12 ก.พ. 2567 | 18:30 น.
KEY
POINTS
“ยังไงผมก็อยากให้แพชชั่นของเรา มีคนที่สามารถรีเลทได้ เพราะยังไงมนุษย์ก็อยากจะเจอคนที่เข้าใจกันมาก ๆ”
คือคำกล่าวของ ‘บิลลี่’ และ ‘คิม’ เจ้าของใบหน้าเบื้องหลังหน้ากากลายญี่ปุ่นที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่มัธยม อาจเพราะความชอบที่ไปด้วยกันได้ จึงชักชวนกันทำเพลงด้วยความสนุก แต่เมื่อรู้ตัวอีกทีก็กลายมาเป็นศิลปินอินดี้คลื่นลูกใหม่แห่งวงการเพลงไทย ที่มีชื่อว่า ‘_less’
ด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่แปลกแหวกแนวล้ำยุค ผนวกเข้ากับเนื้อหาของเพลงที่หยิบยกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องงาน การใช้ชีวิต เหตุการณ์สำคัญ รวมไปถึงเรื่องความรักที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่าย จึงทำให้ _less เริ่มมีฐานแฟนคลับและเป็นวงอินดี้ที่น่าจับตามองอีกหนึ่งวง
ซึ่งเรื่องราวต่อจากนี้ของ บิลลี่ และ คิม ที่ได้ชักชวนกันมาทำเพลงด้วยความสนุก แต่เกิดเหตุบังเอิญมากมายระหว่างทาง รวมถึงเหตุการณ์พบเจอหมูที่มีส่วนสำคัญในการจุดประกายให้บิลลี่เริ่มสร้างตัวตนขึ้นมาภายใต้หน้ากากอันเป็นภาพจำในปัจจุบัน จนกลายมาเป็นศิลปินภายใต้สังกัด ‘Sony Music’ กับอัลบั้มแรก อย่าง ‘_RUKRUKLERKLERK’ ที่หล่อหลอมจากเรื่องราวชีวิตประจำวัน
ความบังเอิญที่นำไปสู่การก่อตั้งวงอินดี้
วัยเด็กของ ‘บิลลี่’ เป็นเด็กที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำอะไรสนุก ๆ เช่น การวาดรูป การเต้น และเขาก็มักจะหาคนมาร่วมสนุกด้วยเสมอ ในตอนนั้นบิลลี่ยังมองว่าดนตรีเป็นเพียงแค่กิจกรรมอดิเรกธรรมดา ๆ กระทั่งตอนมัธยมที่เป็นวัยค้นหาตัวเอง จึงทำให้ค้นพบว่า ดนตรีเป็นอะไรได้มากกว่านั้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บิลลี่เริ่มหลงใหลในเสียงดนตรีนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ในวันหนึ่งที่บิลลี่กำลังเรียนอยู่ในคลาสเรียนดนตรี และได้รับมอบหมายให้ตั้งวงดนตรีเพื่อเล่นเพลง นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่บิลลี่เข้าไปคลุกคลีกับดนตรีอย่างจริงจัง และนำชื่อที่ได้ไอเดียมาจากรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ในเกมออนไลน์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นวงดนตรีวงแรกของบิลลี่ อย่างวง ‘Endless’
เมื่อบิลลี่ในช่วงม.4 มีโอกาสเจอกับ ‘คิม’ ที่โรงเรียนสอนดนตรี ด้วยความชอบที่เหมือนกัน นั่นจึงทำให้ทั้งสองตัดสินใจชักชวนมาเล่นดนตรีด้วยกัน แต่แล้วเมื่อถึงช่วงเวลาที่ทั้งสองจบการศึกษา ก็ทำให้พวกเขาต้องแยกย้ายกันไปเติบโตในเส้นทางของตนเอง คิมต้องหันไปเรียนเกี่ยวกับสายการบิน ส่วนบิลลี่ตัดสินใจเรียนต่อในสายดนตรี
ซึ่งก็ไม่รู้จะเรียกว่าโชคร้ายหรือโชคดี เนื่องด้วยวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด ทั้งคิมและบิลลี่ที่ต้องหยุดงาน บิลลี่จึงชักชวนให้คิมมาทำเพลงด้วยกัน แต่ในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเล่นดนตรีธรรมดา แต่เป็นการทำเพลง และนำชื่อเก่าของวงตอนช่วงมัธยมมาต่อยอด หรือเอาจริง ๆ อาจจะเรียกว่า ‘ตัดทอน’ จนเกิดเป็นชื่อ ‘_less’
เมื่อทั้งสองตั้งวงดนตรีขึ้นมาสำเร็จ ซึ่งเนื้อหาและคอนเซ็ปต์ที่ทั้งสองหยิบนำมาร้อยเรียงเป็นเนื้อเพลง อาจไม่ใช่ปรัญชาชีวิตหรือสิ่งที่เข้าใจยาก หากแต่เป็นเรื่องราวในชีวิตจริงหรือสิ่งใกล้ตัวที่ผู้คนสามารถจับต้องและเชื่อมโยงได้ เช่น เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความรัก การจากลา ที่ใครก็ตามเมื่อได้รับฟัง จะสามารถเข้าใจและคล้อยตามได้ไม่ยาก (โดยเฉพาะวัยรุ่น)
“ผมหยิบนำเอามาจากสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวันของพวกเรา เพลงแรก ๆ ก็จะพูดถึงเพื่อนที่เคยสนิท พอเวลาผ่านไปก็ไม่สนิทกัน หรือพูดถึงชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่ รวมถึงพูดเกี่ยวกับอะไรง่าย ๆ ที่เพื่อนเราอินกับเรื่องนั้น ๆ พอทำแบบนั้นมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีคนฟัง หรือคนอื่นนอกเหนือจากพวกเราเริ่มรู้สึกรีเลทด้วย เรื่องอะไรพวกนี้ที่มันเป็นสามัญทั่วไป เราก็เลยจับจุดนั้นได้ ว่าเราน่าจะเขียนอะไรต่อไป”
การสร้างตัวตนภายใต้หน้ากาก
ระหว่างที่ทั้งคู่แต่งเพลงกันด้วยความสนุก ครั้งหนึ่ง บิลลี่ที่กำลังไปเที่ยว ณ เกาะแห่งหนึ่ง และได้ไปพบเข้ากับหมูตัวใหญ่กำลังนอนอยู่ในห้องน้ำของผับบาร์ ไม่รอช้าจึงรีบหยิบโทรศัพท์และถ่ายรูปเอาไว้
กระทั่งเมื่อถึงวันที่บิลลี่ต้องทำรูปปกเพลง จู่ ๆ รูปหมูรูปนั้นกลับผุดขึ้นมาในหัว นั่นจึงทำให้บิลลี่ตัดสินใจวาดรูปหน้ากากหมูขึ้นมาเป็นชิ้นแรก และหน้ากากนี้เองที่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ต่อยอดมาเป็นการสร้างตัวตนภายใต้หน้ากากรูปแบบใหม่ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ทั้งคู่ยังคงแต่งเพลงร่วมกันไปเรื่อย ๆ บิลลี่ที่อยากจะลองทำอะไรแปลกใหม่ จึงคิดสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา โดยมีหน้ากากเป็นตัวปกปิดใบหน้า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ของวงกับการสร้างตัวตนขึ้นมาภายใต้หน้ากาก
จุดมุ่งหมายที่บิลลี่ริเริ่มสร้างตัวตนขึ้นมา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากฮีโร่ในวัยเด็กและศิลปินต่างประเทศ ที่จะคอยใส่หน้ากากเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ก็จะกลับมาเป็นตัวตนในแบบปกติ บิลลี่จึงนำเอาแนวคิดนี้มาใช้ในการทำเพลงของตัวเอง เพื่อปลดปล่อยอารมณ์และตัวตนของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่
“มันเหมือนเป็นการ Alter Ego จากตัวตนหนึ่ง ไปเป็นอีกตัวตนหนึ่ง”
“คิดว่ามันเป็นชุดทำงานของเรา ซึ่งในพาร์ทอื่น ๆ ผมก็มีร่างอื่น ๆ เหมือนกัน เพียงแค่ผมไม่ได้มีชุดแบบนี้ แต่พอเป็นสิ่งที่ผมชอบ ผมแค่อยากจะเติมแต่งออกแบบหน้าตาให้กับมันหน่อย”
และในขณะที่บิลลี่กำลังเดินเล่นอยู่ละแวกหมู่บ้าน เขาได้เหลือบไปเจอกับหน้ากาก Daiso ที่วางอยู่หน้าร้านขายของ ทันทีที่บิลลี่เห็นจึงตัดสินใจซื้อหน้ากากนั้นมา เพราะด้วยความคิดที่ว่าอยากจะแต่งเติมสีสันให้กับตัวเอง และด้วยความบังเอิญนี้เอง ที่ได้ต่อยอดมาเป็นหน้ากากประจำตัวของบิลลี่และคิมไปโดยปริยาย
จากศิลปินอิสระ สู่ศิลปินภายใต้สังกัด ‘Sony Music’
หลังจากที่คิมและบิลลี่ร่วมกันแต่งเพลงระยะหนึ่ง กระทั่งเข้าสู่ปี 2022 จากศิลปินอิสระ ก็ขยับสถานะมาเป็นศิลปินภายใต้สังกัด ‘Sony Music’ ที่ทำให้ทั้งสองพัฒนาและทดลองทำอะไรหลายอย่าง รวมถึงการทำงานที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัว หากแต่ยังคงความสนุกในการทำเพลงในรูปแบบของ _less
“เราเข้ามาอยู่ค่ายเพลง เราต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้นในหลาย ๆ จุด ต้องพยายามแสดง พยายามร้อง ทำให้มันดีกว่าเดิม แล้วก็ทำให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น”
“ก่อนหน้านี้ เราจบกันที่ 2 คน ก็คือไม่ต้องคำนึงถึงอะไรอย่างอื่น พอเข้ามาอยู่ค่ายเพลง เราต้องมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ต้องคำนึงถึงคนที่ร่วมงานด้วย ความจริงก็ทำอะไรตามใจได้ แต่แค่เราต้องสื่อสารกับคนที่ร่วมงานด้วย”
เมื่อปรับเปลี่ยนจากศิลปินอิสระ มาเป็นศิลปินภายใต้ค่ายเพลง ทำให้เรียนรู้ในการทำงานมากขึ้น รวมถึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเล่นดนตรี ซึ่งมีโชว์แสดงที่ทั้งสองประทับใจ รวมถึงหนึ่งในโชว์นั้น ทำให้บิลลี่ พบเจอกับตัวตนของตัวเองภายใต้หน้ากากที่สวมใส่ ที่ทำให้ปลดปล่อยจิตวิญญาณของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่
“ของผมน่าจะงาน ‘Future Fest’ เป็นโชว์แรกที่เต็มที่ที่สุด รู้สึกมีคนสนุกด้วย กระโดดโลดเต้นไปกับเรา ดีใจที่มันเป็นแบบนั้น ผมชอบบรรยากาศนั้นมาก ๆ” คิม กล่าวถึงโชว์ที่รู้สึกประทับใจที่สุด
“งานที่ผมบอกว่าอยู่หลังหน้ากากแล้วเจอตัวเองก็คือที่ฟิวเจอร์เฟสต์นี่แหละ แต่ถ้าประทับใจก็เป็นช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน อย่างงานที่ ‘Blueprint Livehouse’ ซึ่งเป็นครั้งที่สองที่เราไป เราจะไปเล่นเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว มันรู้สึกว่า _less จะต้องทำโชว์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามคนฟัง” บิลลี่กล่าวถึงโชว์ที่ค้นพบตัวตนของตัวเองภายใต้หน้ากากที่สวมใส่ขณะอยู่บนเวที
“ปกติผมเป็นคนที่อาจจะไม่กล้าอะไรมาก เป็นคนขี้อายบ้าง แต่พอเรามีพื้นที่ของตัวเอง มีโชว์หนึ่งที่ใส่หน้ากากแล้วรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ของเรา ก็จะมีคนที่บอกว่าใส่หน้ากากแล้วจะเป็นตัวเองเหรอ แต่พอผมลองใส่ขึ้นไปเล่นบทเวที มันรู้สึกว่านี่คือเรา เราสามารถทำได้กว่าตอนที่เราไม่ใส่หน้ากาก หรือมันอาจจะดึงอะไรบางอย่างที่เป็นเรามาก ๆ ออกมาผ่านหน้ากากนี้ได้”
หลังจากทั้งสองค้นพบและสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา จึงคิดไอเดียแต่งเติมโชว์การแสดงให้มีความน่าสนใจและผู้ชมสามารถสนุกไปด้วย จึงชักชวนน้องสาวของตัวเองมาร่วมสนุกในโชว์ ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากโชว์แสดงของ _less ที่มีแดนเซอร์เต้นประกอบด้วยในขณะที่วงกำลังบรรเลงบทเพลง นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้วงมีความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
‘_RUKRUKLERKLERK’ อัลบั้มที่หล่อหลอมจากเรื่อง รัก ๆ เลิก ๆ
ระหว่างที่ทั้งสองร่วมกันแต่งเพลง ด้วยคอนเซ็ปต์ที่หยิบนำเรื่องราวชีวิตประจำวันทั่วไปมาแต่งเป็นบทเพลง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ ‘ความสัมพันธ์’ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเรื่องสามัญทั่วไปของทุกคน นั่นจึงทำให้ทุกครั้งที่แต่งเพลง มักจะเขียนคอนเซ็ปต์ไว้ข้างบนเสมอว่า ‘รัก ๆ เลิก ๆ’ ส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากเพลงไทยในอดีตที่มักจะพูดถึงเรื่องความรัก ซึ่งผู้คนสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงได้ทันที อีกทั้งยังคล้องไปกับเนื้อหาของแต่ละบทเพลงที่แต่งออกมา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดอัลบั้ม _RUKRUKLERKERLK ขึ้นมา
“ตอนแรกของการทำ _Less ผมจะเซ็ทคอนเซ็ปต์หรือเขียนไว้ข้างบนว่า ‘_รัก ๆ เลิก ๆ’ ซึ่งผมชอบคำนี้มาก พอนึกย้อนกลับไป เมื่อก่อนเราโตมากับเพลงไทย เราก็จะเจอเรื่องที่มันจะป๊อปฮิตหรือรีเลทกับคนได้ง่าย ก็คือการเขียนเรื่องความรัก เขียนเรื่องความสัมพันธ์ ยังไงเพลงมันก็ทำงานได้กับวัยรุ่น หรือสังคมไทยได้ทันที
“พอมาทำอัลบั้ม ช่วงที่อยู่ Sony ผมก็ตีความมันว่าเป็นอีกยุคหนึ่ง เราก็จะเริ่มเก็บเพลงตั้งแต่ที่เข้ามา Sony ตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นอัลบั้ม พอช่วงกลางปี ผมรู้สึกว่าควรจะต้องมี 10 เพลงแล้ว ให้ _less มันเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง ก็หยิบคำว่ารัก ๆ เลิก ๆ มาใส่กรอบให้เพลง จนออกมาเป็นเพลงป๊อปรัก ๆ เลิก ๆ ของ _less ที่เราอยากจะสื่อแบบนี้ พูดเรื่องความผิดหวังสมหวัง ซึ่งเรามองเป็นเพลงรัก ๆ เลิก ๆ ของเรา”
ด้วยกลิ่นอายที่ชวนให้เรานึกย้อนวันวานในเนื้อเพลงแต่ละท่อน จึงไม่แปลกใจที่แต่ละบทเพลงในอัลบั้มแรกของพวกเขา จะสามารถเชื่อมโยงกับผู้ฟังได้ง่าย
‘Last Festival’ บทเพลงที่เป็นตัวแทนของคำอำลา
หนึ่งในเพลงที่ทำให้หลายคนรู้จัก _less ที่บิลลี่ได้หยิบนำเหตุการณ์และความรู้สึกของวันอำลาเพื่อนในวัยมัธยมมาผสมกับหนังที่พูดถึงการออกแบบงานศพของตัวเอง ที่ชวนตั้งคำถามว่า
“ถ้าหากเราต้องจากโลกนี้ไป เราอยากจะให้งานศพของตัวเองเป็นแบบไหน?”
นั่นจึงทำให้บิลลี่หยิบเอาองค์ประกอบทั้งสองมาผนวกเข้าด้วยกันและถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงที่ทำให้หลายคนรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย ที่เนื้อหาโดยหลักจะยึดถึงการจากลาเป็นหลัก ซึ่งครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งความรัก มิตรภาพ รวมถึงการจากลาที่กล่าวถึงวันสุดท้ายของเรา จึงไม่แปลกใจที่เพลงนี้จะกลายเป็นเพลงสุดแสนกินใจและเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายคนหลงรัก _less
“เป็นเพลงที่เกี่ยวกับงานปัจฉิมตอนม.6 ตอนนั้นผมรู้สึกอินกับงานปัจฉิมมาก ๆ บวกกับตอนนั้นหนังฟรีแลนด์ ที่พูดถึงการดีไซน์งานศพของตัวเอง ผมก็ย้อนมองว่าหากวันหนึ่งเราจากโลกนี้ไป แล้วเราได้ออกแบบงานศพของตัวเอง มันคงจะเป็นอะไรที่สนุกแน่เลย”
“ตอนแรกผมตั้งใจจะใช้ชื่อเพลงว่า ‘ปัจฉิมนิมิต’ แต่พอเรามาเป็น _less ผมรู้สึกว่าเพลงทุกเพลงมันเป็นภาษาอังกฤษหมเลย ผมก็ต้องคิดชื่อใหม่ แล้วในเนื้อเพลงมันมีคำว่า ‘Last Prom Night’ ผมก็ลองเปลี่ยนคำว่า ‘prom’ เป็นคำว่า ‘Festival’ ซึ่งให้ความสนุกและมันจะได้รู้สึกไม่เศร้าเกินไป ก็เลยตัดสินใจใช้คำนั้นเลย”
‘Don’t u even cry’ แล้วเธอไม่คิดจะร้องไห้สักหน่อยเหรอ?
นอกเหนือจากเพลง Last Festival ซึ่งเปรียบเสมือนประตูบานแรกที่ทำให้ใครหลายคนรู้จัก _less และอีกหนึ่งเพลงที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘Don’t u even cry’
“และเธอไม่มีทางจะรู้ ว่าฉันจะแหลกสลายแบบไหน”
ประโยคแรกที่ปรากฏขึ้นในมิวสิควิดีโอ และตามด้วยเสียงพูดที่ว่า ‘Don’t u even cry?’ พร้อมกับเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ตามสไตล์ของ _less ซึ่งเราจะเห็นว่าแต่ละบุคคลที่อยู่ในมิวสิควิดีโอกำลังยิ้มแย้มท่ามกลางครอบครัวที่รายล้อมไปด้วยญาติผู้ใหญ่ แต่รอยยิ้มนั้นกลับไร้ความสุข ต่อด้วยการร่ายรำและการเต้นที่ราวกับพยายามปลดปล่อยความอัดอั้นในใจ
ทันทีที่รับชมมิวสิควิดีโอตัวนี้ หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าตัวเพลงต้องการสื่ออะไร? ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น? ซึ่งบิลลี่และคิม อธิบายว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ในชีวิตที่ต้องพบกับความสูญเสีย ซึ่งแน่นอนว่าใคร ๆ ต่างต้องเสียใจ แต่เพียงแค่คน ๆ นั้นเลือกจะแสดงออกในรูปแบบไหน
“มันเกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกของแต่ละคนที่มีการแสดงออกแตกต่างกัน ซึ่งรีเลทกับความรู้สึกในแต่ละคน ยกตัวอย่างผมก็ได้ ในช่วงที่ปู่ผมเสีย โอเค เราควรจะต้องร้องไห้ ถูกไหม ผมรู้สึกเศร้า แต่แค่เราไม่ได้ร้องไห้ คนรอบข้าง ญาติ ๆ อาจจะมองว่า “มึงไม่เสียใจเหรอ” ไม่รู้สึกอะไรเหรอ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนก็ต้องรู้สึก แต่ผมแค่มีวิธีการระบายความรู้สึกในแบบฉบับของผม” คิมบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในชีวิตที่นำมาร้อยเรียงในบทเพลง
“เพลงนี้ผมจะใส่ไว้ในอัลบั้ม เป็นพาร์ทของความเป็นปัจเจกของแต่ละคน การพูดถึงตัวตน การเลือกทำที่ไม่เหมือนกัน มนุษย์ไม่เหมือนกัน บางทีการแสดงความรู้สึกเศร้า เราไม่จำเป็นต้องร้องไห้ก็ได้ ความปัจเจก ความแตกต่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราอิน ก็เลยตัดสินใจใส่ลงไปในอัลบั้มด้วย”
“ขอโทษที่การแสดงความเสียใจของฉันไม่สากลเท่าไหร่”
_less ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่แหวกแนวและฉีกขนบการเล่าเรื่องผ่านเพลงแบบเดิม ๆ และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นเหตุผลที่เพียงพอจะทำให้หลายคนต่างตกหลุมรักสองหนุ่มอินดี้ในมาดหน้ากากญี่ปุ่น จนกลายเป็นแฟนเพลงแบบไม่รู้ตัว
ซึ่งหลังจากนี้เราต้องติดตามกันต่อไป ว่าบทเพลงของ _less จะออกมาในรูปแบบใด หรืออาจได้เห็น _less ในเวอร์ชั่นแหวกแนวยิ่งกว่าเดิม รวมไปถึงเราอาจจะได้เห็นตัวตนและหน้ากากที่แปลกใหม่ยิ่งกว่าเดิม แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ของบทเพลงที่เปรียบเสมือนเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างเราในยามเปิดฟัง
“ยินดีที่ได้รู้จักกัน พอเป็นเรื่องที่พูดถึงความรู้สึกของวัยรุ่นคนหนึ่งที่อินอยู่ แล้วเจอคนที่อินเรื่องเดียวกัน มันรู้สึกเหมือนตอนมัธยมที่เราเจอกลุ่มเพื่อนที่เล่นดนตรีเหมือนกัน เจอเพื่อนที่เล่นเกมเหมือนกัน เหมือนเราเจอเพื่อน ๆ ที่เยอะขึ้น มันเติมเต็มความเป็นมนุษย์ขึ้น ผมก็อยากจะบอกคนฟังว่า “เรามารู้จักกันนะ” ”