จองชัย เที่ยงธรรม: คิดอะไรไม่ออกบอก “จองชัย" ใจนักเลง

จองชัย เที่ยงธรรม: คิดอะไรไม่ออกบอก “จองชัย" ใจนักเลง

จองชัย เที่ยงธรรม: คิดอะไรไม่ออกบอก “จองชัย" ใจนักเลง

เอ่ยชื่อบ้านกร่าง นักสะสมพระเครื่องต้องนึกถึง "วัดบ้านกร่าง" ต.บ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน มีวิหารเก่าสมัยอยุธยา และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดคือ พระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง (พระขุนแผน) หากเป็นนักการเมือง ก็ต้องนึกถึงผู้ชายคนนี้ “จองชัย เที่ยงธรรม” เจ้าของสโลแกน “คิดอะไรไม่ออกบอกจองชัย” ลูกจีนบ้านกล้วย-บ้านกร่าง ร้อยปีที่แล้ว ชุมชนบ้านกร่าง ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบ้านกร่างในปัจจุบัน เหตุที่เรียกว่าชุมชนบ้านกร่าง เนื่องจากมีต้นกร่างขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อชาวจีนอพยพมาตั้งรกรากทำมาค้าขาย บ้านกร่างจึงเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางเรือ โดยจะมีเรือกำปั่นขนสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปสู่ชุมชนต่างๆ เดิมทีย่านนี้เรียกว่าตำบลบ้านไร่ กินพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน การปกครองดูแลมีความยุ่งยากลำบาก จึงแบ่งแยกเขตปกครองใหม่ โดยฝั่งตะวันตกแม่น้ำท่าจีน ตั้งชื่อว่าตำบลบ้านกร่าง ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน และมี “วิภาส อินสว่าง” เป็นกำนันคนแรกของตำบลบ้านกร่าง กำนันวิภาส เป็นลูกชายผู้ใหญ่ฮ้อ อินสว่าง คหบดีใหญ่ตลาดบ้านกล้วย และมีพี่สาวชื่อ เง็กกุ่ย เที่ยงธรรม มารดาของ จองชัย เที่ยงธรรม ซึ่งคนแถวถิ่นบ้านกร่างส่วนใหญ่นามสกุล “อินสว่าง” 70 กว่าปีที่แล้ว จองชัยออกจากบ้านเที่ยงธรรมที่ตลาดบ้านกล้วย ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมา จองชัยเปิดสำนักงานทนายความ-บัญชี อยู่แถวเชิงสะพานปิ่นเกล้า ยึดอาชีพทนายความอยู่หลายปี จึงแต่งงานกับมุกดา สาวบัญชีจุฬาฯ และได้ทำธุรกิจผลิตผ้าปักลายฉลุ ชุดสุภาพสตรีส่งนอก ภูมิศาสตร์การเมืองสุพรรณบุรี ก่อนหน้าที่จองชัยจะเล่นการเมือง ระหว่างปี 2519-2522 เป็นการต่อสู้กันระหว่างมังกรหนุ่ม “บรรหาร ศิลปอาชา” พรรคชาติไทย กับ “ทองหยด จิตตะวีระ” พรรคกิจสังคม ทองหยดมีฐานเสียงอยู่ที่ตลาดบางลี่ อ.สองพี่น้อง เคยเป็นนายกเทศมนตรี และการเลือกตั้ง 2500 ทองหยดลงสมัคร ส.ส. ก็ได้ชัยชนะ และเป็น ส.ส.สุพรรณบุรี ติดต่อกันมาอีกหลายสมัย เลือกตั้ง 4 เม.ย.2519 บรรหาร ศิลปอาชา ลงสนามการเมืองครั้งแรกที่เขต 1 สังกัดพรรคชาติไทย สมัยนั้นเขต 1 สุพรรณบุรี มี ส.ส. 3 คน ผลปรากฏว่า พรรคชาติไทยได้ 1 ที่นั่งคือ บรรหาร ส่วนพรรคกิจสังคมได้ 2 ที่นั่ง ทองหยดกับไพศาล แสนใจงาม เลือกตั้ง 22 เม.ย.2522 บรรหารหมดสิทธิ์สมัคร ส.ส. จึงให้น้องชาย-ชุมพล ศิลปอาชา ลงสนามแทน ผลการเลือกตั้ง ทองหยด พรรคกิจสังคมได้ 1 ที่นั่ง พรรคชาติไทยได้ 2 ที่นั่ง เลือกตั้ง 18 เม.ย.2526 เป็นครัั้งแรกที่พรรคชาติไทย คว้า 4 ที่นั่ง จากทั้งหมด 5 ที่นั่ง จาก 2 เขตเลือกตั้งสุพรรณฯ  ส่วนทองหยดและลูกทีมสอบตก หลังจากนั้น ทองหยดก็หายหน้าไปจากสมรภูมิเลือกตั้งสุพรรณ สาเหตุที่พรรคชาติไทย ได้ ส.ส.ไม่ครบ 5 คนนั้น เพราะหลานกำนันวิภาส ลงสมัคร ส.ส.เขต 2 จองชัย เที่ยงธรรม ทนายความจากบางกอก ตัดสินใจสมัคร ส.ส.ตามรอยญาติข้างมารดา-กำนันวิภาส อินสว่าง ซึ่งเคยเป็น ส.ส. ไม่สังกัดพรรค ในปี 2512 มาแล้ว สมรภูมิเลือกตั้งปี 2526 เขตเลือกตัั้งที่ 2 (อ.ดอนเจดีย์ อ.ศรีประจันต์ อ.สามชุก อ.เดิมบางนางบวช และ อ.ด่านช้าง) จองชัย เที่ยงธรรม พรรคกิจสังคม แข่งกับ “ประภัตร โพธสุธน” ลูกชายเถ้าแก่โรงสีบ้านไร่ ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โดยประภัตรเป็น ส.ส.มาแต่ปี 2518 สังกัดพรรคชาติไทยมาแต่แรก "เอก ประทุมรัตน์" ได้เล่าเรื่องกำนันวิภาส อินสว่าง ผู้เป็นตำนานของคำว่า “บ้านกร่างเมืองสุพรรณ” ว่า ชาวเมืองสุพรรณเคารพนับถือกำนันวิภาส เพราะเป็นอนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ความ ถูก หรือ ผิด ชาวบ้านและความทุกข์ยากของประชาชน "กำนันวิภาสนั้น เป็นอดีต ส.ส.สุพรรณบุรี ในสมัยที่การเมือง และการรณรงค์หาเสียงเป็นเรื่องยากลำบาก การชนะใจมวลชนต้องมาจากความไว้วางใจแบบที่จะหาทฤษฎีอะไร มาใช้ลำบากนัก วิธีการอันเป็นยุทธวิธีของกำนันวิภาส คือการสร้างโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดบ้านกล้วย กำนันวิภาส สร้างอาคารเรียนไม้ยาวที่สุดในประเทศไทย ร่วมสร้าง ร.ร.วัดโพธิ์ศรีเจริญ ร.ร.เมธีประมุข กับ เจ้าคุณพระเมธีธรรมสาร และอีกหลายโรงต่อมา" ฉะนั้น จองชัยในฐานะลูกหลานกำนันวิภาส ลงสมัคร ส.ส. มีหรือคนบ้านกร่างจะนิ่งดูดาย ประกอบกับบุคลิกภาพและนิสัยส่วนตัวของจองชัยที่ถึงลูกถึงคน ใจถึงใจนักเลง เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวบ้าน รวมถึงการเข้าพบขอความช่วยเหลือ ก็ได้รับการตอบสนองทันที ดั่งสโลแกน “คิดอะไรไม่ออกบอกจองชัย” ได้ใจชาวบ้านอย่างมาก ผลการเลือกตัั้งปี 2526 จองชัยได้อันดับหนึ่ง 46,497 คะแนน และอันดับสอง ประภัตรได้ 42,841 คะแนน แต่ก็เข้าสภาฯ ทั้งคู่ เพราะเขตนี้มี ส.ส.ได้ 2 คน เมื่อมารดาของ จองชัย เที่ยงธรรม เป็นพี่สาวแท้ๆ ของกำนันวิภาส อินสว่าง และการได้เป็น ส.ส. ของจองชัย ก็ถือเป็นความภูมิใจ ของกำนันวิภาส อินสว่างด้วย ต้นปี 2529 บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคกิจสังคม เขย่ารัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งที่พรรคกิจสังคมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และในที่สุด พล.อ.เปรมตัดสินใจยุบสภาฯ 1 พ.ค.2529 บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ลาออกจากพรรคกิจสังคม ไปเป็นหัวหน้าพรรคสหประชาธิปไตย ซึ่งพรรคนี้เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคสยามประชาธิปไตย ซึ่ง พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ ได้จดทะเบียนไว้ก่อนหน้านั้น จองชัย เที่ยงธรรม ได้ลาออกจากพรรคกิจสังคมมาอยู่พรรคสหประชาธิปไตยของ “ปู่เท่ง” ด้วย โดยการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งเขต 2 สุพรรณฯ จองชัยยังลงแข่งกับประภัตรเหมือนเดิม แต่การฮึดสู้อีกครั้งของ “กำนันลาน สว่างศรี” แห่งสามชุก ทำให้การต่อสู้เข้มข้น และต้องงัดกลยุทธ์ออกมาสู้กันทุกรูปแบบ กำนันลาน สว่างศรี เป็นขวัญใจชาว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เคยลงสมัคร ส.ส.มาแล้วในปี 2519 และ 2522 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง 2529 กำนันลานสังกัดพรรคกิจประชาคม และมีชื่อเสียงในฐานะแกนนำพาม็อบชาวนาสุพรรณบุกไปประท้วงรัฐบาลเปรมมาแล้ว ผลการเลือกตั้งปี 2529 ประภัตรได้อันดับหนึ่ง 73,213 คะแนน และอันดับสอง จองชัยได้ 56,276 คะแนน ส่วนกำนันลานได้ 47,171 คะแนน ไม่ได้รับเลือกเลือกตั้ง หลังจากการเลือกตั้งหนนี้ บรรหาร ศิลปอาชา ส่งบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ไปเจรจากับจองชัย ขอให้มาอยู่พรรคชาติไทยด้วยกัน จะได้ร่วมมือกันพัฒนาสุพรรณบุรี และที่สำคัญ ไม่ต้อง “เอาแบงก์มาเผาแข่งกัน” การเลือกตั้งปี 2531 ประภัตร โพธสุธน และจองชัย เที่ยงธรรม สวมเสื้อพรรคชาติไทยเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ทำให้การแข่งขันลดการตึงเครียดลงไปทันที งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องนักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี โดยณัฐพงษ์ บุญเหลือ ได้สัมภาษณ์ผู้นำชาวบ้านรายหนึ่งใน อ.ด่านช้าง เกี่ยวกับบทบาทจองชัย เที่ยงธรรม ในฐานะ ส.ส. ว่า "หัวคะแนนหรือกลุ่มผู้สนับสนุน ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ล้วนใกล้ชิดและแนบแน่นกับคุณจองชัย มาเป็นเวลายาวนาน โดยที่แกมีลักษณะนิสัยไปทางใจนักเลง ชนิดนักเลงเรียก “นาย” อย่างงี้ เป็นใครก็ต้องช่วยแก ใครล่ะจะหักหาญน้ำใจแกลง..." รูปแบบการหาเสียงช่วงเลือกตั้ง หรือรักษาฐานเสียง จองชัยใช้วิธีการเข้าถึงชาวบ้าน ทั้งลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียน การเข้าร่วมกิจกรรมงานประเพณี งานกุศลต่างๆ ซึ่งชาวสุพรรณบุรีจะให้ความสำคัญกับการพบหน้าผู้แทนฯ มากกว่าเรื่องอื่น ช่วงที่การเมืองเปลี่ยนโฉมหน้าการเลือกตั้ง มี ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จองชัยได้ส่งลูกชายคนโต “เสมอกัน เที่ยงธรรม” ลงสมัคร ส.ส.เขต 5 (เดิม) และปี 2551 พรรคชาติไทยถูกยุบพรรค จองชัยและเสมอกันในฐานะกรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี การเลือกตั้ง 2554 จองชัยได้ส่งภรรยา-มุกดา เที่ยงธรรม ลงสมัคร ส.ส.เขต 5 (เดิม) แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง และปี 2557 จองชัยลงสมัคร ส.ว.สุพรรณฯ แข่งกับวิทย์วัส โพธสุธน ลูกชายประสิทธิ์ โพธสุธน และหลานชายประภัตร โพธสุธน ปรากฏว่า จองชัยได้รับเลือกเป็น ส.ว. ด้วยคะแนนท่วมท้น แต่ ส.ว.เลือกตั้งชุดนี้ ถูกยุบไปพร้อมกับการรัฐประหาร 2557 พูดถึง “เสมอกัน จำนรรจา บารมี” ทายาทของจองชัยนั้น คงมีเพียงลูกสาว-จำนรรจา ที่ไม่ได้เล่นการเมือง ส่วนลูกชายคนเล็ก-บารมี เที่ยงธรรม เป็นกำนันตำบลบ้านกร่าง บ้านกร่างแห่งตำนานตระกูล “อินสว่าง” เริ่มต้นจากกำนันวิภาส อินสว่าง สืบทอดการปกครองท้องที่จนมาถึงรุ่นหลานกำนันแบงก์-บารมี เที่ยงธรรม เลือกตั้ง 2562 จองชัย เที่ยงธรรม ลงสนาม ส.ส.เขต เป็นเดิมพันครั้งสุดท้ายของนักเลงบ้านกล้วย-บ้านกร่าง จองชัยซึ่งคราวนี้ลงในนามพรรคภูมิใจไทย ขอวัดกำลังกับประภัตรแห่งพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นครั้งที่ 3 และหนนี้ ใครแพ้ย่อมไม่ได้เป็นผู้แทนฯ!   ชน บทจร เรียบเรียง   อ้างอิง เฟซบุ๊ค “เอก ปทุมรัตน์” งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องนักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี โดย ณัฐพงษ์ บุญเหลือ ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ค "บารมี เที่ยงธรรม