24 ม.ค. 2567 | 14:06 น.
- ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง เป็นเพลงของ ‘เรนิษรา’ ที่มียอดคนฟังใน Spotify สูงสุดในปี 2023
- ‘ความหวัง’ ฉบับเรนิษรา มีทั้งด้านบวกและลบที่มอบบทเรียนให้กับทั้งสองคน
- ขณะเดียวกัน ทุกเพลงของเรนิษรา คือ ตัวแทนห้วงอารมณ์ ความรู้สึก ณ ช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตของพวกเขา
“ตัวตนเรนิษราคือความเป็นมนุษย์”
สำหรับ ‘ตั้ม’ ชยพล ล้วนเส้ง และ ‘สบาย’ เรนิษรา ลีประโคน สมาชิกทั้งสองคนของ ‘เรนิษรา’ ความเป็นมนุษย์จะเปิดพื้นที่ให้เรามีความหวังในการใช้ชีวิต
เพราะมุมหนึ่งความหวังอาจเป็นเพียงจินตนาการ แต่อีกด้านหนึ่งความหวังทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สุด
“บางคนก็เจอกับความผิดหวังตลอด วันหนึ่งที่เราเจอเรื่องลบอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะลบตลอดไป สักวันหนึ่งมันจะมีด้านบวกของมันเอง เราไม่รู้หรอกตอนเจอมันอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่ก้าวผ่านไปแล้ว ซึ่งเราผ่านไปได้แน่นอน พอมันผ่านไปเราก็ได้บทเรียนจากมัน แล้วอาจจะไม่ทำเรื่องเดิม ๆ ให้มันผิดอีก”
ชวนดูความเป็นมนุษย์และตัวตนเบื้องหลังชายหญิงสองคนที่ถูกเลือกให้ผิดหวังได้จากบทสัมภาษณ์นี้
หนุ่มนักดนตรีและสาวที่ไม่มั่นใจในตัวเอง
ก่อนตั้มและสบายจะมาเจอกัน คบกัน และมาทำงานร่วมกันภายใต้ชื่อศิลปิน ‘เรนิษรา’ ศิลปินเจ้าของเพลงยอดนิยมอย่าง ‘ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง’ เพลงที่มีคนฟังมากที่สุดในปี 2023 พวกเขาทั้งสองคนก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่กำลังหลงทางและค้นหาตัวเองผ่านสิ่งที่เขารัก
สำหรับตั้ม เขาเป็นเด็กหนุ่มที่รักในเสียงดนตรีเท่านั้น ความฝันทั้งหมดเริ่มต้นจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมีครูดีอย่างพี่ ๆ นักโทษ (เพราะจริง ๆ แล้ว พ่อเขาทำงานที่กรมราชทัณฑ์) ที่ใกล้พ้นโทษ นั่นจึงทำให้เขาเรียนรู้ชีวิตไปพร้อมกับเสียงดนตรี
“ตอนเด็ก ๆ แทบไม่มีความฝันเลย แค่ชอบเล่นดนตรี ตอนแรกอยากเป็นมือกลอง พี่ชายบอกว่าตัวเล็กเกินไป ตีกลองไม่ได้หรอก เลยมาเล่นกีตาร์ แล้วมันดันถูกทางเฉย โตขึ้นเราก็รู้ว่าต้องทำงาน หาเงิน เพื่อดูแลตัวเอง เพื่อใช้ชีวิต ก็เลยคิดว่า เราควรจะเอาสิ่งที่เราชอบนี่แหละมาเป็นงาน เพราะว่าเราจะได้อยู่กับมันได้ เราอาจจะไม่ได้ทำมันได้ดีที่สุด แต่ว่าเรามีความสุขกับมันแน่นอน
“ผมเรียนเองด้วยความที่พ่อผมเป็นผู้คุม กรมราชทัณฑ์ แล้วผมก็เลยได้มีโอกาสอยู่กับผู้ต้องขัง ผู้ต้องหาเยอะหลายคนเป็นนักดนตรีอาชีพ เป็น backup ให้พี่ ๆ ศิลปินด้วย มันจะดูแบบแปลก ๆ กว่าคนอื่นหน่อย เรียนกีตาร์กับผู้ต้องขัง ก็ดีมากเลย มันก็เลยทำให้เราได้เรียนทั้งกีตาร์ เรียนทั้งชีวิตด้วย เขาบอกว่าบางอย่างลองเพื่อรู้ ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตของเด็กวัยรุ่นเร็วกว่าคนอื่น
ส่วนสบาย จุดเริ่มต้นเส้นทางดนตรีของเธอไม่ได้เกิดจากแพสชันอันแรงกล้า เธอแค่ชอบร้องเพลงและอยากจะแต่งตัวสวย ๆ เหมือน ‘อารีอานา กรานเด’ (Ariana Grande) ขึ้นไปยืนบนเวทีสักครั้ง
“เราชอบร้องเพลงในห้องน้ำ แล้วจะมีความหลงตัวเองนิด ๆ ว่า เราก็ร้องเพลงเพราะเหมือนกันนะเนี่ย แต่ว่าเราไม่ได้บอกใคร แล้วก็ไม่ชอบเวลามีคนขอให้ร้องเพลง หรือได้ยินเสียงตอนเราร้อง เพราะเรากลัวคนอื่นตัดสิน เวลามีคนมาถามว่าอยากเป็นอะไรก็บอกว่า อยากเป็นแอร์โฮสเตส”
แต่แล้วทั้งสองคนที่ต่างที่มามาเจอกันในรั้วมหาวิทยาลัย ทำความรู้จักกันและกันผ่านเพลง
คนหนึ่งชอบพูด อีกคนชอบฟัง กลายมาเป็น ‘เรนิษรา’ จากไอเดียของสบาย มีความหมายว่า ‘เกิดใหม่’ ศิลปินที่มีความเป็นตัวเอง ขณะเดียวกันก็เล่าเรื่องชีวิตของตัวเองผ่านท่วงทำนองและเนื้อเพลงที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา
“เรนิษรา มันมาจากภาษาละติน แปลว่า เกิดใหม่ บายรู้สึกว่าตอนมัธยม เราไม่มั่นใจในตัวเอง พอเริ่มเข้ามหา’ลัย ก็อยากเปลี่ยนตัวเอง เหมือนเกิดใหม่ แต่เป็นที่มหา’ลัย ตัดอดีตทิ้งหมด”
ศิลปินผู้เขียนเพลงสะท้อนความรู้สึกและตัวตน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง
เพราะเริ่มต้นทำดนตรีในช่วงเรียนมหา’ลัย การทำเพลงช่วงแรก ๆ ของทั้งสองคนจึงเป็นการลองผิดลองถูก ใช้อุปกรณ์แบบง่าย ไม่ได้ลงทุนอะไรมากนัก
ด้วยความพยายาม เพลง ‘เรย์ วายเลอร์’ จึงถูกปล่อยสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกด้วยเสียงอันมีเอกลักษณ์ของสบาย
“เป็นเพลงด่าคน แค่นั้นเลย แบบว่าไม่ชอบคนที่แบบว่าเดินเข้ามาหาเราแล้วก็พยายามเหมือนทำเป็น friendly แต่จริง ๆ คุณก็แค่ปลอม” สบายอธิบายเพลงที่เธอแต่งเอง
หลังจากนั้น พวกเขาก็ทำเพลงด้วยกันเรื่อยมา พวกเขาทำเพลงไปมากถึง 45 เพลง แต่ปล่อยออกมาจริง ๆ ประมาณ 20 กว่าเพลง โดยเพลงส่วนใหญ่ของเรนิษรามาจากปลายปากกาและห้วงความรู้สึกของตั้ม
“เราก็ทำเก็บ อยากเล่าอะไรก็ทำ ก็เขียน เคยมีศิลปินคนหนึ่งพูดว่า พูดไม่ได้ก็เขียนซะ ผมก็เลยเขียน มีอะไรเราก็เขียน ๆ ๆ มาเป็นเพลง
“สำหรับผม มันเป็นไปตามความรู้สึก ณ ตอนนั้น เราชอบอะไรเนื้อเพลงก็จะเป็นอย่างนั้น ช่วงแรกเพลงเราก็จะเป็นตัวเองหน่อย อารมณ์แบบติสท์แตกหน่อย คนเขาจะเรียกว่าติสท์แตกนะ แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ”
สำหรับตั้ม การเป็นตัวเองสำคัญยิ่งกว่าคำพูดของคนอื่น เขายกตัวอย่างวันที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ในฐานะเด็กหนุ่มปักษ์ใต้ว่า โดนเพื่อนล้อ แต่แทนที่จะเศร้าหรือรู้สึกไม่ดีกับคำพูดเหล่านั้น เขาเลือกที่จะเป็นตัวเองต่อไป เมินเฉยต่อคำพูดของคนอื่น
“ใคร ๆ ก็อยากเป็นจ่าฝูงของโลกอยู่แล้ว อยากโดดเด่น ยิ่งทำให้เราอยากแสดงออกว่า เราเป็นแบบนี้ ผมเป็นคนใต้ ตอนปี 1 มาเรียนที่กรุงเทพฯ โดนเพื่อนเหยียด แต่งตัวไม่ดี โดนล้อเยอะ มันยิ่งอยากทำให้คนอื่นเห็นว่า กูเป็นคนใต้จ๋าไปเลย ช่างมัน
“บายก็เหมือนกันใช่ไหม ที่เปลี่ยนตัวเองเยอะมาก ทำจมูก เปลี่ยนชื่อ ทำทุกอย่างเพื่อให้คนยอมรับ จนสักพักเราเริ่มจับทางได้แล้วว่า เราไม่เป็นตัวเองเลย เราสนใจคำคนอื่นมากเกินไป ก็จะมีเพลง ‘ผมเป็นของผมอย่างนี้’ เป็นเพลงแรก แล้วก็เพลง ‘คุณจะไปแคร์เหี้ยอะไร’
“ช่วงแรก ๆ เพลงของเรนิษราจะไม่เหมือนตอนนี้เลย อยากจะต่อสู้ หลัง ๆ มันก็ค่อย ๆ เล่าเรื่องผู้คนมากขึ้น”
เรนิษรา คือ ความเป็นมนุษย์
“ตัวตนเรนิษราคือความเป็นมนุษย์” ตั้มอธิบายตัวตนของเรนิษราไว้
ความเป็นมนุษย์ที่ตั้มหมายถึง คือการใช้ชีวิต ลองผิดลองถูกและซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง
“ความเป็นมนุษย์สำหรับผม คือการได้ใช้ชีวิต ลองผิดหวัง ได้ลองหลาย ๆ อย่าง บางคนกลัวความเป็นมนุษย์ ถ้าจะใช้ชีวิตรอวันนิพพาน ผมว่าตายไปเลยดีกว่า เป็นมนุษย์ไปเถอะ ได้เล่นเกม แล้ว ปี 2023 บอกผมว่า พอเรื่องงาน ทุกอย่างต้องจริง ทำให้เรารู้ว่า เราต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง ทุกอย่างเลย ทุกการเขียน ทุกการเล่า ทุกคำพูด”
ส่วนสบายบอกว่า สิ่งสำคัญของมนุษย์คือการทำทุกอย่างตามความรู้สึกของตัวเอง
“จริง ๆ มนุษย์ก็แค่กินข้าว อึ ผสมพันธุ์ แล้วก็นอน มนุษย์มีแค่นั้น แล้วก็ทำทุกอย่างด้วยความรู้สึกของตัวเอง”
เพราะคาดหวังเราเลยเป็น ‘ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง’
ปี 2023 ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง คือเพลงที่คนไทยฟังมากที่สุดใน Spotify และการันตีความนิยมด้วยผู้ชมกว่าร้อยล้านวิวใน YouTube
แต่จริง ๆ แล้ว เบื้องหลังของเพลงนี้คือการถ่ายทอดเรื่องราวของคนที่ถูกเลือกให้ผิดหวัง ทั้งเรื่องงานและความรักที่เริ่มต้นจากประโยคง่าย ๆ ว่า ทำไมยังต้องเป็นเราที่ผิดหวัง
ตั้มหมดไฟจากการทำงาน ผิดหวังที่ยอดผู้ฟังเพลง ‘เหตุการณ์บังเอิญ’ เพลงลำดับที่ 9 ของเรนิษราไม่สูงเท่าที่ใจหวัง
จากเรื่องงานก็นำมาสู่การทบทวนเรื่องราวชีวิตที่ทำให้พวกเขาต้องผิดหวัง หนึ่งในนั้นคือเรื่องความรัก
“ผมเคยคบกับแฟนเก่า ตอนเด็กมาก ยังไม่เข้าใจเรื่องความรัก คบกันเป็นปี แล้วอยู่ดี ๆ เขาไปคุยกับคนอื่น เลยถามเขาต่อหน้า เราผิดอะไรวะ ทำไมเธอถึงคุยกับคนอื่น ทำไมเธอถึงทิ้งเรา เขาบอกว่า เธอไม่ได้ผิด ผิดที่เราเอง แต่ความเสียใจมันก็ยังทิ้งอยู่ที่เราถูกไหม มันก็รวมมาทั้งหมดเลย ทั้งเรื่องผิดหวังเรื่องเพลง เรื่องความรัก ก็เลยกลายเป็นเราถูกเลือกให้ผิดหวัง จริง ๆ เราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ทำไมเราถึงผิดหวัง”
ตั้มมองว่าความผิดหวังก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ คือถึงความผิดหวังจะทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ขณะเดียวกัน ความหวังเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สุด
“ความหวังเป็นได้ทั้งบวกและลบ ด้านลบคือเราสร้างความหวังขึ้นมาเอง เอาไปผูกมันกับคนอื่น ผูกมันกับสิ่งอื่น อยากให้คนอื่นชอบในสิ่งที่เราทำ อยากให้คนอื่นชอบในหน้าตา อยากให้คนอื่นชอบในความเป็นตัวเรา มันก็ทำให้เราเป็นทุกข์ของตัวเราเอง สุดท้ายมันก็จะผิดหวัง ถ้าคนนั้นเขาไม่ได้ทำอะไรตามความหวังของเรา
“ด้านบวกของมันคือความหวังมันทำให้เราได้เป็นมนุษย์ที่สุด เพื่อมี passion บางอย่าง เหมือนเราเป็นเรนิษราได้ ผมเป็นเรนิษราได้ก็เพราะว่าเรามีความหวังว่าเราอยากจะเล่าเรื่องอะไรให้คนฟังสักอย่าง มันก็ส่งมาเป็นข้อดี ทำให้เรามีทุกวันนี้
“มีความหวังว่าจะดูแลคนที่เรารักได้ ถ้าเราทำให้เขาผิดหวัง เราก็จะเสียใจในตัวเอง แต่ถ้าเราทำได้ดี มันก็ทำให้เรามีความสุข ทำให้เราได้เดินหน้าต่อในชีวิต”
แต่ถ้าสุดท้าย เรายังสู้ ยังมีหวัง แต่เราก็ยังต้องทนกับความผิดหวัง ตั้มบอกว่า อยากให้ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ภายใต้ฉากของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความทุกข์’ อาจจะมีเรื่องราวดี ๆ ซ่อนอยู่ก็ได้
“บางคนก็เจอกับความผิดหวังตลอด อยากให้คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต เหมือนที่บอกว่ามีทั้งด้านบวกและลบ วันหนึ่งที่เราเจอเรื่องลบอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะลบตลอดไป สักวันหนึ่งมันจะมีด้านบวกของมันเอง เราไม่รู้หรอกตอนเจอมันอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่ก้าวผ่านมันไปแล้ว ซึ่งเราผ่านมันไปได้แน่นอน พอมันผ่านไปเราก็ได้บทเรียนจากมัน แล้วอาจจะไม่ทำเรื่องเดิม ๆ ให้มันผิดอีก”
สบายเสริมต่อว่า บางครั้งชีวิตก็ต้องปล่อยให้มันดำเนินไป แต่เราอาจจะต้องหาสิ่งที่ชอบเพื่อเป็นแรงใจในการใช้ชีวิตแต่ละวัน
“บายว่าชีวิตมันทำอะไรไม่ได้ นอกจากพยายามไปเรื่อย ๆ เราเกิดมาแล้ว มีสิ่งที่ชอบ เราก็ต้องใช้ชีวิตเพื่ออยู่เพื่อมัน ถ้าจะบอกว่าผิดหวัง ไม่เอาอะไรแล้ว เราก็อยู่บนโลกนี้ไม่ได้แล้ว”
เพลงที่ปลอบประโลมหัวใจที่เศร้าหมองให้มีพลัง
สำหรับทั้งสองคนแล้ว เพลงที่พวกเขาเขียนขึ้น คือบทชีวิตแต่ละบทในชีวิตของพวกเขา และหลาย ๆ ครั้ง เรนิษราก็เรียนรู้เรื่องราวชีวิตผ่านบทเพลงของคนอื่นเช่นกัน
ตั้มเข้าใจพ่อผ่านเพลง ‘All you need is love’ ของ The Beatles เขากลับมาเข้าใจตัวเองว่า ที่เขาไม่เคยเข้าใจพ่อก็เพราะเขาต้องการความรัก แล้วความรู้สึกเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในเนื้อเพลงของ ‘เรนิษรา’
“หลาย ๆ คนชอบบอกว่า เพลงมันเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่สำหรับผมมันเปลี่ยนได้
“ผมไม่รู้ว่าทำไมพ่อไม่บอกรัก แต่พอฟังเพลงมันทำให้ผมรักตัวเองมากขึ้น เปิดโลกว่า เราแค่เรียกร้องความรัก เราเลยงอแง เครียด จริง ๆ คืออยากให้ทุกคนรักเรา เราอยากให้พ่อแม่รักเรา อยากให้เขาแสดงออกมากกว่านี้ เรารู้ตัวเอง อยู่กับตัวเองมากขึ้น เราก็เข้าใจเขามากขึ้น”
ฝั่งสบายบอกว่า การฟังเพลงเหมือนการฟังคำพูดในใจที่แม้แต่ตัวเราก็ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง สุดท้ายความรู้สึกที่ค้างคาก็ค่อย ๆ หายไป
“สมมติเราเศร้า เพิ่งอกหักมา แล้วฟังเพลงที่อกหัก เราจะไม่กล้าพูดหรอก เวลาเราเศร้า เราจะไม่กล้าบอกใคร แต่เพลงมันจะพูดความรู้สึกของเราออกมา แล้วเราจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้คลายสิ่งที่เศร้า คลายสิ่งที่เป็นปมอยู่ข้างในออกมา
“ถ้าสมมติวันหนึ่งเราฟังเพลงนี้ 3 - 4 รอบ ทุกวัน เราก็รู้สึกว่าเริ่มไม่รู้สึกอะไรแล้ว เหมือนระบายหมดแล้ว ร้องไห้เริ่มไม่ออกแล้ว มันช่วยนะ”
แล้วการเติบโตของพวกเขาทั้งสองคนก็ถูกบันทึกไว้ในเพลงทั้งหมดของศิลปินชื่อ ‘เรนิษรา’
“เพลงของเรา ‘เริ่มจากต้องการคนให้กอด’ แล้วก็ ‘ขอให้ความเสียใจฉันหายไปกับฝน’ ‘วันนี้เธอเก่งมากแล้ว’ ‘ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง’ ‘ฉันคือนักสะสมความเศร้า’ ปล่อยออกมาเรื่อย ๆ เป็น ‘อย่าฝากหัวใจไว้ที่ใคร’ ‘ไม่มีความเศร้าไหนจะอยู่ตลอดกาล’ ‘ตลอดไปที่เป็นจริงคือโดนทิ้งตลอดกาล’ มันเติบโตไปเรื่อย ๆ ตามชื่อเพลงสุดท้ายก็ไม่มีความเศร้านั้นอยู่ตลอดกาล ไม่มีใครจะอยู่กับเราไปตลอดกาล นอกจากตัวเราเอง”