ลี ไอเอคอคคา ปั้น "ฟอร์ด มัสแตง" แต่ไปฟื้น "ไครสเลอร์" คู่แข่งจนได้ดี

ลี ไอเอคอคคา ปั้น "ฟอร์ด มัสแตง" แต่ไปฟื้น "ไครสเลอร์" คู่แข่งจนได้ดี
รถสปอร์ตสัญชาติอเมริกันสมรรถนะแรงสูง โครงสร้างตัวรถเน้นทรงเหลี่ยมเพิ่มความโค้งมนดูพริ้วไหว กระจังหน้ารูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูประดับตราม้าป่าคะนองที่ทั้งสวยงามและดุดันในคราวเดียวกัน คือจุดเด่นบ่งบอกความเป็น ฟอร์ด มัสแตง (Ford Mustang) รถรุ่นที่นับว่าประสบความสำเร็จที่สุดของฟอร์ด ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่สิบปี ฟอร์ด มัสแตง ก็ยังเป็นรถในตำนานที่หลายคนอยากได้มาครอบครอง  เบื้องหลังความโด่งดังของรถรุ่นนี้ คือ ลี ไอเอคอคคา (Lee Iacocca) ผู้คิดค้นและพัฒนารถรุ่นนี้ จนได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งฟอร์ด มัสแตง” แต่ต่อมากลับถูกเลื่อยขาเก้าอี้ให้ลงจากตำแหน่งรองประธานบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จนต้องหันไปอุ้มบริษัทคู่แข่งอย่าง ไครสเลอร์ คอร์ปอเรชั่น ที่กำลังเผชิญชะตากรรมเกือบล้มละลายให้ผงาดกลับขึ้นมาสู้ศึกในตลาดรถยนต์อีกครั้ง! ลิโด แอนโทนี “ลี” ไอเอคอคคา (Lido Anthony “Lee” Iacocca) เกิดในปี 1924 เป็นลูกชายของผู้อพยพชาวอิตาลี จบการศึกษาด้านวิศวกรรมยานยนต์จาก Princeton University สหรัฐอเมริกา แล้วใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเริ่มต้นทำงานกับฟอร์ด มอเตอร์ ในตำแหน่งวิศวกรในปี 1946 เขาเปลี่ยนแผนกอยู่หลายครั้ง ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด กระทั่งมาลงเองที่การเป็นหัวหน้าทีมผลิตรถยนต์ฟอร์ด มัสแตง รุ่นแรก ขณะนั้น ฟอร์ด มอเตอร์ กำลังขาดทุนหนักจากรถรุ่น “ดิ เอดเซล” ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นรุ่นที่ล้มเหลวและมีดีไซน์ห่วยแตกที่สุดในวงการรถยนต์ คนออกแบบไม่ใช่ใคร คือ เฮนรี ฟอร์ด จูเนียร์ ทายาทของผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัทในขณะนั้นนั่นเอง ทำให้โปรเจกต์รถยนต์รุ่นฟอร์ด มัสแตง ของลีไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร แต่ลีก็ใช้ความพยายามผลักดันไปเรื่อย ๆ จนโครงการนี้ได้รับการอนุมัติ แม้ว่าเฮนรีจะหั่นเงินลงทุนจากที่ขอไว้ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหรือเพียง 45 ล้านดอลลาร์ เท่านั้นก็ตาม จากโครงการรถที่เคยถูกเมิน ฟอร์ด มัสแตง กลายเป็นโปรเจกต์ประสบความสำเร็จรวดเร็วที่สุดของรถยนต์ออกใหม่ช่วงเวลานั้น เพราะตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 1964 เพียงปีแรกที่ออกจำหน่ายก็มียอดขายระเบิดระเบ้อมากถึง 1 ล้านคัน [caption id="attachment_9682" align="aligncenter" width="640"] ลี ไอเอคอคคา ปั้น "ฟอร์ด มัสแตง" แต่ไปฟื้น "ไครสเลอร์" คู่แข่งจนได้ดี Ford Mustang รุ่นปี 2019 ที่สานต่อความสำเร็จจากสิ่งที่ลีได้ริเริ่มไว้ (ภาพ: https://www.ford.com/cars/mustang/gallery/)[/caption] รถฟอร์ด มัสแตง ที่ลีเป็นผู้นำทีม ปัจจุบันกล่าวได้ว่าเป็นรถในฝันของใครหลายคน ด้วยลักษณะความเป็น Muscle Car แบบ 2 ประตู โดดเด่นด้วยเครื่องยนต์ V8 แบบอเมริกัน และยังมีลักษณะความเป็น Pony Car คือ เป็นได้ทั้งรถสปอร์ตและรถยนต์ทั่วไป นับเป็นรุ่นแห่งตำนานความสำเร็จของฟอร์ด มอเตอร์ ที่สามารถทำยอดขายได้ดีที่สุดในโลกถึง 3 ปีซ้อนอีกด้วย “ลีมองเห็นศักยภาพที่จะโด่งดังในเวลาอันใกล้ของมัสแตงได้ดีกว่าใคร...เขาพยายามอย่างมากเพื่อไปให้ถึงจุดนั้นโดยไม่เคยคิดจะยอมแพ้เลย” โดนัลด์ ปีเตอร์สัน ผู้ทำงานประสานงานระหว่างวิศวกรในโครงการฟอร์ด มัสแตง กับฝ่ายการตลาดในขณะนั้น กล่าวกับ Automotive News ในปี 2003 ความสามารถอันโดดเด่น ทำให้ลีขึ้นเป็นรองประธานบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ควบตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ในปี 1970 แต่ให้หลังอีก 8 ปี ลีก็ถูกเตะโด่งออกจากบริษัท ด้วยฝีมือของ เฮนรี ฟอร์ด จูเนียร์ เจ้านายคนเดิม เพิ่มเติมคือความไม่ปลื้มใจที่ลีดูจะทำผลงานได้เกินหน้าเกินตา แซงหน้า ดิ เอดเซล ที่เขาแสนจะภาคภูมิใจ ทั้ง ๆ ที่รถฟอร์ด มัสแตง ที่ลีปั้นขึ้นช่วยสร้างกำไรสุทธิให้บริษัทได้ถึงปีละกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปีเต็ม แต่เหตุผลของการไล่ออกครั้งนี้ เฮนรีตอบกลับมาเพียงว่า “บางทีมันก็เป็นเพราะนายไม่ชอบขี้หน้าใครบางคนเท่านั้นแหละ” แน่นอนว่าลีเจ็บปวดเอาการ เขาประณามเจ้านายเก่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาไว้ว่า เฮนรีเป็นเจ้านายจอมเผด็จการที่ขี้ตืดที่สุด และตอกฝาโลงอีกครั้งด้วยการย้ำความรู้สึกของเขาช่วงนั้นกับนิตยสาร Time เมื่อปี 2001 ไว้ว่า “เฮนรีนั้นทั้งเลวร้ายและงี่เง่า” แม้จะถูกเจ้านายเหม็นขี้หน้าจนโดนเด้งออกจากบริษัท แต่ความเป็นนักธุรกิจไฟแรงของลี ทำให้ ไครสเลอร์ คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในสามบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่สุดในสหรัฐฯ ขณะนั้น (นอกเหนือจากฟอร์ดและจีเอ็ม) เล็งเห็นศักยภาพและดึงตัวเขาไปร่วมงาน และเพียงไม่นานลีก็ขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอ แต่ใช่ว่าเส้นทางการเป็นผู้บริหารในบริษัทที่สองของเขาจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเหตุผลที่ไครสเลอร์เชิญลีไปทำงานคือ บริษัทนี้กำลังเผชิญสถานการณ์ติดตัวแดงจนใกล้จะถูกฟ้องล้มละลาย! เมื่อถอยหลังไม่ได้ ลีต้องใส่เกียร์เดินหน้าเท่านั้น เขาโน้มน้าวรัฐบาลกลางให้ปล่อยเงินกู้แก่ไครสเลอร์จำนวน 1.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 1979 เพื่อต่อชีวิตบริษัท นอกจากนี้ยังลดต้นทุนครั้งใหญ่ ทั้งไล่ปิดโรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น ลดกำลังคน ลดเงินเดือนพนักงาน รวมถึงตัดเงินเดือนตัวเองเหลือเพียง 1 ดอลลาร์ต่อปี เขาขายทิ้งบริษัทลูกอื่น ๆ ที่ขาดทุนให้ เปอร์โยต์ บริษัทผลิตรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส แถมยังดึงเพื่อนร่วมงานมือดีจากบริษัทคู่แค้นเก่าอย่างฟอร์ด มอเตอร์ มาอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยแผนการต่าง ๆ ที่เขาจัดการอย่างรัดกุม ในที่สุดไครสเลอร์ก็ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างสวยงาม [caption id="attachment_9683" align="aligncenter" width="640"] ลี ไอเอคอคคา ปั้น "ฟอร์ด มัสแตง" แต่ไปฟื้น "ไครสเลอร์" คู่แข่งจนได้ดี รถยนต์ Dodge Grand Caravan ที่ก็ยังสานต่อจากสิ่งที่ลีริเริ่มไว้เช่นกัน (ภาพ: https://www.dodge.com/grand-caravan/gallery.html#)[/caption] ลีเข้าใจถึงสภาพเศรษฐกิจช่วงนั้นเป็นอย่างดีว่า รถยนต์หรูหราฟุ่มเฟือยไม่อาจตอบสนองความต้องการของชาวอเมริกันที่กำลังตกที่นั่งลำบากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงริเริ่มผลิตรถยนต์รุ่น ดอดจ์ คาราวาน และ ไครสเลอร์ โวยาเจอร์ ซึ่งเป็นรถประหยัดน้ำมันและรถมินิแวนราคาย่อมเยาออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก และในช่วงทศวรรษ 1980s ไครสเลอร์ก็กระหน่ำโฆษณาในธีม The pride is back” (ความภาคภูมิใจที่หวนคืน) เพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาของเขา โดยมีวลีอันโด่งดัง “ถ้าคุณเจอรถที่ดีกว่าก็ซื้อได้เลย” ที่ลีใช้ท้าทายสังคม รวมถึงท้าทายบริษัทเก่าอย่าง ฟอร์ด มอเตอร์ เป็นการแสดงออกถึงความมั่นใจว่า ใคร ๆ ก็ไม่มีทางเจอรถที่ไหนดีกว่ารถของเขาได้อีกแล้ว ท้ายสุด แคมเปญการตลาดครั้งนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะทั้งรถยนต์ธรรมดาและมินิแวนของไครสเลอร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้เงินกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ที่บริษัทสูญเสียไปจากการฟื้นฟูกิจการในปี 1980 พลิกกลับมาทำกำไรได้ถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลาไม่ถึง 4 ปี รวมถึงสินเชื่อค้ำประกันของบริษัทก็สามารถชำระคืนได้ภายในเวลา 5 ปี ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่กำหนดถึง 7 ปีเลยทีเดียว “ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเขาไปเสียทุกเรื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อันชาญฉลาด…เขามีข้อบกพร่องในหลาย ๆ ด้าน แต่เมื่อผมจัดอันดับเหล่าซีอีโอ ผมก็รู้ดีเลยล่ะว่าเขาจะต้องอยู่ในอันดับต้น ๆ" บ็อบ ลัตซ์ อดีตประธานบริษัทไครสเลอร์ ผู้เคยทำงานใกล้ชิดกับลี กล่าวในรายการโทรทัศน์ CNBC ตั้งแต่ลีใช้ตัวเองประชาสัมพันธ์โครงการ “The Pride is back” เขาก็กลายเป็นผู้บริหารที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากทั้งในวงการธุรกิจและวงการบันเทิง จนหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่เขียนโดย  วิลเลียม โนวัก กลายเป็นหนังสือปกแข็งประเภทสารคดีที่ขายดีที่สุดในปี 1984 และ 1985 ลี ไอเอคอคคา เสียชีวิตในวัย 94 ปี ด้วยโรคพาร์กินสัน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ปี 2019 แต่หลายสิ่งที่เขาสร้างขึ้นจากความพยายามอย่างรถฟอร์ด มัสแตง ก็ยังคงอยู่ และได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับความสามารถในการบริหารของเขาที่ยังได้รับการกล่าวขาน รวมถึงใช้เป็นกรณีศึกษาในบทเรียนธุรกิจต่อไป   ที่มา https://www.nytimes.com/2019/07/02/obituaries/lee-iacocca-dead.html https://people.com/human-interest/lee-iacocca-dead-automobile-exec-94/ https://www.reuters.com/article/us-people-lee-iacocca/lee-iacocca-auto-executive-who-saved-chrysler-from-bankruptcy-dies-at-94-idUSKCN1TY06N https://bit.ly/2LBxLan https://www.autodeft.com/deftscoop/ford-mustang-from-generation-1-to-6-history https://globalnews.ca/news/5454435/lee-iacocca-dead-chrysler-mustang/ https://www.youtube.com/watch?v=ZyshctLhwsA https://www.youtube.com/watch?v=upH1yZpUpu8 https://www.youtube.com/watch?v=FEYI_3OAn08 https://www.quora.com/Why-did-Ford-Chairman-Henry-Ford-II-fire-Lee-Iacocca-in-1978 http://www.headlightmag.com/lee-iacocca-passed-away-at-age-94/ https://chiefexecutive.net/lee-iacoccas-leadership-legacy-to-an-industry-and-our-nation/ http://pracob.blogspot.com/2012/01/lee-iacocca-1980s.html อ่านเรื่องราวของ เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้ง ฟอร์ด มอเตอร์ (บิดาของเฮนรี ฟอร์ด จูเนียร์) ได้ที่ https://thepeople.co/henry-ford-years-of-antisemitism/   เรื่อง: นรมณ ดลมหัทธนะกิตติ์ (The People Junior)