‘วิจัยทิพย์’ การทุจริตแห่งแวดวงวิชาการ สาเหตุอยู่ที่ระบบหรือตัวบุคคล?

‘วิจัยทิพย์’ การทุจริตแห่งแวดวงวิชาการ สาเหตุอยู่ที่ระบบหรือตัวบุคคล?

อยากมีผลงานวิจัย (ที่มีชื่อ) ของตัวเอง? แค่มีเงินเป้าหมายนั้นก็เป็นจริงได้… สำรวจประเด็นร้อนของการทุจริตในแวดวงวิชาการกับการ ‘ช็อปปิ้งงานวิจัย’ พร้อมแงะดูปัญหาจากมุมมองของผู้ศึกษาด้านการทุจริตภายในสังคม ‘ผศ. ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ’

  • ประเด็นดราม่าวงการวิชาการกับการซื้องานวิจัยมาใส่เป็นชื่อตัวเอง
  • เข้าใจเกณฑ์การยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการสู่การตั้งคำถามว่าต้นตอสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร
  • จุดมุ่งหมายสำคัญของการผลิตงานวิจัยในฐานะนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย

นับเป็นประเด็นร้อนแห่งแวดวงวิชาการ เมื่อได้มีคนออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ‘งานวิจัย’ ที่ถือเป็นผลิตผลด้านวิชาการที่ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์แต่ตัวผู้ลงมือทำมันขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก ถูก ‘ซื้อ - ขาย’ อย่างง่ายดายดั่งการเข้าเว็บสั่งซื้อของออนไลน์ลงตระกร้าแล้วจ่ายเงิน

การทุจริต ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ใครก็ไม่ควรจะเพิกเฉย เฉกเช่นเดียวกับในกรณีของการซื้องานวิจัยมาเป็นชื่อตนนี้เองด้วย เพราะการกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการใช้เงินอำนวยความสะดวกและเสกผลงานจากอากาศหรือของคนอื่นมาใส่ในชื่อตน แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ของมันในระยะยาวอาจทำให้แนวโน้มการพัฒนา ไม่ว่าจะด้านไหน ๆ ถดถอยลงกว่าที่มันควรจะเป็น

ด้วยสาเหตุนี้ เราจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ. ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ศึกษาค้นคว้าด้านประเด็นการทุจริตภายในสังคม เจ้าของผลงานวิจัยเรื่อง ทุนขุนนาง (พ.ศ. 2500 - 2516) ที่พาผู้อ่านไปสำรวจความสัมพันธ์และปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยที่เอื้อและเกื้อหนุนเกิดการทุจริตในสังคมไทย และปัจจุบันก็กำลังเดินหน้าศึกษาด้านทุนนิยมพวกพ้อง (Crony Capitalism) จาก 15 ประเทศทั่วทั้งโลก (รวมถึงประเทศไทยด้วย)
 

จากประสบการณ์ความรู้และความถนัดในการมองปัญหาด้านการทุจริตภายในสังคม การพูดคุยกับอาจารย์รัตพงษ์ถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยขยายภาพของปัญหาให้กระจ่างชัดขึ้นว่าต้นตอของปัญหานี้ถือกำเนิดมาจากปัจจัยใด แล้วในฐานะผู้ศึกษาด้านการทุจริต แถมยังเป็นนักวิชาการที่ผลิตผลงานวิจัย ซึ่งก็นับได้ว่าอยู่ในวงการที่ประเด็นร้อนนี้เกิดขึ้น ตัวเขามองเห็นอะไรบ้าง?
 

‘วิจัยทิพย์’ คอร์รัปชันแวดวงวิชาการ

การคอร์รัปชันคือคำอธิบายการทุจริตโดยภาพรวม หากเรามองลึกเข้าไป ประเด็นดังกล่าวสามารถจำแนกแยกย่อยและเจาะจงประเภทเป็นเรื่อง ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันในด้านเศรษฐกิจ (Economic Corruption), การคอร์รัปชันในด้านการเมือง (Political Corruption) หรือการคอร์รัปชันในด้านการบริหาร (Administrative Corruption)

การทุจริตในด้านการเมืองหรือการบริหารก็คงเป็นประเภทที่เราได้ยินกันคุ้นหูในประเทศไทย เพราะถือว่าเป็นปัญหาการทุจริตที่คงทนและยากจะกำจัดให้หมดไป แต่กับประเด็นดราม่าสุดร้อนล่าสุดก็ทำให้ใครหลายคนทึ่งไปตาม ๆ กันว่า การคอร์รัปชันได้ลุกลามจากเศรษฐกิจ การเมือง หรือการบริหารเข้าสู่ ‘แวดวงวิชาการ’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อได้มีการเปิดโปงถึงประเด็นการทุจริตผ่านการซื้องานวิจัยมาใส่เป็นชื่อตัวเองเผื่อผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ

การวิจัยศึกษาเรื่องหรือการค้นคว้าเพื่อได้มาซึ่งความรู้ใหม่ ๆ ย่อมต้องใช้เวลาอย่างมาก กว่าจะตั้งเป้าหมาย การตั้งระเบียบการวิจัย เก็บข้อมูล หรือวิเคราะห์ให้ออกมาเป็นผลลัพธ์ นอกจากนั้นก็ยังมีการตรวจเช็กจากเหล่านักวิชาการคนอื่น ๆ รวมถึงวารสารวิชาการ ดังที่อาจารย์รัตพงษ์ได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวให้เราได้ทราบ เพราะฉะนั้นการผลิตงานวิชาการในปริมาณที่มากในเวลาอันสั้น ย่อมถูกตั้งข้อสงสัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่หลังจากมีการเปิดโปงถึงการทุจริตดังกล่าว เราก็ได้เห็นว่ามีแพลตฟอร์มทางออนไลน์ที่รองรับการซื้องานวิจัยอย่างโจ่งแจ้งดั่งการช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์ โดยผู้ซื้อจะได้รับสิทธิ์ในการใส่ชื่อของตัวเองในงานวิจัยนั้น ๆ – ส่วนจะเป็นชื่อที่สำคัญมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับราคา เช่นผู้วิจัยหลักหรือผู้ร่วมวิจัย – หลังจากการซื้อขายจบสิ้น ผู้จ่ายเงินก็มีผลงานดังกล่าวเป็นชื่อของตัวเองในทันที (แม้ไม่ได้ลงมือทำอะไรเองเลยก็ตาม)

หากถามว่าอะไรจูงใจให้พวกเขาเหล่านั้นเลือกเส้นทางที่จะซื้องานวิจัยแทนที่จะผลิตมันขึ้นมาเอง คำตอบก็คงหนีไม่พ้นคำสุดคลาสสิคอย่าง ‘ผลประโยชน์’ เพราะการมีผลงานวิจัยเป็นของตัวเองก็จะนำมาซึ่งผลประโยชน์หลากหลายด้าน หากไม่นับเอาในแง่ชื่อเสียงหรือประวัติผลงานติดตัว สิ่งที่จับต้องได้ก็คงเป็นเรื่องตำแหน่งทางวิชาการที่จะสามารถช่วยอัพเงินเดือนให้ผู้มีตำแหน่งได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของทุนการวิจัยที่จูงใจให้เขาเหล่านี้ทุจริตและเบิกเงินจากงานวิจัยที่มีชื่อของตัวเองอยู่ในนั้น

มันทำให้เราเห็นว่าทุกวงการก็มีปัญหาเหมือนกัน... ไม่เว้นแม้กระทั่งแวดวงวิชาการ

 

ปัญหาอยู่ที่ ‘คน’ หรือ ‘ระบบ’

ถือเป็นคำถามที่มีคนหลายคนมุ่งหาคำตอบและตั้งข้อสังเกตว่าต้นตอของการทุจริตแบบนี้เกิดขึ้นมาจากอะไรกันแน่ เป็นจรรยาบรรณรายบุคคลที่ต้องตัดสินกันเป็นคน ๆ ไป หรือเป็นเพราะระบบที่บีบหรือจูงใจให้นักวิชาการเหล่านั้นต้องซื้องานวิจัยมาเป็นชื่อตัวเองกันแน่ อาจารย์รัตพงษ์ สอนสุภาพ น่าจะมอบมุมมองที่น่าสนใจถึงประเด็นดังกล่าวให้กับเราได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ใช่เรื่องของตัวระบบ… ผมคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยบีบคั้น แต่เป็นเรื่องของอาจารย์ที่ต้องทำหน้าที่ของอาจารย์มากกว่า

ผมคิดว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลนะ ไม่ใช่ตัวระบบหรอก แต่สาเหตุที่มีใครหลายคนทำอะไรแบบนี้เป็นเพราะมันมีช่องของกฎเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาที่ทำให้เขายื่นขอตำแหน่งให้ได้เร็วขึ้น… คือปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล แต่เพราะกฎเกณฑ์ใหม่ได้เปิดช่องให้พวกเขาสามารถทำได้

อาจารย์รัตพงษ์มองว่าต้นตอสาเหตุจริง ๆ ของปัญหานี้แท้จริงแล้วอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าที่จะเป็นโครงสร้างหรือระบบ เพราะกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่นักวิชาการไทยเผชิญ ในประเทศอื่น ๆ ก็เป็นแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่ถึงกระนั้นอาจารย์รัตพงษ์ก็ยังเสริมในอีกแง่มุมว่า ตัวบุคคลอาจจะเป็นสาเหตุหลัก แต่ก็หาใช่ว่าระบบไม่เกี่ยวข้องเลย

อาจารย์รัตพงษ์ได้ยกตัวอย่างเงื่อนไขการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์, รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ – สองรูปแบบให้เราได้ฟัง ประเภทแรกคือการยื่นขอตำแหน่งตามปกติ ซึ่งจะใช้เวลาราว 1 - 2 ปี แต่นอกจากนั้น หากอ้างอิงตามเกณฑ์ใหม่ของที่เพิ่งกำหนดออกมาก็จะมีการขอรูปแบบที่ 3 ด้วย ซึ่งจะเป็นการขอในกรณีที่ผู้ยื่นขอมีคุณสมบัติพิเศษตามที่กำหนดมา 

การยื่นขอแบบที่สามนี้จะมีเกณฑ์หลายประการที่ยากกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการจำนวนงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ผ่าน Scopus, จำนวนครั้งที่งานถูกอ้างอิง, หรือการที่ต้องมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ซึ่งจำนวนที่กำหนดก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่แขนงสาขาหรือระดับตำแหน่งทางวิชาการที่เขาเหล่านั้นยื่นขอ 

แต่สาเหตุที่การยื่นด้วยวิธีนี้เป็นที่น่าสนใจก็เป็นเพราะกินเวลาน้อยกว่า เพราะสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้เลย โดยผ่านขั้นตอนน้อยกว่าวิธีแบบปกติที่กล่าวไปก่อนหน้า และเพราะด้วยกฎเกณฑ์เช่นนี้อาจทำให้มีคนมองว่าการยื่นขอตำแหน่งด้วยวิธีนี้จึงเป็นช่องทางที่เร็วกว่า

ถามว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่บีบคั้นอาจารย์ไหม ผมว่าอาจารย์ก็ควรเข้าใจว่าการทำวิจัยคือภารกิจของอาจารย์

ผมยังยืนยันว่าอาจารย์ต้องทำการวิจัย และยังต้องตีพิมพ์ผลงานต่อไป

ท้ายที่สุดอาจารย์รัตพงษ์ก็ได้ชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของความสำคัญในการทำงานวิจัย เพราะการมุ่งศึกษาและผลิตงานวิจัยไม่ใช่ภาระหน้าที่ แต่คือภารกิจและเป้าหมายในฐานะนักวิชาการ การทำวิจัยไม่เพียงแต่เป็นการขยายองค์ความรู้ให้ตัวเอง แต่ยังคงช่วยมอบประโยชน์และการพัฒนาให้แก่สังคมอีกด้วย