ณรงค์ วงศ์วรรณ บารมีไม่ถึง “ดวงดาว”

ณรงค์ วงศ์วรรณ บารมีไม่ถึง “ดวงดาว”

ณรงค์ วงศ์วรรณ บารมีไม่ถึง “ดวงดาว”

การเลือกตั้งทั่วไป 22 มีนาคม 2535 เป็นละครฉากหนึ่งที่ “มันสมอง” คณะรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้เขียนบทให้พรรคการเมืองสายทหารจัดตั้งรัฐบาลผสม เพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) "ณรงค์ วงศ์วรรณ"

รับบทหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ถูกวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง ทุกอย่างดำเนินไปตามบทที่มีการเขียนไว้ล่วงหน้า พรรคสามัคคีธรรม ได้ 79 ที่นั่ง พรรคชาติไทย ได้ 74 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคม ได้ 31 ที่นั่ง โดยดึงพรรคประชากรไทย 7 ที่นั่ง และพรรคราษฎร 4 ที่นั่ง รวมเป็น 195 ที่นั่ง นักการเมืองอาวุโสตระกูล "วงศ์วรรณ" แห่งเมืองแพร่ เกือบได้ "นายกรัฐมนตรีคนเมือง” คนแรกของประเทศไทย แต่แล้วก็มีเหตุให้พลิกโผ กลายเป็น “โรควูบ” ทั้งพ่อเลี้ยงณรงค์และคณะทหารที่ให้การสนับสนุน พ่อเลี้ยงณรงค์ เล่นการเมืองครั้งแรกในการเลือกตั้ง 2522 สังกัดพรรคกิจสังคม ได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 9 หมื่นคะแนน เพราะมีเครือข่ายชาวไร่ยาสูบ เป็นฐานเสียงสำคัญ เดือน ก.พ. 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ปรับ ครม. นักการเมืองหน้าใหม่จากเวียงพ่อเลี้ยง ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ถัดมาสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พ่อเลี้ยงณรงค์เป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์   นักเลือกตั้งและใบยา นครแพร่ในอดีต เมื่อสิ้นยุคสัมปทานป่าไม้ สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลง พ่อเลี้ยงในเมืองแพร่หรือผู้มีฐานะจะหันเหเส้นทางมาทำธุรกิจโรงบ่มใบยา ชาวแพร่และจังหวัดใกล้เคียงเองส่วนใหญ่ก็หันมาปลูกใบยาสูบมากขึ้น ธุรกิจโรงบ่มใบยาเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี 2500 มีนายทุนชาวลาวได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงบ่มใบยา จนทำให้เกิดกระแสการปลูกใบยา เพื่อส่งขายให้กับโรงบ่มใบยา "แสน วงศ์วรรณ” บุตรชายเจ้าพุทธวงศ์ เคยทำกิจการป่าไม้ร่วมกับ บริษัท อีสต์ เอเชียติ๊ก จำกัด และตั้งโรงเลื่อยเทพวงศ์ อยู่ที่ อ.เด่นชัย ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเดิมทีพ่อเลี้ยงแสน ใช้นามสกุล “ผาทอง” เจ้าพุทธวงศ์เป็นญาติห่าง ๆ ของเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้านครที่ปกครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย และเป็นต้นตระกูล “ผาทอง” เจ้าพุทธวงศ์ และนางแก้ววรรณา ผาทอง แห่งบ้านสบสาย ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ มีบุตรชายและหญิง 5 คน คือ สิงห์ ผาทอง, แพร เสียงอินทร์, เพชร เด็ดขาด, แสน วงศ์วรรณ และจีน ผาทอง ช่วงที่พ่อเลี้ยงแสนก่อตั้ง บริษัท เทพวงศ์ จำกัด ได้ครอบคลุมทั้งกิจการทำไม้ และยาสูบ ซึ่งเวลาต่อมากิจการเหล่านี้ก็อยู่ในการดูแลของสองพี่น้อง ณรงค์ วงศ์วรรณ และ สังวาลย์ วงศ์วรรณ ซึ่งเป็นลูก ๆ ของพ่อเลี้ยงแสน กิจการยาสูบของตระกูลวงศ์วรรณเติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พ่อเลี้ยงณรงค์เคยกล่าวว่า กิจการยาสูบเกี่ยวข้องกับคนภาคเหนือ 1 แสนครัวเรือน กินเนื้อที่หลายจังหวัด ได้แก่ แพร่,ลำปาง, เชียงราย, เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ชาวไร่ยาสูบเหล่านี้เป็นฐานการเมืองของพ่อเลี้ยงณรงค์ และกลุ่มนักเลือกตั้งในเครือข่ายตระกูลวงศ์วรรณ คนเมืองแพร่ทราบดี ตระกูล “ผาทอง” มีเครือญาติกระจายทั่วทุกอำเภอ คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ฉะนั้น คนในตระกูลนี้ลงสมัคร ส.ส. หาคะแนนเพิ่มอีกร้อยละ 20 ก็ได้เป็นผู้แทนราษฎรแล้ว เลือกตั้ง 2512 ผจญ ผาทอง ลูกชายของพ่อเลี้ยงสิงห์ ผาทอง (พี่ชายของพ่อเลี้ยงแสน) จึงได้เป็น ส.ส.แพร่ ทำนองเดียวกัน เลือกตั้ง 2522 ณรงค์ วงศ์วรรณ ลูกชายของพ่อเลี้ยงแสน ก็อาศัยวงศ์วานว่านเครือ “ผาทอง” เป็นใบเบิกทางสู่สภาฯ พ่อเลี้ยงสันต์ เด็ดขาด ญาติผู้พี่ของณรงค์ วงศ์วรรณ เคยให้สัมภาษณ์ผู้จัดการรายสัปดาห์เมื่อปี 2535 ว่า “ตระกูลเรา คนเยอะ มีทั้งคนดี มีทั้งนักเลง” แม้พ่อเลี้ยงแสนจะเปลี่ยนนามสกุลไปใช้ “วงศ์วรรณ” แต่ตระกูล “ผาทอง” ก็ยังผูกพันรักกันและไม่เปลี่ยนแปร พิสูจน์ได้จากชัยชนะของณรงค์ บนสนามเลือกตั้งเมืองแพร่ถึง 5 สมัยซ้อน   “รวมไทย” รวมดาวเมืองเหนือ ความขัดแย้งภายในพรรคกิจสังคมเมื่อปี 2529 ทำให้มีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ได้แก่ พรรคสหประชาธิปไตย เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ กับกลุ่มสยามประชาธิปไตยของ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ , พรรคกิจประชาคม นำโดยบุญชู โรจนเสถียร และ พรรครวมไทย ของกลุ่มของณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ร่วมกับสมาชิกพรรคชาติไทยบางส่วน “พรรครวมไทย” เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคประชาไทย ที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ ทวี ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี ก่อนการเลือกตั้ง 2529 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค โดย ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และ ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เป็นเลขาธิการพรรค ฤดูเลือกตั้ง 2529 ณรงค์ วงศ์วรรณ นำทัพพรรครวมไทยสู่สมรภูมิเป็นหนแรก โดยปักธงจะกวาด ส.ส. ภาคเหนือตอนบน แต่ผลเลือกตั้งครั้งนั้น พรรครวมไทย ได้ ส.ส. มาจำนวนหนึ่ง และต้องเป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ปี 2529 พ่อเลี้ยงณรงค์ ได้ 156,698 คะแนน เป็นแชมป์ ส.ส. คะแนนสูงสุดของประเทศไทย ซึ่งอีกสองสมัยถัดมา ทายาทพ่อเลี้ยงแสนก็ได้ระดับ 1.5 แสนคะแนนเป็นมาตรฐาน ฤดูเลือกตั้ง 2531 พ่อเลี้ยงณรงค์ปลุกกระแส “เลือกรวมไทย ได้นายกฯ คนเมือง” ปรากฏพรรครวมไทย กวาด ส.ส. ในสนามเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, น่าน และแพร่ ประมาณ 18-19 ที่นั่ง แต่ก็โชคร้ายตกเป็นฝ่ายค้านอีก ปี 2532 ผู้นำพรรคก้าวหน้า, พรรคกิจประชาคม และพรรคประชาชน ตัดสินใจยุบรวมกับพรรครวมไทย ที่มีณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พรรคเอกภาพ” เมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปรับ ครม. ปลายปี 2533 พรรคเอกภาพได้เข้าร่วมรัฐบาล พ่อเลี้ยงณรงค์ ได้เป็นรัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์อีกครั้ง แต่รัฐบาลชาติชาย 2 อยู่ได้ไม่นานก็ถูกคณะทหารยึดอำนาจการปกครอง   เกือบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดังที่ทราบกันดี พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล แกนนำ รสช.ปีกทัพฟ้า มอบให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ และ น.ต.ฐิติ นาครทรรพ ไปประสานกับกลุ่มนักการเมืองอาวุโสสายเหนือและอีสาน จัดตั้ง พรรคสามัคคีธรรม ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มาการ์เร็ต ทัตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่า ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ได้รับการปฏิเสธการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่า) จากสหรัฐฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2534 ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน พ่อเลี้ยงณรงค์ ตัดสินใจทิ้งพรรคเอกภาพให้กับบุญชู โรจนเสถียร และอุทัย พิมพ์ใจชน โดยอาสาเป็นหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม นำพาสมาชิกพรรคลงสนามเลือกตั้ง ได้ ส.ส. มาตามเป้าหมาย เหตุการณ์ที่ทัตไวเลอร์แถลง สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมาก แม้หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมจะประกาศต่อหน้ามวลสมาชิกพรรคว่า “จะสู้จนคอหักคาเวที” แต่สุดท้ายก็ทนต่อแรงกดดันจากพรรคการเมืองและภาคประชาชนไม่ไหว นักการเมืองอาวุโสจากเมืองแพร่จึงได้ยินยอมถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ภาพลักษณ์ภายนอก ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นสุภาพบุรุษคนเมือง ดูสุขุมนุ่มนวล ไม่ได้มีลักษณะของ “เจ้าพ่อ” หรือผู้มากบารมีแห่งบ้านใหญ่ การลั่นคำ “จะสู้จนคอหักคาเวที” นั้น มีที่มาจากคำบอกเล่าของพ่อเลี้ยงสันต์ เด็ดขาด ที่คลุกคลีกับณรงค์มาตัั้งแต่เยาว์วัย พ่อเลี้ยงสันต์บอกว่า ญาติผู้น้องอย่างณรงค์เป็น “คนทำจริง” ตอนหนึ่งว่า “ชีวิตวัยเด็กก็ธรรมดา ไม่เด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อโตขึ้นมา มีแววที่จะเป็นผู้นำ มันทำอะไรทำจริงนะคนนี้” เนื่องจากณรงค์ ต้องดูแลกิจการทำไม้และโรงบ่มใบยา จึงมีลูกน้องเยอะ แต่จำชื่อได้หมด เลี้ยงดูดี แต่เวลาลูกน้องทำอะไรไม่ถูก ก็จะโดนลงโทษ แต่ทุกคนก็ทนอยู่ได้ เพราะพ่อเลี้ยงณรงค์เลี้ยงดูอย่างดีที่สุด พ.ศ.นั้น คนเมืองแพร่รู้สึกผิดหวังที่หลานปู่เจ้าพุทธวงศ์ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนบารมีไม่ถึงดวงดาว สำหรับทายาทพ่อเลี้ยงแสนนั้น เข้าใจถึงลาภ ยศ สรรเสริญอันไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรเปลี่ยนได้เสมอ จึงวางมือทางการเมืองนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา   อ้างอิง นสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับ 6-12 เมษายน 2535   เรื่อง: ชน บทจร