มาห์มุด อับบาส ผู้เลื่อนการเลือกตั้งไปตลอดกาล

มาห์มุด อับบาส ผู้เลื่อนการเลือกตั้งไปตลอดกาล

มาห์มุด อับบาส ผู้เลื่อนการเลือกตั้งไปตลอดกาล

ในระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งนับเป็น "หนึ่งในหัวใจสำคัญ" ซึ่งหากขาดไปก็จะถือว่ารัฐนั้นเป็นรัฐประชาธิปไตยไม่ได้เลย แต่ถึงมีก็ไม่ได้แปลว่ารัฐนั้นจะเป็นรัฐประชาธิปไตยไปเสียทันที เพราะรัฐเผด็จการหลายรัฐก็ใช้การเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมในการดำรงอำนาจของตัวเอง (แม้แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการคนดังของไทย ตอนแรกก็พยายามใช้การเลือกตั้งและระบบรัฐสภาสร้างความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจให้กับตัวเอง ก่อนทนไม่ไหวทำรัฐประหารซ้อนอีกรอบ) ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งก็อาจเป็นดาบสองคม หากผู้นำเผด็จการไม่อาจกุมเสียงและพฤติกรรมของประชาชนได้อย่างเด็ดขาด มันก็อาจกลายเป็นจุดจบของพวกเขาได้ โดยนักวิจัยที่ทำการวิเคราะห์รัฐเผด็จการ 259 รัฐบาลทั่วโลกระหว่างปี 1948 ถึง 2008 พบว่า กว่า 50 เปอร์เซนต์ของการล่มสลายของรัฐเผด็จการนั้นเกิดขึ้นในช่วงปีที่จัดให้มีการเลือกตั้งนั่นเอง (The Washington Post) ด้วยเหตุนี้รัฐเผด็จการที่จำแลงร่างเป็นประชาธิปไตยหลายรัฐจึงต้องใช้กลโกงต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะตั้งแต่ก่อนเปิดหีบเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคนของตัวเองไปนั่งเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งให้ตัวเองได้เปรียบ ตัดทางระดมทุนและขัดขวางการหาเสียงของพรรคคู่แข่ง หรือไม่ก็เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าจังหวะที่ตัวเองได้เปรียบที่สุด ซึ่งกลยุทธ์ในข้อหลังนั้นคนไทยเราคงคุ้นกันดี เพราะเคยเจอเหตุการณ์บอกจะเลือกตั้งวันนั้นวันนี้ แต่ก็เลื่อนมาหลายรอบ แต่การรอคอยของคนไทยก็ยังน้อยกว่าชาวปาเลสไตน์ที่รอคอยการเลือกตั้งกันมานานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ มาห์มุด อับบาส ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ปาเลสไตน์ในปัจจุบันมีอำนาจปกครองดินแดนสองส่วนคือเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซา โดยมี องค์การปกครองแห่งปาเลสไตน์ (Palestinian Authority [PA] ก่อนนี้ใช้ชื่อ Palestinian National Authority) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1994 จากข้อตกลงสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง การเลือกตั้งในเขตปกครองของ PA เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1996 ซึ่ง ยัสเซอร์ อาราฟัต อดีตผู้นำ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLO ชนะการเลือกตั้งไปอย่างง่ายดาย เช่นเดียวกับ พรรคฟาตาห์ (Fatah) ของเขา ที่ได้ครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติแห่งปาเลสไตน์ ต่อมาในปี 2003 จึงได้มีการตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นมา ซึ่ง มาห์มุด อับบาส ก็กลายเป็นคนแรกที่ได้นั่งในตำแหน่งนี้ ถึงปี 2004 อาราฟัตเสียชีวิต อับบาสได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธาน PLO และชนะการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2005 ได้เป็นประธานาธิบดีแห่ง PA สืบต่อจากอาราฟัต โดยมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในปีต่อมา (2006) ก็ถึงคราวเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งปาเลสไตน์ตามวาระ แต่ "ฮามาส" องค์กรที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศยังจัดให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย กลับพลิกชนะการเลือกตั้งอย่างเหนือความคาดหมายได้ผู้แทนไป 74 ที่นั่ง ส่วนฟาตาห์ได้มาเพียง 45 ที่นั่ง หลังการเลือกตั้งสองพรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสม แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งจนเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธ ซึ่งฮามาสสามารถขับไล่ฟาตาห์ออกจากฉนวนกาซาได้แบบไม่ยากเย็น ทำให้อับบาสสั่งยุบรัฐบาลที่กลุ่มฮามาสเป็นแกนนำ พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนมิถุนายน 2007 สองพรรคจึงแยกกันปกครองปาเลสไตน์ ฟาตาห์ปกครองเวสต์แบงก์ ส่วนฮามาสก็ปกครองฉนวนกาซา เมื่อใกล้ครบเทอมการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของอับบาสในเดือนมกราคมปี 2009  ทางฟาตาห์ก็เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป "หนึ่งปี" เพื่อให้ตรงกับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนมกราคมปี 2010 โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งทั้งสองสถาบันต้องจัดขึ้นพร้อมกัน แต่ด้วยความที่ทั้งสองสถาบันจัดการเลือกตั้งเหลื่อมกันหนึ่งปีมาแต่คราวก่อน ก็เลยต้องเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปให้ตรงกับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ซึ่งฮามาสคัดค้าน ฝ่าย PLO (ที่อับบาสเป็นประธานและมีบทบาทลดลงหลังการมาถึงของ PA) จึงออกมาประกาศให้อับบาสครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งแน่นอนว่าฮามาสไม่เห็นด้วย และบอกว่ามติของคณะกรรมการกลาง PLO ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย (The New York Times) ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายเลยมีผลทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเรื่อยๆ แม้จะมีการประนีประนอมกันได้เป็นระยะๆ เช่นในเดือนเมษายน 2011 มีการประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน "หนึ่งปี" แต่ก็ไม่ได้เลือก ปี 2014 ทั้งสองฝ่ายกลับมาคุยกันได้อีกก็ตกลงกันว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ซึ่งก็เหมือนเดิม มีเหตุให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ได้ตามเคย ในเดือนธันวาคม 2018 อับบาสได้ออกมาประกาศว่าเขาจะสั่งยกเลิกสภานิติบัญญัติ (สภาที่ยังมีผลบังคับได้เฉพาะในฝั่งกาซา) ซึ่งตกค้างมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2006 (ที่ฮามาสเป็นฝ่ายชนะ) โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และให้คำมั่นว่าหลังการสภาสิ้นสภาพไปแล้วก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในหกเดือน ซึ่งแน่นอนว่าฮามาสก็ต้องออกมาคัดค้าน โดยบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายระบบการปกครองและก่อความวุ่นวายขึ้นมาอีก ที่ถูกคือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นมาก่อน สภาชุดเดิมจึงจะพ้นจากหน้าที่ (The New York Times) ด้วยเหตุนี้เมื่อดูจากแนวโน้มแล้ว คู่ขัดแย้งในปาเลสไตน์คงยังหาข้อตกลงไม่ได้ไปอีกพักใหญ่ ชาวปาเลสไตน์ที่รอการเลือกตั้งมาแล้วเป็นสิบปีจึงคงต้องรอการเลือกตั้งต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด