จาง เสวียเหลียง ผู้จับ เจียง ไคเช็ก เป็นตัวประกัน บังคับให้ร่วมมือกับจีนแดงรบญี่ปุ่น

จาง เสวียเหลียง ผู้จับ เจียง ไคเช็ก เป็นตัวประกัน บังคับให้ร่วมมือกับจีนแดงรบญี่ปุ่น

จาง เสวียเหลียง ผู้จับ เจียง ไคเช็ก เป็นตัวประกัน บังคับให้ร่วมมือกับจีนแดงรบญี่ปุ่น

มันอาจไม่มีประโยชน์ที่จะตั้งคำถามแบบนี้ แต่ก็อดจินตนาการไม่ได้ว่า "ถ้าไม่มี จาง เสวียเหลียง สักคน ประเทศจีนจะเป็นอย่างไร?" เพราะเขาคนนี้คือคนที่ทำให้จีนคณะชาติและจีนแดงพักรบ (กันได้นานพอ) เพื่อร่วมกันขับไล่กองทัพญี่ปุ่นจนสำเร็จ แม้ว่าการกระทำครั้งนั้นจะทำให้เขาต้องสิ้นอิสรภาพยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษก็ตาม   จาง เสวียเหลียง (Zhang Xueliang)  เจ้าของฉายา "จอมพลน้อย" (Yong Marshal) เป็นบุตรของ จาง จั้วหลิน (Zhang Zuolin) "จอมพลใหญ่" เกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1901 พ่อของเขาคือขุนพลที่ครองอำนาจอยู่ในแมนจูเรีย จาง เสวียเหลียง ถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่เล็ก และได้เป็นผู้บังคับบัญชาทหารหน่วยหนึ่งในกองทัพของพ่อตั้งแต่อายุได้ 20 ปี จาง จั้วหลิน เป็นพวกต่อต้านสาธารณรัฐและหวังฟื้นฟูระบอบกษัตริย์โดยได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ด้วยกองทัพกำลังนับแสนเขาสามารถขยายอิทธิพลไปได้ไกลถึงกรุงปักกิ่ง ก่อนที่กองทัพก๊กมินตั๋งของ เจียง ไคเช็ก จะค่อยๆ รุกคืบขึ้นจากตอนใต้ จนทำให้ จาง จั้วหลิน ต้องทิ้งกรุงปักกิ่งไป ระหว่างที่กำลังล่าถอยกลับแมนจูเรียนั่นเอง จอมพลใหญ่ก็ถูกฝ่ายญี่ปุ่นลอบสังหาร เพื่อเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นเข้าครอบงำแมนจูเรียโดยตรง ด้วยคาดว่า จาง เสวียเหลียง ลูกชายคงไม่มีน้ำยาพอที่จะต่อต้านได้ เพราะสมัยนั้น จาง เสวียเหลียง ทำตัวเหลวแหลกทั้งติดผู้หญิง และติดมอร์ฟีนอย่างหนัก เวลาไปไหนมาไหนก็ต้องมีคนติดตามถือกระเป๋าใส่ยาและเข็มพกไปด้วย แต่เมื่อ จาง เสวียเหลียง ขึ้นครองอำนาจต่อจากพ่อ เขาหวังที่จะแก้แค้นญี่ปุ่นจึงหันไปเป็นมิตรกับก๊กมินตั๋งที่ฟอร์มรัฐบาลขึ้นใหม่ในนานกิง กลายเป็นรองผู้บังคับบัญชาการใหญ่กองทัพสาธารณรัฐ ภายใต้การบังคับบัญชาของ เจียง ไคเช็ก ฝ่ายญี่ปุ่นจึงสร้างสถานการณ์วางระเบิดทางรถไฟในมุกเดนแล้วใส่ร้ายว่าเป็นฝีมือของทหารจีน (Mukden Incident) เพื่อใช้เป็นเหตุในการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ จางพยายามสงวนกำลังและอาวุธ จึงสั่งให้กองทัพของเขาค่อย ๆ ล่าถอยจากที่มั่นเดิม ญี่ปุ่นจึงได้ชัยชนะโดยไม่ยากเย็นนัก และได้เปลี่ยนแมนจูเรียให้กลายเป็นรัฐหุ่นเชิดด้วยการเชิญ ปูยี จักรพรรดิคนสุดท้ายของจีนมาเป็นประมุขรัฐใหม่ "แมนจูกัว" พ้นจากเหตุการณ์คราวนั้น จางถูกสั่งปลดจากตำแหน่งเพื่อให้สังคมพอใจหลังเขาถูกวิจารณ์อย่างหนักกับการล่าถอย แม้ว่าแผนการของเขาจะสอดคล้องกับแนวทางของเจียง ไคเช็ก ก็ตาม จากนั้นเขาจึงย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ และเริ่มบำบัดอาการเสพติดอย่างจริงจัง โดยได้ความช่วยเหลือจาก วิลเลียม เฮนรี โดนัลด์ ที่ปรึกษาผู้เคยเป็นนักข่าวจากเมลเบิร์น แล้วจึงได้เดินทางไปดูงานที่ยุโรป (ระหว่างเดินทางเขายังไปมีเรื่องกุ๊กกิ๊กกับลูกสาวของมุสโสลินีผู้นำอิตาลีที่มีสามีเป็นทูตอยู่ในเมืองจีนด้วย) หลังได้ไปเห็นความเจริญก้าวหน้าและสัมผัสกับลัทธิชาตินิยมในต่างแดน เมื่อกลับมาถึงเมืองจีนเขาจึงพยายามผลักดันให้จีนปฏิรูปอย่างจริงจัง และเรียกร้องให้ เจียง ไคเช็ก หันมาเตรียมพร้อมรับมือกับการรุกรานของญี่ปุ่นแทนที่จะทุ่มกำลังไปกับศึกภายใน แต่ เจียง ไคเช็ก กลับเห็นว่าควรจะกำจัดกองกำลังคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากเสียก่อนแล้วค่อยไปทำศึกกับญี่ปุ่น หลังสามารถกดดันให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ล่าถอยไปถึงส่านซีได้สำเร็จ และในช่วงต้นปี 1936 ระหว่างที่จางอยู่ในซีอานเมืองเอกของส่านซีนั่นเอง เขามีโอกาสได้เจรจากับนักการทูตตัวฉกาจของพรรคคอมมิวนิสต์ "โจว เอินไหล" ซึ่งทั้งคู่เห็นตรงกันว่า จีนทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่น แต่สำหรับ เจียง ไคเช็ก แล้ว คอมมิวนิสต์ถือเป็น "มะเร็งร้าย" ที่จะบ่อนทำลายจากภายใน มีอันตรายร้ายแรงยิ่งกว่าญี่ปุ่นซึ่งเปรียบเหมือนจากแผลภายนอก เขาจึงเลี่ยงการเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นเรื่อยมาจนกว่าจะจัดการกับคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ การญาติดีกับจีนแดงจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเห็นว่าจะจนปัญญาที่จะเปลี่ยนใจเจียงให้หันมาจับมือกับจีนแดงได้ จางจึงวางแผนที่จะใช้กำลังบังคับ โอกาสของจางมาถึง เมื่องเจียงเดินทางมายังซีอานในวันที่ 4 ธันวาคม 1936 เพื่อวางแผนที่จะเผด็จศึกพรรคคอมมิวนิสต์ จางจึงได้สั่งให้ทหารมือดีของเขาไปลักพาตัวเจียงจากที่พัก เมื่อทหารของจางมาถึงที่หมายก็ได้เกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ เจียงได้ยินเสียงปืนต่อสู้จึงรีบหนีไปซ่อนตัวในถ้ำแห่งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ถูกจับตัวไว้ได้ แม้จะถูกจับเป็นตัวประกัน เจียงก็ยังใจแข็งสั่งให้จางปฏิบัติตามคำสั่งของเขา ไม่เช่นนั้นก็ฆ่าเขาเสีย การกักตัวเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายวัน โดนัลด์ที่เคยช่วยให้จางพ้นจากทาสยาเสพติดก็ได้เดินทางมาพร้อมกับมาดามเจียงเพื่อเจรจาเงื่อนไขการปล่อยตัว เช่นเดียวกับโจว เอินไหล สุดท้ายจางยอมปล่อยตัวเจียงในวันคริสต์มาสปีเดียวกันนั้น หลังจากเชื่อว่าเจียงเห็นด้วยกับการหยุดยิงเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว การกระทำของเขาถือว่าอุกอาจมากที่กล้าจับผู้บังคับบัญชาสูงสุดเป็นตัวประกัน แต่เขาก็พร้อมเผชิญหน้ากับชะตากรรมที่ตามมา จางยืนยันที่จะเดินทางไปยังนานกิงพร้อมกับเจียง ทำให้เขาถูกจับตัวขึ้นศาลทหารและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี แม้จะได้รับการอภัยโทษแต่เขาก็ถูกกักบริเวณสืบมา การกระทำของจางถือเป็นการเสียสละครั้งใหญ่ และนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จีนคณะชาติหันไปทำศึกกับญี่ปุ่นหลังปล่อยให้ญี่ปุ่นข่มเหงมาหลายปี ขณะเดียวกันก็เปิดช่องว่างให้พรรคคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ ฟื้นกำลังกลับคืนมา และสามารถรวมจีนเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง ที่แผ่นดินใหญ่ จาง เสวียเหลียง จึงได้รับการยกย่องเยี่ยงวีรบุรุษ แต่ไม่ใช่ในสายตา เจียง ไคเช็ก ที่จับเขาเป็นนักโทษส่วนตัวไปตลอด แม้ว่าจะต้องล่าถอยไปถึงเกาะไต้หวันก็ตาม หลังการจากไปของ เจียง ไคเช็ก (1975) จางเริ่มมีอิสระมากขึ้น มีโอกาสได้ไปเยี่ยมลูก ๆ ที่ย้ายตามภรรยาคนแรกไปอยู่สหรัฐฯ ก่อนตัดสินใจย้ายไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ฮาวาย และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2001 ด้วยอายุ 100 ปีกับ 4 เดือน   ที่มา: https://www.independent.co.uk/news/obituaries/zhang-xueliang-9185588.html https://www.nytimes.com/2001/10/19/world/zhang-xueliang-100-dies-warlord-and-hero-of-china.html?pagewanted=all https://www.britannica.com/biography/Zhang-Xueliang   ในภาพ จาง เสวียเหลียง คือคนซ้าย