17 ก.ย. 2567 | 14:50 น.
เราจะวัดความสำเร็จการเป็นศิลปินของคนๆ หนึ่งนั้นได้อย่างไร ชื่อเสียง เงินทองหรือถ้วยรางวัล?
แล้วทำไมในยุคที่ใครๆ ก็สามารถอัปโหลดเพลงของตัวเองขึ้นบนออนไลน์ให้คนทั่วโลกได้รู้จักนั้นยังต้องมีการประกวดดนตรีจัดขึ้นอยู่
เพราะสำหรับเวที THE POWER BAND 2024 SEASON 4 ภายใต้แนวคิด “Let The Music Power Your World เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 และได้ขยายโอกาสให้กับผู้มีใจรักในเสียงเพลงใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เวทีแห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันประกวดดนตรี แต่ต้องการเป็นพื้นที่ที่พาโอกาสมาหาคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ที่มีความฝันในการเป็นศิลปินมืออาชีพ ในการเปิดมุมมมองและรับประสบการณ์ที่บนโลกออนไลน์ทดแทนไม่ได้นั่นเอง รวมถึงเซอร์ไพร์สที่ทำให้คุณอาจได้ร่วมเล่นดนตรีบนเวทีเดียวกับศิลปินที่ชื่นชม
โดย THE POWER BAND MUSIC CAMP ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผู้จัดและผู้เข้าประกวดต่างลงคะแนนเป็นเสียงเดียวกันว่านี่ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษที่หาไม่ได้ที่ไหนในเวทีการประกวดทั่วไป เพราะเสมือนโลกจำลองวงการดนตรีให้น้องๆ ที่ผ่านเข้ารอบได้เรียนรู้และค้นหาตำแหน่งของพวกเขาในอุตสาหกรรมดนตรีแห่งนี้
เพื่อที่วันหนึ่งอาจเป็นวันที่บทเพลงของพวกเขาสามารถถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกแทนใจให้กับคนฟังเช่นเดียวกับศิลปินที่พวกเขารักสื่อสารเรื่องราวและความสะเทือนใจแบบเดียวกันนี้สู่ผู้คน โดยภายใน THE POWER BAND MUSIC CAMP ได้รับการออกแบบดูแลกิจกรรมทั้งหมดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าประกวดได้มาใช้เวลาเรียนรู้ร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ซึ่งมีกรรมการและพี่เลี้ยงคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อถ่ายทอดบทเรียนสู่ถนนสายนักดนตรีมืออาชีพ
มิตรภาพของผู้เข้าประกวดที่งอกงามไปพร้อมความเข้าอกเข้าใจกันของผู้จัดงานตลอด 4 ปีที่ผ่าน ทำให้การประกวด THE POWER BAND ประสบความสำเร็จอย่างมั่นคง ต่อเนื่องและขยายโอกาสไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศไทยมากขึ้น โอกาสและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการประกวดในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะมี คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ที่เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่มองเห็นศักยภาพของคนไทยและเชื่อว่าการมอบโอกาสจะช่วยสร้างให้ทุกอย่างเป็นไปได้
อาจารย์อัครวิชญ์ พิริโยดม (เช่) หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลและมือเบสวง The Richmantoy เขาดำรงตำแหน่งอาจารย์ดนตรีในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นอาชีพหลักที่ทำมาต่อเนื่องกว่า 15 ปี โดยมีการเล่นดนตรีเป็นงานรองที่ทำให้หลายๆ คนจดจำคาแรคเตอร์และความคูลของเขาได้
โดยสาขาที่เขารับผิดชอบเรียกกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการเรียนการสอนแนวเพลง Popular music ซึ่งเป็นแนวที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งจะมีสองแกนหลักในการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาคือ Performer และ Production เพื่อผลิตนักศึกษาให้พร้อมกับการเป็นศิลปินเบื้องหน้าและคนทำงานเบื้องหลังที่สำคัญไม่แพ้กัน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาขาที่ป๊อปในหมู่เด็กๆ รุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้ามาสมัครแข่งขันกันมากขึ้นทุกปี หนึ่งในนั้นคือ โบกี้ ไลออน ศิษย์เก่าในสาขานี้ที่กำลังโลดแล่นและมีเพลงฮิตมากมายอยู่ในขณะนี้
“เราเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลทำให้ได้รับเงินสนับสนุนที่นำมาพัฒนาห้องเรียน ห้องแสดงดนตรีและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษา”
“ทุกๆ สัปดาห์จะมีวิทยากรมาบรรยายให้นักศึกษาได้ฟัง ตัวผมเองก็ได้อัปเดตความรู้ไปด้วย”
ในฐานะอาจารย์ดนตรีในมหาวิทยาลัยเขากล่าวว่าถึงแม้คนทั่วไปจะสามารถฝึกฝนการเล่นดนตรีได้เองโดยไม่ต้องเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยที่เขาสังกัดอยู่นี้จะมอบให้คือการมองถึงคุณค่าทางศิลปะ และองค์ความรู้ทางวิชาการที่สามารถนำไปต่อยอดสู่อาชีพต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีได้เช่นกัน
อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ ได้เข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการและหนึ่งในทีมออกแบบการประกวดของ THE POWER BAND มาตั้งแต่ปีแรก (พ.ศ. 2564) จนปัจจุบันก้าวสู่ปีที่4 (พ.ศ. 2567) เรียกได้ว่าผู้ประกวดที่เข้ามาแข่งขันในเวทีนี้ล้วนผ่านสายตาของเขามาแล้วทั้งสิ้น จากที่เคยเป็นนักดนตรีสมัครเล่นลงสมัครเวทีประกวดตามที่ต่างๆ กลายมาเป็นศิลปินที่มีค่าย ออกอัลบั้มเพลงและประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จัก เมื่อได้มาจับการออกแบบการแข่งขันด้วยตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเขา ทั้งในแง่ของการหาคำตอบให้กับตัวเองในฐานะผู้จัดและคุณค่าที่ผู้เข้าประกวดจะได้รับในการเข้าแข่งขัน
“ในช่วงแรกๆ ผมทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายในพาร์ทของเกณฑ์การตัดสินเท่านั้น แต่หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ เช่น ฝ่ายโปรดักชั่น ค่ายเพลงและออกาไนซ์เซอร์ก็ได้รับประสบการณ์ช่วยทำให้งานหลังบ้านที่ต้องติดต่อประสานกันมีความเข้าใจกันมากขึ้นซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาครั้งต่อๆ ไป”
ถ้าใครที่ติดตามการประกวด THE POWER BAND มาทุกปีจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ทางผู้จัดงานร่วมกันหาจุดเหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียนมัธยมทั่วประเทศ บุคคลทั่วไป ที่ความฝันได้มีส่วนร่วมกับการประกวดในเวทีนี้
“จากฟีดแบ็กในปีที่ผ่านๆ มา ทำให้ในปีนี้พวกผมได้มาพบกับจุดบรรจบที่เหมาะสม โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นมัธยมศึกษา สุดยอดวงดนตรีระดับมัธยมฯ (High School Class) และ รุ่นบุคคลทั่วไป เส้นทางสู่ศิลปินมืออาชีพ (Professional Class: Road to Artist) ”
ถ้าจะถามถึงความแตกต่างของเวทีการประกวดที่มีอยู่ในตอนนี้ คนที่จะบอกได้ดีกว่าใครก็คือน้องๆ ผู้เข้าประกวดที่เดินสายแสดงฝีมือของตัวเองมาแล้วหลายสิบเวที ซึ่งตัวแทนผู้เข้าประกวดทั้งสามคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า THE POWER BAND ให้สิ่งที่มากกว่าแค่เวทีประกวดแบบที่อื่นๆ
“นอกจากเป็นเวทีประกวดที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าประกวดให้เลือกใช้เครื่องดนตรีได้หลากหลาย ไม่ปิดกั้นแนวเพลง สามารถทำให้ออกแบบการเล่นได้อย่างอิสระ รวมถึงเป็นเวทีที่มีคู่แข่งที่คู่ควรกับตัดสินใจเข้าร่วมประกวด ยิ่งคู่ต่อสู้มีความสามารถยิ่งทำให้พวกผมอยากพัฒนาให้เก่งขึ้น” บาร็อก (นักร้องนำ วงเตรียมอุดมศึกษา)
“THE POWER BAND เป็นการประกวดที่ผมประทับใจมากที่สุดที่เคยไปประกวดมา มีระยะการประกวดที่ยาวกว่าทั่วไป ทั้งผู้จัดและวิทยากรก็มีความตั้งใจเพื่อส่งเสริมความเป็นไปได้ให้กับคนรุ่นใหม่ เปิดโอกาสให้คนทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม แค่ได้เข้ารอบก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วขั้นหนึ่งครับ” คิว (วง KRYPTONYTE)
สำหรับวงดนตรี KRYPTONYTE ส่งผลงานเข้าประกวด THE POWER BAND ตั้งแต่ซีซันที่ 2 และ ซีซันที่ 3 ภายใต้ชื่อวง SG band กลุ่มเพื่อนชายล้วนจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่มีรสนิยมการฟังเพลงร็อคยุคคุณปู่คุณพ่อยังหนุ่มที่คล้ายๆ กัน บวกกับการแสดงดนตรีบนเวทีการประกวด THE POWER BAND ที่พวกเขาบอกว่าไม่เล่นดนตรีเพื่อการประกวดแต่เล่นเหมือนเวทีนี้เป็นคอนเสิร์ตของพวกเขา แม้จะเข้ารอบสุดท้ายแต่ไม่ได้คว้ารางวัลติดมือกลับบ้าน สิ่งที่พวกได้รับอาจเกิดความคาดหวังนั่นคือการแสดงที่ไปเตะตาค่ายเพลง Move Records ดึงตัวมาจับเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดและเดบิวส์เพลงแรกของตัวเอง ในชื่อเพลง “คนที่ไม่รัก” ติดตามผลงานของพวกเขาได้ทางชาแนลยูทูปของค่าย Move Records
สำหรับ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ ตัวแทนกรรมการและผู้จัดงานการประกวดเวที THE POWER BAND มองว่าความแตกต่างที่เป็นจุดเด่นสำคัญในมุมมองของเขาคือความมั่นคงที่ค่อยๆ ปรับจูนร่วมกันกับทีมเพื่อหาจุดลงตัวสำหรับผู้จัดงานและผู้เข้าประกวด
“วงดนตรีได้มีอิสระในการเลือกใช้เครื่องดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เวทีนี้แตกต่างออกไป นอกเหนือจากนั้นคือความมั่นคงที่ผมและทีมงานฝ่ายอื่นๆ ปรับการประกวดในแต่ละปีกันต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะผมในฐานะที่เป็นอาจารย์จะชอบความงามในการค่อยๆ โตแบบไม่เร่งรีบเกินไป”
อีกหนึ่งข้อที่สำคัญที่ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ สัมผัสได้ด้วยตัวเองและคิดว่าน้องๆ ที่มาประกวดก็น่าจะได้รับไปเช่นกันคือบรรยากาศการประกวดที่เฟรนลี่ต่อกัน
วงเตรียมอุดมศึกษา วงลูกผสมที่มีกลิ่นอายดนตรีสไตล์ godspel ที่ผสมผสานเครื่องดนตรีไทยร่วมกับเครื่องดนตรีสากล ที่รวมเอาทั้งเครื่องดนตรีหลักและเครื่องสายเข้ามาในการแสดง ทำให้เป็นวงที่มีสไตล์ที่แตกต่าง โดดเด่นกว่าทีมอื่นๆ ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มบรรเลงดนตรี นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ วงเตรียมอุดมศึกษา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในซีซั่นที่ 3 มาครองได้สำเร็จ
บาร็อก ชลธาร นักร้องนำเล่าย้อนกลับไปถึงบรรยากาศการเล่นดนตรีด้วยกันกับเพื่อนๆ ที่ประกอบกันเป็นวงดนตรีที่มีสมาชิกมากถึง 12 คน แน่นอนว่าเด็กๆ ที่มีความฝันเหมือนกันได้มารวมตัวกัน ย่อมทำให้การเล่นดนตรีสนุกขึ้นทวีคูณแต่ปนความวุ่นวายด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามที่บาร็อกและสมาชิกคนอื่นๆ ในวงเตรียมอุดมศึกษาได้เรียนรู้ไประหว่างการฝึกซ้อมคือได้ฝึกวินัยในตัวเอง รวมถึงการเรียนรู้ข้อจำกัดของเพื่อนๆ ในวงที่อยู่กันคนละที่ เรียนกันคนละห้อง การจะเรียกรวมตัวฝึกซ้อมแต่ละครั้งจึงต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการบริหารอารมณ์ความรู้สึกเพื่อจูงใจเพื่อนๆ เพื่อทำให้การรวมตัวกันแต่ละครั้งเกิดประสิทธิภาพที่สุด
นอกจากนี้สิ่งที่เป็นความทรงจำที่เขายังจดจำได้ไม่ลืม แม้การแข่งขันจะจบลง นอกจากช่วงเวลาประกาศรางวัล แต่ยังมีเหตุการณ์ระหว่างการแข่งขัน THE POWER BAND ที่ถึงแม้จะเป็นการการประกวดเพื่อหาผู้ชนะเลิศ น้องๆ ผู้เข้าประกวดกลับไม่ได้มองกันและกันเป็นคู่แข่ง เด็กๆ มีน้ำใจและช่วยเหลือซึ่งกันในยามคับขัน
“เหตุการณ์ระหว่างการแข่งขันขณะที่วงของพวกผมกำลังขึ้นแสดงบนเวที จู่ๆ กีต้าร์กลับไม่ทำงาน วงคู่แข่งที่รอเล่นต่อเขาไปเอาอุปกรณ์ของตัวเองขึ้นมาให้เล่นแทน นี่เลยเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ว่าพวกเราไม่มาแข่งขันเพื่อเอาชนะกันเท่านั้น” บาร็อก (นักร้องนำ วงเตรียมอุดมศึกษา)
หนึ่งในช่วงเวลาประทับใจของการประกวดสำหรับ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ คือการจัด THE POWER BAND MUSIC CAMP จากคนที่เคยไม่ชอบการทำกิจกรรมร่วมกับคนจำนวนมาก แต่ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับเด็กๆ ในค่ายกลับทำให้เขาเปิดใจ เขาย้อนไปเล่าถึงบรรยากาศด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นขึ้นมาทันที ทำให้เราสรุปไปเองว่า เขามีความสุขที่ได้ทำให้ THE POWER BAND MUSIC CAMP เกิดขึ้น
“THE POWER BAND MUSIC CAMP มีขึ้นมาในซีซั่นที่ 3 และ 4 ดำเนินกิจกรรมโดยบุคลากรในสาขาของผมที่ ม.มหิดล ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา ไอเดียเกิดมาจากการพูดกันในทีมถึงการจัดการประกวดแบบทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ตรงกับอาชีพหลักของผมที่ทำงานในด้านการศึกษา การรวบรวมความรู้ไปขยายต่อให้มนุษย์คนอื่นได้เข้าใจและเรียนรู้เร็วขึ้น”
“การได้จัดค่ายนี้ขึ้นมาทำให้ได้เติมเต็มสิ่งที่เป็นตัวตนของผมในฐานะอาจารย์และรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น”
“ในเวิร์คช็อปพี่ๆ วิทยากรทำให้เราเรียนรู้ว่าไม่ต้องใส่ทุกอย่างที่เรามีลงไปในเพลงทั้งหมด แต่ต้องนึกถึงการรับรู้ของคนฟังด้วยเช่นกัน เหมือนการปรุงอาหารปกติคนทั่วไปก็ไม่ได้ใส่เครื่องปรุงที่มีทุกอย่างเหมือนๆ กันในทุกๆ เมนู โดยเฉพาะวงของพวกผมที่มีจำนวนสมาชิกและเครืองดนตรีที่หลากหลาย ถ้าทุกคนเล่นแข่งกันเสียงก็จะยิ่งดังกลบกันเอง การได้มีพี่ๆ ช่วยแนะนำก็ทำให้หาจุดพอดีลงตัวได้เจอ” บาร็อก ชลธาร เซ็นเชาวนิช (นักร้องนำ วงเตรียมอุดมศึกษา)
“ความทรงจำที่เกิดขึ้นในค่ายพอนึกย้อนกลับไปก็ทำให้รู้สึกคิดถึง เวลามันผ่านไปเร็วมาก ได้รับประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ เป็นเวทีการแข่งขันที่ทำให้เราได้สิ่งที่จะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต นอกเหนือจากประสบการณ์และถ้วยรางวัลแต่คือมิตรภาพที่พวกผมได้รับ” พีพี (วง KRYPTONYTE)
อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ บอกกับเราว่า THE POWER BAND MUSIC CAMP เปิดโอกาสให้ผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศมาติวเข้มกันที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปูความรู้ให้กับน้องๆ ได้นำไปใช้ในรอบชิงชนะเลิศ ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน เริ่มกันตั้งแต่ 9.00-18.00 น. จัดหนักจัดเต็มกันทุกคอนเทนต์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามสุดท้าย ถึงแม้ความรู้จากวิทยากรจะอัดแน่นตลอดทั้งวันแต่ทั้งผู้เข้าประกวดและผู้จัดก็มีเวลาแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิด นอกจากความสนุกที่เกิดขึ้นสิ่งที่เขาได้รับนั่นคือความบริสุทธิ์ที่สวยงามของเด็กๆ
“ช่วงเวลาเหล่านั้นเกิดขึ้นมาโดยเราไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือภาพของเด็กๆ ที่เข้าร่วมการประกวดที่มีความเป็นเด็กใสๆ พวกเขายังไม่ได้เผชิญโลกการทำงานจริง การอยู่ในโลกความฝันของพวกเขาแม้จะมาจากต่างภูมิภาคหรือวัฒนธรรม แต่พอมาอยู่ด้วยกันแล้วมีความน่ารักที่แสดงออกมาในการโต้ตอบกับพวกผมและวิทยากร นั่นเป็นความอบอุ่นที่ทำให้ผมประทับใจมาก”
“ความทรงจำที่เกิดขึ้นในค่ายพอนึกย้อนกลับไปก็ทำให้รู้สึกคิดถึง เวลามันผ่านไปเร็วมาก พวกผมได้รับประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ เป็นเวทีการแข่งขันที่ทำให้เราได้สิ่งที่จะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต นอกเหนือจากประสบการณ์และถ้วยรางวัลแต่คือมิตรภาพที่พวกผมได้รับ” พีพี (วง KRYPTONYTE)
เด็กๆ ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากศิลปินและคนเบื้องหลังในอุตสาหกรรมดนตรีกลับบ้าน สำหรับ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ การได้เป็นหัวหอกในการจัดค่าย THE POWER BAND MUSIC CAMP ทำให้เขาได้รับความอบอุ่นและเติมไฟในการทำงานที่หล่นหายไประหว่างทาง
“ในค่ายผมรู้สึกถึงบรรยากาศที่พิเศษมากๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกันและกัน ความน่ารักของเด็กๆ มัธยมที่แบกเอาความฝันของตัวเองมาด้วยมันทำให้การรวมกันของพวกเขาได้ผลิบานขึ้นในงาน”
“อย่างน้อยๆ ในการเขียนเพลงต้องเขียนถึงสิ่งที่สะเทือนใจเราด้วย”
บทเรียนหนึ่งที่ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ ได้แนะนำให้กับน้องนักเรียนมัธยมผู้เข้ารอบที่ได้มาร่วมในกิจกรรม THE POWER BAND MUSIC CAMP เป็นสิ่งที่ศิลปินมืออาชีพทั่วไปใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลง การเข้าใจสถานะของตัวเองโดยผ่านการตั้งคำถามและพูดคุยกันในรูปแบบ Deep Talk เป็นหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยขุดเรื่องราวออกมาเขียนเนื้อร้องที่กินใจผู้คน
“ถึงแม้จะเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวมาก แต่เป็นเรื่องที่เด็กๆ เขาไม่เคยมองเห็นมาก่อน การได้ตั้งคำถามและทำความเข้าใจกับตัวเองทำให้พวกเขาตาวาวเมื่อได้ค้นพบอีกมุมมองหนึ่ง”
สำหรับเขามองว่าการค้นพบภายในตัวเองของเด็กๆ นี่แหละถือเป็นความสำเร็จในการจัด THE POWER BAND MUSIC CAMP ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในใจอาจารย์ดนตรีที่สอนมากว่า 15 ปีแบบเขาที่ช่วยจุดประกายการทำดนตรีให้กับผู้เข้าประกวดวัยใสเหล่านี้
“ผมโยนคำถามให้เขาเลือกว่าควรทำดนตรีก่อนหรือหลังที่เราเข้าใจตัวเอง เด็กในโต๊ะนั้นทั้งหมดตอบกลับมาพร้อมกันว่า ให้รู้จักตัวเองก่อนแล้วค่อยสร้างดนตรี”
เราแอบกระซิบถามวงดนตรีที่เข้ามาประกวดในเวทีนี้มีวงไหนที่โดนใจ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ เป็นพิเศษ เขาบอกว่ามีหลายๆ วงที่เก่งและน่าสนใจ แต่สำหรับตัวเขาแอบส่งกำลังใจให้กับ The Piclic Band วงร็อกหญิงล้วนจากเชียงใหม่ 5 สาวเพื่อนหญิงพลังหญิงที่ผูกพันกันด้วยมิตรภาพ เดินทางตามหาความฝัน ส่งความน่ารักให้ผู้ชมและแสดงฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดา
The Piclic Band เข้าประกวดครั้งแรกในซีซั่น 2 ในระดับมัธยมศึกษา รางวัลสูงสุดที่พวกเธอได้รับคือรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง แต่พวกเธอยังไม่หยุดความฝันอยู่แค่นั้น กลับมาประกวดอีกครั้งในซีซั่นที่ 3 และล่าสุดในซีซั่นที่ 4 นี้ พวกเธอทั้ง 5 คนขอท้าทายความสามารถด้วยการเลื่อนขั้นไปโชว์ฝีมือกับพี่ๆ มืออาชีพในรุ่นบุคคลทั่วไป (เส้นทางสู่ศิลปินมืออาชีพ)
“ตอนแรกที่ลงแข่งในการประกวด THE POWER BAND ก็เพราะต้องการหาประสบการณ์ไม่ได้หวังรางวัล ที่พวกเราลงแข่งขันติดต่อกันมา 3 ปีก็เพราะอยากพิสูจน์ให้คณะกรรมการและผู้ชมได้เห็นการพัฒนาของวงพวกเรา” กิ๊ฟ สุทธิดา พันธ์ศรี (มือกีตาร์ วง The Piclic Band)
“พวกเราเริ่มเล่นดนตรีด้วยความเป็นเพื่อนกัน แต่ตอนนี้เหมือนเป็นคนในครอบครัว มันมีความอบอุ่นที่ทำให้สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง” กิ๊ฟ สุทธิดา พันธ์ศรี (มือกีตาร์ วง The Piclic Band)
ความทุ่มเท ฝีมือ และเสน่ห์เฉพาะตัวของ กิ๊ฟ วาดลวดลายเล่นกีตาร์โดดเด่นถูกใจกรรมการจนคว้ารางวัล Outstanding ที่สุดแห่งปีไปครอบครอง จากโอกาสที่ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ ยื่นให้ในครั้งนั้น ทำให้วงดนตรีระดับประเทศอย่าง Bodyslam ดึงตัวน้องกิ๊ฟ และวง The Piclic Band ให้ไปร่วมแสดงในงานคอนเสิร์ตที่ชื่อ ‘THE B SIDE CONCERT’ เธอได้ยืนโซโล่กีต้าร์เคียงข้างกับ ยอด-ธนชัย ตันตระกูล ในเพลง ‘คิดฮอด’ ซึ่งเขาเป็นศิลปินต้นแบบที่เธอชื่มชม
“บนเวทีหรือหลังเวทีเราสองคนไม่ค่อยคุยกัน แต่พี่ยอดเซอร์ไพรส์หนูด้วยการมอบกีต้าร์ให้เป็นของขวัญ ชื่นชมสไตล์การเล่นและชอบในความเป็นตัวของตัวเอง พอลงเวทีมาหนูกลั้นน้ำตาไว้วิ่งมาร้องไห้ดีใจกอดกับคุณแม่” กิ๊ฟ สุทธิดา พันธ์ศรี (มือกีตาร์ วง The Piclic Band)
สำหรับ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ สิ่งที่ทำให้วง The Piclic Band ติดตาตรึงใจเขาได้อยู่หมัดคือแก้วเสียงของนักร้องนำที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสมาชิกคนอื่นๆ ในวงก็มีวิธีการเล่นที่โดดเด่นเฉพาะตัวก็เป็นที่น่าจดจำไม่แพ้กัน
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้นสังกัดของ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาบันดนตรีระดับมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งนักเรียนที่สามารถผ่านด่านคัดเลือกมาได้นั้นต้องมากด้วยความรู้ ความสามารถและกำลังทรัพย์เพื่อเข้าแข่งขันแย่งชิงเก้าอี้ในรั้วสถานศึกษาแห่งนี้ที่รับเพียงไม่กี่ร้อยคนต่อปี
ซี่งในฐานะที่เขาเองได้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งอาจารย์มากว่า 15 ปี จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยมมองว่าโอกาสที่นักศึกษาของเขาได้รับนั้นน่าจะขยายไปสู่คนอื่นๆ ทั่วประเทศได้มากกว่านี้ การเกิดขึ้นของ THE POWER BAND จึงเป็นการอุดช่องว่างทางโอกาสให้เด็กๆ และผู้มีความฝันในด้านดนตรีตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยได้มีพื้นที่พัฒนาศักยภาพตัวเองด้วยเช่นกัน
“ผมและทีม THE POWER BAND ได้เข้าไปเปิดโอกาสในการพัฒนาตัวแทนของจังหวัดอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่พวกผมจะทำได้ การประกวดและ THE POWER BAND MUSIC CAMP ทำให้ผมได้สื่อสารสิ่งที่ทำในรั้วมหาวิทยาลัยให้กับคนทั่วประเทศ ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีในวงกว้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
ในฐานะอาจารย์และศิลปินรุ่นพี่ อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ ได้ฝากกำลังใจและแนะแนวให้กับผู้ที่สนใจในด้านดนตรีและมีความฝันที่อยากเป็นศิลปินไว้ว่า
“ในช่วงเล่นดนตรีแรกๆ รวมถึงการเข้าประกวดพวกคุณอยู่ในขั้นของการสร้างทักษะเพื่อให้เก่งขึ้น อยากให้เข้าใจว่าแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จแต่เรากำลังอยู่ในกระบวนการของการฝึกทักษะในการพูดภาษาทางด้านดนตรี เพื่อทำให้ตัวเองเข้าใจเพลงที่หลากหลาย สุดท้ายดนตรีจะพาเราไปรู้จักตัวเอง เมื่อถึงวันนั้นก็อยากให้น้องๆ เปิดใจรับความรู้เหล่านั้นด้วย ปลายทางนั้นดนตรีจะทำให้เรามีชื่อเสียงหรือไม่นั้น ไม่มีใครสามารถบังคับกันได้”
“สำหรับหนูตอนเล่นดนตรีแรกๆ ก็รู้สึกว่ายาก แต่เรามีความมุ่งมั่นก็เลยทำให้เกิดความสนุก และอยากทำสิ่งนี้ให้ได้” กิ๊ฟ สุทธิดา พันธ์ศรี (มือกีตาร์ วง The Piclic Band)
“ฝากถึงน้องๆ ในการประกวด THE POWER BAND นะครับ วงพวกผมเคยผ่านจุดที่ต่ำสุดจนวันนี้ได้มีโอกาสทำตามความฝันของพวกผม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของวินัยและแพชชั่น ถ้ามีความฝันแล้วก็อยากให้ตั้งใจทำต่อไปเรื่อยๆ สำหรับทุกคนที่มีวงดนตรี ผมอยากให้น้องๆ สร้างความผูกพันเพื่อเป็นความทรงจำที่ดี หมั่นให้กำลังใจกันและกันซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้วงๆ หนึ่งจะประสบความสำเร็จ อยู่กันเป็นพี่น้อง อยู่กันแบบครอบครัวเพื่อให้ทุกคนในวงเดินไปถึงภาพสุดท้ายที่วาดไว้ด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ปลาวาฬ (วง KRYPTONYTE)
“ดนตรีสำหรับผมเป็นงานอดิเรก ในตอนนี้ไม่ได้คิดจะยึดเป็นอาชีพหลัก แต่ดนตรีและการร้องเพลงจะอยู่ในชีวิตของผมเสมอ ประสบการณ์ที่ได้ตั้งวงดนตรีกับเพื่อนถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญหนึ่งของชีวิตผมเช่นกัน” บาร็อก ชลธาร เซ็นเชาวนิช (นักร้องนำ วงเตรียมอุดมศึกษา)
สุดท้าย อาจารย์เช่-อัครวิชญ์ สรุปทิ้งทายถึงคุณสมบัติของนักดนตรีและผู้มีความฝันในยุคปัจจุบันเพื่อหาจุดเด่นของตัวเองทำให้เป็นที่จดจำได้ ท่ามกลางคอนเทนต์มากมายบนโลกออนไลน์ไว้เป็นข้อๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
“เรื่องขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ผมบอกไปนั้น สุดท้ายแล้วไม่อยากให้คนทำเพลงให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากเท่ากับการรู้จักตัวเอง เพราะศิลปินควรรู้ว่าจะเอาเรื่องอะไรในใจ มากลั่นกรองออกมาเล่าให้สาธารณะฟัง”
THE POWER BAND 2024 SEASON 4 เวทีคุณภาพระดับประเทศ ที่สร้างโอกาสความ “เป็น ไป ได้” ของคนดนตรีสู่เส้นทางการเป็นศิลปินมืออาชีพ จะมีการประกวดรอบชิงชนะเลิศและประกาศผลการตัดสิน
ในวันที่ 19- 20 กันยายน 2567
ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ
ติดตามรับชม Live ผ่าน YouTube และ Facebook : King Power Thai Power พลังคนไทย
🔴Live YouTube: https://youtube.com/@kingpowerthaipower383
🔴Live Facebook: https://www.facebook.com/kingpowerthaipower/