โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย

โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย

Standby at Patpong ka! ข้อความจาก ‘โอ๊ต - พัฒน์พงศ์ มณเฑียร’ ศิลปิน นักเขียน ภัณฑารักษ์และที่ปรึกษาด้านพิพิธภัณฑ์ ฉายวาบขึ้นมาบนหน้าจอโทรศัพท์ตอน 13.37 น.

เป็นเวลาเดียวกับที่เรากำลังยืนอยู่หน้าประตู Candle Light Studio ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 3 ของร้าน Bar Bar ในพัฒน์พงศ์ ซอย 2 สถานที่นัดหมายที่เราจะได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับศิลปินที่เราตกหลุมรักผลงานเขียนและงานวาดของเขาเป็นการส่วนตัว ไม่แน่ใจนักว่าใจที่กำลังเต้นระรัวอยู่ตอนนี้ เป็นเพราะความตื่นเต้นที่เราจะได้เจอกับเขา หรือเป็นเพราะเดินขึ้นบันไดมาที่ชั้น 3 ของร้านกันแน่

แต่ที่รู้แน่ชัดคือบทสนทนาหลังจากนี้ทำให้เรา ‘เข้าใจ’ ความงดงามของ ‘เรือนร่าง’ มนุษย์เพศชาย และการลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ที่ต้องเกิดมาในสังคมไทยที่มักหยิบยกเรื่องศีลธรรมอันดีมาตีกรอบ เมื่อพวกเขาลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมี ทั้ง ๆ ที่สิทธิเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง หากผู้มีอำนาจในการออกตัวบทกฎหมาย มองว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน

โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย

ยามแสงไฟต้องเรือนร่าง

โอ๊ตเติบโตมาในสถานบริการของแม่ ย่านดอนเมือง สถานที่ที่เขาเรียกมันว่าบ้าน หน้าที่ของโอ๊ตในวัยเยาว์จึงมีเพียงไม่กี่อย่าง หนึ่งคือช่วยตักน้ำแข็ง เสิร์ฟน้ำ ให้บริการเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่เด็กคนหนึ่งจะทำได้ สองคือการรับบทบาทเป็นเด็กฉายไฟสปอตไลต์ไปที่นางโชว์บนเวที

“มันเป็นความทรงจำวัยเด็กที่เราคิดว่าทำให้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจเราในฐานะศิลปิน เพราะว่าเรือนร่างที่เปลือยเปล่ายามต้องแสงไฟ มันสร้างจินตนาการบางอย่างขึ้นมา คุณแม่ก็บอกเสมอว่าอย่าใช้สีเขียวนะ เพราะจะเหมือนผีตานี แล้วก็อย่าใช้สีขาว เพราะว่ามันจะสมจริงเกินไป ดังนั้นโชว์หรือว่าการสร้างความ ‘ยั่วยวน’ ด้วยแสงมันอยู่กับเราตั้งแต่เด็ก”

นี่คือความทรงจำวัยเด็กที่ชัดเจนที่สุดของเขา

หลังจากนั้นเด็กชายโอ๊ตก็เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่เฝ้าฝันว่าสักวันหนึ่ง สังคมไทยจะยอมรับความหลากหลายในเรือนร่างมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเรือนร่างของผู้หญิงเท่านั้นที่งดงาม แต่เรือนร่างผู้ชายก็งามหยดไม่แพ้กัน

นี่คือความงดงามของเรือนร่างที่โอ๊ตสัมผัสได้ตลอดระยะเวลาที่เรียนปริญญาโท สาขา Education in Museum and Gallery ที่ Central Saint Martins ประเทศอังกฤษ และทำงานเป็น Educator ที่ V&A Museum of Art & Design

แน่นอนว่าหลังเรียนจบ ไฟในใจของเขายังลุกโชน เขาอยากเห็นสังคมที่มองเรื่องเพศหรือเรือนร่างที่เปลือยเปล่าเป็นเรื่องปกติสามัญ ไม่ใช่ความน่ากระดากอายที่ต้องฝังกลบให้อยู่ในมุมเล็ก ๆ ของสังคม ‘โพธิสัตวา แกลเลอรี่’ (Bodhisattava Gallery) พื้นที่ศิลปะสำหรับ LGBTQ+ จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่าการพูดถึงเรื่องเพศไม่ใช่สิ่งน่าอาย

ล่าสุดเขาเพิ่งเปิดนิทรรศการที่หยิบยกข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ย่านพัฒน์พงศ์ ‘TWILIGHT FEVER DREAM’ นำเสนอเรื่องราวของความเควียร์ และเพศสภาพที่หลากหลาย ไปจนถึงการวาดภาพเปลือยของ Sex Worker จากย่านพัฒน์พงศ์ เพื่อให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้อย่างกระจ่างชัด

โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย

เปิดเปลือยแก่นแท้ของมนุษย์ผ่านงานศิลป

“เราคิดว่างานศิลปะที่เราทำมันมีเสน่หาในตัวของมันเอง เสน่หาในเรื่องเพศ ในความยั่วยวนบางอย่าง แล้วเราก็เห็นรูปนู้ดผู้หญิงมีเยอะมากแล้วในสังคมไทย เราเลยอยากบิดออกจากสิ่งนั้น ตั้งคำถามกับสิ่งนั้น ถ้าเราลองวาดรูปเปลือยผู้ชายที่ยั่วยวนดูล่ะ สังคมจะตอบรับเรายังไง

“เพราะต้องยอมรับว่าวงการศิลปะและสังคมเรามันถูกครอบอยู่ใน Toxic Masculinity ทำให้ผู้ชายไม่สามารถพูดหรือทำความเข้าใจกับเรือนร่างตัวเองได้ขนาดนั้น”

โอ๊ตเล่าให้ฟังว่าตอนกลับมาไทยแรก ๆ เขาตกใจไม่น้อยว่าทำไมคนไทยหลายคนที่เขาขอให้มาเป็นภาพ ถึงเกิดความรู้สึกกลัว ทั้งกลัวที่จะต้องเปิดเปลือยเรือนร่าง กลัวว่าส่วนที่ควรถูกปกปิดที่สุดจะเกิดปฏิกิริยาบางอย่างขึ้นมาขณะวาดภาพ  

“ตอนอยู่อังกฤษ ทุกคนเขาแฮปปี้มากถ้าเราวาดเขาในฐานะศิลปิน แต่พอกลับมาไทย คนเขาจะเกร็ง กลัว ผมจู๋เล็กนะครับ กลัวมันแข็งขึ้นมา กลัวนู่นนี่นั่น คือทุกอย่างหมกมุ่นอยู่กับจู๋ เราวาดมาเยอะมากนะ หลากหลายอาชีพตั้งแต่ดาวทวิตเตอร์ พนักงานสินเชื่อกสิกร นักศึกษา เพื่อนศิลปิน แต่สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ ความไม่ภาคภูมิใจในเรือนร่างของตัวเอง จะมีบางอย่างที่รู้สึกไม่แฮปปี้กับร่างกายตัวเอง

“ทั้ง ๆ ที่เราเห็นว่าเขาน่ะสวยและสมบูรณ์แบบสำหรับเรา อาจจะเป็นเพราะสังคม หรือว่าอะไรบางอย่างที่ condition ให้เรามองร่างกายว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เขาก็เลยไม่พอใจกับสิ่งที่มี

“ถ้าศิลปะเป็นภาพสะท้อนของมนุษย์ มันก็ต้องมีศิลปะที่พูดถึงเพศสภาพแน่นอน แล้วก็เป็นเรื่องที่เราน่าจะนำเสนอ ไม่ใช่ซ่อนไว้หรือว่ากลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลดคุณค่าของศิลปะ มันควรจะเป็นสิ่งที่ถูกเชิดชูด้วยซ้ำ”

โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย

คุณคิดว่าเราสามารถขยับเพดานงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเพศสภาพให้สูงขึ้นได้ไหม - เราถาม

“ถ้าอยากจะขยับเพดานเราควรจะโชว์งานศิลปะที่พูดเรื่องเพศในมุมมองหลากหลายมากขึ้น พนักงานบริการทางเพศ เกย์ หรือว่าคนที่ intersex เพศสภาพ เพศวิถีที่หลากหลายอย่างนี้ อยากให้มันถูกเล่าออกมา เราอาจจะต้องลดสิ่งที่เรียกว่าเซ็นเซอร์ หรือสิ่งที่เรียกว่าความเหมาะสมหรือสมควรตามศีลธรรมหรือจรรยาบรรณของใครบางคนน่ะอาจจะต้องเอาออก เพื่อให้มันมีพื้นที่ให้พูดคุยกัน

“คุณอย่ากลัวดิ อย่ากลัวจู๋ อย่ากลัวจิ๋ม เพราะทุกคนเกิดมาก็มีเหมือนกันหมด

“มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย มันไม่ใช่สิ่งที่น่าขยะแขยง หรือทำให้ลดทอนค่าความดีงามของคุณ มันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เสน่หาความต้องการทางเพศก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคน ทำไมคุณพยายามจะกดมัน แทนที่จะทำความเข้าใจมัน”
โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย ความเท่าเทียมทางเพศ

คุณคิดว่าเพราะอะไรการแสดงงานที่โชว์เกี่ยวกับเพศสภาพ ถึงถูกมองว่าจะทำให้คุณค่าของศิลปะลดลง - เราถามต่อ

“งงไหม งงเหมือนกัน ก็ต้องไปถามคนที่อยู่ในสังคมที่กดเรื่องเพศ เพราะเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราก็ตอบให้ไม่ได้เหมือนกัน เราตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่โอเคกับสมรสเท่าเทียมสักที มันเป็นอะไร ที่ให้มันได้ไม่เท่ากันน่ะ เป็นอะไรต้องมาทำ พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ต้องจ่าย 500 บาทในเขต 1,000 บาทนอกเขต คืออะไร ไม่เข้าใจ

“แล้วมันเป็นอะไรถ้าเขาจะไปเข้าห้องน้ำ กะเทยเข้าห้องน้ำหญิงมันเป็นอะไร อยากรู้เหมือนกัน แล้วถ้าแต่งงานกันได้ปุ๊บ แบบ โอ๊ย! โลกจะแตกมั้ย ทำไมกลัวขนาดนั้น ทำไมเราถึงไม่ได้สิทธิที่มันเท่าเทียมกับคนอื่น

“ทำไมเราถ้าอยู่กันไปแล้ว partner เราไม่สบายต้องตัดสินใจทางแพทย์ เราตัดสินใจให้ไม่ได้ กลัวอะไร งงเหมือนกันนะ ทำไมถ้าเราแบบมีลูก ไม่สามารถทำ passport ให้ลูกได้ เพราะว่าไม่ใช่พ่อและแม่ที่มีเพศกำเนิดชายหญิงอย่างนี้ ถ้าเปลี่ยนแค่จากชายหญิง เป็นบุคคลกับบุคคลน่ะ ก็จบแล้ว”

คำตอบของโอ๊ตที่พรั่งพรูออกมาล้วนเต็มไปด้วยความสงสัย สงสัยว่าทำไมสังคมนี้ถึงไม่เท่าเทียมกันสักที สงสัยว่าเพราะอะไรสิทธิอันพึงมีถึงไม่ได้รับการตอบรับ สงสัยว่าเพราะอะไรสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด จึงกลายเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเสียอย่างนั้น

โอ๊ต มณเฑียร: เรื่องราวความเควียร์ เพศสภาพที่หลากหลาย และการวาดภาพเปลือย

“จริง ๆ บ้านเรา fluid กว่าที่อื่นด้วยนะ ทำไมคนต่างประเทศถึงบินมาที่นี่ เขารู้สึกอิสระนะ เรามีคำว่า ‘เรา’ ซึ่ง Gender Neutral Pronouns เป็น Pronoun ที่แบบจะโอเคกับทุกอย่าง เราไม่ได้แบ่งแยกทุกคำเป็นชายหญิง งงมากว่าทำไมยังยึดกับตรงนี้เหลือเกิน

“ถ้าจะให้พูดเรื่องประวัติศาสตร์จริง ๆ เพศสภาพที่หลากหลาย อยู่ในพื้นที่ Southeast Asia มาตั้งแต่กี่ร้อยปีแล้ว คนที่เกิดมามีเพศสภาพที่ลื่นไหล เขาให้เป็นหมอผี เขาให้เป็นคนทรงนะ ทุกวัฒนธรรมชาวเผ่าอย่างพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เขามีเพศ 8 เพศด้วยซ้ำ

“คนรู้ว่าเรา Powerful มีแต่นี่แหละ สังคมปิตาธิปไตยเนี่ยกลัวเหลือเกิน ต้องเอาสิทธิออกไปจากเรา ต้องกดเราไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่ออะไรเราก็ไม่เข้าใจ

“ดังนั้นงานที่เราทำ เราอยากจะบอกคนที่มีเพศสภาพที่ลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์ queer non-binary คุณงดงามและคุณพิเศษ คุณมี Power คุณมีพลังในตัวคุณนะ อย่าให้สังคมบอกคุณอย่างอื่น”

ท้ายที่สุดแล้ว การทำให้สังคมไทยมองเห็นความสำคัญของเพื่อนมนุษย์ คงหนีไม่พ้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกัน “เราคิดว่ามันมาได้ด้วยการ educated มันมาได้ด้วยการเรียนรู้ผ่านศิลปะ ผ่านการพูดคุย ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เราว่าอยู่เฉยๆ มันไม่หายไปหรอก การกดขี่หรือว่าความเข้าใจผิด หรือว่าสิ่งที่ถูกตีตรามาในระยะยาว

“มันต้องช่วยกัน ต้องเป็นกระบอกเสียง ต้องออกมาเล่า คนที่รู้สึกว่ามีเรื่องอยากจะเล่าก็ควรจะเล่ามันออกมา เราควรมีพื้นที่ที่รับฟังเขาได้ ถ้ามันมีพื้นที่เหล่านี้ มีกระบวนการเหล่านี้ เราว่าในอนาคตอาจจะนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น”

หากอยากรู้จัก ‘โอ๊ต มณเฑียร’ มากกว่านี้ สามารถติดตามเขาได้ที่เฟซบุ๊กเพจ Oat Montien และอินสตาแกรม @oatmontienstudio