15 พ.ค. 2566 | 18:41 น.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวัย 82 ปี เป็นผู้ใหญ่อีกรายในไทยที่ผ่านเรื่องราวมามากมาย ตั้งแต่ยุคเดือนตุลา รัฐประหาร และสัมผัสสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เริ่มพัดเข้ามาในไทยแล้ว
- บทบาทและประสบการณ์ที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกเล่ากับ The People สะท้อนความเปลี่ยนแปลง และสภาพแวดล้อมของไทยหลายหลายแง่มุม
The People สัมภาษณ์ ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ผู้อายุครบ 82 ปีในวันคล้ายวันเกิด 6 พฤษภาคม 2566/2023 ซึ่งตรงกับเดือนและปีที่มีการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ขณะเดียวกัน เขายอมรับว่ามีความรู้สึก ‘รักพี่เสียดายน้อง’ หากต้องเลือกระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมกับมอง ‘เกมที่เลยไปแล้ว’ ไม่สามารถหมุนเข็มนาฬิกากลับได้ ความเปลี่ยนแปลงได้มาถึงประเทศไทยแล้ว อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น
‘ม.112’ อดีตกระซิบกระซาบ ปัจจุบันดีเบตออกทีวีทุกช่องในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566/2023
The People: มอบเอกสารส่วนบุคคลให้หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ความสำคัญของประวัติศาสตร์ กับการมอบเอกสารส่วนบุคคลให้หอจดหมายเหตุ ถ้าจะพูดไปในแง่ของการเรียนระดับสูงของผม ตอนท้ายคือไปเรียนประวัติศาสตร์ เดิมผมเรียนรัฐศาสตร์การทูต ทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท อยากจะไปเมืองนอก อยากจะเป็นทูต แต่ว่าในช่วงสุดท้ายแล้ว ตอนที่จะเรียนปริญญาเอก ผมเปลี่ยนใจ สมัครไปเรียนประวัติศาสตร์
แล้วนับตั้งแต่นั้นมา ก็รู้สึกว่า เราพบอะไรบางอย่างที่มันโดนใจ มันโดนใจในแง่ที่ว่า เรื่องราวในอดีตเนี่ย เราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่มันตายไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ มันมีชีวิตของมันอยู่ในปัจจุบัน แล้วเผลอ ๆ ผมว่ามันมีชีวิตต่อไปในอนาคตด้วย ผมก็เลยคิดว่า อะไรซึ่งมาจากอดีตของผม ผมเป็นคนชอบเก็บของ ผมเก็บสมุดพก สมุดประจำตัว บัตรข้าราชการ บัตรประจำตัวอาจารย์ หน้าที่ที่เราทำงานมา ผมชอบเก็บมัน
แล้วผมคิดว่าของพวกนี้ มันกลายเป็นของมีค่าสำหรับผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มันเป็นเอกสาร จดหมาย โปสการ์ด ผมเก็บจดหมายเยอะมาก ผมเก็บโปสการ์ดไว้เยอะมาก อันนี้ไม่รวมถึงโบราณวัตถุ ผมชอบเก็บกระปุก ไห ถ้วย ชาม อะไรทำนองนี้ สะสม แต่ว่า สิ่งที่เป็นเอกสาร เป็นตัวเขียน ผมว่ามันมีเสน่ห์มาก ๆ เลยสำหรับผม ผมก็เลยเก็บ เมื่อธรรมศาสตร์ตั้งหอจดหมายเหตุ ผมก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนะ
The People: ยุคก่อตั้งหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์มาจากความคิดของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ธงชัยมองเห็นความสำคัญของการที่จะต้องเก็บเอกสาร ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และทั้งที่เป็นการสัมภาษณ์โดยปากคำ ที่เราเรียกว่า มุขปาฐะ อาจารย์ธงชัยคิดว่า มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ
เพราะฉะนั้น อาจารย์ธงชัย ก็เลยเสนอกับสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ควรจะจัดตั้งหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ เพราะว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลายในโลก เขาก็มีหอจดหมายเหตุกันทั้งนั้น เมืองไทยไม่มี
ผมเข้าใจว่าในมหาวิทยาลัยของรัฐ ในเมืองไทยไม่มี อาจจะมีเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ฝรั่งมีอิทธิพล เขาจะมองเห็นความสำคัญอันนี้ เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่า อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยพายัพก็ได้ที่ทำมาก่อนในเมืองไทย ฝรั่งจะมองเห็นเรื่องเหล่านี้
เพราะฉะนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นในเมืองไทย อธิการบดีสมัยนั้น คือ อาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ก็เห็นดีด้วย ก็เลยตั้งขึ้นมา เอาผมมาเป็นประธานกรรมการ เป็นกรรมการเล็ก ๆ ทำงานเตาะแตะเตาะแตะ
ผมก็เลยเอาสมบัติส่วนตัวของผมมามอบให้กับธรรมศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นสิ่งที่ผมมอบให้ไปแล้วประมาณน่าจะ 30 - 40 ปีแล้ว นานมากแล้ว ผมกลับมาดูใหม่ ผมตกใจ มันมีหลักฐานที่เกี่ยวกับการเรียนของผมตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง ตั้งแต่เรียนโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย โรงเรียนโรมันคาทอลิก มาถึงสมัยเรียนสวนกุหลาบ มีมากระทั่งถึงเรียนรัฐศาสตร์การทูตที่ธรรมศาสตร์ มาจนกระทั่ง ผมไปเรียนต่างประเทศที่ Los Angeles มีแม้กระทั่ง สมัยผมอยู่ Occidental College ที่ Los Angeles แล้วมีกระทั่งผมเรียนปริญญาเอกที่ Cornell University
ตรงนี้ที่ผมกลับมาดูแล้ว บางทีก็ตกใจนะ ตกใจมาก ๆ เลยว่า เอกสารที่เราเก็บไว้ มีแม้กระทั่งเอกสารซึ่งเราใช้ในการเรียน เป็นเอกสารขององค์การระหว่างประเทศ ส่งไปถึงคุณถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีอะไรหลายอย่างซึ่งเรานึกไม่ถึงว่ามันจะถูกเก็บเอาไว้
เมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว มันก็ต้องมีคนมาเป็นประธานกรรมการจดหมายเหตุ เราก็หาคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องจดหมายเหตุ มาเป็นกรรมการ ก็เป็นเหมือนกับตั้งขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้เป็นหน่วยงานถาวร ก็ทำงานมาได้เรื่อย ๆ ด้วยการที่ว่า อาจารย์เกริกเกียรติ ก็สนับสนุน พอหลังจากอาจารย์เกริกเกียรติ อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นอธิการบดี ก็สนับสนุนเพราะฉะนั้นเนี่ย หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ มันจึงขึ้นกับอธิการบดีโดยตรง
แต่พอหลังจากนั้นแล้วเนี่ย มันก็อยู่มาอย่างนั้น มันไม่ได้ถูกกำหนดให้แน่นอนว่าสถานะมันคืออะไร มันขึ้นกับอธิการบดีโดยตรง แต่ว่ามันไม่เป็นหน่วยงานที่ลงหลักปักฐาน
พอหลังจากนั้นมา มาถึงรุ่นหลัง ๆ อธิการบดีคนต่อ ๆ มา ก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากมายนัก เพราะฉะนั้น มันจึงถูกเอาไป ฝากไว้ที่สำนักหอสมุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับ library
The People: ความแตกต่าง หอจดหมายเหตุ (archive) - หอสมุด (library) - พิพิธภัณฑ์ (museum) เป็นคนละศาสตร์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ความจริงเรื่องที่เกี่ยวกับ archive หรือจดหมายเหตุ มันเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งเลย มันไม่ใช่เป็นศาสตร์เดียวกัน แต่คนที่ไม่มีความรู้มักจะคิดว่า มันอยู่ด้วยกันได้ หนังสือกับกระดาษจดหมาย ความจริงมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ มันต้องแยก แล้วก็ให้มันทำงานโดยคนที่มีความสามารถเป็นวิชาชีพเฉพาะ
librarian นักหอสมุดกับ archiviste นักจดหมายเหตุเป็นคนละเรื่อง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศที่ ไม่ค่อยจะยอมพัฒนามันจะเกิดปัญหานี้
หอจดหมายเหตุกับพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นคนละศาสตร์ museum ก็เป็นมิวเซียม เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปดูในประเทศที่เขาพัฒนามากๆ มันเป็นคนละหน่วยงานเลย มันต้องทำงานโดยเฉพาะของมัน ถ้าจะทำพิพิธภัณฑ์ แล้วมานั่งเก็บจดหมายด้วย ไม่ได้ อันนี้คนละเรื่องกัน การเก็บหม้อไห กับเก็บเอกสาร เป็นคนละเรื่องกัน
The People: ส่วนตัวอาจารย์ชาญวิทย์เก็บทุกอย่าง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมไม่ได้เป็นคนจัดตั้งหอจดหมายเหตุ ผมเก็บของส่วนตัว พอผมเก็บได้เยอะ ๆ ผมก็เอาไปให้คนโน้น ผมยกสมบัติที่ผมเก็บเกี่ยวกับกระปุกไห หม้อไห ตอนนี้มันอยู่ที่เมืองฟุกุโอกะ วันที่ 5 กันยายน - 5 พฤศจิกายน เขาจะจัด exhibition ใหญ่ ที่เมืองฟุกุโอกะ
archive แตกต่างจาก library เพราะห้องสมุดเก็บหนังสือ หนังสือมันพิมพ์ทีหนึ่งพันเล่ม มันก็อยู่ใน library พันแห่ง แต่จดหมายของอาจารย์ชาญวิทย์ถึงอาจารย์ป๋วย มีอยู่ฉบับเดียว มันก็ต้องมาเก็บที่ archive ใบปริญญาของชาญวิทย์ โอเค คุณไปถ่ายเอกสารได้ งานที่จะเก็บใบปริญญาของอาจารย์ชาญวิทย์ หรือใบปริญญาของอาจารย์ป๋วย คือ หอจดหมายเหตุ (archive) คือ ไม่ใช่ห้องสมุด (library) เก็บคนละเรื่องกัน ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ด้วย พิพิธภัณฑ์ก็ไม่เก็บ
The People: 14 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519 หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมเก็บโปสเตอร์การเมืองสมัย 14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19 ไว้ได้จำนวนหนึ่ง เยอะมาก แล้วผมก็มอบให้หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เอาไว้ เขามีการถ่ายไมโครฟิล์มเอาไว้ เขามีการอัดภาพเอาไว้ แล้วนิตยสารสารคดีเคยเอาไปตีพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ เพื่อแจกเป็นที่ระลึก
มันก็น่าสนใจมากๆ ถ้าเรากลับไปดู โอ้โห คือยุคหลัง 14 ตุลา 16 มาถึง 6 ตุลา 19 เกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก ในแง่ของมีการพิมพ์หนังสือรุ่นเก่าๆ เยอะ มีคนอ่านหนังสือเยอะ พูดง่าย ๆ ประเภทที่ว่า ผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ผลงานของเสนีย์ เสาวพงศ์ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่
ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่เป็นศิลปิน เป็นช่างเขียน เป็นคนวาดรูปในยุคนั้น ขึ้นมาเป็นคนรุ่นใหม่ มีคนแบบอรุณ วัชระสวัสดิ์ เขียนการ์ตูนการเมือง มาแทนคนแบบประยูร จรรยาวงษ์ มีคนแบบที่เราก็ยังเห็น สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ที่ขึ้นมาเขียนลายเส้น อันนี้มาอีกรุ่นหนึ่งแล้ว รุ่นหลัง ประยูร จรรยาวงษ์ หลังถวัลย์ ดัชนี
ผมว่าหัวเลี้ยวหัวต่อของ ตุลา (2516) ตุลา (2519) มันสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา แน่นอนพวกนี้ก็เป็น baby boomer ล้มหายตายจากไปเยอะ เฒ่าชราไปแล้ว มีคนรุ่นใหม่มาแทนแล้ว แต่เป็นช่วงจังหวะที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์สังคมกับการเมืองไทย
The People: ย้อนอดีตถึงปัจจุบัน ตุลา 2516 - ตุลา 2519 - พฤษภา 2535 - พฤษภา 2553 - พฤษภา 2566
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: มันมีรุ่นที่ไม่ธรรมดาของประเทศชาติ คือรุ่นตุลา (2516) ตุลา (2519) รุ่นนี้ไม่ธรรมดา รุ่น baby boomer เป็นรุ่นมหัศจรรย์ แล้วก็เดินมาถึงคนรุ่นพฤษภา พฤษภา 2535 และพฤษภา 2553 แล้วสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือ พฤษภา 2023 พฤษภา 2566
2 ตุลา กับ 3 พฤษภาเนี่ย จะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ณ วันนี้ เรากำลังอยู่กับพฤษภา 2023 เรากำลังอยู่กับพฤษภา 2566 นี่คือจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
The People: ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมเพิ่งกลับจากเชียงใหม่ ผมไปคุยกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เราสองคนอายุแปดสิบกว่าแล้ว เรากำลังเห็นความเปลี่ยนแปลง เราจะเห็นจุดที่มันพีคที่สุดหรือไม่ เราก็ไม่แน่ใจนะครับ เพราะเราอายุแปดสิบกว่าแล้วเนี่ย แต่เรารู้แล้วแหละว่ามันเปลี่ยน
มันมีตั้งแต่ 2563 ก็คือปี 2020 เกิดโควิด แต่ในขณะเดียวกันมันก็เกิดขบวนการของคนรุ่นใหม่ เจนเนอเรชั่น Z ที่ออกมาเดินขบวนแล้วถือเป็ดน้อยตัวเหลืองมาด้วยเนี่ย คือเป็นสิ่งที่ผมใช้คำนี้โดยไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่นะครับ แต่ว่า ผมบอกว่า ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น สิ่งที่ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่ามันจะมี ก็คือ เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ซึ่งมันจะมา
เอาอย่างงี้ พูดง่ายๆ คนประเภท เพนกวิน รุ้ง แบม-ตะวัน อะไรก็ตาม เหล่านี้ แม้กระทั่งหยก คนเหล่านี้ล่ะ คือคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2020 มาจนกระทั่งถึงปีนี้ 2023 เรารู้แล้วล่ะ ถ้าเรามองกลับไปไกลๆ มองย้อนหลังกลับไปในอดีต มองไป พฤษภา 2553 มองไปพฤษภา 2535 มองไปตุลา 2519 มองไปตุลา 2516 กลับไปถึงปฏิวัติ 2475 / 1932 กลับไปกบฎหมอเหล็ง กบฎรศ. 130 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 กลับไปอย่างนี้ กลับไปสักร้อยปี เราเห็นเลยว่าอดีตมันจะบอกเรา ว่าปัจจุบันมันกำลังจะไปทางไหน
ผมว่ามันต้องไปกับการที่ต้องมีการเลือกตั้ง ต้องมีประชาธิปไตย ต้องมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า คนนั้นเสมอภาคและก็มีเสรีภาพด้วย ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นนะครับ คือผมคิดว่า ผมอยากจะเชื่อว่าตัวเองมองโลกในแง่ดี ผมอยากจะเชื่อว่า ผมไม่มองโลกในแง่ร้ายว่าเมืองไทยมันก็เป็นอย่างงี้ มันหนีไปไม่รอดหรอก มันอยู่ใต้การควบคุมของรัฐข้าราชการ ทหาร ตำรวจ แล้วก็ตุลาการ ผมว่าไม่ใช่ ผมว่ามันกำลังเปลี่ยน
The People: เลือกตั้ง 14 พฤษภา 2566 และดีเบตมาตรา 112 ทุกคนได้ข้ามเส้นไปแล้ว
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมว่าวันที่ 14 พฤษภา 2023 มันจะเป็นตัวบอกเรา แน่นอน มันอาจจะไม่ออกมาอย่างที่ผมหวังก็ได้ มันอาจจะออกมาในสิ่งที่ ว่า เฮ้ย ตายห่าแล้ว กูต้องหนีไปอยู่ญี่ปุ่นอีกหรือว่าไปอยู่อังกฤษแบบอาจารย์ป๋วยต้องไป หรือว่าผมต้องไปอยู่ญี่ปุ่นอะไรทำนองนั้น แต่ผมยังคิดว่า ผมยังมีความหวังอยู่ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่
คือมันน่าสนใจนะ ในการดีเบตในการอภิปรายที่มีมาในตอนนี้ ในช่วงใกล้ๆ การเลือกตั้งเนี่ย ทุกคนได้ข้ามเส้นไปแล้วนะ กฎหมายหมิ่น ม.112 เคยจะต้องกระซิบกระซาบกัน คนที่พูดต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ตอนนี้เป็นรายการออกโทรทัศน์ใช่ไหมครับ ช่องโน้นช่องนี้ก็ออก ช่องบางช่องเราไม่คิดว่าจะกล้าออกยังออกเลยนะครับ ไม่ใช่เฉพาะช่อง Voice TV ไม่ใช่เฉพาะศิโรตม์ ซึ่งต้องพูดอ้อมไปอ้อมมา แต่ตอนนี้ไม่ใช่นี่หว่า สุทธิชัย หยุ่น ก็พูดแล้วนี่
ดังนั้น จึงบอกว่า มันเลยไปแล้วล่ะ เกมมันเลยไปแล้ว
ผมคิดว่า ใครอยากจะหมุนเข็มนาฬิกากลับ มันหมุนไม่ได้ เข็มนาฬิกา ยังไงมันก็ไม่เชื่อคุณ คุณก็ไปงี่เง่าเป็นส่วนตัวไปแล้วกันนะครับ เข็มนาฬิกามันไม่งี่เง่าด้วย
รวมทั้งปัจจุบันนี้ ผมก็ตื่นเต้น ใจหายใจคว่ำ เอ...เพื่อไทย หรือ ก้าวไกล คือเรา เราก็เป็นคนที่รักพี่เสียดายน้องนะ พูดไปแล้ว พูดกันตรง ๆ ฟันต้องเอาเพื่อไทย ฟันต้องเอาก้าวไกล ผมพูดไม่ค่อยเต็มปากเต็มคำ คือใจเรามันก็ไปกับเขา
The People: เคยสมัครสมาชิกพรรคอนาคตใหม่พรรคเดียว
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: เออ อันนั้น ผมก็ไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่นะ คือตื่นเต้นประทับใจ เอาเข้าจริง ผมไม่รู้จักธนาธรเป็นส่วนตัวมาก่อน แล้วเอาเข้าจริง ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผมเคยพบเขามาก่อนหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่ผมก็สอนวิชาปี 1 ที่ธรรมศาสตร์รังสิต เพราะฉะนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ ในยุคหนึ่งก็อาจจะต้องเรียนกับผม ในวิชาปี 1 แต่เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร เพราะว่ามันเยอะเหลือเกิน จากจำนวนเป็นร้อย กลายเป็นจำนวนเป็นพัน ๆ
ผมว่า ผมอาจจะพบธนาธรครั้งแรก เมื่อวันไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่มั้งโดยที่ไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ มีคนมาชวนไปสมัคร ผมก็คิดว่าพรรคนี้มันแปลกดี ไปก็ไป คิดว่าเสียตังค์สักไม่กี่ร้อยก็ช่างมัน สมัครปีหนึ่งอะไรแบบนี้ เป็นครั้งแรก ไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคนะครับ
เคยนิยมชมชื่นพรรคประชาธิปัตย์ เคยนิยมชมชื่นคุณชวน หลีกภัย เคยนิยมชมชื่นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างมาก ๆ เลย แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนใจ มาเปลี่ยนใจในระยะหลัง ผมเปลี่ยนใจมาสนใจพรรคเพื่อไทยสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมคิดว่าผมเปลี่ยนโหวต ไปโหวตให้เพื่อไทยครั้งแรกสมัยคุณยิ่งลักษณ์ (2554) แล้วยังเดาผิดเลยว่าเธอจะอยู่ครบเทอม ผมคิดว่าเธอเป็นผู้หญิง เป็นนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรก เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม
ดังนั้น พวกผู้ชายที่เป็นขุนศึกศักดินาทั้งหลาย น่าจะให้เกียรติสตรี ให้เธออยู่ครบเทอม ปรากฏว่า เธออยู่ไม่ครบเทอม ซ้ำยังต้องลี้ภัยการเมืองไปด้วย
เพราะฉะนั้น หลังจากนั้นมา พอผมเห็นพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะ มันแปลก และผมมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง ในเซนส์บางอย่างที่ผมมีในตัว ผมก็ไม่รู้ ผมมีความรู้สึกว่า ธนาธร มีรัศมี มีบารมีบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ เมื่อผมเจอแกครั้งแรกวันไปสมัครสมาชิกพรรค ผมเลยเปลี่ยนใจ เป็นสมัครตลอดชีพ เสียไป 2,000 บาท
ไปโหวตก็ พรรคก็ถูกยุบ มันไม่น่าเชื่อนะครับ มันไม่น่าเชื่อเลยการเมืองไทย ในส่วนหนึ่งมันก็ตื่นเต้นดี อีกส่วนหนึ่งมันก็งี่เง่าขนาดเลยครับ
The People: คดีแชร์ Facebook กระเป๋าภรรยานายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมว่า คนมันก็คงหมั่นไส้ผมเยอะนะ เพราะตอนหลังผมคิดว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ววะ เราก็เล่น Facebook แล้วนะ เราก็สื่อไปเลย เราคิดอะไรเราก็พูดไป
ผมไปแชร์ Facebook ของนักเขียนคนหนึ่ง เรื่องกระเป๋าภรรยานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ว่า กระเป๋านี้มันเป็นกระเป๋าราคาแพง ผมบอกก็ใช่น่ะสิ ถ้าเผื่อคุณเป็นคนชั้นสูง คุณเป็นถึงเมียนายกรัฐมนตรี คุณก็ต้องถือกระเป๋าแพง ๆ สิ มาถือกระเป๋าถูก ๆ ได้ยังไง เท่านั้นล่ะ ตำรวจแจ้งข้อหาผม มาตรา 116 ผมโดน 116 มาแล้วนะ ยังไม่โดน 112 นะ โดน 116 มาแล้ว
ก็กลายเป็นคดีนะ ผมก็ไปรายงานตัวกับตำรวจคนนั้น เขาก็จับผมประทับปั๊มมือ 10 นิ้ว ปั๊มเสร็จคนก็มากันเยอะแยะ วันนั้นพี่น้องผมก็ไปกันเยอะ พี่น้องผม เอาเข้าจริงเราก็คอนเซอร์เวทีฟ อนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ พี่น้องผมก็ตกใจว่าผมถูกตำรวจเรียก ถูกคดีความ วันนั้นคนไปให้กำลังใจผม และมานั่งอยู่กับผมเลยคือคุณอังคณา นีละไพจิตร แกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ผมประทับใจมาก แกเข้ามานั่งเลย เป็นพยาน
ตำรวจก็จับผมก็ปั๊มมือ 10 นิ้ว แล้วตำรวจเขาก็สุภาพกับผมนะ ตำรวจเจ้าของคดี ที่นั่น เขาก็สุภาพ เพราะเราเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาก็ให้ความนับถือ เขาก็จะเช็ดมือให้ผม เราก็รู้ ถ้าเช็ดมือก็ไม่มีสีดำสินะ ผมบอกว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมเช็ดเอง ไม่ต้อง ๆ
ผมก็เดินออกไปตรงที่คนมารออยู่ คนมารออยู่เยอะ นักข่าวมานี่ เพื่อนผมก็มาแล้ว พนัส ทัศนียานนท์ อัยการเก่า ก็มา ทนายด่าง กฤษฎางค์ นุตจรัส ก็มา ผมรู้พวกนี้มา
นักข่าวมาเยอะ ผมก็ไปปรากฏตัว แล้วผมก็ชูนิ้วให้นักข่าวดูแล้วก็ถ่าย ผมก็เลยมีรูปที่ระลึก ผมคิดว่าอันนี้มันดีกว่าปริญญาเอกนะ มาเนี่ย เราโดนแล้วนะ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายนี่ คุณมากล่าวหาผมอย่างนี้ ที่ผมแชร์ คนมีสตางค์จะถือกระเป๋าถูก ๆ เหรอ มันก็เสียเกรดหมดสิ ผมไม่เห็นพี่น้องผมที่เขารวย ๆ ถือกระเป๋าถูก ๆ เลย แล้วถ้าไปทักเขาว่านี่ของจริงหรือเปล่า เขาจะหงุดหงิดมากเลยนะ (หัวเราะ)
The People: จบอย่างไร
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: จบยังไง เขาถอนไม่ฟ้องเด็ดขาด ไม่ฟ้องเด็ดขาดด้วย ผมก็เลยเอามาโพสต์ Facebook บอก เขาไม่ฟ้องเด็ดขาดแล้ว (หัวเราะ)
The People: เล่น Facebook กับคนรุ่นใหม่
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมเริ่มต้นเล่น Facebook สักประมาณ ปี 2009/2552 ก่อนยุคคุณยิ่งลักษณ์หน่อยหนึ่ง ก่อนน้ำท่วมใหญ่ (2554) ตอนช่วงคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ผมเล่น Facebook ตอนนั้น ปี 2552 เพราะมีลูกศิษย์ผมคนหนึ่งตอนนี้ไปทำงานอยู่พรรคเพื่อไทย ลูกศิษย์ผมอยู่หลายพรรค คนนี้เป็นคนไปสมัคร Facebook ให้ผม แล้วมันก็บอกว่า อาจารย์ควรจะเล่น
ผมก็รู้สึกว่า เอ๊ะ อะไรวะ แค่โทรศัพท์มือถือเราก็รำคาญจะตายแล้ว แต่ก่อนผมเกลียดโทรศัพท์มือถือมากนะ มันน่ารำคาญมาก เดี๋ยวมันก็ดัง เดี๋ยวมันก็ดัง ผมไม่ค่อยชอบรับโทรศัพท์ แต่ว่าตอนหลัง เอ๊ะมันกลายเป็นมีประโยชน์นะ
ผมมาเจอว่า Facebook เนี่ย มันดีกว่าเป็นอาจารย์สอนหนังสือในห้อง เพราะว่า เราสามารถจะเสนอไอเดียความคิดของเรา คลิ๊กลงไปประเดี๋ยวเดียว ประมาณ 5 ประโยค 10 ประโยค 10 บรรทัด ได้ผลกว่านั่งพูดให้นักศึกษาจำนวนร้อยคนฟังอีก
เมื่อสองวันนี้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ รังสิต วิชาปี 1 มีนักศึกษาลงทะเบียน 300 คน มาเรียนประมาณ 60 คน อาจารย์ประจำวิชาบอก วันนี้มากที่สุดแล้วนะ มีแฟนคลับอาจารย์มา นั่นน่ะข้างบนเด็กมาส่องอยู่ เขาเห็นเรามาเขามาส่องเรานะ บางคนก็มาขอถ่ายรูป บางคนมาขอลายเซ็น เขาบอกว่า เนี่ย อาจารย์โชคดี อาจารย์มี Facebook เด็กถึงมา ไม่งั้นมาประมาณ 10 คน ผมไม่รู้ว่า คนรุ่นใหม่มีฉลาด ๆ เยอะนะ เพราะไม่ต้องพึ่งอาจารย์ใช่ไหม เขาเรียนรู้เอง
อย่างที่ผมบอก ผมประทับใจนักศึกษาปี 1 คณะแพทย์มาก ๆ เขาเรียนรู้ของเขาเอง แต่ว่าอันนี้เป็นคนจำนวนน้อย อาจจะไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นอย่างนี้ แต่คนจำนวนมาก ผมยังนึกไม่ออก ผมยังตีประเด็นไม่แตกว่า เมื่อมีโรคระบาดขนาดใหญ่แบบนี้ คนตายเป็นจำนวนล้าน ๆ ๆ คนโลกมันจะเปลี่ยนเป็นยังไง นึกไม่ออก นึกไม่ออกนะครับ
เมื่อ 2-3 วันก่อนผมมาบรรยายปรากฏว่า มีนักศึกกลุ่มหนึ่งสิบกว่าคนสนอกสนใจเรียน นั่งฟัง จบลงด้วยการตั้งคำถามเยอะ แล้วผมก็ถามคุณเรียนอะไร ปรากฏว่าเรียนแพทย์ ปี 1 ผมนึกว่า เรียนสังคมศาสตร์ เรียนศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์ ปรากฏว่า กลายเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งคำถามของเขาแต่ละคำ โอ้โห เอ๊ะ ทำไมมันก้าวหน้าขนาดนี้ อันนี้ก็ดีใจ ต้องพูดว่า ดีใจ แล้วก็ประทับใจ
The People: ตำรวจคุกคามที่คอนโด
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: มีหนหนึ่ง อันนี้สงสารตำรวจชั้นผู้น้อย เขาไปที่คอนโดผม ไปที่คอนโดแถว ๆ ตลิ่งชัน ไปบอกให้นิติบุคคลพาขึ้นไปที่ห้องพักผม แล้วก็ไปเคาะประตู ผมไม่อยู่ ทีนี้ปรากฏว่า ที่คอนโด ที่ไหนมันก็มีกล้องทั้งนั้น ตำรวจชั้นผู้น้อยเขาก็อาจหาญมาก กล้องมันจับตั้งแต่รถเข้ามา รถเข้ามาจอด แล้วก็เข้ามาในอาคาร แล้วก็ขึ้นไปในลิฟท์ ไปที่หน้าห้อง มันมีหมด หมายความว่า นิติ เจ้าหน้าที่ เขาบอก อาจารย์มีตำรวจมานะวันนี้ มาหาอาจารย์ คือเขาก็ไม่รู้เรื่อง เอาเข้าจริง เขาบอกว่า ตำรวจบอกว่า จะมาตามหาผม เพราะว่า ผมเนี่ยชอบไปยุยงส่งเสริมเด็ก ๆ
The People: อาจารย์ทำจริงหรือเปล่าคะ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ก็ไม่รู้ เราสอนหนังสืออ่ะ เราก็สอนไปตามที่เราเคยสอนมานะ เด็กจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็ไม่ใช่ปัญหาของผมนี่ ผมก็สอนไปนี่ครับ เรามีเสรีภาพทางวิชาการ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ บอก ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว
ผมก็สอนของผมอย่างที่ผมคิด เด็กจะเชื่อหรือไม่ นี่ไม่ใช่ปัญหาของผม แล้วผมก็ไม่บังคับด้วย จะเข้าเรียนหรือไม่เข้าเรียนก็ช่าง ถ้าไม่อยากฉลาดก็ไป
ประเด็นก็อยู่ที่ว่า เจ้าหน้าที่ของคอนโดผม บอกให้ผมไปดู ผมก็ไปดู อ๋อ ผมก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วแน่นอน เพื่อนผม เหมือนเป็นทนายกิตติมาศักดิ์ให้ผม นายพนัส ทัศนียานนท์ ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดตาก นักเรียนสวนกุหลาบด้วยกัน ก็บอกว่าให้ผมไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมก็เลยไปร้องเรียน เรื่องมันก็เลยกลายเป็นข่าว ผมไม่ได้ไปร้องเรียนที่สถานีตำรวจพื้นที่ที่ตลิ่งชัน ผมไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เลยเป็นข่าวใหญ่ เพราะฉะนั้น ผมเดาว่า ข้างบนเขาบอก มึงหาเรื่องให้กูอีกแล้วมั้ง ให้ไปเคลียร์
ตกลงตำรวจที่พื้นที่ก็มาพบผม 3 หน มาขออภัย เขาบอกว่า ความจริงเนี่ย เขาเนี่ย จะมาดูแลผมในฐานะเป็นบุคคลสำคัญ ผมบอกอ๋อ ๆ ขอบใจ ๆ แต่ผมไม่เชื่อหรอก เขาก็มา 3 หน จบลงก็เขาบอกมาขออภัยด้วย เอาดอกไม้มาพานใหญ่เลย เรื่องก็จบกัน เรื่องก็จบลง ไม่มีเรื่องต่อ ก็ดี ก็จบไป ผมไม่ตำหนิ
ผมไม่ตำหนิระดับท้องที่ ผมไม่ตำหนิตำรวจระดับข้างล่าง ผมว่า มันต้องเหนือขึ้นไปกว่านั้น ซึ่งอาจจะถูกสั่งจากเหนือไปกว่านั้นอีก
อันนั้นเป็นปัญหาของคนข้างบน ไปแก้กันเอาเอง ว่าคุณจะปฏิรูปไหม ตำรวจจะปฏิรูปไหม ทหารจะปฏิรูปไหม แม้กระทั่งตอนนี้ ใคร ๆ ก็พูดถึงเรื่อง 112 จะปฏิรูปหรือไม่ ผมว่าทางออกของเมืองไทยคือปฏิรูปจริง ๆ ไม่ใช่ปฏิรูปโดยคำพูด
พูดกันมาเรื่องปฏิรูปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 มาจนกระทั่งถึง ธานินทร์ กรัยวิเชียร มาจนกระทั่งถึง ประยุทธ์ ประวิตร ทำจริง ๆ เสียทีเถอะครับ ท่านทั้งหลาย
The People: ความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ชาวบ้าน
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ประวัติศาสตร์ที่ผมทำ ๆ มาเป็นส่วนใหญ่ มันเป็นเรื่องระดับชาติ เป็นภาพรวม เป็นเรื่องของชนชั้นนำเป็นส่วนใหญ่ บรรดาอีลีททั้งหลาย แต่ในตอนหลังผมคิดว่าระดับที่มันล่างลงมา ล่างลงมา ล่างลงมา เยอะ ๆ ตั้งแต่กลาง ๆ กลางล่าง ไปถึงล่างมาก ๆ เลย
ผมว่าน่าสนใจมาก แต่ประวัติศาสตร์แบบนี้ มักจะไม่มีบันทึก ไม่มีลายลักษณ์อักษร ไม่เป็นจดหมายเหตุ มันเป็นโดยปากคำที่เรียกว่ามุขปาฐะ เพราะฉะนั้น ตอนหลัง ผมก็เปลี่ยนใจมาฟังเรื่องของการบอกเล่า ความทรงจำของชาวบ้านมาก ๆ เลย แล้วผมก็ค้นพบว่า ยิ่งล่างลงไป ล่างลงไป กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเยอะมาก ๆ คนที่ผมเคยรู้จักมาเป็นเวลานาน ในระดับล่าง ๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
The People: เหลืองเปลี่ยนเป็นส้ม ไม่เปลี่ยนเป็นแดง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมไปเชียงใหม่มา เมื่อสัปดาห์ก่อน แล้วผมก็ไปพูดคุยกับคน ผมว่าในแง่หนึ่ง คนซึ่งแต่ก่อนผมคิดว่า เขาค่อนข้างจะหัวเก่า หัวโบราณ แต่พอมาถึงตอนนี้ ถ้าบังเอิญ คุณเป็นเหลืองมาก่อน คุณเปลี่ยนไปเป็นส้ม คุณไม่เปลี่ยนไปเป็นแดง ถ้าคุณเป็นแดง คุณก็เป็นแดงอยู่ ที่เชียงใหม่นะครับ เป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดง
ถ้าคุณเป็นเหลือง คุณเปลี่ยนไปเป็นแดงยากมาก สีเหลือง ถ้ามันผสม มันจะไปปนแดงนิดหนึ่งมันต้องออกเป็นส้ม มันออกเป็นแดงไม่ได้ อันนี้ที่ผมเจอนะ ผมก็งงเลย
พวกนี้ก็จะมีคนที่เป็นชนชั้นนำ ซึ่งไม่ใช่แดง แต่ถ้าเขาจะต้องเปลี่ยน ผมว่าเขาเปลี่ยนเป็นส้ม มีสิทธิ์มาก ๆ เลย เพราะฉะนั้น เมื่อผมโพสต์คำนี้ลงไป มันมีคนเข้ามาดู เป็นพัน คอมเมนต์เป็นร้อย หลายคนบอก เห็นด้วยว่า เหลืองเปลี่ยนเป็นส้ม ง่ายกว่าเปลี่ยนเป็นแดง
The People: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างไม่ธรรมดานะครับ เพราะว่ามันเกิดขึ้นมาจาก หลัก 6 ประการ หลักประการที่ 6 ของคณะราษฎรที่ปฏิวัติปี 2475 มันทำให้เกิดการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี 2477 ต่างกัน 2 ปี เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น มันมีเชื้อมาจากการปฏิวัติประชาธิปไตย อันนี้มันเป็นภูมิหลัง
คือคุณเข้ามาในธรรมศาสตร์ อาจจะหลีกเลี่ยงการเมืองยาก แล้วโดยวิชาก็มีวิชาเกี่ยวกับสังคมกับการเมืองแบบกว้าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น มันก็ถูกปลูกฝังอยู่ คือมันไม่ใช่ว่า เข้ามาธรรมศาสตร์แล้วจะกลายเป็นก้าวหน้า หัวรุนแรง เป็นฝ่ายซ้ายไปทั้งหมดก็ไม่ใช่ เผลอ ๆ จำนวนส่วนใหญ่ ก็อาจจะปกติธรรมดา กลาง ๆ ไม่ค่อยซ้ายไม่ค่อยขวาเท่าไหร่ อะไรทำนองนั้น
แต่ว่ามันมีเชื้ออะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะเป็นกรณีค่อนข้างพิเศษ เพราะฉะนั้นจะมีคำขวัญ อย่างประเภทว่า ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน อะไรแบบนี้ ซึ่งผมคิดว่า มันก็จริงบ้าง ไม่จริงบ้างนะ
The People: ส่วนใหญ่จะจริงไหมคะ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: มันก็ไม่รู้เหมือนกันนะ มันวัดยาก แต่นี่มันเป็นมรดกของมัน มันมีคนอย่างปรีดี พนมยงค์ มีคนแบบกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีคนแบบเสนีย์ เสาวพงศ์ ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ เรียนอักษรศาสตร์จุฬาฯ ก็จริง ยังต้องมาเขียนโฉมหน้าศักดินาไทย ลงในหนังสือ 25 พุทธศตวรรษของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เลย อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้น มันมีเชื้อ มีอดีต ซึ่งมีมาถึงปัจจุบัน แล้วก็จะมีต่อไปในอนาคต
แต่ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นมันไม่มีนะ ยิ่งไปไกล ๆ ไปขอนแก่น ใครจะนึกได้ว่า บัณฑิต สวมเสื้อครุยจะรับปริญญาแล้วชูสามนิ้ว อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะมี มันก็มีแล้ว มันมีไปแล้ว
แล้วผมคิดว่า เอาเข้าจริง สถาบันเดิม สถาบันเก่าแก่ของประเทศไทย ถึงเวลาแล้ว ต้องทบทวนว่า ความเปลี่ยนแปลงมันได้มาถึงประเทศไทยแล้ว มันอาจจะช้า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่มันมาแล้ว
The People: ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามมาตลอด
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: ผมเดาว่าเขาคงติดตามอยู่ คงเป็นเรื่องปกติ ผมจำได้ว่า เมื่อสมัย 6 ตุลา 2519 พี่เขยของเพื่อนสนิทผม เป็นหัวหน้าสันติบาล หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมไปพบท่าน หัวหน้าสันติบาลสมัยนั้นก็บอกว่า “ชาญวิทย์ เธอชอบไปโน้นไปนี่กับพวกนั้น ไม่ระมัดระวังตัวเลยกับคนที่คบ คนนั้นเป็นสายคนโน้น เป็นสายของไอ้นี่ สายของไอ้นั่น คบคนไม่เลือก”
แกก็ดุผมนะ ผมก็ครับ ๆ โอเคก็ไม่เป็นไรนะ แล้วก็ไป ๆ ซะ ไปลี้ภัยอยู่ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้น แปลว่า ท่านก็มีแฟ้มผมอยู่ตั้งแต่สมัยตุลาแล้วนะ ผมเชื่อว่า เดี๋ยวนี้ก็ยังคงมีอยู่ ไอ้แฟ้มเหล่านั้น มันคงหนาขึ้น หนาขึ้น วันหลังเอามาเข้าหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ก็คงจะดี ผมก็อยากรู้ว่าเขาเก็บอะไรไว้บ้างนะครับ ทีนี้มาถึงปัจจุบันนี้ แน่นอนมันก็ต้องมีคนตาม
The People: ชาญวิทย์ และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อน 6 ตุลา 2519
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: คือประสบการณ์การทำงานกับอาจารย์ป๋วยเนี่ยนะครับ ผมทำงานกับอาจารย์ป๋วยเนี่ยสั้นมาก ๆ นะ ปีเดียว 1 ปีเต็ม ปี 2518 - 2519 พอถึงปี 2519 ทุกคนก็รู้แล้วนะครับ วันที่ 6 ตุลา 2519 เกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลา 2519 เกิดอะไรขึ้นที่ท้องสนามหลวงใช่ไหมครับ มันเป็นโศกนาฏกรรม มันเป็นการประกอบอาชญากรรมของผู้กุมอำนาจรัฐ อาจารย์ป๋วย ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่อังกฤษ แล้วท่านก็ไปสิ้นชีวิตที่อังกฤษ ผมเองก็อยู่ไม่ได้ ผมก็ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ญี่ปุ่น 1 ปีเต็ม อะไรทำนองนั้น
ผมได้มีโอกาสผ่านสถานการณ์อันนั้น เพราะอยู่ธรรมศาสตร์ เพราะอยู่กับอาจารย์ป๋วย เพราะเคารพนับถืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มันทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับความเป็นจริงของปรากฏการณ์สำคัญของสังคมไทย แน่นอนผมอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบัน แน่นอนผมผ่านเหตุการณ์พฤษภา 2535 เหตุการณ์พฤษภา 2553 แต่เรามีระยะห่างแล้ว เราไม่ได้เข้าไปใกล้ชิดเหมือนอย่าง ตุลา ตุลา เราเพียงแต่ว่า อยู่ที่ชายขอบมันก็ได้ เรากลายเป็นนักสังเกตการณ์มากกว่าจะมีส่วนร่วมโดยตรง
The People: ลายเซ็นชาญวิทย์ ในจดหมายลาออกป๋วย อึ๊งภากรณ์ 6 ตุลา 2519
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ: เอาเข้าจริง ถ้าจะขยายความหน่อยเนี่ย คือวันที่ 5 ตุลา 2519 เรายังอยู่ในท่าพระจันทร์ วันที่ 5 ตอนบ่าย ตอนเย็น สถานการณ์มันตึงเครียดมาก ๆ นะครับ เพราะว่านักศึกษาก็ชุมนุมอยู่ที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ นักศึกษาซึ่งเคยชุมนุมอยู่ในท้องสนามหลวง ก็ย้ายอพยพเข้ามาอยู่ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อาจารย์ป๋วยก็พยายามห้ามว่าอย่าเข้ามา
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว อาจารย์ป๋วย ก็ดี อาจารย์เสน่ห์ จามริก ก็ดี อาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ก็ดี พวกเราทุกคนก็รู้แล้วว่า มันมีแผนที่จะทำรัฐประหาร แล้วก็ยั่วยุนักศึกษาให้ประท้วงต่อไป
มันเริ่มตั้งแต่นำจอมพลถนอม กลับมาหนหนึ่ง แล้วก็ถูกขับไล่ออกไป มันต่อด้วย นำจอมพลประภาส จารุเสถียร กลับมาแล้วก็ถูกขับไล่ออกไป แล้วก็จบลงด้วยการให้จอมพลถนอม ไปบวชเป็นเณรที่สิงคโปร์ แล้วก็เข้ามาบวชเป็นพระอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ที่บางลำพู
เพราะฉะนั้น ผมว่า แทบจะทุกคนก็อ่านเกมออกแล้วว่านี่คือแผนของการรัฐประหาร นักศึกษาก็จะต้องติดกับนี้ มันน่าสนใจตรงที่ว่า การแสดงละครของนักศึกษานั้น มีเรื่องการล้อเลียน พนักงานการไฟฟ้า 2 คน ถูกฆ่า และถูกจับแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม
นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เป็นชุมนุมชมรมที่เกี่ยวกับการแสดง ก็จัดการแสดง แล้วก็มีการล้อเรื่องการแขวนคอพนักงาน ที่บริเวณลานโพธิ์ แขวนที่ตรงต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ใกล้ ๆ ต้นโพธิ์ต้นใหญ่ แล้วก็คนที่แสดงเป็นผู้ถูกแขวนคอ ก็คือคนที่ ตอนหลังกลายเป็นช่างภาพมือดีชื่อเสียงโด่งดังมากของนิตยสาร อ.ส.ท. เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อภินันท์ บัวหภักดี มีชื่อเสียงมาก ถ่ายรูปเก่งมาก
ภาพการแสดงนั้นถูกเอาไปลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่ฉบับซึ่งถูกเอามาอ้างอิงว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม เข้าใจว่าสมัยนั้นมีลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ด้วย แต่รูปที่โคลสอัพแล้วถูกนำมาใช้ในการกล่าวหานักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คือ ภาพของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม
เพราะฉะนั้น แปลว่า ในค่ำวันที่ 5 ตุลา พวกเราก็ตระหนักดีว่า มันน่าจะมีการรัฐประหาร แต่เราไม่ได้คาดคิดว่ามันจะร้ายแรงขนาดนั้น เราไม่ได้คาดคิดว่า มันจะมีการนำภาพที่ลงในหนังสือพิมพ์ดาวสยามนั้น เอาไปขยายต่อ ทำเป็นใบปลิว แล้วแจกไปทั่ว ๆ เลย ในชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร
ผมเดินออกจากธรรมศาสตร์ ตอนเย็น (5 ตุลา 2519) แยกจากอาจารย์ป๋วย อาจารย์เสน่ห์ อาจารย์นงเยาว์ ออกจากธรรมศาสตร์ตอนเย็น ผมเดินลงจากตึกโดมที่เราประชุมกัน เดินลอดใต้ตึกเศรษฐศาสตร์ ไปออกประตูทางด้านท่าพระอาทิตย์ ผมจำได้ว่า เพลงสุดท้ายที่ผมได้ยิน คือเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เป็นเพลงสุดท้ายที่ได้ยินวันนั้นที่ธรรมศาสตร์
แล้วผมก็ไปกินข้าวที่แถว ๆ แพร่งสรรพศาสตร์ กับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กว่าจะไปญี่ปุ่นอีกหลายเดือนต่อมา ไปทันทีไม่ได้หรอก ผมไปกินข้าวกับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ตอนค่ำ เรากินข้าวอยู่ร้านข้าวต้มแถวนั้น
มีวัยรุ่นวิ่งมา แล้วเอาใบปลิวที่มีรูปแขวนคอนั้นแจกทั่วเลย เราก็รู้ว่าชิบหายแล้วนะ เราก็รู้สึกแล้ว แล้วผมก็กลับไปบ้านคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สมัยนั้นแกยังพักอยู่โรงพิมพ์เรือนแก้ว ผมกลับบ้านไม่ได้เพราะบ้านผมอยู่มีนบุรี ผมก็เลยไม่กลับ เพราะคิดว่ามันไม่ปลอดภัย ผมก็เลยไปนอนบ้านคุณสุจิตต์
สักประมาณเช้ามืด อาจารย์ปราณี ภรรยาของสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ปลุกผมขึ้นมา บอก อาจารย์ ๆ มันยิงกันแล้ว ผมก็อาบน้ำแต่งตัว แล้วก็ขึ้นรถไปที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย นั่นก็คือตอนจบตอนเรื่องการลาออกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และรองอธิการบดี ด้วยจดหมายฉบับนี้ครับ อาจารย์ป๋วยเป็นคนเขียน นี่ลายมืออาจารย์ป๋วย อาจารย์ป๋วยเซ็นชื่อก่อน ผมชาญวิทย์ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐาน ดูแลนักศึกษาปี 1
ในวันที่ 6 ตุลาเนี่ย เป็นวันที่มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่เป็นนายกสภา คือ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ อาจารย์ป๋วย เป็นอธิการบดี เมื่อประชุมกันแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันเกิดขึ้นแล้ว มันเกิดขึ้นในช่วง... ถ้าอ่านจากบันทึกของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งอยู่ในสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์นั้น การถล่มด้วยอาวุธสงครามลงไปยังสนามฟุตบอลธรรมสาสตร์ ท่าพระจันทร์ น่าจะยิงไปจากด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถล่มเข้าไป ดังนั้น มันแปลว่า พอถึงรุ่งเช้า การบุกกระหน่ำเข้าไป มันก็เกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น การประชุมของกรรมการสภามหาวิทยาลัย ไปประชุมอยู่ที่...ตรงนั้นเป็นสำนักงานเกี่ยวกับการศึกษา เข้าใจว่า เป็นของกระทรวงศึกษาธิการ หรือไม่ก็ทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสวนรื่นฤดี ตรงข้ามกับ กอ.รมน. ก็ประชุมกันตอนสาย ๆ เพราะฉะนั้น แปลว่า เหตุการณ์ร้ายแรง มันได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ที่ประชุม ก็เกือบจะไม่ได้มีการพูดอะไรกัน เพราะว่า เราก็รู้ว่าโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้น อาจารย์ป๋วย ก็ต้องถือว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นความรับผิดชอบของท่าน เมื่อท่านไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์ให้เป็นปกติทำงานต่อไปได้ ท่านก็ต้องลาออก ท่านก็ประกาศการลาออกต่อที่ประชุมในวันนั้นเลย ผมจำได้แต่เพียงว่าทุกคนก็เงียบ ผมเข้าใจว่าไม่มีใครพูดอะไรเมื่ออาจารย์ป๋วยลาออก มีคณบดีเศรษฐศาสตร์ซึ่งใกล้ชิดกับอาจารย์ป๋วยมาก ๆ อาจารย์ก็นั่งน้ำตาไหล มันก็จบ อาจารย์ป๋วยก็ลุกขึ้นออกจากที่นั่ง ทุกคนต่างก็แยกย้ายกันไป
อาจารย์ก็บอกให้ผมเอากระเป๋าถือของท่าน และรถเบนซ์ประจำตำแหน่งไปคืน กระเป๋านั้นให้ไปคืนกับน้องสาวของท่านที่บ้านพัก ซอยอารีย์ ส่วนรถนั้น ก็คนขับรถประจำตำแหน่งก็นำกลับไป ต่างคนต่างก็แยกย้ายกันไป เพราะฉะนั้น ผมก็จากอาจารย์ป๋วยในวันนั้น
ไปถึงบ้านอาจารย์ที่ซอยอารีย์ ก็เอากระเป๋าไปคืน แล้วก็บอกกับน้องสาวอาจารย์ว่า อาจารย์จะไปต่างจังหวัดหลายวัน ไม่ต้องเป็นห่วง จำได้ว่า ที่ตรงใกล้ ๆ หน้าบ้าน มันมีรถแท็กซี่จอดอยู่คันหนึ่ง แล้วก็มีคนอยู่ 1 - 2 คนอะไรทำนองนี้ ผมเข้าใจว่า คงเป็นตำรวจ หรือไม่ก็เป็นสายของตำรวจไปดูที่ตรงนั้น จากนั้น ผมก็หลบไปหาที่หลบภัยแห่งหนึ่ง
จำได้ว่า ค่ำนั้นก็มีประกาศยึดอำนาจ มีรัฐประหาร นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อันนั้นก็คือเหตุการณ์ของวันที่ 6 ตุลา 2519 ของผม