แคสเซียส เคลย์ นักต่อต้านระบบทาส ที่มาชื่อเดิม มูฮัมหมัด อาลี 

แคสเซียส เคลย์ นักต่อต้านระบบทาส ที่มาชื่อเดิม มูฮัมหมัด อาลี 
มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักมวยชาวอเมริกัน เดิมเคยมีชื่อว่า “แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์” (Cassius Marcellus Clay) ก่อนที่เขาจะปฏิเสธชื่อเดิมที่พ่อแม่ตั้งให้ แล้วหันไปใช้ชื่อ “มูฮัมหมัด อาลี” ให้สอดคล้องกับการที่เขาหันมานับถือศาสนาอิสลาม ตามอย่างขบวนการชาตินิยมผิวดำที่ต้องการต่อต้านวัฒนธรรมของคนขาวที่ถือคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามถึงเรื่องการเปลี่ยนชื่อ อาลีบอกว่า ชื่อเดิมของเขาเป็น “ชื่อทาส” ก่อนเสริมว่า “ผมไม่ได้เลือกชื่อนี้ และผมก็ไม่ต้องการชื่อนี้” ส่วนชื่อใหม่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมอิสลามนั้น อาลีกล่าวว่า มันเป็นชื่อของผู้ที่ “เป็นไท” หมายถึง บุคคลผู้เป็นที่รักของพระเจ้า อย่างไรก็ดี ชื่อ “แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์” ถือเป็นชื่อที่มีที่มาน่าสนใจมาก เพราะอาลีรับชื่อนี้สืบต่อมาจากพ่อ (แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ ซีเนียร์) และพ่อของอาลีได้ชื่อนี้มาก็เพื่อเป็นการรำลึกถึง แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ นักการเมือง และนักต่อสู้ล้มล้างระบอบทาสในศตวรรษที่ 19 (Yale เคลย์ผู้เป็นต้นแบบของชื่อนี้เป็นคนขาว เกิดที่ไวต์ฮอลล์ เคนทักกี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1810 (เสียชีวิต 22 กรกฎาคม 1903) พ่อของเขาเป็นนายทาส และเป็นญาติกับ เฮนรี เคลย์ (1777-1852) วุฒิสมาชิก เจ้าของฉายา “ยอดนักประนีประนอม” (The Great Compromiser) ที่แม้จะต่อต้านระบบทาส แต่ก็เห็นด้วยกับการปลดปล่อยทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไป พยายามประสานประโยชน์มิให้เหนือใต้แตกแยก และช่วยชะลอการเกิดสงครามกลางเมืองได้ระยะหนึ่ง (สงครามเกิดขึ้นหลังจากเขาเสียชีวิตได้ 9 ปี) คนขาวลูกนายทาสนักเก็งกำไรที่ดินที่ชื่อ แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ รายนี้จึงเป็นคนที่มีพื้นเพค่อนข้างดี เขาเรียนจบจากเยล และเคยได้ฟังการปราศรัยของ วิลเลียม ลอยด์ การ์ริสัน (William Lloyd Garrison) นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ผู้ต่อต้านระบบทาสที่ช่วยเปิดหูเปิดตาทางความคิดให้กับเขา ก่อนกลับไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยทรานซิลเวเนีย และเข้าร่วมขบวนการต่อต้านระบบทาส "ด้วยภาษาที่เรียบง่ายเต็มไปด้วยเหตุผลประกอบกับคำพังเพย เขาใช้ 'สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์' (ความเชื่อทางศาสนา) ราวกับเป็นเหล็กตีตรา (เหล็กที่ถูกเผาให้ร้อนเพื่อใช้สร้างรอยแผลเป็นถาวรบนผิวหนัง) เล่นงานเหล่านายทาสและผู้ปกป้องระบบทาสทั้งหลาย นี่เป็นสิ่งใหม่ที่ผมเพิ่งเคยได้พบเจอ ผมรู้ดีถึงความน่าสยดสยองทั้งหลายของระบบทาส แต่พ่อแม่ของผมก็เป็นนายทาส ญาติพี่น้องทั้งหมดที่ผมรู้จักในเคนทักกีก็เป็นนายทาส และที่ผ่านมาผมเห็นว่ามันเป็นกฎธรรมชาติหรือกฎแห่งพระเจ้าที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นเดียวกับธรรมชาติอันชั่วร้ายอื่น ๆ ของมนุษย์ แต่การ์ริสันลากปีศาจร้ายทั้งหลายออกจากที่มั่น แล้วทิ่มแทงไปที่จุดสำคัญให้มันตายลงด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและความสัตย์"  เคลย์กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อได้ฟังปราศรัยของการ์ริสันเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาที่เยลในบันทึกความทรงจำของเขา (The Life of Cassius Marcellus Clay)  พออายุได้ 25 ปี (1835) เคลย์ก็เริ่มเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นในเคนทักกี และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนในสภาของเคนทักกีจนถึงปี 1840 ก่อนจะพ่ายไปเพราะเสียคะแนนจากทัศนคติต่อต้านระบบทาส และระหว่างการอภิปรายทางการเมืองในปี 1843 เขายังเคยถูกปองร้ายโดยมือปืนที่ชื่อว่า แซม บราวน์ เคลย์ถูกยิงเข้าที่หน้าอกแต่ก็ยังมีแรงคว้ามีดพกเฉือนจมูกและหูซ้ายของบราวน์ขาด แม้ว่าจะถูกฉุดรั้งโดยแก็งของบราวน์ ปีเดียวกันเขายังได้ออกหนังสือที่สร้างชื่อให้กับเขาที่สุดเรื่อง "Slavery: The Evil - The Remey" หลังหมดเงินไปเยอะกับการเมือง และรู้ดีว่าการทำสื่อไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำเงินได้มากนัก แต่ในปี 1845 เขาก็เปิดตัวหนังสือพิมพ์ต่อต้านระบบทาสในชื่อ True American เผยแพร่ในเมืองที่มีทาสแพร่หลายอย่างเลกซิงตัน, เคนทักกี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวเมืองเป็นอย่างมาก เขาได้รับคำขู่หมายเอาชีวิตอยู่หลายครั้ง จนต้องตั้งรั้วและติดตั้งเกราะกันกระสุนให้กับประตูสำนักพิมพ์ หลังเผยแพร่อยู่ได้ไม่นาน สำนักงานของเขาก็ถูกม็อบสนับสนุนระบบทาสบุกและยึดแท่นพิมพ์ไป ทำให้เขาต้องย้ายสำนักงานไปยังซินซินเนติ, โอไฮโอ และอีกครั้งไปตั้งที่ลุยส์วิลล์, เคนทักกี โดยเปลี่ยนชื่อหัวเป็น The Examiner (Britannica) เคลย์ถูกปองร้ายอีกครั้งในปี 1849 โดย ไซรัส เทอร์เนอร์ ลูกชายของนักการเมืองนิยมทาส ที่พาพี่น้องอีก 5 คนมารุมเคลย์ พี่น้องเทอร์เนอร์สามารถยึดเอามีดพกประจำตัวของเคลย์ไปได้ และใช้มันแทงร่างกายอันใหญ่โตของเคลย์หลายครั้ง หนึ่งในพี่น้องเทอร์เนอร์ยังพยายามใช้ปืนจ่อยิงที่หัวของเคลย์หลายครั้งแต่ยิงไม่ออก เคลย์จึงแย่งมีดคืนกลับมาได้ ฝ่ายพี่น้องเทอร์เนอร์เห็นท่าไม่ดีก็แตกฮือวิ่งหนี เคลย์วิ่งตามไซรัสตัวตั้งตัวตีไปและใช้มีดพกแทงไซรัสถึงแก่ความตาย ส่วนเขาเองก็หมดสติลงเนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก เมื่อรอดชีวิตมาได้ เคลย์จึงได้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรครีพับลิกันในปี 1854 ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ให้เป็นทูตสหรัฐฯ ในรัสเซีย และช่วยเจรจาขอซื้ออะแลสกาจากรัสเซีย ก่อนถูกเรียกตัวกลับสหรัฐฯ ในปี 1862 เพื่อรับตำแหน่งนายพลในกองทัพสหภาพระหว่างสงครามกลางเมือง แต่เคลย์ประกาศเงื่อนไขการรับตำแหน่งว่า ลินคอล์นจะต้องปลดปล่อยทาสในรัฐที่อยู่ใต้อำนาจของฝ่ายสมาพันธรัฐด้วยเขาถึงจะยอมรับตำแหน่ง ซึ่งลินคอล์นก็ประกาศเช่นนั้นในปลายปีเดียวกันนั่นเอง (ก่อนหน้านั้นเขาเคยร่วมรบในสงครามกับเม็กซิโกมาก่อนแล้ว) แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ จึงเป็นนักต่อสู้ที่ต่อต้านระบบทาสอย่างแท้จริง ด้วยความชื่นชมในชื่อเสียงของ แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ เป็นอย่างยิ่ง เฮอร์มัน ฮีตัน เคลย์ (Herman Heaton Clay) ปู่ของมูฮัมหมัด อาลี จึงตั้งชื่อลูกชายของตนเองว่า “แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์” เพื่อเป็นเกียรติให้กับนักสู้ที่ต่อต้านระบบทาส แล้วลูกชายของเขาก็ส่งต่อชื่อนี้ให้กับลูกชายของตัวเอง ก่อนที่หลานชายของเฮอร์มันจะประณามว่า ชื่อนี้เป็น “ชื่อทาส” แม้ว่า แคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ ต้นฉบับจะเป็นนักต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทาสก็ตาม  ข้อเท็จจริงนี้ อาลีเองก็รู้ และในช่วงต้นของอาชีพนักมวย เขาเองก็ภูมิใจในชื่อนี้ จนกระทั่งเขาหันไปนับถืออิสลาม และไม่รู้สึกภูมิใจกับชื่อเดิมอีกต่อไป ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขา (The Greatest, My Own Story, 1975) อาลีกล่าวว่า ถ้าหากเขามีเลือดของคนขาวที่ใช้สกุลเคลย์อยู่ มันก็คงเกิดมาจากการ “ข่มขืน” ของพวกนายทาส และเขายังกล่าวถึงแคสเซียส เคลย์ โดยตรงว่า ต่อให้แคสเซียส เคลย์ ต่อต้านระบบทาสและปลดปล่อยทาสของตัวเอง แต่ แคสเซียส เคลย์ ก็ยังคงเชื่อในสังคมคนขาวเป็นใหญ่อยู่ดี อาลีจึงไม่ต้องการให้ชื่อสกุลของนายทาสปรากฏอยู่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเขา [แต่เขาเข้าใจผิดไปหน่อย เพราะแม้แคสเซียส เคลย์ จะต่อต้านระบบทาส แต่เขาเองก็ยังมีทาสในครอบครองจนถึงวันที่มีการเลิกทาสในปี 1865 (The New York Times)] ทั้งนี้ แคสเซียส เคลย์ ต้นฉบับ ถือเป็นนักสู้ตัวจริง การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เป็นเหตุให้เขาถูกปองร้ายอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ในบั้นปลายชีวิตเขากลายเป็นคนแก่ที่คนอื่นอยู่ด้วยยาก ด้วยความหวาดระแวงว่าตัวเองจะถูกปองร้าย บ้านของเขาถูกเปลี่ยนให้มีสภาพใกล้เคียงกับป้อมปราการ ก่อนเสียชีวิตไม่นานเคลย์จึงถูกสั่งให้เป็นบุคคลวิกลจริต  แต่ก่อนตายเคลย์ยังไว้ลายนักสู้ในวัย 92 ปี เมื่อมีคนร้าย 3 รายบุกเข้าบ้านของเขาในยามค่ำ เขาใช้ปืนยิงหนึ่งในคนร้ายเสียชีวิต และชำแหละร่างควักไส้ของคนร้ายอีกราย ส่วนรายสุดท้ายแม้จะรอดมาได้แต่ก็บาดเจ็บสาหัส (The Worst-Case Scenario Almanac: Politics)