16 มี.ค. 2565 | 13:00 น.
“มันจะนานแค่ไหนเราก็ต้องอยู่ เราถอยไม่ได้แล้ว” เป็นเวลายาวนานกว่าสองเดือนนับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ ‘เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย’ หรือที่ใครหลายคนอาจคุ้นชินในนาม ‘ม็อบชาวนา’ รวมตัวเกษตรกรกว่า 36 จังหวัดมุ่งตรงสู่กรุงเทพมหานครเพื่อปักหลักยื่นรายชื่อให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ค้างเติ่งแก้ไม่หายมานานหลายปี หลังจากสำเร็จลุล่วงในการยื่นแผนเข้าสภาและผ่านมติในวันที่ 2 เมษายนปีก่อนหน้าให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เกษตรกรมากมายหลายคนก็ทยอยกันเดินทางกลับถิ่นฐานของตนเพื่อรอการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากการช่วยเหลือของรัฐบาล เพื่อคุณภาพชีวิตและการทำมาหากินของเกษตรกรที่จะมีพื้นที่หายใจได้มากขึ้น จากเดิมที่สภาพการเป็นอยู่ถือว่าจมมิดไร้โอกาสแห่งการลืมตาอ้าปาก “ถ้าสิ้นปี 2564 นี้เราคงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว” แต่ทว่ากาลเวลาก็ล่วงผ่านไป สามเดือนก็แล้ว หกเดือนก็แล้ว สิ่งที่ผ่านมติเห็นชอบ ณ วันนั้นยังคงไม่คืบหน้า มีเพียงหนี้สินของการลงทุนที่ยังคงงอกงามไม่หยุดพัก เจ้าหนี้อย่าง 4 ธนาคารของรัฐ (ซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ที่ก็ยังทวงถามถึงหนี้สินที่ค้างอยู่ ในขณะที่การโอนหนี้สินโดยรัฐบาลที่ผ่านมติเห็นชอบก็ยังไม่มีการดำเนินการไปมากกว่าเดิม เหล่าเกษตรกรจึงตกลงกันว่าหากสิ้นปี พ.ศ. 2565 แล้วยังไม่มีอะไรคืบหน้า การมุ่งตรงเข้าสู่กรุงเทพมหานครเพื่อกดดันรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาก็คงเป็นเส้นทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง “พอเรามาจริง ๆ เราถึงได้รู้ว่าปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ ก็เห็นชอบไปอย่างนั้น ไม่ได้มีใครดำเนินการต่อ” ถ้อยคำข้างต้นกล่าวโดย ‘ปิ่นแก้ว แก้วสุขแท้’ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หนึ่งในแกนนำม็อบชาวนา ที่เคยปักหลักในกรุงเทพมหานครเมื่อปีก่อนหน้า และจำต้องกลับมาอีกครั้งเพื่อความอยู่รอดของอาชีพพี่น้องเกษตรกรชาวไทย และดูเหมือนว่าคราวนี้ การหันหลังกลับโดยปราศจากความคืบหน้าจากรัฐบาลคงไม่อยู่ในตัวเลือกของพี่น้องเกษตรกรในม็อบชาวนา ด้วยเหตุนี้เอง The People จึงมุ่งตรงไปที่ใต้ทางด่วนพระรามที่ 6 หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อไปหาคำตอบกับป้าปิ่นแก้วถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ม็อบชาวนา และอนาคตของเกษตรกรไทยที่ค่อย ๆ แหลกสลายลงไปโดยช้า ๆ จากการถูกเมินเฉย ไม่เหลียวแล และไม่ให้ความสำคัญจากรัฐบาล เกษตรกรและวังวนหนี้สินที่เพิ่มพูนไม่รู้จบ “มันผิดกับเกษตรกรต่างประเทศนะ เขาทำแล้วเขามีอนาคต แต่เกษตรกรเมืองไทย ทำแล้วไม่มีอนาคต “ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้” แม้จะถูกเรียกว่าม็อบชาวนา แต่แท้จริงแล้วกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยคือจุดศูนย์รวมของเกษตรกรทั้ง 36 จังหวัดที่มาในหลายประเภท ตั้งแต่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ จนถึงปศุสัตว์ แต่ทุกคนล้วนมีจุดร่วมจุดหนึ่งที่เหมือนกันนั่นก็คือปัญหา ‘หนี้สิน’ ที่เปรียบเสมือนดั่งวังวนที่กักขังเกษตรกรไทยกับชีวิตที่ลำบากยากจน ป้าปิ่นบอกเล่ากับเราว่าเกษตรกรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้ หากถามว่าทำงานแล้วเหตุใดจึงเป็นหนี้? คำตอบก็คือ ก็เพราะทำงาน…จึงเป็นหนี้ เหตุเพราะผลผลิตที่จำต้องขายในราคาที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ไร้ซึ่งอิสรภาพในการจะควบคุมระดับราคาเอง เพราะจะถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลางไว้แล้ว “ราคาขายเหมือนถูก fixed ไว้แล้ว” ป้าปิ่นกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน ราคาต้นทุนการผลิตอย่างเช่นปุ๋ยก็ขยับขึ้น จากราคา 700 - 800 บาทมาเกือบเท่าตัว กลายเป็น 1,400 บาท และน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการผลิตก็ขึ้นอย่างไร้การควบคุม แม้ว่าราคาข้าวจะอยู่ที่ 6,000 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนกลับขยับขึ้นจนหากวัดข้าวต่อตันแล้วอาจมีต้นทุนการผลิตสูงถึง 7,000 - 8,000 บาทต่อตัน ยิ่งทำจึงยิ่งขาดทุน คำถามถัดมาที่หลายคนอาจผุดขึ้นมาในใจ “หากทำแล้วขาดทุน ทำไมจึงทำ?” ป้าปิ่นตอบกับเราในประเด็นนี้ว่า “เพราะต้องกิน เพราะต้องใช้ หากไม่ทำก็ไม่มีเงิน” อาจถูกต้องเมื่อมองว่าการไม่เพิ่มหนี้ ก็คือการไม่ลงทุน แต่หากไม่ลงทุนก็คงไม่มีเงินมาจุนเจือหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน และหากไม่ทำต่อ เจ้าหนี้ก็จะมองว่าไม่มีอาชีพและไม่มีศักยภาพที่จะชดใช้หนี้ ด้วยสาเหตุเหล่านี้เองที่ทำแล้วขายได้เท่าไรก็ต้องจำใจทำ แม้ยิ่งทำแล้วหนี้สินจะเพิ่มพูนก็ตาม… “ทุกวันนี้ชาวนาทำงานส่งดอกเบี้ยอย่างเดียวนะ ไม่ถึงต้น เงินต้นยังคงเท่าเดิมอยู่ นาน ๆ ไป ส่งไม่ไหวดอกเบี้ยก็จะทบไปเรื่อย ๆ จนบางรายทบจนดอกเบี้ยเลยเงินต้นก็มี” สืบเนื่องจากการที่ชาวนาต้องลงทุนเพื่อผลผลิตแม้จะขาดทุน อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ‘ดอกเบี้ย’ แม้ว่าการทำงานเพื่อชดใช้หนี้จะเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับเกษตรกร แต่แม้หาเงินมาได้แล้วเกษตรกรหลายคนจ่ายได้เพียงดอกเบี้ยของหนี้สิน ไม่ใช่เงินต้น ป้าปิ่นเล่าว่าเริ่มต้นดอกเบี้ยของการกู้ยืมก็ร้อยละ 7 แล้ว สำหรับการกู้มาทำการเกษตร และหากไม่สามารถชำระได้ตรงตามกำหนดก็จะเพิ่มพูนไปตั้งแต่ร้อยละ 8 9 10 หรือแม้กระทั่งร้อยละ 15 ก็มี และต่อมาหากไม่มีเงินไปชำระก็จะถูกฟ้องยึดทรัพย์ ที่ดินที่สืบทอดและหวังจะส่งต่อให้ลูกหลานทำกินก็ถูกกลืนหายไปด้วยระบบโครงสร้างแบบนี้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หากติดตามข่าวม็อบชาวนา ‘กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542’ (กฟก.) ก็นับว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่ทุก ๆ คนที่ติดตามข่าวต้องได้ยิน เพราะนี่คือเหตุผลหลักของการมารวมตัวกันของชาวเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรถูกก่อตั้งมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก โดยป้าปิ่นเล่าว่าเกษตรกรที่นั่งกันอยู่ ณ ที่นี้ (หน้ากระทรวงการคลัง) ล้วนเป็นสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามจริงแล้วป้าปิ่นถือเป็นเกษตรกรที่เดินหน้าเคลื่อนไหวมาตลอด 20 ปีในหลาย ๆ รัฐบาล โดยหากไม่ย้อนไปไกลมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 มีการเคลื่อนไหวขอให้กองทุนฟื้นฟูทำโครงการแก้ไขหนี้สินปัญหาเกษตรกรในส่วนที่เป็นสมาชิก และมีการร่างแผนช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สินใน 4 แบงก์รัฐเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีการทำแผนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนคณะกรรมการกองทุนก็ได้ลงมติเห็นชอบในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2564 และเหตุการณ์นี้ก็จะไปต่อกับย่อหน้าที่สองที่เรากล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ตาม หากเล่าแค่นี้ก็คงยังไม่เคลียร์ คำถามต่อมาก็คือว่า “ทำไมต้องกองทุน?” “กองทุนจะช่วยได้อย่างไร?” ก่อนอื่นป้าปิ่นบอกเราว่า “แต่เราไม่ได้บอกให้รัฐบาลมายกเลิกหนี้ให้เรานะ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนเจ้าหนี้” การเรียกร้องให้ขอความช่วยเหลือในครั้งนี้ไม่ใช่การขอให้รัฐบาลยกเลิกหนี้ให้แต่อย่างใด แต่เป็นการพยายามเปลี่ยนระบบให้ ‘แฟร์’ กับเกษตรกรที่ต้องทนทุกข์อยู่กับกับดักชาวนาอันไร้ทางออก โดยเป้าหมายในครั้งนี้คือการย้ายหนี้จาก 4 ธนาคารรัฐไปสู่กองทุน ให้กองทุนชำระหนี้ให้ก่อนแล้วเกษตรกรค่อยไปชำระหนี้กับกองทุนอีกทีโดยปราศจากดอกเบี้ย พร้อมสัญญาอีก 15 - 20 ปี นี่จะเป็นการเพิ่มช่องว่างในการหายใจให้เกษตรกรไทยที่จมอยู่ในหนี้สิน มากไปกว่านั้นสิ่งที่ม็อบชาวนามาเรียกร้องก็คือการที่ให้เจ้าหนี้ (ธนาคารรัฐ) ตัดดอกเบี้ยให้ ในส่วนของเงินต้นครึ่งหนึ่งก็ขอให้รัฐชดเชยให้กับเจ้าหนี้ ในส่วนของเงินต้นอีกครึ่งหนึ่งที่เหลืออยู่ทางเกษตรกรก็จะให้กองทุนฟื้นฟูชำระหนี้ที่กองทุนโดยปราศจากดอกเบี้ยอีกทีหนึ่ง โดยป้าปิ่นบอกว่าการทำแบบนี้จะเป็นการแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกร เพราะหากยกตัวอย่าง เป็นหนี้สองแสน ดอกเบี้ยอีกหนึ่งแสน รวมเป็นสามแสน หนี้สินก็จะยังคงวนเวียนอยู่อย่างนั้น มีอยู่สิ่งเดียวที่จะหายไปคือทรัพย์สินที่ดินที่จะค่อย ๆ ละลายหายไป เกษตรกรรุ่นสุดท้าย (?) อาจไม่ผิดมากนักถ้าเราจะนิยามภาวะนี้ว่าเป็นการค่อย ๆ สูญพันธุ์ของเกษตรกรไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่ากระดูกสันหลังของชาติ เพราะกระดูกส่วนนั้นช่างผุกร่อนเกินจะค้ำชูชาติเราได้อีกต่อไป รวมถึงขาดคนที่อยากจะมาสานต่ออาชีพเกษตรกรที่ต้องเก็บเกี่ยวทั้งผลผลิตและหนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพราะการผลิตที่ไม่คุ้มทุน แถมยังขาดการเหลียวแลจากรัฐบาล “ชุดนี้ตายหมดก็ไม่มีใครทำนาให้พวกหนูแล้ว” (หัวเราะ) ป้าปิ่นกล่าวข้อความข้างต้นด้วยความตลกร้าย เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธได้ยาก ชาวเกษตรกรที่มาปักหลักอยู่ล้วนมีอายุมากกว่า 60 ปีด้วยกันทั้งนั้น กระดูกสันหลังของชาติเหล่านี้นับวันยิ่งหมดแรงไปเรื่อย ๆ ป้าปิ่นบอกว่ามีคนเคยบอกว่าอีก 20 ปีจะไม่มีเกษตรกรมาทำนาแล้ว แต่เธอไม่เห็นด้วย เพราะแท้จริงแล้วมันสั้นกว่านั้น อาจจะ 10 ปี หรืออย่างมากก็คง 15 ปี คงไม่มีใครอายุ 80 ปีแล้วยังทำเกษตรกรรมอยู่ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เกษตรกรทุกคนก็ล้วนส่งลูกหลานให้มีการศึกษาแล้วส่งไปทำงานในเมืองกันเสียหมด เพราะไม่มีอะไรหลงเหลือที่น่าสานต่ออีกแล้วกับวงการเกษตรกรรมในประเทศไทย มีแต่หนี้สินที่รอคอยอยู่หากรับช่วงต่อ ป้าปิ่นเล่าว่ามีคนเคยมาถามเธอว่า “จริงไหมที่เกษตรกรจนจนไม่มีข้าวจะกิน?” คำถามนี้ไม่หนีจากความจริงนัก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเงินจุนเจือจากลูกหลานที่ส่งเข้าไปทำงานในเมือง เพราะทำนาครั้งหนึ่งก็เป็นหนี้อยู่แล้ว แต่หากครอบครัวไหนที่ไม่มีลูก พวกเขาก็ไม่เหลืออะไร “แต่ก็อย่างว่าแหละ พวกเราไม่มีโอกาส ไม่มีศักดิ์มีศรีที่จะไปเรียกร้องอะไรให้ได้มากไปกว่านี้แล้ว” แม้จะพูดในเชิงตัดพ้อ แต่ก็ใช่ว่าเวลานี้มันจะสายเกินไปสำหรับการแก้ไข ป้าปิ่นยังคงนั่งอยู่หน้ากระทรวงการคลังด้วยความหวังกับพี่น้องเกษตรกรเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของตัวพวกเขาเองและลูกหลาน ป้าปิ่นยังนั่งเล่าและออกความคิดเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาอีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าปัญหาดูหนักหนาเกินแก้ไข แต่หากเกิดการร่วมมือกันจากประชาชน หากรัฐบาลให้ความสนใจกับปัญหาปากท้องกับพี่น้องเกษตรกรและมุ่งหน้าแก้ไขมันอย่างจริงจัง ไม่แน่เราอาจจะสืบสานความพิเศษของชาวนาไทยให้อยู่คู่ประเทศของเราไปได้อีกนานแสนนาน แต่นี่อาจเป็นเสียงร้องขอความช่วยเหลือเฮือกสุดท้ายของพี่น้องเกษตรกรชาวไทย…