05 มี.ค. 2566 | 16:30 น.
ช่วงบ่ายคล้อยของวันเรามีนัดไปเจอกับ ‘ดร. วันดี พลทองสถิตย์’ หมอลำชั้นครูอายุ 72 ปีที่ตั้งแต่จำความได้ เธอก็ ‘มัก’ หมอลำประทับจิตประทับใจจนเก็บเอาฝัน ขณะกำลังกินลมชมวิวเมืองขอนแก่นเพลิน ๆ รถตู้ก็มาหยุดอยู่หน้าป้ายคณะหมอลำอุดมศิลป์ จุดหมายปลายทางที่เราและเธอจะร่วมพูดคุยกันถึงความเป็นมาของความรักที่เธอมีต่อหมอลำ ไปจนถึงวันที่เธอตัดสินใจเปิดตัวคณะหมอลำเป็นของตัวเอง
“ชอบหมอลำตั้งแต่จำความได้ อายุ 7 ขวบก็รักแล้ว ได้ยินเขาเปิดแผ่นเสียงตามงานวัดก็จำเอามา พยายามร้องตามเขา แต่จะใช้วิธีท่องจำโดยไม่เขียน ถ้าวันไหนมีหมอลำคณะนั้นคณะนี้เข้ามาลำที่หมู่บ้าน ช่วงบุญเผวด บุญมหาชาติ ก็ชอบไปฟัง ฟังตั้งแต่หัวค่ำจนเช้า ชอบมาก”
หลังจากวันนั้นเด็กหญิงวันดีก็ตามติดเฝ้ารอคอยว่าวันไหนคณะหมอลำจะมาอีกครั้ง เธอหลงรักท่วงทำนองและจังหวะจะโคนของหมอลำเข้าอย่างจัง ถึงขนาดตั้งคณะหมอลำจำเป็นให้เพื่อนร่วมชั้นอีก 10 ชีวิตร่วมกันแสดง จนทำให้กิจวัตรยามเย็นของเธอหมดไปกับการ ‘เล่น’ เป็นนางเอกหมอลำเรื่องประกายแก้ว
แต่ชีวิตวัยเด็กแสนสุขของเธอก็จบลงอย่างรวดเร็ว ความจนผลักให้แม่ของเด็กหญิงวันดีที่มีลูกต้องเลี้ยงดู 10 ชีวิต ยกเธอให้เป็นบุตรบุญธรรมของญาติสนิท วันดีต้องเก็บกระเป๋าออกจากบ้านทั้งน้ำตา แต่ภายใต้ความเศร้าสิ่งที่เธอยังคงคิดถึงและหวงแหนที่สุดคือการลำ
หลังจากอยู่กับญาติได้ไม่นาน เธอก็เก็บกระเป๋าอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เธอหนีออกมาเอง เพราะฝันเห็นพ่อที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าฝัน กำลังช้อนร่างของเธอขึ้นพร้อมกับส่งเธอลงที่บ้านที่เธอจากมา หากมองในแง่จิตวิทยาเธอคงคิดถึงบ้านจนเก็บเอามาฝัน แต่ถ้ามองอีกมุมไม่แน่ว่านี่อาจเป็นชะตาลิขิตที่กำลังชี้ทางให้ ‘อนาคต’ ศิลปินมรดกอีสานคนนี้กลับบ้าน
“ทุกข์มากตอนพ่อตาย พอเก็บถ้วยเก็บช้อนเก็บกระดูกเสร็จแล้ว แม่ก็หันมาถามว่า ‘ลูก มีคณะหมอลำอยู่คณะหนึ่งชื่อสามัคคีรุ่งนคร’ คนรู้จักของแม่ (พี่ชายของพ่อ) เขาอยู่ในนั้น แม่ก็ถามว่าไปลำไหมเราไม่มีเงินซื้อน้ำปลา ไม่มีเงินซื้อข้าว เพราะไม่ได้ทำนามันแล้งมาก แม่ก็บอกให้ไปลำเถอะ จากวันนั้นแม่ก็ฝากไว้ที่คณะหมอลำ นี่จึงเป็นที่มาที่ไปทำให้เป็นหมอลำมาจนถึงทุกวันนี้
“หมอลำเป็นสิ่งที่หลายคนดูถูกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ใครแต่งงานได้ภรรยาเป็นหมอลำเหมือนได้นาตีนบ้าน เขาดูถูกเรา เพราะน้ำอะไรก็ตาม ทั้งน้ำล้างมือ น้ำซักผ้า น้ำกิน น้ำล้างจานก็จะไหลลงไปที่นั่น หมอลำมันถูกมองแบบนี้แหละ เวลาเขาเปรียบเทียบ แต่ก็กัดฟันทนเพราะเสียดาย”
จากความอดทนและสู้ไม่ถอยของ ดร.วันดี ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของคณะหมอลำอุดมศิลป์ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 คณะหมอลำที่เธอตั้งใจปลุกปั้นขึ้นมาด้วยความรัก และหวังจะเห็นหมอลำอยู่คู่แดนอีสานสืบไป พร้อมกับผลักดันท่วงทำนองแก้วแก่นหล้า หรือทำนองขอนแก่นให้ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก
“แก้วแก่นหล้าเนี่ยตามที่ดอกเตอร์เขาเสวนากัน แม่ก็เคยได้เข้าไป เขาเรียกว่ามันเป็นทำนองแห้ง ทำนองแก่น ๆ ผสมกับ ‘ลำพื้น’ มันมาจากไหนมันมีทุกที่ ไม่ใช่เฉพาะทำนองขอนแก่น ทำนองไหนเขาก็เอาผสมเพราะมันคือพื้น (เธอย้ำ) มันมาจากไหน มันมาจากพากย์ แต่ของเรายืนพื้นที่แก้วแก่นหล้า เดี๋ยวนี้ผสมผสานไม่มีอะไรเป็นตัวตน
“แต่รุ่นของแม่ยังมีตัวตน เพราะต้องยืนพื้นแก้วแก่นหล้า ทำนองของเรายังเป็นเอกลักษณ์ เราจะไม่ยืมของคนอื่นมาใช้ เราจะเอาแต่ของเรา ทำนองของเรา เวลาเดิน เราก็จะเดิน ‘กาเต้นก้อนสีพันดอนสับ’ กับลำเต้ยแบบนี้ (ตั้งวง) เราจะไม่เดินนิทาน นิทานเรื่องพระสุธนมโนรา เข้ามาแจมกับแก้วแก่นหล้า ไม่ไปเดินฟ้อนใส่คือเดินใส่จังหวะ ไม่เอานิทานเรื่องนั้นเรื่องนี้มาเดิน เป็นทำนองรำฟ้อนใส่
“เป็นทำนองลำเดินกาเต้นก้อน ไล่นก ไล่หนู ไล่ก้อนเมฆไป สีพันดอนสับมันก็จะมีเพลงมาสับในเนื้อหากลอนนั้น นอกจากลำเดินกาเต้นก้อนสีพันดอนสับแล้ว มันจะเป็นลำเดินทำนองขอนแก่น ‘ยังไม่ทันมีคู่น้องนางนอนคนเดียว’ นี่คือทำนองขอนแก่น ลำเดินทำนองขอนแก่น คือเรื่องราวเมื่อก่อนจะพูดถึงการไล่ฟ้าฝน ฝนไม่มาอะไรแบบนี้ ก็เลยไม่ได้อิงนิทาน ที่แบบคนอื่นเขาเล่า ของแม่เนี่ยทำนองขอนแก่น แก้วแก่นหล้า เพราะว่าลำขึ้นจะร้องว่า ประกายแก้วแก่นหล้า มีคำว่าแก้วแก่นหล้าอยู่ในเนื้อหานี่คือแรงบันดาล”
แต่ใช่ว่าเส้นทางการเป็นเจ้าของคณะหมอลำจะสวยงามดั่งภาพฝัน เพราะทันทีที่ตัดสินใจเปิดป้ายคณะหมอลำอุดมศิลป์ คลื่นลูกใหม่ก็ถาโถมเข้าใส่ประเทศไทย ประชาชน นักศึกษา ต่างออกมาทวงคืนประชาธิปไตยที่ถูกรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร พรากไปให้กลับคืนมา แต่โชคร้ายการออกมาเรียกร้องของประชาชนเรือนแสนกลับพบกับจุดจบที่ไม่น่าภิรมย์ สุดท้ายแล้วเส้นทางที่จะเห็นดอกผลประชาธิปไตยเบ่งบานก็ถูกปลิดทิ้ง กลายเป็นเพียงหน้าประวัติศาสตร์อันโชกเลือดแทน
“วันมหาวิปโยคทางนู้นเขาฆ่ากันตาย ส่วนทางนี้กำลังจะห่อข้าวเป็นวันเดียวกันเลยกับวันที่แม่วันดีเปิดตัวคณะหมอลำอุดมศิลป์ แต่ก็กำลังคิดว่าจะห่อข้าวดีไหม เพราะถ้ารบกันที่โน่น ผลกระทบก็อาจมาถึงที่เราอยู่เหมือนกัน เราก็ตายด้วยนะ พอจอมพลถนอมบินออกนอกจบแล้ว เราก็เปิดป้ายได้ นั่นแหล่ะวันเปิดป้ายของอุดมศิลป์”
แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ประเดประดังเข้ามาอีกครั้ง จากเจ้าของคณะหมอลำจึงต้องผันตัวไปเป็น ‘ครู’ สอนหมอลำแทน “เริ่มต้นเป็นครูเพราะความจนอีกแล้ว บ้านไฟไหม้ 2 ชั้นครึ่งไฟไหม้วอดหมด เหลือแต่ต้นมะค่า ต้นแต้ ทรัพย์สินของหมอลำไหม้หมด เลยคิดว่าบารมีของเราน้อยลงแล้ว เพราะว่าไฟไหม้บ้านวอดหมด แล้วเราจะทำยังไง จะเอาคนมาอยู่กับคณะเราได้ยังไง เลยคิดว่าคงไม่มีใครอยากมาเต้น
“แม่ก็เลยไปเป็นครูสอนหมอลำจิตอาสา ไม่ได้ปีนี้ ปีหน้าเอาใหม่ ผู้อำนวยการรุ่นแล้วรุ่นเล่าเปลี่ยนหลายคนไม่มีโรงเรียนไหนที่ ‘วันดี’ ไม่ได้เป็นคนสอน เราก็ไปสอนเพราะคิดว่าจะได้มีเด็กมาเต้นเป็นหางเครื่อง (ยิ้ม) อย่าลืมว่าคนเราทำอะไรต้องมีจุดประสงค์ใช่ไหม เราต้องมีเป้าหมาย แม่ก็เหมือนกัน เราไปเป็นครู เพราะมีเป้าหมาย แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด มันไม่ง่ายเลย”
แม้ในถ้อยคำของเธอจะมีน้ำเสียงตัดพ้อ แต่ ดร.วันดี ก็ไม่หยุดที่จะส่งต่อมนต์เสน่ห์ของหมอลำให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส นอกจากเป็นคุณครูในโรงเรียนแล้ว เธอยังเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย
“แม่มีความสุขทุกครั้งที่สอน มีความสุขแล้วก็เสียดาย”
ดร.วันดี บอกพร้อมกับเผยรอยยิ้มเศร้า ก่อนจะเสริมว่า “เพราะความรู้ที่เราสอนหากไม่มีคนสืบต่อมันก็จะหายไปตามกาลเวลา เด็กบางคนเขาก็เรียนเพื่อเอาความรู้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้จริง”
ส่วนในอนาคตหมอลำจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ดร. วันดี บอกกับเราทันทีว่าอีกไม่นานวัฒนธรรมอันสวยงามเหล่านี้คงสูญหายไปตามกาลเวลา
“ไปตามกาลเวลาเลย เพราะเด็กไม่เอา ขนาดเรียนเป็นวิชาเอกแท้ ๆ ก็ไม่เอา เอาแค่ความรู้ เราก็สอนให้ได้รู้”
“แม่อายุ 72 ปีแล้วนะ ถึงอายุขนาดนี้ก็ยังหาเลี้ยงชีพได้อยู่ หาเลี้ยงชีพได้คือแบบไหน คือเวลามีคนอยากฟังหมอลำเก่า ๆ เขาก็จะนึกถึงแม่ เพราะคนชอบ”
“ถ้าคนรุ่นหลังไม่ชอบก็ยืนดูเฉย ๆ ก็ได้ลูก ดูว่าเขาทำอะไร อันนี้คือ ‘ลำ’ (ยกมือตั้งวง) ใช่ไหม ก็ลองไปทำดูหน้ากระจกแล้วร้องเป็นเพลงดูก่อนให้มันซึมซับนิดหนึ่ง มันเสียดายเนอะ คือ หมอลำมันเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ไม่ตาย ถึงจะเป็นอาชีพที่รายได้ไม่ค่อยดี แต่ว่าจุนเจือครอบครัวได้และอบอุ่น ไม่ขาดแคลน
“แต่เราต้องเรียนให้เก่งนะ ไม่ใช่ลำได้ 4 - 5 กลอนก็รอให้เขามาจ้าง เขาไม่มาจ้างนะ ต้องรู้จักพลิกแพลง เขาอยากฟังอะไรก็ร้องให้เขาฟัง เพราะหมอลำมันนิ่งไม่ได้เหมือนน้ำลาย มีกลืนมันก็ออกมาแล้วก็กลืนลงอีก นี่คือศิลปิน ก็เลยอยากให้คนรุ่นใหม่เรียน เพราะอย่าคิดว่าจะได้เป็นเจ้าคนนายคนไปตลอด เอาอันนี้ไปเสริมไว้ จะได้เป็นค่าขนม เราได้มีความสุข
“ฉะนั้นจึงฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่าไม่จำน้อยก็ให้จำมาก สืบสานไว้หน่อยนะลูกหลาน เสียดาย อย่าให้มันหายไปกับพวกแม่เลย ให้เหลือไว้กับพวกคุณหน่อย ฝากกับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าชายหรือหญิง”