วิเคราะห์ปัจจัย ‘ก้าวไกลแลนด์สไลด์ภูเก็ต’ สร้างปรากฏการณ์หักปากกาเซียน

วิเคราะห์ปัจจัย ‘ก้าวไกลแลนด์สไลด์ภูเก็ต’ สร้างปรากฏการณ์หักปากกาเซียน

วิเคราะห์ 7 ปัจจัยที่ทำให้ ‘ก้าวไกล’ สร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์กวาดคะแนนเสียงทุกเขตที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการหักปากกาเซียนและหักอกพรรคการเมืองเจ้าถิ่น

  • จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองอย่าง รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์
  • แต่การเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยที่ผ่านมา ก้าวไกล กวาดคะแนนเสียงของภูเก็ตไปทั้งหมด

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์เมื่อผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล คว้าชัยชนะไปทั้ง 3 เขต โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 ‘ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เดชถาวรเจริญ’ ได้ 21,252 คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ 2 ‘เฉลิมพงศ์ แสงดี’ ได้ 21,913 คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ 3 ‘ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล’ ได้ 20,421 คะแนน

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาถือว่า ‘หักปากกาเซียน’ และ ‘หักอก’ พรรคการเมืองหลายพรรค เพราะไม่คาดคิดว่า พรรคก้าวไกลจะสามารถสร้าง ‘แลนด์สไลด์’ ได้ในจังหวัดภูเก็ต ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระแสเป็นการเทคะแนนเสียงไปให้พรรครวมไทยสร้างชาติ หรืออาจจะแบ่งเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะเมื่อวัดตัวผู้สมัครของพรรคก้าวไกลนั้นถือเป็นคนหน้าใหม่ และรุ่นใหม่ทั้งหมด รวมทั้งยังไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากนัก และทั้งหมดเพิ่งเริ่มทำงานการเมืองก่อนการเลือกตั้งไม่นาน และบางคนมาเริ่มต้นหาเสียงเมื่อตอนได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนลงสมัครแล้ว

เมื่อวัดกันที่คะแนนเสียง ก็พบว่าคะแนนเสียงฝั่งพรรครัฐบาลเดิมที่ตัดคะแนนกันเอง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่หนุนเสริมให้ก้าวไกลแลนด์สไลด์ได้ ได้แก่

1) ภูเก็ต มีสถานศึกษาหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งล้วนเป็น FC ก้าวไกล และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นคนภูเก็ตและผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมามีบ้านในภูเก็ต ต่างประสบปัญหาและสภาวะเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 จนเบื่อหน่ายการบริหารจัดการภาครัฐที่ไม่ตอบสนองผู้ประกอบการ ทำให้ภูเก็ตต้องตกอยู่ในภาวะซบเซาเหมือนเมืองร้างมาร่วม 2 ปี

2) ภูเก็ต ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 หนักที่สุด เพราะช่วงโควิด-19 และหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการบางรายถึงกับหมดตัวล้มละลายไปมาก การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่รวดเร็ว และไม่ตรงประเด็นปัญหาที่ควรทำ ถึงแม้ Sand Box กับวัคซีน จะมาช่วยจังหวัดภูเก็ตให้ฟื้นตัวเร็ว แต่ผู้ประกอบการล้มละลายไปจำนวนมากแล้ว และไม่สามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ เป็นการประหารชีวิตผู้ประกอบการไปเลย

3) การตื่นตัวของคนภูเก็ตที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท แต่งบประมาณการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตกลับมีน้อยมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ทำให้ภูเก็ตประสบปัญหารถติด ใช้เวลาเดินทางมาก เมื่อเปรียบเทียบการหารายได้เข้าประเทศ และระบบราชการทำงานล่าช้ากว่าภาคเอกชนที่นำภาครัฐไปมากกว่า

4) การตื่นตัวของภาคเอกชนซึ่งต้องการให้พื้นที่ท่องเที่ยวอันดามัน โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตได้เป็น ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว’ เพื่อสามารถหาผู้นำมาทำงานแทน ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ ที่เมื่อมารับตำแหน่งตามวาระแล้วก็ย้ายไป และบุคคลที่มาเป็นผู้ว่าราชการมีขีดความสามารถที่จำกัดในเรื่องพัฒนาท่องเที่ยว ไม่ทันสถานการณ์โลก ที่มีการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวกันมากขึ้น

5) ระบบระเบียบ ข้อกฎหมาย กลายเป็นข้อจำกัด การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทำให้เอกชนต้องการปลดปล่อยแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ ให้รัฐบาลได้รับรู้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มีนโยบายตรงความต้องการ โอกาสจึงเป็นของพรรคก้าวไกล

6) คนไทยรวมทั้งคนภูเก็ต เกิดความเบื่อหน่ายกับการบริหารงานรัฐบาลชุดเดิมที่อยู่นาน 8 ปี ถึงแม้จะทำประโยชน์ให้พื้นที่จังหวัดภูเก็ตพอสมควร แต่ก็อยากทดลองของใหม่ ๆ หากไม่ได้ผลก็คงกลับไปหาของเก่าในอีก 4 ปีข้างหน้า แต่คงไม่ง่ายเหมือนเดิมแล้ว

7) ส.ส. เดิมที่ได้รับเลือกตั้งมาก่อนและอาสาลงสมัครครั้งนี้ ไม่เหมาะสมตรงประเด็นที่ประชาชนคนภูเก็ตต้องการให้ทำงานเพื่อจังหวัดภูเก็ต คือไม่มีประสบการการบริหารจัดการด้านท่องเที่ยวมากพอ ดูได้จากที่ผ่านมา ส.ส. ภูเก็ตเดิม มองไม่ออกว่าภาคการท่องเที่ยวต้องการอะไรในการส่งเสริมและเเข่งขันกับต่างชาติ

ขณะที่ ‘รังสิมันต์ กิ่งแก้ว’ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงปรากฏการณ์เลือกตั้ง ส.ส. ภูเก็ตในครั้งนี้ว่า เป็นการตัดสินอนาคตทางการเมืองของจังหวัดและประเทศ จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของภูเก็ตนั้น จะดูเพียงผลการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่ได้ทั้งหมด แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทั้ง 3 เขตเลือกตั้ง แต่เมื่อไปดูคะแนนเสียงจะเห็นสิ่งน่าสังเกต คือ ผู้ที่ได้คะแนนลำดับ 1 มีสัดส่วนของคะแนนประมาณ 26 - 31% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขต

นั่นหมายความว่า แม้จะได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ก็ไม่ได้หมายความว่า ได้เสียงคะแนนส่วนใหญ่ แต่ไม่ได้หมายความว่า เขาทำไม่ถูกต้อง สิ่งที่อยากบอก คือ การแข่งขันที่สูงมากของจังหวัดภูเก็ต ทำให้คะแนนเสียงกระจายไปยังพรรคต่างๆ

เมื่อไปดูตัวเลขของพรรคการเมืองในอดีตจะมีการแข่งขันเพียง 2 พรรคหลัก ส่วนที่เหลือจะเป็นเพียงไม้ประดับ แต่ในครั้งนี้มีพรรคการเมืองที่น่าสนใจหลายพรรค จึงทำให้ต้องแบ่งคะแนนเสียงกันไป

“สิ่งที่ต้องชื่นชมพรรคก้าวไกล คือ มีฐานคะแนนเสียงที่แน่น และหากเทียบจำนวนคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถือว่าไม่ต่างกันมากนัก และอาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีการดึงคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทยไปด้วยบางส่วน แต่ในส่วนของพรรคหลักที่เคยอยู่ในภูเก็ตเอง จะเห็นได้ว่ามีการแตกตัวและกระจายคะแนนเสียงกันไปจำนวนมาก จึงทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับพรรคก้าวไกลที่มีฐานเสียงคะแนนแน่น” รังสิมันต์แสดงความคิดเห็น

ส่วนพลังของเด็กรุ่นใหม่ ต้องยอมรับว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงมีทุกระดับชั้น ไม่ใช่เฉพาะเจเนอเรชันเด็ก แต่กลุ่มนี้มีความต้องการเปลี่ยนแปลงเยอะกว่าเจเนอเรชันอื่น ๆ ฉะนั้นต้องให้โอกาสสำหรับคนที่ได้รับเลือกให้เข้าไปทำงาน

แม้อาจจะยังไม่ได้รู้จักหน้าตากันมากนัก เพราะประสบการณ์ทางการเมืองไม่ค่อยเยอะ และส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง เพราะความเป็นคนรุ่นใหม่จะกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก กล้าทำในบางเรื่อง คิดว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ทำให้พรรคการเมืองเห็นว่าควรจะมาแข่งกันในเรื่องของนโยบายและให้มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกลเก่งมากในเรื่องประชาสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ และจะเห็น ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคในทุกแพลตฟอร์ม จึงไม่น่าแปลกใจว่ากระแสจะดีขนาดนี้

อย่างไรก็ตามสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วนัก สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ เรามีผู้แทนคนใหม่แน่ ๆ แต่ส่วนตัวรังสิมันต์เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างจะต้องใช้เวลา และขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายสำหรับพรรคที่ได้รับคะแนนสูงที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง เพราะความคาดหวังสูง ซึ่งบางเรื่องคงไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ต้องให้ความเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม และบางเรื่องหากเป็นรัฐบาลผสมจึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปแก้ไข

ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนชาวภูเก็ตในการหาเสียงก็อยากให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ, รถเมล์ไฟฟ้า หรือการลดค่าไฟฟ้า ซึ่ง 3 - 4 เรื่องนี้อยากให้เกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นจริงตัวรังสิมันต์เองก็เชื่อว่า จะเป็นคะแนนเสียงต่อไปในการเลือกตั้งครั้งหน้า

.

ภาพ : pixel