จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ศิษย์ “นายหัวชวน” 33 ปี สู่เส้นทางผู้นำทัพประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ศิษย์ “นายหัวชวน” 33 ปี สู่เส้นทางผู้นำทัพประชาธิปัตย์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ศิษย์ “นายหัวชวน” 33 ปี สู่เส้นทางผู้นำทัพประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่แม้จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2489 แต่ในช่วงระยะเวลา 70 กว่าปี มีหัวหน้าพรรคมา 8 คนเท่านั้น ซึ่งหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ก็เพิ่งจะรับตำแหน่งไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2562 เก้าอี้ผู้นำพรรคคนที่ 8 ตกเป็นของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคฯ ซึ่งถือเป็นตัวเต็งจ๋ามาตั้งแต่ต้น ทันทีที่ “อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลาออกจากแม่ทัพประชาธิปัตย์ หลังจากอยู่ในตำแหน่งมา 14 ปี เป็นการทำตามสัญญา (ที่ไม่ต้องขอเวลานานนัก) หากพรรคได้เก้าอี้ ส.ส. ต่ำกว่า 100 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ปี 2562 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” วัย 63 ปี เกิดวันที่ 15 มีนาคม ปี 2499 ชื่อเล่นว่า “อู๊ด” แต่นิกเนมที่สื่อมวลชนเรียกกันว่า “อู๊ดด้า” นั้น เนื่องจากในสมัยเรียนมีเพื่อนร่วมชั้นที่ชื่อเล่นว่า “อู๊ด” เหมือนกัน เพื่อนคนนั้นเลยเปลี่ยนเป็น “อู๊ดดี้”  ส่วนตัวเองก็เป็น “อู๊ดด้า” และเมื่อได้มาเป็นคอลัมนิสต์เขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ก็ใช้ชื่อเล่นนี้มาเป็นนามปากกาด้วยเช่นกัน เดอะอู๊ดด้า” ชาวจังหวัดพังงา เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 9 คน จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนศิริราษฎร์วิทยา จ.พังงา โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของจังหวัด จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (เพื่อนรุ่นเดียวกับเขาคือ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ “คนเดือนตุลา” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะและการวางแผน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า ) ด้านชีวิตส่วนตัว เขาสมรสกับ “อรอนงค์ บุญดิเรก” มีบุตรสาว 2 คน คือ “แพร - แพรวแพร ลักษณวิศิษฏ์” และ “เอ๊ะ - อรจรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เวลาว่าง จุรินทร์ชอบท่องเที่ยวและรักการวาดรูปอย่างมาก เคยนำภาพวาดฝีมือตัวเองมาพิมพ์เป็นการ์ดอวยพรในเทศกาลสำคัญ ๆ อย่างวันปีใหม่ วันสงกรานต์ และเมื่อโลกเปลี่ยนไป เจ้าตัวก็หันมาวาดรูปบนไอแพด และนอกจากจะวาดการ์ตูนแล้ว จุรินทร์ยังเป็นนักเขียนหนังสือ ทั้งหนังสือสารคดีท่องเที่ยว หนังสือถ่ายทอดความรู้เรื่องต่าง ๆ ที่ได้จากการทำหน้าที่ทางการเมือง อีกด้วย สำหรับการเข้าสู่งานทางการเมือง เจ้าตัวเล่าว่า สนใจพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมาสมัครเป็น “ยุวประชาธิปัตย์” และยังเป็นคนออกแบบโลโก้ “YD” ที่ย่อมาจาก “Young Democrat” กระทั่งปี 2524 เขามีตำแหน่งเป็นประธานสาขาพรรค จ.พังงา และยังได้รับเลือกให้เป็นกรรมการบริหารพรรค สัดส่วนตัวแทนสาขาพรรค ยุคที่“ท่านพิชัย รัตตกุล” เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จนมาถึงปี 2529 เขาได้รับโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต จาก 2 บุคคลสำคัญของประชาธิปัตย์ คือ “ชวน หลีกภัย - บัญญัติ บรรทัดฐาน” ที่ร่วมสนับสนุนและผลักดันให้ศิษย์สิงห์แดงผู้นี้ชนะโหวตภายในพรรคเพื่อชี้ขาดการส่งคนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จ.พังงา และในการเลือกตั้ง ส.ส. ปีนั้นเอง เขาก็ยังสามารถเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญอย่าง “บรม ตันเถียร” นักการเมืองชื่อดังของพังงา และชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส. เรื่อยมา รวม 10 สมัย (นายจุรินทร์มีน้องชายคนหนึ่งคือ นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีต ส.ส. พังงา พรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง “มีนา’ 62” พังงาลดเขตเลือกตั้งจาก 2 เขต เหลือ 1 เขต พรรคตัดสินใจส่ง นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ บุตรสาวของนายบรมลงสมัครแทน และได้รับเลือกเป็น ส.ส.) งานในสภาผู้แทนฯ ของนายจุรินทร์ ถือว่าฉายแสงมาตั้งแต่เป็น ส.ส. สมัยแรก ปี 2529 เขาได้รับเลือกจากสื่อมวลชนสายรัฐสภาให้เป็น “ส.ส. ดาวรุ่ง” และช่วงปี 2530 เขายังทำหน้าที่ ส.ส. ในฐานะกรรมาธิการการวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ร่วมดำเนินการทวงคืน “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” จากประเทศสหรัฐอเมริกา กลับเมืองไทยเป็นผลสำเร็จ ส่วนงานหน้าที่สำคัญ ๆ ในสภา นายจุรินทร์เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน  ขณะที่ลีลาการอภิปรายในสภาก็ไม่เป็นรองใคร มีฝีปากกล้า ประเด็นเฉียบแหลม วาทะคมคาย ทำให้มักได้รับหน้าที่ให้ร่วมทีมขุนพลในการอภิปรายนัดสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในรัฐบาลหลาย ๆ ชุด ครั้งหนึ่ง เกิดเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีคนหนึ่งในยุครัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” แสดงอาการไม่พอใจขั้นสุด ถึงกับควงเพื่อน ส.ส. ตามล่าตัวนายจุรินทร์นอกห้องประชุมสภา หลังถูกนายจุรินทร์อภิปรายซักฟอกอย่างดุเดือด แต่โชคดีที่เหล่า ส.ส. ประชาธิปัตย์ช่วยกันพานายจุรินทร์ออกจากสภาไปได้อย่างปลอดภัย [caption id="attachment_7441" align="aligncenter" width="640"] จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ศิษย์ “นายหัวชวน” 33 ปี สู่เส้นทางผู้นำทัพประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย (ขวา) อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายจุรินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์เอกของนายชวนในพรรคประชาธิปัตย์ (ภาพ: Facebook จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ Aoodda)[/caption] ด้านประสบการณ์งานบริหารบ้านเมือง เมื่อครั้งที่เขาเป็น ส.ส.พังงา สมัยที่ 2 ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่เลขานุการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ชื่อ “ชวน หลีกภัย” และยังติดตามทำงานเป็นเลขานุการของนายชวน ทั้งในฐานะรองนายกฯ รวมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้นายจุรินทร์ได้ซึมซับวิทยายุทธทางการเมืองและการบริหารงานจากนายชวน จนถือเป็น “ศิษย์เอก” ก็ว่าได้   ส่วนการเข้าทำหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรี เขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงพาณิชย์ และ รมช. กระทรวงเกษตรฯ ในรัฐบาล “ชวน 1” ต่อมาในรัฐบาล “ชวน 2” ยังได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงได้รับตำแหน่ง รมว. ศึกษาธิการ และ รมว. สาธารณสุข ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์อีกด้วย ขณะที่งานในพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ถือว่าผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกับพรรคนี้มานาน 33 ปี ทำงานมาหลายบทบาท ทั้งการเป็นยุวประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรค และการขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรค มาตั้งแต่ปี 2546 เรื่อยมาถึงก่อนวันเลือกหัวหน้าพรรคสีฟ้า คนที่ 8 คราหนึ่ง มีผู้ถามนายจุรินทร์ว่ามีนักการเมืองพรรคอื่นชักชวนให้ย้ายพรรคบ้างไหม เขาตอบกลับไปทีเล่นทีจริงว่า “ไม่มีใครมาชวนหรอก...เพราะหน้าผมบอกยี่ห้อประชาธิปัตย์แล้ว” ทำเอาคนฟังหัวเราะกันครืน นายจุรินทร์เคยทำหน้าที่หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรคมาหลายปี ควบคู่กับการลงพื้นที่ร่วมกับ ส.ส. ของพรรค ไปพบปะชาวบ้านตามพื้นที่ต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ เพื่อเก็บข้อมูล พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งที่เป็นข่าวบ้าง ไม่เป็นข่าวบ้าง ส่งผลให้นายจุรินทร์เป็นผู้ที่รู้งานพรรคอย่างลึกซึ้งและรอบด้านคนหนึ่ง ประกอบกับเจ้าตัวเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ มีความระมัดระวัง เคยถูกจับตามาก่อนหน้านี้ว่า เมื่อใดที่นายอภิสิทธิ์ลุกจากเก้าอี้หัวหน้าพรรค คนที่จะก้าวขึ้นมาสืบทอดหน้าที่นี้ คงหนีไม่พ้นนายจุรินทร์  นอกจากนี้ ด้วยความที่มีทักษะและการสั่งสมประสบการณ์งานการเมืองมามาก หลายคนในพรรคและต่างพรรค ทราบดีว่านายจุรินทร์เป็นนักประสาน นักเจรจาต่อรองตัวยงคนหนึ่ง และแล้ว วันชี้ชะตาว่าใครจะได้ก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” แทนนายอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่สามารถนำพาพรรคไปถึงฝั่งฝัน แถมยังไม่สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ ได้เลยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ก็มาถึงในวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2562 ท่ามกลางผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค อย่าง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายกรณ์ จาติกวณิช และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ท้ายสุด นายจุรินทร์มาแรงแซงโค้งกว่าใคร ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ปัจจัยที่ทำให้เขาคว้าชัยมีด้วยกันหลายประการ ทั้งการได้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หรือ “เสี่ยต่อ” มาร่วมทีม ซึ่ง “เสี่ยต่อ” มีฐานพรรคพวกโดยเฉพาะภาคกลางอยู่มาก รวมทั้งกระแสข่าวด้านหนึ่งที่ว่า “คนนอกพรรค” ต้องการมีบทบาทในพรรค โดยพยายามเคลื่อนไหวผ่านคนบางกลุ่มที่หนุนผู้สมัครบางคน ท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองอันเข้มข้น ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนหันมาเทคะแนนเสียงให้นายจุรินทร์ นายจุรินทร์ยังไม่เคยมีข่าวฉาวพัวพันตัวเอง เข้าสเปกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องไม่เคยมีคดีทุจริต เป็นคนละเอียดและ “เพลย์ เซฟ” ระวังตัวค่อนข้างมาก จะให้สัมภาษณ์เรื่องใดก็ตามต้องได้เห็นรู้ประเด็นชัดก่อน ไม่พูดแบบ “ผีเจาะปาก” ขาดไม่ได้ คือ “บารมีนายหัวชวน” ที่ยังคงหนุนหลังนายจุรินทร์อยู่อย่างเหนียวแน่น ห้วงเวลาที่นายจุรินทร์ก้าวถึงบัลลังก์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้สำเร็จ สิ่งสำคัญที่เจ้าตัวเน้นย้ำต่อหน้าหมู่มวลสมาชิกพรรค คือความอดทนและมั่นคงในการทำงานการเมือง ด้วยประโยคที่ว่า “ผมเป็นหัวหน้าพรรคคนแรกที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอย่างยาวนานที่สุดอย่างน้อยถึง 33 ปี ขอเพียงเราอดทนมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละเพื่อพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก็พร้อมให้โอกาสเราเสมอ” ในวันที่พรรคประชาธิปัตย์เผชิญวิกฤตศรัทธาจากสังคม ถูกตั้งคำถามว่าชื่อพรรคที่แปลว่า “ประชาธิปไตย” นั้น “ประชาธิปไตย” จริงหรือเปล่า หรือจุดยืนของพรรคนั้น แท้จริงแล้วอยู่ที่ไหนกันแน่ คงเป็นหน้าที่ของ"กัปตันจุรินทร์" ที่ต้องรวมพลังเหล่าอเวนเจอร์ให้สำเร็จ เพื่อพาเรือลำที่ชื่อว่า “ประชาธิปัตย์” ฝ่าคลื่นลมไปให้ได้ โดยไม่ล่มตั้งแต่ยังไม่ออกทะเลไปเสียก่อน   เรื่อง: ผจญภพ ภาพ: พรรคประชาธิปัตย์