เปิดเหตุผล ‘ต่อ - ธนพงศ์’ สร้าง PENGUIN X เชื่อหากไม่ใช่คนแรกต้องเจ๋งพอที่จะแตกต่าง

เปิดเหตุผล ‘ต่อ - ธนพงศ์’ สร้าง PENGUIN X เชื่อหากไม่ใช่คนแรกต้องเจ๋งพอที่จะแตกต่าง

เปิดมุมมองธุรกิจในแบบ ‘ต่อ - ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี’ เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu กับธุรกิจใหม่ ‘PENGUIN X’ บริษัทมีเดียที่ทำเพจ และเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหาร คอนเซปต์ทำให้คนเปิดร้านอาหารง่ายขึ้น มีความเสี่ยงต่ำกว่าเดิม

  • ‘PENGUIN X’ บริษัทมีเดียที่ทำเพจ และบริการเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหาร สานฝันให้คนเปิดธุรกิจอาหารง่ายขึ้น
  • ‘ต่อ - ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี’ เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ที่เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ first mover ในตลาดต้องเจ๋งพอ
  • ล้างความเชื่อที่ต้องเป็นนักธุรกิจและเกษียณอายุก่อน 30 ปี เพราะไม่ใช่จริตของทุกคน

 

“ค่าใช้จ่ายทุกอย่างมันขึ้นหมด แต่สิ่งเดียวที่ไม่ขึ้นก็คือ เงินในกระเป๋าของลูกค้า”

“ฉะนั้น ถ้าเรายังทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เรายังคิดแบบเดิม ๆ เรายังคิดว่าสมัยก่อนเมื่อ 20 ปี ฉันก็ทำแบบนั้นได้ ไม่จริง เพราะทุกวันนี้อาจไม่ได้เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณอยู่ต่อได้อีก 3 ปี 5 ปีในอนาคตก็ได้”

บทสัมภาษณ์ ‘ต่อ - ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี’ เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu ที่เปิดใจถึงเหตุผลที่ตัดสินใจทำธุรกิจตัวใหม่ที่ชื่อว่า ‘PENGUIN X’ บริษัทมีเดียที่ทำเพจ และให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจอาหาร ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563

ทั้งนี้ มีหลาย ๆ มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจจาก ต่อ - ธนพงศ์ โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจมีความโดดเด่นขึ้นมาจากคู่แข่ง และ mindset บางอย่างที่นักธุรกิจที่อยากประสบความสำเร็จต้องมี

 

เปิดเหตุผล ‘ต่อ - ธนพงศ์’ สร้าง PENGUIN X เชื่อหากไม่ใช่คนแรกต้องเจ๋งพอที่จะแตกต่าง

ไม่ใช่ first mover ต้องแตกต่าง

ต่อ - ธนพงศ์ พูดกับ The People ว่า “ถ้าเกิดคุณเป็น first mover หรือเป็นคนเริ่มต้นธุรกิจนั้นไม่ได้ คุณทำดีกว่าเขาหรือเปล่า คุณสามารถทำได้ดีกว่าเจ้าเดิมหรือเปล่า อาจจะดีกว่าในรูปแบบของรสชาติ รูปแบบของสินค้า รูปแบบของบริการ รูปแบบของแบรนด์ดิ้ง อะไรก็ได้ที่มันบอกได้ว่าคุณดีกว่าเขาคุณก็จะอยู่รอด”

“เพราะลูกค้ามีทางเลือกเสมอ ลูกค้าต้องการของที่ดีที่สุดในราคาที่ถูกที่สุด หรือถ้าคุณไม่สามารถจะดีกว่าเขาได้ เพราะบางทีก็ต้องมีเงินทุนที่มากกว่า คุณอาจจะต้องมีฐานแฟนเยอะกว่า คุณอาจจะต้องมีประสบการณ์ทีมงานที่มากกว่า”

“ในกรณีที่เราเป็นคนที่มาใหม่แต่เราดีกว่าเขาไม่ได้ ก็แตกต่างไปเลยดีกว่ามั้ย เมื่อไหร่ที่สินค้าไม่แตกต่าง ลูกค้าก็จะดูที่ราคา แต่เมื่อไหร่ที่สินค้าเราแตกต่างออกไปเลย เขาก็เปรียบเทียบราคาไม่ได้”

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องไม่ลืมหากอยากอยู่รอดในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ต่อ - ธนพงศ์ พูดว่า “ตอนนี้เราต้องเดินไปหาลูกค้าไม่ใช่ลูกค้าเดินมาหาเรา ต่างกับเมื่อก่อน ปัจจุบันลูกค้าเขาไม่มีขานะ ลูกค้าเขาเดินด้วยนิ้วโป้ง”

“ถ้าเรายังทำธุรกิจแบบเดิม ๆ เรายังคิดแบบเดิม ๆ เรายังคิดว่าสมัยก่อน 20 ปี ฉันก็ทำแบบนั้นตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ยังทำได้ อยากจะบอกว่าอะไรที่ทำให้คุณมาถึงทุกวันนี้ อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่จะทำให้คุณอยู่ต่อได้อีก 3 ปี 5 ปีในอนาคตก็ได้”

ฝึกลองแก้ไขสถานการณ์ธุรกิจ

อย่างที่รู้ ๆ กันว่าช่วงโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย อย่าง ต่อ - ธนพงศ์ ที่เปรียบช่วงการระบาดนี้ไว้ว่าเป็น ‘ทรายบ่อใหญ่’ ที่ทำให้เราได้ฝึกฝนฝึกว้อมไปเรื่อย ๆ เป็นเหมือนการฝึกซ้อมระเบิดทรายเอาไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต

คำว่า ‘ฝึกซ้อมระเบิดทราย’ ในความหมายของ ต่อ - ธนพงศ์ ก็คือการที่เราฝึกซ้อมสถานการณ์ต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า เช่น ถ้าพรุ่งนี้มีคู่แข่งที่เป็นเจ้าใหญ่มาตั้งข้าง ๆ เราจะปรับตัวอย่างไร, ถ้าพรุ่งนี้รายได้ทั้งหมดเราเหลือ 0 จะปรับตัวอย่างไร, ถ้าพรุ่งนี้กลุ่มลูกค้าที่เคยมาไม่มาอีกแล้วเราจะเอากลุ่มลูกค้ารองมาเป็นลูกค้าหลักเราอย่างไร พอเราคิดแผนทุกอย่างแบบนั้นได้ ก็วางแผนและลงมือทำเลย

อย่างน้อยอาจจะทำออกมาได้ไม่ดี 100% แต่เมื่อไหร่ที่มันเกิดเหตุการณ์แบบนั้น เราจะไม่ต้องนับ 0 ใหม่ทุกครั้ง นี่คือสิ่งที่ผมว่าโควิด-19 มันสอนเรา

เปิดเหตุผล ‘ต่อ - ธนพงศ์’ สร้าง PENGUIN X เชื่อหากไม่ใช่คนแรกต้องเจ๋งพอที่จะแตกต่าง

“ผมว่า ขนาดธุรกิจของผมเองที่ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก แต่พอมีโควิด-19 มันทำให้เห็นชัดว่า อะไรที่เราควรไปต่อ และอะไรที่เราควรมีแผน 2 สำคัญคือ อะไรที่เราควรชะลอ”

“ผมว่าการทำธุรกิจที่ดีมันต้องมีความเร็ว ช้า หนัก เบา ถึงเวลาที่เราควรเร็วเราก็ต้องเร็ว และเร็วอย่างไรให้มั่นคงด้วย เราต้องรู้ว่าช่วงไหนเราควรต้องทำอย่างไร เพราะร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน บางคนเขาวิ่งเร็ว บางคนวิ่งช้า ผมว่าต้องประเมินตัวเองให้ดี เหมือนที่ประเมินสถานะธุรกิจของตัวเองให้ดี ๆ”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนกับตัวเองให้เยอะ ๆ ลงทุนกับแบรนด์ ลงทุนกับระบบเพราะถึงเวลาเมื่อไหร่ที่เราต้องวิ่งเร็ว เราจะต้องเล่นหนัก เราจะได้มีแรงพอที่จะไปทำแบบนั้น”

นอกจากนี้ ต่อ - ธนพงศ์ ได้บอกเคล็ดลับส่วนตัวเกี่ยวกับมุมธุรกิจว่า การลองถอดหมวกผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจดูบ้างสำคัญมาก เพราะบางทีเราจะได้มุมใหม่ ๆ ต้องลองฝึกเป็นลูกค้าดูบ้าง เพื่อให้เราได้พัฒนาธุรกิจได้ดีขึ้น

 

จุดเริ่มต้นของ PENGUIN X

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า โควิด-19 ทำให้หลายอย่างไม่แน่นอน สำหรับ ต่อ - ธนพงศ์ เขามองว่า โควิด-19 สอนให้รู้ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เราจะมีอาชีพเดียวไม่ได้อีกต่อไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘PENGUIN X’

“เราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันจะหมดกระแสไปเมื่อไหร่ ธุรกิจที่เราทำอยู่มันจะตายไปเมื่อไหร่ ฉะนั้นตั้งแต่ที่มีโควิด-19 ผมก็เริ่มดูธุรกิจที่ 2-3-4 ไปเรื่อย ๆ จะเล็กจะใหญ่ก็แล้วแต่ที่จะคิดออก”

“เลยมาดูจุดเริ่มต้นของธุรกิจตัวเองว่า resource เดิมของเราเนี่ย เอาไปสร้างรายได้ทางไหนได้บ้าง คือจะให้ผมไปทำธุรกิจที่มันไม่ได้มีความรู้หรือไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลย ก็รู้สึกว่ามันเสี่ยงเกินไป ซึ่งตอนนั้นเราอยู่ในธุรกิจร้านอาหาร เรามีความรู้เรื่องร้านอาหาร เรามีเพจเล็ก ๆ ที่ให้ความรู้เรื่องร้านอาหาร ผมจึงเริ่มจากตรงนี้ถีบตัวเองให้ไปอยู่ในเรื่องของการจัดการ”

เปิดเหตุผล ‘ต่อ - ธนพงศ์’ สร้าง PENGUIN X เชื่อหากไม่ใช่คนแรกต้องเจ๋งพอที่จะแตกต่าง

“นอกจากนี้ ยังมองไปเรื่องการวางระบบ ถีบตัวเองในเรื่องการหาข้อมูลความรู้ เพราะการที่เราจะไปแนะนำใครได้มันต้องผ่านการหาความรู้ การกรอง และที่สำคัญคือการเล่าเรื่องที่ดี เราก็คิดว่า ทักษะตัวนี้มันน่าจะสร้างธุรกิจได้นะ จากร้านอาหารที่มันเป็น B2C ก็เลยมาทำธุรกิจ media ที่เป็น B2B”

“จนวันนี้มันก็เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามา เราเริ่มมีทีมงาน มีคนติดตามมากขึ้น ก็เลยกลายเป็นบริษัท PENGUIN X โดยคอนเซ็ปต์ของเราก็คือ เราจะเป็นเพนกวินตัวเล็ก ๆ ที่จะไป X กับธุรกิจของคุณให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”

ชอบความคิดของ ต่อ - ธนพงศ์ที่ว่า “ถ้าตอนนี้เราเป็น B2C เหมือนเดิม เราจะมีคู่แข่งอยู่ 600,000 ราย แต่พอเราเป็น B2B เราสามารถช่วยเขา จากคู่แข่งเราจะเปลี่ยนเป็นคู่ค้าทันที คือเราจะไปเป็นตัวแทนแบรนด์ต่าง ๆ แล้วขายของให้กับร้านอาหาร ก็จะเป็นโมเดลที่เราจะเริ่มทำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สุดท้ายเราจะกลายเป็น Restaurant Ecosystem ครับ”

ความฝันอย่างหนึ่งของ PENGUIN X  ในมุมของ ต่อ - ธนพงศ์ คือ อยากจะทำให้การเปิดร้านอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และประหยัดต้นทุนมากขึ้น ที่สำคัญต้องลดโอกาสในการเจ๊งด้วย นี่ถึงความตั้งใจของผู้ชายที่ชื่อ ต่อ - ธนพงศ์

สุดท้ายเขาได้พูดถึงความเชื่อที่มีมาเมื่อหลายปีก่อนที่ว่า “ไม่ต้องเป็นแล้วพนักงานประจำ ไปเป็นเจ้าของธุรกิจแล้วเกษียณก่อนอายุ 30 ปี” สำหรับ ต่อ - ธนพงศ์ เขามองว่าเป็นความเชื่อที่บ้ามาก

“สมัยก่อนเขาเริ่มต้นธุรกิจตอนอายุ 30 นี่บังคับให้เกษียณตอน 30 ยังไม่รู้จักตัวเองเลยด้วยซ้ำ”

ปัจจุบัน มีนักศึกษาจำนวนมากที่หันมาเริ่มทำธุรกิจมากขึ้น สำหรับต่อ - ธนพงศ์ เขามองว่า ถามว่าเป็นเรื่องดีมั้ย แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เราได้ทดลอง แต่จริตแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราอย่าเอาจริตคนอื่นมาสวมจริตของตัวเราเองเด็ดขาด ต้องรู้ตัวว่าเราเป็นสปีชีส์ผู้ประกอบการจริงหรือไม่ เพราะถ้าเราเป็นสปีชีส์ที่ชอบอะไรที่มั่นคง อยากได้เวลาที่อิสระ…อย่ามาทำธุรกิจ!