ณภัทร สะโน : เสียงจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ+ และคนพิการในประเทศไทย

ณภัทร สะโน : เสียงจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ+ และคนพิการในประเทศไทย

สัมภาษณ์ ‘อาร์ท-ณภัทร สะโน’ หนึ่งในผู้ร่วมงานพาเหรด Bangkok Pride 2023 ที่ออกมายืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ+ และพรบ. สมรสเท่าเทียมที่จะทำให้ความรักของทุกคนเท่ากัน

รู้สึกดีใจ และอยากจะสนับสนุนใครก็ตามที่ยังรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ ให้ออกมา จงภูมิใจไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน เป็นแบบไหน มันก็เป็นแค่รสนิยม เป็นแค่ความชอบ มันไม่ใช่สิ่งที่จะมาตัดสินว่าเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว

 

คือคำตอบของ ‘ณภัทร สะโน’ หรือ ‘อาร์ท’ หนึ่งในผู้ร่วมงานพาเหรด Bangkok Pride 2023 ที่จัดขึ้น ณ ใจกลางกรุง ที่มีการเดินขบวนตั้งแต่แยกปทุมวันไปจนถึงแยกราชประสงค์ ในวันที่ 4 มิถุนายน 2566 ที่มีผู้เข้าร่วมงานตั้งแต่ประชาชนคนธรรมดาไปจนถึงดารา นักแสดง และนักการเมือง บรรยากาศในวันนั้นดำเนินไปอย่างครึกครื้น สีสันหลากหลายแผ่กระจายไปทั่วถนน แสดงถึงความหลากหลายที่ถูกโอบรับมากกว่าเดิมในสังคมไทย 

อาร์ทเป็นประชาชนอีกคนหนึ่งที่ออกมาร่วมงานครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายในสังคม และออกมาช่วยเปล่งเสียงเรียกหาความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จะอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายได้ 

เราไม่ได้มาแย่งสิทธิของคุณ เราแค่มาเรียกร้องสิทธิของเรา ไม่ต้องกังวลว่าเราจะพรากสิทธิคุณไป เพราะอย่างไรเราก็ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม

สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจว่าสมรสเท่าเทียมจะมีประโยชน์อย่างไร ลองสมมติว่าคุณมีแฟนสักคนหนึ่ง คุณไม่มีสิทธิที่จะแต่งงาน คุณจะกู้เงินเพื่อซื้อคอนโดฯ ก็ไม่สามารถกู้ด้วยกันได้ ทั้ง ๆ ที่คุณรักกันมาก ในวันหนึ่งที่คุณล้มป่วยและเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องมีการอนุญาตหรือยินยอมอะไรบางอย่าง คุณก็ไม่สามารถทำมันได้ ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับเขามา… เผลอ ๆ คนรักคนนี้คือคนที่รู้จักคนคนนั้นดีมากกว่าคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ด้วยซ้ำ

คือเสียงสะท้อนจากคนคนหนึ่งที่สามารถทำให้เราเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในข้อกฎหมายปัจจุบัน จึงเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงที่บันดาลให้ใครหลายคนลุกขึ้นยืนเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองในการจะมีคนรักดังที่ใจประสงค์ และไม่ถูกกรอบของกฎหมายระบุว่าต้องเป็นเพศตรงข้ามกันถึงจะเป็นคู่สมรสทางกฎหมายได้ 

 

ณภัทร สะโน : เสียงจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ+ และคนพิการในประเทศไทย

 

แม้ว่ากฎหมายที่เป็นอยู่ยังดูจะมีข้อบกพร่องหลายประการที่ทำให้ใครหลายคนออกมาเรียกร้องและถามหาความเปลี่ยนแปลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อยุคสมัยผ่านไป ผู้คนในสังคมก็เริ่มตระหนักรู้ถึงสิทธิที่ปัจเจกบุคคลควรจะมี พร้อม ๆ กับโอบรับความแตกต่างในความเป็นมนุษย์มากกว่าสมัยก่อนหลายเท่าตัวดังที่เราได้เห็นจากกระแสจากโลกออนไลน์ และความนิยมที่ผู้คนมาเข้าร่วมงาน Bangkok Pride 2023

เราจึงเอ่ยถามอาร์ทว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทัศนคติ ความเข้าใจ และมุมมองของคนแต่ละคนนั้นมากพอที่จะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงและขยับสังคมไปตามที่ใครหลายคนที่ออกมาเรียกร้องคาดหวังหรือยัง 

ผู้คนเปิดรับมันมากขึ้นแล้ว แต่คงยังไม่พอ…

จริง ๆ มันก็แล้วแต่ว่าอยู่ในบริบทไหน ถ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครอาจจะพอแล้วก็ได้ เพราะคนส่วนมากก็ค่อนข้างเข้าใจถึงความหลากหลายอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีการศึกษาหรือไม่มีความรู้ แต่พวกเขาอาจจะยังไม่มีโอกาสแสดงตัวออกได้มากเท่าคนกรุงเทพฯ

แต่การยังไม่กล้าออกมาแสดงตัวนี้ยังไม่ได้หยุดแค่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะอาร์ทยังเล่าต่อว่าประเด็นนี้รวมถึงคนพิการในประเทศไทยอีกด้วย 

ในประเทศนี้ 66 ล้านคน มีคนพิการ 2 ล้านกว่าคน แต่ลองดูในงานพาเรดที่จัดในวันนี้ที่มีคนมาเข้าร่วมเป็นหมื่นเป็นแสนคน ลองดูว่าเจอคนพิการกี่คน ทั้ง ๆ ที่ในกรุงเทพฯ ในประเทศไทยมีคนพิการเยอะมาก ทำไมคุณถึงไม่เห็นเลย?

ก็อยากจะเรียกร้องให้เขาออกมาแสดงตัวตนให้คนในสังคมเห็นว่าเรามีตัวตนอยู่

 

ณภัทร สะโน : เสียงจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ+ และคนพิการในประเทศไทย

 

‘คิดอย่างไรกับคำว่า #คนเท่ากัน’ The People เอ่ยถาม

มันก็ควรที่จะเป็นอย่างนั้น แต่เราก็ต้องขยายความกันนิดหนึ่งว่าการที่คนเท่ากันมันหมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะต้องสูงเท่ากันหรือฉลาดเท่ากัน อันนั้นมันน่าจะเป็นคำนิยามของหุ่นยนต์มากกว่า

สิ่งที่มันเท่ากันคือสิทธิต่าง ๆ สิทธิในการรักคนอื่น สิทธิในการศึกษา สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการรักษาพยาบาล คำว่าคนเท่ากันคือสิ่งนี้ มันคือสิทธิในการเป็นพลเมือง ไม่ใช่ว่าความรู้เท่ากันหรือรวยเท่ากัน

จากคำตอบของอาร์ท เราจะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สังคมควรมอบให้แก่คนทุกคนคือการเป็นคนเท่ากัน ในแง่ของสิทธิที่คนแต่ละคนจะได้รับ ไม่ใช่ความเท่ากันที่ทุกคนจะต้องมีความเหมือนกัน ดังนั้น เราจะเห็นว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ซ้ำร้าย ความแตกต่างนั้นคือความสวยงามที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์

มันทำให้เราเห็นหลาย ๆ มุมของชีวิต บางทีเราอาจจะเคยเห็นว่าสิ่งนี้สวย เราก็อาจจะคิดว่ามันสวยที่สุด แต่พอเราได้มีโอกาสไปสัมผัสความหลากหลาย เราก็จะได้รู้สึกว่าอีกอันก็สวยเหมือนกัน หรือบางทีก็จะได้เห็นว่าบางอย่างก็สวยกว่า สวยน้อยกว่า สวยเท่ากัน สวยคนละแบบ

ท้ายที่สุด อาร์ทก็ได้บอกกับเราถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมเราทุกคนถึงควรจะออกมาแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และเพราะอะไรเราถึงควรที่จะกล้าเป็นตัวเอง

ถ้าจะบอกให้ไม่ต้องกลัวมันก็อาจจะยาก แต่อยากให้ย้อนกลับมามองตัวเองว่าเราเป็นใคร เราเป็นเกย์ เราเป็นเลสเบี้ยน เราเป็น LGBTQ+ เราเป็นทรานส์ เราเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว คุณค่าทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเรา

อย่าไปฟังคนอื่นเยอะ

ณภัทร สะโน : เสียงจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของ LGBTQ+ และคนพิการในประเทศไทย