01 ก.พ. 2566 | 15:30 น.
หากวันหนึ่งโลกที่คุณเคย ‘เห็น’ จู่ ๆ ก็กลายเป็นสีดำสนิท โลกใบนั้นจะเป็นอย่างไร?
เราจะทำใจได้ไหม หากภาพของคนที่เรารัก จู่ๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยความพร่าเลือน
จากความชัดเจน เปลี่ยนเป็นความไม่ชัดเจน ในขณะเดียวกันโลกที่มืดบอด ก็กลับกลายเป็นโลกที่ชัดเจนที่สุด
หากทั้งหมดนี้ถูกพรากไปในชั่วพริบตา...
เราจะทำใจได้ไหม?
นี่คือคำถามที่วิ่งวนอยู่ในหัวของเราก่อนจะต่อสายโทรศัพท์ไปหา ‘แอนนี่ - อธิษฐ์รดา จันทร์ชูวณิชกุล’ ลูกหลานชาวภูเก็ต เจ้าของฉายานางฟ้ากู่เจิง แอนนี่คือคนที่เราอยากสนทนาด้วยมากที่สุด ตั้งแต่เดินทางมายังเมืองถลาง
หากมองเผิน ๆ คงดูไม่ออกว่านางฟ้าที่เราเห็นผ่านทางโลกออนไลน์ คือ ผู้พิการทางสายตา เพราะดวงตาของเธอใสแจ๋ว จนแทบจะแยกความพิการออกจากความปกติได้ยาก ซึ่งเธอก็บอกกับเราตามตรงเหมือนกันว่า เธอเพิ่งรู้ตัวได้ไม่กี่ปีว่าอาการที่เป็นอยู่ เข้าข่ายผู้พิการ
“ตอนนั้นเรางง เพราะตอนตรวจพบคุณหมอไม่ได้แจ้งว่ามันคือความพิการอย่างหนึ่ง คุณหมอบอกแค่ว่าเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ ตาจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ยังไม่มีวิธีรักษา ตอนเด็ก ๆ ก็เข้าใจแค่ว่าเรามีโรคประจำตัว และพ่อแม่ก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเด็กพิการ เลยใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป
“เรารู้แค่ว่าเราเป็นเด็กอ่อนแอคนหนึ่งที่ต้องอยู่กับเพื่อนให้ได้ แต่ก็รู้สึกตัวว่าเริ่มใช้ชีวิตลำบาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพราะว่าเราก็เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่ง แม่ก็ไปบอกครูว่าเราตาไม่ดี ขอให้เรานั่งหน้ากระดานแทน”
แอนนี่ในวัยเกือบสี่สิบปี เริ่มเล่าความทรงจำวัยเด็กให้เราฟัง แม้ว่าเรื่องราวดังกล่าวจะเต็มไปด้วยความขมขื่น แต่เธอก็ ‘พยายาม’ เผยความเจ็บช้ำในอดีตให้เราเห็นทีละน้อย เพราะด้วยลักษณะสังคมไทยในช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยการกดทับ เธอไม่กล้าแม้แต่จะปริปากบอกกับคุณครูว่า เธอเรียนหนังสือตามเพื่อนไม่ทัน เพราะเธอเริ่มสูญเสียการมองเห็นทุกครั้งที่ลืมตาตื่น
แม้ว่าการเรียนในโรงเรียนทั่วไป จะฝากรอยแผลใหญ่ไว้ในความทรงจำ แต่สิ่งสำคัญที่แอนนี่ได้เรียนรู้คือ เธอสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติได้โดยไม่ขัดเขิน
“หลายที่เขาก็เปิดรับสมัครคนพิการ แต่อย่างที่บอกว่ามันเป็นปัญหาตรงที่คนปกติไม่เคยใช้ชีวิตกับคนพิการแต่แรก สุดท้ายมันก็เกิดปัญหา เช่น เวลาเด็กเห็นคนตาบอด เด็กยังมองว่าเป็นตัวประหลาด เพราะเขาไม่เคยเห็น แล้วเวลาเราเจอคนตาบอด เราก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเข้าไปช่วยยังไง เพราะรูปแบบสังคมมันแยก ทำให้เรามองว่าคนพิการเป็นคนประหลาด
“แต่ถ้าเราปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ เช่น ถ้าให้คนตาบอดสามารถมาเรียนร่วมกับคนปกติได้ยิ่งดีเลย คนตาบอกจะได้รู้ว่าการใช้ชีวิตกับคนปกติยังไง เช่นเดียวกับคนปกติ เราต่างจะได้เข้าใจกัน จะได้มีมุมมองต่อคนพิการว่าเขาก็เป็นคนปกติเหมือนเพื่อนเราคนหนึ่ง
“มันไม่ใช่ว่าเขาไม่เปิดโอกาสให้คนพิการ แต่เพราะว่าเราไม่ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน เลยทำให้เป็นแบบนี้ มันเป็นตั้งแต่รากฐานเลย แอนเป็นคนพิการที่คิดว่าตัวเองเป็นคนปกติไง เราอยู่ตรงกลาง เราเลยเห็นปัญหาและพยายามบอกทุกคน เราเลยพยามสื่อสาร และแก้ภาพลักษณ์ของคนพิการ”
นี่คือภาพฝันที่แอนอยากให้สังคมไทยปรับ เพื่อมอบพื้นที่ให้คนพิการได้มี ‘พื้นที่’ หายใจในสังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย กว่าเธอจะมีมุมมองที่เปิดกว้างขนาดนี้ แอนนี่เคยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อน ลำบากชนิดที่ว่า คนฟังอย่างเราต้องฟังไปลุ้นไป โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มืดหม่นสมัยยังเรียนอยู่ชั้นประถม ที่ไม่ว่าจะมองภาพในอนาคตไปได้ไกลเพียงใด เธอก็ย้อนกลับมายังอดีตอันไม่น่าจดจำนี้ทุกครั้งไป
“เราเป็นคนอ่อนแอในห้อง มักจะโดนแกล้งเสมอ บางกิจกรรมไม่สามารถทำกับเพื่อนได้เนื่องจากปัญหาเรื่องสายตา ทำให้มีเพื่อนน้อย แล้วก็ไม่ยุ่งกับเพื่อนคนอื่นเลยเพราะคิดว่าเขาไม่เข้าใจ”
“สิ่งที่จำได้แม่นเลยว่าระบายความเครียดด้วยการเขียน ถ้าอยู่โรงเรียนเวลาเริ่มเครียดก็จะเขียนลงกระดาษแล้วฉีกทิ้ง หรือเวลาอยู่บ้านก็จะเขียนระบายใส่สมุด เขียนไปร้องไห้ไป พอเหนื่อยก็ไปทำอย่างอื่น เลยเป็นวิธีเดียวที่ใช้คลายเครียด ทุกวันนี้ยังจำสมุดเล่นนั้นได้อยู่เลย (หัวเราะ)
“แล้วเราก็ไม่ชอบตัวเองเลย ยิ่งตอนเด็กยังตาเขอีก เพื่อนก็ยิ่งล้อ ทุกคนบอกว่าเราขี้เหล่ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองขี้เหล่มาก ทั้งที่ก็อยากแต่งตัวน่ารักเหมือนคนอื่น สมัยก่อนที่ภูเก็ตจะมีข่าวแก๊งจับเด็กไปขายมาเลเซีย แม่เลยจับตัดผมสั้น ยิ่งขี้เหล่เข้าไปอีก ทั้งที่อยากทำผมสวยๆ แต่งตัวน่ารักๆ บ้างแต่ก็ไม่เคยได้แต่งแบบนั้นเลย เรียกว่าเก็บกดเลยก็ได้”
“มันค่อย ๆ ข้ามมานะ... อย่างตอนช่วงประถมก็เรียนดี ได้ที่ 4 5 6 ของห้องตลอด เลยรู้สึกว่าเราก็เรียนเก่งเหมือนกันนะ แต่ทำไมเราถึงไม่ได้รับการยอมรับ ตอนพรีเซนต์งานหน้าห้องเราอ่านโพยไม่ได้ ทำรูปเล่มก็ไม่ได้ เราก็เลยเสนอตัวเป็นคนพรีเซนต์งาน
“เวลาเราพรีเซนต์หน้าห้องเราจะอ่านเรื่องทั้งหมดแล้วจำไปพูด เพราะเราไม่มีช้อยส์ให้เลือกเราแค่ต้องทำให้ได้ พอทำแบบนั้น เพื่อนก็อึ้ง มันทำให้เรารู้สึกภูมิใจมาก เลยรู้สึกว่าตัวเองต้องการการยอมรับ อยากให้คนอื่นชื่นชม
“พอโตขึ้นเข้าเรียนในโรงเรียนเพื่อนก็เริ่มเข้าใจเรา เริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น แล้วพอมาช่วงมัธยมตอนจะย้ายไปโรงเรียนสตรีภูเก็ต เราเครียดมาก เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด กลัวไม่มีคนยอมรับ พอเข้าไปได้เพื่อนสนิทเป็นคนเลขที่ติดกัน เพื่อนดูแลเราดีมากจนคนในโรงเรียนคิดว่านี่คือลูกของคนใช้ที่บ้านที่ให้มาดูแลเรา ตลกมาเลย และเพราะเพื่อนคนนี้ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น ทำให้เราได้โชว์ศักยภาพมาขึ้น
“พอเราเริ่มดูแลตัวเองได้ ก็กลับมาทำงาน แรก ๆ เราทำงานหลายอย่างมาก เช่น ออแกไนซ์ แต่พอถึงเวลาหน้างานจริง ๆ เราก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะข้อจำกัดหลายอย่าง พอออกก็มีเพื่อนมาชวนไปขายข้าวแกงบ้าง ไปขายชานมไข่มุกที่ต้มเองด้วยบ้าง
“เราก็ไปตั้งขายหน้าร้านขายข้าวแกงแล้วก็ติดป้ายว่า แม่ค้าตามองไม่ได้เวลาทอนเงินช่วยบอกด้วยว่าแบงก์อะไร’ แล้วก็มีคนมาเตือนเยอะว่าไม่กลัวคนโกงเหรอ เราก็บอกว่าเราเชื่อว่าสังคมนี้ยังมีคนดี แล้วถ้าเราเอาแต่กลัวชีวิตตี้ก็ไม่ต้องทำอะไร
“จนวันหนึ่งมีน้องมาเสนอให้เข้าไปขายในร้านเขาจะได้ไม่ร้อน ทำเป็นคาเฟ่ตอนกลางวัน ตอนนั้นเราก็เริ่มหัดทำกาแฟ เราก็เอาป้ายนั้นมาตั้งอีก เพราะว่าเราภูมิใจกับการมองไม่เห็นของเรา แต่ก็จะมีลูกค้าที่มาเพราะว่าเขารู้ว่าเรามองไม่เห็น เขาก็สั่งกาแฟ พอเราหันหลังทำกาแฟ เขาก็แอบเข้ามาหาเรา มันน่ากลัวมาก
“แต่โชคดีที่แม่เราผ่านมาพอดี ลูกค้าคนนั้นเขาก็รีบหนีไป แล้วแม่ก็เลยบอกให้เลิกขายแล้วกลับบ้าน ไม่ให้ทำงานแล้ว คือมันมีความยากของแอนอย่างหนึ่ง ที่ไม่สามารถใช้ไม้เท้าเหมือนคนอื่นได้ เนื่องจากครูสอนบอกว่าขนาดเราไม่มีไม้เท้าคนยังเข้าหาเลย ถ้าเรามีไม้เท้าคนไม่ดีน่าจะเข้ามาแน่ๆ ก็เลยเป็นเคสที่ต้องแกล้งทำเป็นมองเห็นเพื่อความปลอดภัยของตัวเรา”
หลังจากวันนั้น แอนนี่บัณฑิตคณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรนานาชาติ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ต้องเปลี่ยนสภาพกลายเป็นคนตกงานทันที เพราะมนุษย์ที่หวังฉกฉวยโอกาสจากเธอ จนกระทั่ง ‘กู่เจิง’ เครื่องดนตรีที่พ่อเคยซื้อให้เป็นของขวัญเมื่อครั้งเป็นเด็ก เริ่มกลับมาอยู่ในสายตาของเธออีกครั้ง หลังจากวางทิ้งไว้จนฝุ่นเกาะมาไม่ต่ำกว่าสิบปี
“แอนกลับมาอยู่บ้าน แล้วก็มีเพื่อนคนหนึ่งมาหาที่บ้าน เขาเล่นกู่เจิงเป็นแต่ไม่มีเครื่อง เลยอยากมายืมเครื่องเราซ้อมเพลงที่จะสอบ เราก็ยินดีเพราะว่าเราไม่ได้เล่นเลย คือวางทิ้งไว้ 10 ปี แล้วเขาก็เกรงใจที่เขามาใช้เครื่องเราซ้อมทุกวัน เขาก็เลยสอนให้เราฟรี
“พ่อเราก็ชอบกู่เจิงอยู่แล้วจึงสนับสนุนให้เราเล่น ตอนนั้นเราก็อยู่บ้านเฉย ๆ เลยเล่น ๆ ไป แล้วเพื่อนก็สอนเราอยู่ 4 เพลง แล้วอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมาบอกว่ามีอีเวนต์วันตรุษจีนที่สนามบินภูเก็ต เลยมาถามเราว่าเราเล่นได้ไหมแต่ตอนนั้นเรายังเล่นไม่เป็นเพลงเลย อาจารย์ก็บอกว่าให้แอนไปใส่ชุด แล้วก็ไปดีดไปมาแค่นี้ได้เงินตั้ง 5,000 ไม่อยากได้เหรอ
“เราก็ไปเลยเล่นกู่เจิงในงานถนนคนเดินที่ภูเก็ต แต่เราไม่ได้บอกใครว่าเรามองไม่เห็น เพราะอยากเช็คว่าเพลงที่เราเล่นถูกหูคนฟังจริงไหมไม่ใช่หยอดตังค์เพราะว่าเรามองไม่เห็น สุดท้ายแล้วคนก็ชอบ เหมือนเราได้กลับมามีความสุขอีกครั้งหนึ่ง
“แล้วก็เป็นจังหวะที่เมืองเก่าภูเก็ตทำการท่องเที่ยวชุมชน เลยชวนแอนไปทำงานเล่นต้อนรับแขก เราก็เลยเริ่มมีงานแล้วนักข่าวภูเก็ตก็มาเจอเรา เลยชวนเราหนักสือพิมพ์ภูเก็ตทาวน์ เขาก็บอกเราว่าถ้าเราจะเล่นเราต้องนางฟ้า เพราะพี่เห็นแบบนั้น”
นี่จึงเป็นที่มาของฉายา ‘นางฟ้ากู่เจิง’ ของแอนนี่ ถึงตอนแรกเธอไม่อยากจะยอมรับนัก เพราะค่อนข้างเขินอายที่ต้องน้อมรับคำชมลักษณะนี้ แต่หลังจากยึดโยงอาชีพนักดนตรีกู่เจิงมาได้ระยะหนึ่ง เธอจึงค่อย ๆ เปิดใจยอมรับ เพราะอย่างน้อยการเป็นนางฟ้า ก็ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจ เป็นความหวัง และความสุข ให้กับคนธรรมดาที่ขาดที่พึ่ง
“แอนก็เลยปรับตัว มองว่ากู่เจิงไม่ใช่แค่เครื่องดนตรี แต่มันคือเครื่องตรีที่สร้างความสุข สร้างความหวังให้เรา และคนฟังด้วย เราก็เล่นเพลงที่มันหลากหลาย ทุกวันนี้เลยกลายเป็นนักกู่เจิงที่งานเยอะมาก เพราะว่าเราไม่จำกัดตัวเอง ไม่ได้แค่เล่นแล้วกลับ แต่เราต้องสร้างพลังบวกให้คนฟังด้วย”
“เพราะทุกครั้งที่โชว์เราตั้งใจไปเป็นแรงบันดาลใจให้คนฟัง เรื่องราวในอดีตที่มันเกิดเกิดขึ้นกับเรา มันทำให้เราพยายาม จนมาเป็นเราทุกวันนี้ แอยอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จมาก แต่ปัจจุบันนี้มันก็ทำให้เราดีขึ้นมากแล้ว มีความสุขขึ้นมากแล้ว
“ทุกครั้งที่เราไปเล่นเราจะมีความสุขมาก และงานที่แอนทำเป็นงานช่วยเหลือสังคม หลายครั้งเราช่วยเหลือเรื่องเมืองเก่า และกองการแพทย์ อีกอย่างหนึ่งอยากจะสื่อออกไปคือ ภาพลักษณ์ของคนพิการ แอนไม่อยากให้คนมองว่าไม่มีความสุข น่าสงสาร
“เวลาคนอื่นมองเข้ามาก็เห็นว่าแอนมีความสุข มีคุณค่า ไม่อยากให้คนมองว่าคนพิการต้องเศร้า แต่คนพิการก็ดูดีได้ มีความสุขได้ นี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อ เป็นภาพลักษณ์ใหม่ ๆ และทำให้คนรู้จักโรคนี้ด้วย ว่า โรคจอประสาทตา มันน่ากลัวนะ
“เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จอสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ ของคนในปัจจุบัน ทำให้คนเป็นกันเยอะและเร็วมากขึ้น ในทุกครั้งที่เราโชว์เราก็พยายามจะแทรกความรู้เข้าไปเสมอ เช่น ถ้าเราไปทำงานกับเด็กวัยรุ่น เราก็จะเล่าเรื่องที่เราผ่านมาได้สมัยเรียน เพื่อเป็นแนวทางและกำลังใจส่งผ่านไปให้คนฟัง แอนมองโลกแบบเข้าใจ เรายังต้องอยู่กับโรคนี้ต่อไป ไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นยังไง เรารู้แค่ว่าเราเป็นมนุษย์ที่มีเวลาจำกัด เราจึงต้องรีบสร้างความสุขให้ตัวเอง หาคุณค่าให้ตัวเอง และให้พลังกับคนอื่นต่อไป”