ไมเคิล ชูมัคเกอร์ จอมมารร้ายและเทพบุตรแห่งวงการ F1

ไมเคิล ชูมัคเกอร์ จอมมารร้ายและเทพบุตรแห่งวงการ F1
จริงอยู่ที่วงการแข่งรถ Formula 1 (F1) เต็มไปด้วยนักซิ่งระดับพระกาฬ ไม่ว่าจะเป็น อแลง พรอสต์, นิกี้ เลาด้า, อายร์ตัน เซนน่า, ฮวน มานูเอล ฟังจิโอ, เฟอร์นันโด อลองโซ, ลูอิส แฮมิลตัน เป็นต้น แต่ชื่อของ ไมเคิล ชูมัคเกอร์ (Michael Schumacher หรือบ้างก็เรียกว่า มิชาเอล ชูมัคเกอร์) จะได้รับการเอ่ยถึงก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ เพราะเขาคือคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์ F1 ไปครองถึง 7 สมัย และนั่นคือแต้มต่อที่ทำให้เขาทิ้งห่างคนอื่นอยู่หลายช่วงตัว แม้ชูมัคเกอร์จะประสบอุบัติเหตุอาการสาหัสขณะเล่นสกีเมื่อปี 2013 และอยู่ในอาการโคม่าถึงราว 5 ปี ก่อนจะเริ่มรู้สึกตัวเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ชื่อของชูมัคเกอร์ก็ยังประทับแน่นในความทรงจำของบรรดาแฟน ๆ อย่างยากจะเลือนหาย หลังสิ้นสุดฤดูกาล 2019 พร้อมกับการคว้าแชมป์สมัยที่ 6 ของ ลูอิส แฮมิลตัน หลายคนเชื่อว่าอีกไม่นาน ยอดนักขับชาวอังกฤษจะขึ้นไปเทียบชั้นเทพแห่งเยอรมนีแน่นอน และในเมื่อแฮมิลตันดูจะยังไม่มีทีท่าว่าจะหมดไฟง่าย ๆ โอกาสที่เขาจะแซงชูมัคเกอร์ กลายเป็นหนึ่งเดียวที่ครองแชมป์ F1 มากที่สุดก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และถ้าทำได้จริงล่ะก็...จะยิ่งทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นสุดยอดตลอดกาลเหนือกว่าชูมัคเกอร์ด้วย จริง ๆ แล้ว ถึงทุกวันนี้แฮมิลตันจะยังแซงไม่ได้ แต่ก็มีการถกเถียงกันมาพักใหญ่แล้วว่า ระหว่างแฮมิลตันกับ “ชูมี่” ใครคือสุดยอดตัวจริง กองเชียร์แต่ละฝ่ายต่างยกเหตุผลมาบลัฟกันอย่างสนุกสนาน แม้กระทั่งในหมู่นักขับ F1 ยังร่วมแสดงความเห็นกับเขาด้วย ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มาร์ค เว็บเบอร์ อดีตนักแข่งสังกัดทีม Red Bull ให้สัมภาษณ์ว่า เขายกให้แฮมิลตันเป็นนักแข่งที่ครบเครื่องกว่าชูมัคเกอร์ ไม่เพียงแค่นั้น เว็บเบอร์ยังยกย่องแฮมิลตันอีกว่า เป็นนักขับที่ขาวสะอาดกว่าด้วย ประเด็นดังกล่าวของเว็บเบอร์ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับวงการรถสูตรหนึ่ง เพราะชูมัคเกอร์มีชื่อเสียงในฐานะนักซิ่งที่สกปรกที่สุดอันดับต้น ๆ ของวงการ นับตั้งแต่เริ่มแข่งโกคาร์ทจนกระทั่งบั้นปลายอาชีพ เขามีกรณีพิพาทบนสนามเป็นประจำ ทั้งความพยายามวางยาคู่แข่งด้วยกลอุบายอันแยบยล และสไตล์การขับอันดุ เดือด เร็ว แรง อันตราย จนหลายครั้งเหมือนว่าเขาจงใจทำให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม มีหลายคนแย้งว่า สไตล์การขับของแฮมิลตันเองก็ไม่ได้ขาวสะอาดขนาดนั้น แต่หากเทียบกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ก็ยังถือว่าน้อยกว่าชูมัคเกอร์อยู่ดี  [caption id="attachment_20651" align="aligncenter" width="1200"] ไมเคิล ชูมัคเกอร์ จอมมารร้ายและเทพบุตรแห่งวงการ F1 จากซ้าย: ไมเคิล ชูมัคเกอร์, เฟอร์นันโด อลองโซ และ มาร์ค เว็บเบอร์ สามยอดนักแข่งแห่งวงการ F1[/caption] หนึ่งในดราม่าโลกไม่ลืมของชูมัคเกอร์ เกิดขึ้นใน Monaco Grand Prix ปี 2006 ปีสุดท้ายของเขาในฐานะนักแข่งประจำทีม Ferrari ก่อนเลิกเล่นครั้งแรก (และกลับมาแข่งใหม่อีกครั้งในปี 2010) ขณะกำลังแข่งรอบ Qualifying หรือการซิ่งทำเวลา เพื่อจัดอันดับว่าใครจะได้ตำแหน่งออกสตาร์ทที่ดีที่สุดตอนแข่งจริง ช่วงท้ายของการแข่ง ชูมัคเกอร์สามารถทำเวลาได้เร็วกว่าใคร และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดเขาจะคว้า Pole Position หรือได้สตาร์ทแถวหน้าสุดของสนาม เพียงแต่ยังต้องรอดูว่าตัวเต็งแชมป์ในฤดูกาลนั้นอย่าง เฟอร์นันโด อลองโซ ว่าจะออกมาแข่งจับเวลารอบสุดท้าย แล้วทำเวลาได้เร็วแค่ไหน ช่วงที่เวลาเหลือน้อยลงไปทุกที ขณะที่อลองโซเร่งเครื่องมาแรง และทำท่าจะทำลายสถิติของชูมัคเกอร์ จู่ ๆ รถของชูมัคเกอร์ดันมีปัญหาจนต้องจอดบนสนาม มันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหากเขาไม่จอดตรงทางโค้งพอดี และเป็นมุมที่กีดขวางทางผู้อื่น ทำให้อลองโซที่กำลังไล่หลังมาด้วยความเร็วต้องเสียจังหวะ โชคดีว่าฟ้ายังมีตา จากเหตุดังกล่าวไม่ว่าชูมัคเกอร์จะอ้างอย่างไรก็ฟังไม่ขึ้น เขาถูกปรับโทษให้ออกสตาร์ทเป็นลำดับสุดท้าย แถมต้องไปสตาร์ทจากพิทเลน (เส้นทางวิ่งเข้าออกระหว่างสนามกับจุดซ่อมแซม เป็นทางตรง และจำกัดความเร็วการเข้าออกตามแต่ละสนามจะกำหนด) และเมื่อผลการแข่งขันจริงออกมา อลองโซกลายเป็นผู้ชนะการแข่งครั้งนั้น ส่วนชูมัคเกอร์ ต่อให้เร่งเครื่องมาได้ก็เข้าเส้นชัยเพียงแค่ลำดับที่ 5  อีกเหตุการณ์ระดับตำนาน ต้องย้อนขึ้นไปอีกใน Australian Grand Prix ปี 1994 สนามแข่งสุดท้ายของฤดูกาล สถานการณ์ก่อนแข่งเหลือนักแข่งที่มีลุ้นแชมป์อยู่ 2 คนคือ ชูมัคเกอร์ ซึ่งตอนนั้นลงแข่งให้ทีม Benetton และ เดมอน ฮิลล์ จากทีม Williams โดยชูมัคเกอร์มีคะแนนมากกว่า 1 แต้ม แต่ใครที่เข้าเส้นชัยก่อนจะกลายเป็นแชมป์  การแข่งขันดำเนินไปอย่างสูสี ชูมัคเกอร์ขึ้นนำฮิลล์แต่ไม่ได้ทิ้งห่างมาก จนกระทั่งในรอบที่ 35 รถของชูมัคเกอร์เสียการควบคุมและขับชนกำแพงจนสูญเสียความเร็ว ฮิลล์เห็นดังนั้นจึงสบโอกาสหาช่องแซง แต่ในจังหวะนั้นรถของชูมัคเกอร์กลับเป๋เข้ามาชนรถของฮิลล์จนเสียหาย ผลคือทั้งคู่ต้องออกจากการแข่งขัน และในเมื่อพวกเขาต่างไปไม่ถึงเส้นชัย นั่นหมายความว่าไม่มีใครเก็บแต้มเพิ่มได้ ทำให้ชูมัคเกอร์ที่คะแนนสะสมมากกว่าคว้าแชมป์ไปครอง เนื่องจากการตัดสินแชมป์จบลงแบบน่ากังขา หลายคนพุ่งเป้าไปที่ชูมัคเกอร์ว่าต้องการเล่นตุกติกหรือเปล่า ภายหลัง สหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ (Federation Internationale de l'Automobile หรือ FIA) เข้ามาสอบสวน และตัดสินว่าชูมัคเกอร์ไม่มีความผิด แม้จะค้านสายตาหลาย ๆ คน โดยเฉพาะทีม Williams แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถของเขามีปัญหาจริง ๆ ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนกับฮิลล์ได้ ถึงครั้งนั้นจะรอดตัว แต่อีก 3 ปีให้หลัง เขาหนีข้อครหาไม่ได้แล้ว ในการแข่ง European Grand Prix สนามสุดท้ายของปี 1997 เป็นการตัดสินแชมป์ระหว่าง ชูมัคเกอร์ กับ ฌาคส์ วิลเนิฟ จากทีม Williams สถานการณ์ก่อนแข่ง ชูมัคเกอร์มีคะแนนนำวิลเนิฟ 1 แต้ม และเช่นเคย หากใครเข้าเส้นชัยก่อนจะได้แชมป์ไปครอง ในรอบแข่งจริง ชูมัคเกอร์เบียดบี้กับวิลเนิฟอย่างสนุกตลอดการแข่ง แต่แล้วจู่ ๆ ชูมัคเกอร์ก็เพลี่ยงพล้ำโดน วิลเนิฟหาช่องแซง ชูมัคเกอร์เห็นท่าไม่ดี จึงบังคับรถตัวเองให้ชนรถของวิลเนิฟเพื่อหวังให้รถเสียหายและออกจากการแข่ง แต่นอกจากรถของวิลเนิฟจะไม่เป็นอะไร และประคองตัวจนเข้าเส้นชัยในอันดับ 3 รถของ ชูมัคเกอร์กลับเสียหายและต้องออกจากการแข่งเสียเอง  เหตุการณ์ดังกล่าวมีหลักฐานเต็มตาคนทั้งโลกว่า ชูมัคเกอร์พุ่งชนรถของวิลเนิฟตรง ๆ การจงใจทำร้ายเพื่อนร่วมอาชีพบ่งชี้ว่าเขาไม่มีน้ำใจนักกีฬาขั้นรุนแรง หลังการแข่ง FIA เข้ามาสอบสวน แล้วตัดสินว่า ชูมัคเกอร์ผิดจริง และลงดาบเขาด้วยการ disqualify หรือไม่นับแต้มของเขาในฤดูกาลนั้น แม้จะมีคะแนนสะสมเป็นอันดับ 2 กลายเป็นนักแข่งคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่โดนโทษนี้ ซึ่งชูมัคเกอร์เองยอมรับว่าเขาทำผิดจริง ๆ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าโทษแค่นี้ยังถือว่าน้อยไป เพราะเขาไม่โดนแบนห้ามแข่งในฤดูกาลต่อมา หรือว่าโดนปรับเงินสักแดงเดียว ทั้งที่จงใจเก็บคู่แข่งแบบจะ ๆ  ด้านวิลเนิฟซึ่งกลายเป็นแชมป์โลกอย่างเป็นทางการ ในฐานะที่เคยมีกรณีกันตรง ๆ ทำให้เขาเหม็นขี้หน้าชูมัคเกอร์ไปเลย และเป็นอีกคนที่ถือหางแฮมิลตันว่าเป็นสุดยอดนักแข่งที่เหนือกว่าชูมัคเกอร์ในทุกทาง 3 กรณีที่ว่า เป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่า ชูมัคเกอร์เป็นนักแข่งที่ต้องการชนะโดยไม่สนวิธีการว่าจะเป็นอย่างไร หลายคนเสียดายว่าทำไมสุดยอดนักแข่งแบบเขาต้องพึ่งพาการเล่น “สกปรก” แบบนี้ด้วย แถมบางคนยังค่อนขอดด้วยว่า ถ้าเกิดแข่งกันอย่างแฟร์ ๆ ขาวสะอาดตลอดชีพล่ะก็ เขาคงไม่มีทางประสบความสำเร็จขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์นั้นก็ดูจะรุนแรงเกินไปหน่อย จริงอยู่ว่าชูมัคเกอร์ชอบเล่นตุกติก แต่ไม่ได้หมายความว่าแชมป์ทุกสมัย ถ้วยทุกใบ และทุกชัยชนะ จะมาจากการเล่นไม่ซื่อไปเสียหมด ชูมัคเกอร์แสดงให้เห็นบ่อย ๆ ว่า เขามีฝีมือเหลือร้ายเพียงใด นอกจากจะคว้าชัยชนะแบบนำขาดนับครั้งไม่ถ้วน เขายังฝ่าฟันการแข่งขันยาก ๆ สุดท้าทายอยู่บ่อย ๆ ทำให้ผู้คนจำนวนมากชื่นชมว่าการแข่งรถของเขาไม่ต่างกับงานศิลปะ และความสามารถในการขับรถห่วย ๆ ให้เหมือนเป็นรถชั้นนำ ยังเป็นหลักฐานประการสำคัญที่หลายคนยกย่องเขาว่าเป็น “เทพนักซิ่ง” เป็นความสามารถที่ไม่ใช่ทุกคนจะมี แม้กระทั่งแฮมิลตันเองก็ตาม ย้อนกลับไปในปี 1996 หลังจากชูมัคเกอร์ได้แชมป์ 2 สมัยแรกกับทีม Benetton เขาตัดสินใจย้ายมาอยู่ทีม Ferrari ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดมหันต์ เป็นการลดเกรดตัวเองจากการอยู่ทีมระดับแชมป์ มีรถชั้นดี มาอยู่กับทีมระดับกลางตาราง จริงอยู่ว่า Ferrari คือทีมที่มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ แต่พวกเขาไม่ได้แชมป์มาตั้งแต่ปี 1979 และไม่มีทีท่าจะพ้นจากยุคมืดไปได้ง่าย ๆ ยังไม่หมดแค่นั้น ปีนั้นรถของทีมยังมีสมรรถนะน่าผิดหวัง วิ่งช้า เครื่องอืด จนหลายคนขนานนามว่าดีกว่ารถซาเล้งนิดเดียว เป็นไปไม่ได้เลยที่เศษเหล็กแบบนี้จะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 1 ได้ แต่เมื่อคุณมีนักขับตีนผีอย่างชูมัคเกอร์ ต่อให้รถจะแย่แค่ไหนก็บ่ยั่น โดยการแข่งที่ได้รับการจารึกว่าเป็นการแข่งสุดคลาสสิกของชูมัคเกอร์ เกิดขึ้นใน Spanish Grand Prix เมื่อปี 1996 เขาในฐานะม้ามืดสามารถพา Ferrari เข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 1 ในสภาพที่สนามเปียกแฉะไปด้วยฝน แถมยังขับเร็วกว่าอันดับ 2 ถึง 45 วินาที ไม่เพียงแค่นั้น ในปีดังกล่าวเขายังพาซาเล้งคันเดิมเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 1 ได้อีก 2 สนาม คือใน Belgian Grand Prix และ Italian Grand Prix ลบคำปรามาสของใครต่อใครลงอย่างราบคาบ และเป็นจุดเริ่มต้นให้ทีมม้าลำพองกลับมาครองความยิ่งใหญ่อีกครั้ง อีกสนามที่ชูมัคเกอร์มอบการซิ่งสุดคลาสสิก เกิดขึ้นใน Spanish Grand Prix อีกเช่นกัน แต่เป็นในปี 1994 ชูมัคเกอร์ขับรถทีม Benetton ขึ้นนำคู่แข่งตลอด 22 รอบแรก แต่หลังจากเข้าพิทเลนไปเปลี่ยนยาง รถของ ชูมัคเกอร์กลับประสบปัญหาเปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ ต้องใช้เกียร์ 5 อย่างเดียวตลอดการแข่ง  หากเป็นนักแข่งคนอื่น สภาพรถแบบนี้หากไม่ออกจากการแข่งไปเลย ก็คงเข้าเส้นชัยเป็นอันดับท้ายตาราง แต่แทนที่รถจะช้าลง ชูมัคเกอร์กลับใช้เกียร์ 5 แล้วสามารถคงความเร็วของรถได้ราวกับไม่มีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น และลงเอยด้วยการเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 2 แม้จะไม่ชนะก็จริง แต่มันคือบทพิสูจน์ว่า ต่อให้รถสภาพไม่พร้อม เขาก็ยังเหนือกว่านักแข่งที่รถดีกว่าแบบเทียบไม่ติด  ยังไม่หมดแค่นั้น ในศึก Brazillian Grand Prix ปี 2006 ซึ่งเป็นการลงแข่งครั้งสุดท้ายให้กับทีม Ferrari ก่อนเขาจะแขวนพวงมาลัย ยังเป็นอีกเรซที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ สถานการณ์ก่อนแข่ง ชูมัคเกอร์มีคะแนนสะสมเป็นอันดับ 2 เป็นรอง เฟอร์นันโด อลองโซ แม้จะยังมีลุ้นแชมป์สมัยที่ 8 แต่เขาต้องเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก และต้องหวังให้อลองโซเก็บแต้มไม่ได้แม้แต่แต้มเดียวเท่านั้น  เมื่อเป็นการแข่งครั้งสุดท้าย แฟน ๆ จึงคาดหวังว่าจะได้ดูชูมัคเกอร์ทิ้งทวนอย่างยิ่งใหญ่ แต่รถของเขามีปัญหาที่เครื่องยนต์มาตั้งแต่รอบ qualifying ทำให้เขาได้ออกสตาร์ทอันดับที่ 10 และหลังแข่งไปได้ไม่นาน ยางก็ดันรั่ว จนอันดับร่วงไปอยู่ที่ 19  อย่างไรก็ตาม หลังเปลี่ยนยางเรียบร้อย เขาก็เริ่มต้นร่ายมนต์อันน่าตื่นตะลึง ชูมัคเกอร์ไล่แซงนักแข่งเกือบทั้งสนาม เขาเร่งความเร็วสุดฤทธิ์จนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 4 เขาไม่ชนะ ไม่อาจคว้าแชมป์สมัยที่ 8 แต่การเร่งสปีดไล่กวดจากท้ายตาราง กลายเป็นไฮไลท์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการแข่งครั้งนั้น ถือเป็นการส่งท้ายอาชีพของเขาอย่างยิ่งใหญ่  หลังรีไทร์ไป 4 ปี ชูมัคเกอร์ตัดสินใจกลับมาแข่ง F1 อีกครั้งกับทีม Mercedes ในปี 2010-2012 น่าเสียดายที่การกลับมางวดนี้เขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ 3 ปีนั้นก็ไม่สามารถลบเกียรติยศที่ว่า เขาคือสุดยอดนักแข่งตลอดกาลไปได้ การถกเถียงว่า ระหว่างแฮมิลตันกับชูมัคเกอร์ ใครกันแน่คือนักแข่งเบอร์ 1 ตัวจริง จะเป็นหัวข้อที่คนในแวดวงรถซิ่งพูดถึงไปอีกหลายปี และไม่มีทางหาข้อสรุปได้โดยง่ายด้วย จริงอยู่ว่าชูมัคเกอร์ไม่ได้ขาวสะอาดอย่างสมบูรณ์ ชื่อเสียงจากการเล่นตุกติกจะอยู่ติดตัวเขาไปตลอดกาล แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่าฝีมือของเขาอยู่ในระดับพระกาฬของจริง และต่อให้ในภายภาคหน้า แฮมิลตันจะคว้าแชมป์เพิ่มอีกกี่ครั้ง แต่ก็จะยังมีคนอีกมากที่เชื่อว่า อย่างไรเสียตำแหน่งนั้นก็จะเป็นของ “ชูมี่” อยู่ดี แล้วคุณล่ะ คิดว่าใครคือสุดยอดตลอดกาล?   ที่มา https://www.motorsportweek.com/2020/03/10/hamilton-more-complete-than-schumacher-webber/ https://www.racefans.net/2017/10/26/1997-european-grand-prix/ https://www.nytimes.com/2015/03/14/sports/autoracing/a-lingering-controversy-since-1994.html https://www.nytimes.com/1997/11/12/sports/plus-auto-racing-formula-one-schumacher-draws-light-penalty.html https://www.youtube.com/watch?v=JbeDuAWFibw https://www.youtube.com/watch?v=0AhNs_W5OQU https://www.youtube.com/watch?v=91JoW4mSiZo https://wtf1.com/post/spain-1994-when-schumacher-scored-a-podium-despite-only-having-fifth-gear/ https://wwos.nine.com.au/motorsport/michael-schumacher-slammed-by-former-rival-jacques-villeneuve/af27b100-9528-42b6-a2ec-7e88f53386ce https://www.vice.com/en_au/article/z4a3z4/collision-and-collusion-the-story-of-the-1997-formula-1-title-decider   เรื่อง: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย