18 ธ.ค. 2565 | 15:40 น.
- ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ พยายามผลักดันแนวคิดจากครัวไทยสู่ครัวอวกาศ เพราะมองเห็นว่าประเทศไทยมีจุดเด่นด้านอาหาร จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถเข้าสู่ยุคของอวกาศตามรอยประเทศอื่น
- KEETA เลือกใช้ 'หนอนแมลง' เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารให้นักบินอวกาศ นอกจากจะช่วยส่งออกภูมิปัญญาไทยอย่างการกินแมลงไปนอกโลกแล้ว ยังส่งเสริมเกษตรกรไทยได้ลืมตาอ้าปาก
‘อวกาศ’ ในห้วงความคิดของคนส่วนใหญ่ คงมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว อาจเป็นเพราะเราไม่เคยเห็นคนไทยเดินทางไปสู่อวกาศ หรือเป็นเพราะเมื่อพูดถึงการเดินทางไปนอกโลก หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันและไม่มีทางเป็นไปได้
แม้ความหวังจะดูริบหรี่ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจอวกาศ หนึ่งในนั้นคือ KEETA หรือ กีฏะ นำทัพโดย ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ ชายผู้ไม่เคยมองว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว พวกเขาต้องต่อสู้กับคำสบประมาท ฝ่าฟันทุกคำถากถาง จนสามารถเอาชนะคู่แข่งจากทั่วโลก ติด 1 ใน 10 ทีมนานาชาติที่ผ่านรอบเข้าโครงการ ‘Deep Space Food Challenge’ ขององค์การอวกาศสหรัฐอเมริกา (NASA) ร่วมมือกับ Canadian Space Agency (CSA) และเป็นเอเชียทีมเดียวที่เหลือรอดอยู่ท่ามกลางการแข่งขันระดับโลก
KEETA ได้สร้างแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรมอวกาศไทยครั้งใหญ่ พวกเขามอบทั้ง ‘ความหวัง’ และ ‘ความฝัน’ ให้กับเด็กไทยแถมยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้ลืมตาอ้าปาก เพราะ Deep Space Food Challenge คือโครงการที่มีเป้าหมายสำคัญในการเฟ้นหาทีมผู้สร้างเทคโนโลยีและระบบผลิตอาหารที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสำหรับนักบินอวกาศรวมถึงผู้คนบนโลก
และนี่คือเรื่องราวการเดินทางของ KEETA และ ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้มอบความหวังให้อุตสาหกรรมอวกาศไทย โดยการส่งภูมิปัญญาไทยอย่างการกินแมลงไปสู่อวกาศ
The People: ก่อนที่จะเข้ามาทำงานวิจัยด้านอวกาศอย่างจริงจัง มีเหตุการณ์ไหนเป็นพิเศษไหมที่ทำให้คุณสนใจในศาสตร์นี้
ดร.โพธิวัฒน์: จริง ๆ เป็นเรื่องของความฝันในวัยเด็ก ก็คือเราดูการ์ตูน แล้วเราก็มีการ์ตูนที่ชอบการ์ตูนที่ชอบก็จะเป็นแนวพวกหุ่นยนต์ รถแข่งอะไรอย่างนี้ ก็มีการ์ตูนเรื่องนึงชื่อ Let's & Go มันก็จะมีว่าการ รถ Tamiya จะแข่งขันกันชนะได้ยังไง ก็จะมีทีมที่แบบเขาก็มี Doctor เป็นนักวิจัยมาแบบเหมือนวิจัยว่าจะปรับแต่งรถยังไงทำอะไรไง นั่นแหละคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราสนใจในวิทยาศาสตร์ สนุกกับมัน แล้วก็มีความฝันกับเด็ก ๆ ตอนเด็ก ๆ ว่าแบบ เฮ้ย เราอยากขับยานอวกาศ เราอยากขับหุ่นยนต์ อยากขับ Gundam อะไรอย่างนี้ มันก็เลยทำให้ drive ให้เราว่าถ้าเราจะ เราคงไม่มีทางได้ขับมันหรอก เพราะมันยังไม่มี งั้นเราก็สร้างมันขึ้นมาเอง นี่คือจุดเริ่มต้น
ผมเป็นลูกคนเดียว แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บังคับ อยากจะทำอะไรก็ได้ แต่ทีนี้ว่าอาจจะเป็นเพราะว่า background ทางคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นแบบเป็นทางคุณหมอพยาบาลอะไรอย่างนี้ ก็จะมีทางสายวิทย์มา แล้วเราก็ฝันว่าอยากขับยานอวกาศ อยากขับ Gundam ก็เป็นอะไรที่อยู่บนอวกาศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันมีตัวกระตุ้น เป็น resource ตั้งแต่เด็กว่าเราอยากจะไปทำหุ่นยนต์บนอวกาศ
ทีนี้เนี่ยมันก็ฝังอยู่ในตัวเราแหละ มันก็เลยทำให้เราค่อย ๆ ขยับตัวเองเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงการที่เรารู้ตัวอีกทีก็คือเราทำงานอวกาศไปเยอะแล้ว ถ้าถามว่าตอนไหนไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดแบบถามให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนแบบเข้ามายืนในแบบคนที่ทำงานวิจัยด้านอวกาศแบบชัดเจนแน่ ๆ เนี่ยก็คือเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วอันนี้จะเห็นชัดที่สุด
แต่ก่อนจะเป็น support ก็คือเหมือนแบบทำการทดลอง Zero Gravity บ้าง ไปได้ทำการทดลองนู่นนี่ตั้งแต่เด็ก แต่เราไม่ได้ไป drive มันด้วยความเต็มที่กับมัน มาเริ่มเต็มที่จริง ๆ ก็ประมาณเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก็เป็นการแข่งประกวดงานวิจัยนี่แหละที่ทำเกี่ยวกับด้านอวกาศ แล้วเราก็ดีไซน์เครื่อง 3D Food Printer ขึ้นมา อันนั้นน่ะคือจุดเริ่มต้นที่ คิดว่านั่นคือจุดที่ถ้าถามว่าเห็นเด่นชัดที่สุดก็คือนั่นคือจุดเริ่มต้นตรงนั้น
แล้วมัน drive หลังจากนั้นในช่วง 5 ปีนี้มันเกิดจากการ drive ด้วยความคับแค้นใจที่ถูกดูถูก มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! โดนเราโดนดูถูกว่าไอ้ 3D Printer ที่เราดีไซน์มาเนี่ย มันไม่มีความเป็นวิศวกรรม มันไม่มีงานวิจัยอยู่ในนั้น เราก็เลยบอกว่าได้เดี๋ยวเราจะพิสูจน์ให้ดูว่ามันมีอยู่ อันนั้นคือสิ่งที่ทำให้เราเดินหน้าลุย ๆๆ กันมา
The People: ขอย้อนกลับไปตอนเรียนมัธยมหน่อย ชีวิตวัยนั้นของคุณเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้คุณเลือกที่จะเบนเข็มมาเรียนในสิ่งที่ใครต่างก็มองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
ดร.โพธิวัฒน์: บ้านผมอยู่สมุทรปราการ ตอนประถมก็เรียนโรงเรียนใกล้บ้าน แต่ตอนนี้โรงเรียนปิดไปแล้ว ตอนม.ต้น ก็จะเรียนที่อัสสัมฯ สมุทรปราการ จริง ๆ ตอน ม.ต้น เนี่ยสะเปะสะปะระดับหนึ่ง ก็คือแบบเล่นดนตรีด้วย อยู่วงโย แล้วก็ทำกิจกรรมพวกหุ่นยนต์ ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ด้วยผสม ๆ มั่ว ๆ ไป
ขึ้น ม.ปลาย ก็เริ่มแบบโดนคุณแม่ถามว่าเลือกสักอย่างไหม คือเราทำหลายอย่างเกิน จนคุณแม่บอกเลือกสักอย่างซิ ไอ้เราก็เลือกมากรองมาเหลืออยู่ 2 อย่าง ก็คือเล่นดนตรีกับทำหุ่นยนต์ พอเรากรองมาเหลือ 2 อย่าง แม่บอกว่าต้องเลือกอีก 1 เลือกแค่อย่างเดียว ไม่ 2 อย่างไม่ได้ ต้องอย่างเดียวทำให้มันดีสักอย่างหนึ่ง แล้วก็แบบเลิกอีกอย่างหนึ่งไป ให้เลือกว่าจะต้องเลิกเลยอะไรอย่างนี้
สุดท้ายก็คือตอนนั้นเรามีคำถามกับตัวเองว่าเรามองเห็นปลายทางไหมว่าเล่นดนตรีที่เราเล่นน่ะปลายทางมันเป็นยังไง เรามองเห็นว่าปลายมันเป็นไง เราจะเติบโตในสายนี้ยังไงอะไรยังไง แล้วถ้าเกิดเรา แต่ถ้าเราทำหุ่นยนต์น่ะ วันนั้นน่ะเมื่อประมาณแบบ 20 ปีแล้วมั้ง เออ ก็ไม่รู้ว่าปลายทางของคนทำหุ่นยนต์ เพราะฉะนั้นสมัยนั้นยังไม่มีหุ่นยนต์อยู่ในโรงงาน ในโรงงานมีหุ่นยนต์ก็แบบ โห ต้องเป็นโรงงานแบบสมัยใหม่มาก ๆ ซึ่งในไทยแทบจะไม่ค่อยมี ก็เลยไม่รู้ว่าปลายทางหุ่นยนต์จะออกมาเป็นยังไง ก็เลยเลือกทางนั้น เพราะเราไม่รู้
The People: ทำไมถึงเลือกเส้นทางที่มองไม่เห็นภาพอนาคต แทนที่จะเลือกเส้นทางที่เห็นภาพชัด ๆ
ดร.โพธิวัฒน์: คือผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ท้าทายตัวเรา มันไม่ได้ท้าทาย เพราะมันไม่รู้ไง เราเลยสามารถกำหนดมันเองได้ คือมันท้าทายให้เราไปกำหนดมัน แต่ถ้าเกิดเรารู้ แปลว่าทุกคนกำหนดมาแล้ว เออ เพราะฉะนั้นก็เลยเลือกที่จะไปทางนี้
แล้วก็ต่อมหา’ลัยก็ได้โควต้า เพราะตอนนั้นแบบเหมือนแบบ คือเราก็ชอบงานทำงานวิจัยใช่ไหม คุณพ่อเขาบอกว่า เอ้ย มันมีกิจกรรมเปิดเจอในหนังสือพิมพ์เป็นกิจกรรมของบางมดของพระจอมเกล้าธนบุรีก็ไปเข้าเป็นโครงการวิจัยให้เราแบบไปฝึกทำงานวิจัยกับเขาประมาณ 2 เดือน เดือน 2 เดือนประมาณนี้
เราก็ไปทำ สนุก แล้วเราก็ผ่านเลยได้โควต้าเข้าเรียน แล้วก็เรียนบางมดตอน ป.ตรี ก็เหมือนเดิมตอนเลือกสาขาก็เหมือนเดิม เลือกด้วยหลักคิดแบบตอนเลือกหุ่นยนต์ ก็คือยังไงมันมาวิศวะอยู่แล้ว เพราะเราอยากทำหุ่นยนต์เนาะ มันก็จะมีเครื่องกล สมัยนั้นก็มีแค่เครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ แล้ว Mechatronics เนี่ยเพิ่งเปิดแค่แบบปี 2 ปี ทุกคนก็บอกว่าสาขานี้คือสาขาของการทำหุ่นยนต์อะไรอย่างนี้
เราไปนั่งรีวิวแล้วสุดท้ายก็เลยแบบว่า เออ เราไม่เก่งอะไรวะ mechanics เราก็ทำได้ โปรแกรมเราก็เขียนได้ แต่วงจรไฟฟ้าทำไม่ได้ ทำไงดี งั้นเราไปเรียนอิเล็กทรอนิกส์แล้วกัน เหมือนเดิม ทำในสิ่งที่ไม่รู้ คือเหมือนแบบเราพยายาม ตอนนั้นด้วยความคิดว่าเราไล่ปิดจุดแข็งจุดอ่อนของเรา เพราะจุดแข็งเรามีด้วยการที่เราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เราไม่ได้ไปนั่งเรียนเลคเชอร์ในวิชาเรียนก็จริง แต่เราสามารถเรียนรู้จากที่อื่น ๆ หรือว่าจากประสบการณ์ที่เราไปหามาอย่างนี้ ทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าเพราะฉะนั้น แต่อิเล็กทรอนิกส์เราเรียนรู้ไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่ามันต้องไปเรียนแหละ ก็เลยเรียนอันนั้นเพื่อปิดจุดอ่อน
The People: ทีมกีฏะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ดร.โพธิวัฒน์: จริง ๆ มันเริ่มจากตัว 3D Food Printer เนี่ย มันโดน bully ว่าไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็เขาก็ดูถูกว่า 50 ปีนี้ไม่มีคนที่จะขึ้นไปท่องเที่ยวอวกาศหรอก อีก 50 ปีข้างหน้าหรือผมแก่ตาย แล้วผมเกิดใหม่ก็อาจจะยังไม่ได้ไปกัน เขาพูดกันอย่างนี้เนาะ เพราะฉะนั้นผมก็บอกว่า เออ ไม่เป็นไรเดี๋ยวผมทำให้ดู เพราะว่าผมเชื่อว่าไม่เกิน 10 ปีมันต้องมีการไปเที่ยวอวกาศ 5-10 ปีข้างหน้า เราก็เลยทำ ทีนี้เนี่ยระหว่างทางในช่วงก่อนที่มันจะมาถึงกีฏะเนี่ย ก็เราก็พยายาม เราก็สะเปะสะปะแหละ เพราะเราเป็นมือใหม่ที่เข้ามาในวงการอวกาศแบบจริง ๆ จัง ๆ กัน เละเทะครับ
ก็คือแบบลองทุกอย่างสร้างเครื่องจำลองแรงโน้มถ่วงเอง พยายามจะไปสร้างดาวเทียมเอง พยายามจะไปสร้างเทคโนโลยีอวกาศใหม่ ๆ ขึ้นมาเอง จนสะเปะสะปะแล้วใช้เงินไปเยอะมากจนแบบสุดท้ายก็เลยบอกว่า เฮ้ย เราต้องตั้งสติกันดี ๆ ว่าเราจะทำอะไรกันแน่ คือผมจะเป็นประเภทแบบอันนี่อันนู่นไปเรื่อยเปื่อย เสร็จแล้วก็เลยบอกว่า เออ คีย์ของ 3D Food Printer เนี่ยมันมี know-how เทคโนโลยีอยู่ แต่เราเองขายคนไทยไม่ได้ ก็พยายามดิ้นหาแต่ก็ยังหาไม่เจอ
สุดท้ายเราก็เลยมาเน้นว่าเรามาทำพวก space education ให้คนเข้าใจก่อนดีกว่าว่า เอ้ย space มันไม่ได้ยาก หรือว่าไม่ได้แบบอยู่สูงขึ้นไปมากเลย คือแค่ 100 กิโลสูงจากพื้นไป 100 กิโล มันก็คือเลยตรงนั้นส่วนใหญ่เขาก็เรียกกัน space แล้ว ซึ่งมันบางคนหลาย ๆ คนรู้สึกว่ามันยาก มันแพง มันไกล อันนี้เราก็พยายามจะสื่อสารเรื่องพวกนี้ออกมาและทำให้เข้าใจ ทีนี้มันก็เราก็เดินทางตรงนี้มาเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่วันที่นาซ่าประกาศโจทย์นี้ขึ้นมา ก็เลย ผมกับอาจารย์วเรศ (ดร.วเรศ จันทร์เจริญ) ผมก็บอกอาจารย์วเรศว่าเรามี 3D Food Printer ว่ะ เรามี know-how นี้แล้ว จะต้องไม่ต้องสร้าง know-how ใหม่ เพราะว่าถ้าเราแบบ explore ไปเรื่อย ๆ ใหม่ ๆ เนี่ยจะไม่ไหว เราใช้ budget เยอะ ก็เลยบอกว่าเอาตัวนี้เป็นคีย์หลักซิ
แล้วเราลองหาทางที่จะทำให้มันครบแล้วตอบโจทย์นาซ่าได้ ก็เลยเริ่มจากตรงนั้นเสร็จปุ๊บบังเอิญมีน้องนักศึกษาฝึกงานก็คือน้องมิ้นท์กับตุลย์ (ตุลย์-สิทธิพล คูเสริมมิตร และ มินต์-นภัสธนันท์ พรพิมลโชค นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอากาศยาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝึกงานอยู่ที่บริษัท Space Zab) เนี่ยที่เข้ามาเป็นคีย์แมนหลักกัน ก็ 2 คนนี้ก็มาฝึกงานเป็นเด็กจุฬาฯ มาฝึกงานด้วย
เสร็จปุ๊บเราก็เลยโยนโจทย์นี้ไปให้เขาทำ เขาก็แบบลองทำนู่นทำนี่ไปคิด แรก ๆ มีการคิดถึงว่า เฮ้ย ใช้เป็นมดไหม เอามดมาช่วยแบบถนอมอาหารไหมเอานู่นเอานี่มาอย่างนี้ ก็เริ่มแบบคิดวิธี เพราะว่าเขาต้องให้คิดให้ เขาอยากให้คิดให้มันครบวงจร เราก็มีหน้าที่คือด้วยความที่น้องเป็นวิศวกรเนาะ สายแบบ AERO (Aerospace Engineering) ด้วย ไม่ได้มีความรู้เรื่องชีวะ เราก็ใช้ Connection ที่เรารู้จักเนี่ย นักวิจัยที่ทำเกี่ยวกับด้านแมลงบ้างด้านอะไรอย่างนี้มาช่วยทำด้วยกัน มาแนะนำ มาคอย Consult น้อง ๆ
จนสุดท้ายเนี่ยมันก็ทำ Report ส่งนาซ่าได้ แล้วก็ผ่านเข้ารอบชนะเข้ามาใน phase ที่ 1 อันนี้คือจุดเริ่มต้นกีฏะแบบเหมือนว่า โอเค มันเริ่มมายังไงแล้วไปชนะยังไง แต่จริง ๆ ก็ระหว่างทางมันก็มีคำถามก่อนก็ส่ง ก่อนที่จะเริ่มว่าตอนเริ่มโปรเจกต์นี้จริง ๆ ก็มันก็มีคำถามอาจารย์วเรศถามว่าพี่คืออันนี้มันแค่คอนเซ็ปต์ แต่ถ้าเกิดเราเข้ารอบชนะเข้า phase 2 เนี่ยทำไงวะ เพราะว่า phase 2 เนี่ยมันคือการสร้างเครื่องจริง ๆ ผมก็บอกอาจารย์วเรศว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้ามึงชนะเดี๋ยวแม่งต้องมีตังค์เว้ย แต่ถ้ามึงไม่ชนะเราเลิกเลย เลิกทำเถอะ เพราะว่าเราหมดทางแล้ว เราไม่รู้จะยังไงแล้ว เราก็ตันเหมือนกันกับงานอวกาศในประเทศไทย เราไปทำงานอวกาศต่างประเทศดีกว่า ก็คุยกันอย่างนี้
The People: ก็คุยกันตรงๆ?
ดร.โพธิวัฒน์: ใช่ คุยกันตรง ๆ เลยว่าเรา bet กันเลยนะ ถ้างานนี้คือคุยกัน 2 คน จริง ๆ น้องไม่รู้ เราก็นั่งคุยกัน 2 คนว่าเอางี้แหละ ถ้าชนะเราต้องเดินต่อในอวกาศประเทศไทย แต่ถ้าเกิดเราไม่ชนะใน phase 1 เนี่ย เลิกเลยนะต่างคนต่างแยกย้าย ต่างคนต่างไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำเลย ผมก็จะกลับไปทำหุ่นยนต์อย่างเต็มที่ของผมแล้ว ผมบอกงี้ แต่ดันชนะ แล้วมันก็เลยกลายเป็นภาระ ไม่ใช่ภาระหรอก มันก็กลายเป็นเรื่องที่แบบว่า อ่าว พี่ยังไงต่อ ต้องหาเงินแล้วอะไรอย่างนี้ เราก็ต้องวิ่งหาเงินกันอะไรอย่างนี้
The People: ช่วงแรกได้ทุนสนับสนุนมาจากที่ไหน
ดร.โพธิวัฒน์: ไม่มีครับ ควักกันเอง นักวิจัยทุกคนควักเงินกันเอง วันนั้นยังจำได้เลยคุยกันต้องจ่ายกันคนละเท่าไหร่วะ แล้วแบบเอาเงินก้อนแรกก่อนที่แบบต้องแบบสำหรับ regis หรือทำแบบเทสอะไรเบื้องต้นอย่างนี้ เราก็บอกว่าเอาเงินก้อนแรกแล้วกันวะ สักแบบคนละแบบ 2,000-3,000 ก่อน สักพัก เฮ้ย ไม่ได้แล้ว ต้องใช้เงินเพิ่มต้องแบบลองเทสเครื่องนั้นเครื่องนี้กลายเป็นคนละ 20,000 ก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆๆๆ
จนถึงจุดหนึ่งว่า เฮ้ย เราจ่ายกันไม่ไหวแล้ว ใครจ่ายไหวจ่ายมาก่อนแล้วกัน แล้วเดี๋ยวคืนเงินค่อยหาเงินมาคืนกันอีกทีจะคืนยังไงเดี๋ยวค่อยว่ากัน ทุนวิจัยเนี่ยขอเขียนขอไปก็ไม่ได้ เพราะเราจะไม่ค่อยได้ เพราะว่าพอเราพูดถึงเกี่ยวกับงานอวกาศ เขาก็จะไม่ค่อยให้ เพราะว่าประเทศไทยมีความเข้าใจในงานอวกาศที่ไม่เข้าใจในส่วนนี้ เขาเข้าใจว่ามันคือดาวเทียม
มันคือสิ่งที่แบบจรวดเท่านั้นอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยขอไม่ได้ แต่เราก็เลยพอเรา เราก็เข้าใจในจุดนั้นแหละ เราก็เลยพลิกมุมไปขอการเกษตรแทนอะไรอย่างนี้ จนเราได้ แต่ทีนี้เงินก็ดันมาช้าอีก วินาทีคือเรารู้ว่าเราแข่งเข้ารอบเนี่ยตั้งแต่เดือนพฤศจิกาปีที่แล้ว เรารู้ว่าธันวาปีนี้เราต้องส่งผลสุดท้าย ดังนั้นเนี่ยระหว่างทางเราต้อง แล้วเรามีต้องมีส่งรายงานไปเรื่อย ๆ เราก็เลยบอกว่าไอ้รายงานที่มันต้องเริ่มเห็นเครื่องเนี่ย มันคือมิถุนายน เราก็ backward กลับไปว่าเรามีช่วงเวลาหาเงินอยู่ประมาณ 3-4 เดือนเนี่ย ทำยังไงก่อนจะถึงมิถุนา
เราก็ต่อชีวิตด้วยการเอาเงินตัวเองลง ๆๆ แบบจนถึงจุดหนึ่งคือวันนั้นน่ะเราคุยกันเลยว่าเอาไงดี คือเงินน่ะเงินวิจัยได้มาแล้ว รวมเบ็ดเสร็จขอจากหลาย ๆ ที่ร่วมกันมีอยู่ประมาณ 4 ล้าน แล้วเราก็พูดว่าแต่เงินมันไม่มา เงินมันจะมาตุลาคม ซึ่งถ้าเงินมาตุลาเราจะแข่งไม่ทันธันวา ต้องเอาเงินในอนาคตมาใช้ กู้ไหม คุยกันว่ากู้ไหม เดินเข้าธนาคารเลยครับ โดนดอกเบี้ย 16% ก็เลยบอกว่าจ่ายไม่ไหวว่ะ 16% เราจ่ายกันไม่ไหว
ถ้าแบบ 5-8% เนี่ยยังพอไหว ยังพอเอาเงินเดือนมาโปะมาอะไรกันไหว ก็เลยหาว่าใครให้กู้ได้บ้าง หา เริ่มหาเพื่อนหาอะไร จนก็ไปคุยกับหัวหน้า แล้วหัวหน้าก็พาไปหาผู้ใหญ่ในเครือ CP All เขาก็บอกว่า เอ้ย ก็ไปเล่านี้เรื่องให้ฟัง เขาก็เลยบอกว่า เอ้ย ผมชอบผมสนใจ แล้วผมอยากสนับสนุน อยากให้ช่วยทำเป็นงานวิจัยนี่แหละดีเลย ทำมาเลย
ตอนนั้นผมค่อนข้างมั่นใจนะได้กู้แล้วเว้ย คือมั่นใจนะว่าได้กู้ได้แน่ ๆ แต่คิดว่าอย่างมากสุดก็คือเขาก็ไม่คิดดอกเบี้ย หรือแบบใจดีสุด ๆ ก็คือให้เงินก้อนนี้ก่อนที่เราจะกู้เนี่ย 800,000 เนี่ยมาเลย ผมก็เข้าไปคุย แล้วเขาก็ถามว่าทั้งหมดเท่าไหร่ ไม่ใช่ที่กู้นะ แต่หมายถึงว่าใช้ทั้งโปรเจกต์นี้เท่าไหร่ ผมก็บอกว่า 12 เพราะว่าตอนนี้เรามี 4 ขาดอีก 8 เขาก็บอกว่างั้นเอาไปเลยเอาไปทั้งหมดเนี่ย ให้หมดเลย
ผมก็แบบ เฮ้ย ช็อค ก็เลยบอกว่า โอเค ได้ แต่คุณก็ต้องทำเป็นงานวิจัยนะ ทำวิจัยด้วย แล้วเราไม่ต้องรับปากกันว่าถ้าทำ startup ได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าทำได้ก็เดี๋ยวมาคุยกันใหม่ เรา คือเขาก็มาให้มาคุยกับเขาว่าจะต้องลงทุนเท่าไหร่ แล้วก็เขาขอเป็นเจ้าภาพ ก็เลยบอกว่าได้ เพราะว่าเราก็มองเหมือนกันว่าเราอย่างที่บอกอย่างที่บรรยายเมื่อกี้ครับว่า เราอยากจะให้ความรู้พวกนี้ลงไปถึงเกษตรกร เขาได้มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้แล้วเขาก็ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เราก็เลยมองว่าโอเคมันก็ไม่หลุดจากแนวทางที่พวกเรายึดเป็นหลัก คือเราอยากทำงานวิจัยเป็นหลักแล้วขยายผลสู่คนทั่วไปให้มากที่สุด startup มันเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราขยายผลสู่ทุกคนได้ แล้วมันทำให้เราเติบโตได้ด้วยตัวเอง อันนี้ก็คือมันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นแล้วก็การเดินทางของกีฏะมาจนถึงวันนี้
The People: ช่วงที่ทีมส่งผลงานเข้าประกวดกับทางนาซ่า ช่วงนั้นต้องการท้าทายอะไรหรืออยากพิสูจน์ให้คนเห็นว่าตัวแทนของคนไทยก็ทำได้หรือว่ายังไง
ดร.โพธิวัฒน์: คือมองอย่างนี้ครับว่าอย่างนี้บอกว่าวันที่เราเลือกว่าเราจะเข้าแข่ง มันคือการวางเดิมพันกันว่าเราจะอยู่ในวงการนี้ต่อหรือเราไม่อยู่ อันนั้นคือแค่จุดนั้นจุดเดียวจริง ๆ แต่ ณ วันที่ประกาศผลว่าเราชนะ มันคือจุดที่เปลี่ยนว่า เอ้ย เพราะว่าเรา bet แล้วเนาะว่าเราจะไปต่อหรือไม่ไปต่อ
มันคือจุดเปลี่ยนว่าเราไปต่อ คำว่าไปต่อในที่นี้ไปยังไง อันนี้คือคำถามที่เราถาม เราตั้งต้นถามกัน ทีนี้เราก็พูดถึงเรื่องของ New Space Economy System ก็คือระบบเศรษฐกิจอวกาศใหม่มันคืออะไร แล้วหลายคนในประเทศเนี่ยไม่เข้าใจทุกคนอย่างที่บอกว่าพอพูดถึงเศรษฐกิจอวกาศ
คนก็นึกถึงอย่างแรกจรวดแล้วก็ดาวเทียม ตอนนี้อาจจะเห็นเป็นอินเทอร์เน็ตมือถือ อินเทอร์เน็ตดาวเทียม ฉะนั้นจากตรงนี้เนี่ยเรามันทำให้เรารู้ว่ามันมีพื้นที่ที่เราสามารถเข้าไปแย่งชิงและทำให้ประเทศไทยเนี่ยเติบโตในเรื่องของเชิงเศรษฐกิจอวกาศขึ้นเป็นผู้นำโดยที่ไม่ต้องไปแข่งกับการสร้างจรวด ไม่ต้องไปแข่งที่จะสร้างดาวเทียม เพราะว่าเราสู้ไม่ได้ ถ้าเราจะสู้เราต้องใช้เงินเป็นพัน ๆ ล้านอาจจะเป็นหมื่นล้านด้วยซ้ำที่จะสู้กับประเทศหรือว่าสู้กับคนที่เขามีเทคโนโลยีพวกนี้อยู่แล้ว
แต่เทคโนโลยีด้านอาหารเนี่ยมันเป็นพื้นฐานและรากเหง้าของคนไทยที่มีอยู่มานานแล้ว แล้วเราเก่งเรื่องนี้ มันเลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีโอกาส อันนี้จากตรงนี้เราก็นั่งวิเคราะห์ตรงนั้น แล้วทำให้เราเดินคิดต่อว่าเราจะเดินต่อยังไง มันก็เลยกลายเป็นการท้าทายใหม่ว่าทำยังไงให้คนเข้าใจ New Space Economy System
ทำยังไงให้คนไทยใช้เศรษฐกิจอวกาศอันใหม่ เพื่อสร้างการลืมตาอ้าปากให้หลุดจาก middle trap income ให้ได้ เราจะทำยังไงกันจากเทคโนโลยีที่เราทำตรงนี้ เราจะสื่อสารออกไปให้คนเข้าใจยังไง แล้วทุกคนเดินหน้าไปในทิศทางนี้ได้อย่างไร อันนี้ก็เลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ในทีมเองก็มาเดินทางสู่ตรงนี้ แล้วจริง ๆ มันมีอีกอันนึงที่ทำให้เราสะอึกก็คืออยู่ ๆ เราก็กลายเป็น influencer ให้กับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทำอวกาศ เพราะว่าคือวันนั้นเรา talk กันเขา talk เรื่องอะไรไม่รู้ แล้วผมก็ขึ้นไปคุยเรื่องนั้นกับเขานะ
เสร็จแล้วเขาก็พูดว่าผมก็ทำงานอวกาศอยู่อะไรอย่างนี้ แล้วเป็นยังไงบ้างกับกีฏะ คือวันนั้นเนี่ยมันคือวันที่เรายังไม่มีเงินทุน เรายังไม่ได้ทุน คือเราไปเสนอโปรเจกต์นี้ให้กับหลาย ๆ คน หลาย ๆ บริษัทใหญ่ ๆ แต่เขาก็ดีจังเลยน่าสนใจ แต่ไม่ลงเงินทุนหรืออยากจะลงทุนแค่ค่า PR ไม่ได้อยากลงทุนในส่วนของงานวิจัย เพราะเขาบอกว่าผมไม่รู้ผมเอางานวิจัยไปทำอะไร ผมอยาก PR ก็เลยบอกว่าผมลง PR ได้ แต่ผมลงวิจัยไม่ได้ ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างงั้นผมขอไม่รับ เพราะว่าผมไม่สามารถ PR ให้ได้ เพราะผมไม่มีของ ๆ จริงที่จะเอามา PR มัน
ไม่งั้นเราก็จะเป็นแค่คนขี้โม้คนนึงที่บอกว่าไอ้นั่นทำได้ไอ้นี่ทำได้ เราไม่อยากเป็นคนขี้โม้ เออ เราอยากเป็นคนที่ทำขึ้นมาได้จริง ๆ
ทีนี้วันนั้นเนี่ยเราก็เราอยู่ในสภาพว่า เฮ้ย จะหาเงินยังไงวะ ก็มีคนมาถามใน Clubhouse ก็คุยกัน มีคนพูดขึ้นมาว่า เฮ้ย แล้วถ้าเกิดเป็นอย่างนี้กีฏะไม่สามารถเข้าแข่งได้ หรือเพราะไม่มีเงินเนี่ย มันจะเป็นการดับฝันเด็กรุ่นใหม่ไหม มันจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากจะทำงานอวกาศไหม เพราะขนาดทีมที่แบบชนะนาซ่า ทีมที่แบบทุกอย่างคือทั้งองค์ความรู้ทั้งอะไรมันมีแล้ว แต่ขาดแค่เงินน่ะ ขาดการสนับสนุนของคนในประเทศ ตรงนี้มันจะทำให้เด็กเขาท้อแท้ไหม
โห! วันนั้นพวกผมนั่งมองหน้ากันแล้วก็พูดว่าฉิบหายแล้ว
คือจริง ๆ นะเราไม่เคยคิดไงว่าตัวเราเองเป็นคนที่จะทำให้เป็นความฝันหรือว่าเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้กับเด็ก ๆ เราก็เลยแบบว่าไม่ได้แล้วแหละมันต้องสุดตัวแล้วแหละ ทำยังไงกันดีวะ มันก็เลย drive ไปสู่การที่บอกว่ากู้ไหมอะไรไหมอะไรอย่างนี้ แล้วก็แบบเราต้อง bet สุดตัวแล้วแหละ
มันเป็นก้าวใหม่ที่เราต้องแบบเดิมพันน่ะ เพราะว่าถ้าเราเจ๊งคือเราแข่งแพ้ไม่เป็นไรนะ แต่เราต้องได้แข่ง เราต้องแข่งให้จบเกม ประเด็นคือถ้าเราล้มคนข้างหลังหรือว่าผู้ใหญ่ข้างบนที่มองเห็นมาเนี่ย ดูดิ ขนาดอันนี้มันยังทำงานเจ๊งเลยใช่ไหม เขาก็จะไม่ให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงเด็กรุ่นใหม่เองก็แบบ โห จะฝ่าฟันกำแพงอันนี้ได้ยังไง เราก็เลยเป็นคนที่จะทำให้กำแพงนั้นมันเตี้ยลง
อันนี้คือจุดหนึ่งที่เลยก็เลยถึงบอกว่าเราต้องลุยให้เต็มที่แล้วก็เอาชนะเล่นให้จบเกม แต่ด้วยความที่วันนั้นน่ะเราไม่รู้หรอกนะว่าเราชนะหรือเปล่า แต่วันนี้เราเริ่มค่อย ๆ มั่นใจมากขึ้น ๆ ถ้าถาม ณ ตอนนี้ ณ วันนี้เวลานี้ก่อนส่ง Report เราค่อนข้างมั่นใจ เพราะว่าเดิมมันมี 10 แล้วมันก็มีคนที่เข้ามาเพิ่ม เพราะว่ามันจะมีรอบแบบรอบรับทีมเสริมที่แบบตรวจ เขาจะตรวจละเอียดขึ้นน่ะครับ เสร็จปุ๊บรับทีมเสริมรับเข้ามาปุ๊บก็กลายเป็น 13 ทีม
แล้ว ณ วันที่เราส่ง Report กลางปีมันเหลืออยู่ 9 ทีม แล้วก็ ณ วันนี้น้อง ๆ ก็บอกว่าแต่ผมไม่แน่ใจว่า official หรือยัง คือน้อง ๆ บอกว่าจากที่กรรมการบอกมาเนี่ย มันเหลืออยู่ 7 ทีมสุดท้าย แล้วก็เราเป็นทีมเอเชียทีมสุดท้ายที่เหลืออยู่ คือก่อนหน้านี้มันมีทีมเอเชียหลายทีม
แต่ผมไม่รู้ว่าเขาออกด้วยอะไร คือเขาอาจจะออกด้วยการที่เขาไม่ไปต่อหรือว่าเขาอาจจะออกด้วยการที่เขาไม่ผ่าน qualified ในแต่ละรอบ คือแต่ละรอบ ในรอบย่อยของ phase 2 เนี่ยมันจะมี qualified ที่เราต้องส่งข้อมูลให้ทางกรรมการรับรู้ แล้วก็นับเป็นคะแนนไปเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ ซึ่งเราผ่านเข้ามาเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ เหลืออยู่ 7 ทีมที่เรารู้ ก็เลยกลายเป็นว่า เพราะว่าจากตรงนี้เขาจะเอา 5 มา Site Visit แล้วจาก 5 เหลือ 3 ก็เลยทำให้เอาวะลุยกันให้เต็มที่เอาให้สุด
The People: โจทย์ที่ทางนาซ่าให้มาเขาให้โจทย์อะไรมาบ้าง
ดร.โพธิวัฒน์: โจทย์เริ่มต้นนะครับก็คือว่าเขาต้องการให้ เขามี mission นึงก็คือต้องการส่งคนไปดาวอังคารทีนี้เนี่ย เขาก็ทำการประเมินเนอะ หลักการก็คือว่าคนจะต้อง ถ้าเราเดินทางไปดาวอังคารเนี่ย ใช้เวลาประมาณแบบไม่เกิน มากสุดไม่เกินปีครึ่งหรอก คือประมาณ 9-14 เดือน ทีนี้เนี่ยในกรณีที่เราไม่สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้ แล้วเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือต้องเดินทางกลับมาโลก เราจะใช้ระยะเวลาเนี่ยเกือบ ๆ 3 ปี
นึกง่าย ๆ ก็ได้เหมือนเรานั่งเครื่องบินน่ะ แล้วพอเครื่องบินสภาพอากาศแปรปรวน เครื่องบินลงไม่ได้อาจจะต้องแบบบินวนรอ ๆ ถึงจุดนึงอาจจะต้องไปพักที่นึง แล้วค่อย ๆ กลับมาใหม่ อันนี้ก็เหมือนกันหลักคิดก็คล้าย ๆ กัน แต่ทีนี้มันไม่มีจุดพัก เพราะจุดพักมันมีแค่โลกกับดาวอังคาร มีอยู่แค่ 2 ที่
เพราะฉะนั้นเขาก็เลยต้องวิ่งไปแล้วก็รอ ๆๆ แล้วก็กลับ อันนี้มันเลยใช้ เขาเลยคำนวณเวลามาแล้ว มันยังไง mission ถ้ามันจะ failed แบบนี้มันจะไม่เกิน 3 ปี คำถามคือเราจะเอาอาหารให้นักบินอวกาศอยู่ตลอด 3 ปีได้อย่างไร ก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นน่ะคิดง่าย ๆ
ถ้าเราขนมาม่าขึ้นไปสมมุติเราขนมาม่าไปนะเอาคิดง่าย ๆ ก่อนนะ นักบินอวกาศ 4 คน 3 ปี มันก็คือวันละ 3 มื้อเบ็ดเสร็จมันก็จะประมาณ 12,000 มื้อ 12,000 ซอง ลองคิดสภาพว่าเราต้องขนมาม่า 12,000 ซองขึ้นไป มันเป็นไปไม่ได้ คำถามคือเราทำยังไงที่เราเอาระบบอะไรบางขึ้นไป แล้วทำให้มันเกิดตรงนี้ได้เรื่อยๆ คือกินได้ครบ 3 ปีนี่คือ Point ที่เป็นโจทย์ของนาซ่า
ทีนี้มันก็จะมีรายละเอียดย่อยอีกเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณค่าทางอาหารวิตามินใช่ไหมครับ แล้วก็รสชาติ รูปลักษณ์ ความขยะแขยง อย่างความขยะแขยงคืออย่างเราว่าช่วงแรกเราจะโดนถามว่าหนอนเนี่ยนักบินต้องจับไหม จับเป็น ๆ หรือจับตอนตาย จับแล้วต้องทำอะไรอย่างนี้ มันก็จะมี condition ว่าเราจับแค่อย่างนี้ ทำแบบนี้ หรือว่าตอนจะกิน กินแบบไหน กลิ่น รสชาติเป็นยังไง อันนี้ก็จะมีรายละเอียดของเขาเข้ามา
ซึ่งอันนี้เป็น in detailed แบบเยอะมาก รายละเอียดมันประมาณ 200 หน้า กติกาประมาณ 200 หน้า เกือบ ๆ 200 หน้า ก็นั่งอ่านกัน ต้องวิเคราะห์กันว่าอะไรบ้างที่เราต้องทำ อะไรบ้างที่นาซ่า concern อะไรบ้างที่เรียกว่าจุดที่เขาไม่สนใจ เราก็หลีกเลี่ยงไม่ต้องไปทำ
เพราะว่าด้วยเวลาที่เรามีน้อยเนาะ เราเหมือนเดิมต่อให้ทีมอื่น ทีมอื่นเขารู้ตั้งแต่พฤศจิกาเขาก็เริ่มทำ แต่เราเริ่มจะพยายามเริ่มทำแต่เรามาได้เงินจริง ๆ คือตอนมิถุนา เรามีเวลาแค่ 6 เดือนสุดท้ายที่ทํายังไงให้สร้างเครื่องจักรได้ทัน แต่เราเตรียมตัวไม่ใช่อยู่เฉย ๆ เนาะ เตรียมตัว กติกาของนาซ่า จริง ๆ ก็จะมีการอัปเดตและปรับอยู่เหมือนกัน อย่างล่าสุดเพิ่งปรับเมื่อไม่กี่วันก่อน เมื่อสองวันก่อนว่าแบบต้องการให้มีการ demo วีดีโอมากขึ้นจาก 5 นาทีเป็น 10 นาทีนะต้องการนู่นนี่นั่นโน่นเขาก็จะมี list มาว่ามีการปรับเปลี่ยนอะไร คือจริง ๆ ทางกรรมการเองก็จะมีการอัปเดตข้อมูลเพิ่มอะไรอย่างนี้
The People: ตอนนี้ในทีมมีกี่คน
ดร.โพธิวัฒน์: โดยประมาณแล้วกันครับ 40 นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ Engineer Artist มีหลาย ๆ สาขามาร่วม ๆ กัน ก็รวมกันแล้วประมาณ 40 ก็จะมีคนเข้าคนออก ๆ
The People: แล้วคุณจะสร้างความมั่นใจให้กับคนในทีมยังไงว่าการที่เราทำตรงนี้มันไม่เสียเปล่า
ดร.โพธิวัฒน์: จริง ๆ ผมมองว่าผมว่าเราคุยกันด้วยเรื่องของเป้าหมายว่าเรามองไปที่ไหน อย่าง ณ จุดนี้ phase 2 เรามองไปที่อะไร เรามองที่เราต้องชนะ ชนะแล้วมันเกิดอะไรขึ้น มันกำลังจะเกิดอะไรขึ้น เราอธิบายให้ทุกคนในทีมเข้าใจว่าถ้าเกิดเราทำได้ เราจะ คือประเทศไทยครับมันเป็นประเทศแห่งการพิสูจน์ตัวเองเนาะ เพราะฉะนั้นเนี่ยการที่เราจะพูดว่าการทำเศรษฐกิจอวกาศแบบนี้มันจะสำเร็จมันจะเวิร์ค ถ้าสมมุติว่าผมเป็นใครไม่รู้อยู่ ๆ พูด ทุกคนก็จะบอกว่าเพ้อเจ้อ เออ บ้าบอว่ะ คนนี้แม่งอะไรเนี่ย แต่พอผมเป็นทีมกีฏะที่ถ้าบอกว่าชนะนาซ่า แล้วเป็นชนะในเอเชียมาอีก
ผมว่าก็มีคนจะฟังผม แล้วก็อยากจะ drive ให้มันเกิดขึ้นจริง ๆ เพราะฉะนั้นผมก็เลยบอกกับทุกคนว่าเราสามารถจะทำตรงนั้นได้ ถ้าเราชนะ เราจะพูด ผู้ชนะพูดได้เสมอ ดังนั้นเราก็เลยมองไปที่เป้าหมายนั้น
เพราะว่าเราไม่ได้มองแค่ว่าเราชนะอย่างเดียว คือชนะมันคือรางวัล แต่สิ่งที่มันจะทำให้เกิดขึ้นหลังจากนี้ไม่เกิน 5 ปีที่เกิดเราชนะ 5 ปีนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนเรื่องเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยได้ ทุกคนจะเติบโต ไม่ใช่แค่เรา แต่คือทุกคนที่อยู่ในประเทศนี้ อันนี้คือเราวางเป้าหมายอย่างนี้ และทุกคนก็มองไปที่ภาพนี้ ดังนั้นเนี่ยก็เลยทำให้ทุกคนมองไปที่ว่าฉันต้องทำยังไงก็ได้ ต้องชนะ และรับผิดชอบในส่วนที่ sector ที่ตัวเองดูแล ทำไปครับ
The People: ระหว่างกระบวนการที่เคยบอกว่าลองใช้มด แล้วหลังจากนั้นได้ลองใช้อะไรเพิ่มไหม
ดร.โพธิวัฒน์: จริง ๆ ในกระบวนการเองเนี่ยมัน แต่ก่อนเราเริ่มต้นอย่างมีมด มีสาหร่ายอะไรอย่างนี้ แล้วพอทีมที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องของพืชของอะไรอย่างนี้ มันก็จะมีการคำนวณ มันก็เกิดปัญหามันก็ไม่ตอบโจทย์เรื่องพวกค่าการตรึงคาร์บอน การตรึงไนโตรเจนในระบบเนี่ยมันไม่พอ ก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนพืช เปลี่ยนอะไร เปลี่ยนสิ่งมีชีวิตไปเรื่อย ๆ จน คือเราก็หาเนาะ คือคำว่าเปลี่ยนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทำใหม่ ไม่ได้ไปทดลองนั่งทำ ๆ เลยนะ เราก็รีวิวก่อน แล้วก็รีวิวกันใหม่ กับปัญหาก็กรอง ๆ มาจนได้รู้ว่า เออ อะไรบ้างที่มันพอเป็นไปได้ แล้วก็มาทดลอง ก็อันนี้ก็เลยจนสุดท้ายก็เปลี่ยนไปเรื่อย ก็เลยบอกว่า ถ้าถามว่าลองอะไรไปบ้าง จริง ๆ ผมไม่แน่ใจนะว่าลองอะไรไปแล้วบ้าง ก็คืออย่างไส้เดือนเอย พืชหลายอย่าง พืชลองหลายอย่าง แต่ผมก็อยากมีถั่ว มีพวกถั่วแบบต่าง ๆแหนแบบต่าง ๆ อะไรอย่างนี้ สาหร่าย ประมาณอย่างนี้ครับ ที่เราทดลองกันหลาย ๆ อย่าง ก็จนตอนนี้ก็คือพอจะหาจุดลงตัวได้
The People: ช่วยอธิบายคำว่า “ครัวอวกาศ” ให้ฟังหน่อย
ดร.โพธิวัฒน์: คือจริง ๆ ก็แค่ ก็คือแบบคนไทยชอบพูดว่าครัวไทยไปทั่วโลก เราก็เลยบอกว่าเราเล่นคำใหม่แล้วกัน เป็นเราไปไกลกว่าครัวโลกแล้ว เราอยากจะไปกลายเป็นครัวของอวกาศ เพราะว่าเครื่อง 3D Printer ของเรามันเหมือนมันคือเครื่องทำอาหาร ระบบของเรามันคือเครื่องผลิตอาหาร ตั้งแต่จากแมลงจากพืชจากผักต่าง ๆ เนี่ยแปรรูปออกมา ให้มันกลายเป็นอาหาร 1 มื้อที่กินแล้วแบบมีความสวยงาม เพราะว่ามันเป็น 3D Printer เนาะ เพราะฉะนั้นเราอยากขึ้นรูปเป็นแบบเป็นหอไอเฟล เป็นเอาแมลงมา print เป็นรูปไก่อย่างนี้ print เป็นรูปไดโนเสาร์อย่างนี้ มันก็ทำได้ เพราะฉะนั้นก็เลยกลายเป็นว่าเครื่องนี้มันก็กลายเป็นเหมือน chef’s table สำหรับคนที่อยู่บนอวกาศ เราก็เลยบอกว่า เอ้ย งั้นเราก็เล่นคำแล้วกัน ครัวอวกาศแทน เพราะครัวไทยไปครัวโลกก็เราไปไกลกว่านั้น
The People: คิดว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้จริง ๆ ไหม
ดร.โพธิวัฒน์: เราตั้งใจว่าจะไปให้ถึง เพราะอย่างตอนนี้ group of concepts เรา print ได้แล้ว พอเรา print พอเราทำได้ขึ้นมาเนี่ย ขึ้นรูปได้ รสชาติได้ เพราะฉะนั้นมันก็เหลืออีกไม่กี่ก้าวครับที่จะไป เพราะว่าจริง ๆ แล้วเนี่ยการเอาอาหารขึ้นอวกาศมันไม่ได้ยาก ไม่ยากเลย คือแล้วมาตรฐานอาหารที่เราใช้อยู่บนโลกก็เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ใช้บนอวกาศ มันเรียกว่า HACCP ถ้าเกิดในโรงงานการผลิตที่มันอยู่ในมาตรฐาน HACCP เมื่อไหร่ แทบจะอีก ทำการทดลองอีกไม่เยอะก็ขึ้นอวกาศได้เลย
ซึ่งจริง ๆ ในญี่ปุ่นเองเนี่ย เขาก็มีการเล่นเกี่ยวกับเรื่องของเรื่องนี้เหมือนกัน คือมีหลาย ๆ บริษัทอยากโฆษณาอาหารของตัวเองเป็นอาหารที่เกรดอาหารอวกาศ เขาก็จะเขาทำให้ผ่านมาตรฐาน การตรวจต่าง ๆ แล้วก็ส่งขึ้นไปทดสอบ ซึ่งคำว่าทดสอบในที่นี้คือเขาทำสำเร็จบนโลกแล้วส่งขึ้นไป ไม่ได้ไปผลิตใหม่ อันนี้มันจะต่างกันนิดนึง
เพราะฉะนั้นผมถึงบอกว่า ณ จุดนี้วันนี้เราผลิตได้ จริง ๆ แล้วอยากบอกว่าอาหารเราเป็นอาหารอวกาศได้เลยไหม จริง ๆ ทำได้เลย เพราะว่าเราเอาอาหารที่ผลิตจากเครื่องนี้ไปสอบตามเงื่อนไข ไปทดสอบตามเงื่อนไขตรวจสอบตามเงื่อนไขที่องค์การอวกาศเขากำหนด เช่นถ้าเกิดเราขึ้นกับ JAXA ก็จะมีกำหนดแบบหนึ่งของญี่ปุ่น ถ้าเราขึ้นกับยุโรปก็มีกำหนดแบบหนึ่ง ขึ้นกับของอเมริกาก็มีแบบหนึ่ง แต่มันจะคล้าย ๆ กัน มันจะตรวจคล้าย ๆ กัน ไม่ยาก เพราะฉะนั้นคนไทยจริง ๆ อาหารไทยที่อยู่ในบ้านเราเอง โรงงานเอง สามารถเอาขึ้นอวกาศได้อยู่แล้ว
The People: อย่างของคุณเคยโดน bully อะไรหนัก ๆ ไหม
ดร.โพธิวัฒน์: ก็เรื่องนี้แหละตลอดเลย ผมมักจะโดนบอกเพ้อเจ้อ ทำอะไรคิดอะไรแบบไปไกลเกินอะไรอย่างนี้ จริง ๆ อย่างเรื่อง Precision Farm อย่างนี้ ผมพูดเมื่อประมาณ 10 กว่าปี ผมพูดเรื่อง IoT โดยที่ตั้งแต่ยังไม่มี IoT อะไรอย่างนี้ ทุกคนก็จะบอกว่าอะไร อย่างตอนนั้นผมบอกว่า เฮ้ย อนาคตเนี่ยเราต้อง ระบบที่ผมกำลังทำ ผมทำได้ ณ ตอนนี้สามารถทำนายได้ แต่แค่ว่ามันยังไม่แม่น
อนาคตเราจะบอกได้เลยว่าเกษตรกรควรใช้น้ำเท่าไหร่ ใช้ปุ๋ยเท่าไหร่ วันนี้ไม่ต้องรดน้ำเยอะเพราะพยากรณ์อากาศแล้วอากาศก็จะเป็นแบบนี้ ดินเป็นแบบนี้ เราต้องปรับอย่างนี้ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการเก็บเกี่ยว ผมพูดเรื่องนี้แต่ผมไม่ได้เรียกมันว่า Precision Farm ผมก็บอกว่าอนาคตเกษตรกรจะเป็นแบบนั้น ผมโดนคำถามย้อนกลับว่าทำทำไมวะ
เกษตรกรเขาก็ใช้ชีวิตของเขาได้อยู่แล้ว ไม่ตอบโจทย์เลย จะลงทุนทำไม พอผ่านมาแบบเนี่ย 5-6 ปี อยากทำ Precision Farm อยากให้มีงานวิจัย Precision Farm คนต้องการไปหมดเลย ผมก็บอกว่ามันเลยเวลาที่เราควรจะทำไปแล้ว มันเลยเวลาที่เราจะวิจัยเรื่องนี้ไปแล้ว ผมก็ไม่ทำ ผมก็ไปทำสิ่งอื่น
ผมก็จะโดน bully ไปเรื่อยว่าเพ้อเจ้อ ๆ ทำอะไรอยู่ผมอยู่ปัจจุบันหน่อย สุดท้ายผมก็เลือกที่จะไม่อยู่นะ ผมอยู่กับปัจจุบัน แต่ผมเลือกที่จะมองไปในอนาคตแล้วทำปัจจุบันเพื่อตอบโจทย์อนาคตมากกว่า
The People: คิดว่างานวิจัยของกีฏะ จะสร้างประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติหรือมวลมนุษยชาติ
ดร.โพธิวัฒน์: คืออย่างแรกเลย ตอนนี้ ผมมั่นใจค่อนข้างมั่นใจมันช่วยเกษตรกรได้ เรื่องของการเลี้ยงหนอนตัวนี้แหละ แล้วก็เรื่องของระบบที่มันเป็นระบบหมุนเวียน ซึ่งเราลองมองง่าย ๆ ครับ แทนที่เราจะเปลี่ยนว่าเราจะสร้างอาหารคน แล้ว material แทนที่จะเป็นหนอน เราเปลี่ยน material ที่ต้นทุนถูกลงแล้วเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ เราจะมีระบบผลิตอาหารสัตว์ที่หมุนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ
เอาอุจจาระสัตว์ที่กินอันนี้เข้าไปกลับเข้ามาในระบบ แล้วทุกอย่างก็วนอยู่อย่างนี้ คำถามคือคุณต้องเสียค่าอาหารเลี้ยงสัตว์ไหม ต้นทุน start แค่ครั้งเดียวแล้วหลังจากนั้นก็คือจบ มันก็ไปของมันเรื่อย ๆ อย่างนี้มันลดต้นทุนได้ เราจะปรับแต่งเพิ่มเติมจุลินทรีย์ตัวนั้นตัวนี้ เพื่อทำให้การเลี้ยงหรือว่าการกินมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ทำได้จากระบบ มันเติมแต่งได้ มันปรับแต่งได้ มันเป็นการมันเหมือนเป็นการเพิ่มพื้นที่ทดลองให้กับเกษตรกรมากขึ้นด้วยซ้ำ
เพิ่มยังไง ก็คืออย่างเช่นอย่างเมื่อกี้ที่บอกอยากจะเติมจุลินทรีย์ตัวนั้นตัวนี้ อยากจะลองเอาอาหารตัวนั้นตัวนี้มาก็ทำผ่านระบบนี้ไป แล้วมันก็ได้ผลออกมาเป็นยังไงคุณก็เก็บผลออกมา ถ้าทำได้เวิร์คก็ดี มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการที่เพิ่มประสิทธิภาพ แล้วแต่ละคนก็ customized ได้เอง อันนี้ผมว่ามันจะเกิดประโยชน์ อันนี้คือที่เร็วที่สุดที่เราคิดว่าเราจะทำให้เกิดขึ้นนะ
แล้วถามว่าพอทำอย่างนั้นปุ๊บ ก็อย่างที่บอกว่าเริ่มต้นอย่างนี้แค่ระบบตอนนี้ที่เราทำ เราเพิ่มราคาของการขายหนอนได้เกือบ 2 เท่า หมายความว่าต้นทุนเท่าเดิมหรือต้นทุนลดลง ราคาขายเพิ่มขึ้นแปลว่า margin มันเพิ่มมหาศาลเลยนะ ซึ่งการ margin เพิ่มมหาศาลนั้น มันคือกำไร ที่ทำให้เศรษฐกิจปากท้องของคนที่ทำการเกษตรจะรวยได้ ถูกไหม เพราะทุกวันนี้การเกษตร margin อยู่แค่แบบนิด ๆ หลักแบบไม่กี่เปอร์เซ็นต์น่ะ นั่นแหละ นั่นคือสิ่งที่เรามองว่ามันจะทำให้มันเกิด
The People: นาซ่าจะประกาศผล 5 ทีม, 3 ทีม, แล้วก็ผู้ชนะที่ 1 ตอนไหน
ดร.โพธิวัฒน์: น่าจะช่วงกุมภาครับ กุมภาประกาศ 5 ทีม แล้วก็มีนาเมษาเป็นประกาศ Final ก็ตอนนี้ก็มองว่าน่าจะประมาณช่วงนั้น Site Visit คือกุมภา อาจจะประกาศเร็วกว่านั้น ตอนนี้คือมันไม่แน่นอน เพราะว่ามันอาจจะมีเลื่อน เลื่อนออกอะไรอย่างนี้มันมี ๆ หรืออาจจะเลื่อนเข้า เลื่อนเข้านี่น่าจะยาก ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเลื่อนออก รายละเอียดการตรวจสอบการอะไรอาจจะมีเปลี่ยนแปลง เพราะขนาดใกล้จะส่งวันที่ 16 ยังมีเปลี่ยนกติกาเมื่อวันที่ 9 เลย
The People: อย่างนี้รู้ทีมผู้แข่งไหมว่าเขาใช้อะไรกันบ้าง
ดร.โพธิวัฒน์: เราก็ไปสืบ ๆ กันนะ ก็สืบ ๆ กันก็เจออยู่ทีมนึง คือไปเจอเลยนะอันนี้ไปเจอเลย เพราะว่าเขามางานที่ฝรั่งเศส เราก็ส่งคนในทีมไปฝรั่งเศส คือเราไปเสนองานวิจัยอยู่แล้ว ก็เลยไปสำรวจนิดนึง ก็คือเขาทำ fungi คือราชนิดหนึ่ง เหมือนราเป็นราเป็นเห็ดอะไรอย่างนี้ เขาก็เพาะเลี้ยงพวกนี้แล้วเอามาทำเป็นพวกขนมปังเป็นผงปรุงรส อันนี้คือทีมคู่แข่งเรา เครื่องเขาเล็กมากจริง ๆ เรา ถ้าบอกว่าให้สู้เรื่อง sizing เราแพ้แน่นอน
เครื่องเขาแค่นี้ แล้วเขาก็บอกเขาติดโซล่าเซลล์ แค่มันมีโซล่าเซลล์เขาก็เลี้ยง fungi อยู่ในนี้ได้ ใช้น้ำใช้อะไรน้อยกว่าเราด้วย แล้วได้ถ้าเทียบปริมาณโปรตีนขึ้นมาด้วยกัน เขาเยอะกว่า แต่ว่าของเขาจะไม่ครบองค์ คือเขาไปไม่ถึงการผลิตอาหารออกมาเป็นอาหารเลย ไม่แบบ ready to eat แต่เราจะมีจุดเด่นคือเราครบองค์ทั้งหมดทุกจุดเลย แล้วเราก็ ready to eat
The People: อันนี้คือความตั้งใจ หรือเป็นความบังเอิญที่มันบังเอิญครบ
ดร.โพธิวัฒน์: คือไม่ใช่บังเอิญ ตั้งใจ มันเป็นความตั้งใจที่ทำอย่างนั้น แต่ตอนแรกไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็น strategy ของทีม เพราะว่าตอนแรกก็นึกว่าทุกคนก็ต้องทำได้อยู่แล้ว คือเรานึกง่าย ๆ เหมือนเรากำลังทำข้อสอบ ถ้าเราจะได้คะแนนเต็มหรือว่าจะได้เกรด A คะแนนมันต้องเยอะที่สุด เพราะงั้นเราต้องทำให้ได้เยอะที่สุด ก็คิดว่าอย่างนั้น แต่เผอิญพอมันประกาศออกมาก็เพิ่งมารู้ว่า เฮ้ย! คนอื่นแม่งไม่ทำให้ครบ เขาทำกันแค่คนละนิดคนละหน่อยเอง ก็เลยแบบว่ามันอาจจะกลายเป็นจุดเด่นของทีมเราที่เขาให้
The People: สุดท้ายแล้วคุณคิดว่าประเทศไทยจะสามารถเข้าสู่ยุคของอวกาศได้ไหม
ดร.โพธิวัฒน์: ไม่แน่ใจนะ คือผมว่า ณ วันหนึ่งเราต้องเข้า เพราะโลกไปหมดแล้ว แต่วันที่เราเข้า ทันหรือไม่ทัน คำว่าทันหรือไม่ทันในที่นี้ มันจะย้อนกลับไปว่าลองนึกง่าย ๆ นะ ตอนนี้ถ้าสมมุติว่าทุกคนมุ่งหน้า ตอนนี้ทุกคนบอกมุ่งหน้าไปดวงจันทร์ ๆ มหาอำนาจของโลกนี้เดินทางสู่ดวงจันทร์กันหมดแล้ว แล้วคำถามคือมี Lunar Gateway อยู่ หลายประเทศกำลังเดินทางไปดวงจันทร์ แล้วทุกคนไปเสร็จสำเร็จ
การไปดวงจันทร์เหมือนการขึ้นเครื่องบินแล้ว เขาจะไปดาวอังคารต่อกันน่ะ มันไม่มีคนดูแลดวงจันทร์น่ะ หรือว่าไม่มีคนดูแลโลก ใครจะเป็นคนดูแล สุดท้ายมันก็คือคนที่ล้าหลังที่สุดก็ต้องเป็นคนดูแล เพราะฉะนั้นโลกมันจะกลายเป็นเศษซาก เหมือนเป็นที่ทิ้งขยะ เหมือนเราเป็นคนเก็บขยะหรือดูแลขยะ
เออ ก็คือรอวันที่โลกแตกหรือว่ารอวันที่โลกไม่มีประโยชน์อะไรแล้วจริง ๆ เราเป็นคนกลุ่มสุดท้ายหรือเปล่าที่จะเดินออกจากโลกนี้ ซึ่งนั่นแหละสุดท้ายมันคือถ้าบอกว่าอากาศมันมา พื้นที่บนอวกาศมันคือพื้นที่ที่ทำให้ไอ้นี่สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นว่าเราจะอยู่คนที่รั้งท้ายหรือเปล่า ถ้าเราไม่เข้าตั้งแต่วันนี้ ก็เลยเป็นประเด็นเหมือนกันว่าแล้วเราจะได้เข้าไหมเข้าเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่ายังไงต้องเข้า แต่เข้า ณ จุดไหนและเข้าเมื่อไหร่ นั่นแหละไม่รู้ ตอบยาก