สัมภาษณ์ ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเบื้องหลัง Big Mountain ชีวิต แนวคิด และการงาน

สัมภาษณ์ ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเบื้องหลัง Big Mountain ชีวิต แนวคิด และการงาน

เบื้องหลังเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่อันดับต้นของไทยอย่าง Big Mountain มี ‘ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์’ ผู้บริหารหญิงอยู่เบื้องหลังมายาวนานท่ามกลางโจทย์ที่ท้าทายซึ่งเกิดขึ้นเสมอ

  • ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเก่งที่อยู่เบื้องหลังเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่อันดับต้นของไทยเรียนรู้วิธีบริหารจัดการเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่จากเส้นทางตลอดอาชีพของเธอเอง
  • แม้ว่า Big Mountain จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างการเดินทาง ล้วนมีอุปสรรค และเสียงวิจารณ์อย่างหนักเกิดขึ้น
  • ในมุมมองของผู้บริหารและผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงาน ป่านแก้ว เล่าถึงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการ และวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยน้อมรับข้อมูลต่าง ๆ นำมาปรับปรุง

โจทย์ใหญ่ของชีวิตมนุษย์อย่างหนึ่งคือการทำความฝันของตัวเองให้เป็นความจริง บางครั้ง ระยะห่างระหว่าง ‘ความฝัน’ กับ ‘ความจริง’ ใกล้บ้าง ไกลบ้าง แตกต่างกันออกไป สำหรับ ‘Big Mountain’ เทศกาลดนตรีที่โด่งดังเผชิญคำถามเรื่องการบริหารจัดการสถานที่ซึ่งมีผู้ร่วมงานจำนวนมหาศาล

คำตอบที่ผู้คนอยากรู้ The People มีโอกาสได้รับฟังจากปากของป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย-ผลิตและสร้างสรรค์งาน SHOWBIZ BRAND CREATIVE – GAYRAY ซึ่งมาเล่าถึงแบรนด์ของ ‘Big Mountain’ ที่เติบโตและเผชิญเรื่องราวต่าง ๆ มากมายตลอดเส้นทางหลายปีที่จัดมา

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ยอมรับว่า ความร้อนแรงของเทศกาลดนตรีนี้นำมาสู่ปัญหา และเธอน้อมรับความคิดเห็นที่เกิดขึ้นกับ Big Mountain ครั้งที่ 13 มาทั้งหมด

นี่คือบทสัมภาษณ์พิเศษที่ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ไม่เพียงมาเล่าเรื่องราว แนวคิด ความท้าทายที่เทศกาลดนตรีแห่งนี้เผชิญ เธอยังเล่าถึงเส้นทางชีวิตของตัวเองด้วย

The People: เริ่มทำธุรกิจ Showbiz ได้อย่างไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: เริ่มแรกจริง ๆ ตั้งแต่เรียนจบก็คือทำสายบันเทิงมาตลอด ที่แรกที่ทำงานคือคลื่น Hotwave 91.5 ซึ่งตอนนั้นทำเป็น Creative Activity ตำแหน่งนี้ก็คือตำแหน่งที่ไปออกงานอีเวนต์ ไป School Hit School Hit ก็คือเอาศิลปินของวัยรุ่นชื่นชอบ แล้วก็ไปแสดงที่โรงเรียนให้เด็กมัธยมได้ดู ทำงาน Hotwave Live ก็คือเป็นเหมือนเป็นคอนเสิร์ตในสตูดิโอ ศิลปินก็จะเลือกเพลงมาแล้วก็โชว์ประมาณ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วก็อีกอันหนึ่งก็คือประกวดวงดนตรี Hotwave Music Awards ที่ตอนนั้นทำก็ได้ทำรับสมัครนักเรียนจากทั่วประเทศมา การคัดเลือก การเอาไปโชว์ในวันแข่งขันจริง ตัดสิน

นี่คือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในสายเรียกว่า Showbiz แล้วกัน แต่เป็น Showbiz อีกรูปแบบหนึ่งของคลื่นวิทยุ

หลังจากนั้นพอทำ Hotwave เสร็จปั๊บ ก็ได้ไปเจอกับพี่เต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) ที่ Click Radio ตอนนั้นทำอยู่คลื่น Get 102.5 ก็คือทำฝ่าย Marketing ทำอีเวนต์ด้วยของ 102.5 แล้วพี่เต็ดก็คือเป็นผู้บริหารของ Click Radio ทั้งหมด ก็เลยได้รู้จักกันกับพี่เต็ด แล้วพอพี่เต็ดมาทำ Big Mountain ก็มีโอกาสก็เลยได้มาลองทำ Big Mountain กับพี่เต็ด ก็เป็นจุดเริ่มต้นตรงนั้นค่ะ

The People: Hotwave ในยุคนั้นเฟื่องฟูขนาดไหน

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: เฟื่องฟูมาก เรียกว่าถ้ามีศิลปินออกใหม่ ส่งซิงเกิ้ล ส่งเพลง ทุกคนจะมุ่งไปเพื่อจะเอาซิงเกิ้ล เอาแผ่นไปยื่นให้วิทยุ แล้วก็ทำยังไงก็ได้เพื่อให้ได้มีการไปโปรโมตใน School Hit หรือแม้กระทั่งขอมา Hotwave Live ซึ่งเป็นเหมือนจุดหมายปลายทางของศิลปินหน้าใหม่แทบจะทุกคนเลย แม้กระทั่งศิลปินที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงหรือดังแล้ว การได้ทำงานร่วมกันกับคลื่นวิทยุ ไม่ใช่แค่ Hotwave เอง มันก็ยังมีทั้งคลื่นแบบ Green Wave มีคลื่นอื่น ๆ ใด ๆ ก็ถือว่าเป็นยุคเฟื่องฟูที่โคทำงานร่วมกันระหว่างสื่อกับศิลปิน

The People: การทำงานในช่วงขาลงของธุรกิจวิทยุเป็นอย่างไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ยังไม่ถึงขาลงนะของวิทยุ ตอนที่เราออกมาเรียกว่า Hotwave ก็ยังมีชื่อชั้น เด็กยังฟัง ศิลปินยังให้ความสำคัญกับสื่อวิทยุอยู่ในยุคนั้น มันไม่ได้ย้ายมาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือว่าสตรีมมิ่งทั้งหมด ซึ่งเราก็เลยไม่ทันอยู่ในยุคขาลง แต่ว่าตอนนี้ถ้ามองกลับไปก็ยังมีพี่  ๆ เพื่อน ๆ บางคนที่ยังทำอยู่ในวงการวิทยุ เขาก็ปรับตัวนะ วิทยุมันอาจจะไม่ได้ขายเป็นสปอตได้เหมือนเดิม แต่ว่าก็มีกิจกรรมมี Showbiz มีอะไรที่ทำมากขึ้น เพื่อให้เขายังอยู่ได้ค่ะ

The People: เหตุผลที่ย้ายออกมาทำ Big Mountain คืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: อยากสนุกเลยค่ะ อยากสนุกเลย ก็คือใน Big Mountain ครั้งที่ 1 เรายังไม่ได้เป็นทีมงานของ Big Mountain เอง แต่ว่าเราเป็นออร์แกไนเซอร์ แล้วก็เข้าไปอยู่ใน Big Mountain ครั้งที่ 1 ด้วยในฐานะออร์แกไนเซอร์รับงานให้หนึ่ง Sponsorship ในนั้น แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย งานมันใหญ่มากจริง ๆ แล้วมันเหมือนเป็นปรากฏการณ์ของมิวสิกเฟสติวัลในประเทศไทยที่มันเริ่มต้นจากตรงนั้น แล้วพอพี่เต็ดกับพี่หงวนก็คือเป็น Production Director ตอนนั้นมาชวน ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำมาก ก็เลยก้าวเข้ามา ย้ายออกมาจากออร์แกไนเซอร์แล้วก็มาทำที่นี่ค่ะ

The People: มาเป็นกำลังเสริมให้กับทีมทำงาน?

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ใช่ค่ะ คือ Big Mountain มันก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ปีที่ 1 ปีที่ 2 มันก็เหมือนเป็นยุคบุกเบิกของเขา ก็ค่อย ๆ ลองผิดลองถูกปรับเปลี่ยนมา เราเข้ามาทำใน Big Mountain ครั้งที่ 3 ซึ่ง Big Mountain ครั้งที่ 3 สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือ มันชูเรื่องการปฏิวัติ ในสมัยนั้นนะคะ ปฏิวัติในที่นี้คือปฏิวัติตัวเอง ครั้งที่ 1 ก็มีปัญหาแบบหนึ่ง ครั้งที่ 2 ก็มีปัญหาแบบหนึ่ง พอมาครั้งที่ 3 เนี่ย เราก็เลยคิดกันในทีมครีเอทีฟว่าเราจะปรับเปลี่ยนมันอย่างจริงจัง เปลี่ยนทางเข้า-ทางออกใหม่ ให้คนเขาสะดวกสบายมากขึ้น ปรับผังงาน อะไรที่มันเคยขาด ห้องน้ำไม่ดีก็เติมห้องน้ำ พื้นที่มันไม่เรียบร้อย เป็นฝุ่นแดง ที่เดินครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 แล้วทุกคนบ่นว่าเป็นฝุ่นแดงกลับมา แบบรองเท้าต้องทิ้ง อะไรแบบนี้ มันก็ปรับเปลี่ยนใหม่ มันก็เลยเป็นที่มาของครั้งที่ 3 ในธีมว่ามันปฏิวัติ เพราะมันปฏิวัติเทศกาลดนตรี ปฏิวัติตัวเองด้วย แล้วก็ปฏิวัติ Norm (บรรทัดฐาน) ของทุกอย่างในการทำเทศกาลดนตรีด้วย

The People: ความยากของการจัด Big Mountain ในครั้งนั้นคืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ความยากคือครั้งที่ 1 เราเรียกว่ามันเสมอตัวนะ คือมันเป็นเรื่องของ Financial (การเงิน) ครั้งที่ 1 มันเสมอตัว ลงทุนเยอะ คนยังไม่รู้จัก คนก็ซื้อบัตรน้อย ครั้งที่ 2 มันเริ่มดีแล้ว คนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น เริ่มซื้อบัตร เริ่มมองเห็นกำไรนิด ๆ หน่อย ๆ มันไม่ได้เป็นตัวเลขเยอะมาก แต่คนก็เริ่มดีขึ้น ครั้งที่ 3 เนี่ย ก็คือมันจะโตต่อไปยังไง มันจะเริ่มโต มันจะเริ่มขยาย เราต้องการว่า เราอยากเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดจริง ๆ แต่ว่าใหญ่ในที่นี้ก็คือมันต้องรองรับความต้องการของคนในตอนนั้นได้ดีด้วย มันก็เลยค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่าง แล้วก็มองว่ามันจะโตต่อไปยังไง 

ครั้งที่ 3 เจอวิกฤตด้วย คือเป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมใหญ่ทั้งประเทศ ถ้าเราจำได้ในปี 2554 แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะจัดต่อหรือจะไม่จัด เทศกาลดนตรีก่อนหน้าเรา ทุกอันประกาศยกเลิกหมด เพราะว่าไปต่อไม่ได้เพราะน้ำไม่ลดสักที แต่เราเป็นเทศกาลดนตรีแทบจะสุดท้ายของปี เรารอเราตัดสินใจกันจนแบบ ถ้าจำไม่ผิดคือประมาณ 1 เดือนก่อนที่จะถึงงานว่าเราจะ Go on แล้วเราก็ตัดสินใจว่าเราไม่ยกเลิก แล้วเราก็จัดต่อจริง ๆ 

สุดท้ายก็คือสถานการณ์ทุกอย่างมันดีขึ้น มันก็คลี่คลาย น้ำลด ทุกคนแฮปปี้ กลับมาเที่ยว มันก็เลยทำให้ปีนั้นเป็นปีที่ Big Mountain ขายบัตร Sold Out เป็นครั้งแรกนะคะ Sold Out แบบใกล้ ๆ งาน คือมันจะไม่ใช่ Sold Out แบบวันเดียว Sold Out 2 วัน Sold Out เหมือนทุกวันนี้ เราขายกันยาวนานมากขายกัน 3 เดือน แต่สุดท้ายมันก็ไป Sold Out ก่อนที่มันจะเริ่มเกิดงานในวันนั้นจริง ๆ แล้วพอมัน Sold Out เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่ามันมีกระแสตอบรับที่ดีเนอะ สิ่งที่เราค่อย ๆ สร้างค่อย ๆ พัฒนามา มันได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น แล้วในวันงานปีนั้นก็รู้สึกว่าทุกคนก็แฮปปี้มาก แล้วก็เริ่มมองต่อไปว่าสุดท้ายแล้วปีต่อไปมันจะต้องโตกันไปยังไง

สัมภาษณ์ ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเบื้องหลัง Big Mountain ชีวิต แนวคิด และการงาน

The People: Big Mountain ครั้งที่ 3 มีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ครั้งที่ 3 พอหลังจากที่เราปรับเปลี่ยนทางเข้า-ทางออก เราก็พบว่ามันดีขึ้น เราย้ายสลับกันคนดูกับทีมงาน  ให้คนดูไปเข้าอีกทางหนึ่ง เพื่อเดินทางไกลหน่อยในเส้นข้างในในโบนันซ่า ตอนนั้นเรายังจัดโบนันซ่า กว่าจะถึงลานจอดรถ อย่างน้อยก็คือรถมันก็จะไม่ติดทางหลวง อันนี้ก็เป็นปรับเปลี่ยนทางหนึ่ง แล้วเราก็ค้นพบว่ามันเวิร์กว่ะ 

สุดท้ายแล้วก็เลยยืดว่า ทางเข้า-ทางออกก็จะเป็นแบบนั้น แล้วพอเราค่อย ๆ เติมว่าเราลดพื้นที่ดินแดงลง โบนันซ่าตอนนั้นก็ช่วยกันปรับด้วย คือเขาก็มีแนวคิดว่าเขาอยากจะทำตัวที่นี่เป็นลานแข่งรถแบบที่มัน Proper (เหมาะสม) หน่อย ก็เริ่มมีการดีไซน์พื้นถนนข้างใน เริ่มมีการลาดยางมะตอย เริ่มมีการทำเส้นทางที่มันเดินสบายขึ้น มีการปลูกหญ้าเป็นโซน ทำถนนเป็นโซน มันก็เลยพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาทางเข้า-ทางออก รวมไปจนถึง Facilities (สิ่งอำนวยความสะดวก) ต่าง ๆ 

คือต้องบอกว่างานเทศกาลดนตรีที่เราไปอยู่แบบป่าเขาอะไรแบบนี้ Facilities หลัก ๆ เลยมันคือเรื่องห้องน้ำ เรื่องล้อมรั้ว ซึ่งมันไม่มี เรื่องล้อมรั้วเราก็เริ่มทำ โบนันซ่าก็เริ่มดีไซน์แล้วว่ามันจะปิดรั้วตรงไหน ตรงไหนใช้พื้นที่ธรรมชาติ เช่นแบบว่าเป็นต้นไม้ เป็นป่า หรือว่าเป็นเนินเขาที่คนข้ามไม่ได้ มันก็ดีไซน์ร่วมกันว่าต้องเริ่มสร้างรั้วให้มันจริงจัง

ห้องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ห้องน้ำจะสร้างตรงไหน เพราะว่าปกติเวลาเทศกาลดนตรีแบบนี้มันไม่มีห้องน้ำถาวร มันจะเป็นห้องน้ำที่เอาตู้ไป เอารถไปลง แล้วมันก็ไม่พอใช้บ้าง หรือบางทีมันต้องคอยหยุดเติมน้ำ ต้องคอยดูดส้วมอย่างนี้ โบนันซ่าเขาก็จะเริ่มว่าเขาจะเริ่มทำห้องน้ำจริงจังแล้ว เพราะยังไงเขาก็จะทำสนามนี้เป็นสนามแข่ง มันก็ต้องมีห้องน้ำแบบสวยงาม เขาก็เริ่มวางผังว่าเขาจะสร้างห้องน้ำจริงจังยังไง ขุดท่อประปาเข้าไป มันก็คือสร้างร่วมกันทั้งหมดเพื่อให้ทั้ง Facilities สมบูรณ์ แล้วก็ผังการจัดงานก็เป็นไปตามที่ที่เราต้องการด้วย

The People: กลยุทธ์ที่ทำให้ขายบัตร Sold Out ในช่วงวิกฤตคืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: อันแรกก็คือ Big Mountain เนี่ยเราทำโปรโมชันมาตลอด เรารู้สึกว่าการที่เราจอยกับสปอนเซอร์ก็ยังเป็นเป๊ปซี่มาจนถึงทุกวันนี้นะคะ การคิดโปรโมชันร่วมกันอย่างนี้ซึ่งมันวิน-วินทั้งคู่ ข้อ 1 ก็คือสมัยนั้นเป๊ปซี่ก็เรียกว่าซัพพอร์ตส่วนต่างของค่าบัตรที่ลดราคา โดยการทำโปรโมชันร่วมกันว่า เราลดราคาให้นะ เป๊ปซี่มีโปรโมชันทำกับลูกค้าว่า จะส่งฝาเป๊ปซี่เอาไปแลกรับส่วนลดได้ มันก็วิน-วินกันทั้งคู่ อย่างน้อยก็คือคนดูเราก็ได้จ่ายบัตรในราคาถูกลง เป๊ปซี่ได้ส่งเสริมการขายของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ผูกแบรนด์ไปด้วยกัน มันก็เลยทำโปรโมชันร่วมกันมาในระยะแรก ตลอดจนวันที่เราย้ายมาขายกับเซเว่นอีเลฟเว่น โปรโมชันก็ยังมีอยู่ แต่ว่าก็พัฒนารูปแบบคือพัฒนาขึ้นให้ไม่ต้องเก็บฝาแล้ว วิธีการก็คือก็เดินไปซื้อเป๊ปซี่ในเซเว่นอีเลฟเว่น เอาใบเสร็จมาแลกรับเป็นส่วนลด มันก็ทำร่วมกันไปแบบนี้ ซึ่งโปรโมชันตรงนี้ก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่ว่ามันก็จะปรับเปลี่ยนไป 

อย่างปัจจุบัน เราไม่ได้มีโปรโมชันร่วมกับ Sponsorship แล้ว แต่ว่ามันกลายร่างกลายเป็นโปรโมชัน Early Bird หรือ Early Cow ก็คือคนที่ตัดสินใจเร็วจะได้บัตรราคาถูกที่สุด มันทำให้เราสามารถที่จะควบคุม Cost รู้ต้นทุน รู้ Budget (งบ) ที่เราจะใช้ได้ เพราะว่าเวลาเราขายบัตรไปแล้ว เราก็จะรู้ว่าเราจะมีรายได้เท่าไหร่ เพื่อจะเอามาพัฒนางาน เพื่อจะเอามาทำให้งานมันดีที่สุด ก็มันจะเป็นกลยุทธ์ในการตั้งต้นว่าขายบัตรให้เร็ว คนซื้อบัตรเร็วก็ได้ราคาถูก แล้วเราก็จะรู้ Budget ที่เราจะเอามาใช้ในการพัฒนาต่อได้ด้วย

The People: ทำไม Big Mountain ครั้งที่ 13 ถึงมีกระแสดรามาแรงกว่าที่ผ่านมา

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: คือก็ต้องขอบคุณทุกคนนะคะ คือแบรนด์ Big Mountain มันแข็งแรงแล้ว มันเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่ากระแสการตอบรับของทั้ง Sponsorship ของทั้งศิลปิน ของทั้งคนดู มันไม่ลดลง มันเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน จำนวนคนก็เพิ่ม สิ่งที่เราต้องเพิ่มก็คือการลงทุนก็เพิ่ม หลาย ๆ อย่างก็เพิ่มไปด้วย

ปีที่แล้วที่เราโดนกระแสลบ จริง ๆ ก็คือมันก็เป็นความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ของทางเรา เราคิดว่าเราน่าจะเอาอยู่กับการดูแลคน 100,000 คน ในพื้นที่ที่มันขยายใหญ่ขึ้นเยอะมาก ในกำลัง Facilities ทุกอย่างที่เราลงไป แต่สุดท้ายเราก็พบว่าปัญหามันก็มี แล้วมันก็มีค่อนข้างเยอะ ซึ่งทั้งหมดนี้เราน้อมรับหมดเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นในโซเชียลในวันนั้นเอง หรือแม้กระทั่งการ survey ที่เกิดขึ้นหลังจบงาน ที่เราได้รับฟีดแบ็กมาตรง ๆ ก็รับหมดเลย รับทุกอย่างกลับมา แล้วก็มาพิจารณาว่าเราจะแก้อะไรได้เร็วที่สุด ได้ดีที่สุด แล้วแก้อย่างไร เราก็จะค่อย ๆ พัฒนางานไปในปีนี้

อย่างแรกเลยก็คือปีนี้ (2566) จะเป็นปีที่เราลดจำนวนคน จำนวนผู้ชม ใช่ เราลดการขายบัตรลง ก็ปีที่แล้วเราเรียกว่าถล่มทลายนะคะ คือคนมันเกินแสนเป็นปีแรก ครั้งแรก ปีนี้เราก็ลดจำนวนคนลงคือ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ขายบัตรลดลงเลย หนึ่งก็คือเราอยากดูแลเขาให้ดีขึ้น ในพื้นที่เท่าเดิม ขยายพื้นที่แต่ละเวทีขึ้นด้วยซ้ำไป คือพื้นที่เรามีทั้งหมด 9 เวที พื้นที่ Area ในผู้ชมมันขยายขึ้น 10-15 เปอร์เซ็นต์จากการปรับผังใหม่ จากการย้ายทิศทางของเวที ปรับเพิ่มเส้นทาง พื้นที่ที่มันขยายได้ก็ขยายออกไปให้มันเหมาะสมมากขึ้น 

ขยายพื้นที่ไม่พอ ลดจำนวนคนไม่พอ สิ่งที่เราพยายามดูแลก็คือปัญหาอื่น ๆ ที่มันเกิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจร ที่ปีนี้ความตั้งใจของเราก็คือ เราจะลงไปร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับผู้คนในท้องที่เหล่านั้น เพื่อจะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จริง ๆ แล้วการจราจรปกติเราดูแลตลอดนะคะ แต่ว่าวิธีการของ Big Mountain ก็คือเรามีลานจอดรถ ที่เป็นลานจอดรถที่เราเช่าที่ เพื่อจะดูแลคนที่มาเที่ยวงานเรา แต่มันไม่พอหรอก คือพื้นที่จอดรถที่เรารองรับได้มันอาจจะแค่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่เหลือเนี่ย ผู้คนเขาก็จะอาศัยจอดริมถนน จอดในลานจอดรถใกล้เคียง ที่เป็นของคนในพื้นที่เปิดขึ้นมา มีพื้นที่ว่างหน้าบ้าน 5 ไร่ 10 ไร่ ทำเป็นลานจอดรถขึ้นมา แล้วมันก็ค่อนข้างเยอะ

สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ เวลาเราดูแลแต่ลานของตัวเอง ลานต่าง ๆ นานาเหล่านี้ไม่มีคนดูแล เพราะว่าทางคนท้องถิ่นก็แค่เก็บตังค์แล้วก็เข้าไปจอด แต่พอตอนเลิกแล้ว สุดท้ายมันก็ไม่มีคนมาช่วยกันโบก สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือทุกคนเวลาจะกลับบ้าน ทุกคนมันออกพร้อมกัน แย่งกันพร้อมกัน มันไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่แบบเต็มกำลังได้ว่า จะโบกในทุกลาน 20-30 ลานพร้อม ๆ กัน มันไม่มีคนดูแลรถไหล่ทางริมถนน มันไม่มีคนดูแลวินมอเตอร์ไซค์ที่จอดไม่เป็นที่เป็นทาง ปีนี้ก็เลยเอาใหม่ เราก็ลงไปดูแลในเรื่องเพิ่มเติมที่เราก็ลงไปช่วยกับชาวบ้าน ลานจอดรถที่อยู่ในบริเวณงานทั้งหมดจะ 10 อัน 20 ลานที่กำลังจะคอยทยอยเปิด เราก็จัดเจ้าหน้าที่ของเราเองเพื่อลงไปโคกัน โบกกันเพื่อให้หยุดก่อน ปล่อยลานนี้ออกก่อน ลานนั้นต่อไป เพื่อให้ทุกคนมันเป็นระบบ เหมือนเวลาเราออกจากลานจอดรถในพารากอน หรือในสถานที่จัดงาน 

แล้วก็วินมอเตอร์ไซค์เอง วินมอเตอร์ไซค์เนี่ยก็ด้วยความที่พื้นที่จอดรถ บางคนก็ขี้เกียจขับรถเข้ามา ก็เรียกวินมอเตอร์ไซค์มาส่งหน้างาน เสร็จแล้วก็รับกลับ แต่วินมอเตอร์ไซค์ที่ผ่านมามันก็มีทั้งคนที่ขับดี และคนที่ขับไม่ดี รวมถึงบางคนก็อาจจะมองว่ามันเป็นการทำกำไรระยะสั้น ลงไป 2 วันได้เงินเยอะแยะ แล้วก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ก็เลยเอาใหม่ ก็เลยคุยกับเจ้าหน้าที่จราจรในพื้นที่ รวมไปจนถึงหัวหน้าวินในพื้นที่ว่า ทุกอย่างเนี่ยเรามาทำร่วมกันไหม ให้มันเป็นระบบระเบียบ 

อย่างน้อยก็คือชื่อเสียงเวลา Big Mountain ไปจัดงานที่โคราช เขาใหญ่ ปากช่องอย่างนี้ ก็จะเป็นชื่อเสียงที่ดีว่ามาที่นี่แล้วมันมีการต้อนรับที่ดี ด้วยการเชิญวินท้องถิ่น คือวินท้องถิ่นเนี่ยเราก็มองว่าจริง ๆ แล้วเราอยากให้รายได้มันกระจายลงไปสู่คนในพื้นที่จริง ๆ เพราะฉะนั้นเนี่ย คุยกันว่า เราจะรับสมัครวินมอเตอร์ไซค์ที่มารับ-ส่งในงานให้เป็นคนท้องที่เท่านั้น ข้อดีของการเป็นคนท้องที่ก็คือกระจายรายได้ลงไปสู่เขาจริง ๆ ข้อ 2 ก็คือเขารู้ทาง เขารู้ว่าเส้นทางจะไปจากโรงแรมนี้ไปถึง Big Mountain มันจะขับไปทางไหนที่ใกล้ที่สุด 

แล้วอีกอันหนึ่งก็คือพอเป็นคนในท้องที่ บางคนก็จะรู้จักกันอยู่แล้ว วิธีการเอื้อไมตรีจิตร รับ-ส่ง คิดตังค์อะไรอย่างนี้มันก็จะพอควบคุมได้บ้าง รวมไปจนถึงเราเอากฎระเบียบเข้าไปช่วยดูแลในพวกวินมอเตอร์ไซค์ว่า ลงทะเบียนกันหน่อย เพื่อจะมีรายชื่อของทุกคน 1,000 คนนี้เป็นใครบ้าง เหมือนเวลาเราไปวินมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอย แล้วเราเห็นว่าข้างหลังเขาติดชื่อติดอะไรอย่างนี้ เพื่อจะได้ร้องเรียนก็จะได้ร้องเรียนได้ถูกคน หรือแม้กระทั่งเห็นว่ามันเป็น Official ว่าคนนี้ได้รับการลงทะเบียนถูกต้อง ก็จะไว้ใจได้ มันก็จะมีระบบระเบียบแบบนั้น ซึ่งพยายามทำให้แก้ปัญหาเรื่องวินจราจร เรื่องปัญหาการจราจรที่รถมอเตอร์ไซค์ไปขวางถนนอะไรอย่างนี้ให้มันดีขึ้น

The People: มีวิธีจัดการกับรายได้ที่ลดลง หลังลดจำนวนคนดูอย่างไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: วิธีการของเราก็คือ จริง ๆ แล้วเรายังมีรายได้ส่วนอื่นนะคะ ก็มี Sponsorship ทีมขายเขาก็ยังมุ่งหน้าที่จะขาย Sponsorship ได้เยอะขึ้น หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนคน แต่ว่าปีนี้เอาตรง ๆ ก็คือเราขึ้นราคาบัตรนิดหนึ่ง นิดเดียว ร้อยเดียวเท่านั้น เพื่อเอาไอ้ส่วนต่างตรงนี้มา Cover ต้นทุนที่มันหายไปจากการลดคน 15 เปอร์เซ็นต์ มันก็จะเป็นส่วนที่เสริมเข้ามาเพื่อจะไปลดอันเก่าลง

The People: เป็นเรื่องกลยุทธ์ด้านราคา (Pricing)?

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ใช่ ก็มีการจัด pricing ใหม่ ปีที่แล้วราคา Early Cow มันอยู่ที่ 1,600 ปีนี้ก็คือขยับเป็น 1,700 เอาจริง ๆ ก็เงินเฟ้อด้วย อะไรด้วยสารพัดนะคะ แล้วก็ลดจำนวนคนด้วยค่ะ

The People: ลดจำนวนคนแล้วห้องน้ำจะต้องเพิ่มด้วยไหม

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: เพิ่ม ตั้งใจก็คือห้องน้ำก็เป็นปัญหาของปีที่แล้ว จริง ๆ จำนวนห้องน้ำไม่ได้น้อยมากขนาดนั้น จำนวนห้องน้ำค่อนข้างเยอะ แต่ว่า Location (ตำแหน่ง) ที่มันกระจายอยู่ มันจะมีส่วนที่คนเห็นกับคนไม่เห็น คนเดินใกล้กับคนเดินไกล เราก็พยายามจัดตรงผังงานใหม่ เพื่อให้ทั้งห้องน้ำ ทั้งจุดสูบบุหรี่ หรือทั้งโซนอาหารเอง มันเข้าถึงได้สะดวกขึ้น แล้วก็ในแต่ละโซนมีจำนวนเพียงพอสำหรับการใช้นะคะ

แต่ว่าอย่างห้องน้ำเองก็ต้องบอกว่า มันเป็นเรื่องของการวางผังห้องน้ำ ห้องน้ำเนี่ยมันไม่สามารถที่จะวางตามใจชอบได้ มันไม่ใช่ว่าคุณอยู่ที่เวทีใหญ่ แล้วคุณอยากจะเข้าห้องน้ำเดี๋ยวนี้ คุณจะต้องเดินไป 5 ก้าวแล้วถึงห้องน้ำเลย มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าห้องน้ำมันเป็นเรื่องของระบบ มันต้องต่อสายน้ำประปาเข้า เอารถดูดส้วมเข้ามาดูด เอาส้วมออกอะไรอย่างนี้ มันมีหลายอย่าง ไหนจะกลิ่นอีก ที่มันแบบถ้าอยู่กลางงานมาก มันก็จะส่งผลไม่ดีต่อผู้คนในงาน วางผังมันก็เลยจำเป็นที่จะต้องอยู่ชิดรั้ว 

เพราะฉะนั้น บางคนอาจจะรู้สึกว่าแบบฉันอยู่ตรงกลางเวที เดินไกลจังกว่าจะถึงห้องน้ำ ซึ่งบางทีมันเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ แต่บอกตรง ๆ ว่าปีนี้พอเราวางผังใหม่ คุณเดินถึงห้องน้ำได้ภายใน 200 เมตร ซึ่งมันไม่ไกลนะคะ 200 เมตร เอาจริง ๆ ก็คือถ้าคุณแพลนว่าเดี๋ยวจะเริ่มแล้ว อยากไปห้องน้ำสักหน่อย รู้ว่าต้องเดิน 200 เมตรมันเผื่อเวลากันได้ ก็วางผังใหม่ อะไรใหม่ ก็จะช่วยได้

สัมภาษณ์ ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเบื้องหลัง Big Mountain ชีวิต แนวคิด และการงาน

The People: ปัญหาเรื่องร้านอาหารที่มีทั้งร้านที่ขายได้เยอะและขายได้น้อยจะแก้อย่างไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: คือร้านอาหารก็มีทั้งขายดีและขายไม่ดีอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องมาตรฐาน แม้แต่เราไปใน Food Court เองเราก็จะเห็นว่ามีบางร้านต่อแถว บางร้านไม่มีคนใช่ไหมคะ มันเป็นเรื่องรสนิยมด้วยข้อ 1 นะคะ มันเป็นเรื่องทำเลด้วย หลายอย่าง ซึ่งถามว่าจริง ๆ แล้วคือมันมีร้านขายดีนะ แต่ว่าก็มีร้านขายลำบาก อาจจะด้วยทำเล ด้วยเมนูอะไรก็แล้วแต่ 

แต่ปีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราเอาร้านอาหารกระจายออกเป็น 3 โซน แปะไปกับเวทีใหญ่ ก็จะเป็นเวทีวัว ร้านอาหารใหญ่ เวที Mountain หมายความว่าทำเลของร้านอาหารตรงนี้ก็จะเซอร์วิสสำหรับ 2 เวทีใหญ่ คือ Mountain กับวัว มีจำนวนอาหารหลากหลายเลย มี 50 ร้านที่จะเซอร์วิสตรงนี้ อีกโซนหนึ่งเป็นโซนไข่เจียวบวกกับร้านอาหารอื่น เขาก็จะแปะไปกับอีก 2 เวทีใหญ่เหมือนกัน ก็จะเป็นระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ โซนอาหารแล้วก็เวที Block เวที Block ก็จะเป็นเวทีที่รวมศิลปินทั้ง T-Pop ฮิปฮอป ร็อกเกอร์อยู่ที่เวทีนี้ก็จะมี 1 โซนใหญ่ ซึ่งจำนวนร้านอาหารอาจจะไม่ได้เท่ากับโซนที่สามย่านที่อยู่ระหว่างเวที Mountain กับเวทีวัว ก็รวมร้านอาหารให้มันเพียงพอกับ 2 เวทีนี้ ลดเหลือ 30 ร้านเพื่อจะ Provide 2 เวทีนี้ 

แล้วมีอีกโซนอาหารหนึ่งที่ Provide สำหรับโซนเวทีที่มันเดินลึกหน่อย โซนเวทีที่อยู่ในป่าอีก 3 เวที ซึ่งเป็นเวทีสำหรับวงวัยรุ่นมาก ๆ เวที Egg เวที Chic เวที Kratom ก็จะมีอีกหนึ่งโซนอาหารที่จะ provide สำหรับเวทีนี้ แต่ถามว่าแต่ละโซนจะขายดีเท่ากันไหม ก็อาจจะไม่ใช่ แต่อย่างน้อยคือเราเลือกปริมาณร้านอาหาร จำนวนร้านอาหาร ให้มันพอเหมาะพอสมกับจำนวนคนที่อยู่ในบริเวณนั้น

The People: แม้แต่เรื่องร้านอาหารก็มีความยาก

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: มันมียุทธวิธีในการคิด Strategic (กลยุทธ์) การวางค่ะ

The People: ไปเรียนรู้การจัดเทศกาลดนตรีสเกลใหญ่ขนาดนี้มาจากไหน

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: เรียนมา 10 ปีนี่แหละค่ะ จาก Big Mountain 3 ถึง Big Mountain 13 จริง ๆ ตั้งแต่ปี 1 ถึง Big 13 เนี่ย คือมันมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ต้องแก้ปัญหาใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นกับคนจัดเอง ไม่ใช่แค่เฉพาะคนดูนะคะ บางทีสิ่งที่เราดีไซน์เอาไว้ในปีนี้ ที่เราบอกว่าเราแยกอาหารเป็น 3 โซน เรากระจายห้องน้ำออกแล้ว สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราก็ต้องไปดูอีกทีหนึ่งว่า ผู้ชมเขาใช้ชีวิตยังไงในงานของเรา มันถูกต้องตามที่เราคิดไหม สิ่งที่เราดีไซน์เอาไว้ทั้งหมดนี้ คือเราดีไซน์ไว้ล่วงหน้าจากปัญหาที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็คิดกันในทีมว่ามันควรจะต้องแก้แบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ หรือแก้ให้มันดีกว่านี้ได้ไหม มันก็จะเกิดขึ้น ณ วันงานอีกทีหนึ่งที่เราจะเริ่มรู้แล้วว่า อันนี้แก้ได้ดีกว่า อันนี้ยังมีปัญหาอยู่ต้องแก้ต่ออะไรแบบนี้

The People: ความท้าทายของการจัดไลน์อัปศิลปินที่ทำให้ Big Mountain ยังคงมีเสน่ห์อยู่

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: คือ Big Mountain เนี่ยเรียกว่าจัดง่าย เพราะหนึ่งก็คือเราบอกว่าเรารวมทุกความฮิตของปี หมายความว่าอะไรเกิดขึ้นในปีนี้รวมได้หมดเลย ไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น และวิธีการจัดอาจจะมองว่าไลน์อัปมันซ้ำอะไรอย่างนี้ แต่ในเนื้อในมันจริง ๆ มันเปลี่ยนทุกปีนะคะ มันมีวงหน้าใหม่ที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมา อาทิเช่น แบบ Tilly Birds เคยเล่นที่เวทีเล็ก เป็นเวทีอินดี้ เวที Egg คนดูหลักแบบ 1,000-2,000 คน Tilly Birds ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมา ปีที่แล้วเล่นเวที Block คนดู 10,000 คน 8,000 คน ปีนี้เขาลงเวที Mountain คนดู 40,000 คน มันก็จะมีวงแบบนี้ที่ค่อย ๆ โตขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามความต้องการของคนดู ตามความฮิต ตามความชอบ ตามเพลงของเขา

ในขณะที่วงใหญ่ ๆ บางวงก็มีคำขอ บางทีก็อาจจะเบื่อว่าแบบเล่นเวที Mountain มาทุกปี ปีนี้ขอเล่นเวทีเล็กหน่อยได้ไหม ปีนี้อยากไปโผล่ที่เวที Block เอาแค่แบบ 15,000 คน แล้วโดดกันยับ หรือแม้กระทั่งการแปลงร่างวงดนตรีบางอย่าง อย่าง Potato ปีที่แล้วก็เกิดการแปลงร่างว่า แบบเล่นโชว์ที่ Mountain คนดู 40,000 คนเฮพร้อมกันเสร็จปั๊บ วันอาทิตย์เกิดเป็นโปรแกรมพิเศษทำเป็น Acoustic ที่เวที Kratom คนดูแค่ 2,000 คน แต่ได้อีกเนื้อหาหนึ่งของ Potato อะไรอย่างนี้ มันก็จะมีการแปลงร่างอะไรหลาย ๆ อย่าง ซึ่งทำให้เกิดความแปลกใหม่ในแต่ละปีค่ะ

สัมภาษณ์ ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเบื้องหลัง Big Mountain ชีวิต แนวคิด และการงาน

The People: มองแบรนด์ Big Mountain เป็นเทศกาลดนตรีแบบไหน

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: คือเราไม่เคยเปลี่ยนเลยเรื่องความใหญ่ที่สุด เรายังมองว่า Big Mountain เป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุด ตอนนี้แทบจะใหญ่ที่สุดใน South East Asia แล้วด้วยซ้ำไป แล้วก็ไม่พอ ใหญ่ที่สุดก็คือมันคุ้มค่าที่สุดนะคะ คุ้มค่าในที่นี้ก็คือก็คุณได้ดู มันอาจจะไม่ได้มีไลน์อัปแบบ International Festival แต่มันเป็นไลน์อัปแบบคนไทยชอบ รักจริง ๆ ที่จะไปดู แล้วมันไม่ใช่มีแค่วง Headliner มันมีวงเล็กวงน้อย ที่ถ้าคุณมีเวลาคุณลองเดินดู คุณก็จะพบว่ามันหลากหลายมาก อันนี้คือจุดยืนที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย ความใหญ่กับความคุ้มค่า

แต่สิ่งหนึ่งที่เรากำลังค่อย ๆ สร้างขึ้นมา แล้วเราคิดว่ามันจะเป็น Branding ที่ตั้งใจจะไปในอนาคต ก็คือเราอยากเป็นเทศกาลดนตรีที่ได้มาตรฐาน และมาตรฐานเดียวกับระดับโลกเลย Big Mountain มันอาจจะขายวงดนตรีไทยนะ ราคาค่าบัตรถูกมากนะ แต่ว่าประสบการณ์ที่คุณได้รับมันจะค่อย ๆ ดีขึ้นในทุกปี การจัดผังเวที การลงเครื่องเสียง การลงระบบไฟ ระบบจอ Facilities พื้นฐาน หรือแม้กระทั่งกิจกรรม ที่ถ่ายรูป มันจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทุก ๆ ปี พัฒนาในที่นี้มันพัฒนาทั้งเพื่อคนดู พัฒนาเพื่อศิลปิน เพื่อทีมงาน 

อย่าง Big Mountain แต่ก่อนนี้ก็คือไม่เคยมีเวทีที่เป็นรูฟท็อป รูฟท็อปก็คือเวทีขนาดใหญ่ มีหลังคาที่ติดไฟเข้าไป แล้วกันฝนได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ คุณสามารถเล่นได้โดยที่ไม่ต้องห่วงว่าฝนจะตก คนดูยังมีความสุขได้แม้ฝนจะตกก็ตาม แล้วก็ดูแลพวกนักดนตรี ดูแลสมาชิกของวงดนตรีอยู่บนเวทีให้ไม่เปียก อย่างนี้ไม่เคยมี Big Mountain ก็เริ่มทำแล้ว เริ่มทำเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ปีที่แล้ว มีเวทีที่เป็นรูฟท็อป 3 เวที ปีนี้ก็ใส่เข้าไปอีก เพิ่มเข้าไปอีก เพื่อจะให้ศิลปินสามารถที่จะโชว์แบบที่เขาต้องการได้ พอใส่รูฟท็อปเข้าไปก็เริ่มใส่จอ LED เข้าไป เวทีมันใหญ่ขึ้น คนดูมันเยอะขึ้น บางทีการที่เรามีจอ LED เพื่อจะให้ศิลปินได้เล่น Motion Graphic ได้ขึ้นชื่อวงในขณะที่เขาเล่นอย่างนี้ มันก็จะทำให้ประสบการณ์การโชว์มันดีขึ้น ทั้งคนดู ทั้งศิลปินเอง

The People: ประสบการณ์ทางดนตรีที่ Big Mountain ตั้งใจจะมอบให้กับคนดูคืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: คืออย่างที่บอกว่าเรารวมหมดทุกอย่าง เรารวมหมดจริง ๆ คือเราไม่แยกเลยว่าคุณจะเป็นแนวไหน คุณจะเป็นร็อก เป็นฮิปฮอป เป็นอะไร มันมีที่สำหรับคุณเสมอ แต่เพียงแต่มันอาจจะกลายร่างไปตามยุคสมัย ตามความต้องการของคนดู ปีก่อน ๆ อย่างนี้เราเคยมีเวทีซอย 2 LGBT+ ยุคแรกเลย ก็คือเปิดเพลงแบบเพลงแดนซ์ไปเที่ยวในสีลมซอย 2 อะไรอย่างนี้ เราก็เคยมีมา หรือแม้กระทั่งปีที่ฮิปฮอปบูมมาก ดังมาก เราก็มีเวทีฮิปฮอปเพื่อเอาศิลปินฮิปฮอปขึ้น เอาสาวกฮิปฮอปไปรวมกันที่นั่น แต่พอ ณ วันนี้ศิลปินฮิปฮอปก็เริ่มกลายร่าง เขาเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ แมสขึ้นเรื่อย ๆ เราก็โยกเขาไปอยู่ตามเวทีใหญ่ TJ ก็ไปขึ้นเวทีแบบ Mountain เลย หรือศิลปินที่เล็กหน่อยอาจจะไปอยู่ที่เวที Block หรือเวที Egg ก็คือมันไม่ได้มีเวทีว่าเวทีนี้มันจะต้องอยู่ไปทุกปี มันก็จะกลายร่างไป 

หรืออย่างระเบียบวาทะศิลป์เนี่ยก็เพิ่งมาจอยเมื่อปีที่แล้วนะคะ เกิดจากว่าก็ดังจริง ๆ อะ ไม่มีอะไรจะต้านเขาได้ แล้วเขาก็ต้องมา มันก็กลายร่างจากที่แต่ก่อนหน้านี้เรามีเวทีเป็นเวทีโจอี้บอย ไม่รู้ว่าเคยได้ยินหรือเปล่า ก็คือ Rum Wong Bar X Joeyboy พี่โจอี้บอยก็เอาเพลงดัง ๆ มาทำเป็นแนวสามช่า มันก็กลายร่างใหม่ว่ารำวงไป Collab กับระเบียบวาทะศิลป์ กลายเป็นเวทีใหม่เกิดขึ้นมา

พอปีนี้ก็เหลือระเบียบวาทะศิลป์คนเดียว แล้วเอาแก๊งหมอลำลูกทุ่งเข้ามาจอยเพิ่ม มันก็จะปรับเปลี่ยนกันไป หรือ EDM เอง วันหนึ่งที่ EDM ดังมาก ๆ ในประเทศไทยย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว เราก็มีเวที EDM แบบจริงจัง ตอนนี้เวที EDM ก็กลายร่าง คือกลายร่างเป็นเวทีเล็กลง แต่ว่าไปเต้นรำในป่านะ เขาไม่ได้ต้องเป็นสเกลใหญ่ยักษ์อะไรแบบนี้ ก็เหลือเล็ก ๆ เพราะว่าคน Big Mountain ก็จะมีรสนิยมในการฟังเพลง อาจจะไม่ได้แบบทุก segment เท่ากันหมด บาง segment มันอาจจะแบบคนดูเยอะหน่อย บาง segment มันอาจจะน้อยหน่อย เราก็จัดขนาดของเวทีให้มันเหมาะสมกับกลุ่มคน

The People: ความพิเศษของปีนี้ (2566) คืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ปีนี้เป็นเรื่องการแก้ Pain Point เลยค่ะ ปีนี้คือความตั้งใจตอนที่คิดธีมงานขึ้นมาครั้งแรก เรามองว่าอย่างที่เราบอกว่าเราอยากทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ปีที่แล้วเราพลาดหลายอย่าง ความตั้งใจในปีนี้คือแก้ Pain Point สิ่งที่คุณเห็นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธีมเรื่องประเทศอะไรอย่างนี้ Core มันจริง ๆ ก็คือเราแก้ปัญหา จัดผังงานใหม่ จัดทุกอย่างกลายเป็นย่าน 15 ย่าน แต่ละย่านก็คือมีทั้ง 9 เวทีนะคะ มีย่านตลาด มีอะไรอย่างนี้ แต่ละย่านอย่างนี้ นอกจากไลน์อัพที่น่าสนใจแล้ว เรายังลงกิจกรรม เรายังลงความต้องการพื้นฐานลงไปในแต่ละย่านด้วย 

อาทิเช่น สมมติเรายกตัวอย่างเวที Block Stage อย่างที่เราบอกว่าเป็นเวทีที่รวมหลายแนวดนตรี รวมชาวด้อมด้วย เวทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราอยากให้มีพื้นที่ชูป้ายไฟ เราก็เลยทำ Deck ขึ้นมา ก็คือนั่งร้านที่สูงเหนือหัวสูงขึ้นมา เสร็จปั๊บให้คนที่มีป้ายไฟขึ้นไปเชียร์วงที่เขารักได้ในช่วงโชว์นั้น ก็เป็น Deck ซัพพอร์ต Deck ไม่พอในช่วงคั่นวง ปกติแล้วคุณก็จะเห็นว่าเราเปิดสปอตโฆษณาลูกค้า หรือแม้กระทั่งเปิดเพลงบิลด์ไป เราใช้พื้นที่การคั่นวงตรงนี้ สามารถเปิดรับโปรเจกต์แฟนเข้ามาได้

โปรเจกต์แฟนก็คือคุณมีเวลาเหมือนที่เวลาไปแฟนมีต คุณมีเวลา 1 นาทีจะคุยอะไรกับศิลปินคุณก็ได้ หรือจะคุยอะไรกับคนที่เที่ยวอยู่ในงาน Big Mountain ก็ได้คุณ สมมติคุณเป็นแฟน 4EVE แฟนคลับบ้าน 4EVE ทำคลิปมาให้เรา เราก็จะเปิดให้บนจอเวที Block Stage เลย 1 นาที เพื่อให้ทุกคนในงานได้รู้จัก 4EVE หรือแม้กระทั่งจะ Anniversary (ครบรอบ) หรือจะส่งกำลังใจให้ศิลปินอะไรอย่างนี้ก็ได้หมดนะคะ มันก็เหมือนพัฒนาไปด้วยกัน 

หรือว่าอย่างปีนี้มันมีย่านใหม่ เวทีใหม่ขึ้นมาที่ทำร่วมกับน้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ปีที่แล้วน้าเน็กทำ Akojorn Pub อำลากันไปเรียบร้อยแล้ว ปีนี้กลับมาใหม่เป็นเวทีแจซ เปลี่ยนเลยเพราะเรามองว่าสุดท้ายแล้วมีกลุ่มคนอีกกลุ่มคนหนึ่งที่เขาอยากไปเทศกาลดนตรี Big Mountain นะ แต่เขาก็ต้องการพื้นที่สบาย ๆ เขาไม่ได้ต้องการเข้าไปเบียดกับคนมากมาย เขาอยากฟังดนตรีชิลล์ ๆ นอนบนบีนแบ็กแล้วดูโชว์ดี ๆ เพลงดี ๆ ก็เลยทำเวทีแจซขึ้นมา ซึ่งกลายร่างก็คือเป็นหนึ่งเวทีสเกลขนาดย่อม 1,000 คนอยู่ในนั้น แต่นอนบีนแบ็กดูวงแจซดี ๆ มีศิลปินที่เล่นสไตล์แบบสไตล์แจซไปลง

The People: กว่าจะจัดงานในแต่ละปีจะต้องทำรีเสิร์ชกันก่อนไหม

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: มีรีเสิร์ชด้วย มันทั้งการรีเสิร์ช รีเสิร์ชจากทีม CRM ของเราก็มีการทำรีเสิร์ชว่า คนชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากได้อะไรเพิ่มนะคะ ไม่พอ คุยกันเองในวง คุยกันเองกับศิลปิน คุยกันเองกับอย่างน้าเน็กอะไรอย่างนี้ น้าเน็กเป็นคนมาเสนอไอเดียว่าอยากทำบาร์แจซ เราเคยอยากทำมาแล้วบาร์แจซ แต่เราคิดว่า เอ๊ะ มันจะทำยังไงดี พอน้าเน็กเสนอมาก็แบบ เฮ้ย เอาเลย เพราะอยากทำอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้อยากทำสเกลที่มันเล็กกว่านี้ แต่พอน้าเน็กมาก็ เอ้า ขยายใหญ่ขึ้นสิ เพราะอย่างน้อยก็มีแบรนด์ของน้าเน็กที่มาจับมือร่วมกัน ที่ทำให้มันน่าจะดึงคนที่เป็นแฟนคลับน้าเน็กบางส่วนมาได้ด้วย

The People: ความยั่งยืนของแบรนด์ Big Mountain คือจุดแข็งด้านความหลากหลายของดนตรี?

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: หลากหลายก็ด้วย สุดท้ายแล้วประสบการณ์ที่คนดูได้รับจะทำให้แบรนด์นี้มันยั่งยืน หมายถึงว่ามันก็จะมีคนที่เข้ามาใหม่ กับคนที่มาซ้ำ ๆ คนที่มาแล้วก็จะส่งต่อความดีงามมันออกไปว่า มาแล้วมันสนุก มันอาจจะไม่ได้มาซ้ำอีก แต่อย่างน้อยสิ่งที่เขาพูดถึงแบรนด์ มันก็จะเป็นตัวดึงคนใหม่ ๆ เข้ามาด้วย ก็สิ่งที่พยายามพัฒนาตลอดนะคะก็คือเรื่องแบบนี้ ประสบการณ์คนดู แต่ว่าประสบการณ์คนดู ประสบการณ์ศิลปิน รวมถึงสปอนเซอร์เองที่มันจะต้องโตไปด้วยกันทั้ง 3 ทาง ศิลปินก็พัฒนา Facilities พื้นฐานให้เขา เพื่อให้เขาโชว์ได้อย่างดีที่สุด อำนวยความสะดวกในสิ่งที่จำเป็นที่เขาต้องมีทั้งหมด สปอนเซอร์เองอะไรอย่างนี้ก็เหมือนกัน ก็คืออะไรที่มันโคกันได้ มัน Collab กันได้เพื่อให้เขาได้ประโยชน์ แบรนด์เราก็ได้ประโยชน์ ก็จะทำไปด้วยกันแบบนี้

The People: รู้สึกกดดันไหมกับการต้องทำงานสเกลใหญ่ ๆ มาตลอด

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ก็งานใหญ่สุดก็คือ Big Mountain ที่เหลือเนี่ยก็จะเป็นสเกลอย่างตัว Three Man Down ที่เป็นคอนเสิร์ตโซโล่ก็จะมีแบบปี ๆ หนึ่งก็อาจจะมีวง 2 วงอะไรอย่างนี้ ซึ่งอันที่เป็นโซโล่เนี่ยเราจะทำงานร่วมกับศิลปินค่อนข้างเยอะ ศิลปินและค่ายค่อนข้างเยอะ เพราะว่ามันคือตัวตนของเขาจริง ๆ มันจะคุยกันละเอียด มันจะทำโชว์ร่วมกัน วางแผนร่วมกันทั้งหมด แผนไปจนถึงแผนชีวิตของเขาว่า ถ้าจะมีคอนเสิร์ตปีหน้าเขาจะทำอะไรบ้าง เขาจะต้องทำอัลบั้มใหม่ไหม เขาจะต้องปล่อยเพลงกี่เพลง เพื่อจะมีคอนเสิร์ตในปีหน้า ก็จะวางแผนร่วมกันละเอียด ซึ่งวิธีการทำงานก็จะไม่เหมือนกัน

อย่าง Big Mountain อะไรอย่างนี้ เราก็จะเริ่มคิดว่าเราต้องการอะไร คนดูต้องการอะไร มาเจอกันแล้วก็สร้างเป็นงานที่ดีที่สุดในแต่ละปี ของโซโล่ก็จะเจอกับศิลปินว่า เราอยากให้งานครั้งนี้ออกมาเป็นแบบไหน ศิลปินอยากให้งานครั้งนี้ออกของเขาออกมาเป็นแบบไหน มาจูนกันแล้วก็สร้างเป็นงานที่น่าสนใจ เพื่อแฟนคลับและเพื่อตัวศิลปินเอง อย่างของถ้าเป็นงานธีมคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็น GRAMMY - RS หรืออะไรก็ตาม มันจะเป็นเรื่องการต่อยอดค่ะ ต่อยอดของสิ่งที่เราเคยทำ เราเคยมีอยู่ แต่เอามาผสมผสาน เปลี่ยนแปลงร่าง ทำอะไรใหม่ ๆ เติมกิมมิก เติมธีมลงไปครอบ เพื่อให้มันขายในอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา ก็วิธีการทำธีมคอนเสิร์ตมันก็จะผสมกันระหว่างการทำเฟสติวัลกับทำโซโล่ คือเราก็คิดขึ้นมาก่อนว่าเราอยากได้อะไร ไปชวนศิลปินที่คิดว่าจะอยู่ในธีมนี้ แล้วมาสร้างผลงานที่สนุก มันดี มันเข้ากันกับคนดูว่าเขาเอาไหม ไปชวนเขามา ถ้าเขามาปั๊บก็เริ่ม Develop (พัฒนา) งานร่วมกัน อะไรแบบนี้มันก็จะมี 2 ส่วน

สัมภาษณ์ ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้บริหารหญิงเบื้องหลัง Big Mountain ชีวิต แนวคิด และการงาน

The People: กลยุทธ์ที่ทำให้บัตรคอนเสิร์ตล่าสุดของ Three Man Down สามารถ Sold Out อย่างรวดเร็วคืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: Three Man Down นี่เป็นเรื่องจังหวะเลยค่ะ คือเราเห็นว่า Three Man Down เนี่ยเป็นวงที่พร้อมแล้วสำหรับการมีโซโล่คอนเสิร์ต แล้วศิลปินเองก็อยากมี สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือเราต้องหาสเกลที่เหมาะสม ถามว่าอิมแพคอารีน่าเหมาะสมไหม คือเหมาะสมมาก ๆ กับฐานแฟนเขาทุกวันนี้ กับความดัง ความฮอตของวงทุกวันนี้ ก็เลยร่วมกัน เห็นร่วมกันว่ามันต้องไปอิมแพคฯ พอไปอิมแพคฯ เสร็จปั๊บก็วางแผนร่วมกัน เราก็วางแผนเพราะเวลาเราจองฮอลล์ อุปสรรคสำคัญในการจัดคอนเสิร์ตโซโล่ หรือคอนเสิร์ตธีม อันนี้คือเรื่องการจองสถานที่ สถานที่ทุกวันนี้มันมีจำกัดมาก ถ้าเราอยากจะได้สถานที่ที่ดี ๆ สถานที่ใหญ่ ๆ ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ อย่างอิมแพคฯ หรือพารากอน หรือราชมังฯอย่างนี้ มันต้องคุยกันล่วงหน้าเป็นปี ๆ เพื่อจะวางแผนว่าฉันจะบุ๊กแล้วนะ เอาเดือนนี้นะ

แล้วหลังจากนั้นศิลปินก็คุยกับค่าย ค่ายคุยกับศิลปินหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อจะวางแผนว่าแบบโอเค ได้วันจัดงานแล้ว ปีหน้าคือวันนี้ เรามาทำแผนทุกอย่างที่เหลือของศิลปินเพื่อ align ไปกับตัวคอนเสิร์ตใหญ่ มันก็ต้องวางแผนร่วมกันไปแบบนี้ ซึ่งของ Three Man Down เนี่ยมันเป็นจังหวะที่สุกงอมพอดีค่ะ วางแผนตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้ว่าปีนี้จะต้องมีนะ แล้วประกอบกับว่าเขาก็ทำผลงานของตัวเองดีขึ้นเรื่อย ๆ ปล่อยเพลงก็ดี เอ็มวีก็ดี ไปงานเฟสติวัลทุกอย่างคือโชว์ดีหมด มันก็เลยส่งเสริมทุกอย่างให้แบบพอขายบัตรมันก็คือ Sold Out ในเวลารวดเร็ว

จริง ๆ แล้วน่าจะเพิ่มรอบได้ด้วยซ้ำ แต่เราก็มองแล้วว่า เอ๊ะ ศิลปินอยากเล่นรอบเดียว ด้วยความที่เขาอยากทุ่มไปเลยทีเดียวแล้วให้สุด ๆ ไปเลย ไม่ต้องมีรอบ 2 ไม่ต้องกั๊กกันแล้วอะไรทั้งสิ้น ก็เลยมองว่าโอเค งั้นรอบเดียวจบ รอบเดียวที่อิมแพคอารีน่าก็เลยยิ่ง Sold Out เร็วเข้าไปใหญ่ คนก็ยิ่งหาบัตรเข้าไม่ได้เข้าไปใหญ่ 

ทีนี้พอมันสำเร็จมาก ๆ แบบนี้ เราก็เลยโอเคก็เริ่มมอง ทุกคนอาจจะเห็น Hint (สัญญาณ) อยู่ในคอนเสิร์ตแล้วว่ามันก็เริ่มมี To Be Continue at … ว่าต่อไปครั้งหน้าจะเจอกันที่ไหน อันนี้ก็เป็นสูตรต่อไปแล้ว ว่าแบบก็จะต้องเริ่มวางแผนสเต็ปต่อไปว่า ครั้งหน้าของ Three Man Down จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน ก็จะมีการวางแผนร่วมกันค่ะ

The People: เคยมีงานที่ล้มเหลวไหม แล้วต้องแก้ปัญหาอย่างไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ล้มเหลวใหญ่สุดก็น่าจะ Big 11 มั้ง อันนั้นมันเป็นช่วงโควิด-19 ก็คืออย่างที่เห็นข่าว มันก็มีเรื่องวันที่ 2 ที่เราไม่ได้แสดงต่อ หลังจากที่วันที่ 1 มันมีปัญหา มันก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็ต้องปิดงานอะไรก็แล้วแต่ ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป สิ่งที่เราทำในวันนั้นมันก็เป็นเรื่องการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา อย่างตรงไปตรงมากับคนที่เขาอยู่ในงานกับเรา กับ Sponsorship กับใครก็แล้วแต่ กับสื่อมวลชนอะไรอย่างนี้ ว่าสิ่งนี้มันกำลังเกิดขึ้น แล้วเราแก้ปัญหาด้วยการคืนเงิน ประกาศคืนเงินทุกคนหมดเลย แต่แฟน ๆ ก็น่ารักมากนะคะ คนที่ซัพพอร์ตก็คือก็ไม่เอาเงินคืนบ้าง ให้กำลังใจ ให้โอกาสปีหน้า มันก็เป็นเรื่องที่เราว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญสุดเวลาเกิดความผิดพลาดขึ้นมาว่ามันพลาดแล้ว แล้วจะแก้ปัญหากันต่อไปยังไง เราจะเดินหน้าต่อไปยังไง ก็อธิบายให้เข้าใจค่ะ

The People: มีผลกระทบทางธุรกิจมากน้อยขนาดไหน

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ก็เอาจริง ๆ ก็คือทางฝั่งผู้บริหารอะไรทั้งหมด เขาประเมินสถานการณ์แล้วว่าจริง ๆ มันเป็นเรื่องการสร้างแบรนด์ระยะยาวด้วยแหละว่า Big Mountain มันไม่ได้จบแค่ปีนั้นปีเดียว เราจะเดินหน้าต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ความรู้สึกของคนดู กับความรู้สึกของสปอนเซอร์ หลาย ๆ อย่างเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ก็ตัดสินใจว่าแม้ว่ามันจะกระทบกับเรื่องการเงินหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็พร้อมที่จะดูแลคนดูมากกว่าค่ะ ก็เป็นเรื่องที่พี่ ๆ ผู้บริหารเขาตัดสินใจกัน

The People: มองการเดินหน้าในเส้นทางธุรกิจ Showbiz ต่อไปอย่างไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ก็ Big Mountain ยังเป็นหลักอยู่นะคะ แต่ GMM Show เรา เราขยายธุรกิจออกเรื่อย ๆ อาจจะเคยได้เห็นข่าวแล้วที่พี่เจ๋อ ภาวิต (จิตรกร) พูดถึงเรื่องการเอา GMM Music ออกมาจาก GMM Grammy แล้วจะขยาย GMM Music ให้ใหญ่ขึ้น ก็คือ GMM Show ของเราก็อยู่อันเดอร์ GMM Music เพราะฉะนั้น ก็คือมันก็มีทิศทางในอนาคตที่เราจะขยายต่อไปนะคะ ตอนนี้เราเริ่มขยายมาแล้ว อาจจะเห็นแล้วว่านอกจากงาน Big Mountain ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว เรายังมีงานเทศกาลดนตรีอีกหลายงานมากที่ใหญ่ที่สุดระดับภาค แล้วจะค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ 

ถ้าเราเห็นก็คือเรามีเชียงใหญ่เฟสที่เชียงใหม่ ก็เป็นอีกทีมหนึ่งทำนะคะ เขาก็ค่อย ๆ ขยายขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งหมด 3 เวที คนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ก็ปักหมุดว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ มันก็จะมีอย่างนี้ขยายไปอีก มีเฉียงเหนืออีก คือนอกจาก Big Mountain Big Mountain มันใหญ่ที่สุดในประเทศ เฉียงเหนือเนี่ยจะใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ก็จะค่อย ๆ โตขึ้น มีพุ่งใต้ที่ลงไปที่หาดใหญ่ ก็จะใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มี Monster ที่จะใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯอย่างนี้ค่ะ แล้วก็ขยายหัวเมือง ไม่พอ ในอนาคตมันก็อาจจะมีอะไรอย่างนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่แค่เรื่อง GRAMMY RS หรือเรื่องคอนเสิร์ตในฮอลล์ แต่เรามองว่าคือ GMM Show วันนี้ก็น่าจะเป็นมือวางอันดับ 1 ของผู้จัดเทศกาลดนตรีในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ Big Mountain อย่างเดียว แต่ยังมีเฉียงเหนือ พุ่งใต้ เชียงใหญ่ Monster ที่รองรับตรงนี้อยู่ด้วย

The People: หลังจากมีระดับประเทศ ระดับภาคแล้ว สเกลต่อไปที่มองคือระดับไหน ถือว่าไปสุดแล้วหรือยัง

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ไม่น่าสุดนะคะ จริง ๆ แล้วยังมีแพลนอยู่ เพียงแต่ว่าก็ค่อย ๆ ทยอยปล่อยค่ะ ก็จะค่อย ๆ ทยอยปล่อยไปเรื่อย ๆ

The People: ถ้าจะไปสุดกว่านั้นก็เดาไม่ออกแล้วว่าจะมีอะไรใหญ่กว่านี้

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ก็จะระดับโลกในอนาคต (หัวเราะ) อาจจะเห็นแบรนด์ GMM Show ทำอะไรระดับโลกก็ได้

The People: มีไว้ในใจแล้วหรือยัง

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: จริง ๆ มันเป็นโอกาสทางธุรกิจแหละค่ะ เรามองว่า ณ วันหนึ่งถ้าเรามีแบรนด์ที่มันใหญ่ แล้วสามารถที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศอะไรเข้ามาได้ ก็เป็นเรื่องดีสำหรับตัวภาพใหญ่เลย แต่อันนี้ไม่ได้อยู่ในแผนว่ามันจะเกิดขึ้นปีหน้า ปีไหนนะคะ แต่ว่าสุดท้ายแล้วคือถ้ามีจริง ๆ เราก็คิดว่าทีมเราก็พร้อมที่จะทำอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว ด้วยประสบการณ์คนทำงานทั้งหมดที่อยู่ใน GMM Show

The People: คติที่ยึดถือในการทำงานคืออะไร

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: จริง ๆ ของตัวเองนะ คือต้องสนุก สนุกเลยคืออันดับแรก ถ้าไม่สนุกเนี่ยก็จะรู้สึกว่าไม่อยากทำ สนุกในที่นี้มันมีทั้งเรื่องสนุกบันเทิง ๆ สนุกกับการแก้ปัญหา สนุกกับการพัฒนาอะไรอย่างนี้ แต่ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากว่าสนุกกับมันก่อน ปัญหาก็สนุกได้ ถ้าคิดว่าจะแก้ให้มันดีขึ้น ก็เลยเป็นหลักสำคัญเลยต้องสนุก

The People: เป็นคนประเภท ‘ถ้าได้ทำงานที่รักจะไม่รู้สึกว่าทำงาน’ ไหม?

ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์: ก็ยังรู้สึกว่าทำงานอยู่ทุกวันนะคะ (หัวเราะ) ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ทำงาน แต่ว่าใช้ชีวิตมันก็จะใช้ชีวิตได้บาลานซ์ได้ดีขึ้น ถ้ามันทำแล้วมันต้องทุกข์ทรมานอะไรอย่างนี้ มันก็จะรู้สึกว่าการทำงาน 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมงต่อวัน มันกลายเป็นการ Suffering (ทรมาน) ตัวเอง ก็ไม่ดี ก็ควรจะออกมา แต่ถ้าทำแล้วด้วยความสนุก แม้ว่ามันจะเหนื่อย แม้ว่ามันจะหนัก แม้ว่ามันจะมีปัญหาเยอะแยะมากมาย แต่ว่าถ้ายังสนุกกับมัน รักในตัวงานที่ทำอยู่ ก็น่าจะไปต่อได้ยาว ๆ ค่ะ