ ลม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ตอนนั้นมี ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เราเลยเริ่มศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ จึงทำแผนธุรกิจขึ้น
เราเริ่มพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ครั้งแรกเมื่อปี 2553 แต่ประสบปัญหามากในการหาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ เพราะเป็นโครงการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่มีข้อมูลด้านความเสี่ยง ต้องใช้เวลาพัฒนาโครงการกว่า 1 ปี ต้องใช้ที่ปรึกษาการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ที่ปรึกษาด้านประกันภัย ก็ไปหาเป็นสิบๆ ธนาคาร จนกระทั่งธนาคารสุดท้ายคือกสิกรไทยที่ช่วยสนับสนุนด้านการเงิน มีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 60:40 เริ่มการลงทุนจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่โคราช เริ่มผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553
ธนาคารให้มีระยะเวลาประเมิน 6 เดือนก่อนเริ่มพัฒนาโครงการที่ 2 ปรากฏว่าใน 3 เดือนแรก การผลิตไฟฟ้าดีกว่าเป้าหมายกว่า 30% ทำให้ธนาคารเห็นโอกาสที่จะช่วยบริษัทพัฒนาโครงการที่เหลือที่ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 24,000 ล้านบาท ทีนี้ต้องหาผู้ร่วมทุน ธนาคารบอกว่าต้องให้ได้สถาบัน ซึ่งก็ต้องเป็นระดับ World Bank หรือ ADB หรืออะไรที่สร้างความน่าเชื่อถือที่ธนาคารจะสามารถช่วยได้ เลยต้องไปหา World Bank ตอนนั้นบินไปคุยกับเขาที่ฮ่องกง คุยแทบตาย เขาบอกยูต้องไปยื่นโครงการที่ฟิลิปปินส์ เราก็บินไปใหม่ ไปยื่นที่ฟิลิปปินส์ ธนาคารก็บอกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ แต่ถ้า World Bank ไม่ให้ โอกาสในการระดมทุนก็น่าจะลำบาก เพราะมูลค่าโครงการทั้งหมดเป็นหมื่นๆ ล้านบาท นี่คือโจทย์ที่ยากที่สุดตอนนั้น
ท้ายสุด บริษัทได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation Member of World Bank Group มาร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มที่เหลือ และร่วมให้ความสนันสนุนด้านการเงิน รวมทั้งนำเงินกู้ Climate Technology Fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 6 แห่ง มีธนาคารกสิกรไทยเป็นคนช่วยจัดการ นอกจากนั้นบริษัทก็ควบรวมกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมเงินทุน จนประสบความสำเร็จ ตอนไปสัมภาษณ์กับ World Bank เขาถามว่าทำไมคุณถึงอยากทำ เลยบอกไปว่า I want to bring solar power to Asia. คือมันเป็นโอกาสของโลกนี้ แต่ถ้าเรามองไปว่าต้องการเงินเท่านั้นเท่านี้ ทุกอย่างจบ World Bank ไม่ได้มองเรื่องเงิน แต่เขามองเรื่องประโยชน์ของทั่วโลก ก็แมตช์กัน อีกอย่างคือสิ่งที่มุ่งมั่นอยากทำ ไม่ใช่เพราะอยากได้เงิน แต่เป็นเพราะอยากให้เกิดพลังงานสะอาดเอามาใช้ อยากให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะเราสามารถทำได้ ตอนนี้กำลังการผลิตรวมของ SPCG อยู่ที่ 260 เมกะวัตต์ ซึ่งเราก็ไปขยายการลงทุนต่อ The People: มาถึงวันนี้คนเริ่มรู้จักและคุ้นกับพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ถ้าย้อนไปตอนนั้นที่แม้แต่ธนาคารยังไม่มั่นใจ เคยมีช่วงที่ท้อบ้างไหม วันดี: ใครยิ่งว่าเราหรือดูถูกเรา ถ้าสิ่งเหล่านั้นเราเชื่อว่ามันเป็นจริง เราต้องทำให้มันเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเชื่อมั่น คิดแล้วคิดอีกก็ยังเชื่อมั่น ก็ต้องเดินหน้าอย่าไปสนใจใครเขาพูดอะไร เป็นผู้หญิง ถ้ายอมแพ้หรือท้อถอยไปเรื่อยๆ เราก็จะยอมทุกเกม แต่ถ้าเราบอกว่าจะมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ จะยากแค่ไหน จะเหนื่อยแค่ไหน ก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ The People: ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีโอกาสมหาศาล หลังจาก SPCG บุกเบิกตลาดแล้ว ย่อมมีคู่แข่งตามมา? วันดี: คู่แข่งเยอะขึ้น ซึ่งทันทีที่เรามีคู่แข่ง เราต้องพัฒนาขีดความสามารถของเราทุกด้านให้มากขึ้นไปอีกและให้ดีกว่า ตอนที่เราลงทุนเรื่อง solar farm (ระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน) เราเลือกอุปกรณ์ที่ดีที่สุดระดับโลก ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของเราค่อนข้างคงที่ มีการเสื่อมสภาพค่อนข้างน้อย หน้างานก็ต้องมีการบำรุงรักษาที่ดี ทำให้เราสามารถรักษาความสามารถในการผลิตไฟฟ้าและรักษารายได้เอาไว้ได้ ขณะเดียวกันพอเราเปิดธุรกิจ solar roof (ระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา) ติดตั้งบนหลังคาอาคาร บ้าน และโรงงานอุตสาหกรรม คู่แข่งขันก็เกิดขึ้นเยอะ ซึ่งดีสำหรับลูกค้าเพราะมีทางเลือกเยอะ แต่ในทางเลือกก็ต้องมาดูความแตกต่างทางคุณภาพ ถ้าคนมีเงินทุกคนเลือกซื้อรถก็คงซื้อรถคุณภาพสูง แต่ถ้าไม่มีทางเลือกเยอะ ก็อาจมีเพื่ออำนวยความสะดวก เป็นความท้าทายที่เราต้องพัฒนาให้ทันต่อสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็แล้วแต่ นี่คือแนวคิดของตัวเองในการทำธุรกิจ The People: การเติบโตของ SPCG ในอาเซียนเป็นอย่างไร วันดี: ตอนนี้เราไปหมด ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว แต่ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมจริงๆ มาก เพราะที่เขาต้องพัฒนาคือนโยบายภาครัฐ ภาครัฐมีความสำคัญมากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า ถ้านโยบายภาครัฐไม่ออกมาชัดเจน นักลงทุนก็ไม่กล้า เพราะการลงทุนสาธารณูปโภคใช้การคืนทุนที่นาน เพราะฉะนั้นคนจะไม่สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว เช่นตอนนี้ เราดูพม่าก็จะเห็นว่าเขาเน้นความมั่นคงในประเทศ เน้นแก้ปัญหาภายใน ส่วนเราโชคดีที่มีในหลวงรัชกาลที่ 9 รัชกาลที่ 10 มีสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีรัฐบาลที่ดีในหลายยุคหลายสมัยที่พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีความเข้มแข็งในภูมิภาค นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ ในแต่ละประเทศก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุน ถ้าพิจารณากระแสโลก เขาประกาศกันไปแล้วว่าจะมี renewable 100% ในปีนั้นปีนี้ อย่างเยอรมนี ค.ศ.2030 เขาจะใช้ renewable 100% แล้วใช้ conventional เป็นแบ็คอัพ แต่เรายังพึ่งพิง นี่เพิ่งประกาศออกมาว่า พ.ศ.2580 เรายังใช้ conventional เกิน 50% เลย แล้วตอนนั้นค่าพลังงานจะเป็นอย่างไร The People: มองเห็นโอกาสอะไรในการเข้าไปลงทุนที่ญี่ปุ่น วันดี: เนื่องจากว่าญี่ปุ่นมีพลังงานนิวเคลียร์และใช้ LNG ซึ่งทั้งประเทศเขาใช้ 120,000 เมกะวัตต์ ส่วนไทยใช้ประมาณ 40,000 เมกะวัตต์ ซึ่งในจำนวน 120,000 เมกะวัตต์ของเขา ใช้พลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 25,000 เมกะวัตต์ แล้ววันนี้พลังงานนิวเคลียร์เขาเป็นศูนย์เพราะเกิดสึนามิในปี 2011 ไม่ใช่เพราะไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่เป็นอุบัติเหตุทางธรรมชาติที่เกิดสึนามิแล้วกระแสน้ำอัดเข้ามาจนเตาเสียหาย ตรงนี้ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเลือกเอาพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาแทน เขาเปิดพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 60,000 เมกะวัตต์ ลองคิดว่าพลังงานนิวเคลียร์เขาหายไป 25,000 เมกะวัตต์ ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์คือ 24 ชั่วโมง ถูกมั้ย แล้วแทนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ double ขึ้นมา เพราะมันใช้เวลากลางวัน ดังนั้นญี่ปุ่นก็อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานจากสิ่งที่เคยเป็น มาอยู่อาศัยกับ renewable เราไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Tottori Yonago Mega Solar Power Plant ที่เมืองทอตโตะริ มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2559 และตอนนี้กำลังพัฒนาอีกโครงการคือ Ukujima Mega Solar Project ที่เมืองนางาซากิ กำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 48,000 ล้านบาท แต่เราไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เราถือหุ้นประมาณ 18-19% เริ่มในเดือนมีนาคมปีนี้ (2562) และด้วยตัวโครงการที่ใหญ่มาก ทำให้ต้องใช้เวลา 3-4 ปี และอีกโครงการที่เราเริ่มพัฒนาคือแถวๆ เมืองฟูกูโอกะ กำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มในปีนี้ด้วยเหมือนกัน ตอนนี้ต้องเตรียมแผนเรื่องการลงทุนต่างๆ ทั้งหลาย The People: ความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นมีผลต่อการลงทุนมากน้อยแค่ไหน วันดี: แสงอาทิตย์ของเขาน้อยกว่าเรา 25% หมายความว่าเราต้องลงทุนกับอุปกรณ์ต่างๆ เยอะขึ้น สิ่งสำคัญที่บอกไปคือนโยบายภาครัฐสำคัญ คือเขาออกมาชัดเจนว่าเชิงพาณิชย์เท่านี้ ระยะเวลาเท่านี้ คือเราไปลงทุน กำไรน้อยไม่ว่า แต่ต้องไม่ขาดทุน ไม่เจ๊ง ถ้าเจ๊งหรือขาดทุนก็นำพาประโยชน์ผู้ถือหุ้นให้เสียไปด้วย ข้อเสียเปรียบของเขาคือมี flat land (ที่ราบ) น้อย เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ต้องเลือกใช้เกาะที่เป็นภูเขาทั้งหลายเอามาใช้เป็นฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ ก็เป็นพื้นที่ภูเขาเสียครึ่งหนึ่ง สนามกอล์ฟส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นก็อยู่บนพื้นที่ภูเขา ก็เท่ากับว่าตอนนี้พื้นที่สนามกอล์ฟเกือบทั้งประเทศกลายมาเป็นฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ The People: มีประเทศไหนที่เรามองเห็นโอกาสการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์อีกบ้าง วันดี: คือถ้าคิดจะไปช่วงนี้ก็เวียดนาม ลาว แต่เวียดนามก็ยังไม่ bankable ยังไปกู้เงินไม่ได้ ซึ่งถ้ากู้เงินไม่ได้เราต้องระดมทุนเองหมดเลย ส่วนลาว เขามีน้ำเยอะมาก หลายบริษัทก็เข้าไปทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่สิ่งสำคัญคือยังไม่ค่อยมีการปักเสาพาดสาย ถ้าสร้างไฟฟ้าจากเขื่อนต้องมีการลงทุนเรื่องสายส่ง แต่เขายังไม่ค่อยมี ถนนก็ยังไม่ค่อยดี ดังนั้นการทำโซลาร์ฟาร์ม จุดนี้เมืองนี้ จุดนี้ก็เมืองนี้ ซึ่งเขามีสายส่งของเขา แต่ยังไม่เยอะ ดังนั้นลาวจึงเป็นประเทศในแผนที่เราวางไว้ว่าจะไป ฟาร์มหนึ่งก็เล็กๆ อาจจะ 2, 3 หรือ 4 เมกะวัตต์ [caption id="attachment_3551" align="aligncenter" width="1200"] แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์บนสำนักงานใหญ่ของ SPCG ย่านทองหล่อ[/caption] The People: SPCG มีแผนจะขยายกำลังการผลิตในเมืองไทยให้มากกว่า 260 เมกะวัตต์หรือไม่ วันดี: ยาก อยู่ที่ภาครัฐล้วนๆ ถ้าเกิดว่าไม่ออกนโยบายมาเอื้อ ตอนนี้สิ่งที่ทำคือ solar farm และ solar roof เราทำอย่างหลังมา 3-4 ปีแล้ว ซึ่งอย่างหลังเราขายได้ 1,500-1,600 ล้านบาท ก็ประมาณ 30% ของรายได้รวมทั้งหมด และเราก็จะขยายตรงนี้ไปเรื่อยๆ มองภาพว่าถ้าทุกคนติดตั้ง solar roof ใช้เอง ก็เป็นการประหยัดค่าไฟ แต่ตอนนี้ที่ติดตั้งเยอะคือโรงงาน เพราะฉะนั้นส่วนที่ประหยัดได้ก็ทั้งค่าไฟ ภาษี ก็กลายเป็นผลตอบแทนของโรงงานนั้นๆ ส่วนภาคครัวเรือนสำหรับเรายังน้อยอยู่ ยังแค่ 500-600 หลังคาเรือน The People: องค์กรต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีอย่างไร เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีก็ก้าวไปเร็วมาก วันดี: หยุดนิ่งไม่ได้เลย เราเอา IoTs มาใช้ เอา Big Data มาใช้ และเน้นกับคนยุคใหม่ ต้องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เราสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หาความรู้ ไม่ใช่เฉพาะสายงานตัวเอง แต่ต้องหาความรู้ด้านอื่นด้วยเพื่อเป็นการเปิดโลก อย่างที่บอกเสมอว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องปรับตัว ถ้าปรับตัวได้ไวก็จะยืนอยู่บนความเปลี่ยนแปลงนั้นได้โดยไม่ถูกกลืนไปก่อน ชีวิตตอนนั้นที่ออกจากงานไปทำหน้าที่อื่น แล้วพอกลับมาใหม่มัน disrupt นะ ทุกอย่างเปลี่ยนหมด ตัวเราเองต้องตามให้ทันด้วย และถ้าเราเปลี่ยนแปลงไปทัน ธุรกิจก็เจ๊ง เพราะฉะนั้นวันนี้ที่ conventional มาเป็น renewable หลายคนก็ยังยากที่จะยอมรับ เพราะเขาคุ้นแต่กับ conventional แต่ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้รับการเปลี่ยนแปลงของโลก The People: หลักในการบริหารคน? วันดี: พยายาม utilize ความคิดเขาให้เยอะๆ ให้เขามีส่วนร่วมในการคิดและกระตุ้นให้เขาแสดงออก ถ้าเขาคิดเป็นเราก็เบา ถ้าเขาสามารถแยกแยะ วิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไขได้ องค์กรก็จะยั่งยืน The People: เคยติดหนึ่งใน 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยของนิตยสาร Forbes แต่เป็นคนที่โลว์ โพรไฟล์ มาก? วันดี: คือจริงๆ สิ่งพวกนี้เราไม่ได้ยึดติด เวลาทำงาน หน้าที่ของเราคือต้อง best achieve ในสิ่งที่ทำ อย่างที่ติดอันดับเพราะเขานับจากหุ้นที่ถือ ราคาหุ้น ซึ่งบางเรื่องก็ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เป็นจริง ถูกมั้ย ในชีวิตของเรายังมีสินทรัพย์อื่นๆ มากมาย เขาไม่ได้คิดนะ เขาจะดูจากมูลค่าหุ้นอย่างเดียว ซึ่งมันมีปัจจัยเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือทำความรับผิดชอบของเราให้ดีที่สุด ไม่ต้องสนใจอะไร อย่างที่บอกว่าเริ่มธุรกิจนี้ไม่ได้เริ่มจากเงิน ไม่เคยคิดว่าถ้าประสบความสำเร็จจากโครงการที่ 1 เราจะต้องได้เงินเท่าไหร่ ไม่คิดเลย คิดแต่ว่าเราจะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย งานวิ้งๆ วับๆ ก็ไม่คุ้น คือถ้าให้ไปออกงานหรูก็ไม่คุ้น เน้นออกงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม ถ้าพูดแล้วมีประโยชน์กับคนอื่นก็ไป แต่ถ้าไปงานเฮฮาก็อาจแวะไปสักแป๊บหนึ่งไปทักทาย แล้วกลับบ้านอ่านหนังสือ The People: ชีวิตช่วงที่เป็นคุณนายผู้ว่าฯ แตกต่างจากตอนนี้มากไหม วันดี: ชีวิตช่วงนั้นคนละเรื่องกับธุรกิจเลย แต่ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็จะทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ที่สุด ตอนนั้นไปนครนายกเป็นจังหวัดแรก ปี 2554 สักพักหนึ่งน้ำท่วมพอดี หน้าที่ของภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีเงินเดือน แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานตำแหน่งนายกเหล่ากาชาดจังหวัด ทำหน้าที่ดูแลแทนสภากาชาดไทยในพื้นที่นั้นๆ เช่น คนป่วยติดเตียง ผู้ด้อยโอกาส ทุกอย่างที่จะช่วยงานสังคมสงเคราะห์ได้ คือเป็นหลังบ้านให้ผู้ว่าฯ เราก็ทำของเราไปให้ดีที่สุด นครนายกไม่ติดทะเล ก็ซื้อกะปิมาแจกชาวบ้าน เวลาเขาทำกับข้าวอย่างน้อยก็ได้กะปิมาอย่างหนึ่งแล้ว นั่นคือชีวิต ภารกิจ หน้าที่ตรงนั้น ก็ต้องเอ็นจอยกับสิ่งที่ทำ แล้วสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเป็นพระอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครนายกพอดี ช่วงนั้นน้ำท่วม ก็มีโอกาสถวายงานรับใช้เจ้านาย ทำให้ซาบซึ้งว่าพระองค์ทรงเสียสละมากกว่าเป็นล้านๆ เท่าเพื่อคนไทย ตั้งแต่นั้นมาเลยตั้งใจว่าจะทำเพื่อสังคมมากที่สุด The People: ทุกวันนี้นอกจากบทบาททางธุรกิจ ยังเป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์อีกด้วย? วันดี: ต้องบอกว่าขนาดเราเป็นพสกนิกรก็ยังไม่รู้จักพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ เท่าไหร่ แต่พอมาทำงานเป็นประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ต้องศึกษาเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น หนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระองค์คือทรงอนุรักษ์ผ้าไทย ทรงทำให้ผ้าไทยกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ้าไทยสมัยก่อนนี่คนไม่อยากใส่เพราะเชย ใส่ยาก แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนอยากใส่ ท่านทรงเป็นแสงสว่างของสตรีไทยเรื่องการรื้อฟื้นผ้าขึ้นมา ผ้าผืนหนึ่งคือลมหายใจของผู้หญิงเลยนะ เพราะกว่าจะทอผ้าออกมาหนึ่งผืนต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน แล้วผ้าทอคือการสะท้อนวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นหนึ่งผืนของผ้าไทยที่เราซื้อคือชีวิตของผู้หญิงหนึ่งคน เป็นการสร้างคุุณค่า สร้างรายได้ สร้างโอกาสที่ดีขึ้นให้เขา พระองค์ทรงสวมใส่ผ้าไทยเป็นกิจวัตร พระบรมวงศานุวงศ์ก็ใส่ แล้วยิ่งรัชกาลที่ 10 ทรงโปรดฯ ให้จัดงานอุ่นไอรัก ก็ยิ่งทำให้คนหันมาสวมใส่ชุดไทย ผ้าไทย กันเยอะขึ้น อย่างตัวเองเมื่อก่อนไม่เคยซาบซึ้ง ที่ใส่ก็เพราะเป็นคุณนายผู้ว่าฯ ต้องใส่ผ้าไทย ใส่ไปตามหน้าที่ แต่เมื่อเริ่มศึกษาผ้าไทยก็ยิ่งชอบ เลยเพิ่งจะสนใจจริงจังเมื่อ 5 ปีนี้เอง ไปไหนก็ซื้อมาสะสม ซื้อมาใส่ จนตอนนี้มีเป็นพันผืนแล้ว และในบทบาทของประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ก็ส่งเสริมผ่านการจัดนิทรรศการและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง วันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสตรีไทย ก็จัดงานเทิดทูนสตรีไทยดีเด่นทั่วประเทศประมาณ 150 คน สตรีไทยนี่เป็นผู้เสียสละเยอะมาก เหมือนปิดทองหลังพระ บางคนเป็น “ครูหลวง” คือครูผ้าที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงให้ไปสอนเรื่องผ้าในวังจิตรลดา พอเกษียณแล้วก็กลับบ้านไปเปิดสอนฟรี เราก็เชิญครูเหล่านี้มาเป็นแบบอย่าง สมเด็จพระเทพรัตนฯ ก็พระราชทานรางวัลสตรีไทยดีเด่น เราก็เชิดชูประวัติท่านเหล่านี้ กิจกรรมอื่นๆ ก็มีอย่างเชิญร้านค้าที่ทอผ้ามาจำหน่าย จัดแฟชั่นบ้าง แล้วเรามีองค์กรสมาชิก 200 กว่าองค์กร เราก็จะไปทุกภาค สนับสนุนให้ทุกองค์กรจัดกิจกรรม รวมทั้งจัดกิจกรรมในต่างประเทศด้วย The People: นำความเชี่ยวชาญทางธุรกิจเข้าไปช่วยเหลืองานสังคมด้วยไหม วันดี: ตอนนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะภริยาของอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องไปเป็นประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมฯ นโยบายท่านนายกฯ มีเรื่องประเทศไทยไร้ขยะ นโยบายท่าน มท.1 มีเรื่องแยกขยะก่อนทิ้ง ดังนั้นก็จะมีเรื่องการเก็บขยะ แยกขยะจากครัวเรือนแล้วไปทำถังขยะเปียก เราก็ไปต่อยอดเรื่องการช่วยลด CO2 ซึ่งมีการทำ MOU กับจุฬาฯ และช่วยประสานให้เกิดกระบวนการให้ได้เป็น Carbon Credit เราจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา หรือเอามาเป็น trainer of the trainer ให้กรมส่งเสริมฯ มีความเข้าใจยิ่งขึ้น เมื่อได้ Carbon Credit อนาคตก็ขายได้ ถึงจะไม่แพง แต่เงินก็กลับไปชุมชน น่าจะเสร็จภายในปีนี้ 2562 คือถ้าการแยกขยะสร้างประโยชน์ได้จริงทั้งกับชุมชนและสภาพแวดล้อม ชาวบ้านก็อยากทำ แต่ถ้าเขาคิดว่าทำไปแล้วได้อะไร เขาก็ไม่อยากทำ หรืออย่างตอนไปเป็นคุณนายผู้ว่าฯ อยู่ชัยนาท ก็เอาเงินที่บ้านไปซื้อจักรยาน 200 คัน แจกโรงเรียนในเมือง จากนั้นก็ซื้อเพิ่มอีก รวมแล้วน่าจะซื้อทั้งหมดไม่น้อยกว่า 500 คัน เด็กนักเรียนก็ขี่ไปขี่มา ผู้ใหญ่เห็นก็อยากปั่นบ้าง เกิดเป็นบรรยากาศของการปั่น ก็ได้เรื่องสุขภาพและลดมลพิษ จนกระทั่งเป็นผู้ว่าฯ คนเดียวที่สามารถทำโครงการ 12 เดือนแห่งการปั่นได้เป็นอันดับหนึ่งของโครงการ ไบค์ ฟอร์ มัม ได้คนร่วมปั่นเกือบหมื่น ปั่นริมน้ำ ปั่นฟูลมูน ปั่นกันสนุกสนาน ก็มีส่วนร่วมสร้างให้ชัยนาทเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ The People: Work-life balance ในมุมมองของตัวเองคืออะไร วันดี: ชีวิตของเราต้องมีครอบครัวกับภาระงานในหน้าที่ สำหรับครอบครัวต้องจัดสรรอย่าให้บกพร่องหรือให้บกพร่องน้อยที่สุด ไม่ใช่ไม่บกพร่องเลย คือบางทีงานก็เป็นอย่างงี้ เราก็ต้องทุ่มเท เหนื่อยทั้ง 2 อย่าง บางทีวันเสาร์ก็ขอทำงานบริษัท ส่วนวันอาทิตย์ก็ไปกับครอบครัว ทานข้าวกับสามีและลูกบ้าง ไปต่างจังหวัดบ้าง ที่สำคัญต้องจัดสรรเวลาให้ตัวเองด้วย เป็นคนชอบอ่านหนังสือมากๆ และ Google ก็ถือว่าเป็นครูของเราคนหนึ่ง เวลาอ่านหนังสือหรือหาความรู้อะไรก็จะไม่อ่านแค่มุมเดียว แต่จะหาข้อมูลรอบด้าน นอกจากนี้ต้องอย่าหยุดเรียนรู้ ถ้ามีเวลาก็จะไปเรียนสารพัดที่อยากเรียน อย่างตอนนี้กำลังชอบเรื่อง landscape อยากหาหลักสูตรสั้นๆ อย่างเราอยากพัฒนาที่ดินของเรา จะปรับภูมิทัศน์ยังไงให้สวยงาม ก็ต้องไปเรียนรู้ The People: ให้กำลังใจกันในฐานะคู่ชีวิตอย่างไรบ้าง วันดี: งานแม่บ้านคือเป็นหลังบ้าน ก็ต้อง honour ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อะไรที่เราช่วยได้เราก็ทำเต็มที่ เพราะหน้าที่ของเขาคือหน้าที่ทางราชการ อีก 5-6 ปีก็เกษียณแล้ว ในชีวิตทำงานมาสัก 35 ปีเห็นจะได้ เพราะฉะนั้นอีก 5 ปีคือระยะเวลานิดเดียว ต้องทำให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากสุดต่อประเทศชาติในหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา ไม่ว่าเขาจะตำแหน่งใดก็ตาม จะตอนเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ เราก็จะส่งเสริมสนับสนุน เรามีศักยภาพมากกว่าหลายครอบครัว เราก็ให้ แม้ว่าต่อไปสามีจะเกษียณ แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีและช่วยชาติบ้านเมืองต่อไป