ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ดร.อดุลย์ กำไลทอง นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ก้าวไกลแลนด์สไลด์ในฐานะที่เป็นคนภูเก็ตแต่กำเนิด โดยเขามองว่าเหตุผลหลักที่ทำให้ใจคนใต้เปลี่ยนไป เป็นเพราะการจัดการของภาครัฐในช่วงโควิด-19 ที่ไม่ดีพอ รักของพวกเขาจึงขาดสะบั้น

ยอมรับว่าเราคือคนหนึ่งที่คอยจับตาดูมาตลอดว่า ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ‘ภาคใต้’ จะเทคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองเดิม หรือจะเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคการเมืองใหม่ นอกเหนือจากประชาธิปัตย์

จากผลการนับคะแนน เราได้เห็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต เมื่อแผนที่ประเทศไทยในเว็บไซต์นับผลคะแนนค่อย ๆ ถูกฉาบทับด้วย ‘สีส้ม’ ซึ่งเป็นสีของพรรคก้าวไกลกลืนกิน จากเขต 1 ลามไปเขต 2 จนถึง 3 ใครจะไปคิดว่าทั้ง 3 เขตเลือกตั้งของจังหวัดภูเก็ตจะถูกคลื่นส้มถล่มเมือง แม้เขต 2 จะมีพรรคการเมืองอื่นมีคะแนนขึ้นนำเป็นครั้งคราว แต่ผลสุดท้าย ‘ก้าวไกล’ ก็สามารถคว้าชัยมาครองได้ในที่สุด

โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 ‘ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เดชถาวรเจริญ’ ได้ 21,252 คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ 2 ‘เฉลิมพงศ์ แสงดี’ ได้ 21,913 คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ 3 ‘ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล’ ได้ 20,421 คะแนน

The People ต่อสายหา ‘ดร.อดุลย์ กำไลทอง’ นักวิชาการอิสระ หนึ่งในคนภูเก็ตที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงทัศนะถึงบ้านเกิดเมืองนอนอยู่บ่อยครั้ง ครั้งนี้เขาก็ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า เหตุผลที่คนภูเก็ตเลือกพรรคก้าวไกลกันถล่มทลาย เป็นเพราะ ‘ความเจ็บปวด’

ใช่, ฟังไม่ผิด

ดร.อดุลย์ ในฐานะคนภูเก็ตแท้ ๆ บอกกับเราว่าที่ผ่านมา ‘ภูเก็ต’ ถูกรัฐบาลเพิกเฉยมานานเกินพอแล้ว และครั้งนี้พวกเขาขอลิขิตชะตาตัวเอง ด้วยการเลือกพรรคการเมืองที่มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของเกาะแห่งนี้ ที่ไม่ได้มีดีเป็นแค่หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวแหล่งสำคัญของประเทศ หากแต่ยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ผู้คนเริ่มมองหาความเป็นเอกเทศผลักตัวเองออกจากอำนาจส่วนกลาง

นอกจากนี้ ดร.อดุลย์ ได้เผยมุมมองที่น่าสนใจอีกว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นเพียงแค่ประชากรของประเทศไทย หากแต่ยังเป็นประชากรโลก (Global Citizen) ที่พร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ

และนี่คือหนึ่งในเสียงสะท้อนของ ‘คนภูเก็ต’ ที่มีต่อปรากฏการณ์ก้าวไกลแลนด์สไลด์ภูเก็ต

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง

ภูเก็ต-เกาะที่(เคย)รักประชาธิปัตย์หมดใจ

“ภูเก็ตตกอยู่ในชุดความคิดที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่ในยุค 30 - 40 ปีก่อน ก็คือในเงาของประชาธิปัตย์ ซึ่งในยุคแรก ๆ ต้องยอมรับว่าประชาธิปัตย์เขามีผลงานจริง ๆ ในการที่จะพัฒนาภูเก็ตให้มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะในช่วงของการพลิกภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยว

“ทำให้ความภาคภูมิใจในภูเก็ตสมัยก่อน จะมีความสอดคล้องกับแนวคิดแบบประชาธิปัตย์ แต่การแปลงสภาพจากการค้าแร่ มาเป็นเมืองการท่องเที่ยว ก็ยังมีบทบาทของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ภูเก็ตในยุคก่อนก็คือเป็นวิถีทางที่ซัพพอร์ตหรือว่ามีแนวความคิดแบบประชาธิปัตย์แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์”

ดร.อดุลย์ เล่าถึง ‘ความรัก’ และ ‘ความผูกพัน’ ที่คนภูเก็ตมีต่อพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่ไม่ได้ครอบครองแค่เพียงหัวใจคนภูเก็ตเท่านั้น หากแต่ยังครองใจคนใต้ได้ทั่วทั้งภาค สังเกตได้จากผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

แต่นานวันเข้า พวกเขาเริ่มเห็นความจริงปรากฏชัดขึ้นอย่างช้า ๆ (รัฐบาลที่ผ่านมาเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ) และเห็นว่าการทำงานของรัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการเท่าที่ควร และยิ่งมาเจอกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีก ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า หากต้องตกอยู่ใต้การดูแลของรัฐบาลชุดเดิม เศรษฐกิจภูเก็ตคงพังย่อยยับ

อีกทั้งลูกหลานชาวเกาะภูเก็ตถูกส่งไปร่ำเรียนในจังหวัดอื่นมากขึ้น บางครอบครัวพยายามผลักดันให้ลูก ๆ ไปเรียนไกลถึงต่างแดน ทำให้มุมมองของคนรุ่นใหม่เปิดกว้างและเห็นโลกต่างไปจากเดิม

“เมื่อห้วงเวลาผ่านไป การรับรู้ของคนภูเก็ตที่มากขึ้น อีกอย่างสังคมภูเก็ตมีการพัฒนาค่อนข้างเร็วมาก ทั้งในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลการศึกษา เด็กจังหวัดภูเก็ต พ่อแม่ค่อนข้างให้การสนับสนุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนต่อในส่วนกลาง หรือแม้แต่ส่งไปเรียนต่างประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้พอได้มีโอกาสไปหลาย ๆ ที่ก็เริ่มมองเห็นแล้วว่า จริง ๆ แล้วภูเก็ตมันสามารถทำให้ไปไกลกว่านี้ได้ ไกลกว่าที่เคยเป็นอยู่”

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพวกเขาจึงสะบั้นรักประชาธิปัตย์ทิ้ง และเลือกพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคก้าวไกล ให้ขึ้นมาลองทำหน้าที่ดูแลรับใช้ชาวภูเก็ต แม้จะไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้า พรรคการเมืองที่ไม่เคยห่างหายจากกระแสโลกออนไลน์ จะทำตามความคาดหวังของพวกเขาได้หรือไม่ก็ตาม

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง จังหวัดที่เต็มไปด้วยความชอกช้ำ

อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘ความรัก’ ที่มีต่อประชาธิปัตย์ถูกหั่นทิ้งไปอย่างง่ายดายในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งคนภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอกชนที่อยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก การปิดประเทศจึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพวกเขา บางคนถึงขั้นล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัวภายในเวลาไม่กี่ปี

“ภูเก็ตพัฒนาไปเรื่อย ๆ แล้วยิ่งช่วงหลังเราพัฒนาไปเยอะมาก ก็เริ่มมีคำถามว่าภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แล้วก็สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล แต่ว่าการจัดเก็บรายได้ เงินที่เข้ามา ส่วนใหญ่จัดเก็บเข้าส่วนกลาง พอเข้าส่วนกลางแล้วต้องรอให้รัฐบาลกลางจัดสรรรายได้อีกทีหนึ่งมาเป็นงบพัฒนาจังหวัด คนภูเก็ตเลยเริ่มมีความคิดว่า ในเมื่อสามารถหาเงินได้มากมายขนาดนี้ ทำไมต้องรับแค่เศษเงินหรือว่าเจียดเงินจากส่วนกลางแค่เล็กน้อย แล้วก็เป็นลำดับท้าย ๆ ที่ได้เงินพัฒนาจังหวัด

“คนภูเก็ตเองก็เริ่มมีอารมณ์น้อยใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากวิธีการบริหารที่เป็นแบบรัฐเดี่ยว เพราะฉะนั้นความคิดของคนภูเก็ตช่วงหลังมันเริ่มเด่นชัดขึ้น คือเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการตัวเอง การบริหารจัดการเองทุกอย่าง

“ยิ่งเหตุการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ภูเก็ตโดนหนักมาก”

ดร.อดุลย์ ได้เน้นย้ำว่าตั้งแต่โควิด-19 ระบาด จังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก หนักชนิดที่ว่าทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวด และเสียใจไม่น้อย ว่าทำไมภาครัฐจึงละเลย ไม่หันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้จะมี Phuket Sandbox เข้ามากอบกู้วิกฤต แต่แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการผลักดันของภาคเอกชน ไม่ได้มาจากการระดมความคิดจากภาครัฐ

“แนวคิดทั้งหลายเกิดมาจากเอกชน คนภูเก็ตเองต่อสู้เองทั้งหมดเลยว่าจะทำอย่างไรให้เส้นเลือดนี้ไม่หยุด ไม่ให้ตีบตัน อย่างน้อยขอให้มีเลือดมาหล่อเลี้ยง ก็เลยผลักดันจนเกิด Sandbox ขึ้นมา เลยยิ่งทำให้คนภูเก็ตมั่นใจว่ามันคงถึงเวลาแล้วแหละที่จะต้องจัดการอะไรหลายอย่างด้วยตัวเอง พอทั้งหมดมันอัด ๆ รวมกัน ท้ายที่สุดมันก็มาแสดงออกชัดเจนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เลยทำให้ผลออกมาเป็นอย่างที่เราเห็น”

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่า ความอดทนของคนภูเก็ตเริ่มเข้าใกล้จุดเดือดเต็มที และเมื่อภาครัฐยังเพิกเฉย พวกเขาจึงระเบิดความโกรธออกมาผ่านอำนาจที่อยู่ปลายปากกา โดยใช้การเลือกตั้งครั้งใหญ่เป็นเครื่องมือหลัก 

การร่วมมือกันของชาวเกาะภูเก็ต ทำให้โลกโซเชียลฯ ผลิตมีมออกมาไม่หยุด บ้างก็บอกว่า คนภูเก็ต ไม่ใช่ คนใต้ เพราะคนใต้ส่วนใหญ่ยังคงรักเดียวใจเดียว เทใจให้กับประชาธิปัตย์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ผลคะแนนที่ไม่ได้มาจากเสียงของคนภูเก็ตดั้งเดิม (?)

แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับบางกลุ่ม ดร.อดุลย์ ได้อธิบายว่าเขาเองก็ได้ยินเสียงสะท้อนคล้าย ๆ กันมาไม่น้อย ตั้งแต่เสียงของคนเฒ่าคนแก่ที่บอกว่า นี่ไม่ใช่ผลการเลือกตั้งจากเสียงของคนภูเก็ตดั้งเดิม หากแต่เป็นเสียงจากคนที่เพิ่งเข้ามาตั้งรกรากที่จังหวัดนี้เพียงไม่นาน

จากการสำรวจจำนวนประชากรและจำแนกตามสถานภาพการย้ายถิ่น การมีชื่อในทะเบียนบ้าน และเพศ ระหว่าง พ.ศ. 2563 - 2565 ของสำนักงานสถิติจังหวัดภูเก็ต พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 มีผู้ย้ายถิ่นฐานทั้งสิ้น 11,839 คน และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี พ.ศ. 2564 โดยมีผู้ย้ายถิ่นฐานสูงถึง 270,122 คน ส่วนในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ย้ายถิ่นฐานลดลงเหลือเพียง 13,116 คน

และเมื่อนำมาเทียบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.) มาตรา 31 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ระบุไว้ว่า

1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง

3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

แสดงว่าการย้ายถิ่นฐานของคนนอกถิ่นเข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดภูเก็ต อาจมีส่วนทำให้เสียงครั้งนี้ไม่ตรงตามความต้องการของคนภูเก็ตแท้ ๆ ที่อยู่บนเกาะแห่งนี้มานาน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเสียงเหล่านั้นจะมาจากคนเก่าแก่ หรือเป็นคนใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามา สุดท้ายแล้ว เสียงทุกเสียงล้วนมีค่า ไม่ว่าคนที่ออกมาใช้สิทธิจะมีพื้นเพมาจากคนจังหวัดใดก็ตาม

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง “ถ้าเรามองดูในแง่ของประชากรศาสตร์ การขึ้นทะเบียนประชาชนชาวภูเก็ต ภูเก็ตมีประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานเยอะมาก ตีไปก็คือเป็นหลักล้าน คำถามก็คือว่าแล้วการที่มีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่มันมีผลขนาดนั้นเลยเหรอ อันนี้ผมมีความรู้สึกว่าน่าจะมีการเพิ่มในกลุ่มของกลุ่มที่เป็นคนต่างถิ่น และได้แปลงสภาพมาเป็นคนภูเก็ตเยอะเหมือนกัน

“เพราะว่าคนกลุ่มนี้ เวลาเขามาเขาก็ทำงานภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ พอมาแล้วก็ซื้อบ้าน แต่งงานมีครอบครัว เด็กที่เกิดใหม่เขาก็ถือว่าเป็นคนภูเก็ตเต็มตัว แต่ว่าพ่อแม่อาจจะเป็นคนต่างถิ่นที่มาทำงาน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เราก็มองว่าภูเก็ตก็จะคล้าย ๆ กรุงเทพฯ ที่กำลังเป็นสังคมเมือง แล้วเราไม่สามารถที่จะนิยามได้แล้วว่าถิ่นที่มาของบ้านนี้หรือว่าของคนคนนี้เป็นอย่างไร”

ก่อนจะเสริมว่า ปัจจุบันเกาะภูเก็ตกำลังขยับเข้าใกล้ความเป็นสังคมเมือง เหมือนเมืองหลวงของประเทศไทย “ความเจริญทำให้ความเป็นท้องถิ่นนิยมมันหายไป อย่างในภาคใต้ถ้าไปตำบลนี้ อำเภอนี้ของจังหวัดนี้ ก็จะนับญาติได้ทั้งหมู่บ้านเลย

“แต่ภูเก็ตการนับญาติได้ทั้งหมู่บ้านมันเริ่มนับกันไม่ได้แล้ว เพราะว่ามันเริ่มมีการอยู่กันแบบผสมผสาน ที่สำคัญคนรุ่นเก่าก็เริ่มล้มหายตายจากไป คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้รับทราบต้นตระกูลของตัวเอง แล้วก็มีการเข้ามา Mixed กันของคนต่างถิ่น มีการแต่งงานกัน เลยเริ่มกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

“จนท้ายที่สุดไม่รู้แล้วว่าคนภูเก็ตคือใคร อย่าลืมว่าคนใต้จะเป็นคนที่รักพวกพ้องมาก ถ้ามีญาติพี่น้อง หรือใครก็แล้วแต่ที่ลงสมัครเลือกตั้ง เขาไม่สนว่านโยบายเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นญาติฉันเราก็จะเลือก

“ซึ่งภูเก็ตกระแสของความเป็นญาติมันเริ่มน้อยลงแล้ว มันหาไม่เจอ เพราะว่ามันห่าง นอกจากปัจจัยทางด้านนี้แล้ว คนภูเก็ตเริ่มจะเลือกเพื่อตัวเองแล้ว บางทีเลือกญาติตัวเองก็ไม่ได้ทำให้ฉันดีขึ้น เพราะฉะนั้นบางคนก็เลือกที่จะไม่เลือกญาติตัวเอง แต่เลือกนโยบายที่จะทำให้ภูเก็ตดีขึ้น เพื่อที่จะให้ตัวเองมีรายได้ดีขึ้น อยู่ได้ยาวนานขึ้น”

เมื่อความเป็นเครือญาติเริ่มถ่างกว้าง จนแทบไม่เหลือสายสัมพันธ์เหมือนเช่นรุ่นปู่ย่า คนรุ่นใหม่จึงหันมามองที่ตัวของนโยบาย มากกว่าความผูกพันทางสายเลือด

“ด้วยความที่สังคมหรือว่าพลวัตของภูเก็ตมันไปเร็ว เด็กภูเก็ตหรือว่าตัวผมเอง เราก็จะมีความมั่นใจว่าเราก็แน่เหมือนกัน เราก็ไม่ได้แย่กว่าคนอื่น แล้วเราก็ค่อนข้างจะไม่แฮปปี้ว่าทำไมคนนี้ถึงได้เป็น ส.ส.

“เขาได้เป็น ส.ส. เพราะว่าเขามีความสามารถ หรือเขาได้เป็น ส.ส. เพราะว่าพ่อแม่เขาเป็น ส.ส. ถ้าคำตอบคือเพราะว่าพ่อแม่เขาเป็น ส.ส. ปู่ย่าเขาเป็น ส.ส. คนภูเก็ตที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ก็จะมองว่าไม่เห็นเกี่ยวเลย ฉันก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่เขาก็เลือกที่จะไม่เลือก เพราะมรดกทางสายเลือดที่ส่งต่อมานั้นไม่อาจเปลี่ยนใจพวกเขาได้อีกแล้ว แต่เราจะยอมรับความสามารถจากปัจเจกของคนคนนั้นแทน หรือความสามารถของพรรคนั้นแทน”

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือก้าวไกลจะเป็นพรรคแห่งความหวัง

“พูดตรง ๆ คนที่เลือกลงแบบแบ่งเขตในนามของก้าวไกลก็ยังไม่ได้อิมแพกต์ขนาดนั้น คือยังอิงพรรคอยู่มาก คนที่ลงกา ส.ส. แบ่งเขตก้าวไกลให้ ไม่ได้กาเพราะว่าคนคนนั้นมีฝีมือ เพราะว่าเขาเป็นหน้าใหม่ ถูกไหม แต่กาเพราะว่าพรรคก้าวไกลชัดเจน”

นอกจากความชัดเจนที่พรรคก้าวไกลประกาศออกมาโดยตลอด อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คะแนนเสียงถล่มทลาย มาจากความเจ็บปวดจากการถูกรัฐทอดทิ้ง

“เราไม่ได้กาเพราะแค่ชอบ กาเพราะเจ็บปวดด้วย เจ็บปวดเพราะการถูกรัฐแบบเดิมทอดทิ้ง เพราะฉะนั้นคนภูเก็ตกาเลือกตั้งก้าวไกลครั้งนี้ นอกจากเชื่อมั่นศรัทธาในวิธีคิดของพรรคก้าวไกลแล้ว เขากาเพื่อเป็นการแสดงออกว่าไม่เอาแล้ว เป็นการตอบโต้ทางการเมืองให้กับรัฐบาลเดิม ๆ ว่าเราไม่เอาพวกคุณแล้ว เพราะว่าเวลาผ่านมาเป็นหลักสิบปี ได้พิสูจน์แล้วว่าคุณไม่ได้ทำอะไรเพื่อคนจังหวัดนี้เลย โควิด-19 เลยเป็นเหมือนยาที่ทะลุทะลวง กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้”

ส่วนมุกตลกที่บอกว่า คนภูเก็ต ไม่เท่ากับ คนใต้ เพราะเลือกพรรคก้าวไกลทั้งจังหวัดนั้น ดร.อดุลย์ อธิบายว่า ปัจจุบันสังคมภูเก็ตมีความนานาชาติสูงมาก มีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยเยอะ จนทำให้ภูเก็ตแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมของจังหวัดในประเทศไทย

ดร.อดุลย์ กำไลทอง: เสียงจาก ‘คนภูเก็ต’ ก้าวไกลแลนด์สไลด์ ลบภาพคนใต้รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เพราะชาวบ้านสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ป้ายบอกทาง เมนู ทุกอย่างมีภาษาอังกฤษประกอบ ดร.อดุลย์ เลยมองว่าคนภูเก็ตเริ่มมองตัวเองเป็น Global Citizen หรือพลเมืองโลกกันมากขึ้น พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงคนไทยคนหนึ่ง หากแต่เป็นคนของโลกใบนี้

เลยทำให้คนภูเก็ตไม่สนใจว่าพรรคไหนจะเข้ามาบริหารต่อ ขอแค่เป็นพรรคที่พร้อมทำหน้าที่อย่างจริงจัง และมีนโยบายที่ชัดเจน จับต้องได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลตอบโจทย์ทุกอย่างที่พวกเขาวางไว้ ทั้งความชัดเจน ความเท่าทันโลก และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยอย่าง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ก็มีความเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ

“คาแรกเตอร์ของก้าวไกล โดยเฉพาะ ‘คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ มีภาพของความเป็น Global Citizen สูงมาก เขามีประสบการณ์ในการทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ซึ่งคนภูเก็ตมองว่าคนที่อยู่ในแกนนำของพรรคก้าวไกล เปรียบเสมือนตัวเองที่จำแลงอยู่ในรัฐบาลกลาง เขาเลย assume และเข้าใจว่าคนที่อยู่ในก้าวไกลคือคนที่เข้าใจความเป็นประชากรเมืองโลก

“เพราะฉะนั้น การเลือกคนที่เข้าใจความเป็นประชากรโลก เพื่อให้สนับสนุนความเป็นประชากรโลกของคนภูเก็ตด้วย อันนี้ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง เพราะว่าถ้าคนที่ไปเที่ยวภูเก็ตหรือว่าอยู่ที่ภูเก็ตนาน ๆ จะรู้สึกว่าเราไม่ได้เหมือนอยู่เมืองไทย เราเหมือนอยู่ต่างประเทศ

“เมื่อมุมมองของเราถูกครอบงำ ถูกกักขัง หรือถูกควบคุมโดยรัฐไทย ทำให้คนภูเก็ตอึดอัด แต่ว่าทั้งหมดที่พูดมา ผมพูดในมุมของคนรุ่นใหม่ที่เป็น Gen Y ผมคิดว่าคนที่อายุ 45 แล้วลากลงมา เขาคิดแบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่ เด็กรุ่นใหม่เขายิ่งไปไกลกว่าผมอีก สุดโต่งกว่าผมในแง่ของการต้องการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองและตัวเองให้เท่าทันโลก

“แล้วก็คนรุ่นเก่าค่อย ๆ ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็เลยมีไม่น้อยแล้วนะ ไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่หรือคนต่างถิ่นที่เลือกก้าวไกล

“ผมในฐานะเด็กภูเก็ตบ้าน ๆ คนหนึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบ้านเกิดของผม”