19 ก.พ. 2566 | 18:54 น.
เราเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ‘ฮ่องเต้ - กนต์ธร เตโชฬาร’ จากบทบาทที่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่คงรู้มาว่าเขาคือเจ้าของเพจ Art of Hongtae ที่เผยแพร่ผลงานศิลปะหลากแขนงมานานกว่า 11 ปี ไม่เฉพาะงานอาร์ตเท่านั้น เขายังสวมบทบาทเป็นครู นักพากษ์เสียงภาพยนตร์ พิธีกร ทำละครเวที จัดนิทรรศการ วาดภาพประกอบหนังสือ ออกแบบร้านอาหาร Art-di รายการทีวี และนักเขียน ซึ่งจริง ๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่ชายคนนี้จัดสรรเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน ทุ่มพลังให้กับงานที่หลั่งทะลักเข้ามา จนทำให้เราอดรู้สึกทึ่งไม่ได้ว่า ชายคนนี้เอาแรงฮึดมาจากไหนในการทำทุกอย่างขนาดนี้
แล้วจะมีเหตุการณ์ไหนเข้ามาฉุดเอาพลังความบ้าดีเดือดของเขาให้ลดลงได้บ้าง ซึ่งบทสนทนานี้จะพาไปรู้จักชายวัยสามสิบปลายที่ครั้งหนึ่งเคยถูกพิษรักเล่นงานเจียนตาย ถึงขนาดนอนร้องไห้ไปครึ่งค่อนปี แต่เมื่อปาดน้ำตา เอาความบ้า(งาน)เข้าสู้ เขาก็เปลี่ยนความช้ำใจ เป็นผลงานศิลปะที่ฉาบเคลือบไปด้วยความเจ็บปวดสีหวาน
เพราะไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ มนุษย์เราสามารถเจ็บปวดจากความรักได้เสมอ...
“เดี๋ยวมันก็เจ็บอีก อายุไม่เกี่ยว มึงมีสิทธิ์เจ็บตลอดไป”
กำเนิดฮ่องเต้
เราหยุดอยู่หน้าบ้านสูง 3 ชั้นที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเจ้าของบ้านหลังนี้เป็นศิลปินท่านหนึ่งแน่นอน ก้มมองเวลานัดหมายอีกครั้ง ก่อนจะกดกริ่ง ยืนรอ พยายามชะเง้อมองหาว่าใครจะเป็นคนมาเปิดประตูให้เราเข้าสู่โลกอีกใบของฮ่องเต้ แม้ว่าประตูรั้วจะเปิดอยู่ราวกับกำลังเชื้อเชิญให้เราเดินเข้าไป แต่เรากลับคิดติดตลกว่าถ้าเดินผ่านรั้วบ้านไป เกรงว่าจะโดนข้อหาบุกรุกเข้า ซึ่งถ้าหากโดนเข้าจริงอันนี้ก็คงขำไม่ออก
ยืนรอสักพัก คุณส้ม เลขาฯ ของฮ่องเต้ก็เปิดประตูมาต้อนรับ พร้อมผายมือเชิญให้เข้าบ้าน หลังจากบานประตูปิดลง เรามองสำรวจบ้านอย่างละเอียด พร้อมกับคิดในใจว่า นี่มันสวรรค์ของนักสะสมชัด ๆ มีของวางเต็มแทบทุกชั้นของบ้าน เราเดินขึ้นบันไดมาหยุดที่ชั้น 3 เธอแนะนำให้นั่งรอฮ่องเต้ตรงห้องทำงานของเขา ก่อนจะหายตัวไปทำธุระของเธอต่อในห้องกระจกข้าง ๆ กัน
บรรยากาศในห้องทำงานของฮ่องเต้ชวนให้เรารู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะหน้าต่างด้านซ้ายที่เปิดให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามา มีต้นไม้เต้นไหว ๆ อยู่ด้านนอก ใกล้กับโซฟามีผลงานศิลปะ ‘ฮ่องอักษร’ วางอยู่ ปรากฏข้อความที่แสดงความเจ็บปวดของเขาวาดไว้บนผืนผ้าใบสีพาสเทล
ไม่ใช่ตกหลุมรัก ตกลงรัก!
มีรัก เพื่อให้รู้ว่ามีรักแล้วก็ทุกข์ ทุกข์ที่รัก
แต่ละข้อความที่ผ่านสายตา ชวนเราสะอึกเล็กน้อย มันทั้งรวดร้าวและงดงามไม่ต่างกัน อาจเป็นเพราะถ้อยคำที่ไม่ต้องประดิษฐ์อะไรให้มากความ แต่สามารถสื่อถึงใจคนอ่านได้อย่างจัง ขณะกำลังสอดส่องสายตาไปทั่วห้อง เราได้ยินเสียงฝีเท้าของเจ้าของบ้าน กำลังเคลื่อนเข้ามาใกล้ห้องเต็มที เขาเปิดประตูเข้ามาทักทาย พร้อมแก้วกาแฟในมือ จิบหนึ่งอึก แล้วทิ้งตัวนั่งลงที่เก้าอี้ตัวโปรด
เราเริ่มบทสนทนาอย่างเรียบง่าย ถามเขาว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร เพราะอะไรถึงสนใจงานศิลปะ ราวกับเป็นแพทเทิร์นที่ผู้มาสัมภาษณ์จะต้องชวนเขาคุยเรื่องนี้ทุกครั้งไป และเราก็เป็นหนึ่งในนั้น
ฮ่องเต้เล่าว่าเขาโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนความชอบด้านศิลปะ พ่อเป็นหมอผ่าตัดสมอง และแม่เป็นผู้สนับสนุนทุกความต้องการของลูกชาย โดยไม่มองว่า ‘ศิลปะ’ เป็นเรื่องเพ้อฝันที่ใช้หากินไม่ได้
“พ่อค่อนข้างเห็นความสำคัญของการทำงานศิลปะ แม้ว่าเขาจะไม่ได้มองว่าวาดรูปแล้วมันเจ๋งมาก หรือเป็นคนในเส้นทางศิลปะ เปล่าเลย เขา 2 คนเป็นคนธรรมดามาก ๆ เป็นหมอทำงานแบบปกติ แล้วก็เป็นผู้หญิงปกติ แต่ว่าเขาก็เล็งเห็นว่าศิลปะมันช่วยพัฒนาสมอง เป็นจุดเริ่มต้นแบบนั้น เพราะงั้นเขาก็เลยพยายามส่งเราไปเรียนศิลปะ จุดนั้นล่ะมั้งที่ทำให้มันเกิดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ตามมา คือเราก็ไปเรียนศิลปะกับ ‘ครูสังคม ทองมี’ อาจารย์ศิลปะที่เป็นคนที่ทำให้ศิลปะเด็กในเมืองไทยมันงอกงาม
“แล้วก็เราค่อนข้างเชื่อว่าเราโชคดีมากตรงที่ว่าบ้านเราค่อนข้างพร้อม พร้อมในแง่ฐานะ พร้อมในแง่สภาพครอบครัว พร้อมในแง่ความรู้ พ่อเป็นบุคลากรที่บูชาความรู้อย่างรุนแรงมาก เป็นหมอแบบหมอผ่าตัดสมอง เขาก็จะมีความแบบโอเค ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ แม่เราด้วย แม่เราก็ค่อนข้างจริงจังมากกับการที่ลูกต้องตั้งใจเรียน
“พอเขาเห็นว่าการทำศิลปะแล้วมันไม่ได้ทำให้การเรียนมันเสีย คือศิลปะมันชอบโดนเอาไปผูกโยงกับความเป็นขบถ ความไม่อยู่ในกรอบ เพราะคำว่าอยู่ในกรอบของผู้ใหญ่ มันคือการแบบว่ามึงไม่เชื่อฟัง พอไม่เชื่อฟัง มึงก็เลยเรียนไม่เก่งไง มันเชื่อมกันแบบนี้ เพราะฉะนั้น มันก็เลยพิสูจน์แล้วว่า เด็กวาดรูปสวยก็เรียนได้ 4 หมดได้ เป็นแบบนั้น ก็พัฒนาต่อ ๆ มาจนเป็นเรา
“เราไม่กล้าพูดว่าราคลุกคลีในวงการศิลปะหรอก เพราะว่าเราไม่ได้ขายรูปแดกเป็นอาชีพ เราทำอย่างอื่นเป็นอาชีพ เหมือนเราทำศิลปะเป็นงานอดิเรก แต่เรามีความสนใจด้านศิลปะเยอะ
“แล้วเราก็จริง ๆ แล้วเราสนใจด้าน Art education มากกว่า Arts นะ จริง ๆ แล้วเป็นมนุษย์ที่ชอบให้ความรู้ เพราะฉะนั้น ถามว่าเราเป็นศิลปินไหม ถ้าเกิดเขาวาดรูปเรียกว่าศิลปิน ก็เรียกกูศิลปินก็ได้ แต่ถามว่าเราเป็นไหม เราว่าเราเหมือนเราเป็นครูมากกว่า เราเหมือนครูแนะแนวที่แบบว่าเราชอบเห็นผลงานคนอื่น เพราะเรารู้สึกว่ามันพิเศษ มันพิเศษมาก ๆ เพราะแต่ละคนก็สร้างผลงานได้ไม่เหมือนกัน
“แต่เราว่ามันก็เป็น quality ของอาจารย์แนะแนวนะ ต้องขี้เสือก แล้วเราก็รู้สึกว่าการแนะแนวปัจจุบันนี้มันไม่สามารถเรียกเด็กมานั่งในห้องสองต่อสอง แล้วก็นั่งคุยกันถึง course syllabus ถึงหลักสูตรในมหาวิทยาลัยได้แล้ว มันดีพไปกว่านั้น ถ้าเป็นเราเราคงแบบว่ามึงเป็นไงบ้างครอบครัวมึงช่วงนั้น เพราะเรารู้ไงว่าพื้นฐานครอบครัวแม่งสำคัญมาก เราเจอเด็กแล้วไม่ถามเรื่องมันเลย เราถามที่บ้านมัน ตอนนี้อยู่ไหน ที่บ้านทำอะไร ลำบากเปล่า ต้องเลี้ยงน้องปะเนี่ย มีสัตว์เลี้ยงไหม เดินทางไป-กลับยังไง พวกนี้มันเป็นชีวิตมากกว่า แล้วพอชีวิตมันก่อร่างแล้ว เราเห็น setting ของชีวิตมันแล้ว เราถึงสนใจงานมันนะ เป็นอย่างนั้นมากกว่า”
ระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ
อย่างที่รู้กันดีว่าฮ่องเต้อยู่ในแวดวงการศึกษามาเป็นเวลานาน และเขายังเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นที่หนึ่ง เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามว่าคิดเห็นอย่างไรกับการศึกษาไทยในปัจจุบัน
“เราว่ามันเป็นระบบที่เซ็ตโดยคนรุ่นที่ไม่เข้าใจพวกเรา คนที่ไม่เข้าใจพวกเราเลย เขาคงพยายามแล้วแหละเนอะ แต่มันก็น่าเศร้า ประเด็นคือมันใช้ความพยายามฝ่ายเดียวไม่ได้ ก็เขาไม่คุยกับเราอะ เขาไม่ฟัง เขาไม่ฟังเราไง เขาไม่ฟังเด็ก เขารู้สึกว่าเด็กเป็นเด็ก ฉันมีหน้าที่ในการสร้างธรรมนูญเพื่อปกครองพวกมึงที่มันเกเร เขาไม่ได้มองเห็น value ความเกเรไง เฮ้ย ความเกเรแม่งมี value ความเกเรนี่แม่งโคตรมี value เลยอะ Street culture แม่งเกิดขึ้นได้ด้วยความเกเรไง เห็นตรงนี้ปะล่ะ มูลค่าทุกอย่างในโลกแม่งเกิดขึ้นเพราะความเกเรทั้งนั้น ความขบถทั้งนั้น ความไม่อยู่ในร่องในรอย ในกรอบในเฟรมทั้งนั้นน่ะ
“โอเค ไม่ถึงต้องให้ขนาดแบบว่าให้ลิงปกครองลิงหรอกมั้ง แต่ว่าอย่างน้อย เฮ้ย! มึงต้องฟังเขาอะ แบบ take it for granted หน่อย อย่างน้อยมีอะไรที่แบบว่าเขาฟังเพลงอะไรกัน เขาเสพอะไรอยู่ ใน Twitter มีอะไร อาจารย์เล่น Twitter เปล่า บางคนเล่น อาจารย์เด็ก ๆ เล่น แล้วมีผลอะไรในเมื่อมติต่าง ๆ มันมาจากไอ้ข้างบนอยู่ดีอะครับ ใช่เปล่า แล้วไอ้ข้างบนก็ทำแต่สิ่งที่สมควร สิ่งสมควรคืออะไรถูกต้องตามใจของผู้มีอำนาจ กลับไปนู่นอีกละ ตบลูกกลับไปข้างบนอีกแล้ว
“มันไม่มีอะไรที่เอื้อให้กับพวกเราที่เป็นประชาชนเลย เราอยากรู้อะไรเคยถามเด็กไหม เด็กอยากเรียนอะไร มันควรจะมีวิชาอะไรเพิ่มมาบ้าง เปิดวิชาเพิ่มเพื่อเอาค่าหน่วยกิตเข้ามหาวิทยาลัยแค่นั้นเหรอ อะไรที่แม่งดูอิน โอ๊ย เปิดเพิ่ม เอาแต่เปิดเพิ่ม ๆ สร้างแต่ซัพพลาย ไหนดีมานด์ ไหนตลาด ทำไมไม่ทำตลาดให้โต ตลาดมันไม่โตแล้วเขาจะไปโตไหน
ถึงจะรู้อยู่เต็มอกว่าระบบการศึกษาไทย ยังมีส่วนที่ต้องแก้ไขอีกมาก ซึ่งต้องยอมรับตามตรงว่าสิ่งที่ฮ่องเต้พูดออกมา ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่ไม่ต้องคิดหรือเขียนแผนงานอธิบายกระบวนการอะไรออกมาให้มากความ ทุกคนก็สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนระบบเหล่านี้ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
หากเขาเป็นคนวางระบบการศึกษา รูปแบบการเรียนการสอนของเขาจะมีเพียงแค่อยากเรียนก็มา ไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเข้า แถมค่าเทอมแพงหูฉี่ เพราะทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ
“ฟังดูเหี้ยไหม”
“คนไม่ได้รู้สึกอยากเรียน ก็ไม่ต้องเรียน พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์ ผู้พูดพูดแล้วคนฟังได้ประโยชน์แน่นอน แต่คนฟังไม่พร้อมฟัง หรือคนฟังอยู่ในภาวะอันไม่เหมาะสมที่จะฟัง จงอย่าพูดสิ่งนั้น โคตร-เบ-สิก-เลย
“ให้อาหารกับคนที่หิว เสือกไปยัดให้คนปิดปาก… เลอะเทอะ คนเม้มปากอยู่เอาอาหารไปยัด… เลอะเทอะ หรือคนอิ่มแล้ว กินอย่างอื่น อิ่มน้ำ มันไม่ได้อยากแดกอาหารนะ มันอิ่มน้ำไปแล้ว เอาอาหารไปให้มัน มันก็อ้วก ไม่มีประโยชน์ ถ้าเป็นเราทำหลักสูตรนี่คือข้อแรกเลย ให้การศึกษากับคนที่อยากได้การศึกษา แล้วเดี๋ยวค่อยมาว่ากันว่าอยากได้อะไร ไม่ใช่ทุกคนต้องเรียน มึงไม่เรียนก็เรื่องของมึง มึงไม่รักดีก็ไปตาย อันนี้พูดจริง จนกว่ามึงจะหิวข้าวแล้วบอก พี่ ผมขอเรียนหน่อย
“แล้วเราก็คิดว่าเราต้องลดช่องว่างระหว่างบุคลากรทางการศึกษากับนักเรียนลง เป็นพี่มันมากขึ้น เป็นอาจารย์มันน้อยลง
เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์เราก็สามารถเอาตัวรอดได้อยู่วันยันค่ำ ไม่มีทางที่เผ่าพันธุ์มนุษย์จะถูกทำลาย เว้นแต่โลกจะแตก หรือโดนอุกกาบาตถล่มใส่อีกรอบก็เท่านั้นแหละ
โลกประหลาดของชายหุ้มหนังมนุษย์
เรื่องหนึ่งที่เรารับรู้จากชายตรงหน้าได้คือ เขาคงเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง พร้อมเข้าร่วมทุกอย่างของโรงเรียนเป็นแน่ ถึงมองภาพการศึกษาออกมาได้ละเอียดขนาดนี้ แล้วก็ไม่ผิดจริง ๆ เพราะทันทีที่เราถามว่าเขาทำกิจกรรมอะไรบ้างในวัยเรียน ชายตรงหน้าถึงกับระเบิดหัวเราะออกมา พร้อมกับร่ายทุกอย่างในชีวิตที่เคยทำให้เราฟัง
“เป็นคนแบบไหนเหรอ เป็นแชมป์ (หัวเราะ) เป็นแบบตัวแทนโรงเรียน ประกวดสุนทรพจน์ โต้วาที วาดรูป ประกวดจัดบอร์ด ประธาน เป็นรองประธานกีฬาสี เป็นประธานสแตนเชียร์ เป็น Art Di ละครเวที เป็นผู้กำกับละครเวทีโรงเรียน เป็นคนกำกับโชว์กลางสนามหน้าเสาธง เป็นคนนำสวดมนต์ เป็นคนนำพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นตัวแทนนักเรียนไปคุยกับอาจารย์ เป็นสภานักเรียน เป็นอะไรก็ได้ที่เป็นแบบ elite
“คือก็ฉันทำได้อะ แล้วก็เป็นคนรำคาญเวลาเห็นคนกระยึกกระยัก กูเป็นก็ได้นึกออกไหม เพราะฉะนั้น ก็แน่นอนว่าคนอย่างฉันเนี่ยก็จะมีคนเกลียดเยอะ เพื่อนจะน้อยพอสมควรเลย เพื่อนน้อยด้วยความที่… ไม่ค่อยถูกจริตกับการเป็นเพื่อนกับใคร แล้วก็รู้สึกลึก ๆ ว่าตอนนั้นนะ รู้สึกลึก ๆ ว่ามึงไม่คู่ควรเป็นเพื่อนกู เฮ้ย พูดจริงนะ เป็นคนแบบนั้นจริง ๆ นะ แบบคอนเทนต์มันคืออะไรอะ เฮ้ยมึงไร้สาระมากเลยอะ อย่าเป็นเพื่อนกูเลย คุยอะไรกับกูอะ มีไรคุย
“เพื่อนวัยเดียวกันเนี่ยเอาไว้ทำกิจกรรมที่แบบต้องทำเป็นกลุ่ม เช่น เล่นการ์ด เราไม่เล่นกีฬา เราไม่ชอบทำงานเป็นทีม เราชอบจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง เราไม่ชอบเล่นบอล เราไม่เล่นบอล กีฬาแบบว้าย! ถ้าล้มมือขวาหักทำไง กูต้องวาดรูป ไม่เล่นละ ไม่เล่นกีฬา เล่นบาส ชอบเล่นบาส มีช่วงหนึ่งที่ชอบเล่นบาส ชอบตีปิงปอง แต่ตีแล้วมือขวามันสั่นวาดรูปไม่ได้ จะเลือกวาดรูป เลิกเล่นกีฬา อ้วนเลย มีช่วงหนึ่งผอมเลยตอนมัธยมฯ เป็นนักกีฬาแล้วก็แบบเลิก เพราะว่าฉันแบบฉันกลัวมือขวาฉันเสีย พอมือมันสั่นแล้วใจไม่ดีเลย นั่นแหละเราก็เป็นอย่างนั้น
“แล้วก็เราก็เป็นคนที่ชอบทำท่าเหมือนไม่ขี้เอาชนะ แบบเออสบาย ๆ มึงไม่ได้อะไรเว้ย แต่ขี้เอาชนะสัตว์ ในเรื่องที่รู้สึกว่าตัวเองถนัดจะไม่ยอมเลย แต่ในเรื่องที่เราไม่ถนัดนะเรายอมแพ้เลย เช่นแบบให้ไปแข่งตอบคำถามเคมี กูยอมแพ้มึง คณิตศาสตร์ไม่เอา โยนทิ้ง เพราะงั้นเราเป็นมนุษย์ที่แน่นอนว่าเราชอบอะไร เราไม่ชอบอะไร และรู้ว่าเราจะเอาอะไรแล้วไม่เอาอะไรตั้งแต่เด็ก ชัดเจนมาก ที่วาดรูปเก่งไม่เอาวิชาการ เพราะกลัวแพ้วิชาการเว้ย เออ ก็เลยมาเอาทางที่กูถนัดดีกว่า
“เหมือนกับเราไม่ชอบวาดรูปเหมือน เราเป็นคนไม่ชอบวาดรูปเหมือน เพราะเรารู้สึกว่าวาดยังไงก็ไม่เหมือนหรอก สู้พวกมึงไม่ได้หรอก มึงเรียนศิลปะกันมา ให้กูไปแข่งวาดรูปคนกับมึงไง วาดมังกรไหม ไม่มีใครเคยเห็น มาบอกว่าเฮ้ย มึงวาดผิด ๆ มึงเคยเห็นเหรอ ไม่มี… ไม่มีใครเคยเห็น เนี่ย เราชอบตั้งกติกาของเราเอง เราชอบเซ็ตกติกาของเราเอง เราชอบเล่นกีฬาที่เราตั้งกติกาเอง เราเป็นคนอยู่ในสังคมไม่ค่อยได้ เพราะงั้นก็เป็นคนที่ค่อนข้างหลีกหนีสังคมพอสมควรนะ
“ตลกไหม ดูเหมือนเราเป็นคนอยู่ในสื่อใช่ไหม แต่จริง ๆ แล้วเราเป็นคนหลีกหนีสังคมมากนะ เรากลัวกฎของสังคมมากนะ เราไม่ชอบ เราไม่ชอบอยู่ใต้ norm
“เราเป็นตัวประหลาด กูไม่อยู่ในกฎมึง กูอยู่นอกแรงโน้มถ่วง เป็นคนแบบนี้จริง ๆ”
แล้วทุกวันนี้ฮ่องเต้ยังมองว่าตัวเองเป็นคนนอกของสังคมอยู่อีกไหม — เราถาม ฮ่องเต้นิ่งคิด ก่อนจะถามเรากลับมาเคยดู Marvel ไหม เราพยักหน้า เขายิ้ม และบอกเราว่าเขาคือพวกครี (Kree)
“เราเป็นครี เราหุ้มหนังนุษย์ได้ แต่เราไม่ใช่มนุษย์ เราไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์เลย เราคิดว่าเราเป็นเอเลี่ยน เพราะเรารู้สึกความสามารถเราค่อนข้างกว้างขวางหลากหลาย ประหลาด แล้วเราก็ชอบลองนู่นลองนี่
“เราไม่รู้นะ แต่ว่าเรารู้สึกว่าเราไม่ปกติ เราค่อนข้างไม่ปกติ แล้วเราก็ชอบนะในการที่เรา หรือคนอื่นจะใช้ความไม่ปกตินั้นไปทำประโยชน์ บางทีเราก็มองไม่ออกเหมือนกันนะว่าเฮ้ย กูไม่ปกตินะ มันไม่ปกติใช่ไหม เพราะว่าสำหรับเรามันปกติไง เราจะทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น หลัง ๆ มานี้มันเลยเกิดการ collab เยอะแยะไปหมดเลย แบบเฮ้ย ทำอันนี้ก็ได้ ทำอันนั้นก็ได้ เราขยับนิดเดียวมันก็เกิดอะไรขึ้น เรารู้สึกว่าอันนี้มันดีสำหรับเราเพราะว่าเราไม่ต้อง put effort เยอะเกินไป นั่นแปลว่าอะไร เวลาเราก็คุมได้ เพราะฉะนั้น เราแฮปปี้นะกับการที่แบบเราไม่ได้ทำอะไรเยอะมาก แล้วมันเกิดอะไรขึ้นแล้วมีประโยชน์กับคนอื่น”
ความเจ็บปวดสีหวาน ในวัยสามสิบปลาย
งานศิลปะของฮ่องเต้มักเล่นกับความเชื่อ ตั้งคำถามต่อทุกสิ่งที่ปรากฏในสังคม พยายามหาเหตุผลกับทุกสิ่ง แต่มีผลงานหนึ่งที่เขาไม่ได้ตั้งคำถาม หากแต่เป็นการระบายรสชาติของความรักที่เข้ามาเล่นงาน จนทำให้หัวใจอันบอบบางของชายคนนี้ปวดร้าวไปครึ่งค่อนปี
“ล่าสุดก็คือโดนทิ้ง ทั้ง ๆ ที่มันก็ดูดีมาก จะเจ็บเพราะคนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเจ็บเพราะงาน งานแบบงานก็ดีครับ อะไรที่เป็น factor ที่เราควบคุมได้มันดีหมดอะ มันจะแย่ก็ตรงที่ว่าเราควบคุมมันไม่ได้ แล้วแน่นอนว่าด้วยความจริงก็คือเราควบคุมทุกอย่างไม่ได้ มันก็ทำให้เกิดบาดแผล ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เกิดการตระหนักรู้มากขึ้น การปฏิบัติต่อผู้อื่นดีขึ้น เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ความรอบคอบในแง่ความสัมพันธ์มากขึ้น
“มีอัลบั้มหนึ่งที่เราลงไว้ในเพจ (ฮ่องอักษร - ผู้เขียน) ที่วาดรูปตอนนั้นคือตอนเราอกหักใหม่ ๆ เราวาดเรื่อย ๆ เราประหลาดใจมากที่การเจ็บปวดเราสีหวานมาก มันไม่ได้เป็นความตั้งใจเลยนะ มันคือการแบบฉันไม่อยากเห็นสีดำ (หัวเราะ) เออ ๆ ฉันเห็นสีมืด ๆ ไม่ได้ เหมือนเวลาที่แบบว่าบางคนอกหักแล้วจะชอบอยู่ใ ห้องมืด ๆ อะไรอย่างนี้ แต่เรากลัว เปิดห้อง เปิดแบบแดดจ้าเลย เปิดม่านให้แดดเข้า”
มีแผนไหมว่าอยากจะเริ่มความรักครั้งใหม่ในอีกกี่ปี “ไม่มีหวังเลยอะ” เขาตอบพร้อมกับยิ้มเศร้า ๆ ก่อนจะยกกาแฟขึ้นมาจิบอีกหนึ่งรอบ ซึ่งเขาบอกว่าจริง ๆ แล้วเลือดของเขาไม่ใช่สีแดง แต่เป็นสีน้ำตาล ทำเอาเราเลิกคิ้วสูงด้วยความสงสัย “เรากินกาแฟ 4 แก้วปกติ วันหนึ่ง 4-5 แก้วนะ ไปกอง 2 แก้ว ผมมี happy meal ของผม แบบกองสั่งลาเต้กับอเมริกาโน่รอเลย 2 แก้ว นมแก้วหนึ่ง น้ำแก้ว แล้วกลับมาบ้านก็อัดซ้ำอีกแก้วหนึ่งกาแฟส้มอะไรอย่างนี้ เลือดมันเป็นสีน้ำตาลหมดแล้ว”
ซึ่งตอนนี้ฮ่องเต้ชายผู้มีเลือดสีน้ำตาลกำลังพยายามเต็มที่ที่จะชะล้างคราบกาแฟให้หมดไป เพราะการกินดื่มของเขาทำให้สุขภาพย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤต “เราหูดับไปข้างหนึ่ง บ้านหมุน การได้ยินดรอปลง เราก็เลยพยายามลดกาแฟให้น้อยลงจากเดิม นอนให้มากขึ้น แล้วก็พยายามบอกกับตัวเองว่าอย่ารู้สึกผิดถ้าเราหยุดพัก”
ความเจ็บปวดทั้งหมดที่ฮ่องเต้เคยสัมผัส คุณอยากจะลบช่วงเวลาเหล่านั้นทิ้งไปไหม เราถามคำถามสุดท้ายก่อนจะบอกลาชายที่ถูกเมฆหมอกแห่งความเจ็บปวดครอบงำเอาไว้จาง ๆ เมื่อถูกสะกิดถึงบาดแผลที่กำลังรอวันตกสะเก็ด “อยากลบ บางคนอาจจะบอกไม่อยากลบหรอก เสียเวลา มันเสียเวลานะปีหนึ่งเลยนะเว้ย เรื่องที่อกหักนี่แหละ เสียเวลาจะตาย ร้องไห้อยู่กี่เดือนนะส้ม
“เกิน 6 เดือน” เธอตอบ
“เห็นปะ เสียเวลาร้องไห้นี่เป็นแอ็กชันเนอะ แต่ข้างในความแบบ regret sorrow ต่าง ๆ มันอยู่นานกว่านั้น มันอยู่ตลอดเวลาเลย แต่ถ้าไม่มีพวกนั้นมันก็ทำงาน… อาจจะไม่มีงานนี้เลย”
ก่อนจะเปลี่ยนคำตอบกลับไปใหม่ว่าเขาไม่ลบดีกว่า ไม่งั้นคงไม่มี ‘ฮ่องอักษร’ ให้เราติดตาม
แต่ความเจ็บปวดทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทุกอย่างล้วนมีแง่มุมเล็ก ๆ ที่สวยงามแอบซ่อนอยู่ หากอยากสัมผัสความงามท่ามกลางความรวดร้าว สามารถเข้าไปเยี่ยมชมเพจ Turn Your Scars into Stars #แม้จะเจ็บปวดแต่คุณก็งดงาม คุณอาจจะเข้าใจความเจ็บปวดของศิลปินไทยมากขึ้นอีกนิดก็เป็นได้