จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์: ผู้นำหญิงที่โดดเด่นสุด ในวันที่โลกเผชิญวิกฤต

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์: ผู้นำหญิงที่โดดเด่นสุด ในวันที่โลกเผชิญวิกฤต

ไม่แข็งกร้าวแต่เข้มแข็ง และยืนเคียงข้างประชาชน

หลายคนอาจเบื่อกับการเมืองสไตล์เก่า ๆ ที่ผู้นำต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวเพื่อบอกให้รู้ว่าเปี่ยมด้วยความเข้มแข็ง มีสไตล์ดุดันเพื่อให้ประชาชนรู้สึกไว้วางใจว่าผู้นำจะพาชาติพ้นภัยได้ แต่ จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีหญิงจากนิวซีแลนด์กลับสวนกระแส เธอแสดงท่าทางเป็นกันเอง เน้นไม้อ่อนปลอบโยนผู้คน สร้างความรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย ผ่านบทสนทนาที่ผ่อนคลายในวาระต่าง ๆ และการไลฟ์พูดคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง แทนที่จะใช้ไม้แข็งอย่างกฎหมายรุนแรงเด็ดขาดช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัส ฉีกแนวผู้นำประเทศแบบเดิม ๆ ที่เข้าถึงยากจนหมดสิ้น ทั้งการประกาศว่าจะลดเงินเดือนตัวเอง 20% นาน 6 เดือน ทำให้ตอนนี้เธอคือผู้นำที่โลกพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่งไปเสียแล้ว ก่อนโลกจะเจอกับเหตุการณ์โควิด-19 คนส่วนใหญ่รู้จัก จาซินดา อาร์เดิร์น จากคลิปสรุปผลงานรัฐบาล 2 ปี ภายใน 2 นาที ที่เธอลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าทำอะไรมาแล้วบ้าง ทั้งการสร้างงานกว่า 92,000 ตำแหน่ง กีดกันการเข้ามากอบโกยกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ปลูกต้นไม้ได้ 140 ล้านต้น ทำให้สถิติตกงานต่ำสุดในรอบ 11 ปี แบนอาวุธสงคราม ใส่ใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ แม้จาซินดาจะทำเวลาเกินมา 56 วินาที แต่การกล่าวสั้น ๆ ของเธอทำให้คนทั่วโลกทึ่งกับนโยบายของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่ดูดี เหมือนกับอยู่ในเมืองแห่งความฝัน จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์: ผู้นำหญิงที่โดดเด่นสุด ในวันที่โลกเผชิญวิกฤต จาซินดาเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน (Labour Party) ซึ่งตอนแรกเป็นพรรคฝ่ายค้าน เธอก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 40 ของนิวซีแลนด์ ด้วยวัยเพียง 37 ปี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2017 สร้างสถิติเป็นผู้นำอายุน้อยสุดใน 161 ปี ของประวัติศาสตร์การเมืองนิวซีแลนด์นับตั้งแต่ปี 1856 เป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 ของประเทศ ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่ผู้นำหัวใหม่อายุน้อยและผู้นำหญิงต่างมาแรงจนถูกพูดถึงในวงกว้าง เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 1 ปี 5 เดือน ก็ต้องพบกับบททดสอบใหญ่ในฐานะผู้นำนิวซีแลนด์ เพราะช่วงเที่ยงของวันที่ 15 มีนาคม ปี 2019 ขณะที่ชาวมุสลิมในเมืองไครสต์เชิร์ช รวมตัวกันเพื่อทำพิธีทางศาสนา มีชายผิวขาวคนหนึ่งบุกมัสยิดพร้อมปืนไรเฟิลและกราดยิงผู้คนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย เมื่อจาซินดาทราบถึงโศกนาฏกรรม เธอได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็น “การก่อการร้าย” ทันที แม้จะมีชาวผิวขาวหัวรุนแรงบางคนไม่เห็นด้วยก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ผู้คนต่างเฝ้ารอดูท่าทีของผู้นำประเทศ วันถัดมา จาซินดาเดินทางไปร่วมไว้อาลัยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่มัสยิด เธอสวมฮิญาบสีดำเพื่อแสดงความเสียใจต่อญาติผู้เสียชีวิต พร้อมกับแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง การเหยียดเชื้อชาติ และความขัดแย้งทางศาสนา เธอไม่อยากให้ประเทศเกิดการแบ่งแยกด้วยเรื่องเหล่านี้ เหยื่อผู้เสียชีวิตถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนิวซีแลนด์ แถมยังปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะเอ่ยชื่อของผู้ก่อเหตุ เพราะไม่อยากให้โลกได้จดจำชื่อหรือหน้าตาของคนที่พรากชีวิตผู้อื่น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ No Notoriety กลุ่มรณรงค์ขอสื่อไม่เปิดเผยชื่อและหน้าตาฆาตกรโหด) จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์: ผู้นำหญิงที่โดดเด่นสุด ในวันที่โลกเผชิญวิกฤต “ผู้ก่อเหตุต้องการหลายสิ่งจากการกราดยิง หนึ่งในนั้นคือชื่อเสียงด้านลบ ฉันจึงไม่มีวันเอ่ยชื่อคนคนนี้ เขาเป็นเพียงผู้ก่อการร้าย เป็นอาชญากร นิวซีแลนด์จะไม่มีวันมอบสิ่งที่ผู้ก่อการร้ายต้องการเด็ดขาด” เมื่อเธอต้องกล่าวเปิดสภาครั้งแรกหลังเหตุก่อการร้าย จาซินดากล่าวทักทายที่ประชุมด้วยประโยค “ขอความสันติสุขจากพระผู้เป็นเจ้าจงมีแด่ท่าน” ที่คนมุสลิมใช้ทักทายกัน เธอสัญญาจะแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธปืนของประเทศภายใน 10 วัน จนวันที่ 11 เมษายน 2019 นิวซีแลนด์ออกกฎหมายห้ามครอบครองอาวุธกึ่งอัตโนมัติ ปืนไรเฟิลจู่โจมทุกชนิด และปืนขนาดเล็ก จนได้รับคำชื่นชมผ่านบทวิจารณ์ของสื่อใหญ่ทั่วโลกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรม เธอยังไม่เคยทำอะไรพลาดเลย จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์: ผู้นำหญิงที่โดดเด่นสุด ในวันที่โลกเผชิญวิกฤต หนึ่งปีผ่านไปกับเหตุการณ์มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช จาซินดาได้ขึ้นปกนิตยสาร Time ฉบับเดือนมีนาคม 2020  พร้อมกับข้อความเขียนว่า ‘KNOW US BY OUR DEEDS’ หรือ ‘รู้จักเราผ่านสิ่งที่พวกเราได้ทำ’ เธอกลายเป็นตัวแทนของสตรียุคใหม่ที่เปี่ยมด้วยภาวะผู้นำ มีการสื่อสารจับใจความง่าย ตรงประเด็น  และมีท่าทีสุขุมไม่แข็งกร้าว เป็นผู้นำหญิงแกร่งอีกคนที่ทั่วโลกให้การยอมรับ หลังจากไวรัสไม่ได้แพร่กระจายอยู่แค่ทวีปเอเชียอีกต่อไป นายกฯ นิวซีแลนด์ได้แถลงการณ์ว่า รัฐบาลเตรียมยกระดับเฝ้าระวังระดับ 4 ที่ถือเป็นขั้นสูงสุด เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในงานแถลงข่าวเธอเคยแสดงความกังวลกับเรื่องเล็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เช่น พูดถึงราคาหัวกะหล่ำว่าตอนนี้มีราคาเท่าไหร่แล้ว (ราคาสินค้าทั่วไปในตลาดสด สามารถบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจช่วงนั้นได้) พร้อมกับยินดีให้นักข่าวถามคำถาม ต่างจากหลายประเทศที่ผู้นำมักแถลงข่าวทางโทรทัศน์ ไม่เปิดโอกาสให้สื่อตั้งคำถาม แถมจาซินดายังยืนยันหนักแน่นว่า “รัฐบาลจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องคุณ” สร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวนิวซีแลนด์ได้ไม่น้อย  ช่วงค่ำของวันที่ 26 มีนาคม 2020 ก่อนนิวซีแลนด์เตรียมล็อกดาวน์ประเทศ 1 เดือน จาซินดาออกมาไลฟ์เฟซบุ๊กด้วยท่าทีสบาย ๆ เปิดโอกาสให้ประชาชนถามสิ่งที่ตัวเองสงสัยเกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งการไลฟ์ครั้งนี้มีผู้เข้าชมมากกว่า 2.3 ล้านคน ทั้งชาวนิวซีแลนด์และชาวต่างชาติพากันเข้ามาดูเธอพูดคุยกับประชาชน กล่าวชมว่าการกระทำของจาซินดาสามารถลดความตื่นตระหนกของผู้คนได้อย่างดีเยี่ยม เป็นอีกหนึ่งวาทศิลป์ผู้นำที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ประเทศมหาอำนาจ ส่องวาทะผู้นำ พาพลเมืองโลกฝ่าวิกฤตโควิด-19) 15 เมษายน 2020 เว็บไซต์เอเอฟพี (AFP) รายงานว่า จาซินดา อาร์เดิร์น ประกาศลดเงินเดือนตัวเอง รวมถึงรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานราชการ โดยมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกล่าวชื่นชมและของคุณทีมแพทย์ที่ต้องทำงานหนัก แสดงให้ประชาชนมองเห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชนไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์เตรียมลดระดับการเฝ้าระวังไวรัสจากระดับ 4 เป็นระดับ 3 ธุรกิจหลายประเภทจะกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง แต่เธอก็ได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า “แม้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของนิวซีแลนด์จะน้อยกว่าหลายประเทศ แต่เราต้องไม่ลืมว่าทุกคนอาจเป็นพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนของใครสักคน ซึ่งพวกเราทุกคนจะช่วยกันปกป้อง” จนทำให้ประชาชนบางส่วนรู้สึกว่า

“จาซินดาไม่ได้สอนสั่งประชาชน แต่เธอยืนเคียงข้างพวกเขา”

จาซินดา อาร์เดิร์น นายกฯ นิวซีแลนด์: ผู้นำหญิงที่โดดเด่นสุด ในวันที่โลกเผชิญวิกฤต นิตยสารฟอร์บส (Forbes) ตีพิมพ์บทความ “What Do Countries With The Best Coronavirus Responses Have In Common ? Woman Leaders” หรือ “จุดร่วมของประเทศที่รับมือกับโคโรน่าไวรัสได้ดีที่สุดคืออะไร ? คำตอบคือ ผู้นำหญิง” เนื้อหาบทความคือการชื่นชมเหล่าผู้นำหญิงจาก 7 ประเทศ ที่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น แองเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่แถลงการณ์อย่างจริงใจ โดยใช้ท่าทีสุขุมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และยอมกักตัวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อดูอาการว่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หรือ ไช่ อิง เหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวัน ที่เร่งใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึง จาซินดา ซึ่งติด 1 ใน 7 ผู้นำหญิงมากความสามารถด้วยเช่นกัน กรณีของ จาซินดา อาร์เดิร์น ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์หลากหลาย ทั้งการก่อการร้าย ปัญหาปากท้องประชาชน ความสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงไวรัสโควิด-19 ล้วนเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นบทบาทผู้นำในภาวะวิกฤต ผู้นำบางประเทศอาจใช้นโยบายดุดัน แข็งกร้าว ผู้นำบางประเทศอาจใช้วิธีเป็นกันเองและสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับประชาชนผ่านวาทศิลป์ชาญฉลาด  แต่ท้ายสุด ไม่ว่าจะวิธีใด ผลลัพธ์ของจำนวนผู้ติดเชื้อ ความอิ่มท้องของประชาชน และระบบสาธารณสุข คือตัวตัดสินประสิทธิภาพของผู้นำที่ชัดเจนที่สุด     ที่มา https://www.afp.com/en/news/15/new-zealand-pm-takes-pay-cut-virus-hits-economy-doc-1ql6pu1 https://edition.cnn.com/2020/04/14/asia/women-government-leaders-coronavirus-hnk-intl/index.html https://www.nytimes.com/2019/03/22/world/australia/jacinda-ardern-new-zealand-leader.html https://www.bbc.com/news/world-asia-52344299 https://www.forbes.com/sites/avivahwittenbergcox/2020/04/13/what-do-countries-with-the-best-coronavirus-reponses-have-in-common-women-leaders/#648017a13dec   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์