หากไล่เรียงผลงานของ มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จะพบว่าเขามีส่วนร่วมในภาพยนตร์หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกำกับภาพยนตร์สยองขวัญ คน ผี ปีศาจ (2547), The Eyes Diary คนเห็นผี (2557) หรือเขียนบทภาพยนตร์ระทึกขวัญ 13 เกมสยอง (2549), บอดี้...ศพ#19 (2550) แต่หมุดหมายสำคัญที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้งคือ รักแห่งสยาม (2550) ภาพยนตร์ที่เปลี่ยนแปลงความเข้าใจของ LGBTQ และเปิดพื้นที่ให้พวกเขามาถึงทุกวันนี้
ล่าสุด มะเดี่ยวกลับมาสร้างภาพยนตร์ที่มีกลิ่นอาย LGBTQ อีกครั้งกับ ดิว ไปด้วยกันนะ (2562) โดยมีฉากหลัง 2 ยุคคือยุค 90’s ที่ประเด็นนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ ล่วงเลยมาถึงยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันหมดแล้ว
ถึงแม้มะเดี่ยวจะบอกว่า เขาไม่คาดหวังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมแบบเรื่องเก่า แต่อย่างน้อยจะทำให้ทุกคนรับรู้ว่า ความรักนั้นไม่จำกัดรูปแบบ และความรักมีอยู่จริง
[caption id="attachment_13381" align="alignnone" width="1200"]
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล[/caption]
The People: ชีวิตวัยเด็กของคุณที่เชียงใหม่เป็นอย่างไรบ้าง
ชูเกียรติ: เชียงใหม่ก็ดีนะ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ อะไรที่กรุงเทพฯ มี สักพักหนึ่งเชียงใหม่ก็จะมีแล้ว ดังนั้นเราจะเป็นเด็กเมืองครึ่งหนึ่ง เป็นเด็กชนบทครึ่งหนึ่ง เพราะบ้านอยู่แถวชานเมือง เชียงใหม่ก็จะเป็นเมืองที่แวดล้อมไปด้วยศิลปะและสิ่งสวยงาม เราจะเติบโตมาในบรรยากาศที่หล่อหลอมให้เป็นศิลปิน เป็นคนประดิดประดอย ชดช้อย สโลว์ไลฟ์ (หัวเราะ) ไปโรงเรียนก็อยู่วงโยธวาทิต ได้รับการปลูกฝังเรื่องศิลปะของดนตรี ไปตามห้างก็จะมีอาร์ตแกลอรีอยู่ตลอดเวลา เพราะทาง มช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จะจัดนิทรรศการแสดงตลอด ทุกวันนี้ก็ยังมีกิจกรรมแบบนี้อยู่ ไหนจะเรื่องการตกแต่งสวยงามของเมืองเชียงใหม่อีก สิ่งเหล่านี้มีมานานมากแล้ว ศิลปะจึงเป็นเหมือนดีเอ็นเอของคนเชียงใหม่
The People: ในฐานะคนเชียงใหม่ รู้สึกอย่างไรบ้างที่ความเจริญหลาย ๆ อย่างเข้ามาเปลี่ยนแปลงเมือง
ชูเกียรติ: มันก็เป็นอย่างนี้ทุกที่แหละ มีความเจริญก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราหยุดไม่ได้หรอก และหยุดไปทำไม ถึงเราหยุด คนอื่นก็เปลี่ยนอยู่ดี
เชียงใหม่มัน never die ความเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวจึงเปิดรับวัฒนธรรมอื่นตลอดเวลา อย่างสมัยเราเติบโตประมาณ 90’s ก็จะเปิดรับฝรั่งมาท่องเที่ยว trekking ส่วนยุคนี้ก็เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดีตรงที่ได้ซัพพอร์ตความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว แล้วมันก็ทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมเติบโต
แต่ facility ในเมืองกลับไม่โตตาม อย่างถนนก็มีเท่าเดิม รถทัวร์วิ่งเข้ามาเที่ยววัดกลางเมืองตลอดเวลา รถก็ติด พอสถานศึกษาเปิด คนก็ย้ายเข้ามาอีก รถก็ยิ่งเยอะขึ้น ทีนี้ความเปลี่ยนแปลงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ (หัวเราะ) ต้องปรับปรุงให้เมืองดีขึ้นไปพร้อมกันให้ได้ นี่เป็นความท้าทายที่เชียงใหม่กำลังเผชิญกันอยู่
The People: ทราบมาว่าคุณชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก ทำไมไม่เลือกเรียนดนตรี แต่เลือกเรียนสายภาพยนตร์
ชูเกียรติ: ตอนจบ ม.6 มีคนชวนไปสอบทุนดนตรีแล้วกลับมาเป็นครู เราคิดว่าเป็นครูไม่ไหวแน่ ไม่น่ารอด (หัวเราะ) แต่มีอีกทางหนึ่งที่ชอบก็คือหนัง เราเลยลองเลือกดู ซึ่งจริง ๆ ก็เลือก 2 คณะ คืออันดับ 1 นิเทศ จุฬาฯ และอันดับ 2 ดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมฯ จุฬาฯ ใจหนึ่งก็คิดว่าไม่น่ารอด เพราะนิเทศ จุฬาฯ คะแนนสูงจะตาย ปรากฏว่าติด พระเจ้าคงเลือกแล้วว่า เราจะได้มาทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน (หัวเราะ)
The People: ทำงานภาพยนตร์เพื่อรับใช้ประชาชน?
ชูเกียรติ: ใช่ ๆ หนังมันรับใช้ประชาชนในส่วนความบันเทิงและความสุข หนังเป็นสื่อมวลชน เป็นวิทยาศาสตร์ และเป็นศิลปะในตัวเอง หนังมันมีพลังมากเลยนะ ไม่งั้นมันไม่ถูกกฎหมายเซ็นเซอร์ควบคุมมาถึงทุกวันนี้หรอก (หัวเราะ) หนังเปลี่ยนแปลงความคิดคนได้ ทำให้คนเปิดรับความคิดใหม่ ๆ
หนังมีพลังนะคุณ เวลาเข้าไปนั่งในโรงหนัง ทุกอย่างมืด ๆ เงียบ ๆ มีเพียงภาพขนาดใหญ่และเสียง คุณจะถูกดูดเข้าไปในโลกของหนังแล้วคุณจะเชื่อ โดย message ในนั้นจะถูกฝังลงไปลึก ๆ ในความคิดของคุณ ซึ่งคุณจะ disagree หรือ agree ก็แล้วแต่คุณ
The People: ถ้าวันนั้นติดคณะดนตรีแทนภาพยนตร์ คิดว่าชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
ชูเกียรติ: อาจจะเป็น composer คนแต่งเพลง หรืออาจจะเป็น soloist (หัวเราะ) เป็นนักดนตรีเดี่ยว แต่ที่แน่ ๆ ไม่เป็นครูเด็ดขาด ไม่ชอบ ไม่ทำ อาจประกอบอาชีพวนเวียนอยู่กับการเป็นศิลปิน
[caption id="attachment_13376" align="alignnone" width="1200"]
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล[/caption]
The People: มีภาพยนตร์ที่จุดประกายให้คุณอยากทำงานสายภาพยนตร์ไหม
ชูเกียรติ: โอ้โห แน่นอน ต้องเริ่มจากการเป็นคนชอบดูหนัง ดูหนังมาเยอะมากเลย ทุกวันนี้เราต้องดูหนังอย่างน้อยวันละเรื่องหรือครึ่งเรื่อง ดูใน HBO ดูใน Netflix ดูที่ไหนก็ได้ มันติดไปแล้ว ติดแบบก่อนนอนต้องเปิดอะไรสักอย่าง เราดูตั้งแต่หนัง Lawrence of Arabia (1962) ไปถึงหนัง เดวิด ลีน (David Lean) ไปจนถึง โจว ซิงฉือ (Stephen Chow) เราดูหนังกว้างมาก เลยบอกไม่ค่อยได้ว่าหนังอะไรที่เปลี่ยนชีวิตเรา รู้สึกมันค่อย ๆ ซึมซับไปในตัว
แต่ถามว่าหนังที่เป็น milestone ดูแล้วชอบจัง ถ้าเป็นหนังไทยคงจะเป็น กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ (2537) ของอา บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ตอนนั้นยังเด็กมากเลยนะ แล้วก็ ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย (2528) หรือ กระโปรงบานขาสั้น (2536) หนังที่วัยรุ่นดูกันในยุคนั้น
หนังอาบัณฑิตเราดูหมด (แฟรนไชส์) บุญชู ก็ดู โก๊ะจ๋า ป่านะโก๊ะ (2534) ก็ดู พอมาเจอ กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ แล้วแบบ... มันเหมือนเป็นโลกเรา เป็นหนังดี หนังดรามาที่สนุก จำได้ว่าตอนเด็ก ๆ เราตีตั๋วไปดู 2 รอบที่โรงหนัง วิสต้าเชียงใหม่ ตอนนี้โรงหนังเพิ่งปิดไป ก็เสียดายอยู่ แต่มันคงเป็นไปตามกาลเวลาเนอะ เปิดไปก็เวทนาเขาเหมือนกัน เพราะเขาต้องแบกรับอะไรหลาย ๆ อย่าง
ส่วนถ้าหนังฝรั่งก็ดู Forrest Gump (1994) หนังยาวโคตร ๆ เลย จำได้ว่าดูจบแล้วตกรถ (หัวเราะ) เพื่อนเซ็งแต่เรารู้สึกเอ็นจอยกับมันมาก ๆ เรากลายเป็นคนชอบหนังดรามา นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนก็ได้ ทำให้เราชอบหนังแบบนี้มาโดยตลอด เลยรู้สึกว่าเวลาเราทำหนัง ต่อให้มันจะดรามาหรือมี message หนักแค่ไหน หนังมันต้องสนุก
The People: คุณเป็นผู้กำกับที่ทำหนังมาหลายแนวมาก ส่วนตัวเอ็นจอยกับการสร้างแบบไหนมากกว่ากัน
ชูเกียรติ: จริง ๆ ทำหนังได้ทุกแนว แต่ที่ยังไม่เคยทำเลยคือหนังตลก แบบตลกมาก ๆ เพราะเราอาจจะไม่ใช่คนตลกเท่าไหร่ หรือกลัวเพราะความตลกเป็นสิ่งส่วนตัวมากเลย คนเราหัวเราะกันคนละเรื่อง ก็เลยไม่ได้ทำ จริง ๆ เราชอบทำหนังแอ็กชัน แต่มันใช้ตังค์เยอะก็เลยไม่ค่อยมีใครให้ทำ หนังผีก็สนุกดี ผีเพียว ๆ ก็ตื่นเต้นไปเลย ไม่ต้องมีสาระก็ได้ ดูแล้วน่ากลัว สยอง ตื่นเต้น ลุ้น หรือหนังไล่ล่าฆ่ากัน เราชอบให้มันบรรลุไปถึงจุดที่สนุกมาก ๆ สรุปก็ชอบทำไปหมด
แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเราทำหนังชีวิต เราก็จะได้ assign ให้ทำหนังรักเป็นหลัก หรืออาจเพราะวงการหนังไทยไม่ค่อยมี budget (หัวเราะ) เราเอ็นจอยกับการทำมันนะ มัน deep มันได้ค้นลึกลงไปในความคิดของตัวเราและตัวละครเวลาทำบท บวกประสบการณ์ส่วนตัว บวกกับเรื่องที่เคยได้ยินมา แล้วเราหวังว่ามันจะไปโดนใจคนในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
มันคล้าย ๆ กับการเขียนเพลงเหมือนกัน ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของเพลงในท้องตลาดคือเพลงรัก และเวลาคน express อารมณ์ต่าง ๆ จะออกมาเป็นดนตรีอันสวยงาม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นความรู้สึกรักใคร่ ไม่ว่าอกหักหรือรักสมหวัง ฉะนั้นแก่นเวลาทำหนังรักหรือทำเพลงรักคือมันต้องโดนใจคน แต่การหามุมโดน ๆ แม่งเป็นคำที่อธิบายยากมากเลย
คือไม่ว่าจะเป็น รักแห่งสยาม (2550) หรือ Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (2555) เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะไปโดนคนอื่นหรือเปล่า แต่จริง ๆ ชีวิตคนเราก็จะมีส่วนที่คล้าย ๆ กันอยู่ เราทุกคนเคยผิดหวังในชีวิต เราเคยแอบชอบคนอื่น เราเคยมีความรัก เราเคยสูญเสียคนรัก ไอ้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันเป็นความรู้สึกที่เหมือนกัน แล้วเราก็เชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้เป็นประสบการณ์สากล
The People: แล้วตอนทำภาพยนตร์ระทึกขวัญที่มีนัยยะทางสังคม คุณทำเพื่อตอบสนองอะไร
ชูเกียรติ: มันสะใจ (หัวเราะ) เราเชื่อว่าคนในสังคมมีเรื่องอัดอั้นตันใจอยู่เยอะ อยากตบหน้าคนที่เกลียด อยากให้คนที่คดโกงตาย ๆ ไป มันก็จะถูกสะท้อนในหนังแบบนี้
เราอาจเอาตัวเองไปแทนพระเอก-นางเอกที่กำลังจะหนีเอาตัวรอดหรือต้องต่อสู้กับอะไรบางอย่าง แล้วเมื่อตัวละครของเราได้แก้แค้น ได้เอาคืน นี่แหละคือความสะใจที่คนไปดูหนังแล้วจะอินกับสิ่งนี้ เขาได้ระบายออกไป
[caption id="attachment_13380" align="alignnone" width="1200"]
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล[/caption]
The People: ย้อนกลับไปตอน “รักแห่งสยาม” คุณสร้างหนังในยุคที่ LGBTQ ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ตอนนั้นคุณมีความคิดอะไรอยู่
ชูเกียรติ: ใช่ ในยุคนั้น LGBTQ ยังไม่ได้บูมขนาดนี้ ทุกคนยังปิดตัว โอกาสยังไม่ได้เปิดให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศ การแสดงความรักต่อกันและกันในหมู่ชายรักชายยังถูกมองว่าผิด ๆ เป็นเรื่องของกะเทย เป็นเรื่องของตุ๊ด เกย์ จะถูกมองว่าเป็นอีแอบ ซึ่งเป็นคำที่เหยียดมาก ๆ บางคนเลยรู้สึกว่าไม่สามารถ come out ได้ แต่เราก็ portrait ตัวละครออกมาเป็นภาพของมนุษย์ปกตินี่แหละ เหมือนชายหญิงทั่วไปที่เขามีความรักต่อกัน
The People: คิดว่าทำไม “รักแห่งสยาม” ยังคงได้รับการพูดถึงในฐานะภาพยนตร์ที่สร้างความเข้าใจเรื่อง LGBTQ แก่สังคม
ชูเกียรติ: มันคงเป็นไอคอนของยุคสมัยแหละ ถามว่ารู้สึกอย่างไร ก็รู้สึกดี รู้สึกขอบคุณมาก ๆ รู้สึกปลาบปลื้มใจ และก็ขอบคุณโมเมนต์ช่วงนั้นในชีวิตมาก ๆ ที่ไม่ว่าพระเจ้าหรือใครก็ตามทำให้มันเกิดขึ้นมา เราทำหนังแบบซื่อสัตย์กับตัวเองมาก แถมมันยังเปลี่ยนแปลงสังคม หนังทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างขึ้นมาได้ โมเมนต์นั้นเราแค่รู้สึกดีจังเลย แล้วถามว่าคาดหวังว่าจะกลับไปสู่จุดนั้นได้อีกไหม เราว่าคงไม่ขนาดนั้นแล้ว เพราะในตอนนี้เราแค่ทำหนังแบบจริงใจของเราต่อไป แล้วคงจะเกิดอะไรดี ๆ ขึ้นเอง นี่คือความเชื่อส่วนตัว
The People: รวมไปถึงเพลง “กันและกัน” ที่กลายเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ดังที่สุดก็ว่าได้?
ชูเกียรติ: จริง ๆ ต่อให้ไม่แต่งให้หนังตัวเอง เราก็มีพาร์ตหนึ่งที่ทำดนตรีให้คนอื่นร้องเพลงอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นเราคิดว่า เฮ้ย หนังมันมีเพลงว่ะ เราก็ไม่ค่อยมีตังค์จ้างนักดนตรีคนอื่นมาเขียน (หัวเราะ) ก็เลยเขียนเอง ต้องขอบคุณสหมงคลฟิล์มหรือใครก็ตาม ณ ตอนนั้น ที่ยอมให้เราทำเพลงเอง (หัวเราะ)
The People: รู้สึกอย่างไรที่ปัจจุบันกระแสชายรักชายมีอยู่ทั่วไปในสื่อทุกประเภท
ชูเกียรติ: ก็ประหลาดใจ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเขา แต่สิ่งที่ประหลาดใจก็คือ ณ วันที่เราเอา รักแห่งสยาม ไปขาย ไม่มีใครเอา เพราะว่าทุกคนกลัวจุดขายเกย์ มันขายไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะไปดูหนังเกย์หรอก แต่ตอนนี้กลายเป็นมีพื้นที่ทางการตลาดที่ขายได้แน่นอน ทำแล้วจะมีกลุ่มคนดูชัวร์ ดังนั้นทำไปเลยจ้า แม้กระทั่งเร็ว ๆ นี้เราทำงานซีรีส์ในแพลตฟอร์มสากล ก็มี request มาเบา ๆ ว่าอยากให้มีความ boy love นิด ๆ ได้ไหม (หัวเราะ) กลายเป็นลูกค้า request เองแล้ว
The People: จาก “รักแห่งสยาม” มาสู่ “ดิว ไปด้วยกันนะ” สังคม LGBTQ ในหนังเปลี่ยนบริบทไปอย่างไรบ้าง
ชูเกียรติ: ทุกวันนี้อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป ถึงวันนี้จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ setup หนังของเราอยู่ในเมืองที่ห่างไกล ไม่ใช่ตัวเมือง เป็นอีกพาร์ตหนึ่งของเชียงใหม่ เป็นเมืองที่สวยงามแต่มีความโหดร้าย
The People: ใส่กลิ่นอายของ LGBTQ ใน “ดิว ไปด้วยกันนะ” มากน้อยแค่ไหน
ชูเกียรติ: ไม่ใช่แค่กลิ่น แต่เป็นรสชาติเลย พูดตรง ๆ ไปเลย มันคือเรื่องของ LGBTQ ในยุค 90’s หนังเริ่มต้นจากตรงนั้น เราพูดถึง 2 ยุคคือยุค 90’s กับยุคปัจจุบัน ภาพ LGBTQ ที่เรานำเสนอในยุคนั้น เด็กรุ่นใหม่ไม่เก็ตแน่นอนว่าเคยโหดร้ายขนาดนั้นเลยเหรอ เราพาย้อนกลับไปในยุคนั้น ถ้าเป็นคนรุ่นเดียวกันดูแล้วจะเข้าใจเลยว่าภายใต้ยุค 1996-1997 เทือก ๆ นั้น เป็นยุคที่ดนตรีเบ่งบาน สดใส เป็นยุค alternative ทั้งเพลงป๊อป มี ทาทา ยัง มี โบ – สุนิตา ลีติกุล เป็นยุคเบ่งบานของศิลปะมาก ๆ แต่ภายใต้สิ่งเหล่านั้น เวลาสังคมพูดถึง LGBTQ ก็ยังถูกเหยียดหยาม ถูกกีดกัน ไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกถีบไปเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ เป็นคนชายขอบสังคม เป็นตัวตลก หรือบางครั้งก็เป็นโรคร้ายที่ต้องได้รับการรักษา ถ้าคนอายุเดียวกันแล้วผ่านเรื่องแบบนี้มาเหมือน ๆ กันจะเข้าใจสิ่งนี้ แต่อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับน้อง ๆ ว่าเคยเจอเรื่องแบบนี้ด้วยเหรอ มีสิจ๊ะ (หัวเราะ) แต่เราไม่เคยพูดถึงมันเพราะน้อง ๆ ผ่านยุค รักแห่งสยาม มาแล้ว
The People: เตรียมพร้อมก่อนจะไปดู “ดิว ไปด้วยกันนะ”
ชูเกียรติ: จริง ๆ การไปดูหนังเรื่องนี้โดยไม่รู้อะไรเลยจะเป็นเรื่องที่ดีมาก (หัวเราะ) รู้ว่ามีมะเดี่ยวกำกับ มีเวียร์ (ศุกลวัฒน์ คณารศ) เล่น มีเด็กใหม่ 2 คน แล้วก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ 2 ยุคสมัยเท่านั้นพอ (หัวเราะ) มันก็เป็นเรื่องเด็ก 2 คนในยุคนั้นที่มีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน แต่เขาไม่สามารถแสดงความรู้สึกดี ๆ นั้นได้ เพราะสังคมกีดกันอย่างแรงกล้า ไม่ใช่แค่ครอบครัว แต่ระดับสังคมเลย ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางร่วมกันได้ ในที่สุดพวกเขาก็พลัดพรากแยกย้ายจากกันไป 20 ปีต่อมา คนหนึ่งเติบโตแล้วกลับมาเป็นครูรอการบรรจุโรงเรียน ทำให้เขาต้องดูแลเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเด็กผู้หญิงคนนี้ทำให้เขารู้สึกนึกถึงเพื่อนเก่าที่เคยสนิทกัน
[caption id="attachment_13378" align="alignnone" width="1200"]
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล[/caption]
The People: หนังเรื่องนี้ผสมผสานประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปด้วยไหม
ชูเกียรติ: ใช่ ชีวิตเราน่าสนใจ (หัวเราะ) เราว่าผู้กำกับทุกคนเขาก็ทำอย่างนี้แหละ หรือแม้กระทั่งนักเขียนทุกคนก็ทำงานจากประสบการณ์ตัวเองทั้งนั้นแหละ ยกเว้นแต่หนังไล่ล่าฆ่ากัน เราอาจจะไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย แต่เราอ่านข่าวแล้วจินตนาการเอา เราทำหนังผี แต่ไม่ต้องถูกผีหลอกจริง ๆ เรารู้เพราะเราเคยกลัวความมืด จินตนาการแบบไหนที่มันหลอกหลอนเรา เช่นเดียวกับหนังรักหรือหนังที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งก็เล่าได้ดีเพราะมันเป็นสิ่งที่เราเคยเจอ บางแง่มุมก็เคยผ่านเรื่องนี้มา คนที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบเดียวกันน่าจะเข้าใจ เราก็หยิบจับมาใส่
The People: แสดงว่าเคยเจอความกดดันเพราะเป็น LGBTQ?
ชูเกียรติ: เคยเจอ คือสมัยก่อนเราก็ไม่ได้ตุ๊ดจ๋าอะไรขนาดนั้น เพราะมีพื้นที่ให้น้อยมาก เรารู้สึกดีกับเพื่อนผู้ชาย แล้วเราอยู่ชายล้วนด้วย บางทีเขาก็รู้สึกดีกับเรา แต่แบบ...ก็ไม่รู้จะทำยังไง (หัวเราะ)
หนังเราจะพูดถึงยุค พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา แล้วยิ่งต่างจังหวัดก็จะมีความเข้มข้นเรื่องโรคเอดส์ ไอ้การให้ความรู้กันแบบผิด ๆ เพราะตอนนั้นจะพุ่งเป้าไปที่คนรักร่วมเพศ ในยุค 90’s แน่นมาก แบบคนเป็นรักร่วมเพศเป็นพาหะของเชื้อเอดส์ พอ message นี้เข้ามาแล้วต่างจังหวัดไม่เข้าใจไง ก็นึกว่าคนเป็นตุ๊ดต้องเป็นเอดส์ (หัวเราะ) คือมีความเข้าใจผิดกันหมด มีความเชื่อว่าเป็นกะเทยหรือรักร่วมเพศแล้วจะเป็นเอดส์ แถมเป็นเอดส์แล้วตาย ฉะนั้นคนก็ไม่อยากให้ลูกเป็นตุ๊ด แต่ทุกวันนี้เราเข้าใจหมดแล้วว่าการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร โลกแม่งเพี้ยนมาก
The People: สำหรับคุณการ come out กับครอบครัว เป็นเรื่องยากไหม
ชูเกียรติ: ไม่ (หัวเราะ) ก็ปล่อยให้เขารู้กันไป จริง ๆ แม่เห็นเราพาเพื่อนผู้ชายเข้าบ้านบ่อย ๆ เขาก็คงรู้แหละมั้ง (หัวเราะ) แล้วในชีวิตจริงคงไม่ได้มีหรอกที่จะมานั่งคุยกันตรง ๆ ซึ่งเราเองออกจากบ้าน เราไม่ค่อยได้อยู่กับบ้าน หรือพูดคุยอะไรกันเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าชีวิตส่วนตัวเราก็ไปของเรา เขาไม่ได้สนใจว่าเราเท่าไหร่
The People: แต่หนังของคุณทำให้คนกล้าพูดคุย กล้า come out กับครอบครัวมากขึ้น?
ชูเกียรติ: ก็ดีแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่เราไม่ต้องนั่งคุยหรอก อายุป่านนี้แล้ว (หัวเราะ)
The People: ทุกวันนี้คุณมองภาพรวมของสังคมที่มีต่อ LGBTQ เป็นอย่างไร
ชูเกียรติ: เปลี่ยนไปในระดับที่ enlighten แล้วแหละ แต่มันก็เริ่มต้นมาจาก รักแห่งสยาม แหละที่เปิดภาพใหม่ให้ LGBTQ มีตัวตนในสังคม ให้ LGBTQ มีชีวิตร่วมโดยที่คนไม่ตัดสินกันว่า คุณมีรสนิยมแบบนี้ คุณจะไม่สามารถทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ แต่ก็ยังมีข่าวครูโดนเหยียด ไม่ให้กะเทยเป็นครู หรือมีการด่ากัน ซึ่งคนที่มีปัญหาส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนหัวเก่า แต่เรากำลังสร้างโลกใหม่ที่เราอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติดีกว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร
[caption id="attachment_13379" align="alignnone" width="1200"]
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล[/caption]
The People: “ดิว ไปด้วยกันนะ” เป็นหนังรักโรแมนติกใช่ไหม
ชูเกียรติ: ใช่ เราพูดถึงความรักแบบตรง ๆ พูดถึง values ของมัน พูดถึงความสำคัญที่ความรักมีกับชีวิต เอาจริง ๆ ในเวลาที่เราย่ำแย่กับชีวิต เวลาเจอปัญหา สิ่งที่ช่วยเราไว้อาจจะเป็นคนรอบข้าง เช่น คนที่กำลังจะโดดสะพานแล้วนึกถึงหน้าลูกเมียก็ไม่โดด หรือคนที่ย่ำแย่มาก ๆ กลับไปบ้านเจอแม่แล้วรู้สึกกำลังใจดีขึ้น จริง ๆ เราเชื่ออยู่ว่าความรักมีจริง เป็นสิ่งสำคัญ แล้วมันก็สวยงาม ต่อให้เราเป็นคน realistic ขนาดไหน เราก็จะมีมุมนี้อยู่ เพราะเราเคยผ่านมันมา
The People: หมายความว่า คุณเคยได้ความรักประคองในช่วงย่ำแย่?
ชูเกียรติ: ใช่ เราดาวน์ และไม่ใช่แค่ตัวเรา คนอื่น ๆ ด้วย มันเป็นช่วงชีวิตที่แย่มาก ๆ เราก็มีคนคอยดูแลตลอด คอยซัพพอร์ตชีวิตเราอยู่ตลอด เพราะเรามี drive ในชีวิตด้วยความรัก และเคยผ่านโมเมนต์ที่ต้องสูญเสียอะไรหลาย ๆ อย่าง เราโอเคกับการได้อยู่ด้วยกันกับคนที่เรารัก มันดีกว่าการที่เราจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน หรือเราพลาดอะไรไป เรารู้สึกว่า... เรายอมเสียอะไรไปมากมายเพื่อที่จะได้อยู่กับคนที่เรารัก ดูบ้าบอเนอะ แต่มันก็จริง
The People: มะเดี่ยวเป็นคนโรแมนติกไหม
ชูเกียรติ: เราเป็นศิลปิน เราเป็นนักแต่งเพลง เราก็ต้องมีมุมนี้อยู่ คือเราโตมาเห็นพ่อแม่อยู่ด้วยกัน โอเค เขาไม่ได้เป็นคนที่รักกันจี๋จ๋าอะไรขนาดนั้น เขาก็ทะเลาะกันบ้าง แต่เราเคยเห็นเขาอยู่ด้วยกันจนวันสุดท้ายของชีวิต เราเคยเห็นการดูแลเอาใจใส่ การประคับประคองเพื่อให้อีกคนอยู่ได้ เพราะฉะนั้นพอเราเห็นกับตา จะให้เราไม่เชื่อหรือว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่มีจริงได้ยังไง กระทั่งแฟนเราก็เพิ่งเสียไป เราก็ดูแลเขาจนถึงวันสุดท้าย แล้วถ้าเวลานั้นเราไปทำอย่างอื่น นี่แหละเราจะสูญเสียมันแล้วกลับมาไม่ได้
คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทอง เรื่องการงาน หรือเรื่องอะไร เราบอกน้องทุกคนเลยว่า ถ้าเรายังไม่ตาย เรามีสมอง มีมือมีตีน มันทำให้พวกนี้กลับมาได้หมดแหละ แต่คนที่เรารัก กับคน มันไปแล้วไปเลยเว้ย! ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย มันไปแล้วไปเลย ดังนั้นเมื่อคุณมีความรักหรือคนรักอยู่กับตัว ดูแลกันให้ดี ดูแลกันจนรู้สึกว่าความรักมีจริง แล้วก็คุ้มค่าแก่ชีวิตที่เกิดมาแล้ว... อยู่ต่อไป
แต่คุณเชื่อเถอะ วันหนึ่งคุณโตมา คุณจะต้องการใครสักคนหรือ 2-3 คนที่อาจจะไม่ใช่แฟนก็ได้ อาจเป็นเพื่อนหรือเป็นครอบครัวที่เราอยู่ด้วยแล้วรู้สึกถึงการมีครอบครัว มีคนที่ไปกับเราในทุก ๆ ย่างก้าวได้ในวันที่เราล้ม เขาจะอยู่ตรงนั้น แล้วก็จะคอยช่วยเหลือกันได้
The People: ความสุขของคุณทุกวันนี้คืออะไร
ชูเกียรติ: แต่ก่อนคือการทำงานเว้ย แต่พอเราผ่านเหตุการณ์บางอย่างมา เรารู้สึกว่าถึงทำงานหนัก ๆ ไป แม่งได้อะไรมาตั้งเยอะตั้งแยะก็จริง แต่เอาไปไม่ได้สักอย่างเลยว่ะ แต่เรายังอยู่ ก็ต้องกินต้องใช้เนอะ ก็พยายามวางบาลานซ์ให้ดี
ความสุขของเราคือการได้ทำงานแหละ ทำงานได้เงินมา แล้วเอาเงินไปใช้ให้ตัวเองมีความสุขกับคนที่เรารัก แล้วก็อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ เพราะสุดท้ายเราก็รู้แล้วแหละว่า ความสุขมันแยกออกจากสิ่งอื่น
โอเค เงินซัพพอร์ตความสุข แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เวลาเป็นตัวซัพพอร์ตความสุข สุขภาพก็เป็นตัวซัพพอร์ตความสุขเช่นกัน และการบาลานซ์มันในสังคมทุกวันนี้แม่งยากมากเลย (หัวเราะ)
The People: คนไปดู “ดิว ไปด้วยกันนะ” แล้วจะได้อะไรกลับไป
ชูเกียรติ: ได้ความโรแมนติกในชีวิต เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้คือของหวานแหละ ทุกวันนี้เราเสพกินอะไรเต็มไปหมดแล้ว บางทีเรากินของหวานดูบ้าง เพิ่มความหวานให้ชีวิต เพิ่มน้ำตาลในเลือด จะได้มีพลังงาน (หัวเราะ)
[caption id="attachment_13382" align="alignnone" width="1200"]
ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล[/caption]