รู้จัก ‘ต๊อกกุก’ (Tteokguk) อาหารวันขึ้นปีใหม่เกาหลีที่ตรงกับวันตรุษจีน กับความเชื่อสายมู

รู้จัก ‘ต๊อกกุก’ (Tteokguk) อาหารวันขึ้นปีใหม่เกาหลีที่ตรงกับวันตรุษจีน กับความเชื่อสายมู

‘ต๊อกกุก’ (Tteokguk) อาหารวันขึ้นปีใหม่เกาหลี หรือวันตรุษเกาหลี ซึ่งตรงกับวันตรุษจีน ไม่เพียงสะท้อนเรื่องราวทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ยังเชื่อมโยงกับความเชื่อของสายมูด้วย

  • วันตรุษเกาหลี หรือวันขึ้นปีใหม่ของเกาหลี เรียกกันว่า วันซอลรัล ตรงกับวันตรุษจีน 
  • อาหารที่ชาวเกาหลีรับประทานในวันตรุษเกาหลีคือ ‘ต๊อกกุก’ (Tteokguk) มีความเป็นมายาวนาน และยังเป็นอาหารที่สะท้อนแง่มุมทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความเชื่อของคนในเกาหลี

อาหาร (น.) หมายถึง ของกิน, เครื่องคํ้าจุนชีวิต, เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต

หนึ่งในปัจจัยดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ย่อมหนีไม่พ้นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจากที่ใดย่อมมีวัฒนธรรมด้านอาหารเพื่อบ่งบอกถึงอารยธรรมของชาติหรือเผ่าพันธุ์ของตน วัฒนธรรมด้านอาหารนั้นนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการดำรงชีวิตแล้วยังสามารถแสดงให้เห็นถึงความเชื่อหรือวิถีความคิดที่แสดงออกมาทั้งในรูปแบบของจุดประสงค์ที่รับประทานอาหาร เครื่องมือหรือเครื่องใช้สำหรับการรับประทานอาหาร แม้กระทั่งวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารต่างบอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมชาตินั้น ๆ ได้ทั้งสิ้น

สายมู (ย่อมาจาก มูเตลู) หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เรื่องลี้ลับ ของขลัง ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์

ไสยศาสตร์ (น.) หมายถึง ตำราทางไสย, วิชาทางไสย

ไสยศาสตร์หรือเรียกย่อ ๆ ว่าสายมูนั้น เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหรือพลังที่เหนือธรรมชาติ มีมาตั้งแต่โบราณในทุกชาติ โดยมีจุดประสงค์ทั้งเพื่อนำมาซึ่งโชคดี, ความสำเร็จหรือความสุข ในทางตรงข้ามก็สามารถบันดาลให้เกิดเรื่องร้ายต่าง ๆ ทั้งโรคภัย เคราะห์ร้ายและอุบัติเหตุ

ไสยศาสตร์เป็นความเชื่อแรก ๆ ของมนุษย์ที่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติ โดยเชื่อว่าหากมนุษย์สามารถเข้าใจพลังเหนือธรรมชาติก็จะสามารถใช้พลังนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา แต่การจะใช้ได้จำเป็นต้องมีเครื่องมือ วิธีการ หรือพิธีกรรมเฉพาะเพื่อเป็นสื่อกลางที่จะทำให้ใช้พลังนั้นได้

ทว่าเรื่องราวของอาหารที่ชื่อว่า ต๊อกกุก (Tteokguk) กับเรื่องราวของไสยศาสตร์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ทำไมคนเกาหลีถึงต้องกินต๊อกกุก ฯลฯ คำถามเหล่านี้ซ่อนเรื่องราวน่าสนใจไว้มากมายเลยทีเดียว

 

ต๊อกกุก อาหารที่ทานได้เฉพาะวันซอลรัล

จุดเริ่มต้นของต๊อกกุก หรือซุปเค้กข้าวนั้นสามารถสืบย้อนกลับไปจนถึงช่วงราชวงศ์โชซอน ซึ่งได้มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่สามารถรับประทานได้เฉพาะในช่วงงานเทศกาล เช่นวันซอลรัล [1] นั้น คนเกาหลีจะทานต๊อกกุกเป็นการฉลองวันขึ้นปีใหม่ การทานอาหารนี้เป็นอาหารที่สื่อถึงการขอให้ปีหน้ามีชีวิตที่สะอาดสดใส ไร้โรคภัยไข้เจ็บ และมั่งมีเงินทองนั่นเอง

และเพราะต๊อกกุกเป็นอาหารที่ทานได้เฉพาะวันขึ้นปีใหม่เท่านั้น คนเกาหลีจึงมีคำถามว่า ‘กินต๊อกกุกไปกี่ถ้วยแล้ว?’ เพื่อใช้แทนคำถาม(แบบอ้อม ๆ)ว่าปีนี้เราอายุเท่าไหร่แล้ว

ในปัจจุบันต๊อกกุกเป็นอาหารที่สามารถทำกินเองได้ตลอดเวลา ทว่าในสมัยโบราณนั้น ต๊อกหรือเค้กข้าวเป็นสิ่งที่ได้จากข้าวซึ่งมาจากการทำเกษตรกรรมที่ถือเป็นอาชีพสำคัญอาชีพหนึ่งของผู้คนในยุคนั้น และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ของประเทศเกาหลีเป็นเทือกเขา [2] ทำให้พื้นที่ทำเกษตรกรรมมีจำนวนน้อย

เพราะฉะนั้นผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกจึงเป็นทรัพยากรสำคัญอย่างยิ่ง ต๊อกจึงเป็นอาหารที่เป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น การได้กินต๊อกกุกปีละครั้งช่วงเทศกาลซอลรัลจึงถูกนำมาใช้แทนความหมายอายุที่เพิ่มขึ้นมา 1 ปีแล้วนั่นเอง

แม้ว่าต๊อกกุกนั้นมีตำรับการปรุงอาหารมากมายแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ ทว่าวัตถุดิบสำคัญ 2 ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ต๊อก(เค้กข้าว) และ กุก(น้ำซุป)

 

ต๊อก (Tteok) ตัวแทนอายุยืนยาวและความร่ำรวย

ต๊อกกุกเป็นอาหารเกาหลีที่ต่างไปจากอาหารไทย เพราะไม่ได้นิยมกินเนื่องจากชื่อที่มีความมงคล ต๊อกกุกเป็นอาหารที่จัดได้ว่าถูกคิดค้นเพื่อตอบโจทย์กับความปรารถนาของผู้คนในยุคนั้นทุกประการ ก่อนอื่นเราต้องพูดถึงวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดอย่างต๊อก หรือเค้กข้าวก่อน

อย่างที่ทราบว่าสำหรับชาวเกาหลีนั้น ต๊อกคือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งต้นกำเนิดของต๊อกสามารถย้อนกลับไปได้จนถึงช่วงยุคสำริดและแพร่หลายไปทั่วประเทศในช่วงยุคเหล็ก ต๊อกในประเทศเกาหลีนั้นมีมากมายหลายชนิด และถูกใช้ในหลายโอกาสตั้งแต่พิธีฉลองวันเกิด พิธีแต่งงาน การย้ายบ้าน ไปจนถึงการไหว้บรรพบุรุษ เรียกได้ว่าทุกเทศกาลของคนเกาหลีไม่มีงานใดที่ขาดต็อกไปได้เลย  

ต๊อกที่ใช้สำหรับทำต๊อกกุก คือต๊อกที่มีชื่อว่า คาเรต๊อก (Garae-tteok: 가래떡) เป็นต๊อกที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าซึ่งถูกนำมาบดนวดและทำออกมามีลักษณะเป็นเส้นยาว ๆ ซึ่งในประเทศเกาหลีนั้นการกินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ๆ ในวันเกิดก็เพื่อสื่อถึงการขอให้มีอายุยืนยาวไร้โรคภัยไข้เจ็บ

แต่คาเรต๊อกที่อยู่ในต๊อกกุกกลับมีรูปร่างแตกต่างไปจากเดิม นั่นเพราะเมื่อนำคาเรต๊อกมาทำต๊อกกุกจะหั่นคาเรต๊อกเป็นแว่นจึงได้คาเรต๊อกที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลม ๆ ออกมา ซึ่งคาเรต๊อกที่ถูกหั่นออกมาจะมีรูปร่างเป็นแผ่นคล้ายกับเหรียญเงินในสมัยโบราณ (ภาพ 2) ซึ่งสื่อถึงได้กินเงินทองหรือมีโชคลาภเรื่องเงินทองนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการขอให้มีอายุยืนยาวก็ดี ขอให้มั่งมีเงินทองก็ดี ทั้งสองล้วนสื่อให้เห็นถึงความปรารถนาสูงสุดของผู้คนในยุคนั้น

ภาพ 2 เหรียญเงินสมัยโบราณ ไฟล์จาก pngtree.com

ในส่วนผสมที่สำคัญอีกอย่างได้แก่ ‘กุก’ หรือน้ำซุป ซึ่งน้ำซุปนั้นในสมัยโบราณนิยมใช้เนื้อไก่ฟ้านำมาทำเป็นน้ำซุป แต่การล่าไก่ฟ้าไม่ใช่เรื่องง่าย จึงถือเป็นอาหารชั้นสูง ดังนั้นในหมู่ชาวบ้านจึงนิยมใช้ไก่แทนไก่ฟ้า [3] ในการทำน้ำซุปแทน

ทว่าในปัจจุบันกลับนิยมใช้เนื้อวัวมากกว่า เพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายจึงมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบและสูตรอาหารไปตามยุคสมัยและพื้นที่ต่าง ๆ

น้ำซุปที่ทานจะมีสีขาว เพราะถือว่าจะทำให้การเริ่มต้นใช้ชีวิตในปีต่อไปเป็นไปอย่างสะอาดสดใส

 

ต๊อกกุก: อาหารปีใหม่ตัวแทนสายมู

เรื่องราวของต๊อกกุกนั้นเรียกได้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่การนำอาหารมาเพื่อประกอบในพิธีฉลองงานเทศกาลเท่านั้น แต่เป็นการคิดค้นและสร้างสรรค์อาหารเพื่อให้ตอบโจทย์กับจุดประสงค์ของการเฉลิมฉลอง

จากเรื่องราวของต๊อกกุกสามารถบอกเราได้ถึงความปรารถนาของมนุษย์คืออายุยืนยาวและความมั่งมี เพื่อพยายามตอบโจทย์เหล่านี้ทำให้มนุษย์พยายามคิดค้นวิธีการต่าง ๆ รวมไปถึงการพึ่งพิงพลังของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ โดยการใช้อาหารเป็นสื่อกลางและเงื่อนไขในด้านเวลาเฉพาะเจาะจงซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพยายามใช้พลังเหนือธรรมชาติทำให้ตนเองต้องการบรรลุความปรารถนา สิ่งเหล่านี้แสดงออกมาผ่านในหลาย ๆ รูปแบบรวมไปถึงวัฒนธรรมด้านอาหารอีกด้วย

 

เรื่อง: อรกูล หาญกิจรุ่ง

ภาพ: Getty Images

เชิงอรรถ:

[1]  วันซอลรัล (Seollal: 설날) หมายถึง วันขึ้นปีใหม่ของชาวเกาหลี เรียกอีกชื่อว่าวันตรุษเกาหลี ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ และจะเป็นวันเดียวกับวันตรุษจีน

[2] คาบสมุทรเกาหลีมีความยาว 950 กิโลเมตร และกว้าง 540 กิโลเมตร พื้นที่ 70% ของประเทศเป็นเทือกเขา มีพื้นที่ราบเพียง 30% จึงจัดเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (ข้อมูลจากเว็บไซต์ Korean Cultural Center: https://thailand.korean-culture.org/th/1025/korea/672 , สืบค้น วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2566)

[3] เป็นที่มาของสำนวน ‘เอาไก่ไปแทนไก่ฟ้า’ ในภาษาเกาหลี หมายถึงการใช้สิ่งของมาทดแทนกันในกรณีที่ไม่มีสิ่งของที่เหมาะสม

 

บรรณานุกรม:

เตือน คำดี. ไสยศาสตร์กับคนไทย [บทความ] เตือน คำดี - สุทธิปริทัศน์ 5, 14 (ต.ค. 2533-ม.ค. 2534).

ไทยรัฐออนไลน์. (2564). รู้จัก “ขนมต๊อก” อาหารเกาหลียอดฮิตจากซีรีส์ยุค 80. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://www.thairath.co.th/lifestyle/food/2269392

ไทยรัฐออนไลน์. (2565). เปิดที่มา "มูเตลู" คืออะไร ทำไมใครๆ ก็หันมาเป็นสายมู. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์:  https://www.thairath.co.th/horoscope/belief/2355760

ราชบัณฑิตยสถาน. (2566). ไสยศาสตร์. สืบค้นเมื่อ16 มกราคม 2566, จากเว็บไซต์: https://dictionary.orst.go.th/.

Korean Cultural Center. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับประเทศเกาหลี. (No date). Retrived January 15, 2023, from https://thailand.korean-culture.org/th/1025/korea/672

Ministry of the Interior and Safety. (2020). 설날에는 왜 떡국을 먹을까? 알고 먹으면 더 맛있을 떡국의 유래와 의미를 소개할게요~. Retrived January 16, 2023, from https://m.blog.naver.com/mopaspr/221782626361

Na Kyung Soo. (2018). The Magical Meaning of Representative Festival Foods in Korea. The Korean Folklore, 67(), 85-116.

김상보. (no date). 떡. Retrived January 16, 2023, from https://folkency.nfm.go.kr/topic/detail/110?pageType=search&keyword=%EB%96%A1

서모란. (no date). 가래떡. Retrived January 15, 2023, from https://www.kculture.or.kr/brd/board/640/L/menu/735?brdType=R&thisPage=1&bbIdx=11881&searchField=&searchText=&recordCnt=10#layer1

주영하. (no date). 떡국(年糕片汤). Retrived January 16, 2023, from https://folkency.nfm.go.kr/topic/detail/3690?pageType=search&keyword=%EB%96%A1%EA%B5%AD