15 ธ.ค. 2565 | 17:30 น.
- น้ำนิ่ง - อภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ร่วมก่อตั้ง Beach for Life ตั้งแต่อายุ 16 ปีเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงคนสงขลาได้เข้าใจว่าชายหาดมีความสำคัญอย่างไร จนกระทั่งสามารถสร้างกติการ่วมกันระหว่างคนในพื้นที่กับหน่วยงานรัฐภายใต้ ‘ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน’ ในขณะยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย
- ตลอดระยะเวลา 10 ปี ‘กำแพงกันคลื่น’ คือหนึ่งในความท้าทาย นับตั้งแต่อภิศักดิ์เข้ามาเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว เพราะรัฐบาลได้ลดทอนขั้นตอนการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้กำแพงคอนกรีตรุกคืบแทบทุกหาดของประเทศไทย
ชายหาดในความทรงจำของคุณเป็นแบบไหน?
สำหรับผู้เขียนคงเป็นภาพหาดทรายละเอียดที่ทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา มีหน้าหาดที่กว้างเสียจนผู้คนนับร้อยชีวิตสามารถนอนเกลือกกลิ้งอยู่บนหาดได้สบาย แต่ในปัจจุบันภาพความทรงจำเหล่านั้นกลับถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่น-เขื่อนขั้นบันได เปลี่ยนจากพื้นทรายนุ่มเป็นพื้นคอนกรีตแข็ง ราวกลับกำลังบอกคนรุ่นหลังให้ทำใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมโยธาธิการและผังเมือง มอบให้ด้วยเจตนาอันดี
เพราะนี่คือวิธีการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่อาจเข้ามาทำลายชีวิตผู้คนริมทะเลได้ในสักวันหนึ่ง
นี่คือความหวังดีของผู้บริหารระดับสูง แต่ภายใต้ความหวังดีนั้น ‘น้ำนิ่ง - อภิศักดิ์ ทัศนี’ หนุ่มสงขลา ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Beach for Life กลับมองต่างออกไป เพราะหลังจากค้นคว้าข้อมูลและปรึกษานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เขาได้ค้นพบความจริงอันน่าประหลาดใจว่า ‘กำแพงกันคลื่น’ ไม่ได้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมหรือช่วยลดการกัดเซาะแต่อย่างใด
ในทางตรงข้ามกำแพงกันคลื่น กลับทำลายชีวิตคนริมฝั่งอย่างช้า ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่กำแพงแห่งความหวังดีของรัฐทำลายลงไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคือ ชายหาด...
ปี พ.ศ. 2555 ปฏิบัติการทวงคืนชายหาดของเยาวชนที่รวมตัวกันในนาม ‘Beach for Life’ จึงเกิดขึ้น เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาด และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ และนี่คือเรื่องราวการต่อสู้นับทศวรรษของ อภิศักดิ์ ทัศนี
คลื่นลมสงบเมื่อคราว 8 ขวบ
“จริง ๆ ผมเป็นลูกชาวประมง เกิดและโตที่ชุมพรตรงปากน้ำชุมพร ทุกเย็นคุณแม่ก็จะพาไปก่อกองทรายที่ทะเล เพราะว่าชายหาดกับบ้านไม่ห่างกันมาก ห่างกันแค่ 100 เมตรเอง”
น้ำนิ่ง - อภิศักดิ์ ทัศนี เล่าความทรงจำที่มีต่อชายหาดและทะเลใต้ให้ฟังท่ามกลางบรรยากาศยามค่ำคืนที่ค่อนข้างวุ่นวาย เรานัดคุยกับอภิศักดิ์ช่วงบ่าย แต่ราวสามทุ่มเราถึงได้คุยกันอย่างจริงจัง ช่วงเวลาหลังเลิกงานที่คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเปิดวงสนทนาเล็ก ๆ คุยกับชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกับเราเล่าถึงความฝันและความหวังในการจุดไฟแห่งการต่อสู้ให้ลุกโชน
เขาบอกกับเราว่า ชายหาดแลทะเล คือ the way of life หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ชีวิตวัยเด็กของเขาคงว่างเปล่า จนกระทั่งอภิศักดิ์วัย 8 ขวบต้องย้ายบ้านไปอยู่กับคุณตา ใกล้นา แต่ไกลทะเล...
ฉากชีวิตเรียบง่ายของเขากระโดดข้ามเข้ามาช่วงวัยรุ่นอย่างรวดเร็ว อภิศักดิ์เข้าเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ วิชาการที่อัดแน่น การเรียนที่ต้องแข่งขัน ทำให้อภิศักดิ์เริ่มมองหาที่พึ่งทางใจ
“โรงเรียนของเราอยู่ไม่ไกลจากชายหาดมาก เราสอบได้คะแนนไม่ดีเท่าไหร่ เวลาเครียด ๆ ก็จะเดินเล่นริมทะเลบ่อยมาก ดังนั้นก็จะเห็นชายหาด ทราย เปลือกหอยเยอะมาก แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เราก็เห็นว่าเจ้าหน้าที่เขากำลังป้องกันชายฝั่งกันอยู่โดยการขุดแบคโฮ เราก็เกิดคำถามขึ้นในใจ ณ ตอนนั้นเลยว่าเขากำลังทำอะไร
“ซึ่งเราก็เข้าใจในแบบคนทั่วไปตามสามัญสำนึกว่าสิ่งที่เห็นอยู่มันคงเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าพอปี 2555 ตอนนั้นเราอยู่ประมาณ ม.5 ก็ได้ไปเข้าค่าย ซึ่งก็มีนักวิชาการมาให้ความรู้เรื่องการป้องกันชายฝั่ง ซึ่งเราก็ได้รู้ว่า อ๋อ มันไม่ดี มันก็เลยลบภาพความเข้าใจแรกของเราไปหมดเลย แล้วเราก็เห็นอีกว่าพื้นที่ชายหาดมันเริ่มถูกแทนที่ด้วยถุงทรายบิ๊กแบ็ก เราก็รู้สึกเลยว่า ไม่ได้แล้ว มันจะไม่เหลือชายหาดแล้วนะ”
หลังจากนั้นอภิศักดิ์จึงรวมตัวกลุ่มเพื่อนราว 5 คน ขณะกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หากเทียบอายุให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คงเป็นช่วงอายุ 16 – 17 ปี ก่อตั้งชมรมเพื่อทวงคืนชายหาดที่กำลังถูกทำลายลงอย่างช้า ๆ
“พอดีตอนนั้นเราทำชมรมนักวิจัยรุ่นเยาว์อยู่ เริ่มแรกเราก็คุยกันคิดชื่อกลุ่มเลยนะ คิดคอนเซ็ปต์กันที่โต๊ะเคมี เราเป็นเด็กหลังห้อง ก็นั่งคุยกันว่าเราจะทำอะไรกันดี แล้วก็หลังจากนั้นก็มีเพื่อน ๆ มาสมัครในชมรมมากขึ้นเรื่อย ๆ”
“เราก่อตั้ง Beach for Life ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2555 ซึ่งคอนเซ็ปต์ของชื่อก็มาจากความรู้สึกที่ว่า ชีวิตของเด็กสงขลาผูกพันกับชายหาดมาก มันคือพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่ชีวิต มันเป็นพื้นที่ที่เราไปใช้ชีวิต ไม่ว่าจะสุข เศร้า เครียด หรือว่าอะไร พอไปเดินเล่นริมชายหาด ความกังวลหรือว่าเรื่องแย่ ๆ ที่เจอมามันหายไปหมดเลย
“ส่วนอุดมการณ์ของเราคือ การส่งเสริมความรู้ ให้คนเข้าใจเรื่องชายหาด แล้วก็สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในนโยบายปกป้องชายหาดของประชาชน”
เผชิญหน้ากับแรงสั่นสะเทือนในวัย 16
“ปีแรก ๆ เราก็ทีเล่นทีจริงกันอยู่ ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แต่พอเรามาเจอเหตุการณ์คุณพีระ ตันติเศรณี นายกเทศบาลนครสงขลาโดนยิง ข่าวนั้นมันทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจมาก เราก็เลยรู้สึกว่างานชายหาดมันต้องจริงจังกว่านี้โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูล มันดีกว่าที่เราต้องสู้กันในเรื่องความรู้สึก
“เราต้องยืนหยัดในการพูดความจริง ซึ่งเราจะพูดความจริงไม่ได้เลยถ้าข้อมูลเราไม่แน่นพอ แล้วถ้าเราไม่หนักแน่น สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือความเสียหายของชายหาดที่จะมาพร้อมกับกำแพงกันคลื่น กับอีกอันหนึ่งคือความตายของคนที่เข้ามาทำงานตรงนี้”
ข่าวการจากไปของ พีระ ตันติเศรณี ในปี พ.ศ. 2555 สร้างความสะเทือนใจให้เด็กหนุ่ม เขาไม่อาจแบกรับความจริงที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าได้ แต่เมื่อไล่คราบน้ำตาที่แห้งกรังออกไป อภิศักดิ์ก็ค้นพบว่านี่อาจเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ และเขาจะต้องผ่านมันไปให้ได้
ราว 2 ปีหลังจากก่อตั้ง Beach for Life ก็ได้ขยับสังคมขึ้นอีกหนึ่งขยัก เขาและเพื่อนวัยมัธยมร่วมกันผลักดัน ‘ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน’ จนเกิดเป็นกติกาความร่วมมือระดับจังหวัดได้สำเร็จ นี่คือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่อภิศักดิ์ใช้สิทธิอันพึงมีในการต่อกรอำนาจรัฐ
“ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืนเป็นเหมือนสัญญาใจระหว่างเด็กสงขลา ซึ่งเราทำร่วมกันในช่วงที่ Beach for Life เข้าสู่ปีที่สอง เสร็จแล้วเราก็พบว่าความรู้สึกของความเป็นเจ้าของชายหาดมันเกิดขึ้นกับคนสงขลาแล้วจริง ๆ แต่ว่าสิ่งที่ขาดคือข้อมูล
“ข้อมูลที่จะใช้ยืนยันว่าชายหาดมันไม่กัดเรา เราก็เลยทำเรื่องการเก็บข้อมูล ติดตามสภาพชายหาดต่อ เป็นความสำเร็จในช่วงแรกที่สามารถยันไม่ให้รัฐสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดชลาทัศน์ได้
“เพราะเราเห็นมาตลอด เราเห็นชายหาดมันพัง เราก็แค่ไม่อยากให้หาดพัง เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรา เราก็แค่อยากมีพื้นที่ที่เป็นหาดทรายแล้วเราได้นั่งหย่อนก้นลงบนหาดทรายแล้วก็เล่นน้ำ มันก็แค่ความรู้สึกแบบนั้นเลย
“แล้วมันก็เป็นความใฝ่ฝันด้วยว่าถ้าชีวิตเราทำสำเร็จมันก็น่าจะดี เรารู้สึกว่าการช่วยชายหาดมันคงเป็นหนึ่งในความสำเร็จของชีวิต ซึ่งความฝันของเราก็แค่อยากให้หาดสมิหลาหรือว่าหาดอะไรก็ตามแต่กลับมาเป็นเหมือนเดิม”
10 ปีของการต่อสู้เพื่อทวงคืนชายหาด
ตลอดกระยะเวลา 10 ปีที่อภิศักดิ์ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่คนริมฝั่ง เขาบอกกับเราว่าหนึ่งในปัญหาที่ยังคงตามติดมาอย่างไม่ลดละคือ ‘กำแพงกันคลื่น’ กำแพงที่ในอีกแง่หนึ่งอาจเป็นความง่ายในการดูแลพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันกำแพงที่ก่อตัวขึ้นมากลับไม่ต่างจากมัจจุราชที่คร่าชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ริมหาด และนำมาสู่ความตายของชายหาดในที่สุด
“กำแพงกันคลื่นมันเป็นโครงสร้างป้องกันชายฝั่งชนิดนึง ซึ่งตัวมันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การนำมาใช้คือสิ่งที่เป็นปัญหา ดังนั้นตัวกำแพงกันคลื่น ตัวมันก็คือกำแพงที่ไปวางทับอยู่บนชายหาด หน้าตามันก็อาจจะเป็นหิน เป็นไม้ เป็นซีเมมนต์ เป็นอะไรก็ตาม
“แต่ว่าพอมันไปวางอยู่บนชายหาดเยอะขึ้น มันจะสะท้อนทรายออกไป มันก็จะทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่อง เพราะต้องสร้างกำแพงต่อไป อันนี้เป็นผลกระทบของมัน ซึ่ง ณ วันนี้กำแพงกันคลื่นมันระบาด เพราะการที่เขาไม่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) มันก็จะเกิดกำแพงกันคลื่นขึ้นได้ง่ายมาก
“พอมันเกิดกำแพงกันคลื่นขึ้นก็ยากที่จะฟื้นชายหาด ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ดังนั้นเราเลยพยายามที่จะปกป้องชายหาด ไม่ให้มันมีกำแพงกันคลื่นมาตั้งแต่ต้น เพราะไม่อย่างนั้นมันไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ อย่างเช่น ชะอำ ณ วันนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เพราะเราไปรบกวนชายฝั่งแล้ว
หรือรัฐบาลมองว่านี่คือผลดีมากกว่าผลเสีย เขาจึงรุดสร้างกำแพงกันคลื่นไม่หยุด – เราถามอภิศักดิ์ตรง ๆ เขาตอบกลับแทบทันทีว่า ใช่ มันมีผลดี แต่รัฐบาลแค่ไม่ได้มองเห็นคุณค่าหรือความสำคัญของชายหาด สถานที่ที่เขาและชาวบ้านในพื้นที่มองเห็นคุณค่ามาโดยตลอด
“เขาไม่ได้มองถึงการมีอยู่ของชายหาด แต่เราคิดถึงการมีอยู่ของชายหาด เขาคิดแค่ว่าทำยังไงก็ได้ไปป้องกันพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะให้ได้ ป้องกันบ้านเรือนให้ได้ แต่เขาลืมมองไปว่าทำยังไงให้ชายหาดมันยังมีอยู่ ซึ่งเรามองว่าประเด็นคืออยากให้มีชายหาดอยู่ต่อไป
“เพราะชายหาดจริง ๆ มันเป็นตัวสลายคลื่นอยู่แล้ว มันเป็นปราการตามธรรมชาติไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ดังนั้นการมีอยู่ของชายหาดก็เท่ากับมันคือการป้องกันไปในตัวอยู่แล้ว คือชุดการให้คุณค่ามันต่างกัน เขามองว่าจะต้องป้องกันเพื่อให้มันอยู่ได้อย่างยาวนาน บ้านเรือนปลอดภัย ทรัพย์สินปลอดภัย แต่เรามองว่าทำยังไงให้ชายหาดมันอยู่รอด ดังนั้นวิธีคิดในการมองมันเลยต่างกัน”
ความคิดที่ไม่ตรงกันนำมาสู่การต่อสู้เพื่อส่งเสียงให้ ‘เบื้องบน’ ได้เข้าใจความต้องการของคนริมฝั่งมากขึ้น แม้เสียงที่ว่าจะส่งถึงบ้างไม่ถึงบ้าง ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อภิศักดิ์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความสำเร็จไม่ได้มาด้วยความพยายามเพียงแค่ครั้งเดียว
“เราคิดว่าชัยชนะไม่ได้มาจากการต่อสู้เพียงครั้งเดียว ชัยชนะของภาคประชาชนมันสะสมมาแล้วเรียนรู้กันไปเรื่อย ๆ อันนี้แหละเป็นบทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้จาก Beach for Life อย่างกรณีของหาดม่วงงามเราก็ไม่ได้ชัยชนะจากการต่อสู้ที่เราไปปักหลักหน้าศาลากลางแค่ครั้งเดียวนะ มันค่อย ๆ เก็บแต้มชัยชนะ แล้วสักวันมันจะถึงเป้าหมายที่แท้จริง ที่เราสามารถฟื้นชายหาดกลับมาจากกำแพงกันคลื่นได้”
ก่อนบทสนทนาจะจบลง อภิศักดิ์บอกกับเราว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปได้คือ การเมือง หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ปราศจากหลักยึดโยง หรือไร้ความยุติธรรม การต่อสู้เพื่อให้ได้สังคมหรือชายหาดที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่อายุ 16 คงไม่มีวันเกิดขึ้น
“เราเข้าใจว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการเมืองไม่ได้ขาดออกจากกัน เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเมือง แล้วเรื่องโครงสร้างปัญหาในระบบประชาธิปไตยมันเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนั้นการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมบางอย่างสะเทือนถึงการเมืองในภาพใหญ่ การพูดเรื่องการเมืองบางอย่างสะเทือนถึงสิ่งแวดล้อมภาพเล็ก
“อย่างเช่นเราพูดถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บางครั้งมันพูดถึงการกระจายอำนาจไปในตัวด้วยซ้ำไป ซึ่งการกระจายอำนาจมันเป็นเรื่องของโครงสร้างภาพใหญ่ ดังนั้นถ้าฝันถึงชายหาดก็เป็นการฝันถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตย การฝันถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยก็คือการฝันถึงชายหาด
“เราคิดว่าอันนี้คือเนื้อตัวเดียวกัน ดังนั้นการเรียกร้องว่าประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมที่ดี ในชายหาดที่ดี การที่จะทำธรรมนูญฯ เยาวชนได้ มันคือการฝันถึงอนาคตของประชาธิปไตย ของสังคมที่ทำให้เรามีส่วนร่วมด้วย เพราะเราจะมีส่วนร่วมไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีสังคมที่เปิดกว้าง สังคมที่เปิดโอกาสให้เราแสดงความคิดเห็น และสังคมที่เป็นประชาธิปไตย”
ภาพ: Beach for Life