19 มิ.ย. 2565 | 15:30 น.
10 ปีก่อนประตูแห่งความขัดแย้งใน ‘ไนจีเรีย’ ค่อย ๆ แง้มออกและขยายไปทั่วพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ขณะที่ในปัจจุบันไฟแห่งความไม่ลงรอยยังคงลุกลามไปทั่วพื้นที่โดยไม่มีท่าทีว่าจะยุติลงง่าย ๆ ราวกับว่าพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ เป็นเพียงสมรภูมิรบที่เอาไว้ใช้ต่อสู้เพื่อช่วงชิง ‘อำนาจ’ เหนือแผ่นดินมาไว้ครอบครองเท่านั้น
แม้ความหวังที่จะได้รับความสงบกลับคืนมาจะเลือนรางมากเพียงใด แต่ ‘เปล - เปมิกา วรรธนะพันธุ์’ เจ้าหน้าที่ Protection of Family (PFL) Links ผู้ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือคนพลัดถิ่นชาวไนจีเรีย จากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC ประจำสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ กลับมองว่าสิ่งเหล่านี้สามารถหาทางออกร่วมกันได้ เพียงแค่ต้องอาศัยความเป็นมนุษย์เข้ามาช่วย
“เราคิดว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะแสดงจุดยืนของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันห้ามไม่ได้ที่จะให้ทุกคนไม่ขัดแย้งกัน แต่ถ้าเราลองเอาความเป็นมนุษย์เข้าไปบรรเทา และเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาเป็นคนเหมือนกัน มีเกียรติมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็จะไม่กระทำกับเขาอย่างที่รุนแรง อย่างที่เราไม่ควรจะกระทำ”
คำตอบที่เรียบง่ายของเธอค่อย ๆ พรั่งพรูออกมา ราวกับว่าสิ่งเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ภายในจิตใจ เพราะเธอตอบคำถามเราแทบทันที โดยไม่ต้องใช้เวลาไตร่ตรองหรือเรียบเรียงประโยคให้สวยหรู นี่คือความสัตย์จริง ความจริงแท้ที่เธอเผยออกมาจนหมดเปลือก ว่าการทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ร่วมกับ ICRC องค์กรด้านมนุษยธรรมที่พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก คือสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตเธอเข้าอย่างจัง
The People พูดคุยกับเปล - เปมิกา หลังจากเธอเดินทางกลับจากการทำงานภาคสนามที่ไนจีเรียไปเมื่อต้นปี 2022 เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ท่ามกลางคำถามว่าคนพลัดถิ่นคือใคร แล้วเหตุผลอะไรทำไมเราถึงต้องช่วยเหลือพวกเขา เพราะอย่างน้อยประสบการณ์ของเธอคงพอช่วยเราไขความกระจ่างได้บ้าง ก่อนที่ภารกิจใหม่จะเข้ามาคว้าตัวเธอไปอีกรอบ...
มุ่งสู่ไนจีเรีย
ไนจีเรียคือประเทศที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก มีประชากรกว่า 200 ล้านชีวิตอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แต่ครั้นจะให้นึกภาพว่าชาวไนจีเรียมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร หลายคนคงนึกไม่ออก หรือบางทีภาพแรกของพวกเขาอาจจะคิดว่า ไนจีเรีย = แอฟริกา และแอฟริกาก็คือแอฟริกา ทุกประเทศที่อยู่ในทวีปแห่งนี้ก็คือแอฟริกา แม้หลักการเหมารวมจะทำให้เรื่องทุกอย่างดูง่ายดายไปหมด แต่แอฟริกา ≠ ไนจีเรีย และไม่ใช่ทุกประเทศในแอฟริกาจะมีแต่ความขัดแย้งและความยากจน
เปลยอมรับกับเราตามตรงว่าเธอเองก็คิดภาพไม่ออกเช่นกันว่า จุดหมายปลายทางที่เธอยอมเดินทางเกือบ 12 ชั่วโมงจะมาพบเจอกับอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดในใจของเธอคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่พลัดพรากจากครอบครัว ให้กลับคืนสู่อ้อมกอดของคนที่พวกเขารักอีกครั้ง
“เราเดินทางไปถึงในช่วงฤดูฮามาตัน เป็นช่วงที่ฝุ่นจากทะเลทรายซาฮาราพัดเข้ามาที่แถบแอฟริกาตะวันตกพอดี ท้องฟ้าที่เคยเห็นเป็นสีฟ้าก็เปลี่ยนเป็นสีแดงจากฝุ่นทั้งหมด” เธอเล่าความทรงจำแรกทันทีที่ไปเยือนเมืองอาบูจา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไนจีเรียให้เราฟัง พร้อมกับยกไม้ยกมือทำท่าประกอบว่าเนื้อตัวเธอเปรอะเปื้อนไปด้วยฝุ่นจากทะเลทรายมากขนาดไหน
แต่เมื่อมองกลับมาที่หน้าที่ที่เธอได้รับมอบหมาย ปัญหาเรื่องฝุ่นก็กลายเป็นเรื่องเล็กจิ๋ว เพราะคนพลัดถิ่นชาวไนจีเรียอีกนับแสนนับล้านชีวิต กำลังรอคอยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากเธออยู่
คนพลัดถิ่นคือใคร - เราถาม “คือคนที่จำเป็นหรือถูกทำให้ต้องออกจากบ้านจากชุมชนที่เป็นถิ่นที่อยู่เดิมของเขา โดยเฉพาะที่เป็นผลจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง ภัยพิบัติ เพื่อเอาชีวิตรอด หรือเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิต การหาเลี้ยงชีพ ไปจนถึงการเสาะแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา” เปลอธิบายให้ฟังด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
งานที่เธอทำส่วนใหญ่จึงเป็นการลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับคนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในพื้นที่ เพราะพวกเขาต้องเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของบ้านเป็นคนพลัดถิ่นโดยไม่ทันตั้งตัว เนื่องจากความไม่ลงรอยระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง “งานที่เราทำก็คือการลงไปพูดคุย ช่วยโทรศัพท์ ไปจนถึงการติดต่อประสานงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการพลัดพรากจากกัน บอกพวกเขาว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในอนาคต เช่นการปะทะกันในพื้นที่ พวกเขาจะต้องรับมืออย่างไร เพื่อลดการพลัดพรากให้ได้มากที่สุด
“ซึ่งคนส่วนใหญ่กว่า 3 ล้านชีวิตที่พลัดพรากมักเป็นเด็กและผู้หญิง เพราะว่าบางทีช่วงที่เกิดการปะทะ พ่อแม่หรือผู้ปกครองอาจจะออกไปทำงาน ทำให้เด็ก ๆ พลัดหลงไปคนละทิศคนละทาง
“และอย่าลืมว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เวลาหนีการสู้รบหรือการปะทะ เขาแทบไม่ได้คว้าอะไรติดมือไปเลย คิดแค่เพียงว่าจะต้องรีบหนีเอาชีวิตรอดเท่านั้น โทรศัพท์ก็ไม่มี บางคนก็จำเบอร์โทรศัพท์ของคนในครอบครัวไม่ได้ เราก็เลยต้องให้เขาเขียนจดหมายกาชาดส่งหาญาติ จากนั้นเราก็จะรับหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ ออกตามหาครอบครัวของพวกเขาต่อไป”
จดหมายแห่งความหวัง
การส่งจดหมายหากันในพื้นที่ความขัดแย้ง คงทำให้หลายฝ่ายตะขิดตะขวงใจไม่น้อย ซึ่งเราเองก็สงสัยไม่ต่างกันว่า มีเหตุผลอะไรที่ทำให้จดหมายจากองค์กรนี้ ถึงได้รับความไว้วางใจว่าจะไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง
ดูเหมือนเปลจะเข้าใจความสงสัยของเราที่ส่งออกไปผ่านทางสายตา เธออธิบายให้ฟังว่า จดหมายกาชาดไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกอย่างมีแบบฟอร์มให้กรอกอย่างชัดเจน และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นการเขียนถึงคนในครอบครัว
“จดหมายกาชาดเป็นจดหมายเปิดผนึก คนที่เขียนจดหมายจะต้องกรอกชื่อ - นามสกุลคนรับคนส่งอย่างชัดเจน ก่อนที่พวกเขาจะเขียน เราก็จะย้ำกับเขาอีกครั้งว่าให้เขียนหาครอบครัวเท่านั้น เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเป็นการบอกว่าตอนนี้ฉันอยู่ที่นี่นะ ฉันสบายดีนะ หรือบอกคิดถึงกัน จะไม่มีเนื้อหาที่อ่อนไหว ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”
แล้วเปลคิดว่าจุดยืนของตัวเองและ ICRC มีความหนักแน่นมากพอไหมที่จะบอกว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด - เราถามต่อ “ICRC มีจุดยืนที่ชัดเจนมาก เราเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าใครจะรบกันด้วยเหตุผลอะไร เราก็ไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งสิ้น เราอยู่ข้างพลเรือน คนที่ไม่เกี่ยวข้อง คนที่ไม่ได้สู้รบแล้ว” เธอตอบแบบไม่ต้องคิด เมื่อถูกถามถึงความเป็นกลางที่เธอและองค์กรพยายามสื่อสารออกมาให้โลกภายนอกเห็น
นอกจากการส่งจดหมายหรือโทรศัพท์หากันแล้ว ที่ไนจีเรียยังมีการลงพื้นที่เพื่อตามหาคนด้วยสมุดภาพแยกออกมาต่างหาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไนจีเรียมี caseload ที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา มีคนลงทะเบียนกับ ICRC เพื่อขอให้ทางองค์กรตามหาครอบครัวที่พลัดพรากสูงถึง 25,000 เคส ต่างจากประเทศไทยที่มีเพียง 130 เคสเท่านั้น
“คนในสมุดภาพจะเป็นคนที่มาลงทะเบียนกับ ICRC ที่เขาอนุญาตให้เรานำภาพของเขาไปเผยแพร่ในหนังสือ ในแต่ละภาพก็จะมีการเขียนกำกับไว้ด้านล่างว่า ‘ฉันตามหาพี่อยู่นะ’ ‘ฉันตามหาแม่อยู่นะ’ เราก็จะเอาสมุดภาพเหล่านี้ไปถามคนในชุมชน (Host Community) ดูว่ามีใครพอจะรู้จักคนในภาพบ้าง
“ถ้ามีคนรู้จักเราก็จะทำการยืนยันตัวตนอีกครั้งว่าถูกคนแน่ไหม จากนั้นก็ถามเจ้าตัวว่าต้องการจะกลับมาพบกับคนในครอบครัวไหม ถ้าต้องการเราก็จะจัดเตรียมตารางการเดินทางเอาไว้ให้ เพื่อให้เขาได้กลับคืนสู่ครอบครัวเดิมที่เคยพลัดพรากจากกันในอดีต”
แค่คนเดียวก็มีความหมาย
แต่โลกความจริงมักโหดร้าย ไม่มีเทพนิยายฝันหวานให้เราเชยชม เพราะไม่ใช่ทุกเคสยินดีจะกลับไปเจอครอบครัว และไม่ใช่ทุกเคสจะตามหากันจนเจอ อีกทั้งบางเคสก็อาจพลัดถิ่นมากกว่า 1 ครั้ง ทำให้การติดต่อกับญาติหรือคนในครอบครัวยิ่งลำบากมากไปอีก
โชคดีที่การลงพื้นที่ครั้งนี้ของเปล เธอได้ร่วมเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานในเหตุการณ์สำคัญ “เคสที่เราได้มีโอกาสช่วยเหลือคือเคสเด็กอายุ 18 ที่พลัดพรากจากครอบครัวไปนานถึง 10 ปี เราอยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมด ตั้งแต่ไปรับเขามาจากเฮลิคอปเตอร์บินพาเขามายังเมืองที่แม่เขาอยู่
“พอเราเห็นว่าเขาค่อย ๆ เดินไปหาแม่ เข้าไปกอด แล้วน้ำตาเขาก็ค่อย ๆ ไหลออกมา ภาพตรงหน้าทำให้เรารู้สึกว่ามันมีความหมาย แม้จะเป็นแค่คนเดียวที่เราช่วยได้ แต่มันก็มีความหมาย…
“ถึงจะเป็นแค่ครอบครัวเดียว แต่ว่าคนเหล่านี้ที่เรากำลังเจอ กำลังพูดคุยด้วย เขาก็คือแม่ของใครสักคน หรือลูกของใครสักคนเหมือนกัน ไม่อยากให้มองว่าคนที่ได้รับความขัดแย้งจะต้องอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทวีปใดทวีปหนึ่งเท่านั้น”
เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้เธอยังคงทำงานด้านนี้อยู่ เธอบอกกับเราว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่อยากทำงานด้านนี้ เพราะทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เขาก็คือ ‘คน’ เหมือนกันกับเรา ซึ่งคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ได้ มันไม่ได้เลือกว่าจะกระทบกับใครบ้าง เป็นผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนชรา ทุกคนได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด
“เขาก็เป็นคนเหมือนเรา”
ประโยคสั้น ๆ ของเธอดังก้องอยู่ในหัว เล่นซ้ำวนไปวนมา ใช่, เขาก็เป็นคนเหมือนเรา แต่ความขัดแย้งกับมนุษย์ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มาคู่กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราไม่ปฏิเสธความจริงข้อนี้ แต่ได้แต่หวังว่าคงจะดีไม่น้อยหากประตูแห่งความขัดแย้งถูกลงกลอนล็อกอย่างแน่นหนา อย่าได้แง้มออกมา
หวังว่าจะมีวันนั้น…วันที่ไม่ต้องมีคนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพียงเพราะความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง
หวังว่าสักวัน…เราจะได้เห็นภาพเหล่านั้น แม้จะดูห่างไกลเหลือเกิน