รู้จัก แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ บิดาแห่งเกย์ศึกษา

รู้จัก แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ บิดาแห่งเกย์ศึกษา

รู้จัก แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ บิดาแห่งเกย์ศึกษา

"เราขอปฏิเสธการถูกเรียกว่าเป็นยิว ซึ่งกลายเป็นเหตุให้พวกหมูนาซีคว่ำบาตรและคอยข่มเหง เราคือชาวเยอรมัน พลเมืองเยอรมันที่มีความดีทัดเทียมกับฮินเดนเบิร์ก หรือลูเดนดอร์ฟ เช่นเดียวกับบิสมาร์ก หรือกระทั่งไกเซอร์ผู้เฒ่าของเรา! เราคือชาวเยอรมันผู้ซื่อสัตย์ เกิดในเยอรมันจากพ่อแม่ชาวเยอรมัน! ขณะเดียวกันสิ่งที่ติดตัวเราเช่นเดียวกับเด็กเกิดใหม่ทุกรายทั่วยุโรปคือการถูกบังคับให้เข้ารีตอย่างไม่มีทางเลือก ถูกบังคับให้รับศีลจุ่ม หรือถูกขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศ เพราะพ่อแม่ของเรายึดมั่นในศาสนาแห่งโมเสส เราถูกตีตราด้วยตราบาปแห่งโมเสส!" คำพูดที่ ฮันส์ บลูเฮอร์ (Han Blüher) นักเขียนชาวเยอรมันอ้างว่า แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ (Magnus Hirschfeld) หมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศและนักเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกล่าวกับเขา แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ เกิดในเมืองโคลเบิร์ก (Kolberg) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1868 ซึ่งตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ประเทศโปแลนด์) ในครอบครัวชาวยิวซึ่งมีพ่อ "เฮอร์มัน" (Hermann) เป็นหมอ และประธานชุมชนชาวยิวแห่งโคลเบิร์กที่สร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับชุมชนจนเมื่อเขาจากไปก็มีคนสร้างอนุสาวรีย์ให้ แต่มาถูกทำลายในยุคของนาซีเมื่อปี 1933 ส่วนเฟเดอริก (Friederike) แม่ของเขามาจากตระกูลมานน์ (Mann) ซึ่งเป็นเครือญาติกับสามี เมื่อพ่อเขาเสียชีวิตลง ตอนนั้น เฮิร์ชเฟลด์มีอายุได้ 17 ปี พ่อของเขาไม่ได้ทิ้งสมบัติอะไรไว้ให้มากมาย แต่เขาก็ได้ญาติๆ ช่วยส่งเสียเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งตอนแรกเขาเลือกเรียนด้านภาษาก่อนย้ายไปเรียนด้านการแพทย์ตามอย่างพ่อและพี่ๆ น้องๆ ช่วงที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย (1887-1892) การที่เขาเปลี่ยนที่เรียนอยู่หลายครั้งทำให้เขามีโอกาสได้พบปะเพื่อนฝูงที่ชักนำให้สนใจกิจกรรมทางการมือง และการปฏิเสธรากเหง้าทางศาสนาของเขาก็ปรากฏชัดเจนในช่วงนี้เช่นกัน โดยในปี 1887 ที่เขายังเรียนอยู่ที่เบรสเลา ( Breslau, ปัจจุบันเรียกว่า วรอตสวัฟ - Wrocław อยู่ในประเทศโปแลนด์) เขายังบอกว่าตัวเองเป็น "ยิว" แต่เมื่อเขาย้ายไปเรียนต่อที่อื่นเขามักจะกรอกข้อมูลในช่องศาสนาว่า "diss." (dissident) แสดงให้เห็นว่าเขาปฏิเสธการมีศาสนา ตอนที่เขาเดินทางไปยังปารีสเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาเขามีโอกาสได้พบกับ แมกซ์ นอร์โด (Max Nordau) ผู้นำขบวนการไซออนนิสม์ (ขบวนการต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐยิว) และมีส่วนรับรู้รับฟังในการถกเถียงถึงความชอบธรรมของขบวนการไซออนนิสม์ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นไซออนนิสต์ไปด้วย แม้หลังจากนั้นเขาจะเคยเดินทางไปร่วมการประชุมของกลุ่มไซออนนิสม์ก็ตาม และเขายังไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูการใช้ภาษาฮิบรู เนื่องจากเห็นว่าเป็นการส่งเสริมความแปลกแยกจากชนกลุ่มอื่นโดยไม่จำเป็น หลังเรียนจบใหม่ๆ เขาเป็นหมอที่เน้นการรักษาด้วยธรรมชาติ (naturopathy) ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อ ในขณะที่หมอร่วมสมัยเห็นว่ามันเป็นการกระทำที่นอกรีตไม่สอดคล้องกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จนทำให้ครั้งหนึ่งเมื่อไปประจำอยู่ที่มักเดเบิร์ก (Magdeberg) เขาเคยถูกร้องเรียนว่ากระทำหน้าที่โดยมิชอบเมื่อคนไข้คนหนึ่งของเขาเสียชีวิตลง แต่สุดท้ายผลพิสูจน์เป็นคุณกับเขาทำให้รอดมาได้ ก่อนตัดสินใจย้ายออกจากมักเดเบิร์ก และระหว่างที่อยู่มักเดเบิร์กนี่เองที่ทำให้เขาหันมาสนใจศึกษาพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน โดยเขาอ้างว่าเมื่อประจำอยู่ที่นี่เขามีโอกาสได้พบกับคนไข้รายหนึ่งเป็นทหารที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายก่อนที่เขาจะต้องเขาพิธีแต่งงาน ทำให้พ่อแม่ของเขาได้แต่สงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาคิดสั้น แต่ก่อนตายเขาได้มอบจดหมายลาตายไว้ให้กับเฮิร์ชเฟลด์และบอกถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจลาโลก พร้อมเรียกร้องให้เฮิร์ชเฟลด์ให้ความรู้และความเข้าใจต่อคนทั่วไปซึ่งมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อคนรักเพศเดียวกัน เมื่อเฮิร์ชเฟลด์ย้ายมาอยู่ที่ชาร์ลอตเทนเบิร์ก (Charlottenburg) เขาและเพื่อนฝูงที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกันจึงได้ร่วมกันจัดตั้ง Scientific-Humanitarian Committee (SHC) ในปี 1897 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ผลักดันเรื่องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันองค์กรแรกของโลก (จริงๆ เคยมีความพยายามลักษณะเดียวกันมาก่อนแต่ไม่ประสบความสำเร็จและมีผลกระทบค่อนข้างจำกัด) วัตถุประสงค์หลักขององค์กรก็คือการผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายที่เอาผิดกับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกัน การทำงานของพวกเขามีเป้าหมายเป็นกลุ่มวิชาชีพอย่างเช่น หมอ นักกฎหมาย ศิลปิน ครู อาจารย์ และผู้มีการศึกษา โดยเน้นการเผยแพร่บทความในวารสารหรือหนังสือต่างๆ รวมถึงวารสารทางการแพทย์ตามแนวทางของเฮิร์ชเฟลด์ที่เขาเรียกว่า "จากวิทยาศาสตร์สู่ความยุติธรรม" เฮิร์ชเฟลด์พยายามหาข้อมูลว่า ในคนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ มีคนรักเพศเดียวกันเป็นสัดส่วนมากน้อยเพียงใด และใช้ความรู้ทางด้านพันธุกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดในสมัยนั้นอย่างเช่นการวิจัยเกี่ยวกับฮอร์โมนมาอธิบายเรื่องเพศสภาพ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การที่คนจะรักคนต่างเพศหรือเพศเดียวกันคือภาวะทางธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่คนๆ นั้นเลือกเอง มันจึงไม่ใช่ความชั่วร้ายหรือบาปอย่างที่กลุ่มศาสนาอับราฮัมประณาม แต่แนวทางของเขาใช่ว่าจะได้รับการยอมรับจากเครือข่ายของเขาเองโดยเอกฉันท์ เบเนดิกต์ ฟรีดแลนเดอร์ (Benedict Friedlaender) หนึ่งในสมาชิก SHC ไม่เห็นว่าการอ้างเรื่องวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่จำเป็น และเห็นว่าข้อโต้แย้งทางกฎหมายและจริยธรรมก็เพียงพอแล้ว เพราะการพิสูจน์ให้เห็นว่า การเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมชาติกลับทำให้คนรักเพศเดียวกันถูกมองว่าเป็น "พวกจิตวิปลาสโดยธรรมชาติ" หรือ "คนครึ่งหญิงผู้น่าเวทนา" หรือ "หญิงสาวผู้น่าสงสารในร่างของผู้ชาย" ซึ่งฟรีดแลนเดอร์มองว่า วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการแบบ "ขอทาน" ที่อาจทำให้คนยอมอดกลั้นหรือแสดงความสงสารต่อคนรักเพศเดียวกันได้บ้าง แต่ก็ไม่มีทางที่จะทำให้คนรักเพศเดียวกันได้รับการเคารพยอมรับ หรือได้มีสิทธิเท่าเทียมเบื้องหน้ากฎหมาย วิกฤตความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่ของเฮิร์ชเฟลด์เกิดขึ้นเมื่อปี 1907 จากกรณีการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทระหว่าง คูโน ฟอน มอลต์เคอ (Kuno von Moltke) นายทหารเยอรมัน กับแมกซิมิเลียน ฮาร์เดน (Maximilian Harden) นักหนังสือพิมพ์ที่กล่าวหาว่ามอลต์เคอมีสัมพันธ์ทางเพศกับเจ้าชายฟิลิปป์แห่งยูเลนเบิร์ก (Philipp von Eulenburg) ซึ่งเฮิร์ชเฟลด์ไปเบิกความเข้าข้างฮาร์เดนว่า มอลต์เคอเป็นเกย์จริงและนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ โดยที่เขายังไม่เคยได้ตรวจมอลต์เคอด้วยตัวเอง ด้วยความเชื่อที่ว่าการพิสูจน์ให้สาธารณะเห็นว่าแม้แต่นายทหารใหญ่ยังเป็นเกย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีรสนิยมเดียวกันอาจจะผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายเอาผิดกับการเป็นเกย์ได้ เมื่อประกอบกับให้การของภรรยาของมอลต์เคอเองที่บอกว่าตั้งแต่แต่งงานมาเธอเคยมีเซ็กซ์กับสามีเพียงแค่สองครั้ง ซึ่งขณะให้การเธอยังพูดถึงความต้องการทางเพศอย่างเปิดเผย รวมถึงการที่เธอทำร้ายสามีเพื่อบังคับให้มาร่วมเพศด้วย ทำให้คณะลูกขุนเชื่อว่ามอลต์เคอไม่น่าจะชายสมชายจริงและมีมติเข้าข้างฮาร์เดน แต่ศาลมีคำวินิจกลับมติของคณะลูกขุนจนนำไปสู่การไต่สวนครั้งใหม่ท่ามกลางกระแสโจมตีเฮิร์ชเฟลด์กล่าวหาว่าเขามีวาระซ่อนเร้นและใช้วิทยาศาสตร์ปลอมมามอมเมาสาธารณะ ขณะที่ภรรยาของมอลต์เคอซึ่งแสดงออกถึงความต้องการทางเพศผิดวิสัยของคนสมัยนั้นก็ถูกมองว่าน่าจะมีความผิดปกติทางจิต และการที่เฮิร์ชเฟลด์ถูกข่มขู่ว่าหากเขาขึ้นให้การครั้งใหม่โดยยืนยันคำให้การเดิมเขาอาจถูกเพิกถอนใบประกอบโรคศิลปะได้ ทำให้ในการพิจารณาคดีครั้งหลังเฮิร์ชเฟลด์กลับคำให้การโดยบอกว่าแม้มอลต์เคอกับเจ้าชายแห่งยูเลนเบิร์กจะมีความผูกพันธ์เชิงเสน่หา แต่ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางเพศ และแม้จะยังยืนยันว่าความต้องการทางเพศในผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ แต่ก็บอกว่าคำให้การของภรรยามอลต์เคออาจไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากเธอเป็นโรคฮิสทีเรียเพราะขาดการมีเพศสัมพันธ์มานาน การพิจารณาคดีในครั้งนั้นเป็นเรื่องอื้อฉาวมากๆ และไม่ได้ช่วยให้สถานภาพของคนรักเพศเดียวกันดีขึ้นกลับทำให้คนเกลียดกลัวมากขึ้น รัฐบาลก็ไม่คิดจะยกเลิกกฎหมายเอาผิดกับการเป็นเกย์อย่างที่เฮิร์ชเฟลด์ตั้งความหวัง และ SHC ก็ต้องสูญเสียสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนไปมากมาย หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ เฮิร์ชเฟลด์ตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศและหันไปให้ความสำคัญกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการเผยแพร่ผลงานวิจัย เข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เบื้องต้นเขาแสดงท่าทีแข็งกร้าวเข้าข้างฝ่ายชาตินิยมเพื่อแสดงให้เห็นว่า ชาวยิวและคนรักเพศเดียวกันอย่างเขาก็เป็น "เยอรมันที่ดี" ก่อนจะเปลี่ยนท่าทีมาต่อต้านสงครามในช่วงท้ายๆ ต่อมาในปี 1919 เฮิร์ชเฟลด์ ได้ก่อตั้ง Institute for Sexual Science สถาบันเพศวิทยาแห่งแรกของโลกขึ้นในเบอร์ลิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ การให้คำปรึกษา การศึกษา และการรักษาโรคทางเพศ เช่นโรคหนองในหรือซิฟิลิสซึ่งมีการระบาดอย่างรุนแรงในช่วงสงครามโลก รวมไปถึงอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และชายหญิงที่ต้องการ "แปลงเพศ" ก็เดินทางมาปรึกษาเขาที่สถาบันแห่งนี้ด้วยเช่นกัน และชื่อเสียงของสถาบันก็ทำให้มันกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเบอร์ลิน อีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่เขามีส่วนในการจัดตั้งก็คือ World League for Sexual Reform ซึ่งมีวัตถุประสงเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ สิทธิในการคุมกำเนิด การให้การศึกษาเรื่องเพศ รวมถึงเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมและกฎหมายของคนทุกเพศ แม้จะผูกพันกับความเป็นเยอรมันมากแค่ไหน แต่การเป็นยิวก็ทำให้เขาตกเป็นเป้าของฝ่ายขวา ในปี 1920 เขาถูกกลุ่มต่อต้านยิวรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสในมิวนิก เมื่อลัทธินาซีแพร่ระบาด เฮิร์ชเฟลด์ยิ่งตกเป็นเป้าของความเกลียดชัง เขามักจะถูกดักทำร้าย และขัดขวางการบรรยายทางวิชาการอยู่เสมอ ในปี 1933 พรรคนาซีสามารถยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จและเริ่มนโยบายทำลายหนังสือที่ไม่สอดคล้องกับ "ความเป็นเยอมัน" และ Institute of Sexual Science ของเฮิร์ชเฟลด์ก็ตกเป็นเป้าหมายแรกของเหล่ายุวชนฮิตเลอร์ แต่ตอนที่เหล่านาซีบุกทำลายสถาบันแห่งนี้ เฮิร์ชเฟลด์ไม่ได้อยู่ในเยอรมนีแล้ว เนื่องจากเขาตัดสินใจลี้ภัยอยู่ต่างแดนตั้งแต่เสร็จภารกิจเดินทางไปบรรยายในประเทศต่างๆ ในปี 1932 โดยตอนแรกเขาไปใช้ชีวิตอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสในปี 1934 และเสียชีวิตลงในปี 1935 ด้วยโรคหัวใจ สำหรับชีวิตส่วนตัวของเฮิร์ชเฟลด์ แม้เขาจะเป็นบุคคลสาธารณะแต่เขาก็เก็บงำเรื่องราวส่วนตัวไว้อย่างมิดชิด ไม่มีใครรู้แน่ว่าเขามีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครบ้างก่อนจะได้รู้จักกับคาร์ล จีเซอ (Karl Giese) ซึ่งตอนนั้นเขาอายุได้ราว 50 ปีแล้ว คาดกันว่าทั้งคู่ได้พบกันระหว่างที่เฮิร์ชเฟลด์ทำหนังสารคดี ก่อนที่จีเซอจะได้เข้ามาทำงานกับ Institute of Sexual Science ในปี 1919 ทำหน้าที่ดูแลของสะสมและเอกสารต่างๆ และแม้ทั้งคู่จะปรากฏตัวอยู่เคียงข้างกันบ่อยๆ แต่คนนอกก็มักจะไม่รู้ว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันแบบไหน แม้แต่เพื่อนสนิทของเขาเองก็ดูไม่ออกว่าเฮิร์ชเฟลด์ก็เป็นเกย์ และเขากับจีเซอคือคู่รักกัน ในบั้นปลายชีวิตเฮิร์ชเฟลด์ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Li Shiu Tong (Tao Li) นักศึกษาแพทย์ที่เขาได้พบระหว่างเดินทางไปบรรยายที่เซี่ยงไฮ้และได้พาร่วมเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย ตะวันออกกลางจนเดินทางกลับยุโรป