17 ม.ค. 2566 | 18:00 น.
- ทุนขุนนาง (พ.ศ. 2500 - 2516) ปัญหาโครงสร้างการอุปถัมภ์ในสังคมไทยกับความแตกต่างระหว่างสังคมตะวันออกและตะวันตก
- ทุกสังคมล้วนมีการทุจริต การทุจริตแทรกตัวอยู่ในทุกระบบสังคม มันถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์หรือเปล่า?
- การรณรงค์ให้ประชาชนไม่โกงเป็นวิธีแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ได้ผลจริงหรือเปล่า?
ปัญหาการทุจริตหรือคอร์รัปชันนับเป็นปัญหาที่คู่เคียงกับสังคมมนุษย์มาอย่างช้านาน ไม่ว่าจะประเทศไหน ๆ ก็ล้วนเผชิญกับความบกพร่องข้อนี้ จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับกลไกการจัดการของแต่ละสังคม ประเทศไทยเองก็เผชิญกับคำคำนี้มาอยู่ตลอด ตั้งแต่ภาพเล็กขยายสู่ภาพใหญ่ระดับประเทศ และดูเหมือนว่าเราก็ยังไม่เจอวิธีจัดการกับปัญหานี้อย่างได้ผลเสียด้วย
หากจะพูดคุยถกกันถึงปัญหานี้อย่างได้รส เราก็คงต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การศึกษาด้านนี้มาพูดคุย เราจึงได้เชิญ ผศ. ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง ทุนขุนนาง (พ.ศ. 2500 - 2516) และผู้กำลังเดินหน้าวิจัยเรื่องทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) ในบรรดา 15 ประเทศ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดถึงประเด็นการทุจริตและหนทางการแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้ (หรืออย่างน้อยก็บรรเทา)
สามารถอ่านความเห็นของอาจารย์รัตพงษ์กับประเด็นดราม่าแวดวงวิชาการกับการซื้องานวิจัยได้ที่บทความ ‘วิจัยทิพย์’ การทุจริตแห่งแวดวงวิชาการ สาเหตุอยู่ที่ระบบหรือตัวบุคคล?
ทุนขุนนางกับการเจาะดูโครงสร้างแบบ ‘ไทย ๆ’
ผลงานชิ้นสำคัญในเส้นทางการเดินหน้าศึกษาปัญหาการทุจริตในไทยของ ผศ. ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ ก็ต้องยกให้งานวิจัยในชื่อ ทุนขุนนาง (พ.ศ. 2500 - 2516) ที่พาผู้อ่านไปสำรวจปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทุจริตในสังคมไทยเมื่อย้อนกลับไปในยุคสมัยรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร ซึ่งสะท้อนโครงสร้างและความเป็นไปในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย
“งานของผมศึกษาเน้นช่วงหลังปี 2500 จนถึง 2516 เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร คำว่าทุนขุนนาง หมายถึงกลุ่มข้าราชการที่มีอำนาจทางการเมือง แล้วก็ไปมีความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจ เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นผู้ถือหุ้น เป็นผู้บริหารบริษัท หรือเป็นประธานกรรมการอะไรอย่างนี้”
ในงานวิจัยนี้ อาจารย์รัตพงษ์มุ่งวิเคราะห์และหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนชาวจีนที่เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทย และต้องเข้าหากลุ่มผู้มีอำนาจ จนกลายเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบระบบอุปถัมภ์ จนก่อร่างสร้างตัวเป็นโครงสร้างการเอื้อประโยชน์กันไปมา และเป็นหนึ่งในกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
“แน่นอนว่ามันไม่ใช่เพียงแค่ช่วงที่ผมศึกษานะครับ จริง ๆ โครงสร้างของประเทศไทยด้วยการที่เป็นสังคมตะวันออก สังคมตะวันออกเป็นสังคมที่มีระบบอุปถัมภ์ ระบบที่รัฐราชการเป็นใหญ่ ระบบแบบนี้กลุ่มทุนจะเติบโตได้ คุณจะต้องไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของคนกลุ่มนี้”
ด้วยความที่อาจารย์รัตพงษ์เอ่ยถึงโครงสร้างของประเทศไทยที่เป็นตามแบบของสังคมตะวันออกที่จูงใจเหล่านายทุนมุ่งสวามิภักดิ์กับผู้มีอำนาจจนกลายเป็นความสัมพันธ์การอุปถัมภ์ที่เอื้อประโยชน์กันไปมา เราจึงถามต่อว่าหากเทียบกันของกลุ่มสังคมจากสองทิศ - ตะวันตกและตะวันออก - เราจะเห็นความแตกต่างของสังคมจากทั้งสองภูมิภาคอย่างไรบ้าง
อาจารย์รัตพงษ์อธิบายว่าหากมองทางสังคมฝั่งตะวันตก เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพื้นฐานการพัฒนาทางสังคมของเขามีความปัจเจกบุคคล (Individualism) เป็นรากฐานสำคัญ หลังจากนั้นก็ได้ยกตัวอย่างกรณีการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่พาสังคมไปสู่การเป็นประชาธิปไตย เป็นพื้นฐานที่อาจารย์รัตพงษ์นิยามว่า
“จากล่างขึ้นไปบน ไม่ใช่จากบนลงไปล่าง จากความต้องการความเป็นปัจเจกเป็นศูนย์กลางสำคัญ… แต่ของเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้น”
ต่างจากสังคมทางฝั่งตะวันตก สังคมแบบตะวันออกจากมีความรวมเป็นกลุ่มก้อน (Collectivism) แทนที่จะเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งการที่สังคมของตะวันตกมีรูปแบบเป็นกลุ่มก้อนเช่นนี้จึงทำให้ระบบดังกล่าวต้องการผู้นำ กลายเป็นว่าบุคคลที่มีอำนาจควบคุมเป็นตัวแปรสำคัญที่ขาดไปไม่ได้
“สังคมแบบตะวันออกก็จะมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่เรื่องมีความเป็นเผด็จการที่มากกว่า”
ทุจริต… เรื่องธรรมดา?
“ทำไมคนเราถึงต้องทุจริต?”
หลังจากที่พูดคุยกันถึงประเด็นทางวิชาการกันไปพักใหญ่ ก็คงถึงเวลาที่ต้องหวนกลับมาสำรวจคำถามธรรมดาที่เป็นต้นตอรากฐานของผลลัพธ์ทุกอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นคำถามง่าย ๆ ว่าเพราะอะไรคนเราถึงโกง เพราะเหตุใดมนุษย์เราจึงทุจริต แต่คำตอบอาจจะไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เฉกเช่นเดียวกับหนทางแก้ไขปัญหาด้วย
แล้วจากมุมมองของคนที่คลุกคลีกับประเด็นปัญหาเรื่องการทุจริตมานาน เขาจะมองเรื่องนี้อย่างไร?
“คือทุกอย่างมันมีทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน สังคมที่เป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีความต้องการที่มีตัวตน ความต้องการที่จะมีสถานะทางสังคม ความต้องการที่จะทำให้คนรับรู้ว่าเราเป็นใคร ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสังคมนี้ ซึ่งคดีของประเทศไทยก็ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น เพียงแค่ว่าของเราอาจจะมีระบบการควบคุมที่ค่อนข้างหละหลวมหน่อย
“สังคมอื่นถามว่ามีคอร์รัปชันไหม ทั้งโลกนี้มีคอร์รัปชันหมด เพียงแค่ว่ามันมีมากน้อยขนาดไหน รัฐมีการควบคุมจัดการได้ดีเพียงใด”
เราจะเห็นได้ว่าแม้ว่าประเทศไทยที่มีระบบกฎเกณฑ์หรือปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการทุจริตได้ง่ายกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าสังคมอื่น ๆ จะปราศจากคอร์รัปชันโดยสมบูรณ์ อยู่ที่ว่าระดับและความรุนแรงของมันจะมาก - น้อยเพียงไหน
ถ้าเป็นเช่นนั้น เราสามารถสรุปได้หรือไม่ว่าการคอร์รัปชันถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมมนุษย์?
“ไม่ใช่ เรื่องคอร์รัปชันคงไม่ใช่เป็นเรื่องธรรมดา
“มันคือประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ มันเกิดมาก็พร้อม ๆ กับมนุษย์และสังคมแหละ ถ้าเราพูดถึงสังคมบุพกาล (Primitive Society) สังคมก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (Pre-Industrial Revolution) สังคมหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม (Post-Industrialization) จนถึงสังคมยุค Post-Modern ทั้งหลายที่เราอยู่ คอร์รัปชันก็อยู่กับเรา ยังไงก็อยู่กับเรา”
คอร์รัปชันดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาเพราะมันได้อยู่คู่ขนานกับความเป็นมนุษย์ตลอดมา ดังที่อาจารย์ได้ไล่ให้ฟังตามยุคสมัยและสภาพสังคม เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเก่า - ใหม่ ก็มีการทุจริตอยู่ดังเดิม และยังไม่มีท่าทีว่าจะหายไปอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ควรมองข้อด้อยดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดาของความเป็นมนุษย์
“เราจะบริหารจัดการอย่างไรให้มันอยู่ในระดับที่มันไม่เป็นอันตรายของสังคมเท่านั้นเอง”
เราจะเห็นได้ว่าหน้าที่ของรัฐบาลหรือผู้กำหนดควบคุมกฎเกณฑ์อาจไม่ใช่การกำจัดคอร์รัปชันให้มลายหายไปอย่างหมดจด แต่เป็นการควบคุมให้มันอยู่ในระดับที่ไม่ก่อความเสียหายให้กับคนในสังคมเท่านั้นเอง อาจไม่ใช่เพราะเราอยากเก็บรักษามันไว้ แต่อาจเป็นเพราะการขจัดให้การทุจริตหมดสิ้นไปอาจเป็นเรื่องที่ยากเกินไปสำหรับขอบเขตความสามารถของสังคมสมัยนี้
“ถามว่ามันจะหายไปหมดจากสังคมนี้ไหม ผมว่าไม่มีวันเลย มันไม่มีหรอกครับ เพราะว่าขนาดสิงคโปร์ที่ถ้าเราดูนะ ประเทศเล็ก ประสิทธิภาพมาก มันก็ยังมีของมันอยู่นะครับ ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งของฟินแลนด์ เดนมาร์ก หรือในสแกนดิเนเวีย งานหลายชิ้นที่ผมดูมันก็ยังมีนะครับ อย่างแถบสแกนดิเนเวีย เวลาเขารายงานเรื่องการเลือกตั้ง บางครั้งเขาก็ยังไม่มีการเปิดเผยการใช้จ่ายทางการเงิน มันก็ยังมีการรายงานไม่มาก
“แสดงว่ามันก็ยังมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันเหมือนกัน แต่เพียงแค่ว่ามันไม่เยอะเหมือนประเทศไทย หรือประเทศอื่นในเอเชีย”
ระบบราชการกับการคอร์รัปชัน ปัญหาเก่าที่ไม่เคยกลายเป็นเรื่องเก่า
“ผมคิดว่าคอร์รัปชันในประเทศไทยไม่ได้ลดน้อยลงนะ”
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์ไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ดำเนินมาอย่างคู่เคียงกันคือปัญหาเรื่องการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะกับการคอร์รัปชันในระบบราชการ หากจะยกเอากรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดก็คงหนีไม่พ้นการทุจริตภายในกรมอุทยานในเรื่องการโยกย้ายตำแหน่ง นอกจากนั้นเราก็จะได้เห็นภาพสุดย้อนแย้งที่บางทีก็ทำให้เราตั้งคำถามอะไรหลาย ๆ อย่าง
เพราะใครหลายคนก็น่าจะเคยเห็นกันจนชินตาถึงนโยบายหรือโครงการต้านโกงที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่ในหลักสูตรการศึกษาหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในทุก ๆ ปี การรณรงค์ต้านโกงได้ผลหรือไม่คงยากที่จะตัดสิน แต่หลาย ๆ หลักฐานก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่าปริมาณการทุจริตก็ไม่ได้ลดลงไปขนาดนั้น แต่แง่มุมสุดย้อนแย้งที่ทำให้การออกมารณรงค์น่าตั้งคำถามกว่าเดิมคือการที่ผู้รณรงค์กลับกลืนน้ำลายตัวเองแล้วทำการทุจริตเสียเอง…
เราจึงเอ่ยถามกับอาจารย์รัตพงษ์ว่าการเดินหน้ารณรงค์ต้านโกงนี่มันมีประโยชน์จริงหรือเปล่า แล้วตัวเขามองอย่างไรกับเรื่องนี้
“สังคมไทยที่ผมมองว่าบางทีมันเป็นสังคมที่ปากว่าตาขยิบนะครับ
“ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันในประเทศไทย หรือในประเทศไหนในโลกก็แล้วแต่ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมกัน การสู้โดยภาครัฐอย่างเดียวมันไม่พอ เพราะว่าคอร์รัปชันมันขยายไปทั้งหมด แต่ว่าคนที่จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมาก คือคนที่เป็นผู้นำ คือจะต้องมีบทบาทสำคัญจะต้องลงมืกับเรื่องนี้ให้ชัดเจน… ผู้นำควรจะต้องประกาศความโปร่งใสของตัวเองให้ชัดเจน คุณต้องชูว่าคุณจะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหรือว่าอะไรก็แล้วแต่”
จากมุมมองของอาจารย์รัตพงษ์ การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน แทนที่จะเริ่มจากกล่าวพร่ำสอนให้ประชาชนปฏิบัติตาม เราควรจะเริ่มต้นที่ตัวผู้นำ เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงด้วยบุคคลที่สมควรเป็นแบบอย่าง หากผู้นำมีจุดยืนและการกระทำที่ชัดเจนและหลักฐานที่ยืนยันชัดถึงความโปร่งใส แนวโน้มที่บุคคลในสังคมจะประพฤติตามก็มากขึ้นกว่าเดิม
การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอาจจะต้องเริ่มจากการหยุดนิสัยปากว่าตาขยิบ บางทีการพร่ำสอนผู้อื่นอาจไม่ใช่ทางออก ในเมื่อผู้ที่นำคำสอนเหล่านั้นมาเผยแพร่ไม่ได้เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ