ก.ศ.ร. กุหลาบ ปัญญาชนชั้นไพร่ ที่ถูกทำลายด้วยคำว่า “กุ”

ก.ศ.ร. กุหลาบ ปัญญาชนชั้นไพร่ ที่ถูกทำลายด้วยคำว่า “กุ”
“กุละนี้เป็นศัพท์แผลงใช้กัน หมายความว่า  ทำฤๅกล่าวเกินจริงไป ศัพท์นี้มาจากชื่อ นายกุหลาบ ซึ่งเป็นคนแต่งหนังสือตามใจชอบตนเอง ไม่มีความกริ่งเกรงว่าจะเกินจริงไป ฤๅไม่มีความจริงเลย ตัดชื่อนั้นให้สั้นเข้าใช้ว่า กุละ ฤๅ กุ ก็เข้าใจได้เหมือนกัน” พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 (อ้างจากหนังสือ ก.ส.ร. กุหลาบ ของ มนันยา ธนะภูมิ) ก.ศ.ร. หรือ ก.ส.ร. กุหลาบ เป็นปัญญาชนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 สร้างผลงานไว้มากมายในฐานะนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ และผู้ตีพิมพ์ที่มีความรอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ด้วยเป็นผู้มีเอกสารโบราณในครอบครองมากมาย  แต่งานของเขาทั้งหมดถูกบดบังด้วยความขัดแย้งกับราชสำนัก เมื่อเขาพยายามทำลายการผูกขาดการเล่าประวัติศาสตร์โดยใช้สื่อหนังสือพิมพ์เผยแพร่ความรู้กับประชาชนทั่วไป จึงถูกอำนาจรัฐเข้าขัดขวางเป็นระยะเมื่อเห็นว่าเรื่องเล่าของกุหลาบมีปัญหา  บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย กรมพระยาดำรงฯ ยังกล่าวถึงความผิดของกุหลาบไว้มากมายในนิทานโบราณคดีตอน “เรื่องหนังสือหอหลวง” ช่วยตอกย้ำวาทกรรมความไม่น่าเชื่อถือของกุหลาบ และทำให้ชื่อของกุหลาบคือ “กุ” มีความหมายว่า สร้างเรื่อง ปั้นน้ำเป็นตัว จนถึงปัจจุบัน แต่มีผู้ไปสืบค้นประวัติศาสตร์แล้วกลับพบหลักฐานว่า ข้อกล่าวหาหลายข้อต่อกุหลาบนั้นมีข้อให้น่าสงสัย เนื่องจากบางข้อไม่ตรงกับหลักฐานร่วมสมัย และบางข้อไม่ควรถือเป็นความผิดแต่แรกเลยด้วยซ้ำ ก่อนอื่นควรเล่าถึงประวัติของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เสียก่อน บุคคลผู้นี้มีชื่อเดิมว่า กุหลาบ ตฤษณานน์ น่าจะเกิด พ.ศ. 2377 พ่อชื่อแสง แม่ชื่อตรุศ มีเชื้อสายมาจากตระกูลพระทุกขราษฎ์ กรมการเมืองนครราชสีมา โตขึ้นสักหน่อยแม่ก็พาไปถวายเป็นบุตรบุญธรรมในพระองค์เจ้าหญิงกินรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3  อายุ 13 ปี กุหลาบได้บวชเณรที่วัดโพธิ์ ได้รับการศึกษาจากพระรัตนมุนี และกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สึกแล้วก็ออกไปเป็นศิษย์สังฆราชปาลเลอกัวซ์ ทั้งยังเคยได้ออกนอกขอบขัณฑสีมาไปเปิดหูเปิดตาใช้ชีวิตในยุโรปอยู่พักหนึ่งด้วย ตอนหลังกลับมาบวชพระได้ฉายาว่า “เกศโร” สึกแล้วจึงเอาฉายานั้นมาใช้เป็นชื่อย่อว่า “ก.ศ.ร.” โก้ ๆ อย่างฝรั่ง   ด้วยเหตุนี้ กุหลาบถึงจะเป็นไพร่ (ไม่มีเชื้อเจ้า ไม่อยู่ในชั้นขุนนาง แม้เคยอยู่โปลิศน้ำก็แค่ระยะสั้น ๆ) ก็ออกจะวาสนาดีกว่าไพร่ยุคเดียวกัน ด้วยมีโอกาสได้ศึกษาทั้งการศึกษาแบบจารีตและแบบตะวันตก และได้ไปทำงานกับนายจ้างฝรั่งทำให้มีรายได้พอตัว  แต่การอยู่ห้างฝรั่งไม่ใช่แพสชั่นของอดีตพระเกศโร กุหลาบนั้นเป็นคนใฝ่รู้แล้วยังชอบ “อวด” หรือเผยแพร่ความรู้ของตนด้วย จึงหันมาทำงานด้านหนังสือพิมพ์ แต่ภัยมาเข้าตัวเมื่อเขาไปอวดว่ารู้เรื่องเจ้ายิ่งกว่าเจ้าเสียเอง  ข้อกล่าวหาต่อกุหลาบมีอะไรบ้าง?  กุหลาบต้องข้อหามากมายในการทำสื่อ ข้อกล่าวหาสำคัญก็คือ กุหลาบลอบเอาหนังสือหอหลวงที่อยู่ในความดูแลของกรมหลวงบดิทรไพศาลโสภณไปแอบคัดลอก แก้ไขดัดแปลง แล้วออกเผยแพร่ แต่งพงศาวดารสุโขทัยว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า “พระปิ่นเกษ” สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า “พระจุลปิ่นเกษ” เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเสียเมือง เขียนประวัติพระสังฆราชปุสสเทวะ (สา) ผิด ๆ ถูก ๆ อ้างว่าพิธีพระบรมศพของเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศผิดธรรมเนียมโบราณ แต่หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ รัชกาลที่ 5 ยังเคยมีพระบรมราชโองการให้ห้ามเผยแพร่รูปอดีตกษัตริย์ 4 พระองค์ คือ พระเจ้าปราสาททอง พระนารายณ์ พระเพทราชา และพระเจ้าเสือ ที่กุหลาบเอามาลงในหนังสือสยามประเภท โดยทรงอธิบายว่า ภาพของกุหลาบเป็น “ภาพกากเดาเขียน”  หลายคนฟังข้อกล่าวหาของกุหลาบแล้ว ก็รีบด่วนตัดสินว่า กุหลาบต้องผิดแน่เพราะพระบิดาประวัติศาสตร์ทรงยืนยันไว้เช่นนั้น  อย่างไรก็ดี บุญพิสิฐ ศรีหงส์ เจ้าของหนังสือเรื่อง “แกะปมจินตภาพ นาย ก.ศ.ร. กุหลาบแห่งกรุงสยาม” ได้สืบค้นหลักฐานแล้วพบข้อมูลที่ออกจะแย้งกับข้อกล่าวหาที่ชนชั้นนำสยามมีต่อเขาอยู่หลายเรื่อง เริ่มต้นที่ “ภาพกากเดาเขียน” รูป 4 อดีตกษัตริย์ รูปที่กุหลาบนำออกเผยแพร่นั้น เป็นรูปที่ผิดธรรมเนียมการวาดภาพกษัตริย์ในอดีตอย่างรุนแรง เนื่องจากแต่ไหนที่ไรมา รูปกษัตริย์ต้องวาดอย่าง “เทวดา” เป็นสัญลักษณ์แทน แต่รูปของกุหลาบนั้นกษัตริย์มีความเป็นมนุษย์จนอาจแยกไม่ออกจากมนุษย์ที่เป็นไพร่ทั่วไป ภาพของกุหลาบจึงถูกเรียกว่าเป็น “ภาพกาก” หรือภาพชาวบ้านประกอบฉากในจิตรกรรมฝาผนังตามวัด ไม่ใช่ภาพหลักที่มักเป็นตัวพระ กษัตริย์ พระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้า กุหลาบว่า ตนไม่ได้เดาเขียนเอง หากลอกมาจากรูปวาดในสมุดข่อยของหม่อมกรุงโอรสของกรมหมื่นรักษ์รณเรศ หรือหม่อมไกรสร แต่ได้ลอกมานานแล้ว จึงหาต้นฉบับมาแสดงไม่ได้ ด้านบุญพิสิฐตั้งข้อสังเกตว่า ธรรมเนียมการจำลองภาพพระบรมฉายาลักษณ์ได้เปลี่ยนไปไม่น้อยตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 จากเดิมที่นิยมปั้นหล่อเป็นพุทธปฏิมาก็มีการจำลองภาพกษัตริย์ให้เป็นมนุษย์เหมือนจริงบ้างแล้ว เช่น ขรัวอินโข่งวาดพระบรมสาทิศลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรในวัดพระแก้ว  ขรัวอินโข่งก็คงไม่เคยเห็นหน้าพระนเรศเป็นแน่แต่ก็ไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด ในปัญหาข้อใหญ่ที่กุหลาบถูกประณามหนัก ๆ อย่างการลักลอบคัดลอกหนังสือจากหอหลวง แล้วดัดแปลงให้เนื้อหาผิดเพี้ยนนั้น ตามสำนวนของกรมพระยาดำรงฯ เล่าว่า เหตุเกิดเมื่อคราวฉลองครบ 100 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีการจัด “เอ๊กซ์หิบิเชน” ที่ท้องสนามหลวง เจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าก็พากันมาออกร้านฉลอง  “ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทรฯ ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ รับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทรฯ” กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวก่อนเสริมว่า “นายกุหลาบมีโอกาสเข้าไปดูหนังสือหอหลวงได้ทุกวันเพราะห้องอยู่ติดต่อกัน เมื่อได้เห็นหนังสือมีเรื่องโบราณคดีต่าง ๆ ที่ตัวไม่เคยรู้อยู่เป็นอันมากก็ติดใจ อยากได้สำเนาไปไว้เป็นตำราเรียน จึงตั้งหน้าตั้งตาประจบประแจงกรมหลวงบดินทรฯ ตั้งแต่ที่ท้องสนามหลวงจนเลิกงานแล้วก็ยังตามไปเฝ้าแหนที่วังต่อมา แต่กรมหลวงบดินทรฯ ไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าหนังสือหลวงเป็นของต้องห้ามมิให้ใครคัดลอก นายกุหลาบจนใจจึงคิดทำกลอุบายขออนุญาตเพียงยืมไปอ่านแต่ละครั้งเล่มสมุดไทย และสัญญาว่าพออ่านแล้วจะรีบส่งคืนในวันรุ่งขึ้น กรมหลวงบดินทรฯ ไม่ทรงระแวงก็ประทานอนุญาต” เมื่อได้หนังสือที่ต้องการแล้ว “ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียนข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง แล้วเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่มให้คนคัด แบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกสมุดเอาหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม” กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าต่อไปว่า “เมื่อกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้วเกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้สึกตัวว่าลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยการแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลกว่าต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหากมิใช่ฉบับหลวงเอาไปทำเป็นฉบับขึ้นใหม่ จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง” นั่นคือเรื่องเล่าจากกรมพระยาดำรงฯ ที่คนส่วนใหญ่ยังถือว่าเป็น “ข้อเท็จจริง” อย่างไรก็ดี บุญพิสิฐไปพบหลักฐานที่ขัดกับข้อเท็จจริงดังกล่าว นั่นคือหนังสือ Bangkok Centennial Held At Bangkok, Siam, 1882 เป็นหนังสือที่ เฮนรี อาลาบาสเตอร์ บิดาหวยรัฐเมืองไทย จัดทำขึ้นตามบัญชาของกรมหมื่นเทววงษวโรประการ หนังสือเล่มดังกล่าวว่าถึงรายละเอียดการจัดงาน การจัดกลุ่มการออกร้าน หมายเลขห้องพร้อมบรรยายว่าห้องนั้น ๆ จัดแสดงเรื่องอะไร ปรากฏว่า ในห้องหมายเลข 17 นั่นระบุว่า เป็นห้องของ กรมหลวงบดินทรฯ ที่จัดแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของกรมพระยาดำรงฯ แต่ในห้องหมายเลข 18 ที่อยู่ข้างกันนั้น เป็นหนังสือไทยทั้งใบลาน สมุดไทยดำและหนังสือกระดาษที่เขียนด้วยหมึกจีน โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหารเป็นผู้ดูแล หาใช่ห้องจัดแสดงหนังสือของ “กุหลาบ” ไม่ เมื่อตรวจกับเอกสารร่วมสมัย บุญพิสิฐพบว่า กุหลาบนั้นแท้จริงเป็นพนักงานประจำห้องหมายเลข 17 ของกรมหลวงบดินทรฯ นั่นเอง เช่น จดหมายเหตุสยามไสมย เล่ม 3 แผ่นที่ 44 ของครูสมิทหมอสอนศาสนาเจ้าของโรงพิมพ์ครูสมิท ที่บอกว่า  “ข้าพเจ้าครูสมิทได้คัดลอกเนื้อความเรื่องนี้ (เอกสารจดหมายเหตุฝรั่งโบราณ) มาแต่ฉบับของเสมียนกุหลาบซึ่งตั้งไว้ในตู้ห้องที่ 17 ในโรงเอกซฮิบิเชอน ณ ท้องสนามหลวง เมื่อการสมโภชพระนครบันจบครบรอบร้อยปีมาลงพิมพ์ไว้”  ซึ่งไม่ใช่เพียงเล่มเดียว ยังมีเล่มอื่นที่ครูสมิทลอกมาจาก “ฉบับของเสมียนกุหลาบ” แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว กุหลาบนั้นทำงานให้กับกรมหลวงบดินทรฯ ทั้งยังเอาหนังสือของตัวเองมาจัดแสดงเป็นร้อยรายการ กุหลาบจึงมีหนังสือโบราณหลายเล่มอยู่ในครอบครองอยู่ก่อนแล้ว และได้รับความไว้วางใจจากกรมหลวงบดินทรฯ มาแต่ก่อนจัดงาน  ที่น่าสนใจก็คือหนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดของกุหลาบนั้น กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า “ถึง พ.ศ. 2426 นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ส่งไปให้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์” และ “พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่าย ใครอ่านก็พากันพิศวงด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวงลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน” แต่บุญพิสิฐกล่าวว่า หลักฐานรายการหนังสือที่กุหลาบนำออกแสดงในงานคราวนั้นในรายการที่ 95 ระบุว่าเป็น “เรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดประดู่โรงธรรมกรุงเก่า คือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อเปนเรื่องขนบธรรมเนียมราชการกรุงเก่าพิสดาร” นอกจากนี้ยังมีหนังสือว่าด้วยธรรมพระบรมศพ และพระราชพิธีต่าง ๆ หลายเล่ม รวมถึงตำราพิชัยสงครามอีกด้วย เอกสารต้นฉบับที่จะกลายเป็นคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับครูสมิทจึงอยู่ในมือของกุหลาบตั้งแต่แรกแล้ว ไม่น่าจะต้องลอบลอกจากกรมหลวงบดินทรฯ สรุปความคือ กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า กุหลาบต้องได้หนังสือจากหอหลวงที่พระองค์เองก็ “ไม่เคยเห็น” ไปลอกแล้ว “ดัดแปลง” ก่อนส่งไปตีพิมพ์ ซึ่งกลายเป็นข้อเท็จจริงที่หลายคนยอมรับ เพราะไม่เพียงเป็นความเห็นจากพระบิดาประวัติศาสตร์เท่านั้น กรมพระยาดำรงฯ ยังทรงกล่าวว่า รัชกาลที่ 5 เองก็มีพระราชวินิจฉัยว่า เอกสารของกุหลาบน่าจะมีการดัดแปลง หรือแทรกข้อความ เพราะมีการกล่าวถึงพระราชพิธีที่เพิ่งจะริเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง  “ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด (ฉบับพิมพ์) นั้น ก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกินจนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดำเนินออก ให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นในรัชกาลที่ 4 ก็เหตุใดในคำให้การขุนหลวงหาวัดจึงได้เล่าเหมือนรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์ จนแต่งตัวแต่งตนและมีเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนเลยดังนี้” ความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์ของ กรมพระยาดำรงฯ ซึ่งพระองค์ระบุว่าเป็นพระราชปรารภในรัชกาลที่ 5 แต่ครูสมิทผู้ตีพิมพ์ได้ชี้แจงที่มาของเอกสารต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ว่า “หนังสือฉบับนี้ คิดเปนสมุดไทย 11 เล่ม ได้รวมตีพิมพ์เปนสมุดฝรั่งเล่มหนึ่ง ข้าพเจ้าครูสมิทได้สอบทานหนังสือฉบับนี้กับฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษแลฉบับของนายกุหลาบ ข้าพเจ้าเหนว่าเนื้อความถูกต้องทั้ง 3 ฉบับแล้ว แต่ตัวอักษรพิมพ์นี้ยังใช้ไม่สู้ถูกต้องคลาดเคลื่อน ไม่ถูกแบบแผนอยู่บ้าง เพราะเมื่อตีพิมพ์หนังสือฉบับนี้ ตัวข้าพเจ้าแลครูในโรงพิมพ์มีธุระมาก ไม่มีเวลาจะตรวจหนังสือฉบับนี้จึ่งใช้อักษรผิดไปหลายแห่ง” แปลว่า ถ้าครูสมิทไม่โกหก เอกสารต้นฉบับที่เขาใช้ไม่ได้มีแต่ของกุหลาบ แต่ยังมีฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาตรวจเทียบสอบความกัน และฉบับพิมพ์ ฉบับกุหลาบ และฉบับสมเด็จเจ้าพระยาฯ เมื่อเทียบกันแล้ว “เนื้อความถูกต้องทั้ง 3 ฉบับ” อีกด้วย ต่อมามีการจัดพิมพ์ คำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวง ในปี 2457 กรมพระยาดำรงฯ กล่าวถึงที่มาของเอกสารต้นฉบับว่า “หอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดที่เปนตัวฉบับหลวงมาเล่มสมุดไทย 1 ลายมืออาลักษณเขียนตัวรงรู้ได้เปนแน่ว่าเขียนในรัชกาลที่ 4 ชื่อเรื่องก็ไม่ได้เรียกว่า ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ เรียกว่า ‘พระราชพงษาวดารแปลจากภาษารามัญ’”   ด้านบุญพิสิฐกล่าวว่า ในความฉบับหลวงนี้มีเนื้อหาข้อความบางส่วนตรงกันกับข้อความจากสมุดไทย เล่ม 1-7 (ส่วนพงศาวดาร) แทรกสลับเนื้อหาข้อความจากเอกสารที่เรียกว่า “ความฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า”  หลังจากนั้นก็มีการพิมพ์หนังสือในชุด “คำให้การ” นี้อีกหลายครั้ง พิมพ์ครบบ้างไม่ครบบ้าง ที่ครบถ้วนและมีเนื้อความมากที่สุดคือฉบับของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช พิมพ์เมื่อปี 2555 ในชื่อ “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง”  แต่ปรากฏว่า เนื้อหาส่วนที่ระบุว่า เป็นข้อความจากสมุดไทยเล่ม 8-11 (ส่วนภูมิสถานและพระราชพิธี) ซึ่งไม่มีปรากฏในฉบับหลวงปี 2457 นั้น ไปตรงกับเนื้อหาเอกสารชื่อว่า “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม” ที่เผยแพร่ระหว่างปี 2512-14 ในวารสารแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี แล้วเอกสารชุดนี้ก็มีเนื้อหาตรงกับความส่วนเดียวกันในหนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ของครูสมิท ที่ได้ต้นฉบับมาจากกุหลาบนั่นเอง ตรงนี้ทำให้บุญพิสิฐตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า “เอกสารจากหอหลวง” ในที่นี้นั้นอาจจะไม่ใช่เอกสารโบราณของกรมอาลักษณ์แต่เก่าก่อน (อย่างสมัยของกุหลาบ) แต่นักวิชาการสมัยหลังไปสันนิษฐานและสรุปรวมเรียกเอกสารที่ได้โอนย้ายจากกรมราชเลขาธิการในพระองค์มาอยู่กับกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าเป็น “เอกสารหอหลวง” ไปเสียหมดหรือไม่?  แต่ไม่ว่าอย่างไร บุญพิสิฐกล่าวว่า ในการพิมพ์เอกสารชุดคำให้การไม่ว่าคราวไหน ๆ ในส่วนหลังคือเล่ม 8 ถึง 11 (หรือบ้างก็ระบุว่า 12) นั้น เนื้อหาจะตรงกับความในคำให้การขุดหลวงหาวัดฉบับครูสมิททั้งสิ้นยกเว้นการปริวรรตคำศัพท์ และไม่ปรากฏว่าในฉบับครูสมิทมีการแก้ไขแทรกแซงแต่อย่างใด ปัญหาจึงอยู่ที่เนื้อหาส่วนแรกที่กล่าวถึงเรื่องพงศาวดารว่า กุหลาบมีการแก้ไขแทรกเนื้อความใหม่หรือไม่? ถ้าเชื่อครูสมิท กุหลาบน่าจะไม่ได้แก้ เพราะเนื้อความในเอกสารของกุหลาบก็ต้องกับเอกสารของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่เพียงเท่านั้น บุญพิสิฐกล่าวว่า ยังมีต้นฉบับสมุดไทยที่มีอยู่ก่อน พ.ศ. 2424 หรือก่อนจัดงานสมโภช 100 ปี อยู่ฉบับหนึ่ง และปรากฏว่า เนื้อหาของต้นฉบับสมุดไทยเล่มนี้ ก็ตรงกับเนื้อหาส่วนต้น คือความจากต้นฉบับสมุดไทยเล่ม 1-7 ของหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับครูสมิทอีกด้วย เอกสารนี้อยู่ในหอสมุดแห่งชาติเป็นสมุดไทยดำ มีข้อความเขียนไว้ที่หน้าปกว่า “ฉบับระบาทว์กระสาปน์” “ต้นฉบับเล่มสมุดไทยที่ว่านี้มิใช่เอกสารในหอหลวง จึงมิใช่ต้นฉบับที่นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ คำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับหลวง ในปี พ.ศ. 2457 ต้นฉบับเล่มสมุดไทยที่กล่าวนี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เนื้อหาข้อความในเล่มสมุดไทยดังกล่าวตรงตามฉบับพิมพ์โดยโรงพิมพ์ของครูสมิท นั่นหมายความว่า นายกุหลาบมิได้แทรกแซงแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความ มิได้เป็นผู้กระทำการ ‘กุ’ หรือ ‘ปลอมพงศาวดาร’ ในกรณีหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ดังยกตัวอย่างในพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” บุญพิสิฐกล่าว เมื่อปรากฏหลักฐานดังนี้ จึงกล่าวได้ว่า กุหลาบมิได้แก้ไขดัดแปลงประวัติศาสตร์อย่างที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวหา แต่การที่เอกสารของกุหลาบมีเนื้อความไม่ตรงกับฉบับหลวงที่ค้นพบภายหลังกว่า 20 ปี เป็นไปได้ว่า มันถูกแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดยผู้แต่งเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยไปใส่ในเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งผู้แต่งตำราไทยสมัยก่อนนิยมทำเป็นปกติ เหมือนอย่างเรื่องนางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่เล่าเรื่องสมัยกรุงสุโขทัย แต่กลับมีเรื่องราวที่เพิ่งปรากฏมีในยุคต้นรัตนโกสินทร์อยู่มากมาย กรณีต่อมาเป็นกรณีใหญ่ที่ทำให้กุหลาบต้องโทษถึงขั้นส่งตัวเข้า “โรงเลี้ยงบ้า” ก็คือกรณี “พระปิ่นเกษ” และ “พระจุลปิ่นเกษ” เรื่องนี้ตามสำนวนของกรมพระยาดำรงฯ มีอยู่ว่า  "นายกุหลาบแต่งเรื่องพงศาวดารครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท อ้างว่ามีพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยองค์ 1 ทรงพระนามว่า 'พระปิ่นเกษ' มีพระราชโอรสได้รับรัชชทายาท ทรงพระนามว่า 'พระจุลปิ่นเกษ' และกล่าวต่อไปว่า เมื่อพระจุลปิ่นเกษครองราชสมบัตินั้น เสียพระนครแก่กรุงศรีอยุธยาดังนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น มีพระราชดำรัสว่าเพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จขึ้นแต่งลวงว่าเป็นเรื่องจริง ก็เป็นการไม่ดีอยู่แล้ว ยังซ้ำเอาพระนามพระจอมเกล้าไปแปลงเป็นพระปิ่นเกษ พระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็นพระจุลปิ่นเกษแล้วเกณฑ์ให้เสียบ้านเสียเมืองด้วย จะทรงนิ่งอยู่ไม่ได้" อย่างไรก็ดี ข้อกล่าวหาของกรมพระยาดำรงฯ ผิดจากข้อเท็จจริงอยู่เล็กน้อย บุญพิสิฐกล่าวว่า “ในพระนิพนธ์อธิบายที่ระบุว่า ‘พระจ้าวปิ่นเกษ’ เป็นพระราชบิดาที่มี ‘พระจุลปิ่นเกษ’ เป็นพระราชโอรสและเป็นรัชทายาทนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏความสัมพันธ์เช่นนั้นตีพิมพ์ในหนังสือสยามประเภท คำอธิบายของพระองค์เช่นนี้จึงน่าจะเป็นด้วยความทรงจำ” ทั้งนี้ในพระบรมราชโองการของรัชการที่ 5 ที่ให้ลงโทษกุหลาบด้วยการ “ส่งโรงพยาบาลคนเสียจริตไปคุมขังไว้กว่าจะสิ้นพยศเปนปรกติ” นั้น ก็มิได้ระบุความสัมพันธ์ดังที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวอ้าง เพียงแต่ระบุว่า “บังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงศ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า เจ้าแผ่นดินสุโขทัยพระองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ” นั่นคือ กุหลาบไม่เคยกล่าวอ้างว่า พระจุลปิ่นเกษเป็นรัชทายาทและเป็นโอรสของพระปิ่นเกษ บุญพิสิฐยังกล่าวว่า คำว่า พระเจ้าปิ่นเกษ นั้น มีปรากฏในวรรณกรรมไทยหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ “ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นขนบทางวรรณกรรมใช้ในการสื่อความถึงผู้เป็นกษัตริย์อย่างกว้าง ๆ เว้นแต่จะเจาะจงพระองค์โดยมีบริบทขยายความอื่น ๆ” และกุหลาบเองก็เคยใช้มาก่อนในการตีพิมพ์เรื่อง “ชาติ์หวย” ดังความตอนหนึ่งว่า “นิทานนี้มีเมื่อพระศาสนา พระปิ่นเกษเสรษโฐในโลกา อตีตาล่วงแล้วได้สองพัน กับ เสศ สามร้อยสิบเบ็ดปี เมื่อเดือนยี่โดยมีสังขยัน เปนฝ่ายศุกกะปักเขในเหมันต์ แต่คราวนั้นปีมะแมเปนแท้จริง ราษฎรเปรมปรีไม่มีทุกข์ แสนสนุกศุขสบายทั้งชายหญิง ทั้งพระเถรเณรน้อยพลอยประวิง เปนความจริงจึงได้ทำคำสำแดง” การใช้คำว่า พระปิ่นเกษในที่นี้ แม้จะมีศักราชกำกับแต่โดยบริบทแล้วเพียงแต่ต้องการสื่อว่าพระองค์เป็นกษัตริย์เท่านั้น ไม่ได้ใช้ในลักษณะที่เป็นพระนามประจำพระองค์แต่อย่างใด ไม่ว่าอย่างไร การกระทำของกุหลาบอันเป็นการใช้ข้อความหรือเทียบเคียงข้อความจากพงศาวดารมุ่งประสงค์เปรียบเทียบการบ้านเมืองที่เป็นไปอยู่ขณะนั้น ถือเป็นการ “หมิ่นประมาทผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ตลอดจนผู้ที่ล่วงไปแล้ว” ด้วยเหตุนี้ กุหลาบจึงถูกลงโทษด้วยการจับส่ง “โรงเลี้ยงบ้า” (ศัพท์ของกรมพระยาดำรงฯ) โดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวว่า “เห็นจะสัก 7 วัน” แต่จากการค้นคว้าของบุญพิสิฐพบว่า แท้จริงแล้ว กุหลาบติดอยู่ในโรงเลี้ยงบ้านาน 33 วัน และที่สามารถออกจากสถานกักกันได้ก็ด้วยการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ด้าน ธงชัย วินิจจะกูล (กุ ลอบ ลอก แต่งแบบไพร่ๆ ความผิดของ ก.ศ.ร. กุหลาบที่ตัดสินโดยนักประวัติศาสตร์อำมาตย์) ให้ความเห็นว่า ยุคก่อนนั้นความรู้เรื่องกรุงสุโขทัยยังเป็นตำนานปรัมปรา มีการแต่งเรื่องนางนพมาศใช้สุโขทัยเป็นฉาก ๆ อย่างจริงจังเพื่อสื่อสารกับคนร่วมสมัย ก็ไม่เห็นมีใครกล่าวหาว่า บิดเบือนประวัติศาสตร์ "กรณีของกุหลาบนั้น ในเมื่อสุโขทัยของเขาอาจจะยังคงเป็นกึ่งปรัมปรา เรื่องที่เขาแต่งขึ้นจึงมิได้มีจุดมุ่งหมายให้ใครเชื่อหรือนับว่าเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด เขาเอาสุโขทัยเป็นฉากพอ ๆ กับที่นางนพมาศใช้สุโขทัย เขาแต่งเรื่องปรัมปราเป็นนิทานสื่อสารบทเรียนหรือข้อคิดทางการเมือง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะละเมิดเข้าไปในปริมณฑลของประวัติศาสตร์ เรื่องของเขาเป็นไปตามธรรมเนียมการแต่งเรื่องเป็นนิทานสอนใจ ทำนองเดียวกับชาดกผสมนิทานพื้นบ้านโดยไม่ต้องกังวลกับการถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนชาดกหรือละเมิดพระสูตรกัณฑ์ไหน เพราะชาดกพื้นบ้านเหล่านั้นไม่เคยคิดจะอวดอ้างตนเป็นพระสูตรฉบับแท้ การเล่าเรื่องราวในอดีตอย่างจงใจผสมกับนิยายหรือแปลงพระราชพงศาวดารให้มีสีสันเป็นนิทานเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ยังกระทำกันอยู่ทั่วไปสมัยนั้น ไม่ใช่เพียงกุหลาบคนเดียว ผู้เขียนและผู้อ่านต่างมีสติปัญญาพอที่จะแยกแยะได้ ผู้อ่านของกุหลาบคงไม่มีใครเชื่อเป็นตุเป็นตะว่ามีกษัตริย์สุโขทัยพระนามจุลปิ่นเกษทำเสียเมืองจริง ส่วนจะเห็นคล้อยกับสารที่เขาต้องการสื่อหรือไม่ และกุหลาบหมิ่นฯ หรือไม่ ย่อมเป็นประเด็นต่างหากออกไป" ธงชัยกล่าว ส่วนในข้อกล่าวหาใหญ่อีกกรณีคือ การแต่งพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น มีบันทึกการ “ไต่สวน” เป็นหลักฐาน แต่ก็มิได้เป็นกระบวนการพิจารณาคดีอย่างศาลยุติธรรมในปัจจุบัน ที่ยึดหลักว่า ผู้ถูกกล่าวหา “บริสุทธิ์” จนกว่าผู้กล่าวหาจะสามารถพิสูจน์โดยสิ้นสงสัยได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดจริง หากแต่การไต่สวนนั้น ผู้ถูกไต่สวนมักจะถือว่า “ผิด” ไว้ก่อน จนกว่าผู้ถูกไต่สวนจะหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าตนไม่ผิดอย่างที่ถูกกล่าวหา จึงเป็นระบบที่เป็นภาระกับผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างสูง ในกรณีนี้ ข้อความใดที่ต้องสงสัยว่า “เท็จ” ผู้ไต่สวนสามารถสรุปได้ก่อนล่วงหน้าแล้วว่า กุหลาบกล่าวเท็จ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใด ๆ มายืนยัน ไม่ต้องสืบความว่าข้อเท็จจริง จริง ๆ แล้วเป็นเช่นไร เนื่องจากเป็นภาระของกุหลาบที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ข้อความที่ตนกล่าวอ้างเป็นจริง กุหลาบจึงค่อนข้างเสียเปรียบมาก เนื่องจาก หากแม้เขามิได้มีเจตนาที่จะกล่าวความเท็จลงในหนังสือ แต่เชื่อถือตามเอกสารโบราณที่ลอกตามกันมาหรือปากคำของคนเฒ่าคนแก่และญาติมิตรของสมเด็จพระสังฆราช ก็อาจถือเป็นความผิดได้แล้ว เช่นกรณีการอ้างเทียนวรรณในการลำดับชั้นบรรพบุรุษของสมเด็จพระสังฆราช ปรากฏว่า เทียนวรรณซึ่งเป็นญาติชั้นหลัง ให้ปากคำไม่ตรงกับญาติอีกคนที่มีอาวุโสกว่า คณะไต่สวนก็เลือกที่จะเชื่อถือญาติรายนั้น ซึ่งไม่ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กุหลาบก็มิได้มี “เจตนา” ที่จะกล่าวเท็จ แต่ระบบไต่สวนไม่สนว่า ผู้ถูกไต่สวนมี “เจตนา” ที่จะกระทำผิดหรือไม่? ต่างจากการพิจารณาคดีอาญาสมัยใหม่ที่ “เจตนา” ในการกระทำความผิดถือเป็นหลักสำคัญหากขาดเสียแล้วก็จะเอาผิดทางอาญาไม่ได้เลย ในการไต่สวนครั้งนั้น กุหลาบได้ขอ “สารภาพ” ความผิดของตนเอาไว้ว่า "ครั้นบัดนี้ กรรมการได้ทรงไต่สวนข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ว่าข้าพระพุทธเจ้ามีความผิดพระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ 5 ประการ คือ "1 ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ส่งต้นร่างไปถวายอธิบดีกรมราชเลขานุการ ขอรับพระราชทานบรมราชานุญาตก่อน "2 ข้าพระพุทธเจ้าเปนคนหยาบใจเบาโง่เขลา หลงเชื่อตำราเก่าที่คัดลอกต่อ ๆ มาหลายชั่วคน กล่าวถึงต้นวงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ อู่ นำมาต่อเปนต้นวงศ์สมเด็จพระสังฆราชด้วย เพราะได้ทราบความที่สมเด็จพระสังฆราชบอกว่าเจ้าพระยาชำนาญ ฯ เปนตาสมเด็จพระสังฆราช "3 ข้าพระพุทธเจ้าเปนคนใจเบา เชื่อคำบอกเล่าซึ่งบัดนี้ล่วงชนม์ชีพไปแล้ว ไม่มีหลักฐานพยานมั่นคงอันใด นำมาลงไว้ในประวัติสมเด็จพระสังฆราชบ้าง จึงมีความผิดซึ่งไม่ควรจะเชื่อได้ "4 ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อคำบอกเล่าคนเก่าและญาติของสมเด็จพระสังฆราชบอกเล่าให้ฟังอย่างไรก็เก็บมาเรียบเรียงลงในประวัติ "5 ข้าพระพุทธเจ้าหาได้สืบถามตามพระเถร ซึ่งยังมีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ไม่ ข้อความจึงคลาดเคลื่อนบกพร่องอยู่หลายประการ "ข้าพระพุทธเจ้าอาศัยเหตุ 5 ประการนี้ มาเรียบเรียงเปนประวัติสมเด็จพระสังฆราชนั้น รู้สึกด้วยเกล้าฯ ว่าข้าพระพุทธเจ้ามีความผิดด้วยทางราชการ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายกุหลาบ"  คำสารภาพของกุหลาบจึงเป็นการยืนยันว่าตนไม่มีเจตนาแต่ก็ยอมรับโทษทางอาญา จึงไม่เป็นที่พอใจของคณะไต่สวน (ซึ่งมีกรมพระยาวชิรญาณฯ เป็นประธาน) ที่พบรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ยืนยันได้ว่า กุหลาบยกอ้างถ้อยคำที่หาหลักฐานอ้างอิงเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้จริง ๆ และสรุปประวัติสมเด็จพระสังฆราชฯ ทั้งที่ลงที่พิมพ์ในสยามประเภทและฉบับที่เขาตีพิมพ์ถวายในงานพระเมรุของสมเด็จพระสังฆราชฯ เอาไว้ว่า  "เปนเรื่องที่ประกอบด้วยโทษไม่ควรเปนที่เชื่อ 3 ประการ ปนคละกันอยู่แทบทั้งนั้นไป คือ "ประการที่ 1 เท็จไม่มีทูลที่เดียว เช่นกล่าววงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เปนต้น "ประการที่ 2 เท็จปนจริง คือ เค้าความเท็จแต่กิ่งความจริง เช่นกล่าววงศ์สมเด็จพระสังฆราชโยงเข้าเปนเชื้อสายของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เปนต้น "ประการที่ 3 จริงปนเท็จ คือ เค้าความจริงแต่กิ่งความเท็จ เช่น กล่าวเรื่องสมเด็จพระสังฆราชแปลพระปริยัติธรรมได้ 9 ประโยคแต่ครั้งยังเปนสามเณร ข้อนี้เปนความจริงที่รู้กันอยู่ แต่ข้อที่กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลูบหลังเปนต้นนั้น เปนความเท็จ" ผลจากการไต่สวนทำให้กุหลาบได้รับโทษถึงจำคุก แต่ได้รับพระเมตตาให้ภาคทัณฑ์ไว้ก่อน เนื่องจากกุหลาบนั้นเป็นคนชราอายุมากแล้ว และในพระบรมราชโองการยังระบุด้วยว่า "ห้ามอย่าให้ใครเชื่อถือเรื่องประวัติสมเด็จพระสังฆราช ที่นายกุหลาบนำความเท็จมาเรียบเรียงลงพิมพ์ไว้นี้สืบไป" มนันยา ธนะภูมิ (ก.ส.ร. กุหลาบ) ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานชั้นที่ 4 ของกุหลาบเอง ตั้งข้อสังเกตว่า กุหลาบนั้นเป็นคนที่คบหากับชาวต่างประเทศมาก หนึ่งในบุคคลที่กุหลาบสนิทสนมด้วยก็คือ โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ โดยเฉพาะแฟนนี่บุตรสาวที่ไปมาหาสู่บ้านกุหลาบที่ท่าวาสุกรีเป็นประจำ และเป็นผู้ที่สอนให้บุตรสาวของกุหลาบทำอาหารฝรั่งหลายชนิด  แต่ฝ่ายกงสุลน็อกซ์นอกจากจะสนิทสนมกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยมีการแข่งอิทธิพลกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้าจนเกิดวิกฤตวังหน้า และแฟนนี่นั้นเป็นภรรยาของขุนนางไทยชื่อพระปรีชากลการที่ต้องคดีทุจริต ฆาตกรรมและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กงสุลน็อกซ์จึงสั่งให้นำเรือปืนมาข่มขู่รัฐบาลสยามเพื่อให้ปล่อยตัวลูกเขยคือพระปรีชากลการแต่ไม่สำเร็จ พระปรีชากลการต้องโทษประหารชีวิต ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูงจึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทางการมีท่าทีที่ไม่ไว้วางใจกุหลาบ หากพิจารณาโดยรวมกุหลาบถูกพิจารณาหลักเกณฑ์ความถูกต้องในงานเขียนอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ และด้วยกระบวนการสืบความจริงสมัยก่อนผู้ถูกกล่าวหามักถือว่าผิดไว้ก่อน หลายกรณีจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาเลย เช่นกรณีของคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่กรมพระยาดำรงฯ เองทรงจำข้อเท็จจริงผิดไปหลายประการ เนื่องจากพระองค์นิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นเมื่อคราวเสด็จไปอยู่ที่ปีนังในบั้นปลายแล้ว และที่กล่าวหาว่ากุหลาบเขียนแทรก แก้ไข ดัดแปลงต่าง ๆ ในคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน หากแต่หลักฐานร่วมสมัยล้วนชี้ไปในทางตรงกันข้าม ซึ่งหากกุหลาบใช้วิธีการเขียนจากความทรงจำหรือตั้งข้อสันนิษฐานเช่นพระองค์ก็คงเป็นความผิดที่ใหญ่หลวงนัก ด้วยเหตุนี้ ธงชัยจึงตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดของกุหลาบที่ไม่มีการประกาศก็คือ “ผิดที่เป็นไพร่” "กุหลาบเป็นสามัญชนคนแรก ๆ ในสังคมไทยที่เข้าร่วมเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับขนมธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ผ่านทางสิ่งพิมพ์สู่สาธารณะ ซึ่งเป็นความรู้และการผลิตที่อยู่ในมือชนชั้นสูงในระบบราชการ หรือ 'อำมาตย์' ทั้งหลายตลอดมา แถมกุหลาบมีภูมิและความสามารถพอจะเทียบเคียงกับพวกอำมาตย์ได้เสียด้วย เขาเห็นคุณค่าหนังสือเก่าและมีไว้ในครอบครองในยุคที่มีขุนนางเจ้านายเพียงไม่กี่คนสนใจ นักเลงของโบราณมีแต่ผู้ดีมีตระกูลและฝรั่งทั้งนั้น กุหลาบเผยแพร่ความรู้และเอกสารเก่าสู่สาธารณะโดยไม่ผ่านกลไกหรือความเห็นชอบของวงวิชาการของชนชั้นสูง เขาสร้างเครือข่ายและกลไกของเขาเอง เขาละเมิดการผูกขาดครอบครองความรู้แขนงดังกล่าวโดยชนชั้นอำมาตย์" ธงชัยกล่าว