กองทัพญี่ปุ่น วางระเบิดทางรถไฟตัวเอง อ้างเหตุรุกรานแมนจูเรีย

กองทัพญี่ปุ่น วางระเบิดทางรถไฟตัวเอง อ้างเหตุรุกรานแมนจูเรีย
หลังการปฏิรูปเมจิซึ่งทำให้ประเทศมีความทันสมัยและเข้มแข็งทัดเทียมมหาอำนาจยุโรป ญี่ปุ่นมีความต้องการที่จะแผ่อิทธิพลไปยังภาคพื้นทวีป เริ่มจากเกาหลี พวกเขาสามารถทำสงครามเอาชนะกองทัพรัสเซีย ทำให้รัสเซียต้องยอมล่าถอยจากภูมิภาคตะวันออกไกล ก่อนที่ญี่ปุ่นจะค่อย ๆ กลืนเกาหลีและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิในปี 1910 ความทะเยอทะยานของญี่ปุ่นไม่หยุดลงเพียงเท่านั้น พวกเขายังหมายที่จะรุกรานจีน อดีตมหาอำนาจที่กำลังระส่ำระสาย เริ่มจากการอุดหนุนขุนศึกจีนเป็นหุ่นเชิด ก่อนฆ่าทิ้งหมายกระชับอำนาจ ตามด้วย "วางระเบิด" ทางรถไฟที่อยู่ในการควบคุมของตนแล้วโยนผิดไปให้ทหารจีน เพื่อสร้างสถานการณ์หาความชอบธรรมในการเคลื่อนทัพเข้ารุกรานจีนในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า "กรณีมุกเดน 1931" จีนหลังการปฏิวัติประเทศล้มล้างสถาบันกษัตริย์แล้วหันมาปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ (1911) อำนาจการปกครองจริง ๆ ก็ได้ตกไปอยู่ในมือขุนศึกที่กุมกำลังทหารที่แท้จริง เช่น หยวน ซื่อข่าย ที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีนคนแรก หลัง ซุน ยัตเซ็น ผู้นำปฏิวัติ ที่ครองตำแหน่งประธานาธิบดีเฉพาะกาลยอมถอยให้  แต่อำนาจของรัฐบาลกลางก็มิได้มั่นคง ขุนศึกบ้านนอกต่างพากันแข็งเมืองกระด้างกระเดื่อง เช่นที่ แมนจูเรียซึ่งมี "จาง จั้วหลิน" (Zhang Zuolin) เป็นผู้นำ เขาคือขุนศึกที่ได้รับการอุดหนุนจากจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นจนสามารถขยายอำนาจไปได้ไกลถึงกรุงปักกิ่ง ก่อนถูกฝ่ายคณะชาติของ เจียง ไคเช็ก เข้าตี ทำให้จางต้องหนีจากกรุงปักกิ่ง  เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด จางซึ่งหลัง ๆ แสดงท่าทีแข็งข้อกับญี่ปุ่นพยายามหาชาติมหาอำนาจอื่นมาถ่วงดุล ก็ทำให้เขาถูกฝ่ายญี่ปุ่นหัวรุนแรงหมั่นไส้ ระหว่างที่กำลังถอยทัพกลับนั่นเอง ขบวนรถไฟของเขาก็ถูกวางระเบิดโดยคนของญี่ปุ่น ทำให้เขาบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จาง เสวียเหลียง (Zhang Xueliang) ลูกชายจึงขึ้นมามีอำนาจแทน   ฝ่ายหัวรุนแรงของญี่ปุ่นไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อเห็นว่ารัฐบาลนานกิงมีความคืบหน้าในการรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น ประกอบกับโซเวียตรัสเซียก็เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ พวกเขาเกรงว่า ดุลอำนาจในแมนจูเรียจะเปลี่ยนไป ก่อนที่ฝ่ายอื่นจะตั้งตัวได้ พวกเขาต้องชิงลงมือก่อนเพื่อกระชับอำนาจ โดยไม่ต้องการร่วมมือกับกลุ่มอำนาจท้องถิ่นที่มีอิทธิพลในพื้นที่อีกต่อไป (จาง เสวียเหลียง เลือกที่จะไปเข้ากับฝ่ายเจียง ไคเช็ก แล้วด้วย) จึงวางแผนหาทางให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถรุกล้ำอธิปไตยของจีนได้ โดยอ้างว่าเป็นการ "ป้องกัน" และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จากข้อมูลของ เส้า หย่ง และ หวัง ไห่เผิง (หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน) แผนการคราวนี้มาจากความคิดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพกวานตง ซึ่งเป็นกองทัพญี่ปุ่นที่มีฐานที่มั่นอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยเลือกใช้วิธีวางระเบิดทางรถไฟอันเป็นทรัพย์สินที่ญี่ปุ่นได้สิทธิในการแสวงประโยชน์ แล้วป้ายความผิดไปให้ฝ่ายจีน พวกเขาวางระเบิดบนทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ จุดที่วางอยู่ห่างจากเมืองมุกเดน (Mukden หรือเมืองเสิ่นหยางในปัจจุบัน) เป็นระยะทางราว 2.5 กิโลเมตร ซึ่งแม้จะไกลจากสายตาผู้คนแต่ก็ใกล้กับค่ายเป่ยต้า ฐานที่ตั้งกองทัพภาพตะวันออกเฉียงเหนือของ จาง เสวียเหลียง โดยตอนแรกพวกเขาวางแผนที่จะลงมือในวันที่ 28 กันยายน 1931 แต่เนื่องจากมีข่าวรั่วไหล และมีเสียงต่อต้านการรุกรานจากในประเทศ เซชิโร อิตางากิ (Seishiro Itagaki) เสนาธิการอาวุโสกองทัพกวานตง กลัวจะเสียแผน เลยสั่งการให้ชิงลงมือในวันที่ 18 กันยายน ปีเดียวกัน "(ร้อยโท) คาวาโมโตะ ซุเอโมริ วางดินระเบิดขนาดเล็กที่ทหารม้าใช้กันไว้ที่จุดเชื่อมรางรถไฟสองเส้นซึ่งอยู่ห่างจากค่ายเป่ยต้าไปทางทิศใต้ประมาณ 800 เมตร เวลา 22.20 น.คาวาโมโตะ ซุเอโมริ จุดชนวนระเบิด พอเสียงระเบิดดังขึ้น ทางรถไฟก็ถูกระเบิดขาดตอนไป 1.5 เมตร ระเบิดครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้เนื่องจากทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ถูกชาวญี่ปุ่นควบคุมไว้ได้แล้ว สาเหตุที่พวกเขาทำเช่นนี้ก็เพื่อจะได้ลดความเสียหายของตนเองลง" สองนักเขียนประวัติศาสตร์จีนระบุ ก่อนเสริมว่า "ชาวญี่ปุ่นพยายามปิดบังความจริงด้วยการเจตนาจัดวางศพที่สวมชุดทหารจีนสามศพไว้ในที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดแทงเสื้อผ้าพวกเขาเป็นรูพรุน รวมถึงถ่ายรูปไว้ด้วยเพื่อสร้างข่าวเท็จ" หลังเสียงระเบิดดังขึ้น ญี่ปุ่นก็จัดการโจมตีค่ายเป่ยต้าโดยทันที ในขณะที่ จาง เสวียเหลียง มิได้อยู่ในค่าย แต่ก่อนหน้านั้นเขาได้รับคำสั่งย้ำเตือนจากเจียง ไคเช็ก หลายครั้งว่าให้หลีกเลี่ยงการปะทะกับญี่ปุ่น จึงได้มีคำสั่งลงมาให้กองทัพของเขาสงวนกำลังและถอยทัพจากที่มั่น ซึ่งทำให้เขาถูกประณามว่ายอมยกแมนจูเรียให้กับญี่ปุ่นแบบง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่มีกำลังทหารนับแสนอยู่ในมือ (แต่เขาคือคนที่ภายหลังทำให้จีนคณะชาติและจีนคอมมิวนิสต์เลิกทำสงครามต่อกันแล้วหันไปสู้กับญี่ปุ่นแทนได้)  ฝ่ายญี่ปุ่นรีบป่าวประกาศเหตุการณ์ดังกล่าวไปทั่ว เพื่อหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ ซึ่งก่อนนั้นกำลังวุ่นวายอยู่กับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ให้หันมาร่วมใจกันเป็นหนึ่งเพื่อรักษาประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ (สร้างศัตรูเพื่อสร้างความร่วมมือร่วมใจ ใครไม่เอาด้วยถือว่าชังชาติ สูตรสำเร็จสำหรับลัทธิชาตินิยม)  นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเมื่อมหาสงครามจบลง นานาประเทศได้ตกลงจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันสงคราม และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง และเหตุรุนแรงในเสิ่นหยางก็มีเจ้าหน้าที่จากองค์การสันนิบาตชาติเข้ามาตรวจสอบ  หลังลงพื้นที่เป็นเวลา 6 สัปดาห์และทำการพิจารณาต่ออีกเกือบปี ทางคณะกรรมการฯ ก็ไม่อาจบอกได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นฝีมือของใคร ได้แต่ยกข้ออ้างของฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายยึดอำนาจเหนือแมนจูเรียไปแล้ว ทั้งเรื่องที่อ้างว่าการระเบิดทำให้รางรถไฟเสียหาย 1.5 เมตร แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ยังมีรถไฟวิ่งผ่านและไปถึงสถานีมุกเดน (เสิ่นหยาง) ได้ในเวลา 22.30 น. โดยไม่ประสบอุบัติเหตุ ทำให้คนสงสัยว่า ความเสียหายของมันมากแค่ไหน หรือมันได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่?  เมื่อไม่รู้จะสรุปข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือได้อย่างไร ทางคณะกรรมการของสันนิบาตชาติจึงเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัยนี้ แล้วให้ข้อสรุปว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของทั้งสองฝ่าย จีนผิดที่ใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านญี่ปุ่นโดยไม่ยอมประนีประนอม ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นที่ฉวยโอกาสเคลื่อนทัพรุกรานเพราะรางรถไฟเสียหายก็ไม่อาจถือเป็นการ "ป้องกันตัวเอง" เช่นเดียวกับการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดแห่งแมนจูกัวก็ขาดความชอบธรรมไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนจีนท้องถิ่น อยู่ได้ก็เพราะมีกองทัพญี่ปุ่นหนุนหลังเท่านั้น  ญี่ปุ่นไม่สนคำวินิจฉัย และประกาศถอนตัวจากองค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างความล้มเหลวขององค์กรที่ตั้งใจจะตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ สุดท้ายก็ไม่อาจยับยั้งความขัดแย้งนี้ได้ ญี่ปุ่นจึงยิ่งได้ใจรุกรานทั่วภูมิภาคเอเชีย บุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ ประกาศสงครามกับสหรัฐฯ  ความมาปรากฏในภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และมีการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามขึ้น ผู้ต้องคดีฝ่ายญี่ปุ่นไม่ค่อยมีการพูดถึงมากเหมือนนาซี ส่วนหนึ่งเพราะสหรัฐฯ ต้องการเก็บสถาบันจักรพรรดิไว้เป็นพันธมิตร และเอกสารสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวนมากก็เสียหายไปเพราะระเบิดของสหรัฐฯ และอีกส่วนก็ถูกฝ่ายญี่ปุ่นเองทำลายหลักฐาน ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะเข้ายึดครอง แต่เอกสารชุดหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับ "กรณีมุกเดน" ที่แสดงให้เห็นว่า กองทัพกวานตงมีความพยายามที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานจีน แต่ทางรัฐบาลพลเรือนที่โตเกียวไม่เห็นด้วย และพยายามยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้น แต่ก็ทำไม่สำเร็จ  เรื่องของเรื่องก็คือ คิวจิโร ฮายาชิ (Kyujiro Hayashi) กงสุลใหญ่ประจำมุกเดน ไปล่วงรู้แผนการของกองทัพกวานตงเข้า จึงรายงานไปถึง คิจุโระ ชิเดฮาระ (Kijuro Shidehara) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ชิเดฮาระก็ยื่นเรื่องประท้วงไปถึงกระทรวงสงคราม ทางกระทรวงสงครามก็อ้างว่าได้ส่งคนไประงับแผนการดังกล่าวแล้ว แต่สุดท้ายก็เกิดเรื่องขึ้นอยู่ดี  ระหว่างคืนที่เกิดเหตุ ฮายาชิ พยายามกล่อมให้ เซชิโร อิตางากิ ผู้นำกองทัพกวานตงและเจ้าของแผนการยุติการสู้รบ เข้าสู่โต๊ะเจรจา จาง เสวียเหลียง ก็ติดต่อกงสุลญี่ปุ่นทั้งคืน หวังว่าฮายาชิจะช่วยยับยั้งความขัดแย้งได้ แต่ไม่ว่าจะกล่อมอย่างไร อิตางากิก็ไม่เอาด้วย  ภายหลัง ฮายาชิส่งโทรเลขลับไปรายงานชิเดฮาระว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกองทัพน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง และได้เตรียมแผนการที่จะก่อเหตุบนทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้หลายจุด เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่นานเจ้าหน้าการรถไฟมีแผนที่จะซ่อมแซมรางบางส่วน กลับถูกกองทัพสั่งห้าม เขาจึงสรุปว่า เหตุระเบิดคราวนี้เห็นจะเป็นแผนของกองทัพกวานตงนั่นเอง  นอกจากนี้ อิตางากิเองก็เคยคุยโม้กับมิตรสหายถึงความสำเร็จของตัวเองระหว่างประจำการในกองทัพกวานตง รวมถึงการวางแผนขนถ่ายอาวุธเพื่อเตรียมใช้โจมตีกองทัพจีนก่อนหน้าวันลงมือเป็นอาทิตย์ (The Mukden Incident: September 18-19, 1931. The Journal of Modern History) ถึงตอนนี้ผู้ศึกษากรณีวางระเบิดทางรถไฟที่มุกเดน ก็ค่อนข้างมั่นใจที่จะบอกว่ามันเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่ออ้างเหตุใช้กำลังเข้ารุกรานจีนของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งกว่าที่คนทั่วไปจะรู้ว่า มันเป็นแผนการร้ายของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายก็ต้องใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี ต้องรอจนกระทั่งผู้นำกองทัพญี่ปุ่นสิ้นอำนาจ ซึ่งหากเป็นไปในทางตรงกันข้าม อิตางากิที่ก้าวหน้าเคยขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงครามก็อาจจะไปได้ไกลกว่านั้น และคงไม่จบชีวิตด้วยการต้องโทษประหาร