12 ม.ค. 2562 | 19:46 น.
ในแวดวงวิชาการ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง แต่ถ้าถอดหมวกใบนั้นออก แล้วท่องไปในโลกส่วนตัวของเขามากขึ้นอีกนิด ผศ.ดร.พรสันต์ คือชายหนุ่มผู้หลงใหลเพลงร็อกมาตั้งแต่มัธยมฯ ต้น มีวงโปรดคือ Metallica ทั้งยังชอบดูฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ พร้อมประกาศศักดา “เด็กหงส์” ที่ไม่เคยปล่อยให้ทีมรักอย่าง ลิเวอร์พูล ต้องเดินเดียวดายบนเส้นทางไล่ล่าคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก เจ็บบ้าง ท้อบ้าง แต่ก็ยังรักแถมยังอดทน แม้ต้องรอมานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม เมื่อบทสนทนาสามารถไหลลื่น The People จึงชวนเขามานั่งคุยถึงโลกการเมืองกับเรื่องฟุตบอล ที่ผิวเผินเหมือนจะคนละเรื่อง แต่กลับยึดโยงเชื่อมต่อกันได้อย่างกลมกล่อมลงตัว “เราต้องใช้ความอดทนในการเชียร์ประชาธิปไตยฉันใด ก็ต้องใช้ความอดทนในการเชียร์ลิเวอร์พูลให้เป็นแชมป์ฉันนั้นเหมือนกัน” คือบางช่วงบางตอนของบทสนทนาระหว่างเรากับชายหนุ่มที่นั่งอยู่ตรงหน้า
The People: ที่มาของการเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล? พรสันต์: จริงๆ ถ้าพูดถึงทีมฟุตบอล ผมไม่ได้ดูบอลอังกฤษเป็นประเทศแรก ผมเริ่มดูบอลเยอรมันก่อน เพราะตอนมัธยมฯ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) ผมชอบเปิดดูช่อง 3 ประมาณวันเสาร์ช่วงบ่ายๆ บิ๊กจ๊ะ (สาธิต กรีกุล) จะเอาไฮไลต์ฟุตบอลเยอรมันมาฉายให้ดู รุ่นที่ผมดูก็จะเป็นยุครุ่งเรืองของ ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต, สตุ๊ตการ์ต, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, บาเยิร์น มิวนิค ประมาณสี่ซ้าห้าทีมนี่ก็จะแข่งๆ กัน เลยทำให้ผมชื่นชอบฟุตบอล ทีมในเยอรมันที่ผมชอบก็คือบาเยิร์น มิวนิค เพราะตอนนั้นมีคนเก่งๆ หลายคน แต่ตอนนี้รีไทร์ไปหมดแล้ว อย่าง โอลิเวอร์ คาห์น, เมเม็ต โชล, คริสเตียน ซีเก, เจอร์เกน คลินส์มันน์ อะไรพวกนี้ ก็จะนานมากแล้ว ตอนหลังดูจากเยอรมันก็เริ่มขยายไปประเทศอื่น ก็ไปดูลิเวอร์พูล มาจากบิ๊กจ๊ะเหมือนเดิม เอาไฮไลต์มาเปิด ตอนนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของลิเวอร์พูลในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นรุ่นผมที่ผมชื่นชอบเลย คู่กองหน้าก็จะเป็นร็อบบี้ ฟาวเลอร์ กับ สแตน คอลลีมอร์ ตอนหลังก็จะเป็นยุคของไมเคิล โอเวน ลิเวอร์พูลไม่ได้แชมป์มาค่อนข้างนานพอสมควร ก็ต้องรอ จนกระทั่งปัจจุบันก็ 20 กว่าปีแล้ว ยังไม่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกเลย แต่เราเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล ต้องอดทน (ยิ้ม) [caption id="attachment_2406" align="aligncenter" width="720"] ระหว่างดูเกมการแข่งลิเวอร์พูล-เรด สตาร์ เบลเกรด (ภาพจากเฟซบุก Pornson Liengboonlertchai)[/caption] The People: แฟนบอลตัวจริงถ้ามีโอกาสต้องไม่พลาดการไปเยือน “แอนฟีลด์” อาจารย์ไปที่นั่นมาแล้วหรือยัง พรสันต์: ผมไปแอนฟีลด์ (สนามฟุตบอลของลิเวอร์พูล) แล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกไปประชุมวิชาการที่แมนเชสเตอร์แล้วถือโอกาสหลังเสร็จงานเดินทางไปดูสนาม แบบที่เขาเรียกว่า stadium tour ตอนนั้นจองผ่านเว็บไซต์สโมสรลิเวอร์พูลแล้วนั่งรถไฟไป ความรู้สึกคือตื่นเต้นดีใจมากที่ได้ไปเหยียบแอนฟีลด์เป็นครั้งแรก แต่ความฝันของผมคืออยากจะเข้าไปชมการแข่งขันจริงด้วย ก็เลยตามข่าวตลอดและพยายามวางแผนว่าควรไปชมการเตะคู่ไหน เพราะต้องดูตารางงานตัวเองและกระเป๋าสตางค์เราด้วย (หัวเราะ) เพราะแต่ละคู่ค่าตั๋วก็ถูกแพงต่างกันไป แรกเริ่มเลยผมอยากไปดูลิเวอร์พูลเตะพรีเมียร์ลีก แต่ด้วยตารางการเตะคู่ที่ผมอยากดูชนกับตารางงาน สุดท้ายเลยเลือกไปดูลิเวอร์พูลเตะในโปรแกรมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่ก็ต้องไปลุ้นอีกว่าลิเวอร์พูลจะเตะวันไหนกับใคร ตรงกับวันที่เราทำงานไหม จำได้ว่าวันนั้นผมนั่งทำงานอยู่ที่คอลเลจ นั่งค้นงานพิมพ์งานแล้วในคอมพ์ผมก็เปิดการถ่ายทอดสดการจับฉลากแย่งสายการแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ไปด้วย วันนั้นลุ้นตลอดว่าลิเวอร์พูลจะเจอทีมไหน และภาวนาให้วันเตะไม่ตรงกับวันทำงาน ช่วงนั้นคือเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2561) ผมอยู่ในช่วงทำงานวิจัยเดือนสุดท้ายก่อนกลับไทย คือกลัวไม่ได้ดูมาก (ลากเสียงยาว) จำได้ว่าวันที่ผลการจับฉลากออกมา ผมคุยงานกับโปรเฟสเซอร์เสร็จก็รีบกลับห้องมาเปิดหาข้อมูลวางแผนดูการแข่งขันเลย ผมเลือกไปดูคู่ลิเวอร์พูลเปิดบ้านเตะกับเรด สตาร์ เบลเกรด เพราะถูกสุด จากนั้นก็จองตั๋วผ่านเว็บไซต์ตอนตี 1 ตี 2 กรอกข้อมูลจองตั๋วจ่ายเงินเรียบร้อย ก็มีอีเมลตอบกลับมาว่ารับทราบการจองแล้ว และจะมีอีเมลยืนยันส่งให้ใน 2 วัน ปรากฏว่าผ่านไป 4 วันยังไม่มีอีเมลตอบกลับ ผมก็แปลกใจว่ามีข้อผิดพลาดอะไรหรือเปล่า เลยอีเมลไปหาทางนั้น ก็ยังไม่มีใครตอบกลับมาอีก วันรุ่งขึ้นผมโทรศัพท์ไปหาเลย เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าเป็นเพราะระบบเกิดความผิดพลาดต้องขอโทษด้วย ให้รอรับตั๋วทางอีเมลได้เลย คือกว่าจะได้ดูลิเวอร์พูลเตะนี่ลุ้นมาก ความโชคดีของผมตอนไปดูบอลคู่นี้คือเขามีจับฉลากสุ่มผู้โชคดีในสนามที่จะได้รับลูกฟุตบอลพร้อมลายเซ็นนักเตะลิเวอร์พูล 10 กว่าคน พร้อมใบรับรองว่าเป็นของแท้ ตอนเขาสุ่มรางวัลผมไปเข้าห้องน้ำ ได้ยินเสียงแว่วๆ เหมือนเรียกเลขที่นั่งผม ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะใช่ แต่พอดูแล้วมันเรานี่หว่า ขากลับเมืองไทยคือเอาขึ้นเครื่องมาด้วยเลย...หวงมาก (หัวเราะ)
The People: ลิเวอร์พูลกับประชาธิปไตยไทยเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พรสันต์: ผมเคยพูดอยู่หลายหนว่าการเชียร์ลิเวอร์พูลกับประชาธิปไตยมีความคล้ายกัน เพราะถ้าย้อนไปดูการเมืองไทย จะพบว่าตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เริ่มมีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย จนกระทั่งปัจจุบันเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบอบประชาธิปไตยหรือแนวคิดประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ยังมีการต่อสู้กันอยู่ว่า เอ๊ะ...ระบอบประชาธิปไตยเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ คือว่าง่ายๆ ประชาธิปไตยยังไม่สามารถลงหลักปักฐานกับสภาวะสังคมไทยได้ ก็เสมือนหนึ่งลิเวอร์พูลเหมือนกัน ลิเวอร์พูลเอง ถ้าไม่นับฤดูกาลปัจจุบัน ก็ถือได้ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ระดับพรีเมียร์ลีก ก็ยังต้องรออยู่ ในปี 2014 ลิเวอร์พูลเคยนำเป็นจ่าฝูงมีลุ้นแชมป์กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แต่เจอร์ราร์ดไปลื่นหกล้มกลางสนามนัดแข่งกับเชลซี นัดนั้นเลยแพ้ไป 2-0 ท้ายที่สุดปีนั้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์ไป (หัวเราะ) ฉะนั้นอย่างที่ผมบอกคือใกล้เคียงกัน เราต้องใช้ความอดทนในการเชียร์ประชาธิปไตยฉันใด ก็ต้องใช้ความอดทนในการเชียร์ลิเวอร์พูลให้เป็นแชมป์ฉันนั้นเหมือนกัน ซึ่งฤดูกาลนี้มีความใกล้เคียงมากที่สุด เป็นไปได้ว่าถ้าลิเวอร์พูลเป็นแชมป์ ประชาธิปไตยในประเทศไทยอาจเบ่งบานตามแชมป์ของลิเวอร์พูลก็ได้ (ยิ้ม) อีกอย่าง ปีนี้ที่ลิเวอร์พูลมีลุ้นมากขึ้น เพราะผู้จัดการทีมคือเจอร์เก้น คล็อปป์ เข้ามาปรับระบบค่อนข้างเยอะ ทุกคนต้องฟิตมากขึ้น ผมมองว่าจนสุดท้ายระบบได้ละ เลยมีความรู้สึกว่าของไทยก็เหมือนกัน คือประชาธิปไตยเน้นที่ระบบ เน้นสังคมส่วนรวม ไม่ได้เน้นคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ เราไม่ได้ยึดและมองว่าตัวคนคนนี้จะสามารถนำพาประเทศได้ แต่เราเชื่อในระบบ ฉะนั้นมันมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน ผมคิดว่าการวางระบบที่แข็งแกร่งจะผลักดันประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ก็เหมือนลิเวอร์พูลตอนนี้ที่ระบบเข้ารูปเข้ารอยแล้ว อย่างที่สองที่ผมเห็นคือตอนนี้สภาพนักบอลลิเวอร์พูลฟิตมากขึ้น ทุกคนวิ่งกันทั่วสนาม ก็ไม่ได้แตกต่างกับตัวของประชาชนที่แอคทีฟทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งตรงกับคุณสมบัติของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
The People: ที่บอกว่าไปทำวิจัยที่อังกฤษ คือไปในฐานะคนไทยคนแรกที่เป็น Visiting Scholar ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด? พรสันต์: แรกเริ่มทางคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเปิดให้นักวิชาการทั่วโลกส่งตัวข้อเสนอเกี่ยวกับงานวิจัยในสายกฎหมายรัฐธรรมนูญ สถาบันการเมือง ผมเลยลองเสนอตัวเค้าโครงงานวิจัยที่ผมสนใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่ผมทำไปแล้วในประเทศไทยที่สืบเนื่องกัน คือเรื่องการศึกษาการทำหน้าที่ของรัฐสภาไทยหรือฝ่ายนิติบัญญัติของไทยว่ามีปัญหามากน้อยขนาดไหน นำไปสู่ผลงานวิจัย (แนวความคิดและหลักการว่าด้วยการละเมิดอำนาจรัฐสภา) ที่ผมนำเสนอไปในปี 2559 ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ เลยส่งไปให้พิจารณา ทางคณะกรรมการของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก็มีมติคัดเลือกให้ผมไปทำงานวิจัยที่นู่น และแต่งตั้งให้เป็น Visiting Scholar โดยผมเป็นคนไทยคนเดียว และเป็นคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่ตรงนี้ จากที่โปรเฟสเซอร์เล่าให้ผมฟังนะครับ The People: ต่อยอดจากงานวิจัยที่ว่าด้วยฝ่ายนิติบัญญัติถูกละเมิดอำนาจเหมือนเดิมไหม พรสันต์: ผมค่อนข้างเน้นย้ำเรื่องการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติก็คือรัฐสภาไทย พอไปถึงก็พูดคุยกับโปรเฟสเซอร์พอล เครก (Paul Craig) ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญสายกฎหมายมหาชน สายกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองของอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผมเสนอหัวข้อเกี่ยวกับรัฐสภา นำสู่การที่ผมต้องเข้ามาศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติก็คือรัฐสภา กับศาล ในฐานะที่ศาลเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบการออกกฎหมายของสภา และการทำหน้าที่ของศาลมีส่วนเกี่ยวพันกับการทำหน้าที่ของสภาอย่างไร ต้องบอกก่อนในเบื้องต้นว่างานชิ้นนี้มีโครงการอยู่ราว 2 ปีได้ ฉะนั้นช่วงที่ผมไปอยู่ที่นั่นประมาณ 6 เดือน คือช่วงทำการศึกษาค้นคว้าและพูดคุยให้ตกผลึกเกี่ยวกับแนวคิดของประเทศอังกฤษ รวมถึงตัวงานวิจัยของผมที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบบวกไปด้วยอีก 2 ประเทศคือเยอรมนีและไทย ฉะนั้นก็จะมีการเปรียบเทียบอยู่ 3 ประเทศด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่ผมให้ความสนใจคือการที่ศาลใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการออกกฎหมายก็ดี หรือแม้แต่การตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารก็ดี ตรงนี้ขอบเขตที่เหมาะสมอยู่ตรงไหนอย่างไร ส่วนหนึ่งการที่ศาลเข้าไปตรวจสอบก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้อำนาจในการออกกฎหมายหรือว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยฝ่ายคณะรัฐมนตรี อาจมีส่วนกระทบสิทธิเสรีภาพอยู่ด้วยบางส่วน ฉะนั้นการที่ศาลเข้าไปตรวจสอบก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่พึงกระทำและต้องกระทำ แต่ตรงนี้ก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่าศาลเข้าไปล่วงล้ำส่วนที่มีลักษณะการใช้อำนาจของฝ่ายนักการเมืองหรือไม่อย่างไร เพราะที่มีการดีเบต (ถกเถียง) ในระดับสากล เริ่มเห็นถึงปัญหาการขยายอำนาจของศาลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน นี่เป็นหัวข้อของนักวิชาการสายกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วโลกที่เห็นพ้องต้องกันและให้ความสำคัญ กระทั่งตั้งข้อวิตกกังวลอยู่พอสมควร [caption id="attachment_2407" align="aligncenter" width="722"] โปรเฟสเซอร์พอล เครก (ซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนระดับโลก (ภาพจากเฟซบุก Pornson Liengboonlertchai)[/caption] The People: ปรากฏการณ์นี้เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่และทำไมถึงเกิดขึ้นทั่วโลก พรสันต์: การที่ศาลเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมือง ถ้าเห็นชัดเจนก็ราวๆ ค.ศ.1803 เป็นครั้งแรกที่ศาลสูงสุดของอเมริกามีการตัดสินคดีหนึ่ง และตั้งแต่นั้นก็เริ่มมีการยอมรับอำนาจศาลในการเข้ามาตรวจสอบการออกกฎหมายของฝ่ายการเมืองอย่างฝ่ายนิติบัญญัติ หรือแม้แต่เข้าไปตรวจสอบอำนาจบริหาร กระทั่งอำนาจของศาลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นมีลักษณะของการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ก็จะเกิดพัฒนาการการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการค่อนข้างรวดเร็วทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลนั้นด้วย The People: การที่ศาลเข้าไปล่วงล้ำอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร พรสันต์: ข้อโต้แย้งหนึ่งมองว่าตัวแทนของฝ่ายการเมืองอย่างฝ่ายนิติบัญญัติมาจากมากมายหลากหลายอาชีพ อาจเป็นกลุ่มพ่อค้าวาณิช กลุ่มเกษตรกร กลุ่มทนายความ เวลาที่กลุ่มเหล่านี้เข้ามานั่งในสภามีการผลักดันการออกกฎหมาย จะเห็นได้ว่าธรรมชาติของกฎหมายโดยตัวมันเองถือเป็นเรื่องนโยบายที่แต่ละกลุ่มก้อนมีการพูดคุยและมีการผลักดันเรื่องนโยบาย ทีนี้เกิดการตั้งคำถามว่าการที่ศาลเข้ามาตรวจสอบกฎหมายซึ่งโดยเนื้อแท้เป็นเรื่องนโยบาย ศาลเองเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเทียบเท่ากลุ่มวิชาชีพที่เข้ามาอยู่ในสภาหรือไม่อย่างไร ว่าง่ายๆ คือเป็นการดีเบตในส่วนที่ว่าศาลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย อาจไม่ได้รู้เรื่องการเมือง เรื่องการบริหารประเทศเท่ากับบุคคลที่ทำงานอยู่หน้างาน หรือแม้กระทั่งการที่ศาลเองอาจไม่ได้รู้เกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ต่างๆ นานา ที่ ส.ส. แต่ละคนเข้ามาผลักดันในสภาและออกมาเป็นกฎหมาย คือมีการตั้งคำถามแบบนี้ว่า จริงอยู่ว่าศาลต้องเข้ามาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อาจถูกกระทบโดยกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายในฐานะของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย แต่ขอบเขตที่เหมาะสมอยู่ที่ไหนอย่างไรที่พึงให้ศาลเข้ามาตรวจสอบได้ เพราะมันมีเรื่องของนโยบายของฝ่ายการเมืองอยู่ ซึ่งก็สำคัญและก็เป็นหน้าที่ของเขาเองด้วยที่จะต้องทำ เพราะรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้เขาต้องทำหน้าที่เช่นเดียวกัน เรื่องนี้เป็นดีเบตที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างมากในระบบรัฐธรรมนูญของโลก ณ ปัจจุบัน
ระหว่างศึกษาวิจัยที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (ภาพจากเฟซบุก Pornson Liengboonlertchai)
The People: กรณีที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง
พรสันต์: เคสคลาสสิกในอังกฤษเกิดขึ้นราวๆ ทศวรรษที่ 90 คือรัฐมนตรีการคลังของประเทศอังกฤษมีการใช้ดุลพินิจที่จะใช้จ่ายเงินช่วยเหลือประเทศมาเลเซีย ในลักษณะการสร้างโรงงานระบบไฮโดรลิกต่างๆ นานา หลังจากนั้นมีการฟ้องร้องขึ้นศาล สุดท้ายศาลอังกฤษตัดสินใจว่าการใช้ดุลพินิจในการใช้จ่ายเงินตรงนี้ช่วยเหลือมาเลเซียเป็นการใช้จ่ายเงินที่ดูไม่เหมาะสม ฉะนั้นจึงเกิดดีเบตในอังกฤษว่าการที่ศาลเข้ามาตัดสิน แล้วบอกว่าดุลพินิจของรัฐมนตรีคลังไม่เหมาะสมในการช่วยเหลือต่างประเทศ ศาลมีความรู้ความเชี่ยวชาญมากน้อยขนาดไหน เพราะปกติต้องไม่ลืมว่าฝ่ายการเมืองเองในเชิงหลักการ ก็ต้องมีอิสระในการใช้อำนาจปกครองประเทศเหมือนกัน และในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวพันกับการดำเนินการระหว่างประเทศด้วย ดังนั้นการที่ศาลตัดสินเรื่องนี้จึงมีลักษณะถือได้ว่าเข้ามาแทรกแซงการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือไม่ ก็เป็นดีเบตนับแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นอังกฤษก็ปฏิรูประบอบรัฐธรรมนูญ คือในปี 2005 มีการออกกฎหมายคือ “Constitutional Reform Act 2005” และจัดตั้งศาลสูงสุดของประเทศอังกฤษขึ้นในปี 2009 นับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันศาลตัดสินไปแล้วประมาณ 770 คำวินิจฉัย จำนวนนี้ก็มีการถกเถียงในหลายๆ คำวินิจฉัยว่าศาลตัดสินในบางคดีที่ยุ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจของนักการเมืองหรือไม่อย่างไร มีอดีตผู้พิพากษาในศาลสูงสุดของอังกฤษที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปี 2018 ชื่อ โจนาธาน ฟิลิป แชดวิก ซัมชัน (Jonathan Philip Chadwick Sumption) หรือ “ลอร์ด ซัมชัน” (Lord Sumption) เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของศาลสูงสุดของอังกฤษว่า ต้องระมัดระวังในการไม่เข้าไปยุ่งกับการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมือง เพราะจะส่งผลให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เมื่อฝ่ายการเมืองทำหน้าที่ไม่ได้ก็จะกระทบกับระบอบการเมืองของอังกฤษทั้งหมด ก็เป็นดีเบตและเป็นการตั้งข้อสังเกตจากตัวผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่เองในประเทศอังกฤษ The People: ส่วนในไทยถ้าพอจะเทียบเคียงได้คือกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีรถไฟความเร็วสูงใน พ.ศ.2557? พรสันต์: ใช่ครับ ศาลตัดสินเกี่ยวกับเรื่องการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ หรือว่ากระบวนการการออกกฎหมายการเงินการคลังที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าดูเนื้อแท้แล้วจะพบว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนว่าสรุปแล้วการใช้เงินตรงนี้ไปสร้างรถไฟความเร็วสูง อาจยังไม่มีความจำเป็นหรือมีความเร่งด่วนพอ ฉะนั้นเวลาเราพูดในเชิงวิชาการ จะพบว่าเวลาที่ศาลตัดสินเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ตรงนี้ถือว่าเป็นลักษณะการเข้าไปตรวจสอบการใช้ดุลพินิจทางการเมือง ลองคิดให้ดีว่าเวลาเราถามว่าตรงนี้มีความจำเป็นหรือยัง มีความเร่งด่วนหรือเปล่า มันไม่ใช่เรื่องหลักกฎหมาย แต่เป็นเรื่องคนที่อยู่หน้างานที่อาจพินิจพิเคราะห์ แล้วบอกว่าตอนนั้นประเทศมีความจำเป็นที่อาจต้องมีการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ ฉะนั้นลักษณะแบบนี้ ในเชิงหลักวิชาอาจมองว่าการที่ศาลเข้ามาตัดสินคดีตรงนี้ อาจเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในส่วนการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ว่าง่ายๆ คือเข้าไปกำหนดเรื่องนโยบายการให้บริการสาธารณะของประเทศแทนฝ่ายคณะรัฐมนตรีหรือไม่อย่างไร นี่ก็เป็นกรณีหนึ่ง อีกกรณีหนึ่งคือการที่สภาจะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วมีการโหวตกันในวาระที่ 2 แต่มีกลุ่มบุคคลหนึ่งไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาตรวจสอบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ศาลตัดสินว่าการแก้ไขนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงว่าตอนนั้นสภามีการตัดสินในวาระที่ 2 จะเข้าไปสู่วาระที่ 3 ซึ่งยังอยู่ในเรื่องกิจการภายในของสภา ก็คือเหมือนหลักการออกกฎหมายทั่วไปคือมีการเข้าสู่การพิจารณา 3 วาระด้วยกัน แต่กรณีนี้ศาลตัดสินในขณะที่สภายังไม่ได้โหวตวาระที่ 3 ลักษณะแบบนี้อาจเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเข้ามาล้ำส่วนการทำหน้าที่ของสภา ประเด็นที่น่าสนใจคือหลักในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีหลักการสำคัญคือหลักการแบ่งแยกอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารนำเสนอนโยบายและบังคับใช้นโยบายผ่านการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนศาลก็ตัดสินคดีข้อพิพาท ซึ่ง 3 ส่วนนี้ปัจจุบันนักวิชาการเริ่มเห็นว่าเริ่มไม่ได้ดุลอำนาจกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นว่าศาลเริ่มใช้อำนาจแทนฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารด้วยตัวเอง นี่คือปรากฏการณ์ที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วโลกพูดกันว่าจะเป็นลักษณะของระบอบตุลาการธิปไตย คือนอกจากศาลจะเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาททางกฎหมายแล้วก็ยังใช้อำนาจทางการเมืองแทน 2 องค์กรแรกอีก The People: สังคมไทยมีปฏิกิริยาเรื่องศาลเข้ามามีอำนาจมากขึ้นอย่างไร พรสันต์: ผมคิดว่าในเมืองไทยมีนักวิชาการที่พูดถึงประเด็นนี้ในระดับหนึ่ง แต่คงยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการมากนัก ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะในต่างประเทศเอง หลักการนี้พึงเป็นหลักการพื้นฐานในการทำการวางโครงสร้างรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศ ถ้าเทียบเคียงกับไทยคือเวลาเรายกร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ ที่พึงต้องถูกนำไปพูดคุยก่อนที่จะออกแบบหรือร่างรัฐธรรมนูญด้วย ที่ผ่านมาจะพบว่าทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญของไทย จะมีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารก็คือสภากับคณะรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งกรณีที่ศาลเข้าไปตรวจสอบ 2 ฝ่ายแรก แต่เราไม่ค่อยพูดเจาะจงในรายละเอียดแต่ละส่วนมากนักว่า ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ถ้าเข้าใจแนวคิดแบบนี้แล้วก็จะนำสู่การที่เราสามารถวางโครงสร้างระบอบการเมืองของประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราต้องมีการศึกษาว่าโดยธรรมชาติแล้ว ฝ่ายตุลาการตรวจสอบคดีอะไรได้บ้าง หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารเอง สามารถใช้อำนาจส่วนใดได้บ้าง เวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญก็จะมีความถูกต้อง วางดุลอำนาจได้อย่างเหมาะสม แต่ความยากของรัฐธรรมนูญก็คือต่อให้วางดุลอำนาจให้ดีตั้งแต่ต้น แต่ลักษณะการบังคับใช้รัฐธรรมนูญจะมีพลวัตและมีการเคลื่อนของตัวอำนาจมากขึ้นตามลำดับ หมายถึงทุกครั้งที่ศาลใช้อำนาจและตีความ ทุกครั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารใช้อำนาจและตีความ ก็จะส่งผลให้มีการเอื้อต่อการขยายอำนาจตัวเองเรื่อยๆ ฉะนั้นประเด็นสำคัญก็คือ เราอาจต้องมีการทำงานวิจัยและคิดหาตัวกลไกในการควบคุมทำให้แต่ละส่วนคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ใช้อำนาจที่อยู่กับร่องกับรอย อยู่ในส่วนของตัวเองให้มากสุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งตรงนี้อาจต้องอาศัยการทำงานวิชาการอย่างหนักในการหากลไกเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว
The People: หลายปีมานี้ สังคมไทยให้ความสำคัญกับการ “ต้านโกง” มากขึ้น การที่ศาลทวีบทบาทแบบนี้มองว่าสังคมไทยรับได้แค่ไหนอย่างไร พรสันต์: รัฐธรรมนูญจะต้านโกง ไม่ต้านโกง ขึ้นอยู่กับว่าเราให้บทนิยามการต้านโกงว่าอะไร ผมมองว่าในเชิงระบอบรัฐธรรมนูญ ตัวมันต้านโกงอยู่แล้ว เพราะสาเหตุหลักที่นำไปสู่การโกง ผมมองว่ามันคือตัวอำนาจ อำนาจนำไปสู่การโกง การทุจริต ตัวรัฐธรรมนูญเองพยายามวางกลไกในการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ ถ้าเราสามารถวางกลไกให้ควบคุมการใช้อำนาจได้ ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ก็จะส่งผลให้การโกงลดน้อยถอยลงอยู่แล้ว อย่าไปคิดว่าการโกงต้องใช้ตัวเงินอย่างเดียว แต่มันรวมถึงการใช้อำนาจเข้าไปบิดเบือนการใช้อำนาจของผู้อื่นด้วย การโกงไม่ได้เกิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เกิดจากระบบ เมื่อระบบเอื้อให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจไม่มีการตรวจสอบ นั่นแหละเป็นที่มาของการโกง นี่คือประเด็นที่อยากให้ทำความเข้าใจ ผมเชื่อว่าประเทศไทยยังต้องเดินตามกระแสโลกอยู่ แล้วตอนนี้นักวิชาการสายนิติศาสตร์และสายรัฐศาสตร์ก็ให้ความสนใจกับการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นองค์กรที่ว่าง่ายๆ ว่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยทำการศึกษากัน แต่ในแวดวงวิชาการระดับโลกเริ่มสนใจองค์กรตุลาการมากขึ้น ผมว่าประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นการพูดคุยเรื่องนี้ ผมกังวลด้วยซ้ำว่าการออกแบบให้ศาลใช้อำนาจตรวจสอบในทางการเมืองมากๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงขอบเขตและความเหมาะสมมันไม่ได้เป็นผลดี เพราะสุดท้ายเป็นการนำเอาศาลมาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมือง ส่งผลให้สังคมเริ่มตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ และอาจส่งผลให้ความน่าเชื่อถือขององค์กรตุลาการลดน้อยถอยลง ฉะนั้นผมคิดว่าถ้าเราให้ความสำคัญตรงนี้โดยมองระยะยาวว่าถ้าต้องการให้องค์กรตุลาการของไทยมีความเข้มแข็ง เราอาจต้องมาดูตรงนี้มากขึ้น ให้ความสำคัญมากขึ้น The People: รัฐธรรมนูญไทยแบบที่อยากเห็นเป็นอย่างไร พรสันต์: ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็นถึงสังคมในความเป็นจริงในโลกสมัยใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะสังคม การเมือง และอื่นๆ ได้ตามยุคตามสมัยที่มีพลวัตของมันอยู่ทุกวัน ที่ผมพูดอย่างนี้เนื่องจากว่าแนวคิดของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญไทยยังคงมองว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรจะแก้ไขยากๆ ซึ่งผมมองว่าลักษณะแนวคิดแบบนี้ส่งผลให้รัฐธรรมนูญไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ ผมเลยคิดว่าต้องมาทำความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะผมคิดว่าเรายังอยู่ในชุดความคิดแบบเก่า ซึ่งการยกร่างรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ของโลกเขาไม่ได้คิดกันแบบนี้แล้ว The People: ที่บอกว่าเรายังติดกับชุดความคิดแบบเก่า? พรสันต์: สะท้อนให้เห็นจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือฉบับปี 2560 ที่เราย้อนกลับไปใช้โมเดลของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 และปี 2534 ทั้งที่สภาวะสังคมตอนนั้นกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน มีข้อสังเกตจุดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถูกทำให้อ่อนอำนาจลง เพราะอยู่บนฐานคิดที่เชื่อว่าสภาและรัฐบาลซึ่งเป็นนักการเมืองมีการทุจริตเยอะ เลยให้อำนาจกับฝ่ายตุลาการมากขึ้น แต่การให้อำนาจกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากๆ ก็อาจทำให้ดุลอำนาจ 3 ฝ่ายเสียไป และอาจส่งผลให้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต The People: ยังมีความหวังกับประชาธิปไตยเมืองไทยอยู่ไหม พรสันต์: มีสิครับ...ต้องมี (หัวเราะ)