30 ก.ย. 2565 | 17:36 น.
“ความจริงแท้ที่ไม่ว่าพายุแห่งกาลเวลาจะพัดผ่านไปนานแค่ไหน มีเพียง ‘ศิลปะ’ ที่ดูเหมือนว่าจะต้านทานกระแสธารแห่งกาลเวลาได้มากที่สุด...”
‘จก - เสริมคุณ คุณาวงศ์’ นักธุรกิจ ช่างภาพ และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ เล่าถึงความหลงใหลในงานศิลปะ ชิ้นงานที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผันเปลี่ยนไปนานแค่ไหน แต่คุณค่าและความงามยังคงสลักลึกและไม่ล่มสลายไปตามยุคสมัยที่เคยเรืองรอง
เสริมคุณคือชายวัยเกษียณที่ไม่เคยว่างเว้นจากการทำงาน เขามีโปรเจกต์อยู่ในมือล้นเหลือและมีพลังเหลือล้น ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับฉายา ‘เจ้าพ่ออาณาจักรอีเวนท์’ หลังจากก่อตั้งบริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ซีเอ็มโอ’ ขึ้นในปี พ.ศ. 2534 จนกลายเป็นผู้นำธุรกิจด้านการสร้างสรรค์ และบริหารจัดการอีเวนท์ชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน
30 ปีต่อมาเขาก็ตัดสินใจวางมือ ปล่อยอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ไว้ให้คนรุ่นหลัง ผู้ที่ไม่ได้มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันดูแลต่ออย่างง่ายดาย จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาทำยังไง ถึงสามารถตัดใจและปล่อยมือจากบริษัทแห่งนี้ได้“เราก็แค่ทำอะไรเป็นชั่วครั้งชั่วคราว รวมทั้งความเป็นเจ้าของบริษัท มันไม่มีอะไรอยู่กับเราถาวร แล้วอีกอย่างลูกสาวผม เขาไม่อยากทำต่อ แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องไปบังคับให้เขาทำ เพราะชีวิตของคนแต่ละคน มันก็เป็นของคนคนนั้น เราก็เลยตัดสินใจปล่อยมันไปง่ายขึ้น”
เขาตอบพลางยกน้ำชาขึ้นมาจิบ หยิบบิสกิตกัดอีกหนึ่งคำเล็ก ๆ ก่อนจะขยายความต่อว่า “อันที่สอง เรามองว่าเราอยากจะหันไปจริงจังเรื่องคอลเลกชันงานศิลปะ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ศิลปะไทย ซึ่งเราทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ตอนนี้ก็ 17 ปีแล้วก็คือศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ
“แน่นอนว่าเราไม่เคยคิดว่าซีเอ็มโอจะเป็นของเราไปตลอด เราไม่เคยคิดตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ไม่เคยคิด
เขาทำโครงการเกี่ยวกับศิลปะอีกมากมาย จัดนิทรรศการภาพถ่ายในประเทศไทยมาแล้ว 4 ครั้ง อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 7 ช่างภาพหลักที่บันบึกเหตุการณ์ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในวันนี้บทบาทของเขาเปลี่ยนอย่างชัดเจน จากเจ้าพ่ออาณาจักรอีเว้นท์ มาเป็นผู้นำทัพกลุ่มบริษัทบริหารงานศิลป์ ‘อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป’ เบนสายเข้าสู่วงการศิลปะอย่างเต็มตัวเมื่อช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมา
อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาละทิ้งอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่ หันมาทุ่มเทให้กับบทบาทใหม่อย่างผู้บริหารงานศิลป์ คงต้องเล่าย้อนไปช่วงที่ศิลปะเริ่มเข้ามามีบทบาทกับเขาตั้งแต่วัยเด็ก ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เข้มข้นในช่วงตุลาคม 2516 จนทำให้เขาอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อขับเคลื่อนสังคม
และนี่คือเรื่องราวของเสริมคุณ คุณาวงศ์ ชายผู้มีไฟอันแรงกล้าที่ปฏิวัติววงการศิลปะ และขยับลดช่องว่างทางสังคมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้อย่างเท่าเทียม
การเมืองในความทรงจำ
“ตอนนั้นอยู่ชั้น ป.6 เรียนอยู่ที่นครสวรรค์ จำได้ว่าเราเอาเงินค่าขนมไปซื้อหนังสือประวัติศาสตร์ที่รวมภาพของ 14 ตุลาเอาไว้ มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งหากว่ากันตามตรง มันคงจะสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในเรื่องเหล่านี้ของเราตั้งแต่ตอนนั้น
“ช่วงหลัง 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 มันเป็นช่วงที่มีกระแสทางการเมืองเชี่ยวกราก กลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน ที่เขาออกมาเคลื่อนไหว ทั้งหมดมันเป็นแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองที่เรารู้สึกได้
นับจากวันนั้นเสริมคุณก็ตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ ว่าเขาจะต้องสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำงานสายข่าว ทำหน้าที่ตีแผ่เรื่องราวที่กำลังคุกรุ่นในสังคมผ่านการ์ตูนการเมือง ที่เขาวาดขึ้นเองกับมือตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าการต่อสู้ของพวกเขาไม่สูญเปล่า
“เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญคือ มีปัญญาชนจำนวนมากเข้าป่า หลายคนก็เป็นเพื่อนเรา แต่เราไม่ได้เข้าป่าไปกับเขา เราทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีความเป็นเผด็จการสูง สังคมถูกแช่แข็งไว้หมด
“เราก็เลยทำกลุ่มศิลปวัฒนธรรมมายาเป็นค่ายวัฒนธรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงตัวตนของเราออกมาไกลอยู่เหมือนกันนะ เพราะมีไม่กี่คนที่รู้ว่าเราเป็นหัวหน้ากลุ่มนี้ เราก็แสดงละครหุ่นหลายที่ ๆ ไปตามชุมชนเล็ก ๆ คนที่เขาไม่มีโอกาสในการเข้าถึงสื่อรูปแบบนี้ เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านงานด้านวัฒนธรรม
“เนื้อหาส่วนใหญ่เราไม่ได้ตั้งใจทำเป็นละครการเมืองทั้งหมด แต่พยายามส่งต่อวัฒนธรรม ให้เขาเห็นกระบวนการล่มสลายทางความคิด อย่างพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยที่มันล่มไป ก็ทำให้คนที่เขายึดถืออุดมการณ์ความเชื่อตรงนี้รู้สึกว่างเปล่า เราเองก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้น แต่เราก็เติมมันให้เต็มด้วยวัฒนธรรม ปรับจูนจากระดับการเมือง มาอยู่ในระดับทางสังคม"
ยอมรับตามตรงว่าเราเองก็แปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะด้วยท่าทางสุขุมและความรุ่มรวยที่เราสัมผัสตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินทางเยือนบ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ เราแทบไม่สัมผัสถึงความขบถ จากชายตรงหน้าแม้แต่น้อย
จนกระทั่งเขาพาเราสำรวจและแนะนำประวัติความเป็นมาของงานศิลปะแต่ละชิ้น สายตาเราก็เหลือบไปเห็นรูปหล่อเรซิ่นเลนินขนาดจิ๋ว ถัดมาเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ของเหมา เจ๋อตง ติดตั้งอยู่ เรารับรู้ได้ทันทีว่าชายตรงหน้าแอบซ่อนความขบถเอาไว้ลึก ๆตรงนั้นมีการวางคอนเซปต์การจัดวางอะไรไว้เป็นพิเศษไหม – เราถามพลางชี้ไปที่รูปหล่อเลนิน “จริง ๆ ก็ไม่มีอะไร เป็นแค่บุคคลที่เราสนใจ งานทุกอย่างที่อยู่ในบ้านหลังนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราสนใจทั้งหมด เช่น รูปหล่อเรซิ่นอันนั้นเราได้มาจากมอสโก ข้างหลังเป็นจานไม้ที่เขียนเป็นภาษารัสเซียในยุคบอลเชวิค ซึ่งเพิ่งผ่านการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 ได้ไม่นาน เป็นช่วงที่รัสเซียพยายามจะลืม พยายามมาก แต่เราก็ไปขุดคุ้ยจนเจอ
“แต่ถ้าถามว่าการสะสมเป็นนิสัยของเราโดยตรงเลยไหม เราว่าไม่เป็น” คำตอบจากปากชายผู้เป็นเจ้าของคอลเลกชันงานศิลปะร่วมสมัย โบราณวัตถุ และเฟอร์นิเจอร์โบราณ กว่า 1,000 ชิ้น ทำเอาเราเลิกคิ้วสูง จนเสริมคุณหลุดหัวเราะออกมา
“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 – 2530 ไม่ได้สะสมอะไรเลย เพราะเราทำกลุ่มมายา ตลอดเรื่อยมาจนถึงการเป็นช่างภาพ แล้วมาก่อตั้งบริษัท เราก็เลยไม่ได้สะสมอะไรเลยสักชิ้นเดียว แล้วการเป็นช่างภาพอาชีพ ก็ยิ่งทำให้เราห่างไกลจากการสะสม เราเอาเงินที่ได้มาซื้อกล้อง ซื้อเลนส์หมด
“เพราะฉะนั้นการสะสมเลยไม่ใช่นิสัยของเรา”
คุณค่า ความงาม และอิสระในโลกศิลปะ
ในฐานะที่เป็นเจ้าของคอลเลกชันงานศิลปะกว่า 1,000 ชิ้น ความงามของศิลปะแต่ละชิ้นอยู่ที่ตรงไหน นี่คือหนึ่งในคำถามที่เราสงสัยมาตลอด เขาบอกกับเราว่าไม่อยากให้ตีค่าศิลปะเป็นความงาม แต่อยากให้มองที่คุณค่าของศิลปะแต่ละชิ้นมากกว่า
“ความงามมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แล้วก็เฉพาะยุคสมัย ยกตัวอย่างง่าย ๆ หญิงงามในยุคเรอเนอซองส์กับหญิงงามในยุคปัจจุบัน ผู้หญิงในช่วงแต่ละ 10 ปีมีความงามที่แตกต่างกัน
“เพราะฉะนั้นความงามมันค่อนข้างอัตวิสัย แต่คุณค่าของศิลแต่ละชิ้น ก็อาจจะสอดแทรกด้านความงาม เป็นหนึ่งในคุณค่าหลัก อาจจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาจจะมีคุณค่าทางกระบวนการทำ” เขาตอบ พลางชี้ไปที่ภาพวาดติดผนังภาพหนึ่ง มองด้วยสายตาคร่าว ๆ เราไม่แน่ใจว่านั่นคือภูเขาหรืออะไร
“งานชิ้นที่ดูไม่รู้ว่าเป็นภูเขาหรือว่าอะไรชิ้นนี้เนี่ย อันนั้นมันคือเจดีย์นะ เจดีย์ยุคแรกของโลก เป็นผลงานชิ้นสำคัญของอาจารย์มณเฑียร บุญมาที่เสียชีวิตไปแล้ว ถามว่างานชิ้นนี้มันจะมีคุณค่าได้ไหมว่าเราไม่เข้าใจที่มา”
เขาเฉลย พลางส่ายหน้า “ไม่เลย เมื่อเราไม่เข้าใจที่มา งานชิ้นนี้อาจจะไม่มีคุณค่าก็ได้ เพราะฉะนั้นคุณค่าของมันถูกกำหนดจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ละชิ้นก็มีเอกลักษณ์และความสำคัญต่างกันไป
“เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มีค่า ความงามของศิลปะคอยปกปักรักษาตัวมันเองเอาไว้ คุณอย่าไปคิดนะว่าคุณกำลังทำหน้าที่ปกปักรักษาศิลปะ เปล่าเลย ไม่ใช่ ศิลปะต่างหากที่เขาปกปักรักษาตัวเอง เพราะความงามของเขาใครจะไปทำลายความงดงามนั้นลง”
ก่อนจะเล่าติดตลกว่า ทุกอย่างที่อยู่ในบ้านพิพิธภัณฑ์หลังนี้ สักวันคงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้น “เดาว่านะ รุ่นหลานคงจะเหลืออยู่แค่ครึ่งหนึ่ง ยกเว้นเขาอยากจะเก็ยรักษาไว้ต่อ แต่กว่าจะถึงวันนั้นผมคงตายไปนานแล้ว ช่างมันเถอะ (หัวเราะ)”
“เพราะว่าของสะสมพวกนี้มันไม่ได้เก็บเพื่อจะอยู่ตลอดไป เราเชื่อว่ามันไม่อยู่หรอก ว่ากันตามประวัติศาสตร์ บางตระกูลเราก็ไม่สามารถสืบหาต้นตอของเขาได้ สิ่งเหล่านี้คือบทเรียนสอนให้เรารู้ว่าไม่มีตระกูลใดอยู่ยั้งยืนยง แต่ถ้าถามว่ามันมีไหม เราว่ามี แต่แค่หาไม่เจอก็เท่านั้น”
คำตอบของเขาทำเอาน้ำตาเราคลอ จนเราหลุดปากออกไปว่าแค่คิดก็เศร้าแล้ว ทำไมการที่มนุษย์เราทุ่มเทลงไป ก่อร่างสร้างบางอย่างขึ้นมา ทุดท้ายแล้วมันก็กลับไปสู่จุดเดิม จุดที่ไม่หลงเหลืออะไร ราวกับว่าเราไม่เคยมีตัวตนอยู่
“มันคือความจริง” เขาตอบ
“จะเศร้าไปทำไม ไม่เศร้า (หัวเราะ) เพียงแต่ว่าเราก็ต้องมีกำลังใจว่าเราทำอะไรได้ ทำได้ดีกว่านี้ไหม ก็แค่นั้น”
Art Tank Group
หลังจากเสริมคุณประกาศวางมือจากซีเอ็มโอได้ราวเดือนกว่า ๆ ศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพที่เขาทุ่มเทความพยายามลงไป ก็ต้องปิดตัวลงตามไปด้วย ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของเขา ชายผู้รักงานศิลปะและยกย่องให้มีคุณค่าเหนือชีวิตคนนี้ จึงเริ่มคิดหาวิธีว่าจะทำยังไงให้ระบบนิเวศด้านศิลปะของไทยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มบริษัทบริหารงานด้านศิลปะ ในนาม ‘อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป’ ประกอบด้วย 4 บริษัทที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบนิเวศศิลปะไทยให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
เริ่มตั้งแต่ Bangkok Art Auction บริษัทจัดการประมูลผลงานศิลปะชั้นนำของประเทศไทย, Bangkok Art Conservation Center ศูนย์อนุรักษ์ผลงานศิลปะ เพื่อยกระดับการอนุรักษ์ให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับนานาชาติ, บ้านพิพิธภัณฑ์เสริมคุณ คุณาวงศ์ สถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะ จากคอลเลกชันงานศิลปะของเสริมคุณ จำนวนกว่า 1,000 ชิ้น และ Art Tank.Media สื่อกลางคลังความรู้ สำหรับคนรักศิลปะทั้งในและต่างประเทศ
“เราคิดว่าในระบบนิเวศด้านศิลปะของไทย มันน่าจะมีส่วนที่เราสามารถเข้ามาเติมเต็มบางอย่างให้มันมีความสมบูรณ์ขึ้นได้ อาจจะไม่เต็มหรอก แต่ที่เราเข้ามาทำก็คืออยากให้ช่วย ๆ กัน ‘เติม’ ระบบนิเวศของไทยให้มีคนสนใจมาทำกันมากขึ้นมากกว่า”
“เราขอเรียกว่าเป็นกลุ่ม Secondary Market ก็คือการขายรีเซล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ อย่างเรื่องของราคางานศิลปะ อันนี้ได้รับการพิสูจน์และศึกษามาทั่วโลกแล้วว่า ถ้างานศิลปะผลิตขึ้นมาแล้วผู้ซื้อ ซื้อเก็บไวจนวันตาย มันจะไม่เกิดการรีเซล พอไม่เกิดการรีเซล ก็จะไม่เกิดการหมุนเวียน”
เขายกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกนิด โดยนำงานศิลปะไปเทียบกับการขายหุ้นให้กับมหาชน แล้วทุกคนที่ถือหุ้นก็เก็บเอาไว้ ไม่มีใครยอมปล่อยมือจากหุ้นตัวนั้น ‘นั่นแหละคือราคาหุ้น’ เขายิ้ม
“เช่นเดียวกับราคาศิลปะไทย ถ้ามีบริษัทประมูลขึ้นมา บริษัทประมูลจะเป็น Secondary Market ที่สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่ตลาดที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน แต่ยังมีการบันทึกอย่างเปิดเผย ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพคล่องของศิลปะไทยยกระดับสูงขึ้น”
เสริมคุณยังบอกอีกว่า เหตุผลที่เขาอยากเติมเต็มวงการศิลปะไทย เป็นเพราะว่าอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ที่ใครต่อใครต่างมองว่าศิลปะคือเรื่องของคนรวย
“ปัจจุบัน อาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป ก็ใช้เครื่องมืออาร์ต แท็งก์.มีเดีย ในการนำศิลปะไปสู่ผู้ชม เวลาที่เราชื่นชมงานศิลปะ เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของมันก็ได้ เราไปดู เราก็เหมือนได้เป็นเจ้าของแล้วคือเราเป็นเจ้าของความรู้สึก เข้าของประสบการณ์เหล่านั้น ที่สำคัญมันเป็นของที่ให้คนอื่นดูแล้วไม่สึกหรอ มันไม่ใช่ของที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ใช่อาหาร ที่เวลาแบ่งให้คนอื่น คุณจะได้กินน้อยลง ไม่ใช่อะไรแบบนั้นเลย
“แต่ศิลปะ เมื่อคุณเอาไปให้คนอื่นดู คุณค่าของงานชิ้นนั้นย่อมสูงขึ้น ดังนั้นเราคิดว่าอาร์ต แท็งก์.มีเดีย จึงอยากจะเป็นตัวกลางในการสร้างบทบาทที่จะนำเอาผลงานศิลปะ ออกมาจัดแสดงให้คนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมได้
“นี่คือช่องว่างทางสังคมที่เราพยายามลดให้แคบลง เราอยากทำให้ทุกคนเห็นว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องของคนรวยที่มีรสนิยมเท่านั้น หากแต่เป็นของของทุกคน อันนี้คงเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้และควรทำ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว เราอยากให้คนอื่นร่วมกันทำด้วย”
ส่วนเป้าหมายในอนาคตของอาร์ต แท็งก์ กรุ๊ป เสริมคุณตอบอย่างกระชับว่า เขาก็ยังคงต้องทำงานในความท้าทายต่อไป ถึงจะมีอุปสรรค ก็ต้องนำอุปสรรคเหล่านั้นมาเรียบรู้ ปรับปรุง พัฒนา และภายใน 3 ปี ถ้ากลุ่มบริษัทมีความมั่นคงแล้ว เขาก็วางแผนจะทำประโยชน์อะไรบางอย่างให้ประเทศชาติต่อไป
“เราไม่ได้มองการณ์ไกลมาก เพราะถ้าคุณทำไม่สำเร็จ คุณก็มองอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณก็ทำแค่อันนี้ ไกลกว่านี้เราก็กลัวว่ามันจะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันไปเอง” (หัวเราะ)
จุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตเสริมคุณในวัย 60 คืออะไร – เราถามคำถามสุดท้าย “ก็จะกลับไปที่คำตอบว่า ไม่ได้มีจุดจบที่มันชัดมาก คือเดาว่าจะสามารถตายไปพร้อมกับบ้านพิพิธภัณฑ์ที่ยังเป็นเจ้าของโดยลูก ๆ คำว่าเดาแปลว่าไม่มีความแน่นอนหรอก
“แต่จุดมุ่งหมายคือก็จะเตรียมบ้านพิพิธภัณฑ์ไว้ให้ลูก ๆ ดูแลต่ออีกสักเจอเนอเรชั่นหนึ่ง ถ้าลูกลำบาก หลานลำบาก ไม่ชอบ ก็ขายเขาไป เราจะไม่เสียใจ เพราะเราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว คือรวมเขาเข้ามาไว้ มีคนได้มาดู ได้มาชื่นชม คงแค่นี้มั้งจุดมุ่งหมายของเรา
“ส่วนธุรกิจเรื่องระบบนิเวศทางศิลปะพวกนี้คงจะทำสักไม่เกิน 10 ปี แล้วก็ให้ลูกทำต่อไป ถ้าลูกยังอยากจะทำ ถ้าลูกไม่อยากทำก็เลิกทำไปเลย” (หัวเราะ)
ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย