บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ 'รถโพถ้อง' จะถูกแทนที่ด้วย 'รถบัสไฟฟ้า'

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ 'รถโพถ้อง' จะถูกแทนที่ด้วย 'รถบัสไฟฟ้า'

ภูเก็ตเตรียมเปลี่ยน"รถโพถ้อง" รถคู่เมืองมาเป็น "รถบัสไฟฟ้า" (EV BUS) เพื่อลดมลพิษและแก้ปัญหาจราจรที่ติดขัด โดยจะเริ่มใช้งานในปี 2568 เส้นทางใหม่และบริการที่ทันสมัยจะช่วยให้คนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น

KEY

POINTS

  • "รถโพถ้อง" รถสองแถวไม้ที่มีประวัติยาวนานในภูเก็ต กำลังจะถูกแทนที่ด้วย "รถบัสไฟฟ้า" (EV BUS) ในปี 2568 เพื่อลดมลพิษและแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด
  • EV BUS จะให้บริการ 3 เส้นทาง ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่นั่งสำหรับคนพิการและระบบติดตามยานพาหนะ
  • การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยยกระดับการขนส่งสาธารณะในภูเก็ต และส่งเสริมการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

เมืองเก่าย่าน Old Town บ้านเมืองที่แต่งแต้มด้วยสีสันสดใส ผู้คนที่ยังคงวิถีชีวิตเดิม อาหารรสเลิศ และนักท่องเที่ยวที่เดินกันขวักไขว่ คือ องค์ประกอบของเมืองสวรรค์เมืองใต้อย่าง ‘ภูเก็ต’

ภูเก็ตไม่เพียงแต่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม แต่ยังมีหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญของเมือง นั่นคือ ‘รถโพถ้อง’ รถสองแถวไม้ที่อยู่คู่เมืองภูเก็ตมายาวนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนเมืองและนักท่องเที่ยวที่ต้องนั่งสักครั้ง

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รถโพถ้องกำลังจะถูกแทนที่ด้วย ‘รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ’ (EV BUS) ที่จะเริ่มใช้งานในต้นปี 2568 เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหามลพิษและการจราจรที่ติดขัดในภูเก็ต

ครั้งนี้ The People ชวนสำรวจเบื้องหลังการเปลี่ยนผ่านจาก ‘รถโพถ้อง’ รถประจำเมืองภูเก็ต เป็น EV BUS ในวันที่โลกหมุนไปตามกาลเวลาและเมืองต้องปรับตัวให้ทัน

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

ตำนาน ‘รถโพถ้อง’ สองแถวคู่ย่านเมืองเก่า 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภูเก็ต’ คือ หัวเมืองสำคัญที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและต่างชาติ เพราะนับตั้งแต่ประเทศก้าวเข้าสู่ปี 2567 ถึงเดือนกันยายนก็มีนักท่องเที่ยวปักหมุดมาเที่ยวมากกว่า 9 ล้านสูงสุดในประวัติการณ์

เพราะภูเก็ตเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม บ้านเรือนที่แต่งแต้มด้วยสีสันสดใสในย่านเมืองเก่า อาหารประจำถิ่นอย่าง ‘โอต้าว’ (อ่านว่า โอ-ต๊าว) หรือ ‘โอ้เอ๋ว’ ก็เป็นอาหารที่หลายคนต้องมาลิ้มลอง และยังมีทะเลแสนงาม เป็นสวรรค์เมืองใต้ตามที่ปรากฎอยู่ในคำขวัญของจังหวัดจริง ๆ 

ทั้งนี้ในเมืองภูเก็ตยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ นั่นก็คือ ‘รถโพถ้อง’ (อ่านว่า โพ–ท้อง) รถสองแถวประจำเมืองที่ทำจากไม้ทางคันและมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 50 ปี 

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

หน้าที่รถโพถ้อง คือ การเป็นขนส่งมวลชนของเมืองภูเก็ตที่รับ-ส่งนักท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงคนพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก นักเรียน ผู้ใหญ่ พระภิกษุ เณร และผู้สูงอายุ โดยรถโพถ้องขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตมีทั้งหมด 4 สาย คือ สายแรก วิ่งจากบิ๊กซีถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต สายที่สองวิ่งจากซุปเปอร์ชีปถึงตลาดสี่มุมเมือง สายต่อมาเริ่มวิ่งจาก สถานีขนส่ง 1 ถึง สถานีขนส่ง 2 และสายสุดท้ายวิ่งจาก สะพานหิน ถึงเกาะสิเหร่

โดยมีรถโพถ้องให้บริการทั้งหมด 24 คัน (ไม่รวมรถสำรอง) และมีคนขึ้นรถราว ๆ วันละ 1,000 คน 

สำหรับนักท่องเที่ยว รถโพถ้องก็เหมือนกับไฮไลท์ของเมืองที่ต้องมานั่งสักครั้ง เช่นเดียวกับคนขับรถโพถ้องและเหล่านายท่ารถโพถ้อง

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

พี่ณรงค์ เพชรทอง นายท่ารถโพถ้องสายสีชมพูแห่งหนึ่งในภูเก็ตบอกว่า รถโพถ้องเป็นครอบครัว เขาใช้ชีวิตมา 11 ปีกับรถโพถ้องตั้งแต่เป็นคนเก็บเงิน คนขับรถ จนมาเป็นนายท่า

“ถ้านึกถึงภูเก็ตก็นึกถึงรถโพถ้อง เพราะใครไปใครมาก็ต้องมานั่งรถโพถ้อง มันเหมือนครอบครัว มีอะไรก็ปรึกษากัน บางคนอยู่นานกว่าผม อยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม”

ส่วนคุณลุงกมล หนูสุวรรณที่ทำงานเป็นคนขับรถโพถ้องมานานกว่า 10 ปีเล่าว่า รถโพถ้อง คือ รถฮีลใจได้ดูเมือง และเยียวยาใจที่เศร้าได้ ถ้ามองมุมกลับ ในฐานะคนขับรถและคนที่อยู่กับรถสองแถวประจำเมืองนี้ การขับรถโพถ้อง คือ อาชีพที่ทำด้วยใจ

“คนใหม่ ๆ ที่มาแล้วขับรถได้ เขาไปขับรถทัวร์ ขับรถตู้กัน เพราะรายได้มั่นคง เลี้ยงดูครอบครัวได้ ขับรถโพถ้องก็เลี้ยงได้ แต่ต้องค่อย ๆ เลี้ยง ที่อยู่ได้ ก็คืออยู่ด้วยใจจริง ๆ ”

แต่วันนี้รถโพถ้องกำลังจะถูกนำไปใช้งานอื่น ๆ สำหรับกิจกรรมในจังหวัด แล้วให้ ‘รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ’ (EV BUS) มาทำหน้าที่ส่งนักท่องเที่ยวและคนในเมืองภูเก็ตแทน เพื่อลดมลพิษและแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเมือง 

‘EV BUS’ ทางเลือกใหม่ของระบบขนส่งเมืองภูเก็ต

จริงอยู่ที่รถโพถ้องถือเป็นหนึ่งในมนต์เสน่ห์แห่งเมืองเก่าที่เป็นดั่งสวรรค์เมืองใต้อย่างภูเก็ต แต่ในพื้นที่ประมาณ 543 ตร.กม. กลับมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 423,599 คน ยังไม่นับรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เลือกภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางจนทำให้ภูเก็ตกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจของไทย

เมื่อต้นปี 2567 ภูเก็ตถูกจัดเป็น 1 ใน 3 เมืองที่รถติดที่สุดในประเทศไทย และปัญหาเรื่องมลพิษจากฝุ่นละอองและเขม่าควันก็กลายเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมของเมืองภูเก็ตด้วย

ทั้งหมดนี้จึงทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเลือกที่จะเปิดตัว รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ’ (EV BUS) ที่จะเข้ามาใช้งานแทนรถโพถ้อง รถสองแถวประจำเมือง ซึ่งจะให้บริหารแก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ และนักท่องเที่ยว เพื่อลดมลพิษทางอากาศ และแก้ไขปัญหารถคิด ทำให้พื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและเอื้อต่อการท่องเที่ยว

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายให้ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเข้าถึงบริการรถสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยกระดับการบริการรถสาธารณะให้มีความทันสมัย เดินทางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในชีวิตประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเกิดการพัฒนาระบบการขนส่งอย่างยั่งยืน

 “โครงการนำรถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ (EV BUS) ของ อบจ.ภูเก็ต มาให้บริการครั้งนี้ จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ยกระดับเมืองภูเก็ตให้ก้าวสู่ Smart City ส่งเสริมภาพลักษณ์ ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวนานาชาติบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน” เรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตกล่างระหว่างแถลงข่าว

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

เอาเข้าจริงหน้าตาของรถ EV BUS คือ ภายนอกแทบจะถอดแบบมาจากรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ โดย ‘รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ’ ที่กำลังจะเปิดใช้งานมีทั้งหมด 24 คันจำนวน 21 ที่นั่ง มีความสะดวกที่รองรับคนทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ อาทิ มีที่นั่งสำหรับคนพิการ ติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะ (GPS) มีช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จแบตโทรศัพท์ที่บริเวณที่นั่งผู้โดยสารทุกที่นั่ง ติดตั้งกล้องวงจร และ Application Programming Interface สำหรับบริการผู้โดยสารในการดูสถานะและพิกัดของรถโดยสาร และติดตั้งอุปกรณ์พื้นลาดเอียงบริเวณประตูขึ้น-ลง สำหรับเข็นวีลแชร์

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

เส้นทางที่ให้บริการ มี 3 เส้นทาง คือ 1. สายสะพานหิน - เซ็นทรัลภูเก็ต 2. สายท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง – ห้างซุปเปอร์ชีป และ 3. สายท่าเทียบเรือรัษฎา– สวนน้ำ ซึ่งครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ โรงเรียน ชุมชน ย่านการค้า ย่านเมืองเก่า  จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย และยกเว้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ( ในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ) พระภิกษุ สามเณร นักบวช คนตาบอด และผู้สูงอายุ

ส่วนพนักงานขับรถโพถ้อง บางคนก็เป็นคนขับรถหน้าใหม่ บางคนก็เป็นคนขับรถโพถ้องที่ผันตัวมาขับรถ EV 

สำหรับ ‘พี่ชิ’ อดีตคนขับรถโพถ้องที่มาขับรถ EV ในการทดลองเดินรถโดยสารปรับอากาศ บอกเราว่า เขาขับรถโพถ้องมา 3-4 ปี พอมีการประกาศว่าจะใช้รถไฟฟ้าเขาก็ไปเข้าอบรม 1 วัน สอบอีก 1 วันก็ได้สวมชุดคนขับรถ EV เท่ๆ แล้ว 

“โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนตามยุค” พี่ชิบอกเราแบบนั้น

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแจ้งว่า รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ (EV BUS)  จะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเมืองภูเก็ตที่จะเตรียมพร้อมสู่การเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ในระยะเริ่มต้น รถ EV ก็เป็นทางเลือกใหม่ของระบบขนส่งของภูเก็ต แต่ระยะยาว คงต้องดูกันต่อไป เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะตอบโจทย์ทั้งความต้องการของประชาชนและการเติบโตของเมืองในอนาคตได้จริง

รถโพถ้องต้องเป็นอนุเสาวรีย์

อีกไม่นาน รถโพถ้องกำลังจะถูกไปใช้ในกิจกรรมอื่นของจังหวัด ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน เทศบาล และหน่วยงานรัฐ ถามว่าเสียดายไหม หลาย ๆ คนคงเสียดาย

เหมือนกับลุงกมลและพี่ณรงค์สองนายท่ารถโพถ้องที่บอกตรงกันว่า “เสียดาย”

สำหรับลุงกมลที่อยู่ในวงการมา 10 ปี เขาบอกว่า รถโพถ้องเป็นเหมือนหม้อข้าวหม้อแกง เป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงครอบครัว และถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะไม่มีรถโพถ้องวิ่งให้บริการประชาชนเหมือนเคย แต่ลุงกมลบอกว่า รถโพถ้องควรเป็นอนุเสาวรีย์ของเมืองภูเก็ต

“รถโพถ้องเป็นเอกลักษณ์ของภูเก็ต ถึงจะปิด แต่ต้องเป็นอนุเสาวรีย์”

แล้วรถโพถ้องเป็นรถที่รับแอร์ธรรมชาติ มองดูเส้นทางและวิถีชีวิตสองข้างทางได้ชัดเจน แต่มุมของลุงกมล รถบัส EV ก็เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ไม่ร้อน สามารถแต่งหน้าได้

ส่วนพี่ณรงค์ ความผูกพันระหว่างตัวเขากับรถโพถ้องนั้นแน่นแฟ้นพอที่จะบอกว่า ‘รัก’ ได้อย่างเต็มปาก

“ผมอยู่กับรถมา 10 กว่าปี ความสุขของผม คือ การได้ดูแลทุกคน ถ้ามีเงินไม่พอก็มานั่งรถโพถ้อง 10 กว่าบ้าน ถ้าพูดได้ก็อยากบอกกับรถโพถ้องว่า รักครับ”

บทใหม่ระบบขนส่งภูเก็ต เมื่อ \'รถโพถ้อง\' จะถูกแทนที่ด้วย \'รถบัสไฟฟ้า\'

แม้อนาคต ‘รถโพถ้อง’ จะไม่ได้วิ่งรับส่งผู้โดยสารในฐานะรถประจำทางอีกต่อไป แต่รถคันนี้จะยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองภูเห็น เป็นหนึ่งในความทรงจำอันล้ำค่าและเป็นวิถีชีวิตที่หล่อเลี้ยงผู้คนในช่วงเวลาหนึ่ง

หลายคนอาจเสียดาย หลายคนอาจก้าวต่อไป แต่ท้ายที่สุด รถโพถ้องจะยังอยู่ในหัวใจของคนภูเก็ตเสมอ ไม่ว่าเมืองจะถูกยุคสมัยเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม 

 

อ้างอิง

รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมภาคใต้อันดามันฝั่งตะวันตก (ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง) ประจำปี พ.ศ. 2566 / กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและมลพิษสำนักที่ 15

นั่งโพถ้องเที่ยวภูเก็ต / การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

“รถโพถ้องภูเก็ต” พาหนะย้อนอดีต สะท้อนเอกลักษณ์วันวาน / PhuketIndex

รถโพถ้องสีชมพู – Pink Phothong / Phuket One Map

สภาพทั่วไปของจังหวัดภูเก็ตปี 2566 / สำนักงานสถิติแห่งชาติ