รีวิวรถเมล์เกาหลี วางระบบ-ใช้งานกันอย่างไรให้สนองวิถีชีวิต/นโยบายเน้น ‘ความรวดเร็ว’?

รีวิวรถเมล์เกาหลี วางระบบ-ใช้งานกันอย่างไรให้สนองวิถีชีวิต/นโยบายเน้น ‘ความรวดเร็ว’?

‘รถเมล์’ ในเกาหลี(ใต้)สะท้อนวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ ตามแนวคิดแบบ ‘วัฒนธรรมเร็ว ๆ’ ระบบและการใช้บริการรถเมล์ในเกาหลีใต้จึงถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองโจทย์เรื่องความรวดเร็ว

  • สืบเนื่องจากคลิป Vlog ท่องเที่ยวของคิมจินยอง ทำให้ชาวไทยพูดคุยถกเถียงเรื่องระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์ 
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในเกาหลีได้รับผลส่วนหนึ่งจากนโยบายและวัฒนธรรมเรื่องความรวดเร็ว ทำให้การเดินทางด้วยรถประจำทางถูกพัฒนาตามไปด้วย

เรื่องราวของดาราหนุ่มท่านหนึ่งจากรายการวาไรตี้ยอดฮิตของประเทศเกาหลีใต้ที่ตัดสินเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกที่ประเทศไทย ซึ่งตามเนื้อหาของคลิป เราจะเห็นดาราหนุ่มเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเดินทางไปยังที่พักโดยผ่านทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link) แล้วตัดสินใจเปลี่ยนมาเดินทางด้วยรถประจำทาง

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาใช้เวลาอยู่บนรถประจำทางนานถึง 2 ชั่วโมงโดยไม่รวมการเดินเท้าเพื่อเข้าไปยังที่พัก

และนั่นทำให้ต่อมา ชายหนุ่มได้ตั้งข้อคิดเกี่ยวกับทางท่องเที่ยวในไทยคือ ‘เดินทางด้วยรถไฟฟ้าดีกว่ารถประจำทาง’ และ ‘ควรหาที่พักใกล้กับรถไฟฟ้า’ ซึ่งกลายเป็นประเด็นฮอตฮิตบนโลกโซเชี่ยลอย่างมาก

คลิกอ่านเรื่อง ‘คิมจินยอง’ หนุ่มตัวตึงจากรายการ Single's Inferno 2 กับไวรัลขึ้นรถเมล์ไทยเจอรถติด 2 ชั่วโมง

แต่จริง ๆ แล้ว บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า แล้วทำไมชายหนุ่มถึงเลือกที่จะไม่ขึ้นรถไฟฟ้าตั้งแต่แรก ทั้ง ๆ ที่น่าจะสะดวกกว่า เราจึงขอไปค้นคว้าหาคำตอบมาให้กันค่ะ

หากพูดถึงประเทศเกาหลี วัฒนธรรมสำคัญมากสิ่งหนึ่งของเขาคือ ‘빨리빨리 문화’ หรือก็คือ ‘วัฒนธรรมเร็ว ๆ’ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีปาร์ค จองฮี (Park Chung-hee) เนื่องจากนโยบายที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ 

นั่นจึงส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวเกาหลีเปลี่ยนไปอย่างมากจนเห็นได้ชัดทั้งในด้านการทำงาน การจับจ่ายซื้อสินค้า หรือแม้กระทั่งการเดินทาง

ซึ่งหากคุณเป็นคนเกาหลี(หรือท่องเที่ยวในเกาหลี) นี่คือสิ่งที่คุณจะเจอ

1. ระบบการค้นหาเส้นทาง 

การค้นหาเส้นทางการเดินทางของเกาหลีสามารถหาได้จากแอปพลิเคชั่นที่หลากหลาย เช่น naver map หรือ kakao map และอื่น ๆ ซึ่งภายในแอปพลิเคชั่นจะสามารถค้นหาได้ทั้งเส้นทางที่ดีที่สุด, เส้นทางที่ใช้เวลาน้อยที่สุด, เส้นทางที่เปลี่ยนรถน้อยที่สุด และเส้นทางที่ใช้เวลาเดินน้อยที่สุด ทำให้คนเกาหลีสามารถคำนวณเวลาการเดินทางได้ว่าจะต้องใช้เวลาเดินทางนานเท่าไหร่

2. ระบบข้อมูลของรถประจำทาง 

นอกจากข้อมูลที่ช่วยให้คำนวณเวลาและราคาค่าโดยสารแล้ว บนแอปพลิเคชั่นยังสามารถตรวจสอบได้ว่ารถคันต่อไปจะมาถึงภายในเวลาเท่าไหร่ เพราะในกรณีที่มีตัวเลือกการเดินทางจำนวนมากทำให้ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบสายรถประจำทางเพื่อเปรียบระยะเวลาเดินทางได้ 

นอกจากแอปพลิเคชั่น ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้บนป้ายรถประจำทางอีกด้วย ในบางป้ายรถประจำทางสามารถบอกได้ว่ารถประจำทางคันต่อไปที่กำลังจะมาถึงนั้นมีคนอยู่บนรถมากขนาดไหน เพื่อแจ้งผู้โดยสารที่กำลังรออยู่ 

นอกจากนี้ รถประจำทางเกาหลียังปรับเปลี่ยนให้เป็นรุ่นใหม่อยู่เสมอ โดยเริ่มเปลี่ยนมาใช้รถประจำทางไฟฟ้าตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการใช้รถไฟฟ้าเป็นรถประจำทางด้วยเหตุผลด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันรถประจำทางบางสายยังมีช่อง USB สำหรับชาร์จโทรศัพท์ระหว่างเดินทางได้อีกด้วย

3. ระบบการชำระเงินค่าโดยสาร 

การชำระเงินค่าโดยสารรถประจำทางของเกาหลีนั้นนิยมใช้บัตรโดยสารที่เรียกว่า T-money ในปัจจุบันปรากฏออกมาในหลายรูปแบบเช่นการ์ดลวดลายต่าง ๆ, ที่ห้อยโทรศัพท์, สติ๊กเกอร์ขนาดเล็กสำหรับ iPhone หรือชำระเงินผ่าน Samsung Galaxy Watch หรือดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น Mobile T-money เพื่อชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนโดยตรง(ต้องเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีระบบ NFC) ก็ได้ 

นอกจากนี้ ยังสร้างระบบเติมเงินในบัตรที่สามารถตัดผ่านบัญชีธนาคารได้โดยตรงจึงเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น การใช้ T-money ยังสามารถใช้ได้กับขนส่งเกือบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่, รถประจำทางหรือรถไฟใต้ดิน (ยกเว้นรถไฟบางประเภทที่ต้องซื้อตั๋วแยกเช่น KTX) ทำให้การเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องพกบัตรหลายใบ และยังสามารถได้ส่วนลดตามประเภทของบัตร เช่น บัตรสำหรับเด็ก หรือเยาวชนและบัตรสำหรับผู้สูงอายุ

4. ระบบส่วนลด

นอกจากส่วนลดที่เกิดขึ้นจากบัตรประเภทต่าง ๆ แล้ว ที่เกาหลีมีการสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะ ผ่านนโยบายส่วนลดเมื่อเปลี่ยนพาหนะทุกครั้งภายใน 30 นาที 

เมื่อเราเดินทางโดยรถประจำทางแล้วเปลี่ยนมาเดินทางต่อด้วยรถไฟใต้ดิน การหักเงินในบัตรค่าโดยสารจะคิดเฉพาะค่าเดินทางที่ครอบคลุมตลอดการเดินทางเท่านั้น (เช่นตอนแรกเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินราคา 1,250 วอน และเปลี่ยนสายมาขึ้นรถเมล์ราคา 900 วอน จะคิดเฉพาะราคา 1,250 วอนเท่านั้น) โดยสามารถใช้ส่วนลดให้สูงสุดถึง 4 ครั้งต่อวัน ทำให้ผู้คนนิยมใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นอย่างมาก

5. ระบบช่องทางรถประจำทาง 

ที่ประเทศเกาหลีได้เริ่มมีการใช้ระบบ bus-only lane หรือช่องทางรถประจำทางตั้งแต่ปีค.ศ. 1995 โดยการใช้ช่องทางสำหรับรถประจำทางนั้นไม่ใช่เพียงการปิดเส้นทางรถ 1 เลนสำหรับรถประจำทางเท่านั้น แต่เป็นการวางระบบเส้นทางการเดินรถประจำทางทั้งหมด โดยการกำหนดรูปแบบการเดินรถ, ช่วงเวลาการเดินรถ เพื่อทำให้ทั้งรถประจำทางและรถโดยสารส่วนตัวสามารถใช้ถนนร่วมกันได้และไม่เป็นการเสียเส้นทางการจราจรไปโดยเปล่าประโยชน์ 

ซึ่งระบบช่องทางรถประจำทางนั้นทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยรถประจำทางได้อย่างสะดวกและไม่ติดขัดเท่ากับช่องการเดินทางรถปกติ และในบางครั้งยังสามารถทำเวลาได้เท่า ๆ กับการโดยสารรถไฟใต้ดินเลยทีเดียว 

ที่เกาหลีเองก็มีการจราจรติดขัดเช่นกัน เป็นอีกเหตุผลที่คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพราะต้องการหลีกเลี่ยงปัญหารถติดในช่วงเวลาเร่งด่วนคือช่วง 7.00-10.00 น. และ 17.00 – 21.00 น. (นับจากเวลาที่รถประจำทางเท่านั้นที่สามารถใช้ช่องทางได้) เนื่องจากเป็นช่วงของเวลาเข้า-ออกงาน และด้วยกรุงโซลที่เป็นเมืองหลวงซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 9,443,722 คน (ข้อมูลจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 2022 จากศูนย์ Korean Statistic Information Service (KOSIS)) ทำให้จำนวนประชากรที่เดินทางมีจำนวนมากจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหารถติดได้ และอีกช่วงเวลาที่มีรถติดคือช่วงงานเทศกาลใหญ่ เช่น วันซอลรัล (วันตรุษเกาหลี) หรือวันชูซอก (วันขอบคุณพระเจ้าของชาวเกาหลี) เพราะชาวเกาหลีนิยมเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดทำให้เกิดรถติดเช่นกัน

6. ระบบการขึ้น-ลงรถโดยสาร

แม้ว่าข้อสุดท้ายอาจดูไม่เกี่ยวข้องกับความรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเดินทางด้วยรถโดยสารเลยทีเดียว เกาหลีเริ่มต้นแคมเปญ ‘ขึ้นประตูหน้า - ลงประตูหลัง’ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1982 นั่นทำให้ผู้โดยสารสามารถขึ้น-ลงรถโดยสารในเวลาเดียวกันได้อย่างเป็นระเบียบ ทั้งเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและทำให้คนขับสามารถตรวจสอบการชำระเงินค่าโดยสารโดยไม่จำเป็นต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสาร (ประเทศเกาหลียกเลิกตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารในปีเดียวกัน)

เพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่ต้อง ‘รวดเร็ว’ ตลอดเวลาของชาวเกาหลีทำให้การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องไปไม่หยุด โดยล่าสุดในปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา เมืองเซจงและเมืองพันคโยเริ่มใช้รถประจำทางไฟฟ้าแบบไร้คนขับแล้ว แน่นอนว่าตอนนี้ยังเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ เท่านั้น แต่อีกไม่นานเกินรอ คิดว่าก้าวเล็ก ๆ นี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งอย่างแน่นอน

ดังนั้น ด้วยมุมมองหลาย ๆ ข้อที่ชาวเกาหลีมีต่อระบบขนส่งสาธารณะทำให้ชาวเกาหลีหลายคนที่ได้มาท่องเที่ยวประเทศไทยจึงทั้งประหลาดใจและแปลกใจไปกับวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ที่ค่อนข้างอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ แม้กระทั่ง Youtuber หลายคนนิยมนำเสนอคอนเทนต์เรื่องราว ‘วิถีชีวิตแบบไทย ๆ’ ที่หาไม่ได้ในเกาหลีและทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ทำให้หลายคนอยากลองมาเที่ยวดูสักครั้งแทน

 

เรื่อง: อรกูล หาญกิจรุ่งเรือง 

ภาพ: รถประจำทางใช้พลังงานไฟฟ้าในโซล ถ่ายเมื่อ 2020 ไฟล์จาก Getty Images