รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

ของที่ระลึกสำหรับมอบผู้นำซึ่งร่วมประชุมเอเปค 2022 (APEC 2022) มาจากฝีมือ ดิเรก สิทธิการ ช่างชั้นครู ซึ่งเกิดและเติบโตมาในครอบครัวช่างดุนโลหะสลักเงิน ชุมชนบ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่

ในช่วงระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ซึ่งจะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันระหว่างผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่น้อยกว่า 21 ประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

นอกจากรายชื่อผู้นำระดับโลกที่ยืนยันเข้าร่วมการประชุม และได้รับความสนใจจากคนไทยเองแล้ว สื่อต่างประเทศเองก็จับตามองท่าทีของผู้นำและเกมการเมือง ผ่านเวทีการประชุมครั้งนี้เช่นกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘ของที่ระลึก’ ที่รัฐบาลไทยจะส่งมอบให้แก่แขกบ้านแขกเมือง เพื่อแสดงความขอบคุณที่มาเยือน ‘ของ’ ซึ่งจะเป็นตัวแทนคนไทย เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของผู้นำแต่ละประเทศ และเป็น ‘ของ’ ที่จะแสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทยให้ขจรขจายไปทั่วโลก

The People ต่อสายตรงไปร่วมพูดคุยกับ ‘พ่อครูดิเรก สิทธิการ’ หรือสล่าดิเรก ครูภูมิปัญญา สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (สล่าดุนโลหะ) ครูที่จะเป็นตัวแทนคนไทย จัดเตรียมของที่ระลึกให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส โดยใช้ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างการ ‘ดุนโลหะ’ เปลี่ยนจากแผ่นโลหะเรียบไร้ลวดลาย ตอก-ดุนจนเกิดเป็นลวดลายสุดวิจิตร

และนี่คือเรื่องราวของ พ่อครูดิเรก ครูของแผ่นดินผู้รับหน้าที่ระดับชาติให้เป็น ‘ตัวแทน’ ส่งออกงานศิลป์อันประเมินค่ามิได้ไปยังบ้านเกิดของผู้นำระดับโลก ผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่คู่ล้านนานานกว่าร้อยปี ‘ครู’ ผู้ขออุทิศทั้งชีวิตเพื่อสืบสานทักษะอันทรงคุณค่าให้อยู่คู่แผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน

ภูมิปัญญาคู่ชุมชนที่มีความหมายมากกว่าชีวิต

พ่อครูดิเรก สิทธิการ เป็นลูกชายคนเดียวจากพี่น้อง 5 คน เกิดและเติบโตมาในครอบครัวช่างดุนโลหะสลักเงิน ชุมชนบ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ ชีวิตวัยเด็กของครูดิเรกจึงคุ้นเคยกับเครื่องเงินและงานศิลป์ที่มักวางอยู่รายล้อมตัว

นอกจากสล่าดิเรกจะเกิดมาในครอบครัวช่างระดับครูแล้ว ชุมชนบ้านวัวลายยังมีส่วนช่วยหล่อหลอมให้ความรักและความหลงใหลในงานศิลปะของครูดิเรกท่วมท้นออกมา จนถึงขนาดที่ว่าหากไม่มีชุมชนแห่งนี้ สล่าดิเรกคงไม่มีโอกาสได้ค้นพบอีกหนึ่งจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ภายใน

การดุนโลหะมันเป็นชีวิตจิตใจไปแล้ว มันคือชีวิตของเรา ชีวิตที่ได้เกิดมาเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาอันนี้ให้ลูกศิษย์ลูกหา โอ้…มันยิ่งกว่าชีวิตเสียอีก มันเป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่ตลอดเวลา นี่แหละคือความหมายที่ครูได้ค้นพบ

ก่อนครูดิเรกจะเล่าย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งวัยเยาว์ว่า ปู่ย่าตายายของครูได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาดุนโลหะมาจากในคุ้มในวัง สมัยช่วงการปกครองของพญามังราย ที่พระองค์นำช่างฝีมือเข้ามายังล้านนา จนเกิดการรวมตัวเป็นชุมชนบ้านวัวลาย ปัจจุบันมี 2 ชุมชน คือ ชุมชนวัวลายศรีสุพรรณกับชุมชนหมื่นสาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

“ตอนครูยังเด็ก ๆ ก็เห็นพ่อกับแม่ทำงานสลักเงินทุกวัน ใจก็อยากจะทำบ้าง แต่พ่อแม่ไม่สอนให้เพราะเห็นว่าครูยังเป็นเด็กน้อยอยู่ พอโตมาเรียนหนังสือ อายุได้สักประมาณ 15 - 16 ก็เริ่มไปทำพวกงานแกะสลักกับลุง แล้วมาเริ่มทำอย่างจริงจังตอนอายุ 20

“แต่ถ้าให้เล่าย้อนกลับไปช่วงสมัยปู่ย่าตายาย ตอนนั้นเป็นช่วงการปกครองของพญามังราย ท่านก็เอาช่างเข้ามา แต่เราไม่รู้ว่าท่านเอาช่างมาจากที่ไหนบ้าง แล้วก็ในช่วงนี้ ท่านก็ได้เกณฑ์คนที่อยู่แถวบ้านวัวลายเข้าไปอยู่ในคุ้มในวัง สอนการสลักเครื่องเงิน

“สอนเสร็จท่านก็ส่งตัวกลับบ้าน พอมีความรู้ความสามารถ ชาวบ้านก็ส่งพวกเครื่องเงินโลหะกลับเข้าไปในวังตามกลับไป พอมาอีกยุคหนึ่ง สมัยพระเจ้ากาวิละ ท่านก็ฟื้นบ้านเมืองเชียงใหม่ นำช่างจากสิบสองปันนา เชียงตุง เชียงรุ้ง ใกล้กับพม่าเข้ามา

“งานสลักลายเครื่องเงินโลหะของเราก็เลยได้รับอิทธิพลมาจากพม่าบ้าง ล้านนาบ้าง ไทยบ้าง ผสมปนเปกันไป ซึ่งพม่าเนี่ย สมัยก่อนก็เป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง เขาก็จะได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งอีกทีหนึ่ง มันก็เลยเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมกันขึ้นมา”

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022 สืบทอด - ส่งต่อ

“สมัยก่อนตอนที่ครูเริ่มสลักเครื่องเงินใหม่ ๆ บางทีเราเดินไปดูการทำงานของครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ๆ รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เขายังทำอยู่ เขาจะไม่สอนให้เลยนะ ถ้าไม่ใช่ญาติ”

ก่อนจะย้ำอีกครั้งว่า ‘เขาจะไม่สอนให้’

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของครูดิเรกที่อยากจะสืบสานและส่งต่อภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่ สล่ารายนี้ยังไม่หยุดยั้งที่จะตามตื๊อครูบาอาจารย์รุ่นเก่าแก่ จนบางท่านก็ยอมถ่ายทอดความรู้บางส่วนให้

“เราไปหาครู เขาก็นั่งคุยกับเรานะ แต่เขาจะไม่ทำให้ดู (หัวเราะ)

มันก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ครูว่า เอ...ถ้าเราสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาให้กับลูกศิษย์ลูกหาได้ เราก็อยากจะทำ จะถ่ายทอดให้หมดเลย โดยไม่คิดมูลค่า ไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว ไม่คิดอะไรเลยสักอย่าง

“ตอนนั้นเราก็มานั่งคิดนะว่าทำไมเขาไม่สอนให้เรา แต่คิดไปก็เท่านั้น ก็เลยกลับมาศึกษาด้วยตัวเอง เพราะเราก็พอจะมีพื้นฐานการวาดภาพอยู่บ้าง ทักษะตรงนี้ก็เลยถูกนำมาปรับใช้ในชิ้นงานของเรา”

เพื่อที่จะส่งต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นอายุนับร้อยปีให้คงอยู่ ครูดิเรกจึงก่อตั้งกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนา วัดศรีสุพรรณ ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2544 กลุ่มที่มีจุดเริ่มต้นแสนเรียบง่ายว่าอยากจะนำความรู้ทั้งหมดที่มีส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง

“ช่วงแรกที่ก่อตั้งมีลูกศิษย์ลูกหาเรียนอยู่ประมาณ 10 กว่าคน เราก็พยายามถ่ายทอดออกไปให้ได้มากที่สุด แล้วพอดี หลวงพ่อพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทฺธสีโล) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ก็มานั่งคุยกับผมว่าเราอยากจะสร้างโบสถ์ ที่จะนำเอาศิลปะการดุนโลหะมาประดับไว้ที่โบสถ์

“เพราะหลวงพ่อท่านกลัวว่างานตรงนี้มันจะสูญหายไป เราก็ได้รวบรวมช่างทั้งหมด สร้างอุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2547 ภายใต้ของลูกศิษย์ลูกหาและกลุ่มพ่อแม่พี่น้องที่ได้เลิกทำกันไป ส่วนใหญ่ก็เป็นคนเฒ่าคนแก่ ครูก็ได้ประชุมกันแล้วก็เชิญชวนทุกท่านที่เลิกไปให้ช่วยกันสร้างอีกรอบหนึ่ง”

อุโบสถเงิน วัดศรีสุพรรณ จึงกลายเป็นอุโบสถเงินหลังแรกของโลก หนึ่งในสมบัติของชาติที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด และเป็นหนึ่งในชิ้นงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครูดิเรก รวมถึงคนในชุมชนบ้านวัวลายจนถึงปัจจุบัน

ความรักที่เป็นบ่อเกิดของงานศิลปะหลากหลายชิ้นนั้น คือ ความรักและความสนใจที่ครูดิเรกมีให้กับงานดุนโลหะและสลักเงินตั้งแต่วัยเยาว์ และทุ่มเทฝึกปรือ พัฒนาฝีมือกระทั่งสร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จนได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 5 ด้านศิลปหัตถกรรม (ดุนโลหะและสลักเงิน)

ของที่ระลึกเอเปค – ความภาคภูมิใจสูงสุด

ก่อนที่ครูดิเรกจะได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนคนไทย จัดเตรียมของที่ระลึกให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและคู่สมรส ครูดิเรกเล่าว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะได้ทำงานใหญ่ขนาดนี้

“ตอนแรก ๆ เราไม่รู้เลยนะ ไม่รู้เลย เพราะว่าตอนนั้นที่เราทำมันจะมีการจัดงานหัตถกรรมของชุมชน (CPORT) ตอนนั้นก็ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ทำไปหลายชิ้นมาก ชิ้นที่ได้รับความชื่นชมมากที่สุดคือ ‘เก้าอี้แสนตอก’ ท่านนายกรัฐมนตรีท่านมาเห็นก็พอใจมาก เราก็เลยได้รับการคัดเลือก

“ซึ่งภายในงาน CPORT ก็จะแบ่งผลงานออกหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ I-Champ ระดับโท I-Champ ระดับเอก I-Champ ระดับทอง I-Champ ระดับเพชร มีหลายระดับการคัดสรรจากทั่วประเทศ แล้วเก้าอี้แสนตอกของชุมชนเราได้รับการคัดเลือกเป็น I-Champ ระดับเพชร

“มันถึงเป็นการต่อยอดให้กับทางชุมชนเราได้ทำของที่ระลึกเอเปค แต่ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้นะว่าเป็นของระดับโลกขนาดนี้” (หัวเราะ)

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

ผลงาน 2 ชิ้นที่จะส่งมอบให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำและคู่สมรส คือ ภาพดุนโลหะ ขนาด 30 x 60 ซม. หนา 5 ซม. ผลิตจากโลหะรีไซเคิล ใช้เทคนิคดุนลายบนแผ่นโลหะรีไซเคิล โดยขึ้นเป็นรูปพระบรมมหาราชวัง มุมมองจากหอประชุมกองทัพเรือ มีดวงดาวส่องแสง และ ‘ชะลอม’ ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ประดับอยู่บนพื้นหลัง ส่วนชิ้นที่ 2 คือ กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ (สำหรับคู่สมรส) ขนาด 13 x 20 ซม. หนา 5 ซม. ภายในบุด้วยผ้าไหมไทย

“กว่าทุกอย่างจะลงตัวเหลือเวลาให้เราทำจริง ๆ แค่ 2 เดือน ก่อนหน้านั้นเราคุยกันมา 3 - 4 เดือนแล้วนะ ก็เร่งทำกันทั้งวันทั้งคืน (หัวเราะ) ทำตั้งแต่ 8 โมงเช้า เลิกงาน 3 ทุ่ม เป็นอย่างนี้ตลอดทั้งเดือน

“โชคดีที่ช่างของเรามีความตั้งใจ เราแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ งานมันถึงออกมาอย่างราบรื่น แต่บางทีก็มีปัญหาเหมือนกันนะไม่ใช่ไม่มี เช่น แผ่นโลหะที่เราเอามาใช้ขนาดไม่ได้มาตรฐาน ก็ต้องปรับอีก ปัญหาเรื่องของการเชื่อมบ้าง เพราะการปรับไฟของเราแต่ละครั้งมันจะไม่เท่ากัน บางทีเบาไป อ่อนไป มันก็ละลายไปบ้าง”

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022 รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

ครูดิเรกเล่ากระบวนการทำงานตลอด 2 เดือนให้ฟังอย่างอารมณ์ดี เขาแทบไม่เผยอาการร้อนใจออกมาให้เห็น มีแต่เสียงหัวเราะเล็ดลอดออกมาตลอดบทสนทนา

“มันก็เหนื่อยนะ”

“แต่มันคือความภาคภูมิใจ ภูมิใจที่ชิ้นงานได้มอบให้กับท่านผู้นำ ผลงานต้นแบบที่เราทำยังเก็บไว้อยู่เลย เราทำทั้งหมด 2 ชุดกว่าจะลงตัว มาถึงชุดที่ 3 นี่แหละ ถึงจะเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์อย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน

“ทั้งชีวิตของเรา เราทำงานมาเยอะมาก ทั้งการสร้างวัดสร้างวา ทั้งการตกแต่งทุกอย่าง อันนั้นก็เป็นความภูมิใจอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าถามความหมายในส่วนของงานชิ้นนี้ที่ทำให้กับท่านผู้นำ 

“ทั้งช่างหรือสล่าของเราที่ทำด้วยกัน คือดีใจมาก ๆ ที่เราได้เป็นตัวแทนคนไทย ทำชิ้นงานระดับโลก มันยากมาก และเราภูมิใจมากจริง ๆ เหมือนได้รับใช้ชาติ”

สำหรับผู้ที่สนใจและเริ่มรู้สึกหลงรักงานดุนโลหะ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08 1287 2731 พ่อครูดิเรก สิทธิการ

 

รู้จักพ่อครูดิเรก สิทธิการ ช่างดุนโลหะ ผู้ทำของที่ระลึกมอบผู้นำในเอเปค 2022

ภาพ: พ่อครูดิเรก สิทธิการ