01 เม.ย. 2562 | 14:37 น.
“นิยายวิทยาศาสตร์มันก็จะฟังดูแบบนี้เหมือนหนังสือเรียนนะ แต่จริง ๆ มันอยู่กับเรามาตลอด โดราเอมอนก็ไซ-ไฟนะ คอปเตอร์ไม้ไผ่อะไรอย่างนี้ หนังฮอลลีวูดหนังที่ทำเงินเยอะที่สุดตลอดมาก็เป็นไซ-ไฟ หมดเลยนะ เช่น Star Wars, Star Trek, The Matrix, Men in Black ช่วงนี้ก็แบบพวก Avengers” คำว่า นิยายไซ-ไฟ (Sci-fi) หรือนิยายวิทยาศาสตร์ ถูกพ่วงมาด้วยมายาคติชุดหนึ่ง ในวันที่ผู้อ่านยังไม่เปิดประตูเข้าหามัน ด้วยความคิดที่ว่าอ่านยาก เหมือนหนังสือเรียน แต่ในความเป็นจริง ไซ-ไฟ แฝงอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปเรื่อยมาผ่านหนังสือ ซีรีส์ และภาพยนตร์ คนยุคหนึ่งชื่นชอบการเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบนโลกผ่านหนังอย่าง Back to the Future (1985) รู้จัก DNA อันเป็นที่มาของกำเนิดไดโนเสาร์ยุคใหม่ ผ่าน Jurassic Park (1993) หรืออาการการคลั่งไคล้สงครามจักรวาล Star Wars จากยุค 70 ถึงทุกวันนี้ ผู้คนในยุคนี้หลงใหลในวรรณกรรมหรือภาพยนตร์แนวดิสโทเปีย ที่โลกความจริงไม่น่าพิสมัยอีกต่อไปแล้ว ผ่านปรากฏการณ์หนังสือและภาพยนตร์อย่าง The Hunger Games (2012-2015) แสดงให้เห็นว่า ไซ-ไฟ ป๊อปมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ไซ-ไฟ ที่พาเราท่องโลกขนาดจิ๋วระดับ DNA และเคว้งคว้างในจักรวาลที่กว้างใหญ่ด้วยความหรรษา ... จากคนรักการอ่านนิยายไซ-ไฟ The People ของเรา-น้ำพราว สุวรรณมงคล ทำฝันตัวเองให้เป็นจริง ด้วยการตั้งสำนักพิมพ์โซลิส (Solis Books) เพื่อนำเสนอนิยายแปลไซ-ไฟ สนุก ๆ อย่างเช่น ชุดนิยายวิทยาศาสตร์ของ John Scalzi อย่าง โอลด์แมนส์วอร์ ปฐมบทสงครามข้ามเอกภพ, ลาสต์โคโลนี ที่มั่นสุดท้าย, โกสต์บริเกตส์ หน่วยพิเศษกองพลผี รวมถึงนิยายของ Octavia E. Butler อย่าง เมล็ดฝันวันสิ้นโลก นิยายไซ-ไฟ ป็อปในไทยหรือเปล่า? สังคมไทยที่มีพื้นฐานความเชื่ออีกแบบ ตอบรับนิยายวิทยาศาสตร์ในแบบไหน? คนทั่วโลกกำลังพูดถึงนิยาย ไซ- ไฟ แบบไหน? นี่คือบทสนทนากับหญิงสาว ผู้ที่หัวใจในโลกวรรณกรรม…เต็มไปด้วยคำว่า นิยายไซ-ไฟ